สิทธิพล เครือรัฐติกาล
ในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ละรัฐต่างยึดหลักการพื้นฐานร่วมกันประการหนึ่ง นั่นคือ “ผลประโยชน์แห่งชาติ” (national interest) และแม้ว่ารัฐต่างๆ จะมีบรรทัดฐานในการกำหนดผลประโยชน์แห่งชาติที่แตกต่างกันออกไป หากแต่ทุกๆ รัฐจะพยายามดำเนินนโยบายเพื่อให้บรรลุถึงผลประโยชน์แห่งชาติที่กำหนดเอาไว้ ดังนั้นจึงต้องมียุทธศาสตร์ (strategy) ที่ร้อยรัดให้เครื่องมือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือทางการทูต เครื่องมือทางเศรษฐกิจ เครื่องมือทางการทหาร เครื่องมือทางวัฒนธรรม ฯลฯ เป็นไปเพื่อเป้าหมายเดียวกัน ยุทธศาสตร์ดังกล่าวอาจปรากฏออกมาในรูปของเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน หรืออาจเป็นความเข้าใจร่วมกันในหมู่ผู้กำหนดนโยบายก็ได้
เดิมตั้งแต่ ค.ศ. 1949 จนถึงปลายทศวรรษ 1970 จีนกำหนดยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศภายใต้อิทธิพลของสงครามเย็นและแนวคิดเหมาเจ๋อตง (Mao Zedong Thought) ซึ่งเน้นการปฏิวัติอย่างต่อเนื่องในประเทศจีน รวมทั้งการทำให้จีนเป็นฐานสนับสนุนแก่ขบวนการปฏิวัติสังคมนิยมในประเทศอื่นๆ เพื่อปลดปล่อยประชาชนทั่วโลกจากการถูกกดขี่ กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า นโยบายต่างประเทศของจีนในยุคนั้นมีลักษณะของชาตินิยม (nationalism) และนานาชาตินิยม (internationalism) ปะปนกัน โดยถือว่าผลประโยชน์ของจีนก็คือผลประโยชน์ของมนุษยชาติ (เขียน ธีระวิทย์, 2541, น. 17) ยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศของจีนในยุคนั้นจึงเน้นไปที่การสร้างแนวร่วม (united front) กับประเทศนอกค่ายสังคมนิยมเพื่อต่อสู้กับ “จักรวรรดินิยมอเมริกัน” และต่อมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ยังรวมไปถึงการต่อสู้กับ “สังคมจักรวรรดินิยม” (Social Imperialism) อย่างสหภาพโซเวียตอีกด้วย ตัวอย่างที่สะท้อนการสร้างแนวร่วมก็คือ การนำเสนอทฤษฎีสามโลก (The Three Worlds Theory) ของเหมาเจ๋อตงเมื่อ ค.ศ. 1974 โดยให้จีนเป็นผู้นำของโลกที่สามในการต่อสู้กับโลกที่หนึ่ง[1]
การถึงแก่อสัญกรรมของเหมาเจ๋อตง การสิ้นอำนาจของผู้นำสายเหมาอิสต์ (Maoist) การกลับมามีอำนาจของเติ้งเสี่ยวผิง และการประกาศใช้นโยบายเปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 1970 ทำให้จีนกำหนดยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศของตนเองใหม่ โดยในการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 3 ของสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 11 เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1978 มีการระบุอย่างชัดเจนว่าถึงเวลาแล้วที่จะ “เปลี่ยนจุดเน้นในการปฏิบัติงานของพรรคและความสนใจของประชาชนไปยังการสร้างสังคมนิยมทันสมัย” ซึ่งถือเป็น “ภารกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของยุคสมัย” (Communiqué of the Third Plenary Session, 1978, December) หรือกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า จีนได้เปลี่ยนเป้าหมายจากการต่อสู้เพื่อชัยชนะของโลกสังคมนิยมมาเป็นการปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยผ่านการเปิดประเทศและการปฏิรูปเศรษฐกิจ
