คำ technical term ที่เดอร์ริดาใช้เป็นคำหลัก (keywords) ในการอรรถาธิบายของเขา ได้แก่ โครงสร้าง/ความเป็นโครงสร้าง (structure/structurality), ศูนย์กลาง/ความเป็นศูนย์กลาง (center), สัญญะ (sign), การเล่น (play/freeplay), ภาพรวบยอด (total/totalization), สภาพการณ์ (event), การปรากฎอยู่/การไม่ปรากฎ (presence/absence), ความวิปริต/แปรปรวน (scandal) และ bricolage/bricoleur ประเด็นหลักที่เดอร์ริดาเสนอเป็นการโต้แย้งต่อความเป็นโครงสร้างของ Levi-Strauss ซึ่งเดอร์ริดาพบว่ามีความขัดแย้งหลายประการระหว่างภายในตัว “โครงสร้าง” (structure) เอง กับ “ศูนย์กลาง” (center) ในความเป็นโครงสร้างที่ปรากฎในงานของ Levi-Strauss สิ่งที่เดอร์ริดากระทำจึงเป็นความพยายามชี้ให้เห็นถึงสภาพการณ์ (event) ของการแตกกระจายออก (rupture/disruption) ของ “ความเป็นโครงสร้างของโครงสร้าง” (structurality of structure) นั้น
เดอร์ริดาเสนอว่า Levi-Strauss มองว่า “โครงสร้าง” ทำงานและดำรงอยู่อย่างเป็นประวัติศาสตร์แบบต่อเนื่อง (a history) มีลักษณะเป็นเส้นตรง (linear) เช่นเดียวกับ Saussure และเราสามารถหา “ศูนย์กลาง” ของมันพบได้ภายในระบบและโครงสร้าง เพราะความเป็น “ศูนย์กลาง” ของโครงสร้างเป็นสิ่งที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ที่เราสามารถมองเห็นและนำเสนอผ่านระบบของภาษาได้ด้วยตัวหมาย (signifier) โดยเชื่อว่าตัวหมายนี้สามารถสะท้อนตัวถูกหมาย (signified) หรือสิ่งที่ต้องการบอกได้อย่างตรงไปตรงมา ดังนั้น “ศูนย์กลาง” ในแบบ Levi-Strauss จึงถูกทำให้เป็นสิ่งที่ “ปรากฎอยู่” (presence)
ความเป็น “ศูนย์กลาง” ยังวางตำแหน่ง (position) อยู่ ณ ศูนย์กลางของโครงสร้างหรือระบบด้วย “ศูนย์กลาง” ยังทำหน้าที่เป็นแหล่งกำเนิดที่ตายตัว (fixed origin) ให้กับอำนาจที่กำกับความเป็นไปของส่วนต่างๆ ทั้งหมด (whole structure) ภายในโครงสร้าง หรือกล่าวได้ว่า “ศูนย์กลาง” ทำหน้าที่ควบคุมเกมหรือการ “เล่น” (play) ภายในระบบ/โครงสร้างส่วนต่างๆ ขณะที่ตัวมันเองปรากฎอยู่อย่างเต็มรูปและอยู่พ้นไปจากการเล่น (a full presence is beyond play) หรือมีลักษณะเป็นตัวหมายในระบบสัญญะที่อยู่พ้นไปหรือมีอภิสิทธิ์เหนือภายในโครงสร้าง (transcendental or privileged signifier) ระบบ/โครงสร้างนั้นจึงไม่ได้มีอิสระที่จะเคลื่อนไหวหรือดำเนินโดยตัวของมันเอง (freeplay) เพราะถูกจำกัดด้วย “ศูนย์กลาง” อยู่ตลอดเวลา โดยนัยนี้จึงหมายความว่า เมื่อใดที่ระบบหรือโครงสร้างขาด “ศูนย์กลาง” การเล่นของส่วนต่างๆ ก็จะสามารถเป็นไปอย่างไร้ขีดจำกัด (infinite)
