วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

Everyday Urban Relations : Contacts among Strangers (ตอนที่ 1) [1]

พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์



การปฏิวัติทางเทคโนโลยีสารสนเทศได้นำพาเอา ภาวะความเป็นสมัยใหม่ (Modernity) ทางความคิด ความรู้ วัตถุ และสิ่งอื่นๆ จากซีกโลกตะวันตกเข้ามาครอบงำในภูมิภาคต่างๆ ของโลก และกลายเป็นกระแสความคิดหลักของโลกนับตั้งแต่ช่วงหลังคริสตศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา การนิยามความทันสมัยด้วยเครื่องชี้วัดทางจากตัวเลขทางเศรษฐกิจ และความเจริญของอาคารบ้านเรือนที่ทันสมัย และวัตถุต่างๆ ทำให้สภาพความเป็นเมืองตามนิยามของความทันสมัยเกิดขึ้น และเป็นศูนย์รวมของสิ่งแปลกใหม่ และ ความแปลกหน้า เข้ามาไว้ที่เดียวกัน

ภายใต้สภาวะของความเป็นเมือง เราไม่สามารถปฏิเสธการดำรงอยู่ของความวุ่นวาย ความเร่งรีบอันเป็นอัตลักษณ์ของสังคมเมืองที่เต็มไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา ซึ่งต่างมีวิถีชีวิตส่วนตัวของตนในท่ามกลางความแออัดยัดเยียดด้วยข้อจำกัดทางพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่คงที่ ในขณะที่การอพยพโยกย้ายของคนจากที่ต่างๆ ที่หลั่งไหลเข้าสู่เมืองไม่เคยหยุดนิ่ง ทำให้สังคมเมืองเป็นสังคมที่มีประชากรหนาแน่นและมาจากทั่วทุกสารทิศพร้อมๆ กับความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภาษา ความเชื่อ และรูปแบบวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนกัน

ภาวะความเป็นเมืองและความสัมพันธ์ของคนในสังคมเมืองนั้น ผู้คนมักมีการปะทะติดต่อกันในลักษณะที่เป็นไปตามความจำเป็น เป็นไปตามหน้าที่การงาน คนเมืองส่วนใหญ่ไม่ปรารถนาที่จะใช้ชีวิตร่วมกันกับคนอื่นๆ ตลอดเวลา คนเมืองมีความต้องการพื้นที่ของความเป็นส่วนตัวสูงเนื่องจากสภาพแวดล้อมของสังคมเมืองที่พวกเขาต้องประสบในแต่ละวันมีความยุ่งยาก สับสน วุ่นวายทั้งจากสภาพของสังคมที่ต้องพบเจอผู้คนมากมาย จากภาวะการทำงาน จากการจราจรที่แออัด คนเมืองจึงมีแนวโน้มที่ต้องการความเป็นส่วนตัวมากกว่าคนในชนบท หรือในเมืองเล็กๆ แม้ว่าคนเมืองจะมีอิสระในการใช้ชีวิตในรูปแบบที่ต้องการมากกว่าคนในชนบท หรือในเมืองเล็กก็ตาม แต่จากสภาพแวดล้อมในชีวิตประจำวันที่เต็มไปด้วยคนแปลกหน้า ซึ่งทำให้พวกเขาเกิดความไม่ไว้วางใจในความสัมพันธ์ต่อกัน ทำให้คนเมืองมีความต้องการที่จะมีชีวิตส่วนตัว พื้นที่ส่วนตัว และหลายครั้งที่เราได้ยินคำกล่าวเชิงเสียดสีในหมู่คนที่ต้องอยู่ในสังคมเมืองที่เต็มไปด้วยคนแปลกหน้าว่า “เดียวดายในเมืองใหญ่” บ้าง “ว้าเหว่ / โดดเดี่ยว / เงียบเหงา ท่ามกลางผู้คนเยอะแยะมากมายรอบกาย” บ้าง หรือ “ท่ามกลางผู้คนมากมาย แต่เหมือนไม่มีใครเลยซักคน” ซึ่งคำกล่าวเหล่านี้อาจดูเหมือนเป็นว่าผู้ที่กล่าวออกมาคล้ายกับมีความ “เหงา” หรือ “ความโดดเดี่ยว” “เดียวดาย” หรือ อาจเรียกโดยรวมได้ว่าเป็นพื้นที่ของ “ปัจเจก” ที่แปลกแยกออกจากความสัมพันธ์ของสังคมได้หรือไม่ หากว่าในขณะที่มีคนมากมายให้สามารถสร้างความสัมพันธ์เกี่ยวข้องด้วยได้ แต่กลับไม่มีความสัมพันธ์ ความผูกพันที่จะพอให้ความรู้สึกเหล่านั้นหายไปได้ ซึ่งมิใช่คำกล่าวที่เกินจริงแต่อย่างใด เนื่องจากสภาพของสังคมเมืองสมัยใหม่ที่ตกอยู่ใต้ระบบทุนนิยมเสรีที่การตลาดและการบริโภคสินค้าเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนระบบ ส่งผลให้วิถีชีวิตของผู้คนต้องตกอยู่ในวงล้อมของการแข่งขัน ความเร่งรีบ และวัตถุนิยม ทำให้ความสัมพันธ์กับผู้คนอย่างมีความเป็นคนที่มีจิตใจ อารมณ์ และความรู้สึก ความเป็นมนุษย์ถูกลดทอนคุณค่าลง มนุษย์ในสังคมเมืองสมัยใหม่อยู่ในสภาพที่อาจกล่าวได้ว่า มีแต่กายภาพที่ดูคล้ายหุ่นยนต์เข้าไปทุกที

