วันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การจัดการทรัพยากรป่าไม้ของประเทศไทย






รัชนี โพธิแท่น

การจัดการทรัพยากรป่าไม้ของประเทศไทย มีประวัติความเป็นมายาวนานผ่านทั้งช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ และตกต่ำ ปัญหานานัปการประการที่ถาโถมเข้าสู่การจัดการป่าไม้ในช่วงเวลาต่าง ๆ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อ “ป่า” “คน” และทรัพยากรธรรมชาติโดยรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตามการที่จะเข้าใจถึงปัญหาดังกล่าวได้อย่างชัดเจน บทเรียนจากอดีตจึงมีความสำคัญเพราะจะเป็นฐานความรู้ ความเข้าใจในการต่อยอดความคิดสู่การจัดการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นความเข้าใจต่อพัฒนาการการจัดการทรัพยากรป่าไม้ของไทยทั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งปัจจัย เงื่อนไข หรือบริบททางสังคม ที่เข้ามามีอิทธิพล จะเชื่อมโยงให้เห็นภาพการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่าง ๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

บทความที่จะนำเสนอในครั้งนี้ และโอกาสต่อ ๆ ไป จะเป็นส่วนหนึ่งในการทำวิทยานิพนธ์เรื่อง การจัดการทรัพยากรป่าไม้ของประเทศไทย: พัฒนาการ นโยบาย และโครงสร้างการบริหาร โดยจะศึกษาถึง พัฒนาการของการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ของภาครัฐ รวมทั้งเงื่อนไข ปัจจัยที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ในช่วงเวลาต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นข้อมูลพื้นฐานเชื่อมโยงสู่การอธิบายเชิงเหตุผล ของการปฏิรูประบบราชการและการปรับโครงสร้างกรมป่าไม้ ที่ส่งผลต่อการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้โดยรวมของประเทศ ทั้งนี้จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาความเข้าใจและมุมมองเชิงสหวิทยาการเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้ของประเทศไทย โดยบทความแรกที่จะนำเสนอนี้จะเป็นการกล่าวถึง ภาพรวมของการจัดการป่าไม้ สถานการณ์ของปัญหาต่าง ๆ รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามผู้เขียนจะทยอยนำเสนอรายละเอียดในประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจในบทความครั้งต่อ ๆ ไป

การจัดการทรัพยากรป่าไม้ของประเทศไทย
ตอน วิบากกรรมของ “ป่าไม้” ไทย

ป่าไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ในอดีตประชาชนท้องถิ่นต่าง ๆ สามารถพึ่งพาอาศัย และใช้ประโยชน์ผลผลิตจากป่าได้อย่างอิสระ การจัดการทรัพยากรป่าไม้จะใช้รูปแบบจารีต ประเพณี ผู้ปกครองราชอาณาจักรไม่ได้เข้ามาชี้แนะ หรือบังคับให้ปฏิบัติตามนโยบาย หรือกฎหมายแต่อย่างใด ความสนใจต่อกิจการป่าไม้ของไทยเริ่มขึ้นอย่างชัดเจนจาก ไม้สัก” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเชื่อมโยงกับบริบททางสังคมและการเมืองขณะนั้นหลายประการ เช่น การแพร่ขยายอิทธิพลของลัทธิล่าอาณานิคม การเข้ามาของแนวคิดรัฐชาติสมัยใหม่ และมูลค่าของไม้สักที่สูงขึ้น

ทั้งนี้เมื่ออังกฤษ ได้เข้าครอบครองอินเดีย และรวมศูนย์การจัดการป่าไม้เข้าเป็นของรัฐส่วนกลางโดยมีแรงจูงใจที่สำคัญคือความต้องการไม้เพื่อใช้ในกิจการรถไฟ และการต่อเรือ (Swami, 2003, pp.119-120) โดยเฉพาะไม้สักซึ่งเป็นไม้คุณภาพดี เป็นที่ต้องการของตลาด ส่งผลให้ราคาของไม้สักเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย เมื่อปริมาณไม้สักในอินเดียเริ่มลดลง อังกฤษจึงหันมาให้ความสนใจไม้สักในพม่า หลังจากเข้ายึดครองพม่าแล้ว อังกฤษได้อนุญาตให้บริษัทเอกชน เข้าดำเนินกิจการป่าไม้ โดยรัฐคอยกำกับดูแลอยู่ห่าง ๆ ซึ่งมีบริษัทเอกชนให้ความสนใจเข้ามาดำเนินกิจการป่าไม้เป็นจำนวนมาก (Bryant, 1997, pp. 22-36) 