จีนตระหนักดีว่า สภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศที่เป็นมิตรและสันติคือเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การปฏิรูปเศรษฐกิจดำเนินลุล่วงไปได้ ดังนั้นยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศที่ปรากฏขึ้นในทศวรรษ 1980 ก็คือ “สันติภาพและการพัฒนา” (和平与发展) (เติ้งเสี่ยวผิง, 4 มีนาคม 1985) โดยในทางการเมืองระหว่างประเทศ จีนได้เปลี่ยนท่าทีจากเดิมในปลายทศวรรษ 1970 ที่สร้างแนวร่วมกับสหรัฐอเมริกาในการต่อต้านการขยายอิทธิพลของสหภาพโซเวียตในเวียดนามและอัฟกานิสถาน มาเป็นการเริ่มเจรจาปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตใน ค.ศ. 1982[2] และในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 12 เมื่อเดือนกันยายนของปีนั้น หูเย่าปัง (胡耀邦) เลขาธิการพรรคได้แถลงว่า จีนจะดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นตัวของตัวเอง (独立自主的外交政策) โดยจะไม่เป็นพันธมิตรกับประเทศใดๆ (หูเย่าปัง, 1 กันยายน 1982) และจีนยังได้นำเอาหลักปัญจศีล (The Five Principles of Peaceful Coexistence)[3] ที่จีนเคยประกาศไว้ตั้งแต่ ค.ศ. 1954 มาเน้นย้ำอีกครั้งในฐานะ “บรรทัดฐานในการชี้นำความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” (เติ้งเสี่ยวผิง, 21 ธันวาคม 1988)
ในทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จีนได้เปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone – SEZ) ตามแนวชายฝั่งทะเลเพื่อต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ โดยถือว่าการลงทุนดังกล่าวเป็น “ส่วนเสริมที่จะขาดเสียมิได้” ในการสร้างสรรค์สังคมนิยมของจีน (เติ้งเสี่ยวผิง, 30 มิถุนายน 1984) นอกจากนี้ จีนยังได้พยายามเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งขององค์การระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจอีกด้วย โดยใน ค.ศ. 1980 จีนได้เป็นสมาชิกธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMF) และใน ค.ศ. 1986 ก็ได้ยื่นเรื่องขอฟื้นฟูสถานะการเป็นประเทศผู้ลงนามในความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (General Agreement on Tariffs and Trade – GATT)[4]
อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศของจีนที่ก่อตัวขึ้นในทศวรรษ 1980 ก็ต้องพบกับความท้าทายครั้งสำคัญในปลายทศวรรษเดียวกันนั้นเอง การสิ้นสุดของสงครามเย็น การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในยุโรปตะวันออกและสหภาพโซเวียตตั้งแต่ ค.ศ. 1989 ถึง ค.ศ. 1991 ทำให้ดุลอำนาจในระบบสองขั้ว (bipolarity) ที่เป็นหลักประกันความมั่นคงของจีนมากว่า 4 ทศวรรษต้องสิ้นสุดลง แทนที่ด้วยโลกยุคหลังสงครามเย็นที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นอภิมหาอำนาจครอบงำ (hegemonic superpower) โดยเฉพาะในเชิงแสนยานุภาพทางทหาร ในเวลาเดียวกันความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาก็เข้าสู่ภาวะตึงเครียดจากกรณีเทียนอันเหมินเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1989 ประธานาธิบดีจอร์จ บุช (George Bush) ได้ออกมาตรการคว่ำบาตรจีนทั้งในทางการทหารและเศรษฐกิจ ธนาคารโลกชะลอการให้เงินกู้เพื่อการพัฒนาแก่จีน การเจรจาเพื่อเข้าเป็นสมาชิก GATT ต้องหยุดชะงัก ท่าทีที่ไม่เป็นมิตรของชาติตะวันตกยังทำให้จีนไม่สามารถเข้าร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation – APEC) ระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 1 ณ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1989 และครั้งที่ 2 ณ ประเทศสิงคโปร์ เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1990 ได้อีกด้วย เท่ากับว่าเมื่อสิ้นทศวรรษ 1980 โลกตะวันตกได้ปิดประตูความร่วมมือที่มีกับจีน ดังที่เฉียนฉีเชิน (钱其琛) อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้บันทึกไว้ว่า
การล่มสลายของสหภาพโซเวียต ทำให้ระเบียบโลกเปลี่ยนไปอย่างกระทันหัน และทำให้การรณรงค์ของสังคมนิยมเกิดการสะดุดอย่างรุนแรง ประจวบเหมาะกับการที่ประเทศตะวันตกยังคงกดดันจีนทางด้านเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 1989 ทำให้สภาพแวดล้อมของจีนในสังคมโลก เลวร้ายและสลับซับซ้อนเป็นอย่างมาก
