วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

งานเขียนเกี่ยวกับพิธีสตีของนักสตรีนิยมอินเดีย (ตอนที่1)

    
                                                                                                          

อนินทร์ พุฒิโชติ


พีธีสตี (Sati) หมายถึงพิธีการเผาหญิงหม้ายในกองฟืนพร้อมศพสามีที่เสียชีวิต แม้มีหลักฐานบันทึกว่าในสมัยโบราณพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการบูชายัณหญิงหม้ายด้วยไฟนี้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่และในหลายกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ในกลุ่มชาวสลาฟ กรีก แสกนดิเนเวียน อเมริกันอินเดียนบางเผ่า แต่พิธีที่สืบทอดมาจนเป็นเป็นที่รู้จักและรับรู้กันโดยทั่วไปในปัจจุบันนั้นคือพิธีสตีในประเทศอินเดีย (ซึ่งอันที่จริงนิยมปฏิบัติกันเพียงในบางพื้นที่ เช่นในพื้นที่รัฐเบงกอล(Bengal)และราชาสถาน(Rajasthan) 

ความโหดร้ายน่ากลัวของพิธีสตีที่กระทำต่อชีวิตของหญิงหม้ายทำให้พิธีนี้ถูกจับจ้องและวิพากษ์ วิจารณ์อย่างกว้างขวาง พิธีสตีไม่เพียงเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนอุดมการณ์ปิตาธิปไตยหรือชายเป็นใหญ่อย่างเด่นชัดแต่ยังกลายเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความล้าหลังของสังคม แม้จักรวรรดินิยมอังกฤษได้ตรากฎหมายเพื่อล้มเลิกพิธีสตีในอินเดียไปตั้งแต่ ค.ศ. 1829 แต่ในทางปฏิบัติก็ยังไม่อาจล้มล้างพิธีนี้ให้หมดไปได้อย่างสิ้นเชิง โดยมีการบันทึกสถิติว่าในช่วงหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษจนกระทั่งถึงช่วงกลางทศวรรษ 1980 มีการกระทำพิธีสตีประมาณ 40 ครั้ง

อย่างไรก็ตามภายใต้บริบทของการปลุกเร้ากระแสชาตินิยมฮินดูที่ปรากฏอย่างโดดเด่นนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 กระแสการประกอบพิธีสตีก็กลับมีแนวโน้มว่าอาจจะถูกฟื้นคืนขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังกรณี “The Deorala Sati ” หรือการทำพิธีสตีของหญิงหม้ายอายุเพียง 18 ปีที่ชื่อว่า Roop Kanwar ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1987 ที่หมู่บ้าน Deorala รัฐราชาสถาน พีธีสตีนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสักขีพยานนับพันคนและได้รับความสนใจในการนำเสนอจากสื่อมวลชน รูปภาพพิธีสตีของRoop Kanwar สวมชุดแต่งงานนั่งเคียงข้างศพสามีโดยมีศรีษะของเขาวางอยู่บนตักท่ามกลางเปลวไฟที่เผาผลาญทั้งคู่ได้ถูกนำไปเผยแพร่จนกลายเป็นที่โจษขานไปทั่วอินเดียในนามของพิธีสตีที่แท้จริงเพราะเกิดจากความสมัครใจ (voluntary sati / true sati)