ทว่าเดอร์ริดากลับมองเห็นว่า “โครงสร้าง” ดำรงอยู่ด้วยกันกับความเป็น “ศูนย์กลาง” เสมอ แต่ “ศูนย์กลาง” ที่ว่านี้ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งและก็อยู่ทั้งข้างในโครงสร้างและข้างนอกโครงสร้างในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ ในขณะที่ “ศูนย์กลาง” เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้าง “ศูนย์กลาง” ได้ทำหน้าที่เป็นตัวควบคุมกำกับ ส่วนต่างๆ ของโครงสร้างแต่ตัวมันเองกลับอยู่พ้นไปจากการควบคุมกำกับนั้น ความเป็น “ศูนย์กลาง” จึงไม่ได้หมายถึงตำแหน่งตรงกลางของโครงสร้าง (center is not the center)
นอกจากนี้ “ศูนย์กลาง” เป็นสิ่งที่ไม่สามารถถูกนำเสนอด้วยภาพแสดงแทนใดๆ ได้ เป็นตัวถูกหมายที่เราไม่อาจอ้างอิงแทนที่ด้วยสัญญะใดๆ (transcendental signified) เพราะ “ศูนย์กลาง” เป็นสิ่งที่มีอยู่ แต่ “ไม่ปรากฎอยู่” (absence) ในระบบหรือโครงสร้าง “ศูนย์กลาง” จึงเป็นสิ่งที่เราไม่มีทางคว้าจับมันได้เลย เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราพยายามจะคว้าจับ มันก็ไหลเลื่อนเคลื่อนไปตลอดเวลาหรืออยู่ในสภาพของการเล่นอย่างไม่รู้จบ (come in to play) สิ่งที่เราทำได้มีเพียงการมองหาร่องรอย (trace) ของมันที่ปรากฎอยู่ในส่วนต่างๆ เท่านั้น การ “เล่น” ในโครงสร้างจึงเป็นสิ่งที่ขัดขวางการปรากฎอยู่ (แต่การเล่นในที่นี้ก็เป็นการ “เล่น” ทั้งกับการปรากฎและไม่ปรากฎอยู่ (play of absence and presence) การ “เล่น” จึงเป็นสิ่งที่มีอยู่ก่อนการปรากฎและไม่ปรากฎอยู่ ขณะที่การดำรงอยู่โดยตัวของมันเองก็คือการ “เล่น” ของทั้งการปรากฎและไม่ปรากฎอยู่) [4] อีกทั้งการปรากฎอยู่ของ “ศูนย์กลาง” จะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในสภาวะของการคงที่ (stability) เท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะการ “เล่น” ของส่วนต่างๆ ดำเนินอยู่ตลอดเวลา
เดอร์ริดาชี้ให้เห็นว่า “โครงสร้าง” เป็นคำและกรอบคิด (word and concept) ที่มีความเก่าแก่มากพอๆ กับความเป็นศาสตร์และปรัชญาตะวันตก อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายแห่งรากของภาษาและความคิดซึ่งง่ายมากที่จะทำให้เราหลงลืมในความเป็นอุปลักษณ์ (metaphorical character) ของมัน โดยเฉพาะ “ความเป็นโครงสร้างของโครงสร้าง” (structurality of structure) ที่ถูกทำให้ดูเป็นกลาง (neutralized) ด้วยการทึกทักความเป็นศูนย์กลาง การปรากฎอยู่และการเป็นแหล่งกำเนิดที่ตายตัวภายใต้ระบบของภาษาและความคิด “ศูนย์กลาง” จึงเป็นเพียงอุปลักษณ์หนึ่งที่อยู่ภายในอุปลักษณ์ของ “โครงสร้าง” และถึงกับกล่าวว่า ประวัติศาสตร์ของความรู้ที่เป็นอภิปรัชญาทั้งหลายอย่างเช่นประวัติศาสตร์ตะวันตกก็คือประวัติศาสตร์ว่าด้วยอุปลักษณ์และอุปมา (“the history of metaphysics, like the history of the West, is the history of these metaphors and metonymies”) [5] เหล่านี้เป็นปัญหาสากลและสะท้อนภาวะที่มนุษย์จะไม่สามารถคิดได้เลย (unthinkable) หากปราศจากการทำให้มันแตกกระจายออก ทำให้ไม่ปรากฎหรือทำให้เห็นความเลื่อนไหล (rupture / disruption / absence / difference คำต่างๆ เหล่านี้คือพัฒนาการที่มาของคำว่า deconstruction หรือการรื้อสร้างของเดอร์ริดาในเวลาต่อมา) [6]