(เฉียนฉีเชิน, 2549, น. 306)
จีนจึงเข้าสู่โลกยุคหลังสงครามเย็นด้วยสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจเท่าที่ควร อีกทั้งเติ้งเสี่ยวผิงยังมองด้วยว่า ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในยุโรปตะวันออกและการประท้วง ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินเกิดจากความพยายามของโลกตะวันตกที่จะทำลายระบอบสังคมนิยมโดยไม่ทำสงคราม ที่เรียกกันว่า “การแปรเปลี่ยนอย่างสันติ” (和平演变 peaceful evolution) หรือ “สงครามโลกครั้งที่ 3 ที่ไม่มีควันปืน” (เติ้งเสี่ยวผิง, 23 พฤศจิกายน 1989) แต่กระนั้นเขาก็ตระหนักดีว่า การลุกขึ้นเผชิญหน้าท้าทายโลกตะวันตกมิใช่ทางรอดของระบอบสังคมนิยมในจีน สิ่งที่ควรจะทำก็คือ การเดินหน้าผลักดันนโยบายเปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจต่อไป ซึ่งนั่นหมายถึงการปรับปรุงความสัมพันธ์กับโลกตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา รวมทั้งการใช้ระบบระหว่างประเทศที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศจีน ดังที่เติ้งเสี่ยวผิงได้กล่าวกับบรรดาผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1990 ว่า
ต่อสถานการณ์สากลนั้น … ไม่ควรมองว่าสถานการณ์ในปัจจุบันเลวร้ายเสียเหลือเกิน ไม่ควรมองว่าเราตกอยู่ในภาวะที่ไม่เป็นคุณต่อเรานัก สภาพที่เป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ... เงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ต่อเราก็มีอยู่ โอกาสก็มีอยู่ ปัญหาอยู่ที่เราต้องสันทัดในการนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์
(เติ้งเสี่ยวผิง, 3 มีนาคม 1990 เน้นโดยผู้วิจัย)
ตัวอย่างสำคัญที่สะท้อนการใช้สถานการณ์ระหว่างประเทศให้เป็นประโยชน์ก็คือ ท่าทีของจีนต่อกรณีที่อิรักรุกรานคูเวตเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1990 อันเป็นช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกายังคงคว่ำบาตรจีนจากกรณีเทียนอันเหมิน หากแต่ก็ต้องการเสียงสนับสนุนจากจีนในฐานะสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อเปิดทางให้สหรัฐฯ สามารถใช้กำลังจัดการกับอิรักได้โดยชอบธรรม ดังนั้นในการพบกันระหว่างเฉียนฉีเชินกับเจมส์ เบเกอร์ (James Baker) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ณ ท่าอากาศยานกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1990 เบเกอร์จึงขอให้จีนอย่าขัดขวางการผ่านข้อมติในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่จะมอบอำนาจให้มีการใช้มาตรการใดๆ ในการจัดการกับอิรัก รวมทั้งการใช้กำลังทหาร เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่สหรัฐฯ จะยกเลิกการคว่ำบาตรจีนและไม่คัดค้านการที่ธนาคารโลกจะให้เงินกู้แก่จีนจำนวน 110 ล้านเหรียญสหรัฐ (เฉียนฉีเชิน, 2549, น. 259) จีนจึงใช้เงื่อนไขที่เบเกอร์เสนอมาให้เป็นประโยชน์ในทันที แม้โดยหลักการแล้วจีนไม่ต้องให้สหรัฐฯ เข้าแทรกแซงในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย (เฉียนฉีเชิน, 2549, น. 130) หากแต่จีนก็ตระหนักดีว่าความสัมพันธ์จีน – สหรัฐฯ และการยกเลิกการคว่ำบาตรจีนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของนโยบายเปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนเอง ด้วยเหตุนี้ในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนของปีนั้น จีนจึงยอมเปิดทางให้สหรัฐฯ ใช้กำลังกับอิรักได้ด้วยการงดออกเสียง (abstain) ในข้อมติที่ 678 ซึ่งมอบอำนาจให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติสามารถใช้ทุกวิถีทางเพื่อให้อิรักถอนกำลังออกจากคูเวต เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าจีนพยายามแสวงหาเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์กับตนเองภายใต้ข้อจำกัดของระบบระหว่างประเทศหลังสิ้นสุดสงครามเย็นที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ
แนวทางที่เติ้งเสี่ยวผิงวางเอาไว้ได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นทางการในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 14 เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1992 ซึ่งเจียงเจ๋อหมินในฐานะเลขาธิการพรรคกล่าวชัดเจนว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนมุ่งหมายจะสร้าง “สังคมนิยมที่มีลักษณะจำเพาะแบบจีน” (中国特色社会主义 Socialism with Chinese Characteristics) ซึ่งหนึ่งในเงื่อนไขที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้นั้นจะต้อง
ชี้ให้เห็นว่าสันติภาพและการพัฒนาเป็นประเด็นสำคัญ 2 ประเด็นใหญ่ในโลกปัจจุบัน ต้องยืนหยัดดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่สันติเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเอง ช่วงชิงสภาพแวดล้อมที่เป็นผลดีต่อการสร้างประเทศเราให้ทันสมัย เน้นว่าการเปิดประตูต่อภายนอกเป็นสิ่งที่ขาดเสียมิได้ในการปฏิรูปและการสร้างสรรค์ ... การปิดตายมีแต่จะนำมาซึ่งความล้าหลัง
(เจียงเจ๋อหมิน, 12 ตุลาคม 1992)
คำกล่าวข้างต้นทำให้เห็นว่า จีนในยุคหลังสงครามเย็นยังคงเน้นการสร้างสรรค์สังคมนิยมให้ทันสมัยผ่านการเปิดประเทศและการปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยอาศัยยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า “สันติภาพและการพัฒนา” เฉกเช่นในทศวรรษ 1980 หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ จีนจะดำเนินนโยบายเข้าไปสมาคม (engagement) กับระบบระหว่างประเทศ และใช้ประโยชน์จากระบบดังกล่าวมากกว่าจะเป็นประเทศผู้สร้างระเบียบโลกใหม่เพื่อท้าทายและเผชิญหน้ากับโลกตะวันตก จริงอยู่ที่ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา จีนได้แสดงออกว่าสนับสนุนการสร้าง “ระเบียบระหว่างประเทศใหม่” (国际新秩序 The New International Order) หากแต่เมื่อพิจารณารายละเอียดที่ปรากฏในคำกล่าวของผู้นำจีนและสิ่งพิมพ์ของทางการจีนแล้วจะพบว่า ระเบียบดังกล่าวเป็นเพียงการเน้นย้ำหลักปัญจศีลและกฎบัตรสหประชาชาติเท่านั้น (เติ้งเสี่ยวผิง, 21 ธันวาคม 1988; Zhou Yihuang, 2004, p. 154) หาใช่การสร้างกลุ่ม (bloc) ทางการเมืองหรือเศรษฐกิจเพื่อต่อต้านโลกตะวันตกเฉกเช่นสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็นไม่ สอดคล้องกับความเห็นของนักวิชาการจีนอย่างอู๋ซินป๋อ (吴心伯) แห่งมหาวิทยาลัยฟู่ต้าน (复旦大学) ที่ระบุว่า
การสร้างระเบียบโลกที่เป็นธรรมและสมเหตุผลเป็นแนวทางอันสำคัญของนโยบายต่างประเทศของจีน แต่ทางด้านปฏิบัตินั้นก็มักจะคำนึงถึงความเป็นไปได้ด้วยความรอบคอบ จีนรู้ตัวเองดีว่าในปัจจุบันและอนาคตที่มองเห็นได้นั้น จีนไม่มีความสามารถไปท้าทายระเบียบโลกที่มีอยู่ อนึ่ง จีนก็รู้ดีว่าโครงสร้างระหว่างประเทศปัจจุบันนั้น มิใช่ว่าจีนจะไม่ได้ประโยชน์เลย
... แม้ระเบียบโลกปัจจุบันจะไม่ใช่ระเบียบโลกในอุดมคติของจีน แต่ก็ดีกว่าระเบียบโลกที่จีนต้องเผชิญหลังสงครามฝิ่นเป็นอันมาก ด้วยเหตุผลที่กล่าวมานี้ ยุทธศาสตร์ของจีนคือ จะไม่พยายามไปเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกโดยพลการ แต่จะเป็นการย้ำให้เห็นจุดบกพร่องของระเบียบโลกที่มีอยู่ ขณะเดียวกันก็หาประโยชน์จากระเบียบนี้
(อู๋ซินป๋อ, 2545, น. 9)
