อัญชลิตา สุวรรณะชฎ
“มัสยิด” ตามนิยามความหมายของพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 มีความหมายว่า สถานที่ซึ่งมุสลิมใช้ประกอบศาสนกิจโดยจะต้องมีละหมาดวันศุกร์เป็นปกติ และเป็นสถานที่สอนศาสนาอิสลาม หรือ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 “มัสยิด” หมายถึง สถานที่ก้มกราบเคารพภักดีแด่อัลลอฮฺ สอดคล้องตามความหมายในคัมภีร์อัลกุรอานที่บัญญัติว่า “ศาสนสถานทั้งหลายที่ใช้เคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ เป็นของอัลลอฮฺ และจงอย่าวิงวอนผู้ใดเคียงคู่กับอัลลอฮฺ” (อัลกุรอาน 72: 18) “มัสยิด” จึงไม่ใช่เป็นเพียงศาสนสถาน หรือสถานที่ประกอบศาสนกิจของชาวมุสลิมเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของชาวมุสลิม และเป็นศูนย์กลางในการยึดโยงวิถีชิวิต ศรัทธา ความเชื่อ วัฒนธรรม และความเป็นปึกแผ่นของชุมชนมุสลิม ดังความเชื่อที่ว่า “ชุมชน มัสยิด และสุสาน” เป็นเรือนร่างเดียวกัน มัสยิดทุกแห่งในโลกเปรียบเสมือน “บ้านของอัลลอยฮฺ”
“มัสยิดต้นสน” เป็นมัสยิดที่มีความสำคัญยิ่งแห่งหนึ่งในบรรดามัสยิดต่างๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชาวมุสลิมในกรุงเทพมหานคร และเป็นมัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพมหานคร สร้างมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาและดำรงความสำคัญในฐานะศูนย์กลางชุมชนมุสลิมในเขตคลองบางกอกใหญ่ยาวนานกว่า 400 ปี โดยมัสยิดแห่งนี้เป็นสถานที่ที่สะท้อนวิถีชีวิต สังคม วัฒนธรรมความเชื่อ เป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นสัญลักษณ์ของชุมชนมุสลิม ทำหน้าที่ยึดโยงความดำรงอยู่ของชุมชนให้มั่นคง ดังที่ชาวมุสลิมที่มัสยิดต้นสน หรือ “ชาวต้นสน” กล่าวว่า “ชีวิตของมุสลิมย่อมผูกพันอยู่กับมัสยิด เพราะมัสยิดมีความสำคัญต่อชีวิตมุสลิมเป็นเอนกนับตั้งแต่เกิดมาจนถึงบั้นปลายของชีวิต ดังนั้น มัสยิดจึงเป็นสัญลักษณ์ของอิสลาม มีมัสยิดอยู่ที่ใด ก็ต้องเข้าใจว่ามีมุสลิมอยู่ ณ ที่นั้น” (ชาวต้นสน 2518: 1) จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. 2546 กรุงเทพมหานครได้เวนคืนที่ดินบริเวณมัสยิดต้นสน เพื่อก่อสร้างสะพานอนุทินสวัสดิ์และตัดถนนอรุณอัมรินทร์ตัดใหม่ ตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานครสู่เมืองน่าอยู่ ทำให้ชาวมุสลิมจำนวนหลายร้อยครอบครัวที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ต้องอพยพออกไป จนในปัจจุบันเหลือเพียง 6 ครอบครัว