อังกฤษได้ขยายอิทธิพลเข้าสู่กิจการป่าไม้ของไทย เริ่มต้นจากการส่งคณะผู้แทนเข้ามาเจรจาเพื่อกำหนดเขตแดนระหว่างเมืองตะนาวศรี (Tenasserim) ของพม่า และอาณาจักรล้านนา ในช่วงปี พ.ศ. 2377-2379 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อังกฤษเห็นว่ามีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมไม้สัก แต่ทั้งอาณาจักรล้านนาและสยาม ในขณะนั้นยังไม่มีแนวคิดเรื่องการกำหนดอาณาเขตอธิปไตยโดยใช้เส้นเขตแดนแต่อย่างใด ต่อมาในปี พ.ศ.2390 อังกฤษจึงได้ส่งคนเข้ามาทำการสำรวจพื้นที่ป่าไม้ในลุ่มน้ำสาละวินและจัดทำแผนที่เพื่อกำหนดเป็นเส้นเขตแดนตามลำพัง โดยการดำเนินการดังกล่าวไม่ได้อยู่ในความสนใจของล้านนาและสยามอีกเช่นกัน (Winichakul, 2004, pp. 68-69) จากนั้น อังกฤษจึงขยายอิทธิพลเข้าสู่พื้นที่ป่าไม้ในหัวเมืองทางภาคเหนือของไทย ผ่านการทำไม้ของบริษัทและพ่อค้าไม้ชาวอังกฤษ หรือคนในบังคับของชาวอังกฤษ เช่น พม่า มอญ เงี้ยว (ไทยใหญ่)

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ป่าไม้ของหัวเมืองภาคเหนือ ในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ภายใต้การครอบครองของเจ้าผู้ครองนครที่เป็นหัวเมืองประเทศราชสำคัญ 5 นคร คือ นครเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ และน่าน ซึ่งมีสิทธิดั้งเดิมในการอนุญาตให้บุคคลต่าง ๆ เข้าทำสัมปทานไม้ในพื้นที่ป่าที่ตนเป็นเจ้าของป่าอยู่ โดยการจ่ายค่าตอไม้ และค่าเปิดป่า แต่ภายหลังเมื่อมีบริษัทหรือบุคคลต่างชาติ เข้ามาขอสัมปทานมากขึ้น เกิดการซ้อนทับพื้นที่สัมปทาน และกรณีพิพาทระหว่างผู้ขออนุญาตและเจ้าของป่าอยู่เนื่อง ๆ มีคำร้องทุกข์ของพ่อค้าอยู่เสมอ ๆ (ชมัยโฉม สุนทรสวัสดิ์, 2521, น.7-9) ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่ป่าไม้ไม่ได้มีการกำหนดเขตแดนอย่างชัดเจน เหตุดังกล่าวเป็นความอ่อนไหวเชิงการเมืองที่อาจจะนำไปสู่กรณีพิพาทที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น และอาจจะเป็นฉนวนให้ประเทศมหาอำนาจอ้างสิทธิเข้ายึดครองพื้นที่ป่าดังกล่าวได้

กอปรกับในช่วงเวลานั้นแนวคิดรัฐชาติสมัยใหม่ (modern state) ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อความคิดของคนชั้นนำในประเทศเพิ่มมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงได้มีพระราโชบาย ปฏิรูปการบริหารจัดการราชอาณาจักร จากระบบจตุสดมภ์สู่การจัดการแบบมณฑลเทศาภิบาล ดึงอำนาจการบริหารจัดการในด้านต่าง ๆ เข้าสู่กลไกอำนาจส่วนกลางอย่างสมบูรณ์แบบเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2435 พร้อมทั้งเริ่มดำเนินการจัดทำแผนที่ประเทศ เพื่อกำหนดอาณาเขตที่ชัดเจน และดึงอำนาจการปกครองของหัวเมืองต่าง ๆ เข้าสู่การบริหารจัดการโดยอำนาจราชอาณาจักรส่วนกลาง

