วันศุกร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2554

เจิ้งเหอกับความเจริญของอาณาจักรมะละกาและยุคการค้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


สิทธิพล เครือรัฐติกาล

การเดินเรือของขันทีเจิ้งเหอ (郑和 Zheng He ค.ศ. 1371 – ค.ศ. 1433) ในสมัยราชวงศ์หมิง (明朝 ค.ศ. 1368 – ค.ศ. 1644) ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์จีน โดยในช่วงระยะเวลา 28 ปี นับจาก ค.ศ. 1405 ถึง ค.ศ. 1433 จักรพรรดิหย่งเล่อ (永乐) และจักรพรรดิเซวียนเต๋อ (宣德) ได้มีพระราชโองการให้เจิ้งเหอและคณะนำกองเรือขนาดใหญ่ออกไปท่องทะเลจีนใต้และมหาสมุทรอินเดียรวมกัน 7 ครั้ง และได้ติดต่อสัมพันธ์กับอาณาจักรต่างๆ ถึง 36 แห่ง การเดินเรือครั้งนั้นนอกจากจะขยายเกียรติภูมิและความยิ่งใหญ่ของจีนให้เป็นที่ประจักษ์ในวงกว้างแล้ว ยังถือว่ามีความสำคัญในประวัติศาสตร์การเดินเรือของโลกอีกด้วย เพราะการเดินเรือดังกล่าวเกิดขึ้นเกือบ 100 ปีก่อนที่มหาอำนาจตะวันตกอย่างโปรตุเกสจะสามารถเดินเรืออ้อมทวีปแอฟริกามายังอินเดียได้สำเร็จ ดังที่เอ็ดวิน โอ. ไรสเชอร์ (Edwin O. Reischauer) และจอห์น เค. แฟรแบงค์ (John K. Fairbank) นักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกศึกษาคนสำคัญของสหรัฐอเมริกาในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้ยกย่องว่าการเดินเรือของเจิ้งเหอถือเป็น “ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่” และ “ไม่เคยปรากฏมาก่อน” (ไรสเชอร์ และแฟรแบงค์, 2510, น. 644)

นอกจากจะเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์จีนแล้ว การเดินเรือของเจิ้งเหอยังมีความสำคัญต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย ดินแดนแห่งนี้มีปฏิสัมพันธ์กับจีนทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมมาเป็นเวลานานนับพันปีแล้ว ดังปรากฏหลักฐานการติดต่อในระบบบรรณาการระหว่างจีนกับอาณาจักรฟูนัน (Funan) บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 3 (ฮอลล์, 2549, น. 27-33) อิทธิพลทางการเมืองและวัฒนธรรมของจีนปรากฏชัดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป ดังกรณีของเวียดนามซึ่งตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีนตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 1 จนกระทั่งถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 10 ที่ราชวงศ์ถังล่มสลายลงและจีนเข้าสู่ยุคแห่งความแตกแยก เวียดนามจึงสามารถปลดแอกตนเองได้สำเร็จ แต่กระนั้นเวียดนามก็ยังคงรักษาความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการกับจีนและรับเอารูปแบบการปกครองตามลัทธิขงจื่อของจีนมาใช้ตราบจนถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 หรืออีกกรณีหนึ่งคือ พม่า ซึ่งการรุกรานของราชวงศ์หยวนได้นำไปสู่การล่มสลายของจักรวรรดิพุกาม (Bagan) ใน ค.ศ. 1287 กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า จีนเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อความเจริญและการล่มสลายของอาณาจักรต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นสมุทรก็เช่นกัน แม้ว่าจะมีที่ตั้งที่ห่างไกลจากจีนและได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมจีนน้อยกว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป หากแต่จีนก็ยังคงมีอิทธิพลต่อการเมืองและเศรษฐกิจในดินแดนแถบนี้ไม่น้อย การที่จีนเป็นอาณาจักรใหญ่ที่ผูกระบบบรรณาการเข้าไว้ด้วยกันกับการให้สิทธิพิเศษทางการค้าแก่รัฐบรรณาการ ทำให้อาณาจักรต่างๆ พากันแสวงหาการรับรองจากจีน ซึ่งจะช่วยให้อาณาจักรเหล่านั้นมีสถานะที่ได้เปรียบอาณาจักรข้างเคียงหรืออาณาจักรที่เป็นคู่แข่ง เห็นได้จากกรณีของอาณาจักรศรีวิชัย (Srivijaya) ที่ได้รับการรับรองจากจีนและกลายเป็นมหาอำนาจทางทะเลชั้นนำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 13 ดังที่ Milton Osborne ได้บรรยายไว้ในหนังสือของเขา ความว่า