บริบททางสังคมสมัยใหม่ที่แทรกเข้ามาในชีวิตประจำวันที่คนเมืองต้องเผชิญ เปิดช่องให้ความแปลกหน้ามีที่ยืนมากขึ้นในระหว่างความสัมพันธ์ของคนในสังคมเมือง สภาพความเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยผู้คนมากมายแต่ราวกับว่าผู้คนเหล่านั้นไม่ได้มีตัวตนอยู่ในความรับรู้ของปัจเจกบุคคลที่ต่างมองว่าผู้คนเหล่านั้นเป็น คนแปลกหน้า ของกันและกันที่มีความจำเป็นบางอย่างผลักดันให้มาอยู่ใกล้ชิดติดกันทางกายภาพ แต่สำหรับความสัมพันธ์กลับดูเหมือนห่างไกลและหลายครั้งที่พบว่า “สื่อสารกันไม่รู้เรื่อง” ชีวิตประจำวันของคนเมืองจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจศึกษาเพื่อทำความเข้าใจกับวิถีชีวิตของคนเมืองที่ต้องพบปะกับความแปลกหน้าอยู่เกือบตลอดเวลา

นิยามคนแปลกหน้าในทางสังคมวิทยา

หากจะสืบย้อนไปตั้งแต่สมัยที่เราต่างเป็นเด็ก ผู้ศึกษาเชื่อว่า ทุกคนจะได้รับการสั่งสอนจากพ่อแม่ ผู้ปกครองว่าไม่ให้ไว้ใจคนแปลกหน้า หาก็พบเห็นคนแปลกหน้าให้ดูให้ดีๆ อย่าเข้าใกล้ หรือห้ามพูดคุยด้วย และที่สำคัญเด็กๆ มักจะได้รับการสั่งสอนว่าห้ามรับสิ่งของหรือกินขนมจากคนแปลกหน้าเด็ดขาด เพราะอาจถูกมอมยาลักพาตัวไปขายได้ ซึ่งโดยรวมๆแล้ว เรามักถูกปลูกฝังทัศนคติเชิงลบต่อคนแปลกหน้ามาตั้งแต่เด็ก และเชื่อว่าเป็นเหมือนกันทุกสังคม ซึ่งหากทุกคนเชื่อหรือมีฐานคติเรื่องความไม่ไว้วางใจคนแปลกหน้าเหมือนกันหมดทุกคนแล้ว สังคมจะเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้อย่างไร

