วิไลวรรณ จงวิไลเกษม[1]
“จาโก๊ย มั้ย จาโก๊ย ” ดูเหมือนจะเป็นเสียงที่ชินหูสำหรับคนนอกอย่างเรา[2]ทุกฟ้ารุ่ง ที่บ้านทรายขาว ตำบลที่ตั้งอยู่เคียงข้าง(เทือก)เขาสันกาลาคีรี ที่มาของความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรมของคนทรายขาว ไม่ต่างกับ เสียงใบพัดจากเฮลิปคอปเตอร์กลายเป็นเสียงชินหูจนดูเหมือน “ชาชิน” อย่างคำที่คนทรายขาวตอบทุกครั้งที่ถูกตั้งคำถาม
คืนแรกของการมาพักอาศัยที่ตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี (พื้นที่ที่ถูกนำเสนอข่าวออกไปทั้งในประเทศและต่างประเทศว่าเป็น “พื้นที่สมานฉันท์” ระหว่างคนไทยพุทธและไทยมุสลิมด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ว่า “ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรง” เกิดขึ้นที่นี่) เต็มไปด้วยความรู้สึกตื่นเต้นผสมความวิตกกังวลที่ว่า “เราจะทำอย่างไรให้คนทรายขาวคุ้นเคยกับเราเร็วที่สุด” “เราจะได้คำตอบจริงแท้แค่ไหน” ท้ายสุดไปจบที่คำถามว่า “ข้อมูลที่ได้จะถูกใจอาจารย์ที่ปรึกษาหรือไม่”
บอกตามตรงว่า ความรู้สึกเป็นห่วงจากคนที่กรุงเทพมหานคร 108 ประการต่อความปลอดภัยของเรา ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกกังวลแม้แต่เสี้ยวนาที คาถาก่อนออกจากบ้านให้พระแม่ธรณีคุ้มครองที่แม่หนูเพื่อนรักมอบให้ในวันเลี้ยงส่งก่อนลงพื้นที่ยังซุกอยู่ก้นกระเป๋าสตางค์ที่เดิม แต่หนังสือ “คนใน ประสบการณ์จากภาคสนาม” กลับเป็นคาถาคู่กายที่ติดไว้ในเป้สะพายตลอดเวลา และถูกหยิบอ่านทุกคืนก่อนนอนเพื่อสนทนาแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันระหว่างข้อมูลของปรมาจารย์ด้านมานุษยวิทยากับนักศึกษาทางด้านมานุษวิทยามือใหม่อย่างเรา วงสนทนาเริ่มต้นทุกค่ำคืนก่อนนอนในช่วงเดือนแรกของการมาอยู่ที่บ้านทรายขาว ความรู้สึกคาใจต่อเหตุการณ์ตลอดทั้งวันที่เจอ ไม่ว่าคำพูด กิริยาหรือแม้แต่สายตา ถูกคลายปมไม่มากก็น้อย ทำให้เรารู้สึกว่ามีเพื่อนคู่คิด ช่วยตอบปัญหาที่เจอโดยเฉพาะปฎิกิริยาจากคนทรายขาว(คนใน)ที่มีต่อคนแปลกหน้า(คนนอก)อย่างเรา
3 เดือนต่อมา คู่สนทนาก่อนนอนของเรากลายเป็น “หลวงปู่ทวด” จากความต้องการที่เปลี่ยนไป “ขอให้หลวงปู่ทวดคุ้มครอง ให้แคล้วคลาด ปลอดภัย” ขณะเดียวกัน หนังสือ “คนใน ประสบการณ์ภาคสนาม” ถูกเคลื่อนออกไปซุกอยู่ใต้กระเป๋าเดินทาง รูปปั้นหลวงปู่ทวดที่ได้มาจากคุณครูมาลี ครูโรงเรียนวัดทรายขาวถูกนำมาวางบนหัวเตียงแทนที่
สัญญะ กับ ความหมายของคนทรายขาว
“จาโก๊ย มั้ย จาโก๊ย”