จากการศึกษาภาคสนามของผู้วิจัย ในเบื้องต้นพบว่า แม้ลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชุมชนมุสลิมแบบดั้งเดิมถูกทำลายไป แต่ยังมีมุสลิมจำนวนมากที่เรียกตัวเองว่าเป็น “ชาวต้นสน” และดำรงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับ “มัสยิดต้นสน” ถึงแม้จะมิได้พักอาศัยอยู่ในพื้นที่รอบมัสยิดก็ตาม สภาพการณ์ดังกล่าว จึงทำให้ผู้วิจัยสนใจศึกษาบทบาทหน้าที่ของมัสยิดต้นสนที่มีต่อชาวต้นสน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทหน้าที่ทางสังคม
เปิดพื้นที่มัสยิดต้นสน
“มัสยิดต้นสน” ตั้งอยู่บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร “มัสยิด” หันหน้าไปทางคลองบางกอกใหญ่ ด้านตะวันออกอยู่ติดกับวัดหงส์รัตนาราม มีคลองวัดหงส์รัตนารามกั้น คลองวัดหงส์รัตนารามเป็นคลองขุดสมัยกรุงธนบุรี เพื่อแบ่งพื้นที่ชุมชนต่างๆ ให้เป็นที่ชัดเจน ต่อมา น.ต. พระลักษมณา (หล่า ชลายนเดชะ) สร้างสะพานรบีอุสซานี ข้ามคลองวัดหงส์รัตนารามขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2471 เพื่อใช้เป็นทางสัญจรของผู้คนในชุมชนโดยรอบ ด้านตะวันตกติดกับวัดท้ายตลาดหรือวัดโมลีโลกยาราม โดยมีแนวคูเมืองเดิมสมัยกรุงธนบุรีกั้น
พื้นที่บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ในอดีตนั้น มีกลุ่มชนต่างชาติกลุ่มหนึ่งที่มีวัฒนธรรม และจารีตประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ ได้ก่อร่างสร้างชุมชนมาพร้อมๆ กับการตั้งเมืองบางกอก และดำรงวัฒนธรรมกลุ่มชนของตนสืบต่อมาจวบจนปัจจุบัน สันนิษฐานว่าแต่แรกน่าจะเป็นการรวมตัวของมุสลิมเชื้อสายจามที่เข้ามาเป็นกองอาสาต่างชาติในสมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราช (พ.ศ. 2077-2111) ซึ่งเป็นช่วงของการเกณฑ์แรงงานอาสาต่างชาติเพื่อการศึกสงครามและบูรณะประเทศ โดยเฉพาะการขุดคลองลัดบางกอกในปี พ.ศ. 2085 เพื่อเชื่อมระหว่างคลองบางกอกน้อยและคลองบางกอกใหญ่ จึงทำให้มีชุมชนมุสลิมอยู่ในบริเวณท้ายป้อมเมืองบางกอกหรือป้อมวิชัยประสิทธิ์ในปัจจุบัน ชุมชนแห่งนี้จึงมีประวัติศาสตร์อันยาวนานร่วม 400 ปี เรียกกันว่า “ชุมชนบางกอก”
ชาวต้นสนในอดีตและปัจจุบัน
หลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในพุทธศักราช 2310 ความเสียหายที่เกิดขึ้นเกินกว่าจะบูรณะกลับคืนดังเดิม สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา “กรุงธนบุรี” ขึ้นเป็นเมืองหลวงศูนย์กลางการปกครอง สถานที่ตั้งพระราชวังอยู่บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ใกล้ป้อมวิชัยประสิทธิ์ ทำให้ชุมชนมัสยิดต้นสนอยู่ไม่ห่างจากพระราชวังนัก เปรียบเสมือนมัสยิดต้นสนตั้งอยู่ในเขตศูนย์กลางของราชธานีแห่งใหม่ จึงมีประชาชนโดยเฉพาะชาวมุสลิมอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณมัสยิดเพิ่มขึ้น ชุมชนมัสยิดต้นสนในขณะนั้นจึงคลาคล่ำไปด้วยผู้คน มีการประดับโคมไฟในบริเวณมัสยิดและตามทางเดิน มีร้านค้าขายอาหารและขนม ตั้งเรียงรายจากหน้าวัดหงส์รัตนารามถึงวัดโมลีโลกยาราม ทำให้พื้นที่ของอาคารมัสยิดไม่สามารถรองรับจำนวนคนที่ทำการสักการะพระผู้เป็นเจ้า (นมาซ) จึงจำเป็นต้องขยายพื้นที่ของมัสยิดออกไป
