วันจันทร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2554

“ชุมชนอิสระกับอำนาจทุนนิยมตะวันตก : กรณีศึกษาเครือข่ายป่าชุมชนอินแปงกับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ”

                                       ร้อยโทหญิง ณิชาพัฒน์  เพิ่มทองอินทร์

            ปัจจุบันปัญหาของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแสความตื่นตัวที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก(Climate Change) จนก่อให้เกิด ภาวะโลกร้อน (Global Warming)[1] ได้กลายเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลไปทั่วโลก  เป็นหัวข้อที่โลกกำลังหยิบยกขึ้นมาเจรจาต่อรองกันในเวทีระดับนานาชาติ  และได้ร่วมกันหาทางออกที่จะช่วยกันลดภาวะโลกร้อน โดยปัญหาโลกร้อน ถือเป็นผลรวมของการเดินทางผิดของมนุษย์แห่งโลกทุนนิยม กระแสการตื่นตัวที่เกิดขึ้นกับปัญหาดังกล่าว แต่ก็ยังไม่ตื่นรู้กับวิถีทางในการแก้ปัญหา ส่งผลให้เกิดกิจกรรมและข้อเรียกร้องมากมายเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เป็นอยู่ และหนึ่งในแนวทางที่เกิดขึ้นในการที่จะแก้ไขปัญหาโลกร้อนก็คือเรื่องของ การตลาดที่เข้ามามีบทบาท โดยเป็นตลาดจริง มีผู้ซื้อ ผู้ขาย และมีสินค้าตัวใหม่ล่าสุดออกมาให้เป็นที่รู้จักกันในนามของ คาร์บอนเครดิต"[2] อันเป็นระบบจัดการหนึ่งภายใต้พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocal)  ที่กำหนดให้ประเทศพัฒนาแล้วต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก ซึ่งทำให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยพิธีสารเกียวโตมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2549 และหากประเทศที่ลงนามเช่น สหภาพยุโรป แคนาดา ญี่ปุ่น ไม่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกประมาณ 5.2% ในปี 2551-2555 จะมีค่าปรับถึงตันละ 2,000-5,000 บาท   และจากสถิติของ World Resources 2005 ระบุว่าสหรัฐปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดปีละ 5.7 พันล้านตัน อันดับ 2 คือจีน 3.4 พันล้านตัน อันดับ 3 คือ รัสเซีย 1.5 พันล้านตัน ญี่ปุ่น 1.2 พันล้านตัน อังกฤษ 558 ล้านตัน ส่วนประไทยอยู่ที่ 172 ล้านตัน  
            ดังนั้น"การซื้อขายคาร์บอนเครดิต" จึงเป็นหนึ่งในแนวทางที่กำหนดออกมาพิเศษ เพื่อช่วยให้ประเทศอันเป็นต้นเหตุที่สำคัญปล่อยก๊าซพิษได้โดยไม่ต้องถูกลงโทษ  ซึ่งภายใต้ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตมีกลไกสำคัญเรียกว่า โครงการตามกลไกพัฒนาที่สะอาด(Clean Development Mechanism : CDM) เป็นกลไกที่สร้างขึ้นเพื่อตรวจวัดสมดุลของคาร์บอน ในลักษณะของการคำนวณเครดิตหรือปริมาณ CO2 ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อนำมากระจายการซื้อขายหน่วยของก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงระหว่างประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนาอันจะนำไปสู่การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นไปตามพันธกรณีที่ตกลงไว้ ซึ่งจะพบได้ว่าบรรดาประเทศอุตสาหกรรมและนักลงทุน ตื่นตัวกับโครงการ CDM อยู่มาก นักลงทุน ต่างชาติเดินสายมุ่งหาแหล่งลงทุน โครงการในประเทศกำลังพัฒนา ด้วยแรงจูงใจจากต้นทุนที่ต่ำกว่าและสิทธิพิเศษต่างๆ เช่นเดียวกับโครงการส่งเสริมการลงทุน เพราะถูกจัดเป็นโครงการที่ช่วยด้านสิ่งแวดล้อม และนอกเหนือจากกำไรปกติของโครงการแล้ว ยังได้คาร์บอนเครดิต เพิ่มขึ้นมาอีก นับเป็นสินค้า สีเขียวตัวใหม่ค้าขายได้เหมือนใบหุ้น
           
            ตลาดคาร์บอนเครดิตในต่างประเทศ[3] มีอยู่ด้วยกัน 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มแรกเป็นตลาดคาร์บอนฯที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการภายใต้พิธีสารเกียวโต เป็นตลาดคาร์บอนที่มีตัวบทกฎหมายภายในประเทศกำกับดูแล (Regulated Market) เช่น ตลาดคาร์บอนฯในสหภาพยุโรป (EU ETS) ตลาดคาร์บอนฯภายใต้โครงการ CDM (CERs) เป็นต้น ตลาดคาร์บอนเหล่านี้มีการซื้อขาย คาร์บอนเครดิต เนื่องจากมีการกำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศที่มีพันธกรณี ประเทศที่ต้องลดการปล่อยก๊าซตามพันธกรณีสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตไปเพื่อชดเชยกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศตน สำหรับประเทศไทยก็มีส่วนดำเนินการในเรื่องการค้า CERs ภายใต้โครงการCDM ข้อมูลล่าสุดในเดือนตุลาคม 2551 โครงการ CDM ที่ คณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกของไทยพิจารณาให้ความเห็นชอบและออกหนังสือรับรองโครงการแล้วมี 27 โครงการ และเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2551 ที่ผ่านมา บริษัท เอ.ที.ไบโอพาวเวอร์ จำกัด ผู้จัดทำโครงการผลิตไฟฟ้าจากแกลบ เป็นโรงงานไฟฟ้าชีวมวลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ เปิดเผยว่า ทางโครงการได้ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการบริหารกลไกการพัฒนาที่สะอาด(CDM EB) ตามอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(UNFCCC) ให้มีสิทธิ์ค้าคาร์บอนเครดิตได้เป็นแห่งแรกของประเทศ (ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ 7 มิถุนายน 2551)
            กลุ่มสอง เป็นตลาดคาร์บอนฯแบบสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) ที่เกิดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ เริ่มขึ้นประมาณปี ค.ศ.1989 และมีการเติบโตอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ปี ค.ศ.2002 เป็นต้นมา ตลาดคาร์บอนฯประเภทนี้อาจจะมีการซื้อขาย “Carbon Credit” หรือ “Carbon Offset” ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของตลาด (Carbon Offset หมายถึง ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่จะต้องลดลงในแหล่งอื่น เพื่อชดเชยให้เท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาในกระบวนการผลิตในโรงงานหรือบริษัท หรือกล่าวได้ว่า Carbon offset นี้ จะทำให้เกิด Carbon neutral สำหรับผู้ซื้อ Carbon offset )
ตลาดคาร์บอนฯแบบสมัครใจยังสามารถจำแนกออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทแรก ตลาดที่มีการกำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (หรือ Cap-and-Trade System) เช่น ตลาดคาร์บอนฯที่จัดการโดย Chicago Climate Exchange (CCX) ซึ่งถือว่าในขณะนี้เป็นตลาดเดียวที่เป็นตลาดสมัครใจแบบควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเภทที่สอง เป็นตลาดที่มีการตกลงซื้อขายแบบทวิภาคีระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย โดยอาจซื้อขายกันโดยตรงหรือผ่านระบบนายหน้าก็ได้