“จาโก๊ย มั้ย จาโก๊ย” วันนี้ครบรอบ 1 สัปดาห์พอดีที่เราถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาด้วยเสียงรถเครื่อง(มอเตอร์ไซด์) พร้อมกับเสียงตะโกนคำข้างต้นโดยไม่รู้ความหมาย แต่กลายเป็นสัญญาณสำหรับคนนอกอย่างเราไปโดยอัตโนมัติว่า “เช้าแล้ว ตื่นได้แล้ว”
เช้าแรกที่บ้านทรายขาว เราสะดุ้งตกใจตื่นเพราะเสียง “จาโก๊ย มั้ย จาโก๊ย” ตกใจเพราะคิดว่ามีเรื่องอะไร แต่วันนี้เราตื่นขึ้นมาพร้อมกับธนบัตรใบละ 20 บาทเพื่อเตรียมซื้ออาหารสำหรับมื้อเช้านี้กับพี่สาวเจ้าของเสียง “จาโก๊ย มั้ย จาโก๊ย” ที่มาพร้อมกับ ปาท่องโก๋ ข้าวเหนียวสังขยา ขนมครก ข้าวผัดกะเพราไก่ไข่ดาว ข้าวมันไก่ ซาลาเปา และอื่นๆอีกมากมายที่สลับสับเปลี่ยนบ้างในแต่ละเช้า
คนพุทธทรายขาวทุกคนรู้จักพี่สาวเจ้าของเสียงตะโกนนี้เป็นอย่างดี และดูเหมือนว่าทุกคนจะเป็นลูกค้าอาหารมื้อเช้าในเวลาเร่งรีบที่เพิ่งกลับจากการกรีดยางและเตรียมตัวลูกๆหลานๆไปโรงเรียน
ด้วยอาชีพหลักของคนทรายขาวคือ ทำสวนยางพารา ดังนั้นวิถีชีวิตยามเช้าจึงเต็มไปด้วยความวุ่นวายกับการหารายได้ที่วันนี้ราคาน้ำยางแตะไปที่ราคาหลักร้อยบาทต่อกิโลกรัม ด้วยการลุกขึ้นมากรีดน้ำยางตั้งแต่ตีหนึ่งพร้อมอุปกรณ์เครื่องมือที่ขาดไม่ได้คือ ไฟฉายส่องไฟที่หัวและมีดกรีดน้ำยาง และอุปกรณ์เสริมในยามนี้คือ “ปืนพก” ที่เหน็บอยู่ข้างเอว เสียง “โก๊ย มั้ย โก๊ย” จึงเป็นเสียงที่แม่บ้านรอคอยเพื่อเติมท้องให้อิ่มสำหรับครอบครัวเช้าวันนี้ หลังการกรีดยาง
เช่นเดียวกับคนนอกอย่างเราเริ่มเรียนรู้ นอกจากคนทรายขาวจะฝากท้องยามเช้าไว้กับพี่สาว“จาโก๊ย มั้ย จาโก๊ย” แล้ว ร้านข้าวยำบ้านใหญ่แหล่งรวมอาหารมื้อเช้าที่ทั้งคนมุสลิมและคนพุทธบางส่วนฝากท้อง ที่มีตั้งแต่ ข้าวยำ ข้าวมันไก่ ข้าวหมกไก่ ผัดเส้นก๋วยเตี๋ยว ขณะที่ผู้ชายมุสลิมหลังจากเสร็จภารกิจกรีดยาง ทำละหมาด จะมานั่งวงเสวนายามเช้าที่ร้านน้ำชา ก่อนที่ทุกคนจะแยกย้ายกันไปเก็บและขายน้ำยาง
สัปดาห์แรก เราเรียนรู้ความหมายในการใช้ชีวิตว่า จะกินอย่างไร นอนอย่างไร ก่อนที่จะเรียนรู้ขั้นต่อไปว่า เราจะอยู่อย่างไรเพื่อเข้าใจคนทรายขาวว่า “เขาอยู่อย่างไร ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรง”
เสียงใบพัดเฮลิปคอปเตอร์ กับจินตนาการไร้ขอบเขต
“พรึ่บ พรึ่บ พรึ่บ พรึ่บ พรึ่บ” เสียงใบพัดเฮลิปคอปเตอร์บินอยู่เหนือน่านฟ้าเป็นที่รับรู้กันของคนทรายขาวว่า “เกิดเหตุการณ์” เราเริ่มเรียนรู้ความหมายนี้ หลังจากอยู่ในชุมชนทรายขาวได้ 3 เดือน และเลิกที่แหงนมองท้องฟ้า เมื่อได้ยินเสียงเฮลิปคอปเตอร์ ด้วยเพราะเริ่มคุ้นชินจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ต่างจากเสียงไก่ขันยามเช้าที่บอกถึงรุ่งอรุณของวันใหม่ที่เต็มไปด้วยความหวังที่รออยู่ข้างหน้า เพียงแต่ทุกครั้งได้ยินเสียงเฮลิปคอปเตอร์กลับเต็มไปด้วยความรู้สึกสิ้นหวังต่อความสงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้