กิจการป่าไม้ซึ่งเป็นกิจการที่สามารถสร้างรายได้จำนวนมหาศาล แต่มีความอ่อนไหวเชิงการเมืองค่อนข้างมาก จึงเป็นทรัพยากรธรรมชาติชนิดแรก ๆ ที่ราชอาณาจักรไทยสนใจเข้ามาจัดการอย่างจริงจัง ราชอาณาจักรไทยได้ส่งผู้แทนไปเจรจากับเจ้าเมืองฝ่ายเหนือเพื่อโอนอำนาจของกิจการป่าไม้มาเป็นของสยาม โดยการให้ค่าตอบแทนเจ้าของป่าตามเดิม แม้นจะสร้างความไม่พอใจและการต่อต้านในช่วงแรก ๆ บ้างก็ตาม นอกจากนั้นยังได้กำหนดกฎระเบียบเพื่อให้มีแนวทางในการดำเนินงานที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ต่อมาได้มีการสถาปนากรมป่าไม้ ขึ้นเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2439 ตามคำแนะนำของ Mr. Herbert A. Slade ผู้เชี่ยวชาญด้านป่าไม้ของอังกฤษประจำประเทศอินเดีย ที่รัชกาลที่ 5 ได้ว่าจ้างเข้ามาสำรวจกิจการป่าไม้สักของประเทศไทย ตามหลักวิชาการด้านป่าไม้สมัยใหม่ พร้อมทั้งได้ว่าจ้างให้ Mr. Slade เป็นเจ้ากรมป่าไม้ (Conservator of Forests) คนแรกอีกด้วย  เหตุผลสำคัญคือไทยยังไม่มีนักวิชาการป่าไม้ที่มีความรู้ด้านการป่าไม้สมัยใหม่ และมีความจำเป็นต้องวางรากฐานการบริหารจัดการป่าไม้ของไทยให้เป็นระบบ แต่อีกนัยยะหนึ่งคือการจ้างชาวอังกฤษมาเป็นเจ้ากรมป่าไม้เพื่อจะใช้บังคับหรือเจรจากับพ่อค้าไม้ชาวอังกฤษและชาวต่างชาติอื่น ๆ นั้นเอง

การจัดการป่าไม้ของประเทศไทยในช่วงห้าสิบปีแรกภายใต้การดูแลของกรมป่าไม้ ได้ให้ความสำคัญกับการทำไม้ โดยเฉพาะไม้สัก มีการออกกฎหมายและระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ ในการให้สัมปทานการทำไม้ การเก็บค่าภาคหลวงและการบำรุงรักษาป่าต่าง ๆ  อย่างไรก็ตามการจัดการป่าไม้ได้ขยายขอบเขตจากการทำไม้ไปสู่การจัดการเพื่อประโยชน์อื่น ๆ เช่น การจัดการป่าไม้เพื่อเป็นพื้นที่ต้นน้ำ นันทนาการ ฯลฯ แต่พื้นที่ป่าไม้ของประเทศกลับมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และรวดเร็ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2504 หลังจากประเทศไทยเริ่มมีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตามแบบจำลองการพัฒนาของธนาคารโลก

แม้นรัฐได้มีนโยบาย และมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้การคุ้มครองพื้นที่ป่า ประกาศใช้กฎหมายเพื่อควบคุมการเข้าไปใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าไม้ เช่น พ..บ สงวนและคุ้มครองป่า พ..2481 (... ฉบับแรกที่ให้ความสนใจป่าในฐานะที่เป็นพื้นที่) ...สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.. 2503  ... อุทยานแห่งชาติ พ.. 2504 และ พ... ป่าสงวนแห่งชาติ พ.. 2507  (กรมป่าไม้, 2528) แต่ประเทศไทยก็ยังประสบปัญหาการลดลงของพื้นที่ป่าอย่างต่อเนื่อง  ดังเช่นเคยมีพื้นที่ป่าไม้ ถึงร้อยละ 70 ในปี 2453 (Trisura, Y., n.d)  และร้อยละ 53 ในปี 2504 แต่พื้นที่ป่าไม้ลดลงอย่างรวดเร็ว คงเหลือร้อยละ 34 ในปี พ.ศ. 2521 (กรมป่าไม้, 2528)   ต่อมาในปี พ.ศ. 2531 ลดลงเหลือร้อยละ  28 (กรมป่าไม้, 2540) และอีก 10 ปีต่อมา  พื้นที่ป่าไม้คงเหลือเพียงร้อยละ 25 (กรมป่าไม้, 2542)  ในปี 2543 ได้สำรวจพื้นที่ป่าไม้อีกครั้ง และได้รวมพื้นที่สวนยางพารา เข้าไปด้วย ทำให้มีสถิติจำนวนพื้นที่ปาไม้เปลี่ยนจาก ร้อยละ 25 เป็น ร้อยละ 33 (กรมป่าไม้, 2547) แต่มีข้อโต้แย้งว่า จำนวนป่าไม้ที่มีตัวเลขเพิ่มขึ้นนั้นแท้จริงแล้วพื้นที่ป่าไม่ได้มีการเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด 

ปัญหาการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรป่าไม้ มีความซับซ้อน เกี่ยวเนื่องไปสู่ปัญหา และสถานการณ์อื่น ๆ ทั้งเชิงนโยบาย และการปฏิบัติ ซึ่งบางปัญหาอยู่นอกเหนือการควบคุมจัดการของกรมป่าไม้ อย่างไรก็ตามนักวิชาการป่าไม้ และเจ้าหน้าที่รัฐส่วนใหญ่เห็นว่าการลดลงของพื้นที่ป่าไม้มีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรทำให้ความต้องการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจกรรมต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย รวมทั้งนโยบายของหน่วยงานราชการต่าง ๆ มีความขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลา (วุฒิสภา, คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม, 2539, น.56)  แต่ก็มีนักวิชาการสายสังคมศาสตร์ และองค์กรพัฒนาเอกชนอีกจำนวนหนึ่งมีความเห็นว่าการลดลงของพื้นที่ป่าไม้เกี่ยวข้องโดยตรงกับนโยบายและการดำเนินงานของรัฐที่ออกมาในช่วงเวลาต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่มีผลไปกระตุ้นให้มีการรุกคืบเข้าไปใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าไม้ เช่น นโยบายการส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อส่งออก  การพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐาน เช่น ถนน เขื่อน การให้สัมปทานป่าไม้ที่ขาดการควบคุมดูแลอย่างจริงจัง และการทำลายป่าที่มีสาเหตุมาจากความมั่นคงของรัฐในการต่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ นอกจากนั้นมูลเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้พื้นที่ป่าไม้ถูกทำลายลงไปอย่างรวดเร็ว คือ การบริหารจัดการป่าไม้แบบรวมศูนย์อำนาจ ผูกขาดโดยรัฐส่วนกลาง ส่งผลให้ระบบการบริหารและจัดการขาดการตรวจสอบและควบคุม ขาดเอกภาพในการปฏิบัติงานและนโยบายที่ขาดความต่อเนื่อง  (เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง(บก.), 2535; ธเนศวร์ เจริญเมือง, 2546; ปิ่นแก้วเหลืองอร่ามศรี, 2548)          

ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรป่าไม้และการลดลงของพื้นที่ป่าเป็นปัญหาสำคัญระดับชาติ เนื่องจากมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของคน ทั้งทางตรงและทางอ้อม จากการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (2550, น.7-8) ที่ได้ทำการประเมินมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกินระดับการพัฒนาที่ยั่งยืน นำเสนอด้วยมูลค่าเฉลี่ย 5 ปี (พ.ศ. 2542-2546) คำนวณราคา ณ ปี พ.ศ. 2547 พบว่าทรัพยากรป่าไม้มีมูลค่าความเสียหายจากการสูญเสียพื้นที่ป่า สูงเป็นอันดับ 1 คือ 80,813 ล้านบาทต่อปี ซึ่งแตกต่างจากอันดับสอง ทรัพยากรดินและการใช้ที่ดิน ที่มีมูลค่าการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของดินมีค่าเฉลี่ย เพียง 7,477 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น

