วันพฤหัสบดีที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ไสยศาสตร์ในการเมืองไทยสมัยใหม่


ชญานิน ป้องกัน

ให้เคลิ้มเคล้นเห็นปีศาจประหวาดหวั่น อินทรีย์สั่นเศียรพองสยองขน
ท่านบิดาหาผู้ที่รู้มนต์ มาหลายคนเขาก็ว่าต้องอารักษ์
หลงละเมอเพ้อพูดกับผีสาง ที่เคียงข้างคนผู้ไม่รู้จัก
แต่หมอเฒ่าเป่าปัดชะงัดนัก ทั้งเซ่นวักหลายวันค่อยบรรเทา
(นิราศเมืองแกลง)

“ภาพลักษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะ นายกรัฐมนตรี คนที่ 23 ของประเทศไทย ค่อนข้างเพียบพร้อม เพราะนอกจากเป็นผู้นำที่ถือว่าหนุ่มแล้ว ยังมีภาพนักธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จจากกิจการโทรคมนาคม ฐานะร่ำรวย จบปริญญาเอกจากเมืองนอกโดยทุนรัฐบาล แต่ขณะเดียวกัน กลับมีภาพของคนที่หมกมุ่นใน ไสยศาสตร์...”
(มติชนรายวัน วันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ปีที่ ๓๒ ฉบับที่ ๑๑๔๕๘)

สองวรรคข้างต้น ได้เชื่อมร้อยมิติความต่างของกาลเวลา ในการเชื่อมโยงเข้าสู่ประเด็นความคิดหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าจะมีพลังแฝง ที่จะแสดงตนได้อย่างมีความหมายในสภาวะสังคม ทว่ากลับดูเสมือนว่า ในความหมายเหล่านั้น กลับไร้พื้นที่ที่จะยืนยัน การมีอยู่ของตัวตนได้ในสภาวะสังคมปัจจุบันเช่นกัน ซึ่งเป็นสังคมที่ก้าวไกลด้วยการสื่อสาร ความสะดวกสบายในการคมนาคม และความเจริญรุ่งเรืองของเทคโนโลยี และยังเป็นสังคมซึ่งยอมรับการถูกอธิบายด้วยวัฒนธรรมกระแสหลักของความรู้ ที่ ต้องถูกพิสูจน์ได้ ด้วยจินตนาการแบบวิทยาศาสตร์

การไร้ซึ่งพื้นที่ ที่ยืนทางความหมายและการไร้ซึ่งความหนักแน่น จากการยืนยันด้วยการพิสูจน์ได้ดังกล่าว กลับไม่ใช่ความจริงเพียงชุดเดียว ในเวทีของการสื่อสารทางสังคม ที่ใช้ภาพแห่งความเป็นทางการ และปรากฏการณ์การพิสูจน์ได้เป็นแก่นแกน ทว่าความจริงอีกชุดหนึ่ง ที่สอดผสานอยู่กับความจริงชุดแรกที่ผู้คนต่างขับเคลื่อนวิถีและดำรงชีวิตแห่งตนผ่านกระบวนการต่างๆทางสังคม ความจริงอีกชุดนั้น กลับซ้อนตัวเงียบๆอยู่อย่างทรงพลัง หนักแน่น ซ้ำยังสร้างความหมายแก่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ได้อย่างมีคุณค่าต่อสิ่งนั้น ทั้งๆที่การสำแดงซึ่งพลังและความหมายในตัวเองเหล่านั้น ยังไม่เป็นที่ยอมรับของญานวิทยาแบบวิทยาศาสตร์กระแสหลักเลยก็ตาม ซึ่งสิ่งนั้น คือ “ไสยศาสตร์”