ชุมชนมุสลิมที่อาศัยอยู่ในบริเวณมัสยิดต้นสนนั้นนิยมอยู่ตามเรือนแพ ซึ่งมีลักษณะเป็นเรือนไทยหนึ่งหรือสองหลังปลูกซ้อนกันเรียงรายไปตามสองฝั่งคลอง นับตั้งแต่บริเวณหน้าวัดโมลีโลกยารามไปจนถึงบริเวณหน้าวัดหงส์รัตนารามและฝั่งตรงข้าม ชาวแขกแพเหล่านั้นมีอาชีพค้าขายเป็นหลัก ขายสินค้าในเรือนแพของตน โดยมีผู้ซื้อพายเรือมาซื้อของที่เรือนแพ และใช้เรือพายไปขายสินค้าตามชุมชนต่าง ๆ อาทิ ลูกผักชี ยี่หร่า ลูกกะวาน กานพลู ผ้าแพรพรรณ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผ้าที่มาจากประเทศอินเดียและถ้วยโถโอชามต่าง ๆ (ภัทระ คาน 2550: 132)
จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. 2546 กรุงเทพมหานครได้เวนคืนที่ดินบริเวณมัสยิดต้นสน เพื่อก่อสร้างสะพานอนุทินสวัสดิ์และตัดถนนอรุณอัมรินทร์ตัดใหม่ ตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานครสู่เมืองน่าอยู่ ทำให้ชาวมุสลิมจำนวนหลายร้อยครอบครัวที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ต้องอพยพออกไป ปัจจุบันมุสลิมทุกคนที่เข้ามาใช้สถานที่มัสยิดต้นสนในการละหมาดหรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่มัสยิดแห่งนี้ จะเรียกตัวเองว่า “ชาวต้นสน” เพื่อดำรงความเป็นชุมชนมุสลิมแห่งนี้ไว้ ด้วยความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของพื้นที่มัสยิดต้นสนและเชื้อสายบรรพชนมุสลิมที่สืบทอดกันมา
“ชาวต้นสน” ในปัจจุบันจึงหมายถึงชาวมุสลิมทุกคนที่เข้ามาละหมาดที่มัสยิดต้นสน ไม่ได้นับเฉพาะชาวไทยมุสลิมที่อาศัยอยู่ในบริเวณมัสยิดต้นสนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น สัปปุรุษ และลูกหลานบรรพชนมุสลิมที่ฝังร่างไว้ที่กุบูรมัสยิดต้นสน ตลอดจนครู นักเรียน ที่ศูนย์อบรมศาสนาอิสลามและจริยธรรมมัสยิดต้นสน และชาวมุสลิมที่ทำงานอยู่ในบริเวณใกล้เคียง (กองทัพเรือในพระราชวังเดิม) ที่เข้ามาละหมาดที่มัสยิดต้นสนเป็นประจำทุกวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการทหารเรือ ที่ทำงานอยู่ที่กรมอู่ทหารเรือ ฐานทัพเรือกรุงเทพฯ กรมสารวัตรทหารเรือ ฯลฯ
