โดย วุฒิพล วุฒิวรพงศ์
งานวิจัยชิ้นนี้เป็นผลงานจากงานวิจัยภาคสนามในพื้นที่ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยศึกษาทัศนคติของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่น่าจะนับว่ากล้าหาญเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ผลผลิตโดยตรงทำให้เข้าใจความอ่อนไหวต่อเหตุการณ์การเมืองไทยของกลุ่มนักท่องเที่ยว ซึ่งต้องนับว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้และเชื่อมั่นเหนียวแน่นในประสบการณ์การท่องเที่ยวที่จะคาดหวังไว้ได้ ในประเด็นรองคือจากคำถามส่วนหนึ่งซึ่งเกี่ยวพันกันกับเรื่องวัฒนธรรมการเมืองไทยที่นักท่องเที่ยวได้สะท้อนกลับมาสู่บริบทของสังคมไทย อันเป็นมูลเหตุจูงใจในการตั้งคำถามในงานวิจัยชิ้นนี้ เนื่องจากหนึ่งในเหตุผลที่มักถูกยกมาใช้เพื่อป้องปรามการชุมนุมทางการเมืองในสังคมไทยหลายวาระว่าให้ใส่ใจ “สายตาของต่างชาติ” ที่จะมองมาในเรื่องต่างๆในสังคม ซึ่งหากเกิดแล้วจะทำให้เป็นที่ “เสื่อมเสีย” หรือ “อับอายขายหน้า” อีกยังในช่วงเวลานั้นเองก็มีภาพยนต์โฆษณาโทรทัศน์ที่มีภาพนักท่องเที่ยวสะพายกล้องถ่ายรูปมองดูคนไทยที่แสดงอัตลักษณ์ต่างๆทำท่าทางสื่อว่าทะเลาะกัน จึงเป็นมูลเหตุที่ทำให้ผู้วิจัยสนใจศึกษาทำความเข้าใจ ว่าในทัศนคติของชาวต่างชาติ ซึ่งโดยมากมักหมายถึงนักท่องเที่ยวและนักลงทุนนั้น ได้ให้ความสนใจต่อประเด็นเหล่านี้หรือไม่ อย่างไร โดยใช้วิธีการทางชาติพันธุ์วรรณา (Ethnography) ผ่านการสัมภาษณ์และสังเกตุการณ์กลุ่มนักท่องเที่ยวในย่านถนนข้าวสารและบางลำพูในช่วงปี พ.ศ. 2552 ซึ่งน่าจะนำไปสู่การตั้งข้อสงสัยต่อมายาคติ หรือความตื้นเขินของนักการโฆษณา โดยจากการวิจัยพบว่าปรากฏการณ์ทางการเมืองภายในสังคมไทยอาจไม่ได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติบางกลุ่ม(ในกรณีนี้ นักท่องเที่ยวในย่านถนนข้าวสาร) มากมายอย่างที่หลายคนเชื่อนัก การให้เหตุผลเรื่อง "สายตาของต่างชาติ" จึงอาจจะเป็นปฏิบัติการสร้างวาทกรรมที่น่าจะต้องการความระมัดระวังถึงข้อเท็จจริงอีกหลายๆด้านที่ซ่อนอยู่หรือไม่ได้รับการกล่าวถึง
เกริ่นนำ
จากเหตุการณ์ชุมนุมยืดเยื้อในส่วนต่างๆของประเทศไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพได้ดำเนินมาถึงจุดแตกหักครั้งสำคัญเมื่อฝูงชนภายใต้ชื่อ ”พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” หรือที่เรียกสั้นๆว่า “พันธมิตร” ได้เข้ายึดท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิจนนำไปสู่การปิดทำการชั่วคราวตั้งแต่ช่วงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2551 จนถึงได้เปิดทำการอีกครั้งในวันที่ 5 ธันวาคมต่อมาซึ่งส่ง ‘ผลลบ’ ต่อการท่องเที่ยวอย่างมิต้องสงสัย ไม่เพียงแต่ผลเฉพาะหน้าในการปิดบริการการบินที่ทำให้ผู้โดยสารจำนวนมากเดินทางไม่ได้ ต้องติดค้างอยู่ในหลายเส้นทางบินที่มุ่งหน้ามาทางฝั่งขาเข้า รวมถึงที่ต้องรอเดินทางออก และกระทบกระเทือนต่อเนื่องในช่วงปลายปีต่อช่วงต้นปีใหม่ที่ถือว่าเป็นฤดูท่องเที่ยวหรือ “ฤดูเก็บเกี่ยว” ของธุรกิจและแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่แรงกระเพื่อมยังจะมีต่อไปในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งมีประเทศคู่แข่งมากมายจนคาดการณ์ไม่ได้แน่ว่าจะคลี่คลายไปในทางใด จึงเป็นเรื่องให้น่าเป็นห่วงและน่าศึกษาในคราวเดียวกันถึงโอกาสที่มีอยู่ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยหลังเหตุการณ์ดังกล่าว
ปฏิกิริยาในการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงจากเหตุการณ์ที่เกิดในทันทีคือ “ภาวะตื่นตระหนกทางจิตใจ” (moral panic) โดยนักท่องเที่ยวรวมถึงผู้สนใจจะมาท่องเที่ยวได้ยกเลิกการเดินทางแม้ว่าท่าอากาศยานจะเปิดให้บริการเป็นปรกติแล้ว ปฏิกิริยาของนักท่องเที่ยวที่ลดจำนวนลงน่าจะแสดงถึงแรงสะท้อนกลับในทางลบที่ต่อเนื่องและมีมูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจมากกว่าการจะเป็นเพียงความไม่สะดวกในการเดินทางขณะที่แรงกระทำของฝูงชนผู้ก่อการดำรงอยู่ในเวลาเพียงไม่กี่วัน สื่อสารมวลชนเชื่อมโยงภาพเหตุการณ์บางส่วนไปสู่ความรับรู้ในวงกว้างและข่าวสารจากแหล่งต่างๆส่งอิทธิพลต่อประสบการณ์และการตัดสินใจในเรื่องต่างๆต่อพื้นที่ของนักท่องเที่ยว ในประเด็นผลกระทบนี้สิ่งที่ผู้คนมักกล่าวถึงคือ ‘ความเชื่อมั่น’ ที่หายไป อันเป็นเรื่องเชิงนามธรรมที่เป็นผลมาจากเหตุการณ์ที่เป็นรูปธรรม ความเชื่อมั่นที่หายไปคือความเชื่อมั่นต่อคุณค่าที่เคยมีมา เช่น ความเป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยว ความไม่รุนแรง หรือกรอบหลักประกันต่างๆที่สังคมไทยเคยได้พิสูจน์ให้ว่าสามารถดำรงอยู่ได้แม้ในภาวะความขัดแย้งในสังคม โดยเฉพาะสวัสดิภาพและอิสระในการเดินทางและบรรยากาศการท่องเที่ยวที่ความขัดแย้งในสังคมจะไม่ข้ามไปแตะ ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยปราศจากผลกระทบโดยตรงกับการท่องเที่ยวที่เคยมีและยังเคยนำไปสู่การตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวเหมือนเป็นพื้นที่ที่แยกออกจากกันได้กลับกลายมาเป็นเรื่องในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของปัจจัยที่นักท่องเที่ยวต้องนำมาประมวลเป็น ‘ความเชื่อมั่น’ ที่จะตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยหรือไม่ ดังอาจปรากฏให้เห็นผลกระทบที่เป็นรูปธรรมส่วนหนึ่งในจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดจำนวนลง จนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องพยายามหากลวิธีต่างๆมากอบกู้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่นับเป็นเส้นเลือดหลักหนึ่งของเศรษฐกิจไทย
ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวที่ว่านี้ไม่ได้อยู่นิ่งคงที่หรือมีรูปแบบที่เป็นไปในทางเดียวกัน แต่มีพลวัตรต่างๆตามสภาพปัจจัยแวดล้อมทำให้มีความเข้าใจที่ต่างกันไปและนำพามาสู่การตัดสินใจที่ต่างกัน กลุ่มนักท่องเที่ยวส่วนน้อยที่ยังคงเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยหลังเหตุการณ์ความไม่สงบที่กล่าวมาต้องถือว่าเป็นกลุ่มลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายที่ผู้สนใจเรื่องการท่องเที่ยวควรให้ความสนใจ เนื่องจากว่าแม้มีปัจจัยลบทั้งหลายแต่กลุ่มนักท่องเที่ยวที่ยังตัดสินใจเดินทางมานี้น่าจะมีเหตุผล ปัจจัยหรือเป้าหมายในการท่องเที่ยวที่เราอาจทำความเข้าใจเพื่ออาจมีประเด็นที่สำคัญที่สามารถขยายผลดึงดูดนักท่องเที่ยว เพิ่มศักยภาพและลดทอนภาพลบต่อนักท่องเที่ยวในกลุ่มนี้ได้ดียิ่งขึ้น
บริเวณย่านถนนข้าวสารถือว่าเป็นหนึ่งในจุดศูนย์กลางการท่องเที่ยว จนเรียกได้ว่าเป็นทั้งสัญลักษณ์หลายอย่างของการท่องเที่ยวและประเทศไทย สำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งย่านถนนข้าวสารเป็นจุดนัดพบ แหล่งที่พักและข้อมูลการท่องเที่ยว สถานีต้นทางการเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคและบริการอื่นๆซึ่งสำคัญมากสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาโดยไม่ได้ซื้อบริการนำเที่ยวแบบเหมารวมตลอดการเดินทาง นักท่องเที่ยวจากที่เดินทางมาด้วยพื้นฐานทัศนคติ รสนิยมและความต้องการที่หลากหลายสู่บริเวณย่านถนนข้าวสารนี้มักมีลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งคือกระเป๋าสัพภาระหรือ ‘เป้’ บนหลังใบใหญ่ อันทำให้เราเรียกนักท่องเที่ยวในแบบนี้โดยเฉพาะว่าเป็นพวก “Backpacker” หรือพวก “นักท่องเที่ยวสะพายเป้” ซึ่งการจัดการสัมภาระในแบบนี้สะท้อนถึงลักษณะการท่องเที่ยวที่ต้องดูแลตัวเองและสัมภาระของนักท่องเที่ยว อีกยังความพร้อมในการเคลื่อนที่เดินทางที่อาจมีบ่อยและไปในพื้นที่ที่ไม่ได้ปรับปรุงไว้อำนวยความสะดวกสะบายมากนัก ซึ่งความต่างนี้เป็นจุดที่แบ่งกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวเหล่านี้ออกจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเป็นคณะใหญ่ๆ (mass market) ถึงในปัจจุบันเราจะเห็นนักท่องเที่ยวหลายคนก็ใช้กระเป๋าสัมภาระหลากรูปแบบกันไปแต่ส่วนใหญ่ก็ยังใช้กระเป๋าสะพายหลังนี้อยู่จนเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งไปเสียด้วยซ้ำ
การขยายตัวของกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบ backpacker นี้ไปสู่หลายตลาดการท่องเที่ยว และด้วยความหลากหลายในประชาการนำไปสู่ปัญหาเรื่องความคลุมเครือไม่ชัดเจนของการระบุความหมายและลักษณะพื้นฐาน รวมถึงวิธีการศึกษานักท่องเที่ยวในกลุ่มนี้ให้ลึกซึ้งลงไปกว่าขอบเขตของการศึกษาการท่องเที่ยว Sorensen (2003) ได้รวบรวมวรรณกรรมเรื่อง backpacker จากมุมของการศึกษาการท่องเที่ยวมาผสานกับแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมและแนวทางการศึกษาทางมานุษยวิทยาเพื่อศึกษาวัฒนธรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวสะพายเป้ (backpacker tourism culture) ด้วยระเบียบวิธีเชิงชาติพันธุ์วรรณา Sorensen ได้เสนอนิยามกว้างๆว่า backpacker คือ “นักท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบตัวเองในการเดินทางระยะเวลานานๆสู่หลายที่หมาย ด้วยแผนการเดินทางที่ยืดหยุ่น เหนือไปกว่าที่จะจัดได้ในรูปแบบที่วนเวียนของการท่องเที่ยวในวันหยุด”[1] โดยมองว่า backpacker มี “ความเชื่อมโยงกันในกรอบอ้างอิงบางอย่างไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตลักษณ์ ปรัชญา สำนึกความเป็นหมู่เหล่า ความเข้าอกเข้าใจในระบบคุณค่าร่วมกัน” และการปฏิสัมพันธ์ที่มีทั่วไป “ได้สร้างความหมายที่มีอิทธิพลต่อบรรทัดฐาน คุณค่า ความประพฤติ และอื่นๆของชุมชนนักท่องเที่ยวนั้น”[2] นอกจากนี้แล้วในสาระสำคัญของงาน Sorensen ยังได้อธิบายลึกลงไปในแง่มุมวัฒนธรรมการท่องเที่ยวของ backpacker ในการวิจัยที่ยาวนานเกินสองปีด้วยกลุ่มตัวอย่างที่สัมภาษณ์นับร้อยทั้งในย่านถนนข้าวสารและตามสถานที่ท่องเที่ยวทั่วไป Sorensen เสนอข้อมูลสนามที่สะท้อนระบบคุณค่าและความหมายต่างรอบๆการแสดงออกของ “วุฒิภาวะในการเดินทาง” (road status) ซึ่งสัมพัทธ์กันในหมู่นักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่น เช่น การแสดงตัวตนผ่านร่องรอยของอุปกรณ์การเดินทางและเสื้อผ้าที่ถูกใช้งานอย่างหนักหน่วง การใช้ชีวิตที่มุ่งจะสัมผัสชีวิตแบบท้องถิ่นที่ด้วยการใช้จ่ายที่ “ไม่แพงกว่าคนท้องถิ่น” รวมไปถึงการแบ่งแยกความเป็นนักเดินทางที่เหนือกว่านักท่องเที่ยวที่ต้องมีการนำเที่ยวและยังขาดโอกาสสัมผัสบรรยากาศของท้องถิ่นที่ท่องเที่ยวอย่างลึกซึ้ง