ที่ผ่านมาประเทศไทย พยายามที่จะขับเคลื่อนโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด(CDM)  ซึ่งดำเนินการภายใต้เงื่อนไขของพิธีสารเกียวโต เป็นตลาดคาร์บอนที่มีตัวบทกฎหมายกำกับดูแล แต่ที่น่าต้องเป็นกังวลคือ ประตูที่เปิดกว้างมากขึ้นของตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ(Voluntary Carbon Market)  กำลังดึงตลาดคาร์บอนเข้าสู่ชุมชนในชนบทโดยเฉพาะในส่วนของโครงการปลูกป่าเพื่อขายคาร์บอนในตลาดแบบสมัครใจที่จัดการโดย Chicago Climate Exchange (CCX) ในสหรัฐอเมริกาผ่านทางมหาวิทยาลัยมิชิแกน โดยเข้าไปทำการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่าชุมชนในหลายประเทศ อาทิเช่น ประเทศจีน และอินเดีย เป็นต้น และสำหรับประเทศไทยประตูที่เปิดกว้างของตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ ได้เข้ามาสู่ชุมชนในชนบทของประเทศไทยแล้วเช่นกัน  โดยตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2551[4] มีรายงานว่าเครือข่ายป่าชุมชนอินแปง จ.สกลนคร ได้เข้าร่วมโครงการปลูกป่าเพื่อขายคาร์บอนในตลาดแบบสมัครใจ โดยมีพื้นที่ดำเนินการรวม 625 ไร่ (ตามเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ 100 เฮกเตอร์) เป็นไม้สัก มีเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 4 พันครอบครัว ในสอง 2 ราย เป็นสวนสักที่ปลูกมาแล้วประมาณ 15 ปี ตามโครงการส่งเสริมการปลูกสวนป่าของรัฐบาล ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการขายคาร์บอนจะต้องเก็บสวนสักนี้ไว้อีก 30 ปี ในปลายปี 2551 จะเริ่มขายคาร์บอนเครดิตให้ตลาด CCX ในสหรัฐอเมริกาผ่านทางมหาวิทยาลัยมิชิแกน

            จากที่ได้มีการรายงานถึงเครือข่ายป่าชุมชนอินแปง จ.สกลนคร ในการเข้าร่วมโครงการปลูกป่าเพื่อขายคาร์บอนในตลาดภาคสมัครใจ ทำให้ผู้เขียนมีความสนใจถึงในประเด็นดังกล่าว ซึ่งเครือข่ายป่าชุมชนอินแปง เป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งอย่างมาก โดยมีการเรียนรู้ของชุมชนด้วยตนเอง[5] พัฒนาศักยภาพของชุมชนไปพร้อมกับภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นฐานของจุดยืนในการพัฒนาและเรียนรู้ด้วยการพึ่งพาตนเองเพื่อฟื้นฟูชีวิตควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยในขณะที่เมื่อมองไปยังชุมชนอื่นๆ จะเห็นว่าส่วนใหญ่จะรอการเข้าไปพัฒนาจากภาครัฐ รัฐจะเป็นผู้ริเริ่มโครงการเพื่อพัฒนาในด้านต่างๆ แต่ในทางตรงกันข้ามกับอินแปงที่ชุมชนของพวกเขามีกระบวนการทางความคิดในการพัฒนาด้วยตนเอง คิดเอง ทำเอง โดยไม่ต้องง้อหรือรอการพัฒนาจากรัฐหรือใครก็ตาม ด้วยความเข้มแข็งของอินแปงจึงทำให้ชุมชนแห่งนี้ข้ามผ่านปรากฏการณ์ ข้ามรัฐ-ลอดรัฐมาเป็นเวลานาน และอินแปงยังเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอิสระหรือ เสรีชน มาโดยตลอด

            ในมุมมองของปรัชญาการเมือง ความเป็น อิสรเสรีชนของอินแปง เป็นการแสดงออกในการใช้ อำนาจของพลเมืองแต่ละคนในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์อธิปัตย์ ที่มีฐานอยู่บนหลักการเรื่องอิสรภาพของปัจเจกบุคคล แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในการเข้ามาของตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจถือเป็นการหยิบยื่นผลประโยชน์ในรูปตัวเงินผ่านการตีค่าจากปริมาณคาร์บอนเพื่อใช้ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนของ อำนาจทุนนิยม จากโลกตะวันตก ที่ต้องถือว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ ที่ชุมชนเสรีอย่างอินแปงไม่เคยประสบมาก่อน จึงเกิดคำถามหลักของผู้เขียนขึ้นมาว่า อินแปงจะมีหลักการในการตัดสินใจร่วมกันอย่างไรถึงเรื่องดังกล่าว จะสามารถข้ามผ่านปรากฏการณ์ ข้ามรัฐ-ลอดรัฐ ที่ผูกติดมากับผลประโยชน์ในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้อย่างไร  จะตั้งมั่นอยู่บนจุดยืนของการพึ่งพาตนเอง คิดเอง ทำเอง หรือไม่ หรือจะต้องใช้กลไกของ อำนาจรัฐเข้าไปประสานให้ความร่วมมือกับเรื่องดังกล่าว  หรือว่ารัฐควรที่จะต้องมีนโยบาย มีบทบาท หรือสร้างกติกา เพื่อให้ชุมชนรู้เท่าทัน ได้รับประโยชน์อย่างเป็นธรรม รวมทั้งทำให้การแก้ไขปัญหาโลกร้อนเกิดผลขึ้นจริง