การสละชีวิตเข้าสู่พิธีสตีของ Roop Kanwar ประกอบกับบริบทของกระแสชาตินิยมฮินดูที่เติบโตขึ้นในช่วงทศวรรษ1980ได้ส่งผลให้เกิดกระแสการถกเถียงอภิปรายอย่างกว้างขวางทั้งในฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านพิธีสตี ฝ่ายที่สนับสนุนการประกอบพิธีสตี(ที่เกิดขึ้นจากความเต็มใจ)โดยเฉพาะกลุ่มฮินดูจารีตนิยมและนักชาตินิยมฮินดูรุ่นใหม่เรียกร้องให้ยอมรับในการตัดสินใจของหญิงหม้ายที่ต้องการประกอบพิธีสตีเพื่อแสดงซึ่งเกียรติยศศักดิศรีและอุดมคติอนสูงส่งของผู้หญิงฮินดู รวมไปจนถึงมีการวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มนักสตรีนิยมอินเดียที่ต่อต้านการทำพิธีสตีว่าเป็นพวกที่ถูกครอบงำจากวัฒนธรรมตะวันตก เชิดชูอุดมการณ์ทุนนิยม เชิดชูเสรีภาพและความเท่าเทียมของมนุษย์จนทำตัวแปลกแยกจากวัฒนธรรมที่เป็นต้นราก ทำลายล้างคุณค่าของวัฒนธรรมฮินดู ขณะที่ฝ่ายต่อต้านพิธีสตีโดยเฉพาะนักวิชาการในแวดวงสตรีนิยมก็ได้ดำเนินการขับเคลื่อนทั้งในเชิงสังคมการเมืองและแวดวงวิชาการเพื่อต่อต้านพิธีสตี อันนำไปสู่การผลิตผลงานการศึกษาในเรื่องพิธีสตีโดยนักสตรีนิยมอินเดียจำนวนมาก

ในบทความนี้ผู้เขียนขอนำเสนอส่วนหนึ่งของงานเขียนเรื่องพิธีสตีของนักวิชาการแนวสตรีนิยมอินเดียที่ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านซึ่งผู้เขียนพบว่างานศึกษาพิธีสตีในกลุ่มนักสตรีนิยมอินเดียที่ผลิตขึ้นนับแต่ช่วงปลายทศวรรษ80นั้น แม้จะมีทัศนะและเป้าประสงค์ร่วมกันในการต่อต้านพิธีสตี วิพากษ์อุดมการณ์ปิตาธิปไตยหรือชายเป็นใหญ่ในสังคมอินเดีย แต่แนวการศึกษาก็มีความหลากหลายทั้งในส่วนข้ออภิปรายและวิธีวิทยาในการศึกษา โดยหนึ่งในแนวทางหลักที่นักสตรีนิยมอินเดียใช้ในการผลิตผลงานเพื่อการต่อต้านพิธีสตีก็คือการชี้ให้เห็นว่าพิธีสตีไม่ใช่เครื่องแสดงถึงอุดมคติอันสูงส่งของผู้หญิงในวัฒนธรรมฮินดู อาทิ เช่นงานของ Sharada Sugirtharajah ในบทความเรื่อง “Courtly Text and Courting Sati” (2001) บทความชิ้นนี้ได้แสดงข้อวิพากษ์ต่อทัศนะของกลุ่มฮินดูจารีตนิยมและนักวิชาการชาตินิยมฮินดูรุ่นใหม่ที่มักพยายาม “Romanticize” หรือสร้างภาพในอุดมคติให้กับพิธีสตีด้วยการอ้างอิงกับคัมภีร์โบราณของวัฒนธรรมพราหมณ์ฮินดู ซึ่งผลลัพธ์ก็คือการผลิตซ้ำอุดมการณ์ปิตาธิปไตยที่ผลักไสให้ผู้หญิงต้องตกเป็นเหยื่อ