แม้นว่ากรมป่าไม้มีความพยายามที่จะบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ภายใต้การนำองค์ความรู้ด้านวนศาสตร์ หรือการจัดการเชิงวิทยาศาสตร์ป่าไม้ (scientific forestry) มาเป็นฐานในการจัดการก็ตาม แต่กระแสการเมืองและ เศรษฐกิจ ก็เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้กรมป่าไม้ไม่สามารถที่จะจัดการทรัพยากรป่าไม้บนฐานของความรู้ด้านป่าไม้ได้อย่างแท้จริง นอกจากนั้น อิทธิพลของกระแสความคิดด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น การเคลื่อนไหวเรื่องป่าชุมชนของภาคประชาชน  การเรียกร้องสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ หรือ แนวคิดที่มีอิทธิพลจากต่างประเทศ เช่น แผนปฏิบัติการ 21 (Agenda 21) พิธีสารเกียวโต(Kyoto Protocol)  การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (ecotourism) การจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland)  การจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) ภาวะโลกร้อน (global warming) เป็นต้น กระแสความคิดเหล่านี้ล้วนมีอิทธิพลเข้ามาสู่การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยรวมของประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ดังนั้นหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ของภาครัฐจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้

ในกรณีของกรมป่าไม้ อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งในการปรับตัวคือ โครงสร้างองค์การที่มีขนาดใหญ่ เทอะทะ ขาดความคล่องตัว และวัฒนธรรมองค์การที่ค่อนข้างผูกติดอยู่กับระบบราชการแบบเก่า รวมทั้งการเข้ามามีอิทธิพลของฝ่ายการเมือง ปัญหาการประพฤติมิชอบในวงราชการ ทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร  การปรับโครงสร้างของกรมป่าไม้ครั้งใหญ่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2545 ภายใต้นโยบายการปฏิรูประบบราชการในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อลดความซ้ำซ้อน การกระจัดกระจาย และขาดเอกภาพของหน่วยงานราชการ ผลักดันให้การบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ ที่มีความคล่องตัว โปร่งใส เป็นธรรม และได้รับความเชื่อถือศรัทธาจากประชาชน มีศักยภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศมากขึ้น โดยได้จัดแบ่งการบริหารงานจากเดิม 12 กระทรวง 1 ทบวง 125 กรม เป็น 20 กระทรวง 136 กรม  และปรับเปลี่ยนรูปแบบสู่การบริหารงานเชิงยุทธศาสตร์ สร้างระบบการประเมินผลโดยใช้คำรับรองการปฏิบัติงาน นำระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการบริหารภาครัฐ พัฒนาระบบการเงินการคลัง และปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ ด้วยการลดขั้นตอนการปฏิบัติราชการ หรือการจัดศูนย์บริการร่วมเพื่อให้บริการประชาชน (ทศพร ศิริสัมพันธ์, 2549, น.164-165)

เมื่อมีการปฏิรูประบบราชการ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 และพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 ได้แยกภารกิจของกรมป่าไม้ออกเป็น 3 หน่วยงานหลัก คือ

                          กรมป่าไม้  มีภารกิจด้านการจัดการพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ ส่งเสริมกำกับดูแลอุตสาหกรรมป่าไม้ตามกฎหมายป่าไม้  เพื่อให้เกิดการพัฒนาป่าเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนทั้งเชิงเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยการดำเนินงานของกรมป่าไม้ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และพระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ.2535
                          กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  มีภารกิจด้านการอนุรักษ์ ส่งเสริม และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  ในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในรูปแบบการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า  โดยภารกิจของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเป็นไปตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535
                          กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านป่าไม้ คือ การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลนของประเทศ

แนวคิดการปรับโครงสร้างรูปแบบดังกล่าว เกิดจากการที่วุฒิสมาชิกเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าจะเป็นโอกาสให้ทั้งงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และงานพัฒนาป่าเศรษฐกิจได้มีการพัฒนาที่ดีขึ้น (แก้วสรร อติโพธิ, 2545) สิ่งที่สะท้อนออกมาในช่วงแรก ๆ ของการปรับโครงสร้างคือ มีปัญหาและอุปสรรคในการบริหารงานค่อนข้างมาก (ชเยนทร์ ปิเลี่ยน, 2547; ประไพพรรณ จินดามัย, 2547) ก่อให้เกิดความสับสน ขัดแย้ง และการต่อต้านจากข้าราชการในหน่วยงานของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช การบริหารจัดการองค์การ และภารกิจต่าง ๆ ของทั้งสองกรมไม่ชัดเจน เกิดการแย่งชิงทรัพยากร ทั้งกำลังคน อาคาร สถานที่ และ อุปกรณ์ต่าง ๆ (“ผ่ากรมป่าไม้-กรมอุทยาน ฯ วุ่น”, 2545; “ปลอด เปิดศึกแย่งตึกป่าไม้”, 2545; “กรมป่าไม้สุดทนกรมอุทยาน ฯ เตือนไม่ฟังออกใบเบิกทางผิด กม”, 2546) ทำให้เกิดภาวะสุญญากาศในการดำเนินงาน การทำงานของเจ้าหน้าที่หละหลวม ขาดประสิทธิภาพ (“กรมป่าไม้รุกปรับโครงสร้างครั้งใหญ่”, ม.ป.ป.) หรือ การที่มีพื้นที่ป่าไม้ลดลงในช่วงปี 2543-2547 ประมาณ 1.5 ล้านไร่ โดยเฉพาะในช่วงปี 2545-2546 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มแรกของการปฏิรูประบบราชการและปรับโครงสร้างกรมป่าไม้ ทำให้เกิดช่องโหว่ทางกฎหมาย (“อธิบดีกรมป่าไม้รับระบบป้องกันป่าล้มเหลว”, ม.ป.ป.) รวมทั้งคุณภาพของการบริการและความสับสนของประชาชนผู้ใช้บริการงานต่าง ๆ  (“แยกกรมป่าไม้/ อุทยานล่อกันเละแย่งกันออก ใบเบิกทาง ทำสับสน”, 2546) นอกจากนั้นยังพบว่าความไม่ชัดเจนในแนวเขตป่าไม้ เป็นอุปสรรคอีกประการหนึ่งที่ทำให้เกิดความลักลั่นในการควบคุมดูแลงานป่าไม้ จึงมีความพยายามอยู่หลายครั้งที่จะผลักดันให้มีการยุบรวมกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ปรับโครงสร้างไปแล้ว ดังเช่น เคยมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2549 รับหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาการรวมกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นกรมป่าไม้ และปรับปรุงอำนาจหน้าที่และกิจการของกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเห็นว่าหน่วยงานทั้งสองมีลักษณะงานและอำนาจหน้าที่ที่ซ้ำซ้อนกัน ซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจความคิดเห็นของบุคลากรทั้งสามกรมที่เห็นว่าควรมีการยุบรวมกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร้อยละ 38 และยุบรวมทั้ง 3 กรม ร้อยละ 42 (ดุสิต เวชกิจ, ภทรพร ยุทธภรณ์พินิจ และทยณัฐ ขวนไชยสิทธิ์, 2551, น. 26) แต่แนวคิดดังกล่าวถูกยับยั้งในสมัยที่นายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งในปี 2553 นี้ เมื่อ นายสุวิทย์ คุณกิตติ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้สำนักปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ศึกษาความเป็นไปได้ของการยุบรวมกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชอีกครั้ง แต่การยุบรวมกรมดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้หรือไม่อย่างไร คงต้องให้เวลา และความจริงใจของฝ่ายการเมืองเป็นเครื่องตัดสิน และที่สำคัญไปกว่านั้น ถ้ามีการยุบรวมกรมทั้งสองได้ แล้วประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ของไทยจะดีขึ้นได้จริงมากน้อยเพียงใด หรือเป็นเพียงวิบากกรรมหนึ่งของทรัพยากรป่าไม้ไทยเท่านั้น
      