เราอาจตั้งคำถามเบื้องต้นถึงสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงภาวะความแปลกหน้าได้คร่าวๆ จากภาวะที่คนๆ นั้น เป็นบุคคลซึ่งมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมอย่างไม่มีความแตกต่างหรือไม่ ถูกละเลยจาก หรือ ไม่ได้รับการยอมรับให้เข้าร่วมกลุ่มทางสังคมหรือไม่ หรือมีภาวะที่เรียกว่า “ตกขอบ” ของสังคม หรือ ถูกผลักดันให้เป็นคนที่อยู่ตรง “ชายขอบ” ที่เรียกว่าเป็น “คนชายขอบ” (marginal man) หรือไม่ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคมเป็นอย่างไร สื่อสารด้วยภาษาเดียวกัน ตีความการแสดงออกทางพฤติกรรม วัฒนธรรมในความหมายเดียวกันหรือไม่ สิ่งเหล่านี้อาจเป็นแนวทางในการพิจารณาว่า เรากำลังเผชิญกับความแปลกหน้า หรือกำลังตกอยู่ในภาวะเป็น “คนแปลกหน้า” หรือไม่ และเราจะจัดการกับภาวะดังกล่าวอย่างไร ในขณะเดียวกัน หากเราต้องเป็นคนหนึ่งในสังคมเมืองที่เต็มไปด้วยคนแปลกหน้า และเราไม่ต้องการจะรักษาพื้นที่ความเป็นส่วนตัวของเราในการเข้าไปอยู่ร่วมในพื้นที่สาธารณะเราจะมีการป้องกันความเป็นส่วนตัวของเราอย่างไร รวมทั้งท่าทีที่เราจะสังเกตหรือคาดเดาพฤติกรรมของคนแปลกหน้าที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวันว่าเขาเป็นคนที่เราจะไว้ใจได้มากน้อยเพียงใดในการเผชิญหน้ากับคนแปลกหน้าเหล่านั้น สิ่งเหล่านี้ไม่ได้อยู่ไกลตัวสำหรับคนที่ต้องอยู่อาศัยในเมืองที่นับวันจะมีแต่คนแปลกหน้าที่เราไม่รู้จักเพิ่มมากขึ้นทุกที

นักสังคมวิทยามองคนแปลกหน้าอย่างไร? เราอาจเริ่มต้นจากความคิดของ จอร์จ ซิมเมล (George Simmel) นักสังคมวิทยาชื่อดังคนหนึ่ง เขาไม่ได้มองคนแปลกหน้าเพียงแค่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเท่านั้น แต่เขามองคนแปลกหน้าในภาพกว้างที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนแปลกหน้าที่เป็นปัจเจกบุคคลกับระบบสังคมที่ใหญ่กว่า เช่น กลุ่ม สถาบัน ชุมชนๆ (Simmel ,1950b) ลักษณะพิเศษของคนแปลกหน้าอย่างหนึ่ง คือ การมีสถานะอยู่ ณ ชายขอบของกลุ่มที่ปฏิสัมพันธ์ด้วยเสมอ ตัวอย่างที่ดีที่เขายกมาให้เห็น คือพ่อค้าหรือผู้ทำการค้าที่ประสบความสำเร็จเป็นผู้ติดต่อค้าขายโดยตรงกับคนจำนวนมาก ซึ่งหากเราพิจารณาอย่างลึกซึ้งเราจะพบว่า พ่อค้าเหล่านั้นสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าเพียงเพื่อต้องการขายสินค้า ความสัมพันธ์ของเขาวางอยู่บนผลประโยชน์เพื่อการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกันกับลูกค้าเท่านั้น เขาไม่ได้ต้องการมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับลูกค้า เพียงแต่เขาจะจัดวางความสัมพันธ์ที่เหมาะสมแก่การดำเนินธุรกิจของเขาที่จะทำให้เขาบรรลุความสำเร็จได้บนความไว้วางใจต่อกันและกันในระดับหนึ่ง

ในขณะที่ความคิดเรื่อง “contacts among strangers” ที่ David A Karp and William C. Yoels [2] นำเสนอนั้น กล่าวถึงการที่มนุษย์เรามักจะถูกสอนมาตั้งแต่เด็กว่าให้ระมัดระวัง ไม่ไว้ใจคนแปลกหน้า และหลีกเลี่ยงที่จะปฏิสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า ด้วยเราไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร คิดอะไร ดังนั้น เราจึงถูกสอนให้มองคนแปลกหน้าในทางที่ไม่ไว้วางใจไว้ก่อนอื่นใด ทั้งๆ ที่บางครั้งคนแปลกหน้าคนนั้นเขาอาจจะเพียงแค่ต้องการถามไถ่เส้นทางจากเราเพียงเท่านั้นก็ได้