 ความสนใจของผู้เขียนในประเด็นของคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ ในการเคลื่อนตัวเข้าสู่ชุมชนอิสระที่มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการพัฒนาชุมชนด้วยการพึ่งพาตนเองมาตลอดระยะเวลา 23 ปี ของเครือข่ายป่าชุมชนอินแปง จนเกิดคำถามขึ้นอย่างมากมายกับผู้เขียนนั้น เหตุผลประการสำคัญที่ทำให้ผู้เขียนมีความสนใจในประเด็นดังกล่าวก็คือ เรื่องของคาร์บอนเครดิตเป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับชุมชน ถึงแม้ว่ากระแสของโลกจะมีความตื่นตัวกับภาวะโลกร้อนอย่างกว้างขวางก็ตาม โดยถ้าหากจะถามว่าจะมีประชากรสักกี่ล้านคนทั่วทั้งโลกจะรับรู้ถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน ด้วยการใช้กลไกทางการตลาดผ่านทางการซื้อขายคาร์บอนเครดิตนั้น  ผู้เขียนมีความเชื่อมั่นว่าผู้ที่รับรู้ถึงแนวทางการแก้ปัญหาด้วยการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง ก็คือ กลุ่มบุคคลที่อยู่ในวงวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม และภาคเอกชนในส่วนของนักธุรกิจที่พยายามหาทางลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กับธุรกิจของตนเอง อีกส่วนก็คือ นักธุรกิจที่จะเข้ามาแสวงหากำไรในการทำธุรกิจกับการซื้อขายคาร์บอนผ่านโครงการ CDM ในรูปแบบต่างๆ  และด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปทำการศึกษาถึงแนวทางและการรับรู้ของประชาชนเครือข่ายปาชุมชนอินแปงในการตัดสินใจเข้าสู่ตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ โดยผู้เขียนได้ลงพื้นที่ในการศึกษาถึง 2 ครั้ง ในเดือนพฤษภาคม และเดือนตุลาคม 2552 อีกทั้งยังได้ใช้การติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์กับผู้นำกลุ่มเครือข่ายป่าชุมชนอินแปงมาโดยตลอด และจากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปทำการศึกษาในพื้นที่ของเครือข่ายป่าชุมชนอินแปง มีโอกาสได้สัมภาษณ์เชิงลึก(In-depth interview) ประกอบกับการสนทนากลุ่มย่อย(Focus Group Discussion)  กับผู้นำกลุ่มอินแปงจำนวนทั้งสิ้น 6 ท่าน  อีกทั้งยังได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop)  เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในหัวข้อเรื่องคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ กับประชาชนในเครือข่ายป่าชุมชนอินแปง จำนวนทั้งสิ้น 50 คน จาก 5 จังหวัดสมาชิกเครือข่ายอินแปง อันประกอบไปด้วยจังหวัดสกลนคร อุดรธานี กาฬสินธุ์ นครพนม และมุกดาหาร ทำให้ผู้เขียนได้พบข้อมูลในหลากหลายประเด็น ซึ่งจะขอนำเสนอถึงข้อมูลต่างๆ โดยสังเขปไว้ในบทความฉบับนี้
           
            จากการเข้าไปในพื้นที่เครือข่ายป่าชุมชนอินแปงของผู้เขียนเป็นการเข้าไปดำเนินการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาความรู้ของประชาชนในการตัดสินใจเข้าสู่ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ โดยได้มีการตั้งข้อสมมติฐานในการวิจัยว่า ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจของประชาชนเครือข่ายอินแปงไม่น่าจะเพียงพอต่อการตัดสินใจนำป่าชุมชนอินแปง เข้าสู่กระบวนการของตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจได้ในเวลานี้ และการเข้าไปเสริมสร้างความรู้ให้กับประชาชนเครือข่ายอินแปงโดยผู้วิจัย น่าจะเป็นหนึ่งในแนวทางการตัดสินใจของประชาชนว่าจะขายหรือไม่ขายคาร์บอนเครดิตให้กับโครงการ CCX จากสหรัฐอเมริกา
วัตถุประสงค์ในการลงพื้นที่ครั้งแรกของผู้เขียนเป็นไปเพื่อศึกษาถึงรใจประชาชนความรู้ ความเข้าใจ และสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้กับประชาชนเครือข่ายป่าชุมชนอินแปง อ.กุดบาก จ.สกลนคร ที่มีต่อตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ โดยผลจากการศึกษาพบว่า ส่วนใหญ่ประชาชนยังขาดความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ บางคนยังไม่รู้แม้แต่ความหมายว่าสิ่งนี้คืออะไร ไม่รู้ถึงกระบวนขั้นตอนในการซื้อขาย โดยผู้เขียนขอยกตัวอย่างบทสัมภาษณ์เชิงลึกในบางส่วนที่ทำการสัมภาษณ์แกนนำเครือข่ายป่าชุมชนอินแปง ไว้ดังนี้

ก็จริงๆ แล้วก็ไม่ค่อยรู้หรอกว่ามันคืออะไรกันแน่ รู้เพียงแต่ว่ามันอยู่ในต้นไม้  ต้นไม้ดูดเอาคาร์บอนไว้ มันเป็นก๊าซพิษ แต่ว่าถ้าเราปลูกต้นไม้ไว้เยอะๆ มันก็จะดูดไอ้คาร์บอนนี้ไว้ แล้วเราก็ช่วยโลกร้อนด้วยนะ เพราะคาร์บอนมันทำให้โลกร้อน ต้นไม้ก็จะคายออกซิเจนทำให้โลกเย็นลง ก็ดีเหมือนกันที่เราจะช่วยโลกได้

ส่วนเรื่องที่เขาจะมาซื้อคาร์บอนจากเรา เราก็สงสัยเหมือนกันว่า เอ้! เขาจะ มาซื้อเราอย่างไร เขาก็บอกเราว่า เราไม่ต้องทำอะไร เพียงเรามีต้นไม้ในพื้นที่ของเราเยอะๆ เราก็ขายคาร์บอนให้กับเขาไป เขาก็จะมาวัด มาคำนวณให้ว่า ในต้นไม้แต่ละแปลงของเรามีคาร์บอนอยู่เท่าไร เราก็จะได้เงินจากการขาย โดยไม่ต้องมีผลกระทบอะไรเลย อยู่ดีๆ ก็ได้สตางค์ เราก็ว่าดีเหมือนกันนะเป็นผลพลอยได้

แต่นี่ก็กังวลเหมือนกันนะว่า ทางอเมริกาเค้ามีอุปกรณ์ที่ทันสมัย ไม่รู้ เหมือนกันว่าเขายิงดาวเทียมมา เวลากลางคืนเราหลับอยู่ เขาอาจจะมาดูดเอาคาร์บอนจากต้นไม้ในสวนเราไปหรือเปล่าก็ไม่รู้เหมือนกันนะ ถ้าทำแบบนั้นจริงๆ ตอนเช้าเราตื่นมา ต้นไม้เราคงตายหมดนะ เพราะไม่มีคาร์บอนเหลืออยู่ แต่อาจจะคงไม่ทำอย่างนั้นก็ได้ แต่ก็ไม่รู้เหมือนกัน เขาก็มาสอนนะหนู มาสอนให้วัดต้นไม้ แต่ไอ้ที่คำนวณคาร์บอนเราก็ไม่รู้เรื่องหรอก ก็เนี่ยะพอจะรู้คร่าวๆ แบบนี้แหละ

ส่วนเรื่องการขายคาร์บอนภาคสมัครใจ เขาก็บอกให้ฟังว่า แบบนี้จะดีง่ายในการซื้อขาย เขาจะมาซื้อกับเราโดยตรง เพราะในระดับประเทศเขาต้องซื้อกันภายใต้เงื่อนไขกฎหมายหลายขั้นตอนมากมาย ก็ฟังๆ เขานั่นแหละ แต่ถ้าถามว่ารู้เรื่องไหม ก็ไม่รู้เท่าไรหรอก รู้ว่าเออขายๆ ก็ขาย ก็ดีเหมือนกัน คงไม่ได้มีผลกระทบอะไร