บทความนี้ จึงมุ่งที่จะพิสูจน์สิ่งที่เรียกว่า “ไสยศาสตร์” การพิสูจน์นี้ มิใช่การทดสอบว่าปฏิบัติการทางไสยศาสตร์ใดใดก็ตามแต่ เป็นความเป็นจริงแท้หรือไม่ หรือมิได้มุ่งหวังว่า ที่จะค้นหากระบวนการเข้าถึงความรู้ความจริงของสิ่งที่เรียกว่าไสยศาสตร์ เพราะตราบเท่าที่ เราเลือกที่จะสมาทานศรัทธาในจินตนาการของวิทยาศาสตร์แล้ว สิ่งใดก็ตาม ยังไม่เป็นที่ยอมรับของญานวิทยาแบบวิทยาศาสตร์ สิ่งนั้นย่อมยังไม่มีอยู่จริง หากทว่า ขณะเดียวกัน ก็ย่อมต้องตระหนักว่า ตราบเท่าที่วิทยาศาสตร์ ไม่สามารถยืนยันได้ว่า สิ่งที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ สิ่งนั้นไม่มีอยู่ และสิ่งนั้นไม่เป็นจริง การก้าวล่วงเข้าไปหา “ความจริง” ในเส้นแบ่งอันพร่าเลือนเหล่านี้ จึงมีความซับซ้อน และสิ้นเปลืองเวลา เกินกว่าความพยายามที่จะสร้างคุณค่าหรือลดทอนคุณค่าให้กับสิ่งหนึ่งสิ่งใด อีกทั้ง กระบวนการเข้าถึง “ความจริง” ในการหาความรู้ของไสยศาสตร์ ก็มีร่องทาง มีระบบตรรกะเหตุผล พิธีกรรม กลวิธี เฉพาะของตน การทดสอบพิสูจน์ “ความจริง” ของไสยศาสตร์ จึงยิ่งกว่าความสลับซับซ้อนในสามัญปฏิบัติ ตามวิถีปกติของผู้เขียนที่จะก้าวล้วงเข้าสู่กระบวนการหาความรู้ของไสยศาสตร์เหล่านั้น

เมื่อผู้เขียนตระหนักในสิ่งดังกล่าว การแสวงหาความรู้ความจริงนี้ ผู้เขียนจึงหลีกพ้นการมุ่งหาความจริง ในการทดสอบพิสูจน์ “ความจริง” ของไสยศาสตร์ หากแต่สนใจการมีอยู่ “ไสยศาสตร์” ในเชิงของ “คุณค่า” ที่เกี่ยวข้อง “อำนาจ” โดยเฉพาะ สิ่งที่เรียกว่า “อำนาจทางการเมือง” โดยยึดกรอบเวลา ในบริบทของการเมืองสมัยใหม่ เป็นสำคัญ

ไสยศาสตร์ และ การเมือง : แนวคิด ทฤษฎี และปฏิสัมพันธ์ ของไสยศาสตร์บนพื้นที่การการเมือง ในฐานะ “ระบบคุณค่า”