ข้อมูลข้างต้น คือ ข้อมูลที่ผู้วิจัยได้จากการศึกษาบันทึกและเอกสารซึ่งยืนยันถึงความเจริญรุ่งเรืองของชุมชนมุสลิมมัสยิดต้นสนในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนมุสลิมที่สำคัญแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันบันทึกหรือข้อมูลประวัติศาสตร์ของชุมชนมัสยิดต้นสนขาดตอนไป ส่วนสำคัญหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ชุมชนมุสลิมมัสยิดต้นสนได้รับผลกระทบอย่างยิ่งจากนโยบายการพัฒนาของรัฐตามระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ใช้หลักการภูมิเศรษฐศาสตร์และสถาปัตยกรรมผังเมือง ที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตประจำวันและวัฒนธรรมของผู้คนในพื้นที่แห่งนี้ การพัฒนาตามแนวทางของรัฐทำให้พื้นที่อยู่อาศัยแปรสภาพไปโดยการเวนคืนที่ดิน เพื่อสร้างสะพานและถนนตัดใหม่
มัสยิดกับชีวิตประจำวัน
นอกจากการทำหน้าที่ตามบทบัญญัติทางศาสนาแล้ว มัสยิดต้นสนยังมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของชาวต้นสนตั้งแต่เกิดจนตาย เนื่องจากศาสดามุฮัมหมัดได้วางแบบอย่างการปฏิบัติของมุสลิมไว้ในโอกาสต่างๆ เช่น เด็กเกิด ชายหญิงแต่งงานกัน คนตาย ฯลฯ ทำให้เกิดค่านิยมของมุสลิมที่จะอาศัยมัสยิดในการดำเนินกิจกรรมเหล่านั้นเพื่อป้องกันความผิดพลาด แม้ว่าตามบัญญัติศาสนาแล้ว สามารถทำด้วยตนเองได้ก็ตาม
จุดเริ่มต้นของชีวิต การได้ทารกไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ถือเป็นความโปรดปรานของพระเจ้า ดังนั้น มุสลิมจะต้องขอบคุณอัลลอฮฺที่ได้ประทานของขวัญอันทรงคุณค่าให้และมุสลิมมีหน้าที่จะต้องดูแลรักษาของขวัญที่มีชีวิตนี้ให้ดีที่สุด การปฏิบัติต่อบุตรแรกเกิด จึงเป็นพิธีกรรมแรกของชีวิตที่เริ่มต้นการผูกพันกับมัสยิด และเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความยินดีที่ได้ของขวัญนั้น ตามที่ท่านนะบีห์มุฮัมหมัดได้วางแบบอย่างการปฏิบัติไว้
การปฏิบัติต่อบุตรแรกเกิด โดยกล่าวขอบคุณอัลลอฮฺ กล่าวคำอะซาน การพามาที่มัสยิด เพื่อทำอะกีเก๊าะฮฺ และให้อิหม่ามตั้งชื่อมุสลิมให้นั้น เป็นประเพณีที่ดีงามของชาวไทยมุสลิมที่สืบทอดมาแต่โบราณตามคติชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่นที่ยึดถือปฏิบัติสืบเป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน แต่เป็นสัจธรรมหรือธรรมนูญแห่งชีวิตตามหลักการศาสนาอิสลาม (ประพนธ์ เรืองณรงค์ 2527: 1-2) แม้ประเพณีบางอย่างอาจได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์หรือศาสนาพุทธ เช่น การโกนผมไฟ ที่เคยมีปรากฏ จึงเป็นหน้าที่หนึ่งของมัสยิดที่จะต้องเป็นสถานที่สำคัญในการสืบทอดประเพณีตามคติชาวบ้านไว้
รากฐานของสังคม อิสลามถือว่าการแต่งงาน (นิก๊าฮฺ) เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตครอบครัว ซึ่งเป็นรากฐานของสังคมและอารยธรรมที่มนุษย์จะต้องสร้างและดำรงรักษา ดังนั้น อิสลามจึงให้ความสำคัญกับเรื่องครอบครัวเป็นอย่างมากและวางมาตรการต่างๆ เพื่อรักษาชีวิตครอบครัวให้มั่นคงยาวนานมากที่สุด ก่อนเข้าสู่พิธีแต่งงานมีเงื่อนไขสำคัญที่จะต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนเสียก่อน