ปัญหาก็คือ เดอร์ริดาเห็นว่า มันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะ “คิด” หรือ “พูดถึง” ระบบและศูนย์กลางโดยไม่ไปสร้างตัวระบบหรือความเป็น “ศูนย์กลาง” ใหม่ขึ้นมา เพราะทุกครั้งที่เราพยายามจะรื้อสร้าง (deconstruct) ระบบด้วยการพูดถึงสัญญะต่างๆ อย่างเสมอภาค แต่เราก็กลับลื่นไถลเข้าไปในระบบนั้นอีก ทั้งนี้ก็เพราะเราจำเป็นต้องพูดผ่านคำที่เป็นสัญญะซึ่งมีความหมายที่ถูกกำหนด (assume) ตายตัวอยู่ เดอร์ริดาจึงเห็นว่า การมอง “ศูนย์กลาง” แบบหยุดนิ่งของ Levi-Strauss มีลักษณะเป็นการหวนหาสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ (nostalgia) เพราะนั่นเท่ากับการแยก “ศูนย์กลาง” ออกจากธรรมชาติที่มันเป็นด้วยกระบวนการทำซ้ำและแทนที่ (repeatability and substitutability) เท่านั้น ขณะเดียวกันระบบก็อยู่บนสัญญะที่อยู่บนฐานของภาษา ซึ่งสัญญะในระบบของภาษาศาสตร์ไม่เคยที่จะสามารถบ่งชี้สิ่งที่มันต้องการพูดถึงได้อย่างแท้จริงเลย [7]
โดยนัยนี้ การพูดว่า “ศูนย์กลาง” ปรากฎอยู่จึงเป็นการสร้างความจริงทางอภิปรัชญา (metaphysics) อย่างหนึ่ง ทั้งที่จริงแล้วการดำรงอยู่อย่างไม่ปรากฎอยู่ของมันทำให้ทุกๆ สิ่งที่เราพยายามคว้าจับหรือพูดถึงมันกลายเป็นเพียง “วาทกรรม” (discourse) ของ “โครงสร้าง” เท่านั้น เช่นเดียวกับเมื่อ Levi-Strauss นำกรอบคิดชาติพันธุ์วิทยา (ethnology) มาเป็นที่ตั้งในการอธิบายโครงสร้างทางวัฒนธรรมของคนพื้นเมืองก็กลับเป็นวาทกรรมที่อยู่บนฐานคิดเรื่องการเอาคุณค่าทางวัฒนธรรมของตัวเองมาเป็นที่ตั้งไปในทันที (ethnocentrism) ในประเด็นนี้ เดอร์ริดาได้ชี้ให้เห็นการพยายามสร้างความจริงทางอภิปรัชญาของ Levi-Strauss เช่นในกรณีการแยกคู่ตรงข้ามระหว่าง “ธรรมชาติ” กับ “วัฒนธรรม” ในงานเขียนเรื่อง The Elementary Structures of Kinship (1949) ที่นิยามว่า ธรรมชาติ (natural) เป็นสิ่งสากล (universal) ที่เกิดขึ้นเหมือนๆ กันในทุกๆ ที่ (spontaneous) โดยไม่ขึ้นกับระบบทางวัฒนธรรมหรือบรรทัดฐาน (norm) ใดๆ ขณะที่วัฒนธรรม (culture) เป็นสิ่งที่ขึ้นต่อระบบบรรทัดฐานหรือการควบคุมทางสังคม ซึ่งมีความเฉพาะแตกต่างไปในแต่ละโครงสร้างสังคม