ไสยศาสตร์

ไสยศาสตร์ เป็นกลุ่มหนึ่งของความเชื่อ และ ความเชื่อคือการยอมรับนับถือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งการยอมรับนี้จะเกิดจากการมีเหตุผลรองรับ หรือด้วยความศรัทธาที่แฝงไว้ด้วยความกลัวก็ได้ ความเชื่อจึงเป็นสิ่งที่ประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมาในสังคม จนเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของมนุษย์ ฉะนั้น ความเชื่อจึงมีขอบเขตกว้างขวางมาก ความเชื่อมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ หากความเชื่อเปลี่ยนไปพฤติกรรมของมนุษย์ก็จะเปลี่ยนไปด้วย หากสังคมใดความเชื่อนั้นเป็นระบบความเชื่อ คนในสังคมก็จะมีพฤติกรรมตามระบบความเชื่อในลักษณะเดียวกันด้วย นี่คือคำอธิบายเบื้องต้นของสิ่งที่เรียกว่า ความเชื่อทางไสยศาสตร์สังคมไทยในปัจจุบัน แม้วิทยาศาสตร์จะก้าวหน้าไปมาก แต่มนุษย์ก็ยังมีพฤติกรรม แสดงออกทางความเชื่อกันอยู่ในชีวิตประจำวัน หลายความเชื่อ อาจจะผสานอยู่ในสังคมอย่างแนบเนียน กลมกลืน จนคนในสังคมไม่รู้สึกถึงการดำรงอยู่ของความเชื่อเหล่านั้น ขณะที่ความเชื่อบางประเภท เช่น ไสยศาสตร์ กลับไม่สามารถผสานความแนบเนียนเช่นนั้น ในการดำรงตนอยู่ในสังคมไทยได้ คำถามต่อมา คือ ไสยศาสตร์มีสถานะในการยืนอยู่อย่างไรในกลุ่มของความเชื่อ ทำให้ต้องย้อนกลับไปดูความหมายโดยทั่วไปว่า โดยทั่วไปแล้ว ในเรื่องความเชื่อสามารถแบ่งประเภทความเชื่อ เป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ
1.ความเชื่อทั่วๆไป หรือความเชื่อธรรมดา (Belief) เช่น เชื่อว่า มีนรก มีสวรรค์ เทวดา ความฝัน
2.ความเชื่อที่แฝงไว้ด้วยความกลัว หรือความเชื่อทางไสยศาสตร์ (Superstition) เช่น การเชื่อถือโชคลางต่างๆ เป็นต้นว่า นกแสกบินผ่านบ้านนั้นจะมีคนตาย ดาวหางขึ้น หมายถึงความพินาศของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ความฝันบางอย่างถือเป็นลางไม่ดี เช่น ฝันว่าฟันหัก ความเชื่อในเรื่องเวทมนต์คาถา ภูตผีปีศาจ ปรากฏการณ์ธรรมชาติบางอย่าง เช่น รุ้งกินน้ำ เชื่อกันว่าชี้แล้วนิ้วจะด้วน เป็นต้น
มณี พยอมยงค์ ได้อธิบายถึงประเภทความเชื่อดังกล่าวเพิ่มเติมไว้ว่า จากความเชื่อ 2 ประเภทข้างต้น อาจแบ่งเป็น 12 กลุ่ม คือ
1.ความเชื่อเกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ 2.ความเชื่อเกี่ยวกับยากลางบ้าน
3.ความเชื่อโชคลาง 4.ความเชื่อเกี่ยวกับฤกษ์นิมิต
5.ความเชื่อทางไสยศาสตร์ 6.ความเชื่อลักษณะคนหรือสัตว์
7.ความเชื่ออันเนื่องมาจากศาสนา 8.ความเชื่อเกี่ยวกับการทำมาหากินและอาชีพ
9.ความเชื่อเกี่ยวกับประเพณี 10.ความเชื่อเรื่องเคล็ดและการแก้เคล็ด
11.ความเชื่อเกี่ยวกับ นรก สวรรค์ ชาติ ภพ 12.ความเชื่อเกี่ยวกับเลขดี เลขร้าย วันดี วันร้าย

และจากประเภทของความเชื่ออันหลากหลายเหล่านี้ ไสยศาสตร์จึงเป็น ความเชื่อประเภทหนึ่งที่ปรากฏอยู่หากในเวทีการเมือง และไสยศาสตร์กลับปรากฏอยู่มากที่สุดในการเมืองสมัยใหม่

ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์

ไสยศาสตร์ เป็นวิชาลึกลับ เกี่ยวกับลัทธิปาฏิหาริย์ เวทมนต์ คาถา และอำนาจจิต มีอยู่ในคัมภีร์อาถรรพเวทแห่งอินเดีย อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับอาถรรพ์ เวทมนต์คาถา ของขลังต่างๆ เรื่องราวของไสยศาสตร์นี้ ปรากฏในสังคมมนุษย์เป็นเวลาหลายพันปีมาแล้ว การปฏิบัติการทางไสยศาสตร์เป็นคติความเชื่อของลัทธิไสยศาสตร์ มีวัตถุประสงค์ ๒ ประการคือ
๑.เพื่อให้นำมาซึ่งความโชคดี ความสำเร็จ ความสุข และความปลอดภัย
๒.เพื่อทำลาย หรือขจัดปัดเป่าสิ่งอัปมงคลและภัยพิบัติต่างๆ