ยุทธศาสตร์ดังกล่าวของจีนยังดำรงอยู่เมื่อเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 21 โดยในที่ประชุมว่าด้วยการปฏิบัติงานด้านวิเทศสัมพันธ์ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (中央外事工作会议) ที่มีหูจิ่นเทา (胡锦涛) เลขาธิการพรรคเป็นประธาน ระหว่างวันที่ 21 – 23 สิงหาคม ค.ศ. 2006 ได้มีความเห็นว่า สันติภาพและการพัฒนายังคงเป็นประเด็นหลักของโลกยุคปัจจุบัน และพรรคคอมมิวนิสต์จีนควรติดตามสถานการณ์ระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด โดยจะต้อง “นำทางให้ถูกต้องตามสถานการณ์” (因势利导) และ “มุ่งหาประโยชน์ หลีกเลี่ยงอันตราย” (趋利避害) ทั้งนี้เพื่อยกระดับความสามารถของจีนในกิจการด้านวิเทศสัมพันธ์ (จงยางว่ายซื่อกงจั้วหุ้ยอี้ไจ้จิงจวี่สิง, 23 สิงหาคม 2006) สะท้อนว่าจีนยังคงยึดมั่นในนโยบายการเข้าไปสมาคมกับระบบระหว่างประเทศ และพยายามหาทางใช้ประโยชน์จากระบบดังกล่าวให้มากที่สุด
ในเมื่อการสร้างสรรค์สังคมนิยมผ่านการเปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนต้องอาศัยสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศที่เป็นมิตรและสันติ จีนจึงยังพยายามให้หลักประกัน (assurance) กับประเทศต่างๆ ว่า การพัฒนาของจีนจะไม่ส่งผลทางลบต่อประเทศอื่นๆ ในทางตรงกันข้าม ประเทศอื่นๆ กลับจะได้ประโยชน์ร่วมกันจากการพัฒนาของจีนอีกด้วย นับแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา จีนได้มีส่วนร่วมในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศระดับพหุภาคีมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเข้าเป็นสมาชิกเอเปกเมื่อ ค.ศ. 1991 การเข้าเป็นคู่เจรจา (dialogue partner) ของอาเซียนอย่างเป็นทางการเมื่อ ค.ศ. 1996 จนนำไปสู่ข้อเสนอของจีนในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน – จีนเมื่อ ค.ศ. 2000 และจีนยังได้ใช้เวทีพหุภาคีเป็นที่แลกเปลี่ยนและเจรจาในประเด็นเรื่องความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มเข้าร่วมประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง (ASEAN Regional Forum – ARF) เมื่อ ค.ศ. 1994 การริเริ่มก่อตั้งองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization – SCO) เมื่อ ค.ศ. 2001 การวางแนวทางปฏิบัติ (code of conduct) กับประเทศในอาเซียนที่มีข้อพิพาทกับจีนเรื่องหมู่เกาะในทะเลจีนใต้เมื่อ ค.ศ. 2002 และการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 6 ฝ่ายเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือตั้งแต่ ค.ศ. 2003 เป็นต้นมา นอกจากนี้ จีนยังแสดงบทบาทที่แข็งขันมากยิ่งขึ้นในการปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ ซึ่งต่างจากจุดยืนเดิมที่ทางการจีนเคยมองว่าปฏิบัติการดังกล่าวเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของรัฐอื่น โดยตั้งแต่ ค.ศ. 1990 จนถึง ค.ศ. 2008 จีนได้ร่วมปฏิบัติภารกิจดังกล่าวถึง 24 ครั้ง โดยส่งบุคลากรไปร่วมเป็นจำนวนรวมกัน 12,443 คน (China’s Participation in UN Peacekeeping Operations, 2009, January 21) อันเป็นความพยายามของจีนที่จะแสดงออกว่าตนเป็นสมาชิกที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมโลก และทั้งหมดนี้เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศที่ว่าด้วย “สันติภาพและการพัฒนา” นั่นเอง
เอกสารอ้างอิง
ภาษาไทย
เขียน ธีระวิทย์. (2541). นโยบายต่างประเทศจีน. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
เจียงเจ๋อหมิน. (12 ตุลาคม 1992). เร่งฝีก้าวการปฏิรูป เปิดประเทศ และสร้างประเทศให้ทันสมัยเร็วยิ่งขึ้น ช่วงชิงให้ภารกิจสังคมนิยมที่มีลักษณะจำเพาะของจีนได้รับชัยชนะที่ใหญ่หลวงยิ่งขึ้น. ใน ดาวประกาย รุ่งอรุณ (ผู้แปล), บุญศักดิ์ แสงระวี (บรรณาธิการ). (2543). สรรนิพนธ์เติ้งเสี่ยวผิง จีนจะไปทางไหน? (น. 149-189). กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ.