ในทางกลับกัน Levi-Strauss พูดถึงความวิปริต/ผิดแปลก (scandal) ในกรณีเกี่ยวกับการละเมิดข้อห้ามการมีเพศสัมพันธ์ในหมู่คนที่มีสายเลือดเดียวกัน (incest prohibition) ที่ไม่สามารถจะจัดวางว่ามันเป็นอะไรกันแน่ระหว่างคู่ทั้งสอง เพราะ scandal เป็นสิ่งที่ถูกผลิตขึ้นบนฐานของ “ศูนย์กลาง” ที่พยายามจะควบคุมกำกับสังคม ขณะเดียวกัน “ศูนย์กลาง” ก็ไม่อาจที่จะเข้าไปควบคุมสิ่งที่เป็น scandal ได้ มันจึงเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เดอร์ริดาจึงสรุปว่า ข้อห้ามทางสังคม (taboo) ดังกล่าวจึงเป็นทั้งสิ่งสากลหรือเท่ากับ “ธรรมชาติ” และก็เป็นบรรทัดฐานให้คนปฏิบัติซึ่งก็คือ “วัฒนธรรม” ในเวลาเดียวกันด้วย ตัวอย่างนี้ทำให้เห็นว่าวิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามของมันได้สูญเสียไปและนำไปสู่การ “เล่น” ในรูปแบบหนึ่ง สะท้อนปัญหาของการพยายามแบ่งแยกสิ่งที่เป็นธรรมชาติกับวัฒนธรรมออกจากกันโดยไม่สนใจความจริงที่เป็นอยู่
อย่างไรก็ตาม Levi-Strauss ถือว่า นี่เป็นวิธีการหยิบยืมประโยชน์จากแนวคิดบางอย่างมาใช้ในการนำเสนอข้อเท็จจริงที่เขาเรียกว่า “bricolage” [8] แต่เดอร์ริดาวิจารณ์ว่า เป็นวิธีการเลือกใช้แนวคิดต่างๆ เพื่อนำเสนอความจริงแบบหนึ่งโดยไม่สนใจว่ามันจะยืนอยู่บนความจริง (truth) หรือไม่ “bricolage” จึงเป็นรูปหนึ่งของมายาคติ (mythopoetic) ไม่มีความเป็นเหตุเป็นผล (not rational) ขณะเดียวกัน “bricolage” เองก็มีลักษณะเป็นการ “เล่น” หรือเลื่อนไหลภายในโครงสร้างมากกว่าที่จะเป็น “ระบบ” อย่างที่ Levi-Strauss ใช้ แล้วก็อาจพูดได้เช่นกันว่า วาทกรรมต่างๆ ล้วนแต่มีลักษณะเป็น “bricoleur” ด้วยทั้งสิ้น ในท้ายที่สุดแล้ว Levi-Strauss ได้แสดงความยอมรับในประเด็นนี้ผ่านงานเขียนอีกเรื่องคือ The Raw and The Cooked (1964) โดยบอกว่า “bricolage” เป็นชนิดของมายาคติในตัวของมันเองแบบหนึ่ง ไปๆ มาๆ แล้ว งานชาติพันธุ์วิทยาของ Levi-Strauss จึงมีลักษณะเป็นโวหาร (rhetoric) มากพอๆ กับที่งานทางปรัชญามีลักษณะเป็นวรรณกรรม (literature) นั่นเอง [9]
เดอร์ริดายังวิจารณ์ว่า ภาพรวบยอด (totalization) ในความเป็น “โครงสร้าง” ของ Levi-Strauss เป็นความปรารถนาต่อสิ่งที่เป็น “ระบบ” “ทฤษฎี” และ “ปรัชญา” ที่สามารถนำมาอธิบายได้กับทุกๆ สิ่ง ในความเห็นของเดอร์ริดา ภาพรวบยอดนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไม่มีแนวคิดทฤษฎีอะไรที่จะมีความสมบูรณ์จนสามารถใช้อธิบายทุกสิ่งทุกอย่างได้ เพราะความจริง (truth) เป็นสิ่งที่กว้างใหญ่เกินกว่าเราจะสามารถพูดได้หมด ในขณะที่ส่วนต่างๆ ของ “โครงสร้าง” ก็ไม่ได้ดำรงอยู่อย่างแน่นอนกับที่ หากแต่เต็มไปด้วยการ “เล่น” อยู่ตลอดเวลา [10] นอกจากนี้ ความคิดเรื่องภาพรวบยอดก็มีความลักลั่น/ขัดแย้งภายในตัวของมันเอง (paradoxical) กล่าวคือ ภาพรวบยอดจำเป็นต้องมี “ศูนย์กลาง” ไม่เช่นนั้นมันก็จะไม่อาจเป็นภาพรวบยอดได้ หากแต่กลายเป็นระบบ (system) แบบอื่นไป ขณะที่ “โครงสร้าง” ก็ต้องวางอยู่บนระบบที่มีแหล่งกำเนิดและเป้าหมาย (an origin and a goal) แหล่งกำเนิดและเป้าหมายก็ทำการปรับโครงสร้างให้สอดคล้องกัน ไม่เช่นนั้นความเป็น “โครงสร้าง” ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้
