โดย วุฒิพล วุฒิวรพงศ์
ภาพยนตร์การ์ตูนชุดเซาท์พาร์คเป็นการ์ตูนซีรี่ส์ที่มีมานานในสื่อหลายชาติภาษา วัฒนธรรม ปัจจุบันกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่15 ผลิตผลงานออกมากว่าสองร้อยตอน มีเนื้อหาแฝงแนวคิดเสรีนิยมที่เล่าเรื่องสวนแรงเสียดทานในสังคมอเมริกันได้อย่างมีสีสัน บทความนี้เสนอการศึกษาเนื้อหาส่วนที่เกี่ยวกับศาสนาของชุดภาพยนต์ในปีที่1-11 ซึ่งน่าจะทำให้เห็นภาพคร่าวๆของแนวคิดแบบเสรีนิยมอเมริกันใหม่ส่วนหนึ่งต่อศาสนา และขอบเขตอันกว้างขวางของการ ”ล้อเลียน” ต่อศาสนาในสื่อสาธารณะ
ภาพยนตร์การ์ตูนชุดเซาท์พาร์คสร้างโดยชาวอเมริกันสองคนคือ Randolph Severn “Trey” Parker III ศึกษาระดับอุดมศึกษาทางดนตรีที่ Berklee College of Music ในเมือง Boston มลรัฐ Massachusetts ก่อนที่จะย้ายกลับมาเรียนที่ University of Colorado แต่ไม่ได้เรียนจนจบ ซึ่งที่นี่ทำให้ Parker ได้พบกับผู้ร่วมสร้างคนคือ Matthew Richard “Matt” Stone ซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีทางคณิตศาสตร์และภาพยนตร์ โดยทั้งสองได้ร่วมงานทางละคร ภาพยนตร์และเคยตั้งวงดนตรีชื่อ DVDA[1] ร่วมกันมาก่อน ทั้งสองมีพื้นเพเดิมอยู่ในมลรัฐ Colorado ซึ่งได้กลายมาเป็นเมืองสมมติชื่อว่า South Park ขึ้นมาเป็นฉากหลักในเรื่อง โดยมีตัวละครหลักคือเด็กชั้นประถมต้น สี่คนคือ Stan Marsh (แสตน มาร์ช) Kyle Broflovski (คายล์ บราวาสกี) ซึ่งจะผลัดกันเป็นตัวละครนำ และอีกสองคน คือ Eric Cartman (เอริค คาร์ทแมน) และ Kenny McCormick (เคนนี่ แมคคอร์มิค)
ภาพที่ 1 - Eric Cartman คาร์ทแมน, Kyle Broflovski คายล์, Stan Marsh สแตน,
และ Kenny McCormick เคนนี่ (ตามลำดับ)
แสตนเป็นเด็กที่ดูจะตรงไปตรงมาและมีความรู้สึกนึกคิดเหมือนวิญญูชนทั่วไปที่สุดในเรื่อง พ่อและแม่ของแสตนคือ Randy และ Sharon Marsh อีกทั้งมีพี่สาวคือ Shelly ซึ่งได้ชื่อมาจากพ่อแม่และพี่สาวจริงๆของ Parker ซึ่งในเรื่องแสตนจะต้องเผชิญกับเรื่องต่างๆทั้งในครอบครัวที่เกิดจากความเปิ่นไม่รู้เรื่องและอ่อนไหวของพ่อแม่ หรือความโมโหร้ายของพี่สาว อีกยังปู่ที่มีชีวิตอยู่บนรถเข็นซึ่งเป็นตัวเดินเรื่องของคนชราในสังคม นอกจากนี้ส่วนใหญ่ยังต้องมีเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นกับแสตนและเพื่อนๆทั้งชั้นเรียนให้ต้องเผชิญโดยตลอด
คายล์มีครอบครัวเป็นชาวยิว โดยเฉพาะมีแม่ที่ดูจะเคร่งครัดและจุ้นจ้านและพ่อที่เป็นทนายความ โดยทั้งพ่อและแม่ Gerald และ Sheila ก็ได้ชื่อมาจากพ่อแม่จริงของ Stone คายล์จะมีบุคลิกที่เฉลียวฉลาดมีวุฒิภาวะตรรกระยึดติดกับความเป็นจริง คายล์ยังมีน้องชายบุญธรรมเชื้อสายแคนาเดียนชื่อ Ike อยู่ชั้นอนุบาล คายล์มักถูกนำมาเป็นตัวดำเนินเรื่องเกี่ยวกับชาวยิวทั่วไป ในเรื่องผู้สร้างจะนำเอาเอริคมาจับคู่ความคิดชนกับตัวละครอื่นๆ ซึ่งบ่อยครั้งคือคายล์และจะล้อเรื่องเชื้อชาติความเป็นยิวของคายล์ตรงๆ[2] ทั้งคายล์และแสตนเป็นตัวแทนที่ผู้สร้างใช้เสนอความคิดเห็นในกรอบอุดมคติของผู้สร้างเองในตอนท้ายเรื่อง ซึ่งผู้ชมที่ไม่สนใจประเด็นวิพากษ์แต่ชมเพื่อความบันเทิงอาจรับสารโดยตรงเช่นนี้ได้ การคลี่คลายมุมความคิดที่พยายามแฝงไว้ตลอดตอนที่โครงเรื่องอาจจะหักเหไปมาด้วยตัวละครสองคนนี้เหมือนจะเป็นโครงสร้างเนื้อเรื่องมาตรฐานที่พบได้บ่อยแต่ก็ไม่ใช่ทุกตอนที่บางครั้งอาจมีการหักมุม แต่ก็ทำให้สามารถมองเห็นจุดยืนทางความหมายและคุณค่าของผู้สร้างได้ชัดเจนและตรงไปตรงมามากขึ้น
เอริค คาร์ทแมน เป็นตัวละครที่มีผู้ชมชื่นชอบไม่น้อยไปกว่าสองคนแรกรวมถึงตัวผู้สร้างทั้งสองเองที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้เช่นกัน ด้วยบุคลิกที่ฉลาดแกมโกง มีไหวพริบในทางเจ้าเล่ห์เพทุบาย เอริคเป็นเด็กเจ้าเนื้อมีแม่ที่ตามใจอีกยังมักจะมีปมต่างๆทางจิตและความสับสนในบุคลิกภาพเป็นครั้งคราว บทสนทนาระหว่างเอริคและแม่เป็นบทสนทนาที่อ้อนออดสุภาพอ่อนหวานซึ่งมีความลักลั่นกับพื้นภูมิหลายอย่างของทั้งสองคนที่เผยออกมาเรื่อยๆตั้งแต่ในช่วงปีแรกๆ การดำเนินเรื่องหลายครั้งจะเริ่มที่เอริคเป็นตัวเปิดประเด็น และใช้สื่อบุคลิกด้านลบของผู้คนในแบบต่างๆ