พิธีการแต่งงานในอิสลามเป็นไปอย่างเรียบง่ายตามหลักการอิสลาม การทำพิธีที่มัสยิดเป็นสิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยท่านศาสดา แต่ไม่ได้เป็นข้อบัญญัติว่าต้องทำที่มัสยิด โดยปกติพิธีจะเริ่มต้นด้วยการอ่านพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าจากคัมภีร์อัลกุรอาน เพื่อความจำเริญของพิธีแต่งงาน ต่อจากนั้นจะมีการกล่าวคำเทศนา เพื่อเป็นการให้คำแนะนำในการดำเนินชีวิตแก่คู่บ่าวสาว ขณะดียวกันก็เป็นการตักเตือนและให้ข้อคิดแก่ผู้มาร่วมงาน หลังจากนั้นเป็นการกล่าวคำเสนอและคำตอบรับ จึงเป็นอันเสร็จพิธี
ในปัจจุบันการทำพิธีแต่งงานของชาวมุสลิมที่มัสยิดคงเป็นเรื่องของความสะดวกในการใช้สถานที่มัสยิดทำพิธีและจัดงานเลี้ยงฉลองตามแต่ละท้องถิ่น เช่น ชาวไทยมุสลิมในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เจ้าบ่าวและผู้ใหญ่จะมาทำพิธีที่บ้านเจ้าสาว เมื่อเจ้าสาวยินยอมแต่งงานแล้ว บิดาเจ้าสาวจะมอบภารกิจการแต่งงาน (วอแก) ให้อิหม่าม เมื่ออิหม่ามรับวอแกแล้ว จะเรียกเจ้าบ่าวเจ้าสาว และพยาน 2 คน พร้อมด้วยผู้จดบันทึกหลัก แล้วจึงมีการเลี้ยงอาหารในตอนค่ำ (ประพนธ์ เรืองณรงค์ 2527: 26-27) ขั้นตอนรับวอแกนี้ดูเหมือนอิหม่ามจะทำหน้าที่เช่นเดียวกับนายอำเภอทำการจดทะเบียนสมรสให้คู่บ่าวสาว
สำหรับชาวต้นสนนิยมมาทำพิธีและจัดงานเลี้ยงฉลองที่มัสยิด เพราะสามารถใช้อาคารเอนกประสงค์เป็นสถานที่จัดงานเลี้ยงได้อย่างสะดวกสบาย ขณะเดียวกันยังเป็นสถานที่ทำงานของอิหม่ามที่เกี่ยวกับงานประเพณีนิยมต่างๆ ของชาวต้นสนในเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตตามวิถีชีวิตประจำวันตั้งแต่เกิดจนตาย ทำให้เห็นว่ามัสยิดต้นสนได้ทำหน้าที่เชื่อมโยงทั้งพิธีกรรมทางศาสนา ศรัทธา และคติความเชื่อของสังคมมุสลิมไว้อย่างแน่นแฟ้น สร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงให้กับสังคมมุสลิมแห่งนี้
สถานที่เดินทางกลับสู่พระเจ้า ตามความเชื่อของมุสลิม การตายคือการกลับไปสู่พระเจ้า จึงไม่ใช่เรื่องเศร้าโศก แต่เป็นการเดินทางกลับไปหาพระเจ้าเพื่อรอการประทานชีวิตใหม่อีกครั้ง ตามบาปบุญหรือความชั่วความดีที่สะสมไว้ในขณะที่มีชีวิตอยู่ เมื่อได้รับข่าวการตายหรือมีการตายเกิดขึ้นหรือได้รับเคราะห์กรรม มุสลิมจะไม่ส่งเสียงร้องไห้คร่ำครวญหรือตีโพยตีพาย แต่จะต้องยอมรับความจริงด้วยความสงบและกล่าวว่า “อินนาลิลลาฮิวะอินนาอิลัยฮิรอญิอูน” (แท้จริง เราเป็นของอัลลอฮฺ และยังพระองค์ที่เราต้องกลับไป) เพราะอัลลอฮฺทรงกล่าวว่า “ทุกชีวิตจะต้องได้ลิ้มรสความตาย” ท่านนะบีห์มุฮัมหมัดได้กล่าวว่า