ถึงแม้หลายเสียงอาจเห็นว่าการท่องเที่ยวจากกลุ่มที่ไม่ได้มาเป็นกลุ่มเป็นก้อนกับคณะนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่ทำให้จัดการลำบากทั้งต่อนักท่องเที่ยวเองและผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว อีกยังปริมาณเงินที่ใช้จ่ายเฉลี่ยตลอดทางอาจไม่สูงนัก แต่ด้วยความที่มีอิสระในการกำหนดรายละเอียดในการเดินทางท่องเที่ยวที่ไม่เป็นรูปแบบของนักท่องเที่ยวแบบแบกสัมภาระขึ้นหลังได้ทำให้มีรูปแบบการท่องเที่ยวและซึ่งน่าจะส่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้กว้างกว่าและลึกลงสู่ท้องถิ่นได้มากกว่าการจัดการท่องเที่ยวเป็นรูปแบบและมีจำนวนมาก หรือหากเทียบกับกลุ่มที่ใกล้เคียงกันเข้ามาอีกคือกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง (niche market) ที่เข้าพักในโรงแรมสี่หรือห้าดาวและซื้อบริการการท่องเที่ยวแบบกลุ่มเล็กซึ่งแน่นอนว่าย่อมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าตามการใช้จ่าย แต่ศักยภาพของการท่องเที่ยวไทยที่จะทำเช่นนั้นได้กลับมีไม่มากนักเพราะความต้องการหลายอย่างและมาตรฐานที่สูง อีกยังมูลค่าเพิ่มจะกระจุกตัวที่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ๆ ตัวอย่างของกลุ่มนี้ได้แก่นักท่องเที่ยวชาวยุโรปที่มักเดินทางตรงเข้าพักตามหัวเมืองตากอากาศชายทะเลอย่างภูเก็ตและพังงาซึ่งน่าจะอนุมานได้ในภาพรวมว่ารับความเสี่ยงและความไม่สะดวกสบายได้น้อยกว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวในย่านถนนข้าวสาร ดังที่กล่าวมาสรุปเห็นได้ว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวแบบ backpacker นี้ก็นับว่ามีความเหมาะสมสมสอดรับกันกับความพร้อมของตลาดผู้ให้บริการการท่องเที่ยวไทยได้ดีพอควรโดยเฉพาะในบรรยาการทางเศรษฐกิจและสังคมเช่นนี้
การศึกษาตลาดการท่องเที่ยวหลักของกลุ่มนักท่องเที่ยวในย่านถนข้าวสารนี้ยังหวังจะพบภาพสะท้อนช่องว่างและความขาดหายของบทบาทรัฐในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวผ่านการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่มีต่อความคาดหวังของนักท่องเที่ยวผู้บริโภคในกลุ่ม Backpacker ซึ่งมีความต้องการหลายอย่างที่เห็นได้ว่าเหมาะกันกับศักยภาพการให้บริการของตลาดการท่องเที่ยวไทยในภาพรวมอันอาจนำการพัฒนาการท่องเที่ยวไปสู่รูปแบบที่หลากหลายขึ้น ตอบสนองตลาดได้ดีขึ้นและกระจายบทบาทมูลค่าเพิ่มไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้น หรือลดปัญหาที่อาจมีขึ้นจากความไม่เป็นรูปแบบและหลากหลายนี้ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ทั้งในภาครัฐเรื่องการท่องเที่ยวและดูแลสวัสดิภาพความสะดวกสบาย หรือในภาคเอกชนผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายย่อยที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจการท่องเที่ยวซี่งวางอยู่บนฐานทรัพยากรสาธารณะนี้ได้
คำถามการวิจัย :
ความเข้าใจรวมถึงทัศนคติและพื้นฐานทางความคิดต่อการท่องเที่ยวเช่นไรที่ทำให้นักท่องเที่ยวแบบสะพายเป้หรือ Backpackers เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยภายหลังเหตุการณ์ปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่ามกลางสภาพความขัดแย้งและความรุนแรงที่ยังคงมีต่อเนื่องเช่นนี้
ขอบเขตและประชาการในการศึกษา
เนื่องจากตลาดธุรกิจการท่องเที่ยวมีความหลากหลายและกว้างขวางครอบคลุมหลายกลุ่มนักท่องเที่ยว ในการวิจัยนี้สนใจที่จะศึกษากลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย (Inbound tourists) และเข้าพักในย่านถนนข้าวสารและซอยรามบุตรี หรืออาจจะพำนักอยู่ในบริเวณใกล้เคียงรวมถึงย่านบางลำพู ถนนพระอาทิตย์ แต่ก็จะวนเวียนดำเนินกิจวัตรประจำวันจากบริการในย่านเดียวกันนี้
สมมติฐานเบื้องต้น
ข้อสมมติฐานแรกในเรื่องความเข้าใจต่อสภาพการณ์พื้นฐานจากการสุ่มสำรวจในย่านถนนข้าวสารหลายครั้งตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2551 อย่างไม่เป็นทางการยังคงพบว่าบรรยากาศการท่องเที่ยวยังมีความเคลื่อนไหวคึกคักได้บ้างตามฤดูกาลหลังการเปิดท่าอากาศยานจนนำมาสู่ความสนใจในงานวิจัยชิ้นนี้เนื่องจากเห็นว่ากลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวแบบแบกเป้นี้นับว่ามีความเชื่อมั่นต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวของไทยท่ามกลางความขัดแย้ง มีความอ่อนไหวต่อเหตุการณ์น้อยอาจจะเป็นกลุ่มที่ได้รับอานิสงค์จากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำให้ตลาดท่องเที่ยวที่ราคาไม่สูงนักในย่านถนนข้าวสารอันเป็นที่รู้จักอยู่ทั่วโลกยังดำเนินไปได้โดยไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และมีเนื้อหาให้ทำการศึกษาได้
การวิจัยนี้มุ่งจะค้นหาเหตุปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเดินทาง แม้ว่าจะมีเหตุการณ์วิกฤตที่อาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวพึ่งเกิดขึ้นไป จึงมีสมมติฐานเบื้องต้นต่อผลของเหตุการณ์ต่อการตัดสินใจว่า ไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเดินทางมาแล้วนั้นก็เป็นส่วนของการเข้าสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างในสนามวิจัยเพื่อจะตอบคำถามในการวิจัยต่อไปว่ากลุ่มตัวอย่างมีทัศนคติและพื้นฐานความคิดต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวในภาวะความไม่สงบเช่นนี้อย่างไรบ้าง
แนวคิดและวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
ในการสร้างพื้นความรู้ความเข้าใจในการทำวิจัยภาคสนามนี้ได้เริ่มต้นตั้งแต่จากการสร้างความเข้าใจใน “การท่องเที่ยว” อันเป็นปรากฏการณ์ที่จะศึกษาเป็นประเด็นแรก เพื่อให้เข้าใจในระบบความคิดหลักและภาพรวมของปรากฏการณ์ อันจะปูทางไปสู่การศึกษางานเขียนจำพวกปูมบันทึกการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่ได้บรรยายภาพประสบการณ์การท่องเที่ยวไว้ในแง่มุมต่างๆ รวมถึงเรื่องที่บันทึกเกี่ยวกับการท่องเที่ยวไทยในช่วงหลังเหตุการณ์ปิดยึดท่าอากาศยานเพื่อเป็นแนวทางไปสอบเทียบกับข้อมูลภาคสนามอันเป็นปรากฏการณ์ที่ดำเนินไปควบคู่กันกับข้อมูลจากบันทึก ประเด็นที่สองในลำดับต่อมาคือการทำความเข้าใจต่อ “พื้นที่ถนนข้าวสาร” อันเป็นพื้นที่ซึ่งมีประวัติความเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาอันสั้นแต่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกและยังมีชุมชนนานาชาติอันเป็นพื้นที่ของสนามวิจัยนี้ด้วย ในประเด็นที่สามคือตัว “นักท่องเที่ยว” อันเป็นกลุ่มประชากรที่จะศึกษา ซึ่งในกรณีของนักท่องเที่ยวในย่านถนนข้าวสารนั้นมีกลุ่มย่อยๆแฝงอยู่มากมาย เช่นว่ากลุ่มที่แบ่งตามเชื้อชาติ เพศ ลักษณะของกลุ่มร่วมเดินทาง ภาษา ระดับรายได้หรือการศึกษา หรือจุดประสงค์หลักในการท่องเที่ยว อันอาจทำให้ภาพข้อมูลสนามที่ปะติดปะต่อได้อาจจะมีลักษณะที่กระจัดกระจายจึงจำต้องศึกษาความแตกต่างและมิติของคำตอบเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าหาแหล่งข้อมูลผู้ให้สัมภาษณ์ (informants) ในประเด็นสุดท้ายเรื่องภาวะความตื่นตระหนกทางจิตใจ (moral panic) ที่มีต่อนักท่องเที่ยวจากเหตุการณ์วิกฤติต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวประเทศไทย โดยจะศึกษาบันทึกของนักท่องเที่ยวและข่าวสารต่างๆที่สะท้อนเหตุการณ์ความไม่สงบว่ามีทัศนคติอย่างไร
การท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งในสังคมมนุษย์ซึ่งมีพัฒนาการออกมาในหลายรูปแบบและนำให้หลายนักคิดได้เข้ามาศึกษาความแตกต่างของพื้นที่สองแห่งเป็นอย่างน้อยที่เชื่อมต่อสัมพันธ์กันผ่านประสบการณ์ของมนุษย์นักเดินทางหนึ่งคน วิวัฒนาการของการท่องเที่ยวถึงในปัจจุบันนับว่าเปลี่ยนแปลงไปมาก การท่องเที่ยวที่เคยเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มนักเดินทางสำรวจผจญภัยหรือผู้จาริกแสวงบุญขยายตัวเป็อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งครอบคลุมไปในหลายระดับ สร้างอุปสงค์และอุปทานในธุรกิจการท่องเที่ยวสู่แทบทุกพื้นที่หรือแม้ในอวกาศในปัจจุบันนี้ก็ยังสามารถไปเที่ยวได้และมีคนดั้นด้นไปจนได้แล้วไม่น้อย พลวัตของการท่องเที่ยวนี้นอกจากในทางเศรษฐกิจยังเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์ต่างๆในสังคมต่างๆเข้าด้วยกันผ่านประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวที่ปะทะสังสรรค์กับท้องถิ่นที่ได้ผ่านมาเยือนในการใช้เวลาว่าง (Leisure) การท่องเที่ยวจึงไม่ใช่เพียงกิจกรรมของแหล่งท่องเที่ยวอย่างแยกส่วน แต่ยังมีมิติของประสบการณ์ภายในตัวตนของนักท่องเที่ยวในฐานะของแขก (Guest) ที่หลีกหลบออกจากโลกการทำงานหรือสภาวะบางอย่างจากสถานที่ต้นทางสู่ที่เข้าไปหาท้องถิ่นที่ท่องเที่ยว (Host)
ประเทศไทยอันเป็นตลาดสำคัญแห่งหนึ่งของอุตสาหกรรมนี้ก็มีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นเส้นเลือดหลักหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจอยู่อย่างเห็นได้ชัด ปรากฏการณ์ความขัดแย้งในสังคมต่างๆมักมีการเชื่อมโยง และนำไปประกอบการคาดคะเนถึงผลต่อธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศด้วยเหตุผลและวาทะกรรมต่างๆ ซึ่งย่อมชี้ถึงความไม่เป็นผลดีในภาพรวม แต่ในความซับซ้อนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีการตอบสนองต่อปรากฏการณ์และข้อมูลเรื่องความขัดแย้งนี้แตกต่างกันไปด้วยทั้งปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ และอีกยังหลายเหตุปัจจัยที่การสรุปความเช่นนั้นย่อมอาจข้ามกลุ่มตลาดการท่องเที่ยวบางกลุ่มอันเป็นจุดสนใจของการศึกษานี้