เพื่อชี้ให้เห็นว่าพิธีสตีไม่ใช่ภาพแทนที่แท้เพียงภาพเดียวในการแสดงออกซึ่งบทบาทหน้าที่และความจงรักภักดีของหญิงหม้ายที่มีต่อสามีที่เสียชีวิตในวัฒนธรรมฮินดู Sharada Sugirtharajah อ้างอิงตัวบทหรือคัมภีร์ต่างๆในวัฒนธรรมพราหมณ์ฮินดูซึ่งมีแนวคิดในเชิงต่อต้านพิธีสตี เช่น คัมภีร์ Srivaisnavism ในช่วงศตวรรษที่ 16-18 ที่นำเสนอทัศนะว่าผู้หญิงทุกคนในนิกายนี้ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นใดก็ไม่ควรเข้าพิธีสตี หรือคัมภีร์ Mahanirvana Tantra ที่ต่อต้านการทำพิธีสตีด้วยความเชื่อว่าผู้หญิงทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของมหาเทวีเทพฝ่ายหญิง ดังนั้นการฆ่าตัวตายตามสามีของหญิงหม้ายจึงเป็นบาปอย่างร้ายแรง ในบทความชิ้นนี้ยังมีการอ้างอิงถึงตำนานและการยกตัวอย่างผู้หญิงหม้ายในประวัติศาสตร์ของอินเดียหลายคนที่ไม่ได้ใช้การประกอบพิธีสตีเพื่อแสดงความรักและภักดีต่อสามี แต่ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้อุทิศชีวิตให้กับสามีอย่างแท้จริง เช่นเทวี Sarada แห่ง Sri Rama Krishna ซึ่งได้รับการเชิดชูว่าเป็นหนึ่งในนักบุญแห่งเบงกอลในช่วงศตวรรษที่ 18 โดยเทวี Sarada ไม่เพียงไม่เข้าสู่พิธีสตี แต่ยังทำหน้าที่ผู้นำทางจิตวิญญาณสั่งสอนนักบวชและผู้คนที่ศรัทธาต่อสวามีที่เสียชีวิต

การศึกษาอ้างอิงจากตัวบท คัมภีร์และตำนานต่างๆของ Sugirtharajah ชี้ให้เห็นว่าตัวบทหรือคัมภีร์ต่างๆในวัฒนธรรมฮินดูนั้นมีความหลากหลายและซับซ้อน แม้บรรดาตัวบทคัมภีร์ต่างๆที่ยกมาซึ่งล้วนค้ำจุนอุดมการณ์ปิตาธิปไตย แต่ก็ไม่ได้นำไปสู่การสนับสนุนพิธีสตีเหมือนกันทั้งหมด การอุทิศตนของผู้หญิงต่อสามีในวัฒนธรรมอินเดียก็เช่นกันสามารถแสดงออกด้วยแนวทางที่หลากหลายมิใช่ด้วยการทำพิธีสตีเท่านั้น ดังนั้นพิธีสตีจึงไม่ใช่แก่นแท้ของวัฒนธรรมฮินดู

อีกหนึ่งแนวทางสำคัญที่นักสตรีนิยมอินเดียใช้ในการผลิตผลงานเพื่อต่อต้านพิธีสตีก็คือการสร้างพื้นที่ให้กับ “เสียง” “ตัวตน” “เรื่องราว” และ “ประสบการณ์” ของผู้หญิง หรือการให้ผู้หญิงเป็นองค์ประธานของเรื่องราว นักสตรีนิยมอินเดียรุ่นใหม่แสดงทัศนะว่าที่ผ่านมาปัญหาสำคัญที่ปรากฎในงานเขียนหรือการศึกษาเกี่ยวกับพิธีสตีคือการปราศจากซึ่ง “พื้นที่” ในการนำเสนอเรื่องราว ความรู้สึก และประสบการณ์ของผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่ให้ผู้หญิงสามารถเป็นผู้กระทำ เป็นองค์ประธานของเรื่องราว (subject who act) ซึ่งที่ผ่านมาผู้หญิงในพิธีสตีเป็นเพียง “วัตถุ” แห่งการจ้องมอง ศึกษา หรือวัตถุที่ต้องถูกช่วยให้รอด (object to be saved) ซึ่งในท้ายที่สุดย่อมส่งผลกระทบต่อการต่อสู้ของผู้หญิงทั้งในแวดวงวิชาการและในการขับเคลื่อนในเชิงสังคมการเมือง ด้วยเหตุนี้ นักสตรีนิยมอินเดียหลายคนจึงพยายามค้นหาและนำเสนอแนวทางในการศึกษาพิธีสตีโดยที่มีผู้หญิงหรือประสบการณ์ของผู้หญิงเป็นแกนกลางของเรื่องราว