ความเป็น “โครงสร้าง” นั้นต้องการ “ศูนย์กลาง” ซึ่งกอปรระบบขึ้นมาจากจุดยืนของแหล่งกำเนิดและเป้าหมายของมัน อย่างไรก็ตาม แหล่งกำเนิดและเป้าหมายนี้ก็มีความขัดแย้งในตัวของมันเอง นั่นคือ “ศูนย์กลาง” ต้องเป็นทั้งส่วนหนึ่งและส่วนที่แยกออกจากระบบ เพราะ “ศูนย์กลาง” ไม่สามารถที่จะมีความเป็น “ศูนย์กลาง” ได้จนกว่าเราจะแยกมันออกจากศูนย์กลาง นี้จึงเป็นความกำกวมว่า “ศูนย์กลาง” เป็นส่วนของระบบที่มันปรับให้สอดคล้องหรือไม่ และอาจเป็นได้ว่า “ศูนย์กลาง” เป็นได้แค่เพียงการปรากฎอยู่อย่างสมบูรณ์ (complete presence) ในระบบภายใต้สถานการณ์ที่ถูกจำกัด (แต่ก็ไม่ใช่ full presence) หรือเป็นเพียงสิ่งที่มนุษย์ไม่มีวันจะเข้าถึงมันได้ซึ่งเดอร์ริดาเรียกว่า “eschatology” [11] ทั้งหมดนี้คือความลักลั่น/ขัดแย้ง (paradoxical) ที่เมื่อ “โครงสร้าง” ถูกนำเสนอออกมาเมื่อใดก็กลับเป็นการ “รื้อโครงสร้าง” (a destruction of themselves) โดยตัวของมันเองเสมอ ในทัศนะของเดอร์ริดา การสร้างกรอบความรู้ (episteme) ของโครงสร้างนิยมจึงเป็นวิธีการทางอภิปรัชญาแบบหนึ่งเท่านั้น
แม้ในการทำความเข้าใจและจินตนาการตามความคิดและข้อเสนอของเดอร์ริดาก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาถ้อยคำมาอธิบายสิ่งที่เขาพูดถึง เพราะเมื่อใดที่ผู้เรียบเรียงพยายามจะอธิบายถึงการดำรงอยู่ของ “ศูนย์กลาง” ของเดอรริดา ก็รู้สึกราวกับตนเองได้พลัดตกลงไปในกับดักของโครงสร้างอยู่ร่ำไป โดยเฉพาะเป็นสิ่งยากยิ่งที่จะสามารถ “เห็นถึง” ภาพของ “ศูนย์กลาง” ที่ไม่ปรากฎอยู่ ทว่ามีอำนาจคอยกำกับส่วนต่างๆ ภายในโครงสร้าง นั่นเพราะเรามักถูกสอนให้คิดถึงองค์ประกอบที่ต้องมีรูปลักษณ์ ขอบเขตหรือตำแหน่งแห่งที่ที่แน่นอน นี่เองที่น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เดอร์ริดาบอกว่า “คิดไม่ได้” ซึ่งช่วยให้ผู้เรียบเรียงเห็นว่า สิ่งแรกของการทำความเข้าใจแนวคิดการรื้อสร้าง (deconstruction) และก่อนที่จะนำมันไปใช้อย่างเท่าทันความคิดตัวเองก็คือ เราคงต้องรื้อสร้างฐานคิดหรือความเชื่อเดิมที่เรามีอยู่เป็นเบื้องแรกด้วยการ “ตั้งคำถาม” ต่อสิ่งที่เราเคยเชื่อหรือยึดถือ เพื่อเริ่มต้นไปสู่การคิดถึงสิ่งที่ “คิดไม่ได้” จึงจะสามารถเห็นถึงกระบวนการ “เล่น” ภายในโครงสร้างที่ดำรงอยู่