การท่องเที่ยวในขั้นพื้นฐานตามมุมมองจากการศึกษาทางทฤษฏีการท่องเที่ยวของ Burns (1999: 25-26) ชี้ว่าจากคำนิยามของการท่องเที่ยวที่มีหลากหลายแต่ก็มีจุดร่วมกันอยู่ที่ส่วนประกอบหลักสี่ประการคือ 1) ความต้องการท่องเที่ยว (Travel demand) 2) ผู้ให้บริการในการท่องเที่ยว (Tourism intermediaries) และ 3) อิทธิพลจากจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยว (Destination influences) และ 4) ผลกระทบจากการท่องเที่ยว (a range of impacts) ซึ่งมุมมองของ Burns ในที่นี้ได้ดึงให้เห็นภาพรวมของการท่องเที่ยวโดยกว้างซึ่งการจะขึ้นหรือลงไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในจุดหมายปลายทางอย่างในกรณีของความไม่สงบในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว ปัจจัยภายในประเทศสำหรับการท่องเที่ยวไทยหลังเหตุการณ์ความไม่สงบเชื่อได้แน่นอนว่าต้องสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ด้วยกระแสการเมืองที่ยังมีความขัดแย้งและต่อสู้ทางอำนาจที่ยังดำเนินอยู่ได้ฉุดให้บรรยากาศการท่องเที่ยวย่ำแย่ลง แต่ก็ต้องไม่มองข้ามปัจจัยเรื่องต้องการท่องเที่ยวโดยรวมที่ลดลงตามการบริโภคในส่วนอื่นๆท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจถดถอยอันน่าจะมีอิทธิพลแฝงอยู่ในประสบการณ์และการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวในสนามวิจัยของการศึกษาชิ้นนี้ สิ่งที่ Burns เน้นในการทำความเข้าใจการท่องเที่ยวคือการพิจารณาการท่องเที่ยวเป็นระบบหรือชุดระบบย่อยในระบบใหญ่ (system of set of subsystem) ที่เชื่อมโยงอยู่กับกระบวนการทางสังคมและวัฒนธรรมด้วยไม่ใช่เพียงแค่มิติทางเศรษฐกิจเท่านั้น (Burns 1999: 29) ซึ่งก็สอดคล้องในแนวคิดของ Jafari (1977 อ้างใน Burns: 30-31) ซึ่งเสนอมุมมองที่เน้นมิติทางสังคมและวัฒนธรรมเช่นกัน โดย Jafari เห็นว่าการศึกษาการท่องเที่ยวคือการศึกษาคนที่เดินทางจากถิ่นที่อยู่ปรกติ อีกยังศึกษาอุตสาหกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการนั้น และผลกระทบต่อเนื่องทั้งจากนักท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีต่อสภาพสังคมและวัฒนธรรมของสถานที่ท่องเที่ยว
การให้นิยามและความหมายของการท่องเที่ยวที่หลากหลายได้ให้ทัศนะมุมมองที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการศึกษาแบบชาติพรรณวรรณชิ้นนี้ โดยเฉพาะในการศึกษาการท่องเที่ยวช่วงหลังทศวรรษที่1980ที่กระแสของการศึกษาทางสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์เริ่มเข้ามามีอิทธิพลอย่างชัดเจนมากขึ้น การศึกษาการท่องเที่ยวเริ่มเอนเอียงได้เข้าหากระบวนการทางสังคมที่เกิดคู่กับการท่องเที่ยวมากขึ้น อย่างเช่นที่ Pearce (1982) เห็นว่าการท่องเที่ยวคือปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้อง ‘การปะทะสังสรรค์’ ของสังคมในการพักผ่อนหย่อนใจ (leisured society at play) หรือในกรณีของ Urry (1990) ซึ่งมุ่งชี้ประเด็นเรื่อง ‘การบริโภค’ อันเป็นความคิดที่จัดได้ว่ามีกลิ่นอายของแนวคิดแบบโพสต์โมเดิร์นมากขึ้นแล้วโดย Urry มองถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้ผู้คนละทิ้งจากที่อยู่อาศัยหรือที่ทำงานเป็นระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งเขาชี้ว่าเกี่ยวกับการบริโภคสินค้าและบริการที่เกินความจำเป็นในบางความหมายแต่ก่อให้เกิดประสบการณ์ที่เป็นสุขใจ (pleasurable experiences) อันหาไม่ได้ในชีวิตประจำวัน ถึงแม้Burnจะเห็นว่าแนวคิดนี้ให้น้ำหนักกับการท่องเที่ยวที่เน้นการบริโภคอันไม่เป็นแบบอย่างที่แน่นอนเสมอไป ในกรณีของถนนข้าวสารและการท่องเที่ยวไทยที่มีจุดเด่นเรื่องค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงนัก แทบจะไม่ต่างจากที่คนกรุงเทพทั่วไปบริโภคเลย อาจมองได้เหมือนว่าการบริโภคเหมือนไม่ใช่เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้โหยหา แต่ผู้วิจัยเห็นว่าการบริโภคที่ระดับราคาต่ำกว่านั้นไม่ได้เป็นเหตุให้มีความต่างในความสุขใจจากการบริโภคนั้นเลยแถมยังทำให้นี่เป็นเรื่องสำคัญที่นักท่องเที่ยวอาจคาดหวังได้จากการท่องเที่ยวในย่านนี้ว่าจะทำให้คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายออกไปจำนวนเท่ากันกับในจุดหมายปลายทางอื่นๆ
ในอีกมุมหนึ่งซึ่งคล้ายกัน Ryan (1991) เสนอว่าผลิตภัณฑ์ของการท่องเที่ยวไม่ใช่จุดหมายในการเดินทาง แต่เป็น ‘ประสบการณ์’ เกี่ยวกับสถานที่และเหตุการณ์ที่ดำเนินไปขณะอยู่ในที่ท่องเที่ยวแห่งนั้นซึ่งเป็นชุดกระบวนการปฏิสัมพันธ์ทั้งภายในและภายนอก(ของสถานที่) เนื่องจากประสบการณ์ที่เล่าผ่านมาย่อมเป็นความทรงจำที่มีคุณค่าแฝงอยู่การเข้าไปค้นหาประสบการณ์การท่องเที่ยวในกลุ่มตัวอย่างนักท่องเที่ยวย่านถนนข้าวสารย่อมเป็นประสบการณ์ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงการท่องเที่ยวไทยเท่านั้น แต่ก็จะยังรวมไปถึงภาพเปรียบเทียบของประสบการณ์ในการท่องเที่ยวในอีกหลายจุดหมายที่ผ่านมาและยังมีผลต่อการรับรู้ของนักท่องเที่ยวที่ได้ใช้ประเมินคุณค่าของประสบการณ์ที่ได้มาในที่เราได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลในสนามวิจัย
ในช่วงทศวรรษที่1990อันเป็นช่วงเวลาที่กระแสโลกาภิวัฒน์ได้ผลักดันให้การท่องเที่ยวเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วหลังการล่มสลายของสงครามเย็นผ่านกลไกทางสังคมที่เปิดเสรี (liberalization) และเชื่อมโยงติดต่อถึงกัน (interconnectedness) มากขึ้น แนวความคิดเรื่องธุรกิจเริ่มเข้ามามีบทบาทชัดเจนขึ้นในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จากจุดสนใจเรื่องประสบการณ์ของพื้นที่และความหมายของการบริโภคก่อนหน้าก็ได้มีหันไปสู่ความสนใจเรื่องกระบวนการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวหรือผู้บริโภคเพื่อตอบคำถามในการพัฒนาและดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าสู่ตลาด โดยมี Lieper (1995) เสนอว่าการท่องเที่ยวครอบคลุม ‘ความคิดและความเห็น’ (ideas and opinions) ของผู้คนที่มีต่อการตัดสินใจในการไปเดินทางท่องเที่ยวและจุดหมาย รวมไปถึงเรื่องที่จะทำและไม่ทำต่างๆ และรวมไปถึงความสัมพันธ์ต่อนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ ผู้คนท้องถิ่นและผู้ให้บริการ ซึ่งรวมแล้วเป็นการแสดงออกทางพฤติกรรม (behavioral manifestations) ของความคิดความเห็นนั้น แนวความคิดนี้เน้นถึงพื้นความคิดอ่านของนักท่องเที่ยวในการตัดสินใจและความชอบไม่ชอบต่างๆที่แม้จะขาดองค์ประกอบเรื่องบทบาทของอุตสาหกรรมที่จะสนองตอบความต้องการได้อย่างไร แต่ก็ได้ชี้ให้เห็นความพยายามที่จะเข้าใจปัจจัยพฤติกรรมของตลาดการท่องเที่ยวที่เพิ่มปริมาณและมูลค่าขึ้นเรื่อยๆ คล้ายกับในกรณีของ Middleton (1998) ที่เสนอความคิดว่าไม่ควรมองว่าการท่องเที่ยวเป็นอุตสหากรรมแต่ควรพิจารณาว่าเป็นตลาดทั้งหมดซึ่งสะท้อนรูปแบบความต้องการและการบริโภคของผู้มาเยือนสำหรับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวต่างๆ การหันเข้าหามุมมองเช่นว่านอกจากจะสอดคล้องกับโจทย์ปัญหาของอุตสาหกรรมหรือตลาดการท่องเที่ยวแล้วยังสอดคล้องกันกับแนวคิดของสภาการท่องเที่ยวโลก (World Travel & Tourism Council, WTTC) ซึ่งคล้ายเป็นสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของโลกซึ่งถือกำเนิดมาในปี 1990 โดยความคิดริเริ่มของ James Robinson III ผู้บริหารของบริษัท American Express และความสนับสนุนของ Henry Kissinger ในการประชุมผู้บริหารธุรกิจการท่องเที่ยวชั้นนำที่กรุงปารีสในปีก่อนหน้า ดังนั้น WTTC จึงเป็นเหมือนความเวทีความร่วมมือและกำหนดทิศทางสำหรับผู้นำในธุรกิจการท่องเที่ยวทำให้ไม่น่าแปลกใจถึงแนวคิดมุมมองต่างๆที่นำมาใช้จะมุ่งส่งเสริมการเติบโตทางธุรกิจเป็นหลัก
ความเกี่ยวพันกับระบบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของโลกของย่านถนนข้าวสารอาจดูเหมือนจะไม่ได้มีความสัมพันธ์กันมากนักเนื่องจากความหลากหลายและเรียบง่ายในการบริโภค WTTC ที่เป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกระแสหลักอาจไม่ได้เป็นผู้ให้บริการหลักของนักท่องเที่ยวแบบ Backpackerด้วยมูลค่าตลาดรวมที่ไม่สูงนักและจัดการยาก แต่อย่างไรก็ตามในสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งหรือในบางกิจกรรมที่พอมีการบริโภคและจับจ่ายมูลค่าส่วนต่างให้หาผลประโยชน์ได้ก็อยู่ภายใต้ความสนใจและปฏิบัติการของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับโลก เช่นเรื่องการเดินทางโดยเฉพาะการบิน โปรแกรมการท่องเที่ยวย่อยๆ ธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ อีกยังในบางจุดหมายปลายทางนอกย่านถนนข้าวสารที่นักท่องเที่ยวอาจเลือกบริโภคและท่องเที่ยวที่ระดับราคาสูงขึ้นเพื่อประสบการณ์ความประทับใจบางอย่างได้ ผลิตภัณฑ์และบริการของการท่องเที่ยวกระแสหลักจึงมีความหมายที่ไม่ใช่อยู่ในทางตรงกันข้ามกับการท่องเที่ยวแบบประหยัดแบบคู่ตรงข้าม แต่สำหรับงานวิจัยนี้การมีอยู่ของการท่องเที่ยวกระแสหลักที่ต้องเข้าใจคือการเป็นมาตรฐานอย่างหนึ่งของตลาดการท่องเที่ยว อันที่เราจะเห็นตลาดการท่องเที่ยวในย่านถนนข้าวสารนี้ดำเนินอยู่คู่กันไปใต้ระดับราคาและคุณภาพของการท่องเที่ยวกระแสหลัก กลุ่มนักท่องเที่ยวก็อาจมีประสบการณ์ในการท่องเที่ยวแบบผสมผสานหรือเปลี่ยนไปมาได้เพื่อประโยชน์การเดินทางท่องเที่ยวที่ต้องการ คุณค่าบางอย่างจากประสบการณ์ในการท่องเที่ยวกระแสหลักน่าจะมีอิทธิพลในการกำหนดความหมายของการท่องเที่ยวแบบประหยัดได้ในระดับหนึ่งว่าจะต้องมีอะไร หรือไม่ต้องมีอะไร
ย่านถนนข้าวสารในฐานะที่เป็นศูนย์รวมของผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวแบบประหยัดนั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างตั้งใจหรือเข้าใจในกลยุทธ์ในตลาดการท่องเที่ยวหรือถูกกระตุ้นอย่างเป็นระบบมากนัก ในงานการศึกษาเกี่ยวกับชุมชนและกิจกรรมต่างๆในพื้นที่ถนนข้าวสารในหลากหลายแง่มุมนั้นให้ภาพตรงกันถึงย่านถนนข้าวสารที่เปลี่ยนแปลงจากชุมชนที่พักอาศัยของข้าราชการตั้งแต่ปีพ.ศ. 2535 ที่เริ่มตัด ‘ตรอกข้าวสาร’ จนกลายมามีกิจการค้าขายสินค้าจำเป็นเล็กน้อยจนมาเป็นแหล่งบริการนักท่องเที่ยวอันเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก อันประกอบไปด้วยโรงแรมขนาดกลางจนถึงเกสท์เฮ้าส์หรือบ้านพักนักท่องเที่ยวในขนาดเล็กๆ บริษัทนำเที่ยว จองตั๋วโดยสาร ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านหนังสือ ร้านทำผม ร้านเครื่องแต่งกาย รวมไปจนถึงร้านค้าของเบ็ดเตล็ด
จากการศึกษาของพันทิพา (2542 อ้างใน อัฐมา 12-13) ได้แบ่งการเติบโตของย่านบางลำพูซึ่งรวมถึงถนนข้าวสารและย่านรามบุตรีนี้ออกเป็นสามช่วงจากการศึกษาภาพของชุมชนในมุมมองของผู้อยู่อาศัยได้แก่ 1) ช่วงที่ศูนย์กลางชุมชนเป็นตลาดการค้าและแหล่งบันเทิง (พ.ศ. 2440-2510) 2) ช่วงที่ศูนย์กลางชุมชนเป็นย่านการค้าสมัยใหม่ มีห้างสรรพสินค้า (พ.ศ. 2510-2535) และ 3) บางลำพู “ยุคการค้าซบเซา เกสท์เฮ้าส์รุกชุมชน การเข้ามาของแนวคิดเมืองน่าอยู่และย่านเติมฝันของคนชั้นกลาง (พ.ศ. 2535-2543)” (เน้นโดยผู้วิจัย) ซึ่งสะท้อนให้เห็นการเติบโตของธุรกิจการท่องเที่ยวและชุมชนนักท่องเที่ยวในถนนข้าวสารอย่างกว้างๆ อีกยังความเป็นชุมชนที่ถูกธุรกิจรุกคืบเข้ามากลืนท้องที่จนกลายสภาพเป็น “ชุมชนนักท่องเที่ยว” อย่างเต็มตัวเต็มพื้นที่ในปัจจุบัน ที่ประชากรส่วนใหญ่คือนักท่องเที่ยวต่างชาติ และผู้ให้บริการชาวท้องถิ่น รวมถึงแรงงานต่างด้าว