ชีวิตประจำวันของคนที่อาศัยในเมืองใหญ่ “ความแปลกหน้า” เป็นทั้ง “สิ่งที่เราเป็นผู้กระทำ” และ “สิ่งที่เราถูกกระทำ” จากผู้อื่น นั่นหมายความว่า ในหลายครั้งที่เราเกิดความรู้สึกแปลกหน้าต่อคนที่เราพบเห็นหรือต้องปะทะสังสรรค์ด้วย ในทางกลับกันเราเอาก็กลายเป็นคนแปลกหน้าของสังคมที่เราเข้าไปปะทะสังสรรค์ด้วย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามที่ทำให้เราต้องเข้าไปในสังคมนั้นๆ และเราก็ตีความคุณลักษณะของ “คนแปลกหน้า” ว่าหมายถึงคนที่มีคุณสมบัติอย่างน้อยที่สุดก็คือคนที่เราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับตัวเขาเลยหรือถ้าจะรู้ก็รู้น้อยมาก การที่เรารู้ว่าใครเป็นคนแปลกหน้าสำหรับเรานั้นจะมีชุดของระบบสัญลักษณ์บางอย่างที่เป็นเครื่องชี้บอกว่า “เขา” ต่างจาก “เรา” และ “เขา” ไม่มีส่วนสัมพันธ์ทางสังคมร่วมกับ “เรา” ซึ่งแน่นอนว่าในการแบ่งแยกความเป็น “เขา” และ “เรา” นี้มีเรื่องของ “อัตลักษณ์” ของปัจเจกบุคคล/กลุ่ม เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การให้ความหมายที่สำคัญทางวัตถุ เหตุการณ์ หรือ สถานการณ์ต่างๆ ที่แตกต่างไปจากที่เราให้คุณค่าหรือความหมาย ความแตกต่างเหล่านี้สื่อความให้เราเข้าใจว่าการติดต่อปฏิสัมพันธ์กับคนแปลกหน้านั้นเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก

ในสังคมอเมริกัน คนแปลกหน้าในสังคม เป็นสังคมของคนอีกประเภทหนึ่งซึ่งเปรียบเทียบได้กับที่สิ่งที่ Robert Park เรียกว่า “คนชายขอบ” เขาประยุกต์แนวคิดเรื่องคนแปลกหน้ากับการอพยพทางเชื้อชาติและกลุ่มชาติพันธุ์เข้าสู่เมืองโดยให้คำอธิบายว่า ผู้อพยพเหล่านั้นยังคงเป็นสมาชิกคนชายขอบของสังคมคนเมืองอยู่ เพราะว่าพวกเขายังคงอยู่ในกระบวนการละทิ้งวัฒนธรรมเดิมของพวกเขาโดยปราศจากการรับเข้าหรือซึมซับเอาวัฒนธรรมใหม่เข้ามา คนชายขอบยังคงยืนอยู่ระหว่างสองวัฒนธรรม ระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมที่พวกเขาคุ้นเคยจากสังคมเดิมที่เขาอยู่ กับ วัฒนธรรมใหม่ในสังคมใหม่ที่เขาเข้าไปเป็นสมาชิก ดังนั้น คนชายขอบ จึงเหมือนกับคนที่ยืนอยู่ระหว่างโลกสองใบ [3]

ความไว้วางใจ และความสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า

ไม่ว่าเราจะมีความปรารถนาจะติดต่อสร้างความสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าหรือไม่ก็ตาม แต่ในบริบทของสังคมเมืองที่เราไม่อาจจะแยกตัวออกมาอยู่ลำพังได้ โอกาสที่เราจะต้องติดต่อหรือสร้างความสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าจึงมีโอกาสมาก การเรียนรู้ที่จะจัดการกับความท้าทายนี้อาจช่วยให้เราไม่ถูกปฏิเสธจากสังคมได้