เคนนี่ แมคคอร์มิค มักพูดเสียงอู้อี้อยู่ใต้ผ้าคลุมหัวในเสื้อกันหนาวสีส้มอันเป็นจุดเด่น เคนนี่ดูเป็นตัวละครที่ไม่มีบทบาทมากนักในเชิงเนื้อหาในการดำเนินเรื่อง แต่เคนนี่ในเชิงสัญลักษณ์เป็นเด็กที่อยู่ในครอบครัวชนผิวขาวชั้นล่างมีฐานะยากจน พร้อมจะทำทุกเรื่องที่มีคนท้าและเสนอเงินให้ เคนนี่ยังเป็นตัวแทนของคนที่จะโชคร้ายในเรื่องต่างๆในท้ายที่สุด เคนนี่จะมีบทที่ทำให้ต้องตายอย่างน่าอนาถปนขบขันในแทบทุกตอนจนกลายเป็นเหมือนเอกลักษณ์ของรายการที่หลายคนจะเฝ้าดูว่าจะตายให้พิสดารอย่างไร แต่ในทุกการเริ่มต้นของทุกตอนใหม่เคนนี่จะกลับมาเป็นมีชีวิตเป็นปรกติ ยกเว้นอยู่ช่วงหนึ่งในตอนที่13ของปีที่5 ชื่อตอนว่า “Kenny Dies” ที่เคนนี่ต้องตายไปเพื่อให้ Leopold “Butters” Stotch (บัตเตอร์) เข้ามาเป็นลูกไล่ของเอริคและเด็กคนอื่นๆแทน แต่อย่างไรก็ตามในปลายปีที่6ของรายการ เคนนี่ก็กลับมาเกิดใหม่และมีบทที่จะต้องตายน้อยครั้งกว่าช่วงปีแรกๆซึ่งอาจเป็นเพราะความหลากหลายของเนื้อหาและตัวละครที่มีให้เลือกใช้ดำเนินเรื่องมากขึ้นตามอายุและประสบการณ์ของรายการ
เซาท์พาร์คเป็นชื่อเมืองที่ถูกสมมติขึ้นให้อยู่ในมลรัฐโคโลราโด ผู้สร้างเคยแต่งเพลงโหมโรงเปิดฉากในหนังภาพยนตร์ที่ฉายในปี1999ชื่อ South Park: Bigger, Longer and Uncut ซึ่งใช้พรรณาลักษณะของเมืองว่ามีตอนหนึ่งความว่า it’s a quiet little red-neck Podunk white-trash U.S.A. ดังที่ลักษณะตัวละครจำนวนหนึ่งที่ไม่มีบทสำคัญจะพูดสำเนียงคล้ายคนท้องถิ่นทางแถบใต้ของสหรัฐอเมริกาทั่วไป เสียงดนตรีที่ใช้ประกอบในการเปลี่ยนฉากก็เป็นเสียงเบนโจ ซึ่งก็สื่อตรงไปตรงมาถึงลักษณะเมืองเล็กๆทั่วไปในประเทศสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะเมืองที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาวชั้นล่างๆของสังคมอเมริกันในทางตอนในของทวีป อากาศหนาวเย็นปกคลุมด้วยหิมะ เหมือนในเกือบทุกตอนที่จะเห็นหิมะเป็นพื้นหลัง (background) จะยกเว้นในฉากหลังในบางส่วนที่มีความสำคัญกับเรื่องนอกจากที่เป็นพื้นหน้า (foreground) ก็จะให้สีสันตามหลักการทางทัศนศิลป์พื้นฐาน แต่ในความเป็นพื้นฐานก็ได้สะท้อนลักษณะทางสถาปัตย์กรรมและผังเมืองแบบชนบทอเมริกัน คือเรียบง่าย มีถนนผ่านกลางชุมชน บ้านเรือนเป็นบ้านเดี่ยวทรงเรียบๆ อยู่กระจายออกมาจากเมือง (suburb) คนมีฐานะปรกติในเรื่องก็จะอยู่ในบ้านสองชั้น มีโรงรถแยกติดกับบ้าน แต่ครอบครัวที่ฐานะด้อยลงมาอย่างเคนนี่ก็จะอยู่ในบ้านชั้นเดียว เครื่องมือในการผลิตงานนี้ทั้งฉากและตัวละครจะดูคล้ายกับสร้างด้วยรูปแบบเทคนิคกระดาษตัด (Paper cut-out animation) แต่ในความเป็นจริงงานตั้งแต่เกือบจะชิ้นแรกๆถูกผลิตด้วยคอมพิวเตอร์กราฟฟิกเหมือนผลผลิตภาพยนตร์และการ์ตูนของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมปัจจุบันทั่วไปD[3]D คุณค่าในเชิงสุนทรียศาสตร์ของความเซาท์พาร์คแม้ในระนาบงานแบบเดียวกันอาจดูด้อยไปกว่างานคอมพิวเตอร์กราฟฟิกทั่วไปในปัจจุบันที่มีความละเอียดละออมากกว่าอย่างเห็นได้เด่นชัด แต่ความที่เป็นการสร้างงานบนตัวเทคนิคภาพยนตร์จากกระดาษตัดซึ่งเป็นเทคนิคการสร้างภาพยนตร์การ์ตูนเคลื่อนไหวสองมิติกว่าๆD[4]Dในยุคก่อนหน้าที่เริ่มตายไปพร้อมการเข้ามาของยุคคอมพิวเตอร์กราฟฟิกก็ทำให้เราได้ย้อนคิดถึงงานภาพยนตร์ที่สร้างจากหุ่นปั้นดินเหนียว (clay model) ที่ทำให้ศิลปินสามารถสร้างจินตนาการแบบสามมิติเหนือจริงได้ในสมัยก่อน ซึ่งก็ดูเหมือนจะไม่ทำให้ผู้ชมในวัยที่ผู้สร้างต้องการสื่อสารด้วยเห็นเป็นของตกยุคตกสมัยไปมากนักและเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของเซาท์พาร์คไปแล้ว
องค์ประกอบทางประชากรที่หลากหลายจนเรียกได้ว่าครบทุกชาติพันธุ์ที่มีอยู่ในสังคมอเมริกันโดยรวม ดังที่มักถูกเรียกว่าเป็น “Melting pot” หรือ “เบ้าหลอมทางวัฒนธรรม” ทำให้มีกลุ่มชาติพันธุ์ วัฒนธรรมที่หลากหลาย ซึ่งในเซาท์พาร์คจะมีกลวิธีหลักอย่างหนึ่งที่จะจับเอาความคิดแบบอเมริกันชนผิวขาวในเซาท์พาร์คมาปะทะกับผู้คนจากชุดวัฒนธรรมและอัตลักษณ์อื่น (cultures and identities) ไม่ว่าจะเป็นพวกคนผิวดำ คนยิว หรือคนเชื้อชาติจีน อินเดีย หรืออาหรับ หรืออาจเป็นเพศสภาวะอื่นๆ เช่น เกย์ เลสเบี้ยน พวกแปลงเพศ (Lesbian, Gay, Bisexual, and Transgender - LBGT)