ข้อเท็จจริงของการเป็นรัฐบรรณาการ แน่นอนว่า ย่อมเป็นเรื่องของการตกลงที่จะไม่กระทำการใดๆ เป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์ของจีน แต่สัมพันธภาพนี้ยังมีนัยอีกด้วยว่า จีนจะปกป้องผลประโยชน์ของรัฐบรรณาการของตนจากผู้ที่อาจจะลองดีด้วย สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับรัฐที่ทำการค้าอย่างศรีวิชัยคือ การได้รับการรับรองจากจีน ซึ่งก็เป็นไปพร้อมๆ กับการได้รับสถานภาพรัฐบรรณาการ สถานภาพนี้เชื่อมโยงกับสิทธิที่จะค้าขายกับจีนด้วย เมื่อจีนมอบสถานะดังกล่าวให้แก่ศรีวิชัย รัฐการค้าทางทะเลอื่นๆ ซึ่งเป็นคู่แข่งของศรีวิชัยจะตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบอย่างร้ายแรงทีเดียว (ออสบอร์น, 2544, น. 39)

เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 14 อาณาจักรศรีวิชัยได้เสื่อมสลายลงและถูกกลืนเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรมัชปาหิต (Majapahit) และในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ก็ได้เกิดอาณาจักรการค้าทางทะเลขึ้นมาใหม่ในบริเวณแหลมมลายู นั่นคือ มะละกา (Melaka) ซึ่งงานศึกษาของสุพัฒน์ ธัญญวิบูลย์ (2539) และ O. W. Wolters (1970) ได้ชี้ให้เห็นว่ากองเรือของเจิ้งเหอและการสนับสนุนจากราชวงศ์หมิงมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการเจริญเติบโตของอาณาจักรดังกล่าว

อาณาจักรมะละกาก่อตั้งขึ้นในต้นทศวรรษ 1400 โดยเจ้าชายปรเมศวร (Paramesvara) แห่งราชวงศ์เมืองปาเล็มบังบนเกาะสุมาตรา ผู้ซึ่งต้องการหนีจากอิทธิพลครอบงำของอาณาจักรมัชปาหิต ปัญหาสำคัญที่มะละกาต้องเผชิญมีสองประการ คือ (1) สภาพดินที่ไม่เหมาะต่อการเพาะปลูก ทำให้ผู้คนต้องยังชีพด้วยการทำประมง และ (2) ความพยายามของอาณาจักรข้างเคียงอย่างอยุธยาและมัชปาหิตที่จะขยายอำนาจเข้ามาในแถบมะละกา ดังนั้นมะละกาจึงได้รีบสถาปนาความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการกับจีนเมื่อ ค.ศ. 1405 ดังปรากฏในบันทึกของหม่าฮวนที่กล่าวถึงมะละกา (ดู Ma Huan, 1997, p. 108-109) ความว่า

แต่ก่อนสถานที่นี้ไม่ได้มีสถานะเป็น ‘ประเทศ’ . . . ไม่มีพระเจ้าแผ่นดินของตนเอง ปกครองโดยเพียงหัวหน้าคนเดียวเท่านั้น แผ่นดินนี้เป็นเขตอำนาจของประเทศเซียน-หลัว (สยาม - ผู้วิจัย) โดยทุกปีต้องส่งบรรณาการเป็นเงินจำนวน 40 เหลี่ยง ถ้าไม่ส่งบรรณาการไป ประเทศเซียน-หลัวจะส่งทหารเข้ามาโจมตี