ในเรื่องปฏิสัมพันธ์ของคนแปลกหน้า นั้น Erving Goffman (1956) นักสังคมวิทยาผู้มีอิทธิพลในด้านสังคมวิทยาและจิตวิทยาทางสังคม ได้วิเคราะห์เกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ในชีวิตประจำวัน (everyday interaction) ผ่านการเผชิญหน้าและการสนทนากันกับคำถามที่ว่าเราจะสื่อสารกับผู้อื่นอย่างไร Goffman กล่าวว่า [4] วิธีที่เราแสดงตัวของเราเองนั้นค่อนข้างคล้ายกับการแสดงบทบาทในละครซึ่งบทละครถูกเขียนไว้แล้ว ในที่นี้ เขาได้อ้างว่าบทบาทหาใช่อัตลักษณ์ไม่ แต่การเน้นไปที่รายละเอียดของการปฏิสัมพันธ์ในชีวิตประจำวันนั้นมีประโยชน์ที่จะตรวจสอบว่า เราเข้าใจอัตลักษณ์ของผู้อื่นอย่างไร และเราแสดงตัวของเราเองต่อผู้อื่นอย่างไร Goffman ได้เขียนไว้ในหนังสือ The Presentation of Everday Life และเผยให้เห็นทัศนะเกี่ยวกับเรื่องตัวตน (self) โดยวางอยู่บนแนวคิดของการแสดงละคร (performance) นั่นคือ ปัจเจกเป็นเหมือนนักแสดงที่กำลังแสดงให้ผู้ชมดู บทที่เราเล่นได้ถูกเขียนไว้แล้ว อย่างไรก็ตามเราสามารถแสดงสดและตีความต่อบทบาทของเราได้เองด้วย นอกจากนี้ การแสดงตัวตนของเราต่อผู้อื่นประกอบด้วยข้อมูลในแบบที่เป็นไปโดยตั้งใจ และโดยไม่ตั้งใจ [5]

ในขณะ Park ให้ความหมายคนยิวที่พเนจรอย่างไร้จุดหมาย ไม่มีแผ่นดินมาตุภูมิทางประวัติศาสตร์ ว่าเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของการนิยาม “คนแปลกหน้า” หรือ “คนชายขอบ” ความหมายของPark เจ้าสำนักสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ที่เขาเรียกว่า “คนชายขอบ” (marginal man) นั้น หมายถึงคนชายขอบที่มิได้เดินทางเข้าตัวเมืองเพียงร่างกายและกระเป๋าเดินทาง หากแต่พวกเขาเหล่านั้น พกพาความเชื่อและวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเข้าไปในเมืองด้วย เมื่อก้าวเข้าประตูเมือง คนชายขอบต้องเผชิญกับสถานที่ ใหม่และวัฒนธรรมใหม่ คนชายขอบจึงเป็นคนนำความต่างทางวัฒนธรรมเข้ามาประทะกับวัฒนธรรมของเมืองที่เขาเข้าไปอยู่ใหม่ ภาวะที่จะทิ้งวัฒนธรรมเดิมทั้งหมดก็ไม่ได้ ปฎิเสธวัฒนธรรมใหม่ทั้งหมดก็ไม่ได้ ทำให้คนชายขอบ ต้องอยู่บริเวณชายขอบของทั้ง 2 วัฒนธรรม วัฒนธรรมที่คน ชายขอบยึดถือจึงกลายเป็นวัฒนธรรม ”หัวมังกุท้ายมังกร” หรือวัฒนธรรมผสมอย่างช่วยไม่ได้ Park เอง ก็สรุปไว้ชัดว่า การผสมผสานทาง วัฒนธรรม คือธรรมชาติของคน ชายขอบ (“cultural hybridity” is “marginal man’s” nature)[6]

Alfred Schutz (1899-1959) พูดถึงคนแปลกหน้าในชุดของความสัมพันธ์ของปัจเจกชนในการจัดกลุ่มของชีวิต เขาวิเคราะห์มุ่งประเด็นไปที่คำนิยามว่า คนแปลกหน้าคือคนที่ไม่สามารถจะรู้ได้ถึงรูปแบบทางวัฒนธรรมของกลุ่มที่จะเข้าไปอยู่ด้วย [7]

สำหรับช่องทางที่คนแปลกหน้าจะเข้าถึงกลุ่มความสัมพันธ์ในชีวิตประจำวัน จะต่างกับช่องทางที่สมาชิกของกลุ่มใช้กันอยู่ เนื่องจากคนแปลกหน้าไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มจึงยังมีจุดที่ไม่สามารถจะเข้าใจได้อยู่ ดังนั้น คนแปลกหน้าจะไม่แน่ใจว่าจะตีความสถานการณ์ทางสังคมและพฤติกรรมหลายๆ อย่างอย่างไร คนแปลกหน้าถูกทำให้สับสนกับความไม่เชื่อมต่อกันอย่างชัดเจนและความไม่สอดคล้องของรูปแบบวัฒนธรรมของกลุ่ม เป็นเหมือนกับสภาพแวดล้อมที่เป็นคำถามของชีวิตในกลุ่มซึ่งสมาชิกที่เป็นเต็มตัวอยู่แล้วได้มอบให้ ในคำกล่าวของ Schutz “รูปแบบวัฒนธรรมการเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มในสังคมเมือง สำหรับคนแปลกหน้าแล้วมิใช่เป็นแค่เปลือกแต่เป็นสนามที่ท้าทายและน่าตื่นเต้น