ลำพังเพียงชุดโครงความคิดหลักของเรื่องในฐานะเป็นบทประพันธ์อย่างหนึ่งก็คงไม่ได้ทำให้เซาท์พาร์คดึงตัวเองออกมาจากระนาบเดียวกันกับงานสุขนาฏกรรมเสียดสีล้อเลียนอื่นมากนักเพราะต่างก็มีความเชื่อมโยงในชุดคุณค่าและจิตวิญญาณของศิลปินผู้สร้างในแบบเดียวกัน ซี่งจะได้อธิบายเชื่อมโยงรายละเอียดที่ต่อเนื่องมาจากงานเนื้อหาเดียวกันในยุคก่อนหน้าในส่วนต่อไป แต่ว่าในความเป็นภาพยนตร์การ์ตูนได้ขยายกรอบจำกัดจินตนาการของศิลปินผู้สร้างให้สามารถนำเสนอลักษณะทางกายภาพ(ฉาก)และตัวละคร(เนื้อหานำเสนอ)และที่สำคัญคือโครงสร้าง (plot) ไปได้ในระดับเหนือจริงมากๆ (surrealistic) เหมือนดั่งที่ภาพวาดสื่อความบางอย่างได้มากกว่าภาพถ่ายหรือวรรณกรรมและกล้องโทรทัศน์กับเทคโนโลยีทำให้ศิลปินทำงานได้กว้างมากขึ้น ในส่วนเนื้อหาการที่เป็นการ์ตูนทำให้เซาท์พาร์คมีอิสระทางจินตนาการในการนำเสนอได้หลากบุคลิกลักษณะ ดังเห็นได้จากที่เซาท์พาร์คจะมีตัวละครที่มีลักษณะเด่นทางอัตลักษณ์ซึ่งไม่จำกัดแค่เพียงเป็นชาติพันธุ์ต่างๆ แต่รวมไปถึงดาราคนดัง คนพิการ พวกมีอาการจิตเภท หรือตัวละครประหลาดเหนือมนุษย์จากจินตนาการให้ได้เข้ามามีส่วนในการดำเนินเรื่อง ด้วยความต่อเนื่องยาวนานของชุดการ์ตูนเซาท์พาร์คทำให้มีตัวละครที่มีเอกลักษณ์เป็นที่รู้จักเกิดขึ้นมากมายมากพอๆกับโครงเรื่องและเนื้อหา มุขตลกเสียดสีครอบคลุมเกือบทุกเรื่องที่เป็นที่สนใจของผู้ชมและสังคมในวงกว้าง
การวิเคราะห์วิจารณ์เซาท์พาร์คส่วนมากจะทำได้ง่ายจากในเนื้อหารายตอนซึ่งออกอากาศแต่ละสัปดาห์ แต่ในภาพรวมนั้นต้องกล่าวก่อนเล็กน้อยว่าผู้สร้างเซาท์พาร์คเหมือนในผู้ชมที่ผ่านช่วงปี1975ในสหรัฐอเมริกาบางส่วนที่ได้ชมรายการตลกจากฝั่งอังกฤษของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า Monty Python หรือ The Pythons[5] ซึ่งมีรายการตลกล้อเลียนที่ใช้ทั้งการแสดงและการ์ตูนเคลื่อนไหวด้วยเทคนิคกระดาษตัดนี้แทรกอยู่ และยังมีภาพยนตร์เนื้อหาล้อเลียนตำนานประสูติพระเยซูเจ้าอยู่ด้วย แนวทางการสร้างโครงเรื่องของเซาท์พาร์คที่เห็นจะมีอยู่สามแนวทาง คือ 1) การหยิบเอาโครงเรื่องจากภาพยนตร์หรือรายการทางโทรทัศน์ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปมาผูกด้วยเรื่องที่เกิดได้ราวปาฏิหารย์ในเซาท์พาร์ค หลายตอนที่เป็นวิจารณ์หรือตอบกับภาพยนตร์ด้วย เช่น ตอน “The Passion of the Jew” ซึ่งล้อภาพยนตร์เรื่อง The Passion of Christ ของ Mel Gibson ในหลายแง่มุมอย่างน่าสนใจเช่น เน้นฉากที่Gibsonถูกทรมาณในบทของพระเยซูในเรื่อง หรือการพยายามชี้โทษไปที่คนยิว หรือตอนที่ชื่อว่า Scott Tenorman Must Die ที่ตั้งชื่อล้อภาพยนตร์ต่อสู้เรื่อง Romeo Must Die แต่เนื้อเรื่องจริงเป็นการแก้แค้นที่พลิกปมไปมาของเอริค คาร์ทแมน ที่ทำโดยวางแผนให้คู่อริกินเนื้อของพ่อแม่ตัวเองเข้าไป ซึ่งเค้าโครงจะคล้ายบทละครโศกนาฏกรรมเรื่อง Titus Andronicus ของ William Shakespeare 2) การใช้เหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น ทั้งที่เป็นข่าวและเป็นเรื่องปรกติแต่เป็นที่สนใจของสังคม เช่น เรื่องภาวะโลกร้อนที่เซาท์พาร์คแปลงเรื่องว่านายอัล กอร์พยายามบอกคนว่ามีสัตว์ประหลาดเรียกว่า Man-bear-pig คือมีลักษณะผสมของมนุษย์ หมีและหมูอยู่ แต่คนก็ไม่เชื่อ แต่สุดท้ายก็มีตัวละครลักษณ่ะเช่นนั้นออกมา 3) การผูกโครงเรื่องจากจินตนาการโดยนำหลายเหตุการณ์เข้ามาต่อกัน โดยทั้งสามแนวทางจะมีการแทรกมุขตลกและเรื่องราวอื่นๆเข้ามาจนทำให้การดำเนินเรื่องไม่เป็นเส้นตรงต่อเนื่องเสียทีเดียว มุขตลกจะทำด้วยการขยายตรรกะให้สุดโต่งด้วยอารมณ์ขัน ทั้งผ่านทางคำพูดและการสร้างภาพของตัวละครออกมา เช่น การใช้นักมายากลที่มีชื่อเสียงมาแทนตัว L. Ron Hubbard ศาสดาของลัทธิ Scientology เพื่อสื่อคุณค่าที่ผู้สร้างมอง การเน้นและดึงอัตลักษณ์พื้นฐาน หรือ stereotype ก็เป็นอีกเครื่องมือที่ใช้มากในเซาท์พาร์คแบบในการ์ตูนทั้งหลาย ทั้งจากอัตลักษณ์ทางกายภาพ ภาษาพูด หรือใช้สัญลักษณ์ต่างๆ แต่เซาท์พาร์คจะทำในเนื้อหาต้องห้ามที่ผู้คนคิดไม่ถึงว่าจะเอามาล้อได้ตลอด และจุดนี้เป็นมักจะเป็นประเด็นที่ชวนให้คิดต่อไปได้อย่างน่าสนใจ