ในรายละเอียดที่สอดคล้องกันในงานการศึกษาของโฉมสุดา สาระปัญญา (2547) ที่นำเสนอการก่อตัวขึ้นของธุรกิจในย่านถนนข้าวสารผ่านจากมุมมองของผู้ประกอบการค้าในย่านนี้ โดยเริ่มจากช่วงแรกๆที่มีนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อจำกัด หรือที่วรพจน์ พันธุ์พงศ์ (2544 : 144 อ้างใน โฉมสุดา 2547 : 35-36) เรียกว่า “ฮิปปี้” รวมถึงนักท่องเที่ยวอื่นๆที่มาถ่ายทอดเรื่องราวชุมชนเก่าที่อยู่ใกล้บริเวณท่องเที่ยวหลัก ซึ่งมีบ้านไม้เก่าหลังไม่ใหญ่ และต่อมามีเจ้าของบ้านที่เริ่มแบ่งห้องให้นักท่องเที่ยวเช่าพักในราคาถูก (ประมาณคืนละ30บาทในสมัยนั้น) และมีอัธยาศัยที่เป็นกันเอง เช่นเจ้าของห้องเช่าที่ทานอาหารร่วมกับนักท่องเที่ยว ทำให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาเรื่อยๆ จนมี “บอนนี่เกสท์เฮ้าส์” ซึ่งเป็นที่พักนักท่องเที่ยวเกิดขึ้นในปีพ.ศ.2525 ทำให้ถนนข้าวสารเริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งว่าเป็นแหล่งที่พักราคาถูกที่สะดวกต่อการท่องเที่ยวในย่านเมืองเก่าแห่งหนึ่งในกรุงเทพ
ต่อมาถนนข้าวสารเริ่มเป็นที่รู้จักออกไปในวงกว้างด้วยการประชาสัมพันธ์ทั้งจากภายในและภายนอก จากทางในประเทศได้มีการจัดงาน “ปีการท่องเที่ยวไทย” พ.ศ. 2528-2529 ที่มีเนื้อหาเรื่องที่พักราคาถูกในย่านถนนข้าวสารอยู่ในเอกสารประชาสัมพันธ์ รวมถึงการเริ่มเป็นที่รู้จักในภายนอกประเทศจากการวิจารณ์และแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในหนังสือนำเที่ยวและสื่อมวลชนท้องถิ่น ซึ่งมีตามมาอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้นทั้งทางโทรทัศน์ในวงกว้างระดับประเทศหรือหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในประเทศต่างๆ ซึ่งก็สอดคล้องกับการสำรวจของกนกพร ศิริโรจน์ (2545) ที่ปรากฏว่านักท่องเที่ยวใช้ปัจจัยเรื่องที่พักราคาถูกในย่านถนนข้าวสารเป็นหลัก
นอกเหนือไปจากนั้นปัจจัยร่วมสมัยสำคัญอันหนึ่งที่ตอกย้ำชื่อเสียงของถนนข้าวสารให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายไปอีก จนมีสถานะเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของการท่องเที่ยวแบบสะพายเป้นี้คือภาพยนตร์เรื่อง The Beach ที่ออกฉายในปี พ.ศ.2543 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการไปใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนลับของนักท่องเที่ยวบนเกาะที่ Richard ตัวเอกในเรื่องใช้ย่านถนนข้าวสารเป็นจุดเริ่มเดินทางในหลายตอน
นอกจากนี้แล้วในปัจจุบันยังมีเว็บไซต์แนะนำการท่องเที่ยวทั้งจากผู้ประกอบการเองและกลุ่มนักท่องเที่ยวซึ่งเข้ามามีบทบาทเข้าถึงตัวนักท่องเที่ยวมากขึ้น อย่างเช่น Wikitravel ซึ่งเป็นสารานุกรมที่รวบรวมข้อมูลพื้นฐานต่างๆได้กล่าวถึงถนนข้าวสาร (Khao San Road) เป็นแหล่งดึงดูด “นักท่องเที่ยวแบบสะพายเป้ด้วยราคาที่พักและบริการการท่องเที่ยวที่ถูกที่สุดแห่งหนี่งของประเทศไทย”[1] เว็บไซต์ที่เป็นที่นิยมมากอีกแห่งหนึ่งสำหรับนักท่องเที่ยวแบบสะพายเป้คือ Lonely Planet[2] โดยที่ในเว็บไซต์จะมีกระดานข่าว (forum หรือ web board) ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ หาข้อมูลการท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ รวมถึงตั้งคำถามเรื่องสถานการณ์การท่องเที่ยวอยู่ทุกวัน โดยเฉพาะช่วงที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบต่างๆก็มีบรรยากาศการสนทนาของนักท่องเที่ยวในชุมชนเสมือนจริง (virtual community) ซึ่ง Adkins & Grant (2007) ชี้ว่าการได้แลกเปลี่ยนทัศนะในกระดานข่าวเช่นนี้เป็นรากฐานให้เกิดวัฒนธรรมร่วมกันในหมู่นักท่องเที่ยว และยังมีนัยยะสำคัญในทางวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่งเมื่อการปฏิสัมพันธ์นี้เกิดข้ามเส้นพรหมแดนระหว่างคนแปลกหน้า ซึ่ง Adkins & Grant เห็นว่าสอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง Cosmopolitan ที่เสนอโดย Ulrich Beck (2000) ว่าจะมาแทนอัตลักษณ์เก่าที่นิยามโดยรัฐชาติ แนวคิดนี้นับว่ามีความสำคัญต่อการค้นหาเส้นแบ่งของนักท่องเที่ยวที่คุ้นเคยกว่าด้วยสัญชาติ แต่ด้วยช่องทางสื่อสารและเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อข้อมูลเช่นนี้น่าจะทำให้ภาพของ ”วัฒนธรรมร่วม” ในกลุ่มนักท่องเที่ยวตามรูปแบบร่วมบางอย่างเช่นการท่องเที่ยวแบบสะพายเป้นี้ปรากฏชัดขึ้นแทน
การทำความเข้าใจนักท่องเที่ยวแบบสะพายเป้ซึ่งอาจดูเป็นกลุ่มเฉพาะ มีความต้องการหลายอย่างคล้ายกันจากย่านถนนข้าวสาร แต่ก็ไม่สามารถอนุมานได้ว่ากลุ่ม backpacker จะมีความเป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด (heterogeneity) ดังที่ Sorensen ได้เสนอไว้ จึงต้องทบทวนแนวทางที่กว้างกว่านั้นของการท่องเที่ยวเพื่อเป็นกรอบกว้างๆ ดังเช่นที่ Burns (1999) ก็ได้ประมวลภาพความหลากหลายในแนวทฤษฎีที่ใช้อธิบายนักท่องเที่ยว โดยได้เริ่มจากการแบ่งของ Cohen (1974 อ้างใน Burns: 42-45) ว่านักท่องเที่ยวอยู่ในข่ายการให้บริการของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหรือไม่ โดย Cohen ได้แบ่งนักท่องเที่ยวเป็นพวก organize mass tourist และ individual mass tourist ที่จะเน้นใช้สถานที่และการเดินทางแบบมีผู้จัดการนำเที่ยวมีแผนการเดินทางชัดและไม่อยู่นาน แต่อาจไปเป็นกลุ่มหรือเดี่ยวได้ ส่วนอีกสองกลุ่มที่มักจะใช้ชีวิตนักท่องเที่ยวจริงจังยาวนานกว่าสัปดาห์และอาจถึงหลายเดือน คือพวก Explorer หรือ “นักสำรวจ” ที่จะแสวงหาทางท่องเที่ยวในที่แปลกแยกออกไปจากที่กลุ่มนักท่องเที่ยวแบบเป็นหมู่คณะไป แต่ก็จะไม่รอที่จะสลับกลับมาซื้อความสบายได้หากพบความยากลำบากเกินไป และอีกกลุ่มที่Sorensen เห็นว่าสอดคล้องกับ backpacker มากที่สุด คือพวก “ปล่อยลอย” หรือ Drifter ที่จะแสวงหาความแปลกใหม่ และพยายามเข้าหาความเป็นท้องถิ่นมากกว่ากลุ่มอื่นและไม่ต้องการความสบายมากกว่าประสบการณ์ความตื่นเต้นแปลกใหม่
การแบ่งแยกย่อยนักท่องเที่ยวต่อมาโดยการศึกษาของบริษัท American Express หรือ Amex ที่ Burns ประมวลมาก็คล้ายกัน แต่ให้ความหมายตามแนวโน้มการใช้จ่ายเงิน เช่น Economiser หรือพวก “เน้นความประหยัด” (อ้างใน Burns: 45) ที่ Amex อธิบายว่า “การท่องเที่ยวไม่เป็นเรื่องที่เพิ่มคุณค่าอะไรให้ชีวิตนักท่องเที่ยวนี้มากนัก พวกเขาท่องเที่ยวเพราะเป็นเรื่อง ‘ปรกติ’ ที่ต้องทำในการพักผ่อนหย่อนใจ พวกเขาไม่เห็นความจำเป็นที่จะจ่ายเพิ่มเพื่อเครื่องอำนวยความสะดวกและบริการที่พิเศษขึ้น” (special amenities or service) โดยในกลุ่ม Backpacker จะใกล้เคียงกับกลุ่มนี้มากที่สุดในเรื่องทัศนะการใช้จ่ายเงินแต่เรื่องการให้คุณค่าต่อการท่องเที่ยวนับว่าตื้นเขินไปมากซึ่งก็เป็นดังฐานการมองที่กล่าวไว้
นอกจากประเภทของนักท่องเที่ยวโดยรวมที่กล่าวมาแล้ว Ryan (1991 อ้างใน Burns: 43) ได้เสนอแนวคิดเรื่องแรงบันดาลใจของนักท่องเที่ยว (Tourist motivation) ที่หลากหลายและครอบคลุมตั้งแต่ว่า 1) เพื่อหนีออกจากที่ใดหรือสภาวะใดสภาวะใดๆ (escape) 2) เพื่อผ่อนคลาย (relaxation) 3) เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ในครอบครัว (strengthening family bonds) 4) เพื่อโอกาสสำหรับเรื่องทางเพศ (sexual opportunity) 5) เพื่อเติมเต็มความใฝ่ฝัน (wish-fulfilment) 6) เพื่อแสวงหาการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (social interaction) 7) เพื่อจับจ่ายซื้อของ (shopping) 8) เพื่อเกียรติภูมิ (prestige) 9) self-fulfilment (เพื่อเติมเต็มตัวตน) ซึ่งเป็นแนวทางโดยกว้างที่บอกถึงแรงบันดาลใจที่นักท่องเที่ยวใช้ขับดันให้เกิดการเดินทางได้ แรงบันดาลใจในการท่องเที่ยวจึงเป็นกรอบกล่าเรื่องเฉพาะของประสบการณ์จากสนามวิจัยได้บางส่วน
ตามหัวข้อเฉพาะเจาะจงลงไปของการศึกษานักท่องเที่ยวแบบสะพายเป้ที่เงื่อนไขเหตุการณ์ความไม่สงบและการปิดท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิเนื่องจากเป็นจุดที่ทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อนักท่องเที่ยวในวงกว้างอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด แต่เหตุการณ์ความขัดแย้งก็ดำรงอยู่ตลอดมาในบรรยากาศการท่องเที่ยว จนถึงการปราบปรามแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่ม “เสื้อแดง” ในการชุมนุมเมื่อช่วงสงกรานต์ วันที่ เมษายน ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายไปได้โดยง่าย สิ่งที่ถูกส่งผ่านออกไปสู่การรับรู้ในวงกว้างผ่านสื่อสารมวลชนระดับโลกต่างๆ ทั้งโดยสำนักข่าวนานาชาติอย่าง AssociatedPress, AFP, CNN หรือ BBC ก็เป็นภาพการชุมนุมประท้วงที่หน้าอาคารที่พักผู้โดยสารและการปะทะกันย่อยๆระหว่างนักท่องเที่ยวที่ไม่พอใจและกลุ่มผู้ก่อการ การร้องเพลงปลุกใจและเพื่อสันทนาการของฝูงชน ไปจนถึงความรู้สึกสับสนหงุดหงิดและการปฏิเสธจะกลับมายังประเทศไทยจากคำสัมภาษณ์นักท่องเที่ยวในช่วงการปิดสนามบิน[3] และยังต่อเนื่องมาจนถึงช่วงการปลุกระดมฝ่าย “เสื้อแดง” จนนำมาสู่การปิดล้อมสถานที่จัดประชุมผู้นำอาเซียนในเมืองพัทยา และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งก็มีภาพเหตุการณ์ความรุนแรงและการปะทะที่บริเวณแยกสามเหลี่ยมดินแดง จนถึงภาพพาหนะสงครามที่วิ่งอยู่ทั่วไปช่วงเหตุการณ์นั้น ซึ่งทั้งหมดนี้คือภาพเหตุการณ์ต่อเนื่องโดยรวมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ที่ยังไม่มีความวางใจในสถานการณ์จากภายนอก ทั้งการเตือนจากรัฐบาลต่างประเทศและเว็บไซต์อย่าง Lonely Planet ถึงสถานการณ์ความไม่สงบที่อาจปะทุขึ้นเมื่อใดก็ได้[3] แต่ถึงอย่างไรก็ตามท่ามกลางบรรยากาศเช่นนี้ก็มีนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติในประเทศเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทั้งจากประสบการณ์และการบอกเล่า ซึ่งก็สื่อถึงทั้งสองด้านของสถานการณ์ ความคิดเห็นที่ยังพบได้มากจากกระดานข่าวของ Lonely Planet หรือวิดิทัศน์สั้นที่ให้ความเห็นต่าง และที่อื่นคือคำอธิบายถึงความจำกัดของสถานการณ์ที่ไม่ได้กระทบต่อการท่องเที่ยวเท่าใดนักในประสบการณ์ของเขาเหล่านั้น อีกยังการให้ภาพเปรียบเทียบต่างเพื่อดึงอารมณ์ของผู้ที่กำลังตื่นตระหนกต่อข่าวสารที่เสนอออกผ่านสื่อทางโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ (institutionalized medias) จึงทำให้การศึกษานี้ต้องตระหนักถึงความคลุมเครือในความเข้าใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมในสายตาของนักท่องเที่ยวที่ต้องค้นหาในการวิจัย