เฉียนฉีเชิน. (2549). บันทึกการทูตจีน 10 เรื่อง (อาทร ฟุ้งธรรมสาร, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: มติชน.
เติ้งเสี่ยวผิง. (30 มิถุนายน 1984). สร้างสังคมนิยมที่มีลักษณะจำเพาะของจีน. ใน ดาวประกาย รุ่งอรุณ (ผู้แปล), บุญศักดิ์ แสงระวี (บรรณาธิการ). (2543). สรรนิพนธ์เติ้งเสี่ยวผิง จีนจะไปทางไหน? (น. 54-59). กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ.
เติ้งเสี่ยวผิง. (4 มีนาคม 1985). สันติภาพและการพัฒนาเป็นสองปัญหาใหญ่ของโลกยุคปัจจุบัน. ใน ดาวประกาย รุ่งอรุณ (ผู้แปล), บุญศักดิ์ แสงระวี (บรรณาธิการ). (2543). สรรนิพนธ์เติ้งเสี่ยวผิง จีนจะไปทางไหน? (น. 43-46). กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ.
เติ้งเสี่ยวผิง. (21 ธันวาคม 1988). ใช้หลักการการอยู่ร่วมกันโดยสันติ 5 ประการเป็นบรรทัดฐานการสถาปนาระเบียบระหว่างประเทศใหม่. ใน ดาวประกาย รุ่งอรุณ (ผู้แปล), บุญศักดิ์ แสงระวี (บรรณาธิการ). (2543). สรรนิพนธ์เติ้งเสี่ยวผิง จีนจะไปทางไหน? (น. 47-50). กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ.
เติ้งเสี่ยวผิง. (23 พฤศจิกายน 1989). ยืนหยัดในสังคมนิยม ป้องกันการแปรเปลี่ยนอย่างสันติ. ใน ดาวประกาย รุ่งอรุณ (ผู้แปล), บุญศักดิ์ แสงระวี (บรรณาธิการ). (2543). สรรนิพนธ์เติ้งเสี่ยวผิง จีนจะไปทางไหน? (น. 96-98). กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ.
เติ้งเสี่ยวผิง. (3 มีนาคม 1990). สถานการณ์สากลและปัญหาเศรษฐกิจ. ใน ดาวประกาย รุ่งอรุณ (ผู้แปล), บุญศักดิ์ แสงระวี (บรรณาธิการ). (2543). สรรนิพนธ์เติ้งเสี่ยวผิง จีนจะไปทางไหน? (น. 99-103). กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ.
อู๋ซินป๋อ. (มกราคม-มิถุนายน 2545). ความขัดแย้งสี่คู่ที่มีผลต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของประเทศจีน (อาทร ฟุ้งธรรมสาร, ผู้แปล). วารสารศิลปศาสตร์, 2(1), น. 2-12.
ภาษาอังกฤษ
China’s Participation in UN Peacekeeping Operations (1990-2008). (2009, January 21). Retrieved June 3, 2010, from http://www.china-un.org/eng/zt/wh/t534321. htm.
Communiqué of the Third Plenary Session of the Eleventh Central Committee of the Communist Party of China. (1978, December). In Orville Schell and David Shambaugh (Eds.). (1999). The China Reader: the Reform Era (pp. 21-29). New York: Vintage Books.