            บทสัมภาษณ์ในข้างต้น ทำให้ผู้เขียนมีความรู้สึกกังวลเป็นอย่างมากว่าสิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์ข้ามรัฐ-ลอดรัฐ ที่ผูกติดมากับผลประโยชน์ในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ที่ชุมชนอิสระที่ได้ชื่อว่ามีความเข้มแข็งอย่างอินแปงจะต้องใช้การพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ โดยการที่ชุมชนจะยังคงตั้งมั่นอยู่บนจุดยืนของการพึ่งพาตนเอง คิดเอง ทำเอง สำหรับในกรณีนี้คงจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชนอย่างแน่นอน

 สำหรับการเข้าไปในพื้นที่ของผู้เขียนในครั้งที่สอง(ระยะห่างจากครั้งแรก 5 เดือน) มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามผลการปฏิบัติการการให้ความรู้แก่ประชาชนเครือข่ายป่าชุมชนอินแปงในเรื่องการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ ซึ่งได้ดำเนินการในรูปแบบของการจัดประชุมเชิงปฏิบัตการ โดยจากการติดตามผลการให้ความรู้แก่ประชาชน พบว่าเครือข่ายป่าชุมชนอินแปงเป็นชุมชนที่มีศักยภาพในการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างแท้จริง สมกับคำกล่าวที่ว่า เครือข่ายอินแปงแห่งนี้เป็น มหาวิทยาลัยชีวิต ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจเพิ่มมากขึ้น มากกว่าในครั้งแรกที่ผู้เขียนได้เข้ามาในพื้นที่อย่างเห็นได้ชัดเจน ซึ่งถึงแม้ว่าเรื่องของคาร์บอนเครดิตจะเป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับชุมชนอินแปง แต่ชุมชนก็พร้อมที่จะเปิดรับให้กับความรู้ใหม่ๆ โดยเฉพาะในเรื่องของคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจอย่างเต็มที่ โดยระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการผู้เขียนได้พบว่า สมาชิกในเครือข่ายอินแปงทั้ง 5 จังหวัดพร้อมที่จะเรียนรู้อย่างจริงจัง มีการแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ อย่างชัดเจนตรงไปตรงมา อีกทั้งยังมีประเด็นในการซักถามข้อสงสัยในเรื่องของการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจกับผู้เขียนอย่างต่อเนื่อง ถือได้ว่าเป็นชุมชนที่คงไว้ซึ่งวิถีในการพัฒนาบนพื้นฐานการพึ่งพาตนเองควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  แต่ก็ไม่ได้ที่จะละทิ้งในการเปิดโอกาสให้กับเรื่องใหม่ๆ ที่อาจจะยากสำหรับการเรียนรู้ของพวกเขา แต่ก็ไม่ได้ยากสำหรับความพยายาม และความตั้งใจที่จะพัฒนาชุมชนของพวกเขาบนวิถีแห่งภูมิปัญญาชาวบ้านควบคู่ไปกับกระแสโลกาภิวัตน์ที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก โดยสมาชิกในเครือข่ายป่าชุมชนอินแปงได้กล่าวไว้ว่า

             การที่ได้เปิดโอกาสให้กับตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ ก็เพราะ เห็นว่าบางทีโครงการดังกล่าวอาจจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนของพวกเขา ก็ควรที่จะต้องลองผิดลองถูกไปก่อน แต่ถ้าเกิดผลเสียมากกว่าผลดี ก็คงจะต้องยกเลิกที่จะดำเนินการต่อไป

           ทุกวันนี้ที่ศูนย์อินแปงประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นชุมชนที่สามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมดุลนั้น ก็เพราะเกิดจากแนวคิดที่ว่า "การพัฒนาแบบเอาปัญญามาก่อนเงิน" โดยคนในชุมชนจะร่วมกันคิดแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานของทุนและทรัพยากรในชุมชนที่มีอยู่ อาทิ วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ดิน น้ำ ป่า ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น จากนั้นจึงร่วมกันกำหนดเป็นแผนการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารของชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเน้นการผลิตให้พออยู่พอกิน ถ้าเหลือจึงขายหรือแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งทำควบคู่ไปกับการฟื้นฟูพื้นที่ป่าชุมชนจำนวน 132 ป่าพื้นที่รวมทั้งสิ้น 150,000 ไร่ ดังนั้นแล้ว สำหรับเรื่องคาร์บอนเครดิต ถ้าดีและเป็นประโยชน์เป็นผลพลอยได้ให้กับชุมชน เราก็จะเอานะคิดว่าไม่ได้เสียหายอะไร แต่ถ้าต้องมาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในอินแปง เชื่อว่าทุกคนในอินแปงเราไม่เอาแน่นอน เราอยู่กันได้ อยู่กับธรรมชาติกันมาตั้งนานแล้ว 

             
            ความต้องการของเครือข่ายอินแปงในกรณีดังกล่าวนี้ คือ เครือข่ายป่าชุมชนอินแปงมีความต้องการที่จะขายคาร์บอนเครดิตในภาคสมัครใจ แต่มีเงื่อนไขอยู่ที่ว่าจะต้องได้รับความเป็นธรรมในเรื่องของราคา และมีความคาดหวังที่อยากให้หน่วยงานของรัฐบาลเข้ามาช่วยต่อรองในเรื่องของผลประโยชน์ต่อรายได้ที่ประชาชนจะได้รับในการขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจอย่างชอบธรรม จึงเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ทางเครือข่ายอินแปงยังไม่ได้มีการลงนามที่จะซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจกับทางโครงการ CCX โดยในปัจจุบันได้มีหน่วยงานที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือเครือข่ายป่าชุมชนอินแปง ได้แก่  สภาวิจัยแห่งชาติ(วช.) และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยทั้ง 2 หน่วยงาน ได้ทำงานร่วมกับโครงการ CCX ผ่านทางมหาวิทยาลัยมิชิแกน ซึ่งผลของการต่อรองในเรื่องของราคาก็ยังไม่มีความชัดเจนเกิดขึ้น ทางเครือข่ายป่าชุมชนอินแปงจึงต้องการที่จะให้ภาคส่วนของรัฐบาลในส่วนอื่นๆ เข้ามาให้ความช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าว ตัวอย่างเช่น ตัวแทนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น  
           