สนามวิจัยและการสัมภาษณ์
การศึกษานี้ศึกษานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาพักผ่อนอิริยาบทอยู่ในย่าน ”ถนนข้าวสาร” ของนักท่องเที่ยวซึ่งก็กินความรวมถึงย่านบางลำพูทั้งหมด และถนนรามบุตรีซึ่งในปัจจุบันก็เต็มไปด้วยเกสท์เฮาส์ ร้านอาหารและเครื่องดื่มเช่นกัน การวิจัยใช้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์นักท่องเที่ยวแบบกึ่งทางการจำนวน 4 ตัวอย่าง โดยสัมภาษณ์คราวละไม่เกินสองคน ด้วยเวลาตั้งแต่ประมาณ 15 นาทีถึง 3 ชั่วโมง และการสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการจำนวน 5 ตัวอย่าง ในช่วงตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธุ์ – 25 เมษายน พ.ศ. 2552 สถานที่ที่ใช้ในการสัมภาษณ์ ส่วนใหญ่อยู่บริเวณห้องโถงรับแขกของเกสท์เฮาส์และในร้านอาหาร ข้อจำกัดในการศึกษานี้ก็เช่นเดียวกันกับในกรณีของ Sorensen (2003: 850) ที่ได้แจงไว้ว่าไม่อาจใช้แนวทางมาตรฐานของการศึกษาชาติพันธุ์วรรณด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมในกลุ่มสังคมที่ศึกษาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เนื่องจากสภาพการเดินทางที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และอีกยังเส้นแบ่งเขตปริมณฑลของสังคม backpacker ที่ศึกษาไม่ได้อยู่นิ่ง การศึกษาแบบสุ่มสัมภาษณ์ไปตามสนามวิจัยโดยไม่จำกัดจำนวนหรือรูปแบบการสนทนาที่เอื้อให้ทำการสัมภาษณ์ (impromptu interaction with the many) จึงเป็นสิ่งที่การศึกษานี้ดำเนินตามทางที่ว่าไว้ด้วย
ในการเข้าสนามวิจัยในคราวแรกๆผู้วิจัยได้ประสบปัญหาในการหาเทคนิคการเข้าสนามและเข้าสัมภาษณ์จากการเตรียมตัวในการวิจัยด้วยอุปกรณ์มากมาย ทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ สมุดจดเล่มใหญ่และเครื่องอัดเสียง ซึ่งทำให้รู้สึกได้ว่าเกิดบรรยากาศของการทำงานที่เคร่งเครียดและความไม่สะดวกใจของนักท่องเที่ยว จึงได้ปรับสภาพการเข้าสัมภาษณ์ให้เป็นทางการน้อยลงด้วยการทำตัวให้กลมกลืนกับชุมชนที่ศึกษามากที่สุด ตั้งแต่การแต่กายลำลอง การเข้าไปนั่งในร้านอาหารและสั่งเครื่องดื่มเช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวคือทั้งเบียร์และกาแฟตามช่วงเวลา แล้วจึงค่อยๆหาเป้าหมายการสัมภาษณ์ที่นั่งพักผ่อนอยู่ในร้านเดียวกัน ซึ่งก็ทำให้ได้ประโยชน์ทั้งต่อบรรยากาศการสนทนา รวมถึงความเข้าใจถึงประสบการณ์แบบเดียวกับที่นักท่องเที่ยวกำลังสัมผัสอยู่ในสนามวิจัย และอีกอย่างคือการตอบรับจากผู้ประกอบการที่เป็นมิตรมากกว่า ผู้วิจัยจึงจะยึดถือแนวทางเช่นนี้เป็นหลักในการเข้าสนามวิจัยซึ่งอาจดูคล้ายจะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนในบางลักษณะแต่ก็มีสถานะนักวิจัยที่เปิดเผย ซึ่งก็เหมือนดังเช่นบรรยากาศการทำวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณาในกรณีของ Sorensen ที่เก็บข้อมูลในขณะที่ท่องเที่ยวและเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ไปด้วย จึงทำให้เข้าใจลักษณะ เงื่อนไข รวมถึงสัญญะต่างๆที่ปรากฏอยู่ในสนามวิจัยได้ด้วยสองสถานะที่ผสมอยู่ในปรากฏการณ์
แม้ว่าการเข้าสนามวิจัยด้วยรูปแบบที่เป็นทางการในคราวแรกๆจะทำให้เกิดปัญหาบ้างในการจัดการสัมภาษณ์แต่ก็ทำให้ได้ค้นพบแง่มุมจากส่วนของผู้ประกอบการและพนักงานที่ให้ความสนใจต่อการศึกษานี้อยู่ไม่น้อย หลายคนได้ช่วยให้ข้อสังเกตและเสนอเหตุผล หรือกระทั่งเสนอนักท่องเที่ยวที่ตนคุ้นเคยสำหรับการสัมภาษณ์ การได้คุยกับพนักงานในร้านทำให้ได้รายละเอียดต่างๆมากมายที่เป็นเหมือนดาบสองคม ผลประโยชน์ที่ได้คือภาพจากประสบการณ์ของผู้ที่สัมผัสกับพื้นที่ตลอดทุกช่วงเวลาของเหตุการณ์ซึ่งอาจนำมาใช้สอบทานกับข้อมูลจากการสัมภาษณ์ แต่ก็ประมาทไม่ได้ถึงอคติที่อาจส่งผลต่อการชี้นำในการสัมภาษณ์และกระทบต่อเนื่องกับข้อมูลจากสนามวิจัยที่ได้มา
ในส่วนการทำความเข้าใจต่อข้อมูลหรือสัญญาณบางอย่างจากสนามวิจัยและทำการวิเคราะห์ที่อาจทำด้วยการมองของผู้วิจัยเองก็ไม่ถือว่ากระทำโดยขาดความเข้าใจในปรากฏการณ์หรือปราศจากประสบการณ์ส่วนตัวไปเสียทีเดียว แต่ก็อยู่บนพื้นฐานประสบการณ์ในการเป็นส่วนหนึ่งของธรุกิจการท่องเที่ยวของครอบครัว รวมถึงการท่องเที่ยวในหลายประเทศในแบบ backpacking ในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย สหรัฐอเมริกาและอินเดีย ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2532 นอกเหนือไปจากการเดินทางท่องเที่ยวและทำงานในอีกหลายประเทศในทวีปเอเซีย
นักท่องเที่ยวและทัศนคติต่อเหตุการณ์ความไม่สงบในสังคมไทย
ในส่วนนี้จะกล่าวถึงกลุ่มตัวอย่างและข้อมูลจากการสัมภาษณ์ที่ได้นำมาประมวลเพื่ออธิบายทัศนคติของนักท่องเที่ยวที่มีต่อเหตุการณ์ความไม่สงบในสังคมไทยที่ต่อเนื่องมาจากการปิดสนามบินและการสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมซึ่งสะท้อนออกมาบนฐานที่ “ยอมรับได้” ของนักท่องเที่ยวที่แสดงออกด้วยการเดินทางมายังประเทศไทย
ลักษณะพื้นฐานบางประการของกลุ่มตัวอย่างในการวิจัย
กลุ่มตัวอย่างที่ได้สัมภาษณ์ทั้งแบบกึ่งทางการและไม่เป็นทางการนั้น มีทั้งนักท่องเที่ยวจากทวีปเอเซีย อเมริกา และยุโรป ซึ่งประกอบไปด้วยชาวอินเดีย แคนาดา เนเธอร์แลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ อังกฤษ อิสราเอล และอีกหลายกรณีในการสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการที่เป็นชาวยุโรปผิวขาว มีช่วงอายุตั้งแต่ 23 ถึง 65ปี ทั้งชายและหญิง แต่ไม่ปรากฏกรณีที่เป็นหญิงที่เดินทางคนเดียว กลุ่มอาชีพมีทั้งอาชีพแรงงานมีฝีมือ ครู พนักงานบริษัท ประกอบธุรกิจส่วนตัว นักศึกษา และผู้เกษียณอายุ โดยเกือบทั้งหมดเดินทางท่องเที่ยวนานกว่าสองสัปดาห์ในภูมิภาคนี้ จากประเทศต้นทางทั้งในประเทศตนและจากประเทศในเอเซียที่ทำงาน แต่โดยมากจะมากกว่าหนึ่งเดือน
กลุ่มตัวอย่างที่ทำการสัมภาษณ์อย่างกึ่งเป็นทางการทั้งสี่ ได้แก่หนึ่งในรายแรกๆที่เริ่มเข้าหาแหล่งข้อมูลในการวิจัยนี้ “Ahmed” (แอเหม็ด) ชายชาวอินเดียเชื้อสายมุสลิม อายุประมาณ 35 ปี ประกอบธุรกิจส่วนตัว ลักษณะเป็นผู้มีความรู้ มีบ้านเดิมในวัยเด็กอยู่ในแคว้นแคชเมียร์ และปัจจุบันย้ายมาอยู่ใกล้เมืองมัทราสทางตอนใต้ของอินเดีย เดินทางคนเดียวมายังประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง โดยเป็นกรณีเดียวที่ผ่านมาแวะพักผ่อนระหว่างรอการเดินทางต่อเพียงสองวัน (stop-over) ที่ย่านถนนข้าวสาร กรณีของ Ahmed นับว่าเป็นปัญหาอย่างยิ่งว่าจะอยู่ในข่ายนักท่องเที่ยวแบบสะพายเป้ที่จะศึกษาอยู่หรือไม่ เนื่องจากสถานะการเดินทางและจุดมุ่งหมายซึ่งแม้จะไม่ได้อยู่ในสถานะที่เป็นนักท่องเที่ยวเต็มตัว แต่จากการสนทนาก็เห็นแนวคิดของนักเดินทางของ Ahmed ที่ไม่ต่างไปจากบรรดา backpackers อื่นๆทั้งหลายเลย ทั้งนี้ในการศึกษาของ Sorensen (261-262) ก็ได้เสนอถึงการพบการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวสะพายเป้เวลาสั้น (short-term backpackers) ที่เติบโตขึ้นตามตลาดรวมของ backpacker ทำให้มีผู้สนใจใช้วันหยุดระหว่างปีสั้นๆในการท่องเที่ยวแบบสะพายเป้นี้ด้วย
กลุ่มตัวอย่างรายที่สอง “Merieke และ Edwin” เป็นคู่รักจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ในอายุ 25 และ 23 ตามลำดับ โดย Merieke (เมอริกค์) ฝ่ายหญิงเดินทางมาประเทศไทยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 ตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2546 แต่เป็นครั้งแรกสำหรับ Edwin (เอ็ดวิน) โดย Merieke เป็นครูสอนพละใน Rotterdam ที่ลาสอน (sabbatical leave) มาเป็นเวลา 7 เดือน ส่วน Edwin เป็นพนักงานบริษัทจาก Amsterdam ที่เพิ่งเรียนจบและเลือกหยุดการทำงานเพื่อเดินทางมาด้วยกัน ทั้งคู่เริ่มการเดินทางไปสู่ทวีปออสเตรเลียที่ได้ใช้เวลาไปกว่าเดือนก่อนจะเดินทางต่อมายังประเทศไทย เพื่อใช้เป็นฐานในการเดินทางต่อไปยังประเทศพม่าแล้วจึงกลับมาเพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศลาว เวียดนามและจีนตามลำดับ ก่อนจะเดินทางกลับ การเดินทางของทั้งคู่ดูจะมี Merieke เป็นฝ่ายชี้นำด้วยประสบการณ์การเดินทางที่มากกว่าอย่างเห็นได้ชัดจากการที่สามารถระบุชื่อเกาะต่างๆในประเทศไทยได้นับเกือบสิบเกาะอย่างคล่องแคล่ว ในขณะที่เอ็ดวินก็แสดงความพอใจในการเดินทางที่ผ่านมาไม่น้อย แต่ยังแฝงสีหน้าที่แสดงความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางในแบบนี้อยู่เมื่อคุยถึงลักษณะอาหารและการบริการในประเทศเพื่อนบ้านหลายที่ โดยในขณะสัมภาษณ์นั้น ทั้งคู่มีกำหนดการเดินทางไปประเทศลาวในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา
กลุ่มตัวอย่างหลักรายที่สามเป็นชายชาวสวิสเซอร์แลนด์ในวัยสามสิบเกือบสี่สิบปีที่เดินทางมายังประเทศไทยคนเดียว “Phillip Zosso” ทำอาชีพขับรถบรรทุกซึ่งจะได้รับวันหยุดหลายเดือนในหนึ่งปี ซึ่ง Phillip จะเลือกช่วงเวลาปลายปีของทุกปีเป็นวันหยุดและมาพักผ่อนในย่านเอเซียตะวันออกเฉียงใต้นี้ Phillip เดินทางเข้ามายังประเทศไทยหลายครั้งและพักที่เกสท์เฮาส์เดิมทุกครั้งจนสนิทสนมเป็นที่รู้จักกับครอบครัวของเจ้าของเกสท์เฮาส์เป็นอย่างดี
กลุ่มตัวอย่างหลักรายที่สี่ “Christian และ Julie” เป็นคู่รักชาวแคนาดาในวัยสามสิบปีเศษ ทั้งคู่สอนภาษาอังกฤษอยู่ในกรุงโซลประเทศเกาหลีใต้ ทั้งคู่ได้เดินทางมาประเทศไทยเป็นครั้งที่ 3 โดยครั้งนี้ทั้งคู่พึ่งเดินทางกลับมาจากประเทศลาว เพื่อเดินทางกลับสู่แคนาดาเนื่องจากหมดสัญญาจ้างที่ประเทศเกาหลี โดยได้เดินทางท่องเที่ยวในประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ต่อมายังประเทศไทยเพื่อไปยังเมืองสีหนุวิลล์ประเทศกัมพูชาและเมืองต่างๆทางตอนเหนือของประเทศลาว จากที่ผู้วิจัยสังเกตเห็นหนังสือ The Bolivian Diary โดย Ernesto Che Guevera ที่Christian อ่านอยู่ได้นำไปสู่การสนทนาในเรื่องที่กำลังศึกษาอยู่ และทั้งคู่ได้ให้ข้อมูลต่างๆมากมายที่น่าสนใจ เช่นเรื่องการประท้วงในกรุงโซลที่มีอยู่บ่อยๆ หรือเรื่องเมืองท่องเที่ยวในที่ต่างๆที่มักได้ยินเป็นกรอบอ้างอิงจากเกือบทุกกลุ่มตัวอย่าง อีกยังรายละเอียดเรื่องเครือข่ายเพื่อนที่ชอบมาเที่ยวประเทศไทยจริงๆนอกจากในกระดานข่าวการท่องเที่ยว Julie เล่าว่ามีเพื่อนที่ทำงานด้วยกันที่ประเทศเกาหลีใต้ที่มาประเทศไทยกว่า 20 ครั้งแล้ว