ความเชื่อในสิ่งลึกลับ และไสยศาสตร์ ปรากฏให้เห็นมากที่สุดในวรรณคดี ไม่ว่าจะเป็นวรรณคดีไทยหรือวรรณคดีต่างประเทศ ในวรรณคดีไทยสมัยต้นๆจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งที่เป็นเรื่องพื้นบ้านแท้ๆของไทยเช่น ลิลิตกระลอ ไกรทอง ขุนช้างขุนแผน และวรรณคดีที่ได้รับจากต่างประเทศ เช่น รามเกียรติ์ และสมุทโฆษ เป็นต้น มักกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกินปกติวิสัยมนุษย์จะเป็นไปได้ เช่นการเหาะเหินเดินอากาศ การใช้เวทมนต์ให้หลงใหล การอยู่ยงคงกระพัน การแปลงกายเป็นรูปอื่น การบังคับภูตผีปีศาจให้อยู่ในอำนาจ และกล่าวถึงอมนุษย์ที่มีอำนาจเหนือมนุษย์ธรรมดา เช่น เทวดา ปีศาจ หรือมนุษย์ที่มีอิทธิฤทธ์แรงกล้า จนผิดมนุษย์สามัญธรรมดาเสมอความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นความเชื่อถือในสิ่งลึกลับที่มีอำนาจเหนือมนุษย์ธรรมดา ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของไสยศาสตร์ คนโบราณไม่ว่าชาติใด ต่างก็มีความเชื่อในเรื่องนี้กันทั้งนั้น โดยเชื่อว่าเป็นสิ่งมีอำนาจ สามารถบันดาลให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆได้อย่างมหัศจรรย์ คนไทยเชื่อในอำนาจของสิ่งเหล่านี้มาก จึงแสดงออกให้เห็นในวรรณคดี และตำนานในท้องถิ่นต่างๆแทบทุกเรื่อง ตัวอย่างในวรรณคดี หรือวรรณกรรมเช่น วรรณกรรมล้านนา เรื่องพรหมจักร ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อ เรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายตอน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่กล่าวถึงคือ พระอินทร์ และเทวดา ซึ่งจะเป็นผู้คอยช่วยเหลือ เมื่อตัวละครฝ่ายดีได้รับความทุกข์ หรือความเดือดร้อน คติความเชื่อเรื่องพระอินทร์และเทวดานี้ ชาวล้านนาไทยเชื่อถือตามแบบวัฒนธรรมอินเดียและทางพุทธศาสนา โดยเชื่อว่าพระอินทร์จะสอดส่องทิพย์เนตรดูแลความเป็นไปโลกมนุษย์อยู่เสมอ ถ้ากระทำความดีก็จะได้รับพรให้มีความสุข ถ้าทำชั่วก็จะถูกลงโทษ พระอินทร์ทรงมีอุปนิสัยเมตตา คอยคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม ทรงพาหนะคือช้างเอราวัณ อาวุธประจำพระองค์มีหลายอย่าง เช่น วชิระพระพรรค์ ธนู ตะบอง จักและตรี ไตรภูมิพระร่วงกล่าวถึงพระอินทร์ว่า เป็นเจ้าแห่งไตรตรึง ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ เป็นสวรรค์ที่ว่ากันว่างดงาม สนุกสนานที่สุด ทรงเป็นเจ้าแห่งจตุโลกบาล ทรงมีบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ซึ่งอ่อนนุ่มยิ่งนัก ถ้าผู้มีบุญได้รับความเดือดร้อนแล้ว แท่นนี้จะวิปริตไปทันที พระอินทร์และเทวดามีบทบาทช่วยเหลือมนุษย์ หรือผู้มีบุญบารมีที่ตกทุกข์ได้ยากเสมอ เช่น คอยช่วยเหลือพระยาพรหมจักร และนางรัตนสีดา เป็นต้น
ความเชื่อทางไสยศาสตร์ที่ปรากฏในเรื่องขุนช้างขุนแผนมีทั้งด้านที่ให้คุณและให้โทษ ซึ่งนับว่ามีความสมจริงและสอดคล้องกับสังคมมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะในสังคมของมนุษย์นั้นสิ่งต่าง ๆ ก็มีทั้ง “คุณ” และ “ โทษ” อยู่ในตัวเสมอ ความเชื่อทางไสยศาสตร์ในขุนช้างขุนแผน ช่วยสะท้อนให้เห็นว่า สภาพสังคมวัฒนธรรมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น การคิดหรือคำอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในแบบวิทยาศาสตร์ตามหลักของเหตุและผลยังไม่เป็นที่นิยมนัก จึงนำความเชื่อทางไสยศาสตร์มาเป็นเหตุผลอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้คนในสมัยนั้นรู้สึกมั่นใจในการดำเนินชีวิตมากยิ่งขึ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ความเชื่อทางไสยศาสตร์ได้ทำหน้าที่เสมือนเป็นคู่มือในการดำรงชีวิต และอุปกรณ์เสริมความมั่นใจให้กับคนไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั่นเองนี่จึงเป็นตัวอย่างหนึ่ง ของไสยศาสตร์ ที่ปรากฏในวรรณคดีไทย ที่ช่วยขยาย และส่องสะท้อนภาพสังคมไทยในอดีตให้เราได้เข้าใจมากขึ้น ไสยศาสตร์ ในด้านหนึ่งจึงดำรงอยู่ในฐานะของ “ระบบคุณค่า” ในการอธิบายสังคมได้จากอดีตจวบปัจจุบัน