พระเจ้า ศาสนาและความเชื่อ: ศาสนทัศน์ในเซาท์พาร์ค
จากพื้นเพปูมหลังทางครอบครัวของ Parker ซึ่งเคยได้ให้สัมภาษณ์ว่าทางครอบครัวเชื่อในพุทธศาสนาในแบบของ Alan Watts ผู้เผยแพร่พุทธศาสนาชาวอังกฤษF[6]F อีกยังมี Stone ที่มีเชื้อชาติยิว บวกกับที่ทั้งสองที่อยู่ตอนในของทวีป อันเป็นถิ่นของคนขาวทางใต้ที่ขึ้นชื่อเรื่องความเคร่งครัดในคริสตศาสนา และอยู่ใกล้กับรัฐยูท่าห์ที่เป็นชุมชนใหญ่ของนิกายมอร์มอนหรือ Church of the Latter Day Saints ประกอบกับความขัดแย้งในเรื่องศาสนาและการเกิดลัทธิความเชื่อใหม่ๆในสภาวการณ์โลกปัจจุบันน่าจะส่งอิทธิพลให้เซาท์พาร์คเต็มไปด้วยเรื่องราวของศาสนาและความเชื่อต่างๆ
ในช่วงก่อตัวทางความคิดและการแสดงออกในช่วงแรกๆที่ผู้สร้างเซาท์พาร์คได้เริ่มเซ็นต์สัญญาการผลิตภาพยนตร์เรื่องนี้จากตอนสั้นๆที่ยังไม่เป็นเซาท์พาร์คคือ The Spirit of Christmas: Jesus Vs. Frosty และ Jesus Vs. Santa ซึ่งโครงเรื่องก็คือการนำประเด็นที่ว่ามีสัญลักษณ์ต่างๆที่มนุษย์ปัจจุบันนำมาใช้เฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาส คือ หุ่นตุ๊กตาหิมะ (Frosty) และซานตาคลอสในหน้าตาอันเป็นเอกลักษณ์ที่สร้างโดย Thomas NastD บิดาของวงการการ์ตูนล้อเลียนอเมริกัน[7]D และบริษัท Coca-Cola กระพือกระแสสัญญะชุดสีขาวแดงนี้ในช่วงปี 1930 ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เซาท์พาร์คทำให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่เป็นองค์ประกอบทางวัฒนธรรมใหม่ของการเฉลิมฉลองวันประสูติของพระเยซูบุตรแห่งพระเจ้า และสร้างพระเยซูในการ์ตูนของParkerและStoneให้เข้ามาทะเลาะด้วยเหตุว่าสัญลักษณ์ใหม่เหล่านี้ได้มาขโมยความสำคัญไปจากพระองค์ด้วยฉากการต่อสู้ที่ตลกขบขัน แต่ก็จบลงด้วยมุมสร้างสรรค์ด้วยเด็กๆที่เป็นเหมือนตัวแทนของผู้คนในปัจจุบันที่มองเห็นเทศการเฉลิมฉลองนี้เป็นของมนุษย์ที่มีการให้ของขวัญซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนสนิทในเทศกาล และทั้งพระเยซูและซานตาคลอสในเรื่องก็จับมือกันและยอมรับในความคิดของเด็กๆเหล่านั้น
ในความเป็นชุดความคิดเสียดสีล้อเลียนของเซาท์พาร์ค การยอมรับในความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าผ่านพระบุตรถูกท้าทายด้วยการทำให้พระเยซูกลายมาเป็นตัวละครที่มีลักษณะเป็นเหมือนบุคคลธรรมดา ในบ่อยครั้งอำนาจพิเศษเหมือนอย่างในพระคัมภีร์ไบเบิลที่มีบ้างก็ไม่ได้ช่วยให้เรื่องราวดีขึ้น หรือในบางทีก็ไม่มีเอาเสียเลย พระเยซูในเรื่องถูกนำมาสื่อแทนความเชื่อและนักบวชในคริสตศาสนาสมัยใหม่ในสังคมอเมริกัน ตัวอย่างเช่นในที่มีรายการโทรทัศน์ตอบคำถามต่างๆ มีผู้สนับสนุนรายการและการปรับรูปแบบรายการเพื่อต่อสู้แย่งชิงผู้ชม หรือในตอนที่ออกแพร่ภาพช่วงก่อนเทศกาลคริสต์มาสปี1999 พระเยซูซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายการได้ร้องเพลงคู่กับซานตาคลอสในบาร์ท้องถิ่น
ภาพที่ 2 พระเยซูในเรื่องเซาท์พาร์ค ในรายการเผยแพร่ศาสนาทางโทรทัศน์ (Televangelical program) ชื่อ Jesus and Pals
การท้าทายความศักดิ์สิทธิ์ที่ควรเทิดทูนของทั้งพระเจ้าและพระบุตรได้ถูกนำเสนอออกมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในเทศกาลนี้ เช่น ในปี1998 เซาท์พาร์คได้เกิดปัญหาว่าสื่อที่ใช้เฉลิมฉลองเทศกาลมีเนื้อหาที่บีบคั้นผู้ที่มีความเชื่ออื่นโดยแม่ Sheila แม่ของ Kyle ได้ออกมารณรงค์ให้หาสัญลักษณ์ใหม่สำหรับการเฉลิมฉลองและพยายามกำจัดสัญลักษณ์ต่างๆที่คุกคามความเชื่ออื่นๆไม่ว่าจะเป็นการแสดงเรื่องวันพระประสูติกาลของพระคริสต์ หรือต้นสนคริสต์มาส Kyle ซึ่งได้รับการเปิดเผยตัวของ Mr. Hankey ซึ่งเป็นก้อนอุจจาระในทุกๆปีของเทศกาลพยายามทำใหคนเชื่อว่า Mr. Hankey มีชีวิตอยู่จริงๆและมีคุณประโยชน์ ซึ่งล้อเลียนการเปิดเผยพระวัจนะ (Christian Revelation) โดยที่แรกๆยังไม่มีผู้เชื่อตามแต่เห็นว่า Kyle เป็นโรคจิตและนำส่งไปโรงพยาบาล แต่ภายหลังเมื่อผู้คนในเซาท์พาร์คได้ประจักษ์ถึงอัศจรรย์นั้นก็ยอมรับ Mr. Hankey เป็นสัญลักษณ์ของเทศกาลที่เป็นกลางไม่คุกคามความเชื่อใดๆD[8]