เสียงเฮลิปคอปเตอร์ที่บินอยู่บนท้องฟ้าเป็นประจำตอนเช้าจนกลายเป็นความเคยชินของคนทรายขาวเช่นเดียวกับคนในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2547 แต่เมื่อไหร่ที่ได้ยินเสียงเฮลิปคอปเตอร์นอกเหนือจากเวลาปกติ ชาวบ้านเรียนรู้แล้วว่า 1. นายมา ไปส่งนาย 2.ระเบิดที่ไหนสักแห่ง
วันหนึ่งระหว่างนั่งคุยกับปู่ติ้นวัยกว่า 80 ปี ถึงเรื่องเล่าทรายขาว (ซึ่งมีชีวิตอยู่มา 3 ช่วงสมัยทรายขาวคือ สมัยพระครูสีแก้ว ผู้บุกเบิกน้ำตกทรายขาว พระอาจารย์นองผู้นำความเจริญมาสู่ทรายขาว และพระอาจารย์เพ็ง เจ้าอาวาสคนปัจจุบันที่อยู่ในยุควิกฤตของคนทรายขาว) เสียงเฮลิปคอปเตอร์ดังขึ้นบนท้องฟ้า แกเปรยออกมาอย่างเยาะหยันว่า “ระเบิดที่ไหลอีกหล่า” หลังจากนั้นประเด็นสนทนาเคลื่อนไปสู่เหตุการณ์ว่า “ฝากไปบอกคนกรุงเทพด้วยนะ ปล่อยให้มันเป็นแบบนี้แหละ เขาฆ่าเรา เราฆ่าเขา ฆ่ากันไปมาอย่างนี้ ใครกลัวก็ให้ย้ายออก เพราะหากคิดแก้ด้วยการแบ่งแยกดินแดน คนพุทธอยู่ยาก ถ้าจะแบ่งแยก ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตาทวดคงให้แยกไปแล้ว ทั้งๆที่มีป่วนมาตลอด เพียงแต่ว่าตอนนี้มันใหญ่โต เพราะคนของเขามากขึ้น จากอดีตคนไม่มากขนาดนี้ เพราะเขาปล่อยลูกออกมายั้วเยี้ย 8-9 คน ขณะที่คนพุทธเดี๋ยวนี้มีอย่างมาก 2 คน มีออกมา ปล่อย ไม่ได้เลี้ยงดูดี จนเกิดเรื่องราว คนมุสลิมเชื่อคนง่าย พอใครมาพูดอะไร บอกอะไรก็เชื่อ”
ป้าแต๋วที่กำลังสะลาวนกับการทำงานของตัวเองเงยหน้าขึ้นมาเสริมอย่างมีอารมณ์ว่า “เขาพยายามบอกว่าแผ่นดินของเขา แผ่นดินของเราต่างหาก มีหลักฐานตรงไหนที่เป็นแผ่นดินของเขา วันก่อนทีวีออกบอกว่าเสนอเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เขาก็ชนะสิ คนเขามากกว่าเราตั้งมาก”
การรับรู้กับความรุนแรง(ทางความรู้สึก)
เช้าวันหนึ่งระหว่างยืนเข้าแถวเคารพธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา ที่โรงเรียนวัดทรายขาว คุณครูเวียงเข้ามาเล่าเรื่องการพานักเรียนไปทัศนศึกษาที่วัดธรรมกายและอุทยานประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาว่า “ไปกรุงเทพเหมือนได้ปลดปล่อย อยู่ที่นี่แม้จะอุดมสมบูรณ์ สบายกายแต่ไม่สบายใจ ไม่สามารถวางใจได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้บอกว่าทรายขาวจะไม่มีอะไร แต่พี่ก็ไม่เคยวางใจ อยู่ปกติที่ไหน ดูสิ เดี๋ยวก็มีรถทหารวิ่งเข้ามาในโรงเรียนพกปืน เดี๋ยวก็มีรถถังมาวิ่ง ปกติที่ไหน น้องอย่าวางใจ ใครบอกว่าตรงนั้นไปได้ ตรงนี้ไปได้อย่าวางใจ ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดกับเรา”