เอกสารอ้างอิง

หนังสือและบทความในหนังสือ
กรมป่าไม้. (2528). สถิติการป่าไม้ของประเทศไทย ปี 2528. กรุงเทพ ฯ: ผู้แต่ง.
กรมป่าไม้. (2539). 100 ปี กรมป่าไม้ 2539.  กรุงเทพ ฯ: (ม.ป.ท.).
กรมป่าไม้. (2540). สถิติการป่าไม้ของประเทศไทย ปี 2540. กรุงเทพ ฯ: ผู้แต่ง.
กรมป่าไม้. (2542). สถิติการป่าไม้ของประเทศไทย ปี 2542. กรุงเทพ ฯ: ผู้แต่ง.
กรมป่าไม้. (2545). สถิติการป่าไม้ของประเทศไทย ปี 2545. กรุงเทพ ฯ: ผู้แต่ง.
กรมป่าไม้. (2547). สถิติการป่าไม้ของประเทศไทย 2547. กรุงเทพ ฯ: ผู้แต่ง.
กรมป่าไม้. (2550). สถิติการป่าไม้ของประเทศไทย 2550. กรุงเทพ ฯ: ผู้แต่ง.
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. (2547). ข้อมูลสถิติอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 2547. กรุงเทพ ฯ: ผู้แต่ง.
เจิมศักดิ์  ปิ่นทอง (บรรณาธิการ). (2535). วิวัฒนาการของการบุกเบิกที่ดินทำกินในเขตป่า. กรุงเทพ ฯ: สถาบันท้องถิ่นพัฒนา.
ดุสิต เวชกิจ, ภทรพร ยุทธภรณ์พินิจ และทยณัฐ ขวนไชยสิทธิ์. (2551). รายงานการวิจัยเรื่อง ความคิดเห็นของบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านป่าไม้ต่อผลกระทบจากการแบ่งส่วนราชการงานด้านป่าไม้ของชาติ ออกเป็น 3 กรม. สมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์และสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
ทศพร  ศิริสัมพันธ์. (2549). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการบริหารราชการแนวใหม่ (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพ ฯ: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ.
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี. (2548). ความจริง วัฒนธรรม และความเชื่อ: การเมืองและการผลิตความรู้ป่าไม้ในไทย. ใน ความรู้กับการเมืองเรื่องทรัพยากร, เอกสารวิชาการลำดับที่ 43 (น. 9-45).  กรุงเทพ ฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
วุฒิสภา, คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม. (2539). ผลกระทบจากการตัดไม้ทำลายป่าที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และคุณภาพชีวิต: รายงานของคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภาพ. กรุงเทพ ฯ :  กองกรรมาธิการ, สำนักเลขาธิการวุฒิสภา.

บทความวารสาร
แก้วสรร อธิโพธิ. (2 ตุลาคม 2545). ผ่ากรมป่าไม้ ก้าวแรกของการปฏิรูปงานจัดการป่าไม้ไทย. มติชนรายวัน, น. 7.
ธเนศวร์  เจริญเมือง. (2546). การบริหารและจัดการป่าไม้ในสังคมไทย.  ป่ากับชุมชน, 10(19), 5-9.

วิทยานิพนธ์
กอบชัย  ทวีสุขเสถียร. (2545). ความคิดเห็นของข้าราชการสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างกรมป่าไม้ ตามนโยบายปฏิรูประบบราชการของรัฐบาล. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, คณะวนศาสตร์.
ชมัยโฉม  สุนทรสวัสดิ์. (2521). การศึกษาเชิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกิจการป่าไม้ทางภาคเหนือของไทย.  วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะอักษรศาสตร์, สาขาวิชาประวัติศาสตร์.
ชเยนทร์ ปิเลี่ยน. (2547).  ความคิดเห็นของข้าราชการกรมป่าไม้เกี่ยวกับปัญหาการบริหารงานภายหลังการปฏิรูประบบราชการ. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, คณะวนศาสตร์.
ประไพพรรณ จินดามัย. (2547). ความคิดเห็นของข้าราชการกรมป่าไม้ กับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างกรมป่าไม้ ตามนโยบายปฏิรูประบบราชการ. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, คณะวนศาสตร์.
วชิรพล รัตนสุวรรณ. (2548). ความพึงพอใจในการทำงานของข้าราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช หลังการปฏิรูประบบราชการ.  วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, คณะสังคมศาสตร์.
วรานนท์  สมคิด. (2547). การปฏิรูประบบราชการ: สมัยประบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับปัจจุบัน. ปัญหาพิเศษ, มหาวิทยาลัยบูรพา.
วิรากานต์ เทียมแสน. (2550).  ความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของข้าราชการกรมป่าไม้ภายหลังการปฏิรูประบบราชการ.   การศึกษาค้นคว้าอิสระศิลปศาสตรมหาบัณฑิต,มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, คณะสังคมศาสตร์, สาขารัฐศาสตร์.
หฤทัย รอดบุญพา. (2546). การปฏิรูประบบราชการ กรณีความเหมาะสมในการปรับโครงสร้างกรมป่าไม้. ผลงานวิชาการเพื่อประเมินบุคคล, สำนักนโยบายและแผนงบประมาณ.