ในปี2000 ที่มีกระแสการเฉลิมฉลองสหัสวรรษใหม่เซาท์พาร์คก็ก้าวไปอีกขั้นหนึ่งด้วยการล้อเลียนพระเจ้าโดยตรงในตอนที่ชื่อว่า “Are you there God? It’s me, Jesus” โดยให้ผู้คนในเซาท์พาร์คไปคาดคั้นพระเยซูซึ่งมีบ้านพักอยู่ในเซาท์พาร์คให้พระเจ้าออกมาเผยตัวและตอบปัญหาของมนุษย์ชาติ ซึ่งเป็นเรื่องน่าหนักใจในทางศาสนาเพราะตลอดมาความมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า (The Existence of God) ก็เป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญของคริสตศาสนาที่พยายามถกเถียงอธิบายกันมา พระเยซูในเซาท์พาร์คด้วยความจำใจก็ต้องรับคำสัญญาแบบขายผ้าเอาหน้ารอดว่าพระเจ้าจะมาเผยตัว ทั้งที่ไม่รู้ว่าจะทำได้ โดยประกาศจะจัดงานในลาสเวกัสและเชิญ Rod Steward มาแสดงเปิดงานหวังว่าคนจะชอบและผ่านเรื่องนี้ไป แต่ในท้ายที่สุดจนเกิดจราจลจากผู้คนที่คาดหวัง และพระเจ้าก็เปิดเผยตัวมาสร้างความตกตะลึงให้กับผู้คนด้วยรูปลักษณ์ที่เป็นลักษณะต่างๆของสัตว์มาผสมกันดังในภาพที่3
ภาพที่ 3 พระเจ้าในเซาท์พาร์ค
การเปิดเผยรูปลักษณ์ของพระเจ้าในสภาพซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ในคริสตศาสนาที่มีการใช้ภาพสัญลักษณ์อย่างมีรูปแบบ ทำให้เกิดการหลอมรวมทางความรับรู้เกี่ยวกับภาพลักษณ์ของพระผู้เป็นเจ้าว่ามักเป็นรูปของแสงสว่างหรือรัศมีเปล่าๆหากจะ หรือในภาพวาดของในสมัยหลังก็เป็นรูปชายชราผมและหนวดเคราสีขาว ได้เปิดประเด็นความสงสัยต่อผู้คนที่นับถือตลอดมา ว่าพระเป็นเจ้าจริงแท้แล้วมีลักษณะอย่างไร ทั้งที่ศาสนจักรสร้างภาพของพระเยซู พระแม่มารีและเทวดาต่างๆได้ แต่ไม่ใช่พระเจ้าหรือพระจิตเจ้าซึ่งยอมรับอย่างปริยายว่าไม่มีรูปร่าง ซึ่งจะว่าไปในหลายศาสนาก็จะมีการจินตนาการพระเจ้าที่น่าเทิดทูนแต่ในที่นี้ที่กลับพระเจ้ามาอยู่ในสภาพที่รวมเอาลักษณะของสิ่งที่ผู้คนไม่ให้คุณค่าแบบเช่นนั้นก็ทำให้คิดถึงประเด็นนี้ได้เช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามผู้สร้างเซาท์พาร์คก็ไม่ได้ทำลายความหมายและคุณค่าที่ดีของศาสนาไปเสียทั้งหมด แต่ก็พยายามชี้ผ่านบทสนทนาตรงๆด้วยความคิดแบบมนุษย์นิยมว่ามนุษย์ต้องเผชิญปัญหาและแก้ไขด้วยตัวเอง ไม่ใช่คอยคาดหวังในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ
อีกตอนหนึ่งซึ่งย้ำความคิดแบบนี้คือตอน “Bloody Mary” ที่ออกอากาศในปี 2007 เป็นเรื่องที่ Randy Marsh พ่อของแสตนที่หันมาติดสุราแล้วเชื่อว่าตนเลิกสุราได้จากการไปอาบน้ำสีแดงที่ไหลออกมาจากบั้นท้ายของรูปปั้นลักษณะรูปปั้นพระแม่มารี แต่เมื่อพระสันตปาปาได้ไปตรวจสอบแล้วประกาศว่า ”ไม่เป็นเหตุอัศจรรย์” ก็ทำให้ Randy เกิดภาวะจิตตกหดหู่ขึ้นมาทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้เชื่อและกลับตัวได้
ไม่เพียงแต่ประเด็นทางปรัชญาศาสนา ประเด็นในวงการทางศาสนาร่วมสมัยก็เป็นเรื่องที่ผ่านเข้ามาในเซาท์พาร์ค ประเด็นใหญ่ที่มักตกเป็นเป้าเสียดสีของเซาท์พาร์คคือการใช้ศาสนาในการหาผลประโยชน์ในทางพานิชย์ เช่นในตอนที่ชื่อ “Starvin’ Marvin in Space” ล้อรายการโทรทัศน์ของโบสถ์ชื่อดังทั้งหลายในอเมริกาที่ใช้ในการเผยแพร่หาสมาชิกเข้าโบสถ์และระดมทุนซึ่งบางทีก็จะอ้างค่าใช้จ่ายในพันธกิจการกุศลในการช่วยเหลือคนจนในทวีปแอฟริกาโดยในเซาท์พาร์คทำให้รายการที่สมมติขึ้นมาขอบริจาคเงินพร้อมข้ออ้างไปเรื่อยๆเพื่อสร้างยานอวกาศออกไปเผยแพร่ศาสนาถึงนอกโลก นอกจากนี้ก็ยังมีลัทธิ Scientology ที่ก่อตั้งโดยนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ L. Ron Hubbard ซึ่งมีประเด็นอื้อฉาวอยู่ในสังคมอเมริกันเรื่องความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์นอกโลกที่ชื่อว่า Xenu (ซีนู) อีกยังเรื่องความเป็นองค์กรหาผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆและวิธีการจัดระบบสมาชิกD[9]D ซึ่งผู้สร้างเซาท์พาร์คได้โจมตี Church of Scientology และสาวกคนดังต่างอย่างต่อเนื่องในหลายตอน