ในปีที่ 7 แห่งรัชสมัยหย่งเล่อ . . . ราชทูตมหาขันทีเจิ้งเหอและคณะนำพระราชโองการของจักรพรรดิ พร้อมด้วยตราเงิน 2 ตรา หมวก 1 ใบ เข็มขัดและเสื้อคลุมมามอบให้แก่หัวหน้า เจิ้งเหอได้ปักป้ายจารึกและยกสถานที่นี้ให้เป็นนคร ซึ่งต่อมาเรียกว่า ‘ประเทศหม่าน-ล่า-เจีย’
(มะละกา - ผู้วิจัย) หลังจากนั้นเซียน-หลัวก็ไม่กล้ามารุกราน

หัวหน้าผู้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินได้นำพระชายาและพระโอรสเดินทางไปยังเมืองหลวง เพื่อขอบพระทัยและนำผลิตผลท้องถิ่นถวายเป็นเครื่องบรรณาการ และราชสำนักได้มอบเรือเดินสมุทรเพื่อให้พระองค์สามารถเดินทางกลับไปปกครองประเทศได้


Wolters (1970, pp. 154-155) มองว่าการเป็นรัฐบรรณาการของจีนได้ทำให้มะละกามีสถานะเทียบเท่ากับอยุธยาและมัชปาหิต และอำนาจทางทะเลของจีนที่แสดงออกผ่านกองเรือมหาสมบัติของเจิ้งเหอได้ทำให้ทั้งสองอาณาจักรต่างมีความเกรงใจจีนและมีความยับยั้งชั่งใจมากขึ้นในการขยายอำนาจเข้าสู่มะละกา หรือกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า จีนเป็นหลักประกันความมั่นคงให้กับอาณาจักรที่เกิดใหม่อย่างมะละกานั่นเอง

ในทางเศรษฐกิจ การเปิดความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการกับจีนได้ทำให้มะละกาได้สิทธิในการค้าขายกับจีน การปรากฏตัวของกองเรือจีนและสินค้าจีนที่มะละกาได้ช่วยดึงดูดพ่อค้าจากดินแดนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในแถบใกล้เคียงอย่างหมู่เกาะอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อยุธยา พะโค ฯลฯ รวมไปถึงดินแดนที่อยู่ห่างไกลอย่างตะวันออกกลางและเปอร์เซียให้เข้ามาค้าขายยังมะละกา จนทำให้มะละกากลายเป็นเมืองท่าแลกเปลี่ยนสินค้า (entrepot center) ที่สำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 และถึงแม้ว่าจีนจะยกเลิกนโยบายกองเรือมหาสมบัติหลัง ค.ศ. 1433 แต่สิ่งนั้นก็มิได้มีผลทางลบต่อมะละกาแต่ประการใด เพราะในช่วงดังกล่าวมะละกาได้มีรากฐานทางการเมืองและการค้าที่มั่นคงแล้ว (สุพัฒน์ ธัญญวิบูลย์, 2539, น. 44-51) อาณาจักรมะละกามีความเจริญรุ่งเรืองเรื่อยมาจนกระทั่งตกอยู่ภายใต้การยึดครองของโปรตุเกสใน ค.ศ. 1511