Zhou Yihuang. (2004). China’s Diplomacy. Beijing: China Intercontinental Press.
ภาษาจีน
จงยางว่ายซื่อกงจั้วหุ้ยอี้ไจ้จิงจวี่สิง หูจิ่นเทาจั้วจ้งเย่าเจี่ยงฮว่า (การประชุมการปฏิบัติงานด้านวิเทศสัมพันธ์ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง หูจิ่นเทา กล่าวเรื่องสำคัญ). (23 สิงหาคม 2006). สำนักข่าวซินหัว. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2010, จาก http://news.xinhuanet.com/politics/2006-08/23/content _4999294.htm.
中央外事工作会议在京举行 胡锦涛作重要讲话。(2006/08/23)。新华网。2010年5月23日,http://news.xinhuanet.com/politics/2006-08/23/content _4999294.htm。
หูเย่าปัง. (1 กันยายน 1982). เฉวียนเมี่ยนไคช่วงเส้อหุ้ยจู่อี้เซี่ยนไต้ฮว่าเจี้ยนเส้อเตอะซินจวี๋เมี่ยน - ไจ้จงกั๋วก้งฉานตั่งตี้สือเอ้อร์สื้อเฉวียนกั๋วไต้เปี่ยวต้าหุ้ยซ่างเตอะเป้าเก้า (ริเริ่มสถานการณ์ใหม่ของการสร้างสังคมนิยมทันสมัยอย่างรอบด้าน – รายงานต่อที่ประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 12 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน). สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2010, จาก http://news.xinhuanet.com/ziliao/2003-01/20/content_ 696989.htm.
胡耀邦。(1982/09/01)。全面开创社会主义现代化建设的新局面——在中国共产党的十二次全国代表大会上的报告。2010年5月30日,http://news.xinhuanet.com/ziliao/2003-01/20/content_ 696989.htm。
เชิงอรรถ
[1] ในการสนทนาระหว่างเหมาเจ๋อตงกับประธานาธิบดีเคเนท เดวิด คาอุนดา (Kenneth David Kaunda) แห่งแซมเบีย เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1974 เหมาระบุว่าโลกที่หนึ่งคือสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต โลกที่สองคือญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา และประเทศในยุโรป ส่วนโลกที่สามคือจีนกับประเทศต่างๆ ในเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา
[2] สิ่งที่สะท้อนว่าผู้นำจีนอย่างเติ้งเสี่ยวผิงให้ความสำคัญกับการปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตเป็นอย่างยิ่งก็คือ ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1986 เขาถึงกับเสนอตัวว่ายินดีจะเดินทางไปเยือนสหภาพโซเวียตเพื่อเจรจาปรับความสัมพันธ์ด้วยตนเอง ทั้งๆ ที่เขาเคยตั้งใจไว้แล้วว่าจะไม่เดินทางไปเยือนต่างประเทศอีกต่อไป (เฉียนฉีเชิน, 2549, น. 76) โดยการเดินทางไปต่างประเทศครั้งสุดท้ายของเติ้งเสี่ยวผิงก็คือ การเยือนเกาหลีเหนือเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1982
[3] หลักปัญจศีลประกอบไปด้วย (1) การเคารพในบูรณภาพทางอาณาเขตของกันและกัน (2) การไม่รุกรานกันและกัน (3) การไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน (4) ความเสมอภาคและผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน และ (5) การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
[4] GATT หรือที่ต่อมาใน ค.ศ. 1994 ได้กลายเป็นองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นความตกลงระหว่างประเทศที่เริ่มขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1947 เพื่อส่งเสริมการค้าเสรีและป้องกันนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยม โดยที่สาธารณรัฐจีนได้เป็น 1 ใน 23 ประเทศผู้ลงนามก่อตั้ง ต่อมาใน ค.ศ. 1950 สาธารณรัฐจีนซึ่งย้ายไปตั้งมั่นบนเกาะไต้หวันได้ถอนตัวจาก GATT และกลับเข้ามาอีกครั้งเมื่อ ค.ศ. 1965 ก่อนที่จะสูญเสียสมาชิกภาพไปอีกเมื่อ ค.ศ. 1971 พร้อมกับที่นั่งในสหประชาชาติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น