การเมือง

คำว่า “การเมือง” นั้น มีการให้คำจำกัดความคำว่าการเมือง อยู่มากมาย เช่น Harold D. Lasswell กล่าวว่า การเมือง คือ การได้มาซึ่งอำนาจ เพื่อที่จะตัดสินว่าใคร จะได้อะไร เมื่อใด และอย่างใร (Politics is who gets What, When and How ) การเมืองย่อมเกิดจากความเป็นจริงที่ว่า ความจำเป็นต่างๆของมนุษย์มีจำกัด ในขณะที่ความต้องการของมนุษย์มีไม่จำกัด การเมืองจึงเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นการแบ่งสรรความจำเป็นต่างๆเหล่านี้ ซึ่งจะต้องเกี่ยวพันกับอำนาจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และถ้ามองผ่านความสัมพันธ์ของคำว่า ว่า “อำนาจ” “การเมือง” และ “รัฐศาสตร์” จะทำให้เราเข้าใจความหมายของ “การเมือง” ได้ดีขึ้น คำว่า “อำนาจ” “การเมือง” และ “รัฐศาสตร์” แม้จะมีความหมายที่แตกต่างกัน แต่สามคำนี้มีความหมายที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างทรงพลัง รัฐศาสตร์เป็นวิชาที่ศึกษาโดยมี “ รัฐ ” เป็นศูนย์กลาง และมี “อำนาจ” เป็นหัวใจสำคัญของการศึกษารัฐศาสตร์ บนความสัมพันธ์ของพื้นที่ ที่เรียกว่า “ การเมือง” และ ถึงแม้จะมีคำจำกัดความที่หลากหลายเกี่ยวกับคำว่า “รัฐ” แต่โชคดีที่นักรัฐศาสตร์โดยทั่วไป ให้การยอมรับว่า รัฐคือองค์ประกอบของดินแดน ประชากร รัฐบาลและอำนาจอธิปไตย จึงทำให้การเรียนรัฐศาสตร์ง่ายขึ้น เราไม่อาจแบ่งแยกรัฐออกจาก สังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมได้ อำนาจรัฐมีขอบข่ายโยงใยกว้างขวาง สามารถกำหนดกรอบนโยบายเศรษฐกิจ มีอำนาจเหนือศาสนา วัฒนธรรมหรือแม้แต่เชื้อชาติ
เมื่ออำนาจรัฐ นั้นมีอยู่มากมาย และผลของนโยบายต่างๆที่รัฐกำหนด ได้เข้ามากระทบกับวิถีชีวิตของเราทุกวันทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ รัฐจึงมีอำนาจในการเข้ามาล้อมกรอบ กำหนด และชี้แนะแนวทางการดำรงชีวิตของเราตั้งแต่ก่อนเกิด จนถึงหลังตาย การเมืองจึงเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นการแบ่งสรรความจำเป็นต่างๆเหล่านี้ ซึ่งจะต้องเกี่ยวพันกับอำนาจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้น การเมืองจึงหมายถึงการจัดสรรอำนาจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และอำนาจซึ่งนำมาใช้ในการกำหนดและบังคับใช้กฎระเบียบของสังคมอย่างยุติธรรมนี้ เรียกว่า “อำนาจทางการเมือง”