ผลที่เกิดขึ้นตามมาจากการเดินเรือของเจิ้งเหอมิได้จำกัดอยู่เฉพาะมะละกาแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังมีผลโดยรวมต่อเศรษฐกิจและการเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย นักวิชาการคนสำคัญที่นำเสนอแนวคิดนี้ก็คือ Anthony Reid (รีด, 2548) โดยเขาได้ตั้งข้อสังเกตว่า ก่อน ค.ศ. 1400 การค้าทางทะเลระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับทะเลจีนใต้นั้นอยู่ในสภาวะซบเซา ทั้งนี้เป็นผลมาจากการเกิดกาฬโรคระบาดในยุโรปช่วง ค.ศ. 1346 ถึง ค.ศ. 1348 ความขัดแย้งระหว่างชาวคริสต์กับมุสลิมในแถบตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน รวมทั้งนโยบายห้ามการค้าทางทะเลของจีนในรัชสมัยหงอู่ หากแต่เมื่อพ้น ค.ศ. 1400 ไปแล้ว การค้าทางทะเลได้กลับมาคึกคักอีกครั้ง เห็นได้จากการส่งออกเครื่องเทศและพริกไทยของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังตลาดต่างๆ ได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะตลาดจีนและยุโรป และเป็นจุดเริ่มต้นของ ”ยุคการค้า” (The Age of Commerce) ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งกินเวลาไปจนถึงช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 ซึ่ง Reid มองว่าเรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการเดินเรือของเจิ้งเหอ ดังที่เขาได้อธิบายว่า

ดูเหมือนจะไม่มีข้อสงสัยเลยว่า กองเรือที่จักรพรรดิหย่งเล่อแห่งราชวงศ์หมิง (1402-24) ส่งไปเพื่อการค้า 6 ครั้ง รวมทั้งการขยายตัวของจีนในช่วงเวลาเดียวกันไปยังเวียดนามและพม่า ทำให้ความต้องการผลิตผลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ถ้าหากจะต้องเจาะจงเลือกช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งว่าเป็นจุดเริ่มต้น “ยุคการค้า” ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การส่งผู้แทนการค้าของจีนคณะแรกในความควบคุมของนายพลเรือเจิ้งเหอผู้เป็นขันทีใน ค.ศ. 1405 น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เหมาะสมที่สุด (รีด, 2548, น. 13)

จะเห็นได้ว่าในทัศนะของ Reid กองเรือของเจิ้งเหอได้กระตุ้นการผลิตพืชผลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อป้อนตลาดจีน และถึงแม้ว่าต่อมาจักรพรรดิราชวงศ์หมิงจะทรงยกเลิกนโยบายกองเรือมหาสมบัติและการค้าทางทะเลโดยรัฐ หากแต่การค้าระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับจีนก็ยังคงดำเนินไปได้ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ (1) การบังคับใช้กฎหมายของราชวงศ์หมิงเป็นไปอย่างไม่เคร่งครัด ทำให้ในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 15 ไปจนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 ยังคงมีเรือแล่นไปมาระหว่างมณฑลฝูเจี้ยนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่เสมอ (2) การที่รัฐบรรณาการของจีนอย่างมะละกา มัชปาหิต และอยุธยา ยังคงดึงดันที่จะส่งคณะทูตไปถวายบรรณาการต่อจักรพรรดิ ณ กรุงปักกิ่งเพื่อหวังประโยชน์ทางการค้า ทำให้จักรพรรดิจีนต้องยอมผ่อนปรนให้มีการค้าขายได้ตามสมควร และ (3) อาณาจักรริวกิวในทะเลจีนตะวันออกมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งราชสำนักจีนและพ่อค้าจีนที่ฝูเจี้ยน ดังนั้นริวกิวจึงมีสถานะเป็นพ่อค้าคนกลางที่ทำให้การค้าระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับจีนสามารถดำเนินต่อไปได้ (รีด, 2548, น. 11-18)