กระนั้น แม้เราจะไม่มีทางคว้าจับความเป็น “ศูนย์กลาง” ได้เลย ทั้งนี้เพราะ “ศูนย์กลาง” ดูจะไม่ใช่อะไรที่มีที่ทางอยู่อย่างแน่นอน (position) หากเป็นแต่ตัวแสดงหน้าที่ (function) ของโครงสร้าง อย่างไรก็ตาม ความเป็น “ศูนย์กลาง” ก็น่าจะแสดงร่องรอยอย่างชัดเจน ณ จุดหนึ่งของพื้นที่และเวลา (space & time) ที่สภาพการณ์ (event) ของโครงสร้างสันดาปการทำงานอย่างสมบูรณ์ที่สุด (ในเชิงรูปธรรมอาจได้แก่ ณ ขณะเวลาและสถานที่ซึ่งความขัดแย้งและการต่อต้านต่อรองได้แสดงปฏิกิริยาหรือทำงานอย่างเข้มข้น) ขณะเดียวกัน การ “เล่น” ภายในโครงสร้างทำให้ “ศูนย์กลาง” สามารถเลื่อนไหล ถ่ายเทหรือมีการเข้าแทนที่ทางอำนาจได้เรื่อยๆ เช่นนั้นก็น่าจะหมายความด้วยว่า ความเป็น “ศูนย์กลาง” สามารถเกิดขึ้นได้หลายอันในเวลาเดียวกัน อย่างน้อยก็คือความเป็น “ศูนย์กลาง” ภายในบริบทและขอบเขตที่มันถูกพูดถึงหรือกำลังทำงานด้วย เช่นเดียวกับที่ประเด็นในเรื่องหนึ่งอาจมีหลายวาทกรรมที่ต่างฝ่ายต่างเป็นศูนย์กลางให้แก่อุดมการณ์ที่มันเชิดชู
ปัญหาก็คือ ทุกครั้งที่คนพยายามจะอ้างอิงถึงความเป็น “ศูนย์กลาง” มันก็ลื่นไหลจากเราไป สิ่งที่เราพูดจึงไม่ใช่ความจริงสัมบูรณ์ (absolute truth) กลับกลายเป็น “วาทกรรม” ไปเสียหมด เช่นนั้นแล้วท่ามกลางวาทกรรมต่างๆ เราจะสามารถใช้สิ่งใดเป็นหลักทางสังคมที่จะบอกว่า วาทกรรมใดที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุดหรือใกล้เคียงกับความเป็นกลางที่สุด เพราะในเมื่อทุกฝ่ายต่างก็อ้างความเป็นวาทกรรมได้มากพอๆ กัน ท้ายที่สุดก็น่าจะไม่พ้น “อำนาจ” ในการโน้มนำหรือโน้มน้าวให้คนส่วนใหญ่เชื่อถือฐานะการเข้าใกล้ความจริงมากที่สุดของมันนั่นเอง ปัญหาดังกล่าวทำให้การรื้อสร้างคงเป็นสิ่งที่ไม่ทางรู้จบกับทั้งมีความผูกโยงกับอำนาจใดอำนาจหนึ่งอยู่ตลอดเวลา จนแล้วจนรอดจึงมีแต่เพียงการพิสูจน์ ต่อรองระหว่างกัน
ปัญหาประการสุดท้ายที่อาจฟังดูเป็นนิทานไม่รู้จบ (the neverending story) ก็คือ การ “พูด” หรือ “อธิบาย” ในแบบสำนักหลังโครงสร้างนิยมเองจะสามารถพ้นไปจากตรรกะของวิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามได้หรือไม่? เพราะแม้ที่ผ่านมา การสร้างข้อถกเถียงหรือรื้อถอนความคิดเดิมโดยสำนักหลังโครงสร้างนิยมเองก็ “ยังคง” และ “จำเป็น” ต้องกระทำผ่านการวิพากษ์งานเขียนหรือแนวคิดโครงสร้างนิยมเป็นพื้นฐาน และแม้เราจะยอมรับ/รับรู้ถึงความหลากเลื่อนหรือเลื่อนไหลอันเกิดจากกระบวนการ “เล่น” ภายในโครงสร้างเท่าไร แต่เราก็ยังคงยืนอยู่ระหว่างฟากทั้งสองของความหลากเลื่อนนั้น เช่นนั้นแล้วจะต่างอะไรกับ “สะพานแขวน” ที่แม้เราไม่อาจมองเห็นสุดปลายสะพานทั้งสองด้าน แต่ก็รับรู้ได้ถึงสองฟากฝั่งที่อยู่คนละด้านของมัน ขณะเดียวกันก็ไม่อาจมีฟากหนึ่งฟากใดดำรงอยู่โดยปราศจากอีกฟากหนึ่งได้ เพราะหากทำเช่นนั้นสะพานแขวนก็คงจะมิใช่สะพานแขวนอย่างแน่นอน