คุณครูท่านนี้ปกติจะพูดน้อยมาก และไม่ค่อยคุยกับใคร โดยคุณครูทรายขาวท่านอื่นพูดให้ฟังว่า แกยังกระทบกระเทือนจิตใจจากการสูญเสียสามีที่ถูกยิงตายและราดน้ำมันเผาทั้งรถยนต์ สามีแกเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนที่ยะหา พอเกิดเรื่องแกทำเรื่องย้ายกลับบ้านเกิดมาอยู่ที่โรงเรียนวัดทรายขาว แต่เรื่องเกิดมาตั้งแต่ปี 2549 แต่ดูเหมือนแกยังทำใจไม่ได้ ครูคนหนึ่งเสริมว่า “ใครทำใจได้ ศพดำตัวหงิกหงอ และได้ยินเสียงปืนเต็ม 2 หู ตอนถูกยิง”
ครูเวียงยังระบายความรู้สึกถึงการไปเที่ยวกรุงเทพอีกว่า “ไปครั้งนี้ได้ไปอยุธยาไหว้พระ รู้สึกสบายใจ แต่พอกลับรถเริ่มเข้าเขตแถวสงขลา เริ่มมีด่านตั้ง เริ่มเครียด ความเครียดในชีวิตประจำวันกลับมา ไปกรุงเทพนั่งรถเหนื่อย แต่สบายใจ”
ก่อนที่เด็กนักเรียนจะเลิกแถวเดินเข้าชั้นเรียน ครูเวียงยังมาจับมือเราและบอกว่า “ได้ข่าวว่าถีบจักรยานไปสอนที่โรงเรียนปอเน๊าะเหรอ อย่าไปสอนเลย อันตราย แม้ว่าจะอยู่ในเขตบ้านเรา วางใจไม่ได้ มาเอามอเตอร์ไซด์ของพี่ไปใช้ได้นะ”
หลังการสนทนาวันนั้น ทำให้เรากลับมาทบทวนถึงบทบาทของตนเองมากขึ้นต่อการลงพื้นที่เก็บข้อมูล เราถามตัวเองหลายครั้งว่า “ไหนบอกว่าไม่มีอะไรที่นี่ แต่ทำไมมีแต่คนแวะเวียนมาถามเรื่องไปสอนที่ปอเน๊าะ ทำไมมีแต่คนมาบอกให้หยุดสอน” ความรู้สึกเริ่มกังวลมากขึ้น จากที่ไม่เคยวิตกกังวลถึงความปลอดภัยของตัวเอง ยิ่งเจอข้อเสนอจากน้าใจผู้เอื้อเฟื้อที่อยู่อาศัยในวันหนึ่งว่า “เอาปืนไว้ติดตัวไหม พี่มีหลายกระบอก”
คนพุทธทุกคนที่รู้จักพอมักคุ้นเริ่มเอ่ยปากถึงความปลอดภัยในการสอนที่โรงเรียนปอเน๊าะ ที่อยู่ห่างไกลจากวัดทรายขาว 3 กิโลเมตรที่ถือเป็นศูนย์ของตำบลทรายขาว แม้แต่เมื่อเล่าให้เด็กนักเรียนโรงเรียนวัดทรายขาวฟัง เด็กนักเรียนยังถามว่าอยู่ที่ไหน “ไกลไหม” เพราะไม่เคยไป คำถามว่า “ไม่กลัวเหรอ” เริ่มถูกถามถี่ขึ้น จนกลายเป็นคำถามที่ถูกถามประจำวัน
ดูเหมือนว่า “บ้านลำหยัง” พื้นที่หมู่ 6 ในตำบลทรายขาว และเป็นที่ตั้งของโรงเรียนปอเน๊าะจะกลายเป็นพื้นที่ห่างไกลจากความรู้สึกของคนไทยพุทธที่ทรายขาว
นึกถึงสายตาของเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เราได้เข้าไปสอนวิชาภาษาอังกฤษ ยอมรับว่า “กลัว” กับสายตานิ่งและจ้องมองเราทุกอิริยาบถในชั่วโมงแรกของการเรียนการสอน