อำนาจทางการเมือง เป็น ระบบคุณค่า ที่แข็งแกร่ง เป็นทางการ และมีสถานะแห่งรัฐรองรับ ขณะที่ ไสยศาสตร์เป็นระบบคุณค่า ที่ดูเสมือนว่า อ่อนด้อย และไร้พื้นที่ ที่จะมีโอกาสได้แสดงตัวตนทางสังคมอย่างเป็นทางการ แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับอำนาจทางการเมือง จนดูเหมือนว่า สองสิ่งนี้เป็นระบบคุณค่าที่อยู่ห่างไกลกัน จนไม่สามารถจะมีโอกาสที่นำมาสนทนากันได้ ทว่า ในสังคมไทยปัจจุบัน ไสยศาสตร์กลับเป็นเทคโนโลยีประเภทหนึ่ง ที่ใช้สนทนาอย่าง “ไร้เสียง” ในเทคนิคการต่อรองอำนาจทางการเมือง ไสยศาสตร์กลายเป็นสรรพสำเนียงอันแผ่วเบา หากดำรงตนอยู่ในทุกพื้นที่ที่อำนาจทางการเมืองดำรงอยู่ การปะทะประสานของสองระบบคุณค่านี้ จึงน่าสนใจที่จะติดตามว่า สรรพเสียงอันแผ่วเบาของไสยศาสตร์จะพลิกระบบอำนาจที่แข็งแกร่ง เช่นอำนาจทางการเมืองได้หรือไม่ และสรรพสำเนียงอันแผ่วเบาเช่นนั้น เลือกใช้เทคโนโลยีของตน ในการปฏิสัมพันธ์เพื่อปฏิบัติการให้ระบบของตน แสดงคุณค่าแห่งอำนาจได้อย่างไร

ไสยศาสตร์เขียนการเมือง การเมืองเรื่องไสยศาสตร์


“…หรือว่าพระรูปทรงม้าที่ผมเล่าให้พ่อแม่พี่น้องฟัง
เค้าทำของ ทำเป็นหมุดหกเหลี่ยม ตรึงพระรูปทรงม้าไว้เป็น
รูปแบบนี้ อย่างงี้ แล้วก็อย่างงี้
แล้วตรงกลางคือพระรูปทรงม้า ไม่ให้เสด็จพ่อเนี่ย ส่งพลังออกมาได้เลย
ซึ่งผมเล่าให้ฟังแล้ว ว่าเราไปถอดออกมาหมดแล้วทั้งหกจุด
แล้วก็ต้องขอบคุณพ่อแม่พี่น้องพันธมิตรผู้หญิง
เพราะว่าพอถอดออกหมดเรียบร้อยแล้ว ไม่ให้มันกลับมา
เขาก็เลยเอาโกเต๊ก ผู้หญิงที่มีประจำเดือน 6 ชิ้น (เสียงกรี๊ด ชอบใจ)
เอาไปวาง 6 จุด
ผู้มีอภิญญาก็บอกว่า ไอ้หมอผีมันโกรธมาก
เพราะมันส่งผีกลับมาไม่ได้อีกแล้ว มันเสื่อมหมด "

(นายสนธิ ลิ้มทองกุล ประกาศบนเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กระจายสัญญาณผ่านสถานี ASTV ของตนเองเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2551 ว่าได้ทำพิธีบางอย่างกับพระบรมรูปทรงม้ารัชกาลที่ 5 ด้วยการนำผ้าอนามัยหญิงที่ใช้แล้วจำนวน 6 ชิ้นไปวางไว้ที่บริเวณดังกล่าว โดยอ้างว่าต้องการป้องกันภูตผี ตามความเชื่อของตน)

“เมื่อเวลา 17.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้ทำพิธีเทเลือดที่บริเวณประตูต่างๆของทำเนียบรัฐบาลฯ โดยในบริเวณประตู 2 ได้มีพราหมณ์พร้อมกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนเดินทางเข้าประกอบพิธีด้านหน้าบริเวณประตู โดยมีการเทเลือดลงบนพื้นถนนพร้อมทำพิธีสาบแช่งและนำเลือดมาเขียนเป็นอักขระบนเสาด้านข้างประตู2