            ดังนั้นแล้ว จากคำกล่าวที่ว่า เครือข่ายป่าชุมชนอินแปง เป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็ง มีการพัฒนาศักยภาพของชุมชนไปพร้อมกับภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นฐานของจุดยืนในการพัฒนาและเรียนรู้ด้วยการพึ่งพาตนเอง มีกระบวนการทางความคิดในการพัฒนาด้วยตนเอง คิดเอง ทำเอง โดยไม่ต้องง้อหรือรอการพัฒนาจากรัฐซึ่งจากการที่ผู้เขียนได้มีประสบการณ์เข้าไปสัมผัสกับประชาชนในเครือข่ายป่าชุมชนอินแปง คงจะต้องบอกว่าคำกล่าวข้างต้นนั้นเป็นความจริง แต่ก็คงจะไม่เสมอไปในทุกๆ เรื่อง เหตุเพราะประเด็นการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ เป็นเรื่องที่ใหม่มากจนเกินไปกว่าที่เครือข่ายป่าชุมชนอินแปงจะสามารถพัฒนาเครือข่ายของตนโดยการขับเคลื่อนด้วยตัวเอง โดยผลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าเครือข่ายป่าชุมชนอินแปงจะสามารถที่จะพัฒนาชุมชนได้ด้วยจุดยืนของการพึ่งพาตนเอง ไม่ง้อ หรือรอการพัฒนาจากรัฐมาโดยตลอดระยะเวลาหลายสิบปี แต่สำหรับในประเด็นของคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจนั้น การที่ทางเครือข่ายป่าชุมชนอินแปงได้เปิดโอกาสให้กับทางโครงการ CCX  เข้ามาดำเนินการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ นับได้ว่าทางเครือข่ายอินแปงได้เปิดประตูการรับรู้ของชุมชนที่เป็นไปตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ปิดกั้นชุมชนกับสิ่งใหม่ๆ โดยการเปิดรับของเครือข่ายอินแปงในกรณีดังกล่าวนี้ เริ่มจากการที่ทางเครือข่าย ได้พยายามที่จะพัฒนาและเรียนรู้ด้วยการพึ่งพาตนเอง มีกระบวนการทางความคิดในการพัฒนาด้วยตนเอง คิดเอง ทำเอง ภายในเครือข่ายของตนเองโดยอาศัยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นแกนหลัก ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวก็ยังไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจที่จะลงนามซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจกับทางโครงการ CCX จากสหรัฐอเมริกา
            นอกจากเหตุผลในเรื่องของกลไกราคาในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ ที่ทางเครือข่ายอินแปงกังวลว่าผลประโยชน์ต่อรายได้ที่ประชาชนจะได้รับจะเกิดความชอบธรรม หรือไม่เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ทางเครือข่ายอินแปงยังไม่ได้มีการลงนามที่จะซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจกับทางโครงการ CCX  ก็คือ มีการเข้ามาติดต่อจากทางบริษัทการบินไทยจำกัด มหาชน ผ่านทางมูลนิธิสถาบันพัฒนาทรัพยากรชุมชน[6] ถึงความต้องการที่จะซื้อคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ ด้วยเหตุผลอันเนื่องมาจากการที่เครือประเทศของสหภาพยุโรป ได้มีการกำหนดให้ทุกสายการบินที่จะต้องบินผ่านน่านฟ้าของยุโรปจะต้องซื้อคาร์บอนเครดิตไปชดใช้หักถอนให้กับการที่จะต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านจากเครื่องบิน เพราะถือว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกจะอยู่ในชั้นบรรยากาศของยุโรป ดังนั้นแล้วเหตุใดยุโรปจะต้องเป็นผู้ชดใช้โดยการยอมซื้อคาร์บอนเครดิตเสียเอง โดยที่ถูกต้องคือ ทุกสายการบินที่จะต้องบินผ่านน่านฟ้าของยุโรปจะต้องซื้อคาร์บอนเครดิตไปชดใช้ จึงเป็นสาเหตุของการที่เครือข่ายอินแปงยังไม่ได้มีข้อตกลงหรือลงนามซื้อขายคาร์บอนเครดิตของเครือข่ายป่าชุมชนอินแปงกับโครงการ  CCX สหรัฐอเมริกา เนื่องจากอาจจะตัดสินใจระงับการดำเนินงานโครงการกับ CCX แล้วหันมาขายคาร์บอนเครดิตให้กับบริษัทการบินไทยจำกัด มหาชน เพราะอย่างน้อยก็ถือว่าเป็นการช่วยเหลือธุรกิจของคนไทยด้วยกัน

            จากข้างต้นผู้เขียนได้นำเสนอถึงประสบการณ์ในการลงพื้นที่เพื่อศึกษาและพัฒนาความรู้ของประชาชนเครือข่ายป่าชุมชนอินแปงต่อการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ โดยทั้งนี้ผู้เขียนได้ตั้งข้อสมมติฐานการวิจัยในการลงไปทำการศึกษา ดังนั้นแล้ว เพื่อให้เกิดความครบถ้วนของข้อมูลในการนำเสนอบทความนี้ ผู้เขียนจึงขอตอบสมมติฐานการวิจัยที่ว่า ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจของประชาชนเครือข่ายอินแปงไม่น่าจะเพียงพอต่อการตัดสินใจนำป่าชุมชนอินแปง เข้าสู่กระบวนการของตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจได้ในเวลานี้ ซึ่งจาก ผลการวิจัยเป็นไปตามสมติฐาน กล่าวคือ ประชาชนเครือข่ายอินแปงจำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานที่เข้าไปให้ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้ว่าจากผลการวิจัยจะพบว่า ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจที่เพิ่มมากขึ้น แต่นั่นก็ไม่ใช่เป็นการแสดงให้เห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจกับเรื่องดังกล่าวอีก ในทางตรงกันข้าม คือ หน่วยงานภาครัฐควรที่จะต้องให้ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวให้มีความถูกต้องมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของการเจรจาต่อรองราคา ที่ประชาชนเครือข่ายอินแปงยังไม่มีความเข้า และต้องการความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ เพื่อที่จะได้ราคาในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจอย่างเป็นธรรม
            สำหรับสมมติฐานการวิจัยในข้อต่อไป คือ การเข้าไปเสริมสร้างความรู้ให้กับประชาชนเครือข่ายอินแปงโดยผู้วิจัย น่าจะเป็นหนึ่งในแนวทางการตัดสินใจของประชาชนว่าจะขายหรือไม่ขายคาร์บอนเครดิตให้กับโครงการ CCX จากสหรัฐอเมริกา จากผลการวิจัยพบว่าเป็นไปตามสมมติฐานการวิจัยที่ได้กำหนดไว้ คือ การเข้าไปเสริมสร้างความรู้ให้กับประชาชนเครือข่ายอินแปงโดยผู้วิจัย มีผลต่อแนวทางการตัดสินใจของประชาชน กล่าวคือ ประชาชนเครือข่ายป่าชุมชนอินแปงยังไม่มีการลงนามขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจให้กับโครงการ CCX โดยอาจจะเป็นเพราะว่าได้มีการให้ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของราคาที่จะต้องได้รับความเป็นธรรม ตลอดจนการเน้นย้ำจากผู้วิจัยว่า ณ วันหนึ่งเราอาจจะต้องขายคาร์บอนเครดิตให้กับประเทศของเราเอง ซึ่งนั่นก็คือความเป็นจริง ที่ในปัจจุบันได้มีการเข้ามาติดต่อซื้อคาร์บอนเครดิตของบริษัทการบินไทยจำกัด มหาชน