ด้วยประเด็นการศึกษาที่ไม่ซับซ้อนมากนัก ทำให้คำถามนำในการวิจัยไม่ยืดยาวมาก โดยเริ่มการสัมภาษณ์ด้วยการแนะนำตัวของผู้วิจัย และเข้าสู่ความสงสัยในการตัดสินใจเดินทางมายังประเทศไทยท่ามกลางความขัดแย้งในสังคมเช่นนี้ ซึ่งทำให้ได้สัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการสั้นๆกับอีกหลายกลุ่มตัวอย่างซึ่งไม่ได้ค้นลึกไปในรายละเอียด แต่ในภาพรวมก็มีตัวอย่างเช่น คู่ชายรักชายชาวอังกฤษ ครอบครัวของชาวนอร์เวย์วัยเกษียณและลูกชายนักศึกษา และนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันและยุโรปอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อให้เห็นภาพได้ครอบคลุมที่สุด
อย่างไรก็ตามในการศึกษานี้มีนักท่องเที่ยวบางกรณีที่ไม่ได้ปรากฏในกลุ่มตัวอย่าง แต่น่าจะให้ข้อมูลและแนวคิดที่น่าจะแปลกออกไปได้คือนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังประเทศไทยเป็นครั้งแรก และกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวเอเซียตะวันออก ด้วยความชำนาญหรือในการเดินทาง
นักท่องเที่ยวและความขัดแย้งทางสังคมไทย
จากจุดสนใจของการวิจัยนี้ที่ทัศนคติมุมมองของนักท่องเที่ยวต่อการท่องเที่ยวไทยภายหลังและท่ามกลางเหตุการณ์ความไม่สงบเห็นได้ชัดว่านักท่องเที่ยวต่างมีข้อมูล แต่ก็ไม่ได้ให้ความน้ำหนักต่อในข้อมูลในทางลบ แต่กลับให้น้ำหนักไปที่ประสบการณ์ ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการศึกษาหาข้อมูลในการท่องเที่ยวผ่านสื่อต่างๆที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าและใกล้ตัวมากกว่า อีกยังข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณการท่องเที่ยวที่เป็นเงื่อนไขสำคัญของนักท่องเที่ยวแบบสะพายเป้ส่วนใหญ่ก็ดูจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยและเพื่อนบ้านในแถบนี้ยังเป็นที่ต้องการเดินทางมาอยู่
ความขัดแย้งในสังคมไทยในสายตาของ backpackers
คำถามแรกๆที่ผู้วิจัยรุกถามต่อผู้ให้ข้อมูลหลังจากการแนะนำตัว ทำความรู้จักและถามไถ่เรื่องราวทั่วไปในการเดินทาง เช่นเรื่องที่หมายที่ผ่านมาแล้ว ก็คือความเข้าใจพื้นฐานต่อเหตุการณ์ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่โดยตลอดบรรยกาศการสัมภาษณ์ในหลายช่วงเวลา ซึ่งแต่เดิมนั้นหวังว่าจะมีเพียงเหตุการณ์เดียวที่ดึงความแตกตื่นขึ้นสนใจถึงจุดสุดยอดแล้วตามด้วยผลสะเทือนที่น่าจะเลือนลางไปเรื่อยๆ หลังจากการปิดสนามบินตามการคลี่คลายพลิกขั้วการเมืองไทย แต่การประท้วงต่อเนื่องของฝ่ายตรงข้ามที่กลายเป็นความรุนแรงในแถบกระทรวงมหาดไทและบริเวณใกล้เคียง จนส่งผลให้ต้องยกเลิกการเล่นสงกรานต์ในถนนข้าวสารในวันที่ 13 เมษายน และนำไปสู่การสลายการชุมชมของกลุ่ม “เสื้อแดง” ในวันที่ 14 เมษายน ทำให้การเชื่อมโยงเรื่องที่เกิดขึ้นไปสู่นักท่องเที่ยวเข้าใจได้อย่างง่ายดายกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก
ต่อคำถามว่าทราบถึงสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมภายนอกที่เกิดขึ้นบ้างไหม จึงได้รับคำตอบรับในทุกกรณี แต่ก็เป็นการตอบรับที่ต่างมีนัยยะและท่าทีทัศนคติประกอบแตกต่างกันไป ทั้งที่รับรู้และให้ความสนใจถึงขั้นบ่งบอกรายละเอียดบางอย่างได้ เช่น “Red and yellow shirts” หรือ “Pro-government” กับ “Anti-government” และ “Thaksin” ซึ่งเป็นคำตอบจากนักท่องเที่ยวจากชาวนอร์เวย์สามี-ภรรยาวัยเกษียณอายุ และ Ahmed ที่ดูจะเป็นผู้มีความรู้และการศึกษาสูง หรือในอีกคำตอบรับที่ไม่ได้นำพากับรายละเอียดนัก (indifferent) เช่นในกรณีของ Phillip ซึ่งขณะที่สัมภาษณ์ก็ได้มาอยู่ในประเทศไทยได้นนานกว่าสองเดือนแต่ก็ยังไม่เข้าใจรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เป็นไปในสังคมมากนัก
ในกรณีของ ‘Merieke และ Edwin’ กับ ‘Chirstian และ Julie” ก็รับรู้ถึงสถานการณ์แต่ก็ไม่ได้รับรู้ในรายละเอียด แต่ได้แสดงความสนใจด้วยคำถามคล้ายกันว่า “Is it OK to discuss politic around here?” ซึ่งแสดงความตระหนักถึง “กฏทอง” ที่มักพบได้ในหนังสือแนะนำการท่องเที่ยวไทยในเรื่องสิ่งที่ “ควร” และ “ไม่ควร” ทำ (Do’s and Don’ts) ในการเข้าสังคมกับคนไทย อันประกอบไปด้วยรายละเอียดของการปฏิบัติตัวในโอกาสต่างๆ ตั้งแต่การไหว้ทักทาย การเข้าหาพระสงฆ์ ความเชื่อเรื่องการแตะต้องศรีษะ รวมไปถึงการงดเว้นที่จะกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์[4] นอกจากนี้ในคำแนะนำทั่วไปในกระดานข่าวก็มักจะมีคำเตือนให้หลีกเลี่ยงการเข้าไปเกี่ยวข้องในประเด็นเหล่านี้โดยไม่จำเป็นตั้งแต่เริ่มสนทนา รวมถึงข้อแนะนำที่ต้องเคร่งครัดในบางเรื่องที่มักขัดกับคุณค่าพื้นฐานในแบบเสรีนิยมของตะวันตกที่มนุษย์ต้องเท่าเทียมกัน หรือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งในหลายกรณีจะสะท้อนเป็นคำถามออกมาจากนักท่องเที่ยวแบบกล้าๆกลัวๆในเรื่องเหล่านี้ อย่างในนักท่องเที่ยวหนุ่มสาวอย่างในกรณีของสองคู่ชาวดัชท์และแคนาเดียนก็กระตือรือร้นสนใจในเรื่องราวความเป็นไป แต่ก็ไม่ต้องการรายละเอียดมากมายนอกไปจากความน่าสนใจและ “ความ น่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล” ที่เป็นคนท้องถิ่นที่รวมถึงผู้วิจัยด้วย ในสามัญสำนึกกลุ่มตัวอย่างไม่ได้มีความตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้วและตนไม่ได้มีส่วนร่วม แต่ก็ให้ความเห็นกว้างๆว่า “ไม่ดีต่อประเทศไทย”
การใช้ข้อมูลข่าวสารในการตัดสินใจ
เมื่อได้สาวลึกเข้าไปถึงความเข้าใจในสภาพการณ์ก็ได้คำตอบถึงที่มาของการรับรู้ที่ชัดขึ้นว่าในรายของกลุ่มตัวอย่างที่มีวัยวุฒิและมีการศึกษาจะได้รับข่าวสารเรื่องนี้จากแหล่งข่าวกระแสหลักที่เสพอยู่เป็นประจำ เช่น ช่องข่าวทางโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ ทำให้มีการมองภาพสถานการณ์ที่รอบด้านขึ้น เป็นประเด็นชัดเจน อีกยังเติมเต็มด้วยข้อมูลจากแหล่งอื่นๆโดยเฉพาะกระดานข่าวของ Lonely Planet ทำให้มีการประเมินสถานการณ์ที่ดูรัดกุมกว่า นิ่งเฉยกว่า แต่ก็ยังสะท้อนความพร้อมรับความเสี่ยงในแบบ backpacker เช่นว่าหากมีเหตุการณ์ปะทุขึ้นพวกเขาจะ “รับได้” กับการอยู่ต่ออีกช่วงหนึ่ง แต่ ”ไม่น่าจะมีเหตุการณ์ที่รบกวนการเดินทางเกิดขึ้นอีกได้ง่ายๆ”
ในกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ที่อาศัยข้อมูลจากประสบการณ์กับการท่องเที่ยวในครั้งก่อนหน้า กระดานข่าวและคนใกล้ชิดซึ่งถึงจะไม่ชัดเจนในรายละเอียดพื้นฐานของเหตุการณ์จนถึงเหมือนจะไม่ให้ความสนใจมากนัก แต่ก็ตรงความต้องการที่จะหาแหล่งข้อมูลที่มาจาก “หลากหลายความคิดเห็น” จากเครือข่าย backpacker ทั้งในกระดานข่าวและในสังคมจริงของตนเพื่อยืนยันและเสริมความมั่นใจในการตัดสินใจ เช่นในกรณีของ ‘Merieke และ Edwin’ กับกรณีของ ‘Christian และ Julie’ หรือกระทั่งในกรณีของ Ahmed และอีกในหลายกรณีที่ใช้ Lonely Planet ช่วยประกอบการตัดสินใจขั้นสุดท้าย แต่ก็มีในกรณีของ Phillip ที่มีติดต่อถามเจ้าของเกสท์เฮาส์ที่รู้จักโดยตรง ซึ่งเราอาจสรุปได้ในเบื้องต้นนี้ว่า backpackers มีความรับรู้เรื่องเหตุการณ์ความไม่สงบต่างๆในสังคมไทยแต่จะสนใจในระดับพื้นผิวมากในประเด็นว่าจะมาได้หรือไม่ แหล่งข้อมูลข่าวสารที่ใช้ก็สอดคล้องกับการศึกษาของ Sorensen ที่สังเกตเห็นภาพรวมของพฤติกรรมนักท่องเที่ยวสะพายเป้ว่ามักไม่ค่อยขึ้นอยู่กับบริการกระแสหลัก ทั้งการนำเที่ยวจัดการการเดินทาง รวมถึงสื่อที่มีอิทธิพล ซึ่งกลุ่มตัวอย่างจะเชื่อถือข้อมูลจากชุมชนนักท่องเที่ยวมากกว่าสื่อมวลชนกระแสหลัก
เป็นที่น่าสนใจอีกว่ากลุ่มตัวอย่างที่อาศัยข้อมูลบางส่วนจากครอบครัวหรือเพื่อนสนิทในสังคมจริง เช่นกรณีของ Phillip กับ ‘Christian และ Julie” รวมถึง “Merieke และ Edwin”จะได้ยินเสียงเตือนและแสดงความเป็นห่วงจากครอบครัว แต่ก็ไม่ได้ให้คุณค่าอะไรมากนัก อีกยังแสดงความยินดีหัวเราะอีกด้วยในสองกรณีหลังของ Merieke และของ Christian ที่เล่าว่า “[My family] They called me and said about the riot here… but still we want to come” ซึ่งอาจจะสะท้อนพื้นฐานความต้องการของนักท่องเที่ยวในการหลีกหนีจากความคาดหวังบางอย่างจากครอบครัวหรือสังคมได้
ภาพการท่องเที่ยวไทยของ backpackers
ภาพของการท่องเที่ยวไทยที่อยู่ในประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวที่ได้เข้าไปศึกษานั้นไม่ได้ตรงไปตรงมาอย่างไร้มิติความเชื่อมโยงกับประสบการณ์อื่นๆและพลวัตรของสังคมในการเดินทางของกลุ่มตัวอย่างเลย การเสนอภาพการท่องเที่ยวไทยจากมุมมองของ backpackers นี้จะเริ่มจากบริบทของถนนข้าวสารที่ได้ศึกษาดังการที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่รวมถึงเกือบกลุ่มตัวอย่างจะใช้ย่านถนนข้าวสารเป็นที่พักผ่อนเปลี่ยนอิริยาบทก่อนเดินทางผ่านไปสู่จุดหมายต่อไป การศึกษากิจกรรมในพื้นที่ถนนข้าวสารได้สะท้อนวิถีชีวิตของนักท่องเที่ยวในชุมชนนักท่องเที่ยว อันมีลักษณะบุคลิกที่หลากหลายที่น่าจะพอทำให้เห็นภาพกว้างของการท่องเที่ยวในกลุ่ม backpacker นี้ได้ ถึงแม้โดยผิวเผินคุณค่าของย่านถนนข้าวสารที่เกือบทุกคนคาดหวังอย่างตรงไปตรงมาคือที่พักราคาถูก แต่บรรยากาศของชุมชนนักท่องเที่ยวซึ่งมีนัยยะทั้งทางปริมาณและความหลากหลายของนักท่องเที่ยว รวมไปถึงพลวัตรที่เกิดขึ้นมาทั้งด้านบวกและลบก็สะท้อนภาพใหญ่ในการท่องเที่ยวไทยให้ค้นหาได้ในการสนทนาและสังเกตุการณ์จากสนามวิจัยนี้
ผู้วิจัยได้สังเกตุ Amhed ที่ได้ใช้เวลาทั้งช่วงเช้ากว่าสามชั่วโมงนั่งทานอาหารเช้าและพักผ่อนสูบบุหรี่อยู่ที่โต๊ะริมทางเดินเท้า โดยหันหน้าออกสู่ถนนข้าวสารและมองดูแม่ค้าที่เริ่มออกมาเปิดร้านรวง รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ทยอยเริ่มออกมาทำกิจกรรมต่างๆอย่างใจเย็น Amhed ดูเหมือนจะชื่นชอบบรรยากาศความหลากหลายของผู้คนและวัฒนธรรมที่เข้ามาปฏิสังสรรค์กันในฐานะผู้สังเกตุการณ์ที่ดี แต่ในทางกลับกัน Chirstian และ Julie ดูเหมือนจะมีความรู้สึกไปในทางตรงข้ามโดย Julie อธิบายเส้นทางการเดินทางที่ผ่านมาในเมืองท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งบางที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวจะเรียกว่า “touristy” ซึ่งทั้งคู่แสดงความประทับใจต่อเมืองเล็กๆในประเทศลาวและกัมพูชา ที่มีค่าครองชีพไม่แพงนัก และไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยว เช่นสีหนุวิลล์ในกัมพูชาที่ทั้งคู่เล่าว่า “ด้วยเงินเพียง 5 เหรียญสหรัฐคุณสามารถไปกินอาหารทะเลอย่างดีและเจ้าของร้านจะให้คุณพักฟรีอีกด้วย" อย่างไรก็ตามความเงียบเหงาในสีหนุวิลล์ก็ทำให้ Julie เล่าถึงบรรยากาศโดยรวมว่าค่อนข้างจะหดหู่ (depress) เมื่อเทียบกับประเทศลาว หรือบรรยากาศทั่วไปในประเทศไทยซึ่ง “ไม่ได้จนแบบนั้น” และ “มีชีวิตชีวากว่ามาก”