Reid ยังเสนอต่อไปอีกว่า ผู้ปกครองของอาณาจักรต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้นำเอาความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นจากการค้ากับจีนมาเป็นทรัพยากรในการเสริมสร้างอำนาจของตนให้เข้มแข็งกว่าเดิม จนเกิดเป็น “รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์” (absolutist state) โดยตัวอย่างหนึ่งที่เขายกขึ้นมาก็คือ อยุธยา ซึ่งในสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ค.ศ. 1448 – ค.ศ. 1488) ได้กลายเป็นอาณาจักรที่มีระบบราชการที่ซับซ้อนที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการทำประมวลกฎหมายที่กำหนดตำแหน่งและสถานะของผู้คนในสังคมให้เป็นที่แน่นอน โดยข้าราชการจะได้รับที่ดินตามตำแหน่งราชการของตน และสูญเสียที่ดินไปเมื่อถูกปลดจากตำแหน่งหรือเสียชีวิต ทำให้ข้าราชการทั้งหลายไม่มีที่ดินตกทอดไปยังลูกหลานจนเกิดเป็นอำนาจส่วนตัวขึ้นมาท้าทายพระมหากษัตริย์ได้ (รีด, 2548, น. 283-284) นอกจากนี้ความมั่งคั่งที่มาจากการค้ายังทำให้พระมหากษัตริย์อยุธยาในคริสต์ศตวรรษที่ 17 มีพระราชทรัพย์ที่จะว่าจ้างชาวต่างชาติเข้ามาเป็นทหารรับจ้างหรือเป็นข้าราชการเพื่อเพิ่มพูนพระราชอำนาจ และทำให้ทรงจัดการกับเหล่าขุนนางไทยที่พยายามท้าทายพระองค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เห็นได้ชัดในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ค.ศ. 1657 – ค.ศ. 1688) ซึ่งจากหลักฐานของชาวฮอลันดาระบุว่าพระองค์เคยจับกุมขุนนางนับร้อยคนเนื่องจากทรงสงสัยว่าคนพวกนี้วางแผนจะวางยาพิษพระราชธิดาของพระองค์ (รีด, 2548, น. 273-278) กล่าวโดยสรุปก็คือ ในทัศนะของเขา นอกจากการเดินเรือของเจิ้งเหอจะส่งผลทางตรงให้เกิดความเฟื่องฟูของการค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ยังส่งผลพลอยได้ให้เกิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นในดินแดนแถบนี้อีกด้วย

เอกสารอ้างอิง
รีด, แอนโทนี. (2548). เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคการค้า ค.ศ. 1450 – 1680: เล่มสอง การขยายตัวและวิกฤตการณ์ (พงษ์ศรี เลขะวัฒนะ, ผู้แปล; ท่านผู้หญิงวรุณยุพา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และ พรรณงาม เง่าธรรมสาร, บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ: ซิลค์เวอร์ม.

ไรสเชอร์, เอ็ดวิน โอ. และ ยอห์น เค. แฟรแบงค์. (2510). อู่อารยธรรมตะวันออก เล่ม 3 (จำนงค์ทองประเสริฐ นิทัศน์ ชูทรัพย์ วินิตา ไกรฤกษ์ และเขียน ธีระวิทย์, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย.

สุพัฒน์ ธัญญวิบูลย์. (2539). เมืองท่ามะละกาในคริสต์ศตวรรษที่ 15. สารนิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร, บัณฑิตวิทยาลัย, สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้.

ออสบอร์น, มิลตัน. (2544). เอเชียตะวันออกเฉียงใต้: สังเขปประวัติศาสตร์ (มัทนา เกษกมล, พรรณงาม เง่าธรรมสาร และ ธนาลัย (สุขพัฒน์ธี) ลิมปรัตนคีรี, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: ตรัสวิน (ซิลค์เวอร์มบุคส์).

ฮอลล์, ดี. จี. อี. (2549). ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้: สุวรรณภูมิ-อุษาคเนย์ภาคพิสดาร เล่ม 1 (ท่านผู้หญิงวรุณยุพา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, เพ็ชรี สุมิตร, ชูศิริ จามรมาน, เพ็ญศรี ดุ๊ก, ม.ล. รสสุคนธ์ อิศรเสนา, วิลาสวงส์ พงศะบุตร, แถมสุข นุ่มนนท์ และ ศรีสุข ทวิชาประสิทธิ์, ผู้แปล; ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, บรรณาธิการ; พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโตโยต้าแห่งประเทศไทย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

Ma Huan. (1997). Ying-yai Sheng-lan: The Overall Survey of the Ocean’s Shores [1433] (J. V. G. Mills, trans.). Bangkok: White Lotus Press.

Wolters, O. W. (1970). The Fall of Srivijaya in Malay History. Kuala Lumpur: Oxford University Press.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น