บทสรุป

การตัดสินใจเข้าสู่ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจของเครือข่ายป่าชุมชนอินแปงนั้น เป็นการตัดสินใจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพในการเลือกของชุมชน เป็นการเปิดโอกาสให้ชุมชนได้รับกับสิ่งใหม่ๆ ได้ลองผิดลองถูกในการเรียนรู้ ที่อาจจะนำมาซึ่งการพัฒนาชุมชนให้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น แต่ที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า อำนาจทุนนิยมที่ได้นำพาสินค้าในการลดภาวะโลกร้อนภายใต้ชื่อ คาร์บอบเครดิต เข้ามาสู่อินแปง น่าจะเป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับชุมชน ในการที่จะรับมือกับการเจรจาต่อรองซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ ถึงแม้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเครือข่ายป่าชุมชนอินแปงจะมีการพัฒนาบนจุดยืนในการเรียนรู้ด้วยการพึ่งพาตนเอง มีกระบวนการทางความคิดในการพัฒนาด้วยตนเอง คิดเอง ทำเอง โดยไม่ต้องรอการพัฒนาจากรัฐ แต่สำหรับเรื่องของคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ ผู้เขียนมีความเห็นว่าการที่ อำนาจของประชาชน จะตัดสินใจโดยลำพังคงไม่เพียงพอ หากแต่จะต้องพึ่งพาพลังอำนาจจากภายนอกซึ่งนั้นก็คือ อำนาจรัฐ

 ในปัจจุบันทางเครือข่ายป่าชุมชนอินแปงยังไม่ได้ลงนามที่จะซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจให้กับหน่วยงานหรือองค์กรใดๆ ทั้งสิ้น แต่ก็มีความต้องการที่จะขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ เพราะเห็นว่าชุมชนจะได้รับผลประโยชน์ แต่มีเงื่อนไขอยู่ที่ว่าจะต้องได้รับความเป็นธรรมในเรื่องของราคา และในความต้องการอีกหนึ่งเรื่อง คือ อยากให้คิดคำนวณคาร์บอนเครดิตในป่าสวนผสมด้วย ซึ่งในส่วนนี้ผู้เขียนขอขยายความถึงความเป็นธรรมในเรื่องของราคา ในประเด็นที่มีความต้องการขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ โดยขอยกกรณีตัวอย่างในประเทศอินเดีย[7] ที่มีการสนับสนุนให้โครงการ CCX เข้ามาดำเนินการในเรื่องของการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจกับป่าไม้ในพื้นที่ของเกษตรกร เพราะมองว่าจะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อเกษตรกรโดยเฉพาะในเรื่องของรายได้และจะสามารถช่วยลดปัญหาความยากจนในพื้นที่เขตชนบทได้อีกด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้วก็เกิดปัญหาในเรื่องของระบบบัญชีเพื่อที่จะใช้ในการบันทึกและจัดกับ carbon sequestration  ที่จะนำมาคิดเป็นตัวเงินในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตก็ยังไม่มีความสมบูรณ์ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการสูญเสียประโยชน์ของเกษตรกรต่อราคาซื้อขาย เพราะฉะนั้นแล้ว ถึงทางประเทศอินเดียจะสนับสนุนให้โครงการ CCX เข้ามาสู่ชุมชนชนบท เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรก็จริง แต่ก็ยังอยากให้มีการพัฒนาระบบบัญชี carbon sequestration ให้มีความสมบูรณ์ขึ้นมากกว่านี้ ไม่เช่นนั้นอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบในรายได้ที่ไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกร  ในกรณีตัวอย่างของประเทศอินเดีย ที่ให้การสนับสนุนการเข้ามาของตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ ภาคเกษตรกรได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ อย่างมากมาย ในการเข้ามาช่วยเฝ้าระวังให้เกิดความเป็นธรรมในการซื้อขาย แต่ก็ยังปรากฏปัญหาเรื่องของระบบบัญชีที่จะนำมาคิดเป็นตัวเงินในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต

 จากตัวอย่างของประเทศอินเดีย แสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนของภาครัฐบาล ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาให้การช่วยเหลือและเฝ้าระวังในเรื่องของราคาการซื้อขาย แต่ก็ยังปรากฏให้เห็นถึงปัญหาดังกล่าวอยู่ ในทางเดียวกันกับเครือข่ายป่าชุมชนอินแปง ซึ่งมีฐานะเป็นเพียง ชุมชนภายในรัฐไทย ถึงแม้ว่าชุมชนอินแปงจะมีมุมมองว่าด้วยความเป็นอิสระของชุมชน และของปัจเจกชน มีการพัฒนาด้วยการพึ่งพาตนเองมาโดยตลอดก็ตาม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้ว ผู้เขียนเห็นว่าประชาชนทุกคนยังต้องอยู่ภายใต้นโยบายของรัฐ ที่บริหารนโยบายโดยรัฐบาลซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ โดยในประเด็นของคาร์บอนเครดิตนั้น ตามที่ผู้เขียนได้กล่าวมาก่อนหน้านี้แล้วว่า อำนาจของประชาชน จะตัดสินใจโดยลำพังคงไม่เพียงพอ หากแต่จะต้องพึ่งพาพลังอำนาจจากภายนอกซึ่งนั้นก็คือ อำนาจรัฐ โดยรัฐควรที่จะต้องมีนโยบาย มีบทบาท หรือสร้างกติกา ในกรณีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจที่ถูกต้องเหมาะสม มีความเป็นธรรมในด้านราคาซื้อขาย ซึ่งจะต้องเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนอย่างแท้จริงโดยไม่มีวาระซ่อนเร้น ของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เข้ามาแทรกแซง(มีการกินหัวคิวกันเป็นทอดๆ) หรือแม้แต่การที่รัฐ จะต้องไม่ใช้อำนาจที่มีอยู่ในการกำหนดมาตรการ หรือนโยบาย เพื่อหาผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้องเสียเอง  