เมื่อมนุษย์จบชีวิตลงบนโลกนี้ การงานของเขาเป็นอันสิ้นสุดลง มีเพียง 3 สิ่งที่ติดตัวเขาไป นั่นคือ ศาสนกิจที่เขาทำไว้ วิทยาทานและกุศลทานที่เขาจะได้รับผลบุญอย่างต่อเนื่อง และลูกที่ดีขอพรให้ ชาวมุสลิมทั้งหลาย โดยเฉพาะชายชาวมุสลิม จึงให้ความสำคัญกับการละหมาดที่มัสยิดวันละ 5 เวลา และการละหมาดประจำวันศุกร์ ทั้งนี้ เพื่อให้อัลลอฮฺโปรดปรานเมื่อเขาจากโลกนี้แล้วกลับคืนไปสู่อัลลอฮฺ
ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าชีวิตประจำวันของชาวมุสลิมมีความเกี่ยวพันกับมัสยิดตั้งแต่เกิดจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต การปฏิบัติต่อเด็กแรกเกิด และการตั้งชื่อมุสลิม เป็นประเพณีที่ดีงามของชาวไทยมุสลิมที่สืบทอดมา หรือแม้แต่ประเพณีการโกนผมไฟที่ไม่ได้มาจากบทบัญญัติของอิสลาม แต่ถือเป็นหน้าที่หนึ่งในการสืบทอดประเพณีตามคติชาวบ้าน เช่นเดียวกับพิธีการแต่งงานที่มัสยิด ก็ไม่ได้เป็นข้อบัญญัติของอิสลาม หากแต่เป็นสิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยท่านศาสดามุฮัมหมัด มัสยิดก็อำนวยความสะดวกในการทำพิธี เป็นพยาน บันทึกการสมรส ตลอดจนให้ใช้เป็นสถานที่จัดงานเลี้ยงฉลองแต่งงาน การใช้มัสยิดต้นสนตามประเพณีนิยมต่างๆ ของชาวต้นสน ทำให้มัสยิดต้นสนเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงทั้งพิธีกรรมทางศาสนาและชีวิตประจำวันของชาวมุสลิมจำนวนไม่น้อยไว้ด้วยกัน เกิดเป็นความผูกพันอย่างแน่นแฟ้น มีการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของมัสยิดเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง อันนับได้ว่าเป็นการสร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงให้กับสังคมมุสลิมแห่งนี้
อ้างอิง
บทความนี้ เป็นส่วนหนึ่งจากรายงานวิชาวิจัยภาคสนาม (สห. 844) โครงการปริญญาเอกสหวิทยาการ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคการศึกษาที่ 2/2552 ซึ่งเพื่อนๆ นักศึกษาสหวิทยาการการ รุ่นที่ 8 ได้ช่วยวิพากษ์วิจารณ์จนงานชิ้นนี้สำเร็จลงด้วยดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเอื้อเฟื้อของ "มัสยิดต้นสน" และ "ชาวต้นสน" ที่ผู้เขียนต้องขอขอบคุณไว้ ณ โอกาสนี้
ชาวต้นสน. (2518). การสร้างมัสยิด, ประวัติมัสยิดต้นสน. กรุงเทพฯ: ไชยวัฒน์.
ภัทระ คาน. (2550). วันวาร 3 สมัย ณ มัสยิดต้นสน, วารสารอักษรศาสตร์ ปีที 36 ฉบับที่ 1 มกราคม - มิถุนายน 2550. น. 129-132.
ประพนธ์ เรืองณรงค์. (2527). สมบัติไทยมุสลิมภาคใต้: การศึกษาคติชาวบ้านไทยมุสลิม จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส. ปัตตานี: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น