พื้นที่ความเป็นส่วนตัวในที่สาธารณะของคนเมืองท่ามกลางคนแปลกหน้า

งานวิจัยของ Michael Wolff ทำการศึกษาพฤติกรรมของคนเดินถนนบนถนนเลขที่ 42 ในมหานครนิวยอร์ค เป้าหมายของเขาคือต้องการเปิดเผยระเบียบแบบแผนของสังคม พฤติกรรมในที่ส่วนรวมในสถานการณ์เฉพาะ งานวิจัยของเขามุ่งเป้าไปที่ทางเดินเท้าที่คนหนาแน่นยุ่งเหยิงที่สุดโดยแยกเป็นสองกลุ่มตัวอย่าง คือ กลุ่มตัวอย่างที่มีความหนาแน่นน้อยประมาณ 5-15 คน กับกลุ่มที่มีความหนาแน่นมาก ตั้งแต่ 16-30 คนขึ้นไป Wolff ได้พบสิ่งที่น่าสนใจในเบื้องต้นคือ “ระยะห่าง” ในการเข้าถึงกลุ่มตัวอย่างเหล่านั้น ภายใต้เงื่อนไขของความหนาแน่น พวกที่อยู่ในกลุ่มที่มีความหนาแน่นน้อยจะมีวงของระยะห่าง 7 ฟุต ส่วนในพวกที่อยู่ในกลุ่มที่มีความหนาแน่นมาก จะมีระยะห่างอยู่ที่ 5 ฟุต และหากเป็นเพศเดียวกันช่องว่างหรือระยะห่างก็จะหดแคบเข้ามาอีก ตรงกันข้ามหากต่างเพศกัน ระยะห่างก็จะมากขึ้นด้วย และเมื่อไปสังเกตการณ์ในรถไฟฟ้าใต้ดินจะเห็นว่า “ระยะห่าง” ที่เป็นเหมือนกับพื้นที่ส่วนตัวของปัจเจกมีความสำคัญต่อการเลือกตำแหน่งที่จะนั่งหรือยืน เป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งที่บ่งบอกถึง “ความแปลกหน้า” ของคนที่ต้องดำเนินชีวิตประจำวันในสังคมเมือง เช่น ในรถไฟฟ้าใต้ดิน การเลือกที่นั่ง หรือ ที่ยืน ของคนต่างเพศกัน หรือ คนเพศเดียวกัน เช่น หากมีที่นั่งข้างๆ ผู้หญิง กับ ข้างๆ ผู้ชาย หากผู้ที่ขึ้นมาใหม่เป็นหญิงก็มักจะเดินไปนั่งข้างผู้หญิงมากกว่าที่จะไปนั่งข้างผู้ชาย หรือ หากเป็นผู้ชายขึ้นมาก็มักจะไปนั่งข้างผู้ชายมากกว่า หรือไม่ก็จะไม่ยอมนั่งแต่จะไปยืนอยู่ตรงมุมที่มีระยะห่างจากคนอื่นพอสมควร

การรักษาพื้นที่ความเป็นส่วนตัวของคนเมืองในสถานการณ์ต่างๆ

ในสถานการณ์ที่ต้องมีการเผชิญหน้ากันจะแทนที่ด้วยการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าที่ไม่จำเป็น ในบริบทที่สาธารณะอื่นๆ เช่นกัน ปัจเจกจะกระทำในสิ่งที่ Goffman (1963) เรียกว่า “civil inattention” เมื่อพวกเขาถูกบังคับให้ต้องเข้าร่วมสมาคมกับคนอื่นๆ ในขณะที่จะพยายามทำให้เป็นจุดสนใจของคนอื่นๆ ให้น้อยที่สุด หรือกล่าวอีกทางหนึ่งได้ว่า พวกเขาพยายามที่จะมีปฏิสัมพันธ์ด้วยให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ หรือที่ควรจะมีได้สำหรับชีวิตของคนในเมือง เช่น พฤติกรรมที่แสดงออกเหล่านี้ในรถไฟฟ้าใต้ดิน ได้แก่ การละเลย การเพิกเฉยไม่สนใจต่อสิ่งรอบข้าง เป็นการแสดงออกที่ปรากฏให้เห็นถึงความไม่เกี่ยวข้องด้วยคนอื่น และหากจำเป็นต้องปะทะสังสรรค์ด้วยก็จะรักษาพื้นที่ความเป็นส่วนตัวเอาไว้ด้วยการทำท่าทางเหมือนไม่อยากติดต่อพูดคุยกับใคร เช่น การทำหน้าบึ้งตึงบอกบุญไม่รับ การนั่งอ่านหนังสือ การทำท่าว่ากำลังยุ่ง การนั่งหลับในรถไฟฟ้า หรือ การฟังเพลงจากโทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องเล่นเพลง ซึ่งทำให้คนอื่นๆ เห็นแล้วก็ไม่อยากจะทักทายหรือพูดคุยด้วย