            ภาพของความเป็น อิสรเสรีชนของเครือข่ายป่าชุมชนอินแปง เป็นการแสดงออกในการใช้ อำนาจของพลเมืองที่มีฐานอยู่บนหลักการเรื่องอิสรภาพของปัจเจกบุคคล มีศักยภาพ มีความเข้มแข็งในการพัฒนาชุมชนด้วยการพึ่งพาตนเองด้วยหลักการของความพอเพียง แต่การเข้ามาของตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจจากโลกตะวันตกภายใต้ อำนาจทุนนิยม ได้หยิบยื่นผลประโยชน์ในรูปตัวเงิน ผ่านการปลูกป่า ดูแลป่า แล้วแปรค่าคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิต ถือว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ ที่ชุมชนเสรีอย่างอินแปงไม่เคยประสบมาก่อน โดยการที่เครือข่ายป่าชุมชนอินแปงจะรับมือกับอำนาจทุนนิยม จนสามารถข้ามผ่านปรากฏการณ์ ข้ามรัฐ-ลอดรัฐ ที่ผูกติดมากับผลประโยชน์ในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตใจไปได้นั้น ผู้เขียนมีความเห็นว่าจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเริ่มต้นจากตัวของเครือข่ายป่าชุมชนอินแปงที่จะต้องตั้งมั่นอยู่บนจุดยืนของการ พัฒนาและเรียนรู้ด้วยการพึ่งพาตนเองเพื่อฟื้นฟูชีวิตควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการพึ่งพาตนเอง คิดเอง ทำเอง ในการพิจารณาถึงเหตุและผลต่างๆ อย่างละเอียดรอบคอบ ในการดำเนินการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ แต่ทั้งนี้แล้วการก้าวเดินเพียงลำพังของเครือข่ายป่าชุมชนอินแปง คงจะไม่เพียงพอสำหรับการพิจารณา หรือตัดสินใจที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าว หากแต่จะต้องอาศัยพลังอำนาจจากภายนอกชุมชนเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ซึ่งนั้นก็คือ ภาครัฐ  ซึ่งในขณะนี้ชุมชนอินแปงมีความต้องการที่จะได้รับความช่วยเหลือในเรื่องการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจจากภาครัฐเป็นอย่างมาก แต่ตอนนี้คงจะต้องมีคำถามให้กับภาครัฐบาล ผู้ซึ่งเป็นตัวแทนของภาคประชาชนว่า รัฐจะมีแนวทางอย่างไรที่จะกำหนดนโยบาย หรือออกกฎหมาย สำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตทั้งภายใต้พิธีสารเกียวโต และการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในภาคสมัครใจ ให้เป็นไปอย่างชัดเจนและสมบูรณ์ โดยตั้งอยู่บนฐานของความเป็นธรรม และยุติธรรม นำไปสู่ผลประโยชน์ของทั้งประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง ตรงนี้เป็นคำถามที่จะต้องรอดูคำตอบ และเป็นประเด็นที่ผู้เขียนจะต้องทำการศึกษาในลำดับต่อไป





บรรณานุกรม

หนังสือ

ณิชาพัฒน์  เพิ่มทองอินทร์ และมานุสา มีมุข.2547.การศึกษาปริมาณคาร์บอนรวมในสวนป่าสัก.
ปริญญานิพนธ์สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโนยีสิ่งแวดล้อม.คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์.มหาวิทยาลัยมหิดล.
ณิชาพัฒน์  เพิ่มทองอินร์.2552.รายงานวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาความรู้ของประชาชน
ในการตัดสินใจเข้าสู่ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ :ศึกษากรณีเครือข่าย ป่าชุมชนอินแปง อ.กุดบาก จ.สกลนคร.รายงานวิจัยวิชา สห.821 ญาณวิทยา (Epistemology) ภาคเรียนที่  1 ปีการศึกษา 2552 โครงการปริญญาเอกสหวิทยาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
นิรมล สุธรรมกิจ.2551.แนวทางการจัดการก๊าซเรือนกระจกในภาคสมัครใจ: การซื้อขาย
คาร์บอนเครดิต.ภายใต้โครงการวิจัยเรื่องกลไกที่ยืดหยุ่นของพิธีสารเกียวโตหลัง ค.. 2012ที่มีต่อนัยมาตรการด้านเศรษฐศาสตร์ของประเทศไทย”.คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เดือนธันวาคม 2551,     โครงการพัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ด้านความตกลงพหุภาคีระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.).
บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์.2551.บทความตลาดซื้อขายคาร์บอนภาคสมัครใจในภาคป่าไม้...เริ่มขึ้น
          แล้วในไทย, เดือนพฤศจิกายน 2551, โครงการพัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ด้านความตก
ลงพหุภาคีระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม.
ระวี ถาวร.2551.บทความ การจัดการทรัพยากรโดยชุมชนเพื่อลดภาวะโลกร้อน : โอกาส และ
แนวทาง”.จดหมายข่าว ป่ากับชุมชน ฉบับที่ 28 เดือนพฤษภาคม 2551, ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก, กรุงเทพฯ.
สมบัติ จันทรวงศ์, แปล.2550.ประวัติปรัชญาการเมือง(เล่มที่สอง).ในลีโอ สเตร๊าและโจเซ็ฟ คร็อป
            ซีย์ บรรณาธิการ.กรุงเทพมหานคร : คบไฟ.
สุพัตรา  แซ่ลิ้ม.2550.มหันตภัยโลกร้อน Global  Warming…เรื่องจริงที่คุณต้องรู้.
          กรุงเทพมหานคร : ฟรีมายด์ พับลิชชิ่ง จำกัด.
Moorhead Gregory & Ricky W. Griffin.(1998).Organizational Behavior: Manage People and
          Organization. 2nd edition. Boston: Houghton-Mifflin.
Guralnik, David. B. (1986). Webster’s New World dictionary of the American language.
          2nd ed. Cleveland, Ohio : Prentice-Hall.

ข้อมูลสื่ออิเล็คทรอนิค

            (กรุงเทพธุรกิจ :18 ตุลาคม พ.ศ. 2550)
http://www.midnightuniv.org/forum/index.php?topic=8346.0m (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: 13
            มิถุนายน 2551 )
            (Asia-Pacific Development Journal.Vol.14,No2, December 2007.) – VOLUNTARY
            CARBON TRADING: POTENTIAL FOR COMMUNITY FORESTRY PROJECTS IN
            INDIA.
http://www.thaicf.org/publication/book.php (เอกสารประกอบการอภิปรายกลุ่มย่อยที่ 3 การ
จัดการทรัพยากรในวิถีท้องถิ่นสี่ภาคและระบบเศรษฐกิจไทย ในงานสัมมนาระดับชาติเรื่องป่า ชุมชน: กระบวนการเรียนรู้ในการจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วมของสังคมไทย วันที่ 9-10 สิงหาคม 2550 ณ อาคารสารสนเทศ50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพมหานคร)
http://www.phongphit.com/index.php?option=com_content&task=view&id=471&Itemid=2
http://www.forest.go.th/forest19/forestfarm19/farm/web/images/stories/sheet1_5.pdf