เช่นในตอนที่ชื่อว่า “Super Best Friends” ที่ออกอากาศในปี 2001 ที่จับเอาDavid Blain นักมายากลชื่อดัง (ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับลัทธินี้) มาผูกโครงเรื่องว่าตั้งองค์กร Blaintology เพื่อหาสมาชิกในแบบScientology แล้วมีเด็กๆในเซาท์พาร์คเข้าไปเป็นสมาชิก Blaintologyพยายามขู่ฆ่าตัวตายหมู่เพื่อให้สิทธิพิเศษทางภาษีและยกฐานะเป็นศาสนา แต่ว่าแสตนได้หนีออกมาขอร้องพระเยซู (ตอนกำลังจะอัดรายการของตัวเอง) ให้ช่วย ซึ่งก็ได้รวมตัวกับเล่าจื้อ พระพุทธเจ้า (Buddha) พระกฤษณะ ศาสดามูฮัมหมัด Joseph Smith ศาสดาของมอร์มอนหรือ Church of the Latter Day Saints และ Sea Man ที่เป็นยอดมนุษย์ที่สมมติขึ้นมาว่าทั้งหมดทำงานผดุงความยุติธรรมร่วมกันในองค์การ Super Best Friends ซึ่งก็คล้ายๆโครงเรื่องขององค์การยอดมนุษยในการ์ตูนอเมริกันของบริษัท Hanna-Barbera และขับไล่ Blain ไป
Figure 4 ภาพศาสดาของศาสนาต่างๆที่ดัดแปลงจากตัวการ์ตูนฮีโร่รุ่นก่อน
ภาพศาสดาของศาสนาอิสลามถูกเซ็นเซอร์ทีหลังเพราะมีประเด็นท้วงจากฝ่ายศาสนาอิสลาม
ภาพศาสดาของศาสนาอิสลามถูกเซ็นเซอร์ทีหลังเพราะมีประเด็นท้วงจากฝ่ายศาสนาอิสลาม
ไม่เพียงแต่คริสตศาสนาที่จะตกเป็นเป้าหมายของเซาท์พาร์คแต่แทบจะทุกๆศาสนาหลักที่เห็นได้ว่ามีศาสดาเป็นตัวละครอยู่ในเซาท์พาร์คก็จะถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์ส่วนความเชื่อที่ลักลั่นกับกรอบความคิดตามหลักตรรกะเหตุผลแบบประจักษ์นิยมในปัจจุบัน เช่นในตอน “All About Mormons” ที่ผู้สร้างเล่าเรื่อง The Book of Mormon ผ่านGaryและครอบครัวที่ย้ายมาอยู่ใหม่ในเซาท์พาร์ค และพยายามเป็นเพื่อนกับแสตนซึ่งไม่ชอบใจกับความเชื่อและลักษณะบุคลิกแบบ Mormon stereotype ของครอบครัว อีกยังแสดงออกในตอนท้ายถึงความไม่พอใจนั้น แต่ซึ่งในจุดนี้ทำให้เรามองเห็นทัศนคติต่อศาสนาที่น่าสนใจจาก Gary ที่บอกกับแสตนว่าเค้าแค่เพียงต้องการเป็นเพื่อนกับแสตนและแสตนไม่มีวุฒิภาวะพอให้มองข้ามประเด็นเรื่องความเชื่อและบุคลิกที่ถูกหล่อหลอมออกมาจากความเชื่อนั้นได้ ซึ่งเราจะเห็นมุมที่สะท้อนออกมาจากสังคมปัจจุบันนี้ที่มนุษย์ไม่อาจแยกเรื่องความเชื่อของปัจเจกที่อาจมีได้หลากหลายออกจากความสัมพันธ์ทางสังคม ที่มีระหว่างกันได้ ตัวปัจเจกต่างถูกครอบด้วยกรอบที่พร้อมจะสะท้อนความสับสนนี้ออกมาได้ตลอดแม้ในภาวะที่พระเจ้าและศาสนจักรจะปลดปล่อยมนุษย์ออกมาสู่สังคมเสรีประชาธิปไตยเพียงใดก็ตาม ความเชื่อที่เป็นแนวความคิดนามธรรมไม่เพียงแต่ในเชิงศาสนาเพียงอย่างเดียวอาจส่งอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ได้อย่างคาดไม่ถึงเสมอ
มุมมองทางศาสนาและรูปแบบที่เซาท์พาร์คเสนอออกมาอาจถือว่าค่อนข้างรุนแรงในส่วนที่เกี่ยวกับความเชื่อที่ขัดแย้งกับกรอบความคิดประจักษ์นิยมอันเป็นแบบแผนความรู้ของมนุษย์ในปัจจุบัน สิ่งที่ผู้สร้างเซาท์พาร์คยึดถือก็ไม่ได้ต่างไปจากสิ่งที่ปัญญาชนในกรอบอุดมศึกษาส่วนใหญ่ยึดถือ และไม่เพียงแต่ความเชื่อทางศาสนาของศาสนาหลักๆที่อยู่ในข่ายนี้ แต่ยังรวมไปถึงความเชื่อในอีกหลายๆแนวอื่นๆที่ได้เข้ามาอยู่ในเซาท์พาร์ค ในช่วงปีที่10ของรายการในตอนชื่อ “Go God Go” และ “Go God Go II” เซาท์พาร์คได้หยิบยกประเด็นเรื่อง Intelligent Design ที่เป็นคดีความในเมืองเดนเวอร์(Denver)รัฐโคโรลาโดเรื่องการสอน Evolution Theory (Evolutionism) ในโรงเรียนเพราะมีผู้พยายามจะเสนอให้สอนทฤษฏี Creationism ไปด้วยแต่ก็มีเสียงคัดค้านจากฝ่ายที่เห็นว่าควรแยกศาสนาออกจากระบบการศึกษาและปล่อยให้เป็นเรื่องของครอบครัวที่จะปฏิบัติหรือสมาทานแนวทางใด[10] ในโครงเรื่องตอนนี้ได้นำ Richard Dawkins ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์และผู้รณรงค์แนวทางอเทวนิยม (Atheism) อีกยังมีผลงานสื่อสารคดีและหนังสือต่อต้านความเชื่องมงายและความคิดหัวรุนแรงทางศาสนามาผูกเป็นเรื่องว่าปฏิบัติการสำเร็จด้วยการร่วมมือกับ Ms.Garrison ชายแปลงเพศในเรื่องซึ่งเป็นครูที่โรงเรียนประถมเซาท์พาร์คทำให้โลกห้าร้อยปีข้างหน้าไม่มีศาสนา มีแต่ผู้ยึดถือวิทยาศาสตร์เป็นสรณะ แต่ก็ยังมีบรรดาเหล่าผู้สมาทานแนวทางอเทวนิยมในอนาคตแบ่งฝ่ายประหัตถ์ประหารกันด้วยเรื่องว่าควรจะเรียกชื่อกลุ่มความเชื่อเดียวกันของพวกตนเองอย่างไร ซึ่งในตอนท้ายก็ได้ประเด็นสรุปจากบทสนทนาที่ว่า “There’s no one single answer, is ever the answer” อันแสดงความตั้งใจที่จะให้มีการเปิดกว้างสำหรับพื้นที่ให้ความเชื่อต่างๆด้วย