แม้จะมีความต่างในความคาดหวังต่อคุณค่าในชุมชนนักท่องเที่ยวเกิดขึ้นได้ แต่ทั้งหมดก็ยังไม่อาจหนีไปจากย่านถนนข้าวสาร ซี่ง Sorensen (2003: 847) เรียกว่า “ชุมชนแออัดของพวกสะพายเป้” (the epitome of the backpacker ghetto) ด้วยข้อเสนอบริการต่างๆที่ทำให้การเดินทางที่ต้องใช้จ่ายอย่างประหยัดพลาดไม่ได้ ดังที่ Julie ได้แจกแจงค่าใช้จ่ายในทางเลือกต่างๆ พร้อมเหตุผลประกอบการตัดสินใจอย่างเป็นขั้นตอนและชี้ว่าถนนข้าวสารเป็นที่ที่สะดวกที่สุดในการเดินทางต่อในประเทศรอบๆนี้ คล้ายกับ Merieke ที่ชี้แจงถึงตำแหน่งที่เหมาะสมของประเทศไทยและความสะดวกในการจัดการการเดินทางจากบริการในย่านนี้ คุณค่าของถนนข้าวสารจึงดูเผินๆจะไม่มีความคาดหวังที่ลึกซึ้งมากไปกว่านั้นสำหรับนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ ที่มุ่งจะผ่านมาเพื่อ “ผ่านไป” ยังจุดหมายการท่องเที่ยวที่แท้จริง ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากความรุนแรงที่ไม่คาดฝันในพื้นที่ในเขตเมืองชั้นในอย่างย่านถนนข้าวสารจึงอาจเป็นช่วงเวลาเล็กๆในชีวิตการเดินทางที่ยาวนานหลายเดือนที่ความสุขจากการท่องเที่ยวสามารถประณีประณอมได้ในมโนทัศน์ของกลุ่มตัวอย่างที่ตัดสินใจเช่นนั้น ด้วยกรอบประสบการณ์ที่กว้างขวางกว่างในชีวิตนักเดินทาง
ประสบการณ์เช่นว่านี้ก็ดังที่หลายกลุ่มตัวอย่างเห็นพ้องกันว่าย่านถนนข้าวเป็นเหมือนเมืองนักท่องเที่ยวที่หลายกลุ่มตัวอย่างกล่าวถึงว่า “ไม่ค่อยมีความรู้สึกว่าอยู่ในประเทศไทย” ดังที่ Amhed ได้เล่าถึงเมืองนักท่องเที่ยวในที่ต่างๆ รวมถึงทางตอนใต้ของอินเดียที่จะมีร้านอาหารและเครื่องดื่มเรียงรายตลอดชายหาดเพื่อบริการนักท่องเที่ยว โดยมักไม่ปรากฏว่ามีคนท้องถิ่นเข้าไปใช้บริการ และ Christian เล่าถึงเมืองนักท่องเที่ยวในเกาหลีใต้ที่จะมีแต่คนต่างชาติเข้าไปเที่ยวคล้ายเมืองพัทยา ซึ่งทางกฏหมายจะไม่ค่อยเข้าไปวุ่นวายมากนักแต่ก็ยังอยู่ในกรอบที่เคร่งครัดกว่าพื้นที่ชุมชนนักท่องเที่ยวที่อื่นๆ แต่ซึ่งนั่นก็เป็นเพียงความคาดหวังและความเชื่อมั่นต่อพื้นที่เฉพาะนี้เท่านั้น
ดังนั้นแล้วคำถามต่อไปคือ แล้วความรู้สึกที่นักท่องเที่ยวมีต่อการท่องเที่ยวไทยในวงกว้างจะฉายจากภาพประสบการณ์เช่นไรที่อธิบายเชื่อมโยงไปสร้างความไม่สำคัญให้เหตุการณ์ความไม่สงบทั้งหลายนี้ได้ ภาพประสบการณ์นี้อาจแบ่งได้เป็นสองกลุ่มคือ ‘ภาพประสบการณ์เชิงสัมบูรณ์’ จากการท่องเที่ยวและรับประสบการณ์ตรงในสังคมไทยโดยไม่ได้มีการเปรียบเทียบกับภาพประสบการณ์อื่น ซึ่งกลุ่มตัวอย่างเกือบทั้งหมดจะให้ความเห็นสอดคล้องกันว่าโดยรวมแล้วสังคมไทยมีความ “เป็นมิตร” (friendly) สูงและไม่คิดว่าจะมา “สร้างปัญหาให้นักท่องเที่ยวโดยตั้งใจ” ซึ่งผู้ที่จะมีความประทับใจเช่นนี้ได้ต้องผ่านการสัมผัสกับสังคมไทยมาแล้วในระดับหนึ่ง
ความเห็นเช่นว่านี้ยกเว้นในกรณีของ Ahmed ที่เดินทางมาประเทศไทยเป็นเวลาสั้นๆเป็นครั้งที่สองและยังไม่มีประสบการณ์โดยตรงมากพอ แต่ก็มีประสบการณ์ในพื้นที่อื่นที่สะท้อนทัศนคติออกมา เป็น ‘ประสบการณ์เชิงสัมพัทธ์’ ที่มีส่วนในการตัดสินใจเดินทางในครั้งนี้ ดังที่Ahmed มีพื้นเพเดิมมาจากแคว้นแคชเมียร์ที่มีการปะทะกันระหว่างชุมชนชาวมุสลิมและฮินดูจนรุนแรง และการให้เหตุผลที่ไม่สะทกสะท้านต่อความเสี่ยงในการเดินทางท่องเที่ยวนี้ว่า “มันก็เหมือนในประเทศอินเดียที่พึ่งมีเหตุการณ์ลอบวางระเบิดในเมืองมุมไบมาไม่นานนี้ ความอันตรายก็มีได้ทุกที่” เป็นการสะท้อนความรับรู้ต่อปรากฏการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในแบบที่เทียบเคียงสัมพัทธ์ไปกับประสบการณ์ของตนเอง ซึ่งในหลายกรณีนักท่องเที่ยวก็ผ่านประสบการณ์เช่นนี้มาแล้วบ้าง ดังในกรณีของนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลเพศหญิงวัยเกือบสี่สิบปีที่ตอบคำถามเรื่องความรุนแรงในสังคมไทยนี้ว่า “We are from Israel. What do you expect?” ในอีกคำตอบหนึ่งซึ่งมาจากกลุ่มตัวอย่างชาวยุโรปซึ่งบอกว่า “โดยรวมประเทศไทยยังถือว่าปลอดภัยกว่าหลายที่ในเมืองเกิดของผมอีก” และในกรณีของนักท่องเที่ยวชายคู่ที่กำลังจะไปเที่ยวยังประเทศกัมพูชาซึ่งก็ยกมาเสนอว่าคง “ยากกว่าเยอะ” เมื่อเทียบกับสภาวะความขัดแย้งในสังคมไทย
อย่างไรก็ดี ประสบการณ์ของ backpacker ดังสะท้อนจากการใช้ข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างก็ชี้ให้เห็นถึงชุมชนนักท่องเที่ยวบนอินเตอร์เน็ตที่มีความสำคัญในการสร้างระบบคุณค่า และภาพความเข้าใจที่เข้าถึงได้ง่ายสำหรับกลุ่มตัวอย่างซึ่งดูจะให้ความเชื่อถือไว้วางใจกับข้อมูลในส่วนนี้ได้ดี และก็อาจจะเป็นโชคดีที่มีการเสนอข้อมูลอย่างรอบด้าน ในหลายหลากมุมมองจนไม่มีใครกล่าวถึงบทบาทขององค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทยเลยด้วยซ้ำ คำตอบและคำอธิบายต่างๆที่ได้มานั้นพอจะทำให้เห็นได้ว่าทัศนคติต่อการท่องเที่ยวไทยนั้นไม่ได้จำกัดในบริเวณพื้นที่ใด หรือถนนข้าวสารที่เป็นเหมือน “สถานีเปลี่ยนรถ” แต่ยังเชื่อมโยงไปถึงมิติในประสบการณ์ในชีวิตและการเดินทางที่นักท่องเที่ยวได้สั่งสมมา การที่การท่องเที่ยวไทยยังเป็นที่นิยมอยู่ได้ย่อมมีแรงขับดันจากปัจจัยต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก ปัจจัยทางสังคมที่กำลัง “เป็นลบ” ก็มีปัจจัยอื่นที่ใกล้ตัวนักท่องเที่ยวมากกว่าส่งอิทธิพลให้ “เป็นบวก” ทั้งความเป็นมิตรและคุณภาพเมื่อเทียบราคา อย่างไรก็ตามนักท่องเที่ยวก็ไม่ได้เห็นด้วยกับสถานการณ์ที่เพิ่มความเสี่ยงให้การเดินทางยุ่งยากมากขึ้นแต่ก็ตระหนักดีถึงความจำกัดของสถานการณ์ที่ดูจะห่างตัวนักท่องเที่ยวมากขึ้นกว่าช่วงที่มีการปิดสนามบิน อีกยังเส้นทางการท่องเที่ยวโดยปรกติที่ออกไปนอกเมืองทำให้จุดปะทะและความรุนแรงอยู่ห่างไกลนักท่องเที่ยวออกไปอีกในความรับรู้
สรุปผลการวิจัย
นักท่องเที่ยวกลุ่มตัวอย่างที่ได้ทำการศึกษาในย่านถนนข้าวสารนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงระดับความเข้าถึงปรากฏการณ์ในสังคมไทยที่อาจส่งผลต่อการท่องเที่ยวที่ไม่ลึกมากนัก ด้วยลักษณะเฉพาะของ backpacker ที่มุ่งสนใจในการท่องเที่ยวของตนหรือวัฒนธรรมของท้องถิ่นโดยรวมที่เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ในการท่องเที่ยว แต่ไม่ใช่การมีส่วนร่วมมีความเห็นใดๆทางการเมือง ที่ถือว่าเป็นเรื่องในสังคมไทยซึ่งเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องมากนัก backpacker แม้จะรับความไม่แน่นอนต่างๆได้มากแต่ก็ไม่ปรารถนาความยุ่งยากให้เพิ่มขึ้นมาจากปัจจัยทางสังคมของท้องถิ่นให้การเดินทางต้องสะดุดหรือขาดสวัสดิภาพ
ดังที่ได้เสนอถึงมิติในประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวที่มีต่อสภาพการณ์ความไม่สงบและรุนแรงจะเห็นว่าปัจจัยทางประสบการณ์ก็ไม่ได้จำกัดในบริบทแคบๆของการสัมภาษณ์ แต่เชื่อมโยงกับระบบคุณค่า ความหมายของการเดินทางที่ได้สะสมมา ทั้งจากประสบการณ์โดยตรงจากพื้นที่ท่องเที่ยวเฉพาะนั้น หรือจากประสบการณ์อื่นๆที่ได้สร้างตัวตนในการท่องเที่ยวขึ้นมา
ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการเดินทางมายังประเทศไม่ได้มาจากปรากฏการณ์ด้านดีที่นักท่องเที่ยวให้ข้อมูลต่อกันอย่างตื้นเขิน แต่มาจากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสกับการท่องเที่ยวไทยมาจนรับรู้คุณค่าบางอย่างของพื้นที่ที่ “อยู่ลึก” กว่าปรากฏการณ์ความไม่สงบ ทั้งที่เห็นได้ชัดเช่น ต้นทุนท่องเที่ยวแบบสะพายเป้ที่ตลาดการท่องเที่ยวไทยเสนอให้ได้ในราคาเหมาะสม หรือความจำกัดของเหตุการณ์ที่มักไม่ลุกลามหรือกระทำโดยตรงต่อนักท่องเที่ยวด้วยพื้นฐานของ “ความเป็นมิตร” ซึ่งก็รองรับด้วยความยืดหยุ่นและทนทานต่อความไม่แน่นอนในการเดินทางที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทั้งจากสิ่งแวดล้อมเองหรือจากความต้องการของนักท่องเที่ยวด้วย
ความคิดเห็นเพิ่มเติม
งานวิจัยชิ้นนี้มองลงไปที่ย่านถนนข้าวสารที่เป็นเพียงจุดๆหนึ่งในการท่องเที่ยวซึ่งมีการฟื้นตัวได้เร็วจากเหตุการณ์ต่างๆด้วยพื้นฐานลักษณะหลายประการของกลุ่มตลาดเฉพาะนี้ แม้จะมีปัจจัยลบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกมาบั่นทอนแต่ก็เป็นเรื่องแปลกที่การสำรวจอย่างไมเป็นทางการบนเว็บไซต์ของ Lonely Planet ก็มีผลกว่าร้อยละ 68 ที่ยืนยันว่าไม่กระทบกับการเดินทางมาไทยแต่อาจประหยัดมากขึ้น[5] สิ่งเหล่านี้นับว่าเป็นตัวอย่างที่น่าศึกษาเปรียบเทียบกับกลุ่มตลาดการท่องเที่ยวอื่นๆด้วยแนวทางนี้ หรือเจาะลึกลงไปในบริบทหรือรายละเอียดปลีกย่อยในกลุ่ม backpacker เพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจในภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวไทยที่อาจมีศักยภาพแฝงอยู่ ซึ่งผู้ที่ตอบคำถามได้ดีที่สุดก็ย่อมต้องเป็นนักท่องเที่ยวผู้บริโภคนั่นเอง
สินค้าทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่น่าสนใจศึกษาเพิ่มเติมคือภาพ “ความเป็นมิตร” ที่ได้กลายมาสร้างมูลค่าต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในส่วนนี้อย่างน่าสนใจ ทั้งในแง่ว่าความเป็นมิตรนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และในอีกมุมหนึ่งว่าเหตุใดคุณค่าเช่นนี้จึงไม่ได้อยู่ในมโนทัศน์ของการท่องเที่ยวแบบอื่นๆอย่างชัดเจนกว่านี้ การศึกษาองค์ประกอบในการท่องเที่ยวที่สำคัญเช่นนี้มักถูกละเลยด้วยความเป็นนามธรรมและการขาดความเข้าใจในความหมายที่ลึกซึ้งของการเดินทางท่องเที่ยวที่พยายามพัฒนาเป็นแหล่งรายได้เข้าประเทศที่สำคัญ ซึ่งมักกระทำด้วยการออกแสดงนิทรรศการในต่างประเทศ หรือโรดโชว์ (roadshow) ทำสปอตโฆษณา หรือปรับปรุงลักษณะทางกายภาพของสถานที่ท่องเที่ยวดังที่มักเป็นข่าว
การศึกษานี้เนื่องจากจำกัดในพื้นที่การศึกษาทำให้ไม่สามารถครอบคลุมไปถึงมิติอื่นๆของ backpacker ในการท่องเที่ยวจริงๆ แต่ก็ด้วยคำถามการวิจัยที่ไม่ได้มีความเฉพาะเจาะจงกับพื้นที่แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสภาวะหนึ่งของสังคมไทยในทัศนคติของนักท่องเที่ยวทำให้จึงยังน่าจะยังพอรับฟังได้จากบริบทที่จำกัดไว้นี้ การทำงานวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณานี้จึงน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการทำความเข้าใจและประยุกต์สร้างความหมายทางวัฒนธรรมที่สำคัญต่อการท่องเที่ยวในพื้นที่การท่องเที่ยวได้