[1] บทความนี้ปรับปรุงจากรายงานนำเสนอในวิชาปรัชญามนุษยศาสตร์ (IG 810) ภาค 2/2551 หลักสูตรดุษฎีบัณฑิต วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เรียบเรียงใคร่ขอขอบพระคุณ รศ. ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ที่ได้กรุณาแก้ไขบางถ้อยคำที่คลาดเคลื่อน และ ผศ.ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ ที่กรุณาไขความกระจ่างในบางประเด็นแก่ผู้เรียบเรียง รวมทั้งขอขอบคุณ คุณรัตนไชย สราธิวัฒน์ประไพ ที่กรุณาแนะนำให้อ่านบทความของ Mary Clages อนึ่ง ความบกพร่องผิดพลาดใดๆ ในงานชิ้นนี้ล้วนแล้วเป็นความรับผิดชอบของผู้เรียบเรียงทั้งสิ้น
[3] Davis, Robert Con and Schleifer, Ronald (eds). Contemporary Literary Criticism: Literary and Cultural studies. New York : Longman and White Plains . pp.229-248.
[4] Derrida, Jacques. (2002). Structure, Sign, and Play in the Discourse of Human Sciences. In Derrida, Jacques. Writing and Difference. (pp.351-370). Translated, with an introduction and additional notes by Bass, Alan. London and New York : Routledge. pp.369.
[6] Payne, Michael. (1993). Reading Theory: An Introduction to Lacan, Derrida, and Kristeva. Massachusetts : Blackwell Publisher. pp.12-13.
[7] Stocker, Barry. (2006). Routledge Philosophy Guidebook to Derrida on Deconstruction. London and New York : Routledge. pp.116.
[8] ในบทความนี้ รศ. ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ได้อธิบายเพิ่มเติมแก่ผู้เรียบเรียงว่า “bricolage” มีความหมายในลักษณะ “ไทยประดิษฐ์” อันหมายถึง การนำสิ่งต่างๆ มาผสมผสานขึ้นใหม่ คล้ายกับช่างไทยที่มักใช้วิธีการถอดนั่นเติมนี่ อย่างไรก็ตาม ผู้เรียบเรียงยังคงไม่แน่ใจว่า “ไทยประดิษฐ์” จะเป็นถ้อยคำที่สื่อได้อย่างเหมาะเจาะลงตัวทั้งในวิธีคิดแบบตะวันตกและในสังคมไทยแล้วหรือไม่ จึงใช้ในลักษณะคำทับศัพท์ไปก่อน
[10] Clages, Mary. (1997). J.Derrida: Structure, Sign, and Play in the Discourse of Human Sciences: A Reading Guide., University of Colorado at Boulder . Fall Semester. In http://www/. colorado. edu/English/ courses/Engl2012Klages/ index.html.
อัฐมาจ๊ะ
ตอบลบแวะมาบ่นว่าถูกแซงคิวหน่ะจ๊ะ คราวนี้ส่งงานได้รวดเร็วกว่ากำหนด แสดงว่ามีพัฒนาการด้านความไวเพิ่มขึ้นอย่างมาก (แซวเล่นหน่ะจ๊ะ) ตอนแรกปูกะว่าจะแกล้งทำมึนๆให้ผ่านคิวปูไปเลย แต่ก็ไม่กล้า เลยขอ post ลงวันเดียวกันนี่เลยละกันนะ เพื่อไม่ให้เสียประวัติอันน่าเชื่อถือหน่ะ 555 หวังว่าจูจะสบายดีนะคะ
ปู