เมื่อไรก็ตามที่วัฒนธรรมของคนแปลกหน้าเผชิญหน้ากับคนอื่นๆ ที่เป็นคนแปลกหน้าสำหรับพวกเขา ก็จะมีการแสดงพฤติกรรมหรือการกระทำที่สะท้อนกลับอย่างที่ไม่ได้เป็นรูปแบบที่แน่นอนกับเรื่องที่ได้ประสบโดยบังเอิญ ความรู้สึกไม่แน่ใจในความสัมพันธ์ของคนที่ต้องเข้ามาอยู่ร่วมกัน เช่น ในเมืองใหญ่ที่มีผู้คนแปลกหน้ามากมายมาอยู่รวมกัน แม้ว่าจุดประสงค์การเข้ามาอยู่ร่วมกันอาจเหมือนกันแต่ลักษณะความสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกันกลับเป็นลักษณะของต่างคนต่างอยู่ มีความเป็นอิสระแยกออกจากกัน แม้จะในพื้นที่ทางกายภาพเดียวกัน เช่นในอาคารสำนักงานเดียวกันแต่ความแปลกหน้าหรือความสัมพันธ์ระหว่างกันยังเป็นลักษณะของคนแปลกหน้าซึ่งกันและกัน อันเนื่องมาจากว่า เราไม่สามารถจะคาดเดาได้ว่าคนแปลกหน้าเป็นใคร คิดอย่างไร เราจึงมักหากลยุทธ์ซึ่งสามารถจะใช้ได้ในการจัดการกับการต้องอยู่ร่วมกับคนแปลกหน้าใน ซึ่งอาจจะแสดงออกในพฤติกรรมที่แตกต่างกัน โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การรักษาความเป็นส่วนตัวไว้ให้ได้ในพื้นที่ส่วนรวม เช่นในการรักษาความเป็นพื้นที่ส่วนตัวจากตัวอย่างที่อธิบายวิธีการที่ใช้ในการป้องกันความเป็นส่วนตัวในพื้นที่สาธารณะ ว่าขอบเขตแค่ไหนที่เราจะให้คนอื่นเข้ามาในพื้นที่ส่วนตัวได้ แม้ว่าจะไม่ได้บอกด้วยคำพูดก็ตาม



เชิงอรรถ

[1] บทความนี้มีอยู่ 2 ตอนซึ่งผู้เขียนแบ่งบทความและปรับปรุงเพิ่มเติมจากรายงานประจำวิชาทฤษฎีสังคมหลักสูตรปริญญาเอกสหวิทยาการ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2/2551

[2] David A.Karp and William C. Yoels. Sociology in Everyday Life (2nd.ed.),F.F.Peacock Publishies,1993, pp.9-122.

[3] Robert E.Park. Human Migration and the Marginal Man, American Journal of Sociology 33: 881-893.

[4] Kath Woodward, “Question of identity,” Questioning identity: gender, class, ethnicity (London: Sage in association with Open University, 2004), footnote 12.,p.14.

[5] Goffman, Erving.(1959) The Presentation of Self in Everyday Life, University of Edinburgh Social Sciences Research Centre.

[6] ฐิรวุฒิ เสนาคำ. แนะนำหนังสือ Debating Cultural Hybridity <http://board.dserver.orgl> เข้าถึง 12 เมษายน 2552

[7] The Open University. The social in social science. Retrieved from, http://openlearn. open.ac.uk/mod/oucontent/ view.php?id=398996. 20 Nov,2010.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น