[1] มีสาเหตุมาจากการทำกิจกรรมต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตทั้งคนและสัตว์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  มีเทน ไนตรัสออกไซด์ และอื่นๆ ที่ทำหน้าที่ดูดซับความร้อนเอาไว้เสมือนเรือนกระจกของโลก โดยปรากฏการณ์เรือนกระจก เป็นกลไกของฉนวนห่อหุ้มชั้นบรรยากาศโลก ทำให้ผิวโลกอุ่นขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นโดยความร่วมมือจากก๊าซเรือนกระจกที่อาศัยอยู่ในชั้นบรรยากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซเหล่านี้จะทำตัวเสมือนกระจกที่ยอมให้รังสีคลื่นสั้นจากดวงอาทิตย์ผ่านทะลุมายังผิวโลกได้ แต่จะดูดกลืนรังสีคลื่นยาวที่โลกคายออกไปไม่ให้หลุดออกนอกชั้นบรรยากาศโลก จากนั้น ตัวบรรยากาศเองจะแผ่รังสีความร้อนออกมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งรังสีความร้อนเหล่านี้ส่วนหนึ่งจะหลุดหายไปในอวกาศ แต่ส่วนหนึ่งจะกลับลงมาสู่บรรยากาศชั้นล่างและพื้นผิวโลก ทำให้พื้นผิวโลกยังคงไว้ซึ่งความร้อน และส่งผลทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี
[2] คาร์บอนเครดิต หมายถึงสิ่งที่จะต้องจัดให้มีขึ้น เพื่อทดแทน การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเผาผลาญน้ำมันดิบ (Fossil Fuel) ให้เป็นพลังงานในการแปรรูปสินค้าอุตสาหกรรม หรือขับเคลื่อนยานยนต์ นอกจากนี้ยังมีก๊าซอื่นที่ก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจก (Green House Gas: GHG) อันเป็นสาเหตุของสภาวะโลกร้อน (Global Warming) เช่นก๊าซมีเทน (CH4) ที่เกิดจากการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ (ก๊าซที่เกิดจากรากของต้นข้าว และการผายลมของสัตว์หรือ "ตดวัว")   คาร์บอนเครดิตที่สำคัญ คือ แหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เรียกว่า คาร์บอนซิงค์ (Carbon Sink หรืออ่างกักเก็บคาร์บอนฯ) อันได้แก่ ป่าไม้ธรรมชาติ โดยพื้นที่ป่าสมบูรณ์ 1 เอเคอร์ (ประมาณ 2.5 ไร่) สามารถกักเก็บคาร์บอนฯ ได้ประมาณ 2 ตัน นอกจากนี้ การใช้พลังงานทดแทนเช่นพลังงานแสงอาทิตย์ ก็อาจนำมาคำนวณเป็นเครดิตได้ โดยการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แทนน้ำมัน 1 หน่วย (กิโลวัตต์-ชั่วโมง) จะได้เครดิตประมาณ 0.6 กิโลกรัม ซึ่งขณะนี้กำลังมีการพัฒนาประสิทธิภาพของเซลล์ แสงอาทิตย์ (Solar Cell) ให้สูงขึ้น และใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น เช่น สามารถดัดงอได้ โดยนำเทคโนโลยีระดับโมเลกุล หรือ นาโนเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้ 

[3] นิรมล สุธรรมกิจ.2551.แนวทางการจัดการก๊าซเรือนกระจกในภาคสมัครใจ: การซื้อขายคาร์บอนเครดิต.ภายใต้โครงการวิจัยเรื่องกลไกที่ยืดหยุ่นของพิธีสารเกียวโตหลัง ค.. 2012ที่มีต่อนัยมาตรการด้านเศรษฐศาสตร์ของประเทศไทย”.คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เดือนธันวาคม 2551,โครงการพัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ด้านความตกลงพหุภาคีระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.).หน้า 4-5.

[4] บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์.2551.บทความตลาดซื้อขายคาร์บอนภาคสมัครใจในภาคป่าไม้...เริ่มขึ้นแล้วในไทย, เดือนพฤศจิกายน 2551, โครงการพัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ด้านความตกลงพหุภาคีระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม.
[5] ต้นแบบแนวคิดหลักของเครือข่าย
1.  การยกป่าภูพานมาไว้สวน : คือการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร เราต้องเปลี่ยนอาชีพการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นปลูกพืชผสมผสาน หัวใจของการรักษาป่าภูพานไม่ใช่ห้ามคนเข้าป่า แต่มันคือการสร้างแนวคิดให้เห็นคุณค่าของป่าและการสร้างความมั่นคงด้านปัจจัย 4 ในครอบครัว
                2.  การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน : เน้นการแปรรูปเพื่อสร้างความเป็นเจ้าของ เป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตและทรัพยากรของตนเอง มุ่งผลิตสินค้าธรรมชาติที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ทั้งนี้วิสาหกิจที่เกิดขึ้นมีเป้าหมายการผลิตเพื่อทดแทนในชุมชนเป็นหลัก โดยส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีงานทำและมีรายได้ในชุมชนรวมทั้งพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการแปรรูปแบบครบวงจร ตามแนวทางการพึ่งตนเองของเครือข่ายอินแปง
                3.  การสร้างสถาบันการเงินและสวัสดิการชุมชน: มุ่งสร้างสถาบันการเงินของชาวนาโดยการระดมทุนออมทรัพย์ จากชุมชนมีเป้าหมายสร้างระบบสวัสดิการแก่ชุมชนเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันเช่น ค่าเจ็บไข้ ป่วย ตาย มีต้นแบบที่บ้านหนองสะไน บ้านบัว กุดแฮด และกลุ่มวนเกษตรภูพาน เป็นต้น
            4.  การสร้างสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน : เป็นหัวใจสำคัญที่สุดของอินแปง โดยการสร้างแนวคิดการพึ่งตนเองบนฐานภูมิปัญญาไท สร้างความเป็นพี่เป็นน้อง เน้นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ชีวิตให้เข้าใจและเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน จึงเรียกว่ามหาวิทยาลัยชีวิตซึ่งในแต่ละปีจะมีคนเข้ามาเรียนรู้มากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปีละไม่ต่ำกว่า 5,000 คน ปัจจุบันเครือข่ายอินแปงมีการพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ของชุมชน เช่น หลักสูตรการเกษตรแบบยั่งยืน หลักสูตรเด็กและเยาวชนฮักถิ่น หลักสูตรสุขภาพชุมชน หลักสูตรการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ฯลฯ
                ภารกิจทั้ง 4 ประการนี้ ก่อให้เกิดการสร้างแหล่งอาหาร การเห็นคุณค่าทรัพยากรธรรมชาติ การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า การทดแทนการนำเข้า การเป็นเจ้าของกิจการของชุมชน การมีงานทำและรายได้ การสร้างระบบทุนชุมชนมีระบบสวัสดิการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การมีความเชื่อมั่นและภาคภูมิใจในภูมิปัญญาไทการมีพี่มีน้องสานสายสัมพันธ์ ตลอดจนมีการสืบทอดแนวคิดและอุดมการณ์สู่คนรุ่นใหม่ ก่อให้เกิดการพึ่งตนเองในที่สุดทางเครือข่ายมีความภาคภูมิใจยิ่งที่ได้ดำเนินงานตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงพระราชทานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นพลังและแรงบันดาลใจของพี่น้องในเครือข่ายในการทำงานต่อไป

[6] ข้อมูลจากอาจารย์วิชิต นันทสุวรรณ(นักวิชาการที่ทำงานร่วมกับเครือข่ายอินแปงมานานกว่า 10 ปี).มูลนิธิสถาบันพัฒนาทรัพยากรชุมชน.
[7]  ที่มาจาก Asia-Pacific Development Journal.Vol.14,No2, December 2007. (www.unescap.org/pdd/publications/apdj_14_2/6_Jindal_Kerr_Nagar.pdf)
             



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น