เสียงคุณครูติ๋มที่ชวนเรามาสอนยังก้องอยู่ในโสตประสาทตลอดการสอนว่า “น้องสอนเฉพาะเนื้อหา อย่าพูดเรื่องใดๆทั้งสิ้น และไม่ต้องว่ากล่าวตักเตือนใดๆ เราไม่รู้เขาคิดอย่างไร ขนาดพี่สอนที่นี่มา 30 กว่าปี จนจะเกษียณ หลังเกิดเหตุการณ์ พี่ไม่กล้าสอนเรื่องจริยธรรม คุณธรรม เพราะเด็กพวกนี้เงียบมาก ไม่เคยแสดงความคิดเห็นอะไร แตกต่างจากเด็กรุ่นก่อนๆที่พี่สอน ยังดุด่าว่ากล่าวได้”
จนถึงวันนี้ความรู้สึกเริ่มเปลี่ยนไปจากคำตอบที่หนักแน่น 99 เปอร์เซ็นต์ก่อนลงพื้นที่ภาคสนามว่าไม่กลัว พร้อมข้ออ้างหลักฐานเชิงสถิติว่าไม่เคยเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นในพื้นที่ทรายขาว แต่วันนี้หากถูกตั้งคำถามเดียวกัน คำตอบเริ่มเปลี่ยนไปว่ากลัว 100 เปอร์เซ็นต์พร้อมใจที่หวั่นไหวอยู่ภายใน เป็นความรู้สึกที่ก่อตัวขึ้นโดยไม่รู้ตัว จากสิ่งที่เห็นแต่ไม่เท่ากับสิ่งที่ได้ยิน และความรู้สึกที่สัมผัส
การรับรู้ (perception) จากปากคน คนแล้วคนเล่า ตอกย้ำซ้ำๆกัน(reproduce) วันแล้ววันเล่า ก่อให้เกิดความรู้สึกใหม่ทดแทนจาก “ปลอดภัย” เป็น “ไม่ปลอดภัย” ที่เกิดจากการตีความหมายจากการรับรู้และที่สำคัญคือการสัมผัสกับชีวิตความเป็นอยู่ วงจรชีวิตของคนไทยพุทธและไทยมุสลิมดูช่างห่างไกลกันเหลือเกิน บนพื้นที่ที่ถูกประทับตราว่า “สมานฉันท์” จะต่างอะไรกับคนทรายขาวที่รับรู้เหตุการณ์ทั้งจากการบอกเล่าปากต่อปาก ข่าวลือที่เต็มกระจายอยู่ทั่วพื้นที่และการรับรู้ข่าวเหตุการณ์ผ่านสื่อโทรทัศน์ทุกค่ำคืน จะไม่สั่นสะเทือนความทรงจำร่วมของคนทรายขาวหรือ เหล่านี้คือคำถามที่ต้องการคำตอบ
[2] เราในงานเขียนชิ้นนี้หมายถึง ผู้เขียน ที่ต้องการเขียนในรูปแบบเล่าเรื่อง โดยผู้เขียนจะใช้สรรพนาม เรา แทนตัวผู้เขียนตลอดทั้งเรื่อง โดยงานชิ้นนี้เขียนในระยะ 3 เดือนแรกที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่ จึงเป็นงานในลักษณะของการตั้งคำถามกับสิ่งที่ได้เห็น ได้ยินและได้สัมผัส ขอขอบคุณศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์และอ.ดร.สายพิณ ศุพุทธมงคล อาจารย์ที่ปรึกษาสำหรับคำแนะนำในการมองและการตีความขอขอบคุณคนทรายขาวทุกคนสำหรับความมีน้ำใจตลอดกว่าหนึ่งปีของการเก็บข้อมูลในพื้นที่ตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานีและหากมีข้อผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอน้อมรับในความผิดพลาดทั้งหมดเพียงผู้เดียว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น