ทั้งนี้พิธีเทเลือกของกลุ่มคนเสื้อแดงได้เริ่มตั้งแต่บริเวณประตู 2 เรื่อยไปจนถึงประตู 8 ซึ่งตั้งอยู่ด้านเลียบคลองผดุงกรุงเกษม โดยจุดเทเลือดสุดท้ายคือทางเข้าอาคารสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ภายหลังจากเสร็จสิ้นพิธีแกนนำได้ขึ้นประจำรถบรรทุกติดเครื่องขยายเสียงเพื่อเตรียมเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมไปพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ต่อไป”

(มติชน 6 มีนาคม 2553)

บทสรุป การเมืองเรื่องไสยศาสตร์

๑.ไสยศาสตร์ เป็นระบบคุณค่าทางอำนาจชนิดหนึ่งที่ ไม่ เคยถูกยอมรับอย่างเป็นทางการในสังคม ทว่าปัจุบันไสยศาสตร์ได้ถูกยกระดับให้ เปิดเผย ตัวตนทางสังคมมากขึ้น ผ่านสถานะของผู้คนที่มีบทบาทในสังคม แม้ ไสยศาสตร์ เป็นระบบคุณค่าที่ไม่ถูกยอมรับอย่างเป็นทางการ แต่การเมืองสมัยใหม่ก็ดูจะทำให้ความไม่เป็นทางการไสยศาสตร์มีบทบาทหน้าที่มากขึ้น
๒.การเมือง เป็นเรื่องของการช่วงชิงอำนาจนำ ไสยศาสตร์เป็นสรรพสำเนียงที่แฝงเร้นอย่างเงียบๆ มองไม่เห็น ไม่รู้สึกตัว หากทว่าครอบงำอยู่ทุกที่ที่มนุษย์อ่อนแอ ไสยศาสตร์จึงฝังเร้นอยู่ในจริตของสังคมไทยมานาน และเป็นอำนาจนำอย่างหนึ่งที่เราไม่เคยมองเห็น ไม่เคยสัมผัสได้ แต่ตลอดที่มนุษย์ต้องการแสวงหาความเข้มแข็งจากสิ่งที่นอกพ้นกำลังจากตน ไสยศาสตร์จะปรากฏตัวอยู่ได้ไม่ยาก ในทุกหนแห่งของห้วงคำนึงมนุษย์ การเชื่อมร้อยอำนาจนำทั้งสองระหว่าง ไสยศาสตร์ กับ การเมือง จึงร้อยรัดเข้าหาได้อย่างไม่ยากเย็นอะไร ไสยศาสตร์ กับ การเมือง ซึ่งดูเหมือนห่างไกลกันจนยากแก่นำการสนทนากัน แท้จริงแล้ว กลับแสดงให้เห็นว่า ตราบใดที่สิ่งใดก็แล้วแต่ เป็นเรื่องของการแสวงหาอำนาจ ได้มาซึ่งอำนาจ หรือใช้อำนาจเหมือนกัน สิ่งนั้น แม้ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ก็ย่อมยืนอยู่ด้วยกันได้ฉันนั้น

บรรณานุกรม


ณัชชาภัทร อุ่นตรงจิตร. 2550. รัฐศาสตร์.พิมพ์ครั้งที่ 5.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
นิธิ เอียวศรีวงศ์.2536.ลัทธิพิธีเสด็จพ่อร.5.กรุงเทพฯ :สำนักพิมพ์มติชน.
เพ็ญศรี ดุ๊ก ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ปิยนาถ บุญนาค และวราภรณ์ ทินานนท์(บรรณาธิการ).2536.วัฒนธรรมพื้นบ้าน : คติความเชื่อ. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เสมอชัย พูลสุวรรณ. 2544. วิทยาศาสตร์กับความจริงในวัฒนธรรมไทย. กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์ คบไฟ
เอมอร บุญช่วย. 2544. ศึกษาตำนานและความเชื่อที่เกี่ยวกับทวดในคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา. วิทยานิพนธ์.ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต.มหาวิทยาลัยทักษิณ

2 ความคิดเห็น:

  1. นึกถึงวิทยานิพนธ์ ป.เอกของชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ เรื่อง Supernatural Prophecy in Thai Politics : A Role of Cultural Element in Coup - Decision Making.

    ตอบลบ
  2. ชอบมากครับ ได้เรียนรู้เยอะเลย

    ตอบลบ