ในอีกมุมมองที่เป็นจุดกำเนิดของความสนใจในทัศนคติของนักท่องเที่ยวในประเด็นนี้ก็คือรายงานข่าวที่เราได้เห็นกิจกรรมต่างๆของทั้งสองฝ่าย สีเหลืองและสีแดง ที่ยังคงมีต่อเนื่อง เป็นสัญญานว่ากลุ่มขั้วขัดแย้งน่าจะคงมีอยู่ ในบรรยากาศการเมืองอึมครึมที่เปิดเข้าหาและอิงอาศัยมวลชนในการขับเคลื่อนเช่นนี้เอื้ออำนวยอยู่ ประเด็นโต้เถียงส่วนหนึ่งที่จะยังคงอยู่หลังเหตุการณ์ความไม่สงบนี้คือใครเป็นคนผิดหรือหาผู้รับผิดชอบในผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชาติในส่วนย่อยต่างๆของสังคมที่ต้องแบกรับ การใช้นักท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมาเป็นเหตุผลรองรับข้อกล่าวหาต่อฝ่ายก่อการถึงจะดูชัดเจนแต่ก็นำเสนอให้ดูสอดรับกับแนวทางของตนในแล้วแต่จังหวะสถานการณ์ หลายตัวละครทางการเมืองเลือกจะ “ค้าน” หรือ “ต่อต้าน” ในเวลาที่ “เหมาะสม” เพื่อให้ได้ผลประโยชน์สูงสุดแก่ตนและพวกพ้องทั้งในคำสัมภาษณ์หรือการโฆษณา ในขณะที่ฝ่ายก่อการก็เสนอข้ออ้างสนับสนุนการกระทำไปอีกทาง เช่นว่า “อาหารดี ดนตรีไพเราะ” หรือเพื่อ “กู้ชาติ” ฝ่ายผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ดูจะได้รับผลกระทบจริงจังโดยตรงก็พยายามยกเรื่องปริมาณความเสียหาย อาจเป็นจำนวนนักท่องเที่ยว ตัวเลขคนตกงาน ซึ่งก็มีทั้งตัวเลขที่เกิดขึ้นจริง การประมาณ และการคาดคะเนออกมาคัดค้านและโจมตีปฏิบัติการดังกล่าว เมื่อฝ่ายใดได้กุมอำนาจปกครองไว้ก็ต่างเรียกร้องความสงบให้ช่วงเวลาของตนได้ดำเนินไปอย่างที่ต้องการ
การศึกษานี้ถึงจะไม่ได้วัดค่าความถูกผิดของทั้งความคิดต่างๆได้และไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญในการศึกษา แต่อาจจะบอกได้ว่าในโลกทัศน์ของนักท่องเที่ยวแบบสะพายเป้ไม่ได้สนใจจะมีส่วนร่วมให้คุณค่าในเรื่องการเมืองไทยมากกว่าผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการท่องเที่ยวราคาประหยัด ความสนใจเรื่องการเมืองไทยพร้อมจะถูกแลกด้วยข้อมูลเล็กน้อยที่จำเป็นต่อการเดินทางได้ทันที เมื่อพิจารณาแง่มุมนี้เปรียบเทียบกับการเชื่อมโยงความขัดแย้งไปที่ภาพชาวต่างประเทศที่จะมองประเทศไทยก็พอจะชี้ให้เห็นประเด็นที่สามารถให้เรามองย้อนถึงกระบวนการ
จึงเป็นการสร้างวาทกรรมบนฐานคิดทางจิตวิทยาที่เล่นกับจิตใจผู้คนที่แสวงหาความสนใจ (attention seeking) จากโลกภายนอก โดยการสร้างภาพนักท่องเที่ยวให้เป็นตัวละครหนึ่งในเวทีความขัดแย้งของสังคมไทยในฐานะ “คนนอก” หรือ “ผู้ชม” ที่คาดหวังสิ่งเดียวกับที่ผู้สร้างสื่อหวังให้เป็น การสร้างชุดตรรกะเช่นว่านี้จึงเป็นเรื่องที่ไร้เดียงสาและเปิดเผยให้เห็นความต้องการเบื้องลึกที่ไม่ลึกมากนักของผู้ปกครอง คุณค่าในการนำเสนอหยิบยกนักท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากล่าวอ้างอาจมีผลต่อสังคมในทางที่เป็นคุณต่อฝ่ายกุมอำนาจซึ่งมุ่งหวังกระแสมวลชนแบบหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันก็มีผลเสียหายต่อเงินงบประมาณสาธารณะที่ใช้ในการจัดสร้างและเผยแพร่โฆษณาเช่นว่านี้เหมือนดังเช่นการใช้งบประมาณประชาสัมพันธ์ผลงานนักการเมืองเป็นจำนวนมากโดยที่ไม่มีการตั้งคำถามต่อเนื้อหา ความจำเป็น และผลประโยชน์แอบแฝงอื่นๆที่สังคมพึงคาดหวังได้จากการรับรู้สื่อความทางการเมืองลักษณะต่างๆนั้น การศึกษาชิ้นนี้จึงสะท้อนความคิดส่วนหนึ่งของนักท่องเที่ยวออกมาสนทนากับวาทกรรมเหล่านั้นว่าเขามีความคิดเช่นไรบ้าง ซึ่งอาจจะสรุปคำตอบบางส่วนที่ได้พบว่า “ไม่สนใจ (เรื่องการเมืองไทย) ขนาดนั้น”
บรรณานุกรม
หนังสือภาษาไทย
กนกพร ศิริโรจน์. (2545). กระบวนการตัดสินใจเลือกที่พักของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ : กรณีศึกษาสถานที่พักแรม ถนนข้าวสาร กรุงเทพมหานคร, วิทยานิพนธ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
กรีติพงฑ์ มหิทธาฤทธิไกร. (2542). ทัศนคติของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่มาพำนักอยู่ในย่านบางลำพู ต่อมาตรการรักษาความปลอดภัย, วิทยานิพนธ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กฤษฎาพร ปานโปร่ง. (2544). มาตรการการรักษาความปลอดภัยของเจ้าของกิจการที่พักย่านถนนข้าวสาร, วิทยานิพนธ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
โฉมสุดา สาระปัญญา. (2547). ถนนข้าวสารในมุมมองของพ่อค้าแม่ค้า, วิทยานิพนธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สมกมล พวงพรหม. (2546). ปัจจัยจูงใจที่มีผลต่อทัศนคติและพฤติกรรมในการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในชุมชนถนนข้าวสาร กรุเทพมหานคร, วิทยานิพนธ์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ์.
อัฐมา โภคาพานิชวงษ์. (2544). ชุมชนและประชาคมย่านถนนพระอาทิตย์กับกระแสการรื้อฟื้นเมืองน่าอยู่, วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
หนังสือภาษาต่างประเทศ
Burns, Peter M. (1999). An Introduction to Tourism and Anthropology, New York : Routledge.
Glaesser, Dirk. (2006). Crisis Management in the Tourism Industry, Burlington, MA : Butterworth-Heinemann.
Shaw, Gareth, and Williams, Allan M. (1996). Critical Issues in Tourism: A Geographical Perspective, Oxford, UK : Blackwell Publishers.
Taylor, Stephanie, ed. (2002). Ethnographic Research: A Reader, London: Sage Publications
Thompson, Kenneth. (1998). Moral Panics, New York : Routledge.
วารสารทางวิชาการ
Adkins, Barbara and Grant, Eryn. (2007) ‘Backpackers as a Community of Strangers:The Interaction Order of an Online Backpacker Notice Board’, Qualitative Sociology Review, 3, 2: 188-201. Retrieved 24 April 2009 (http://www.qualitativesociologyreview.org /ENG/archive_eng.php)
Sorensen, Anders (2003) ‘Backpacker Ethnography’, Annals of Tourism Research 30: 847-867.
[1] ด http://wikitravel.org/en/Bangkok/Khao_San_Road (3 March 2009)
[2] ดู http://www.lonelyplanet.com (3 March 2009), นอกจากนี้ Lonely Planet เองก็ยังเป็นผู้พิมพ์หนังสือและผลิตรายการนำเที่ยวสำหรับที่ต่างๆออกไปทั่วโลกอีกด้วย
[3] ดูคำเตือนทั่วไปสำหรับการท่องเที่ยวในประเทศไทยของ Lonely Planet ที่ http://www.lonelyplanet.com/Thailand (5 พฤษภาคม 2552).
[4] ดูใน do’s and don’ts, http://www.amazing-thailand.com/DandD.html (8 พฤษภาคม 2552); สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแวนคูเวอร์, Do’s and don’ts in Thailand, http://www.thaicongenvancouver.org/DoandDont.htm (9 พฤษภาคม 2552).
[5] จากผลการสำรวจของเว็บไซต์ Lonelyplanet, “Has the world financial crisis altered your travel plans to Thailand?,” http://www.lonelyplanet.com/thorntree/poll.jspa?pollID=21, retrieved on 28 May 2009.
[1] “…a group seen as self organized pleasure tourists on a prolonged multiple destination journey with a flexible itinerary, extended beyond that which it is usually possible to fit into a cyclical holiday pattern” (Sorenson: 851, แปลโดยผู้วิจัย)
[2] “For with varying degree and intensity, these individuals connect to a shared frame of reference whether this is a matter of identity, philosophy, sense of belonging, or sentiments of shared values, and their partitioned and fractioned interaction produces meaning, which influences norms, values, conduct, and other elements of the social being.” (Sorensen 2003: 848-849, แปลโดยผู้วิจัย)
AssociatedPress (AP). Thai Airport Protest Strands Thousands. http://www.youtube.com/watch?v=kf5YW7KHP1o&feature=PlayList&p=004A87EB1CBB5BDA&index=13&playnext=2&playnext_from=PL ;
____, Thai Protesters Take to Streets, Block Airport
http://www.youtube.com/watch?v=pLcxzV2WYlk&feature=channel
AFPTV, Gleaming Bangkok airport becomes protest camp. http://www.youtube.com/watch?v=28KAtIR64xw&NR=1
ภาพเหตุการณ์โดยนักท่องเที่ยว Bangkok Thailand International Suvarnabhumi Airport PAD Demonstrations nov 26. 2008.
http://www.youtube.com/watch?v=WG45yzzjG1g&feature=PlayList&p=E2DE4D590A161839&playnext=1&playnext_from=PL&index=13.
หมายเหตุ: ภาพประกอบจาก http://www.travelpod.com/travel-blog-entries/aok540/2/1262450252/tpod.html#_
ท่านแจ๊ค ครับ
ตอบลบอ่านแล้วหวนให้นึกถึงบรรยากาศในห้วงเวลานั้น
แล้วขณะนี้ก็ดูชวนให้นึกว่า สถานการณ์จะกลับมาแย่อีกไหม
พี่ชื่นชมในงานของแจ๊คนะครับ งานนี้ไม่เพียงแต่งานรีวิวที่อัพเดทแล้ว ยังมีงานสนามที่มีเอกลักาณ์ของตนเองด้วย พี่ค่อนข้างตกข่าวไปหลายเรื่องเกี่ยวกับรุ่นเรา เพราะไปจมกับสนามค่อนข้างนาน แต่ยินดีกับพวกเราที่ก้าวหน้าในงานของตนเอง แต่แอบเศร้ากับเพื่อน ๆ หลายคน อย่างไรก็ต้องสู้กันต่อไปนะครับ
แล้วท่านแจ๊คล่ะครับ งานวิจัยคืบหน้าแล้วใช่ไหมครับ หากมีเวลาว่างหวังว่าจะได้แลกเปลี่ยนกันนะครับ
ดำรงพล
ขอขอบคุณท่านอาจารย์พี่ครับ งานมือใหม่หัดทำน่ะครับ แต่เป็นงานที่ได้ทำแล้วชอบมากครับ งานหลักยังไม่ไปไหนไกลมากครับ หัวข้อไม่ลงตัวคิดว่าจะศึกษากลุ่มตัวแทนขายตรงหลายชั้นแต่ยังไม่มีจุดโฟกัส พึ่งได้คุยกับท่านผอ.โครงการสตรีศึกษาของเราอาจารย์สุกฤตยา เลยได้ไอเดียว่าจะลองเทียบกับเครือข่ายวัดธรรมกายดูอยู่ ถ้าไปต่อได้น่าจะไม่นานน่ะครับ
ตอบลบเห็นงานท่านพี่ก่อนหน้านี้แล้วคะเนว่ารอเวลาขมวดเล่มสอบได้ในอีกไม่นาน ยินดีล่วงหน้าก่อนเลยนะครับ หากผ่านมามีอะไรให้รับใช้ได้กรุณาโทรบอกได้เลยครับ สุดท้ายอยากเรียนฝากความระลึกถึงท่านอาจาย์เสมอชัยด้วยครับ ญาณวิทยาที่ได้ท่านสอนให้เป็นประโยชน์กับผมมากเลยครับ
มีม๊อบตีกันคราวหน้าจะลองทำ quantitative survey ซ้ำอีกทีบน Lonely Planet
ตอบลบท่านแจ๊ค ครับ
ตอบลบสารภาพตามตรงครับ พี่ก็ยังมะงุมมะงาหราอยู่ครับ กลับมาแล้วขอตั้งสติให้มั่น แต่ดูเหมือนเวลาจะงวดเข้ามาเรื่อย ๆ แล้วละครับ หากมีเวลา คงได้สนทนากันนะครับ ว่าแต่พี่มีงานวิจัยเกี่ยวกับธรรมกายอยู่นะครับ โดย อ.ดร.อภิญญา หากท่านสนใจก็บอกมานะครับ ยินดีครับ
ดำรงพล
damrongphon@yahoo.com