นอกจากนี้ในปี 2007 เซาท์พาร์คได้แพร่ภาพชุดไตรภาคต่อกันสามตอนที่ชื่อว่า “Imaginationland” โดยผูกโครงเรื่องว่าผู้ก่อการร้ายD[11]Dได้เข้ามายึดเมืองในจินตนาการที่รวมเอาตัวละครมากมายที่เกิดจากจินตนาการของมนุษย์ในหลายหลากความเชื่อและบริบทวัฒนธรรม รวมถึงที่เป็นผลผลิตจากอุตสาหกรรมวัฒนธรรม แต่ส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในบริบทของสังคมอเมริกัน ซึ่งเป็นการเสนอเอาชุดตัวละครมากมายซึ่งรวมเอาศาสดาหลายองค์เข้าไปด้วย ทั้งคริสต์ พุทธ และ ฮินดู ฯลฯ ว่าเป็นสิ่งที่อยู่ในจินตนาการและมนุษย์ต่างเข้าไปยึดถือเอาเป็นจริงเป็นจังจนทำให้เกิดเรื่องโกลาหล
ดังที่ผู้เขียนได้ศึกษาก็เห็นว่าเซาท์พาร์คมีการให้คุณค่าและวิพากษ์ศาสนาและความเชื่อต่างๆในประเด็นที่น่าสนใจและกล้าหาญ ในขณะเดียวกันสังคมและกลไกทางสังคมที่ปล่อยให้มีการแสดงความคิดเห็นได้นี้ยังต้องถือว่าเป็นกลไกที่เปิดกว้างอย่างน่าสนใจ การวิพากษ์ผ่านอารมณ์ขันเช่นนี้ยังช่วยลดความร้อนแรงของหลายประเด็น แต่อย่างไรก็ตามอารมณ์ขันก็อาจพรางความคิดคับแคบบางอย่างให้เข้ามาผ่านการสร้างเสียงหัวเราะต่อตัวละครที่โชคร้ายได้ การเสพสื่อในทุกสมัยจึงต้องมีสติและวิจารณญาณอยู่เสมอ
[1] ชื่อ DVDA นี้ ParkerและStone เคยกล่าวในสารคดีสัมภาษณ์ว่ามาจากคำว่า Double Vagina, Double Anal ซึ่งเป็นภาษาในวงการภาพยนตร์ผู้ใหญ่
[2] ในงานแสดงสดของ Lewis Black และรายการทางโทรทัศน์ The Daily Show ของ John Steward ซึ่งเป็นคนอเมริกันเชื้อสายยิวทั้งคู่ก็จะมีการใช้ความเป็นยิวของตัวเองมาเป็นมุขตลกอยู่บ่อยๆเช่นว่าตัวเขามีความสามารถจะชี้ประเด็นต่างที่เกี่ยวกับยิวหรือคัมภีร์ไบเบิลได้ดีกว่าคนอื่นๆที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องยิวอยู่ หรือเน้นการเรียกถึงชาวยิวทั่วว่า “my people” แล้วนำไปสู่มุขตลก
[3] ก่อนที่จะเริ่มออกอากาศเซาท์พาร์คทางระบบเครือข่าย ผู้สร้างเคยได้รับความสนใจจากเครือข่ายบันเทิงยักษ์ใหญ่ Fox ด้วยงานภาพยนต์การ์ตูนสั้นชื่อ The Spirit of Christmas: Jesus VS. Frosty และ Jesus VS. Santa ซึ่งใช้เทคนิคกระดาษตัดแล้วเปลี่ยนตัวละครและฉากไปทีละฉากทีละท่วงท่าการเคลื่อนไหวแล้วถ่ายด้วยกล้องวิดีโอ 8มม. (ข้อมูลจากสารคดี Goin’ Down to South Park)
[4] งานกระดาษตัดจะมีเงาของชั้นกระดาษตื้นๆให้เห็นแต่ไม่ได้สื่อมิติที่สามอย่างมีนัยสำคัญออกมา แต่เงาธรรมชาติที่เกิดขึ้นก็ช่วยไม่ทำให้ภาพสองมิติดูแบนเรียบไปเหมือนงานการ์ตูนที่วาดหลายชิ้น เซาท์พาร์คในตอนแรกๆที่ออกอากาศจะเห็นมีเงาแบบงานกระดาษตัดได้ชัด แต่จะหายไปพร้อม Computer Graphic (CG) ที่มีเพิ่มมามากขึ้นแทน ซึ่งเหมือนผู้สร้างจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเทคนิคมากเท่าเนื้อหาและภาษาที่ใช้
[5] Monty Pythons ผลิตงานชุด Monty Python’s The Flying Circus ออกแพร่ภาพในอังกฤษในช่วงปี 1969-1974 แล้วจึงข้ามไปแพร่ภาพในสหรัฐอเมริการในปี1975 ซึ่งน่าถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ต่อเนื่องจากยุคปี1960sที่ตลาดอุตสาหกรรมบันเทิงของอเมริกาได้เปิดรับอิทธิพลทางดนตรีจากฝั่งอังกฤษที่เรียกว่า British Invasion นอกจากนี้ The Pythons ยังมีงานภาพยนตร์เรื่อง Monty Python and the Holy Grail (1975) ที่ล้อตำนานกษัตร์อาเธอร์ (King Arthur) และเรื่อง Monty Python’s Life of Brian (1979) ซึ่งล้อเลียนเรื่องประวัติพระเยซูคริสตเจ้า ซึ่งน่าจะเป็นต้นความคิดของเซาท์พาร์คได้ชัดเจนในมุมมองเรื่องการเสียดสีพระเจ้า นอกจากนี้เรายังอาจเห็นการล้อเลียนวัฒนธรรมอื่นๆเช่นจีนและเยอรมันได้บ่อยๆจาก Monty Python แต่อย่างไรก็ตามอารมณ์ขันส่วนใหญ่ก็เป็นแบบตลกลึกด้วยภาษาแบบอังกฤษทั่วไปหรือเป็นการใช้ท่าทางอากัปกิริยาประหลาดกระตุ้นอารมณ์ขัน