เอกสารอื่น ๆ
กรมป่าไม้. (2545). กรมป่าไม้ บทบาทและภารกิจตามโครงสร้างใหม่ ปัญหาและอุปสรรค.  (เอกสารอัดสำเนา)
พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2535. ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 109 ตอนที่ 109, 22 ตุลาคม 2535.
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545. ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม119 ตอนที่ 99 ก, 2 ตุลาคม 2545.

สื่ออิเล็กทรอนิกส์
กรมป่าไม้รุกปรับโครงสร้างครั้งใหญ่. (ม.ป.ป.). ไทยรัฐ ออนไลน์. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม  2550, จาก  http://www.thairath.co.th/ news.php.
กรมป่าไม้สุดทนกรมอุทยาน ฯ เตือนไม่ฟังออกใบเบิกทางผิด กม. (3 เมษายน 2546). ประชาชาติธุรกิจ, น.13.  สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2551, จากฐานข้อมูล Matichon e-Library.
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. (2551). หน่วยงานของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2551, จาก http://www.dnp.go.th/nation_index/Nationalpark_chart.pdf.
ปลอด เปิดศึกแย่งตึกป่าไม้สวมกรมอุทยานคืนแค่ป้าย. (27 กันยายน 2545). กรุงเทพธุรกิจ, น. 15 และ 17. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2551, จากฐานข้อมูล Matichon e-Library.
ผ่ากรมป่าไม้-กรมอุทยาน ฯ วุ่น. (11 ตุลาคม 2545). มติชนรายวัน, น. 13. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2551, จากฐานข้อมูล Matichon e-Library.
แยกกรมป่าไม้/ อุทยานล่อกันเละแย่งกันออกใบเบิกทางทำสับสน. (10 มีนาคม 2546). ประชาชาติธุรกิจ, น. 11. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2551, จากฐานข้อมูล Matichon e-Library.
อธิบดีกรมป่าไม้รับระบบป้องกันป่าล้มเหลว. (ม.ป.ป.). กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อวันที่ 22  สิงหาคม 2550 , จาก http://www.bangkokbiznews.com/2007/08/22/news_24449384.php?news_id=24449384.

Books
Bryant, R.L. & Bailey, S. (1997). Third world political ecology. New York: Routledge.
Bryant, R.L. (1997). The political ecology of forestry in Burma 1824-1994.  London: C.Hurst & Co. Ltd.,
Pragtong, K & Thomas, D.E. (1990). Evoluting management system in Thailand.  In Poffenberger, M. (ed) Keepers of the forest land management alternatives in Southeast Asia (pp. 167-186). Connecticut: Kumarian Press.
Winichakul, Thongchai. (2004). Siam mapped a history of the geo-body of a nation. Bangkok: Silkworm Books.

Articles
Bryant, R.L. & Goodman, M.K. (2008).  A pioneering reputation: assessing Piers Blaike’s contributions to political ecological. Geoforum, 39, 708-715.Offen, K.H. (2004). Historical political ecology: an introduction [Electronic version].  Historical Geography, 32, 19-42.Swami, V. (2003). Environmental  history and British colonialism in India  a prime political agenda. The new  centennial  review, 3(3), 113-130. Retrieved May 25, 2009, from Project Muse database.
Vandergeest, P. & Peluso, N.L. (1995). Territorialization and state power in Thailand. Theory and Society, 24(3), 385-426.

Other Materials
Trisura, Y. (n.d.).  Performance Assessment of Forest Resource Management in Thailand Using Pressure-State-Response Framework. Faculty of Forest, Kasetsart University.  

1 ความคิดเห็น:

  1. การรีเชฟของคุณสุวิทย์ คุณกิตติ เมื่อครั้งเป็น รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประมาณปี 2549 มีปัญหาเรื่องนี้ และกำลังส่งกลิ่นเหม็นเน่า มีใครทราบข้อมูลนี้บ้างครับ บอกด้วย

    ตอบลบ