[6] บทสัมภาษณ์โดย Nick Gillespie และ Jesse Walker จาก Reason Online (2006), South Park Libertarians, http://www.reason.com/news/show/116787.html (25 ตุลาคม 2551)
[7] Thomas Nast เป็นนักเขียนการ์ตูนในสื่อสิ่งพิมพ์สำคัญหลายเล่ม เช่น Harperและได้สร้างการ์ตูนล้อเลียนการเมืองที่แสบคันโดยเฉพาะที่จุดประเด็นล้อเลียนนาย William Tweed หรือ Boss Tweed ที่เป็นนายกเทศมนตรีของNew Yorkและมีพฤติกรรมฉ้อฉล จนนับได้ว่า Nast เป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการโค่นล้ม Tweed สัญลักษณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมอเมริกันก็ถูกสร้างโดยNast ทั้งช้างและลาที่เป็นสัญลักษณ์ในปัจจุบันของพรรค Republican และ Democrat
[8] อย่างไรก็ตามการเล่นกับอุจจาระหรือของสกปรก (Toilet humor, or scatological humor) นี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่ใหม่ซักที่เดียวในวงการบันเทิงในสหรัฐอเมริกา ภาพยนตร์เรื่อง Pink Flamingo ของ John Water ในปี1973 ซึ่งเป็นเรื่องที่ผูกเป็นเรื่องราวเหนือจริงของกระเทยแปลงเพศที่มีบุคลิกพิลึกพิลั่น ชื่อว่าา David Divine ก็ใช้ฉากจบที่ระบือลั่นโดยที่Divineไปหยิบอุจาระสุนัขสดๆมากิน ซึ่งในตอนหลัง John Water ได้ให้สัมภาษณ์ว่าเขาต้องการท้าทายความจำเจและระบบการควบคุมเนื้อหาในสื่อของสังคมอเมริกันในช่วงนั้น นอกจากนี้เซาท์พาร์คยังเคยเสนอตอน “It Hits the Fan” ที่ทำลายสถิติโลกในการเสนอคำว่า “shit” ที่เป็นหนึ่งในคำต้องห้ามในโทรทัศน์ทั่วไป และยังล้อเลียนด้วยการใช้คำหยาบและอื่นๆ (ซึ่งก็ใช้เป็นปรกติอยู่แล้ว)
George Carlin เคยเสนอสารคดีล้อเลียน (mockumentary หรือ pseudo-documentary) คล้ายรายการ “ภาษาไทยวันละคำ” ของไทย แต่มีมาก่อนโดยอธิบายคำต้องห้ามทั้งเจ็ดในโทรทัศน์อเมริกัน (The Seven Dirty Words) โดยใช้เงื่อนไขที่อธิบายรากศัพท์ ความหมายและวิธีใช้ในบริบทต่างๆใต้คราบวิชาการ ซึ่งนำไปสู่การฟ้องร้องในศาลระหว่าง Federal Communications Commission กับเครือข่ายที่ส่งสัญญาณทำให้ศาลมีคำตัดสินถึงที่สุดให้มีขอบเขตและเลี่ยงเวลาออกอากาศสำหรับบางเนื้อหา
[9] Church of Scientology มีองค์กรเป็นรูปบริษัทเอกชนซึ่งพยายามจะยกตัวเป็นศาสนาเพื่อสิทธิประโยชน์หลายอย่างทั้งทางสถานะและทากการเงิน ทางภาษี มีศูนย์อำนาจเรียกว่า Religious Technology Center แต่ว่าในแต่ละหน่วยงานท้องถิ่นจะเป็นรูปบริษัทเอกเทศ ซึ่งอาจพิจารณาได้ว่าเป็นหน่วยในระบบเครือข่าย (Franchisee)
[10] Creationism เป็นแนวทางที่เชื่อว่าสรรพสิ่งในจักรวาลสิ่งมีชิวิตมีผู้สร้างขึ้นมาซึ่งแย้งกับทฤษฎที่เชื่อว่ามีวิวัฒนาการมาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน แนวทางนี้เป็นเหมือนเป็นการเสนออย่างกลายๆว่าพระเจ้ามีอยู่และเป็นผู้สร้าง แต่ไม่เป็นที่ยอมรับได้ในทางวิทยาศาสตร์และนำมาสอนได้ในโรงเรียนเนื่องจากไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ กรณีนี้ก็คล้ายการท้าทายข้อเสนอเรื่องพระเจ้าในสมัยก่อนว่าถ้าพระเจ้ามีจริงแล้วไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นได้แล้ว ก็อาจมีกาน้ำชายักษ์อยู่นอกโลกก็ได้ หรือในปัจจุบันก็มีผู้ตั้งลัทธิล้อเลียนชื่อว่า Pastafarian หรือ Church of the Spaghetti Monster ที่ล้อเลียนว่ามีพระเจ้าของตนเป็นลูกชิ้นเนื้อสองก้อนพันด้วยเส้นสปาเกตตี้เป็นผู้สร้าง(Creator)เหมือนในกรณีที่คริสเตียนพยายามเสนอพระผู้เป็นเจ้าว่าเป็นผู้สร้างสรรพสิ่งแบบในคัมภีร์ไบเบิล ภาคปฐมกาล (Genesis)
[11] เรื่องผู้ก่อการร้ายได้กลายมาเป็นเรื่องขำขันในสังคมอเมริกันส่วนหนึ่งหลังจากความล้มเหลวในการค้นหาความเชื่อมโยงเรื่องผู้ก่อการร้ายและอาวุธชีวภาพอาณุภาพทำลายล้างสูงในอิรัค ซึ่งเกิดจากการขยายความข้อมูลลับด้วยจิตนาการของหน่วยข่าวกรองและถือเป็นความล้มเหลวสำคัญอย่างหนึ่งในการบริหารของรัฐบาลบุชที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อยู่ในช่วงหลังการยึดครองอิรัค
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น