นักวิชาการสตรีนิยมอินเดียที่มีบทบาทสำคัญในการเสนอแนวคิดดังกล่าว ก็คือ Lata Mani ผลงานที่มักถูกนำมาอ้างถึงเสมอในการศึกษาพิธีสตีของนักสตรีนิยมอินเดียรุ่นใหม่คือผลงานเรื่อง “Contentious Traditions : The Debate on Sati in Colonial India” (1987) งานชิ้นนี้ศึกษาข้ออภิปรายถกเถียงเรื่องการยกเลิกพิธีสตีในสมัยอาณานิคม โดยศึกษาจากคำสั่ง บันทึกหรือประกาศราชการ กฎหมาย รวมถึงเอกสารประวัติศาสตร์ต่างๆจำนวนมากทั้งในฝ่ายของผู้สนับสนุนพิธีสตีซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มฮินดูจารีตนิยม(Orthodox Hinduism)และในกลุ่มผู้ต่อต้านพิธีสตีเช่นเจ้าหน้าที่อาณานิคมและนักปฏิรูปสังคมหัวก้าวหน้า

ด้วยแนวการศึกษาที่เน้นการวิเคราะห์วาทกรรม Mani เปิดเผยให้เห็นถึงตำแหน่งแห่งที่เชิงอุดมการณ์ของการวิวาทะอภิปรายในเรื่องพิธีสตี รวมทั้งชี้ให้เห็นว่าเหตุผลหรือข้ออ้างสำคัญในการอภิปรายเพื่อยกเลิกพิธีสตีในยุคอาณานิคมนั้น คือในเรื่อง ศาสนา วัฒนธรรม ดังที่พบว่าเจ้าหน้าที่อาณานิคมอินเดียมุ่งเน้นที่การนำเสนอความล้าหลังป่าเถื่อนของพิธีกรรม ส่วนกลุ่มนักปฏิรูปสังคมหัวก้าวหน้าและกลุ่มฮินดูจารีตนิยมล้วนแต่ใช้ตัวบทหรือคัมภีร์พราหมณ์-ฮินดูในการตีความเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับจุดยืนทางอุดมการณ์ของฝ่ายตน การถกเถียงอภิปรายเพื่อยกเลิกพิธีสตีจึงไม่ใช่เรื่องราวของผู้หญิง ไม่มีพื้นที่ใดที่พูดถึงตัวตน เหตุผลและความรู้สึกของหญิงหม้าย หรือแม้แต่ความขมขื่นโหดร้ายที่ผู้หญิงเหล่านั้นได้รับ ดังนั้นท่ามกลางการถกเถียงเพื่อล้มล้างพิธีสตีที่เกิดขึ้นภายใต้อำนาจนิยมของผู้ชาย ไม่ว่าจะป็นเจ้าอาณานิคมหรือคนพื้นเมือง ไม่ว่าในยุคอาณานิคมหรือการต่อต้านอาณานิคม พิธีสตีกลายเป็นพื้นที่ของ ศาสนา ประเพณี คัมภีร์ กฎหมาย ได้เข้าแข่งขันแย่งชิงโต้ตอบกัน ส่วน ผู้หญิงเป็นเพียงชายขอบของข้อถกเถียงเหล่านั้น

ปี1989 ในโอกาสครบรอบ 1o ปี วารสาร Manushi ซึ่งเป็นวารสารที่มีบทบาทสำคัญในการนำเสนอเรื่องราวทัศนะของผู้หญิงอินเดียจัดพิมพ์วารสารฉบับพิเศษเพื่อรวบรวมและนำเสนอ“เสียง”ที่หลากหลายของผู้หญิงในการต่อต้านพิธีสตีหรือการตั้งคำถามต่อระบบชายเป็นใหญ่ของสังคมอินเดียที่ปรากฎในรูปของเรื่องเล่า วรรณกรรม บทกวี บทเพลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทเพลงของผู้หญิงในกลุ่ม Bhaktas ซึ่งถ่ายทอดสืบต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น เนื้อหาของบทเพลงสะท้อนถึงมุมมองในเชิงจิตวิญญาณที่มีต่อความรักของพระผู้เป็นเจ้า การตั้งคำถามต่อความสัมพันธ์หญิง-ชาย ชีวิตและความปรารถนาของภรรยาและหญิงหม้าย ซึ่งล้วนท้าทายต่อค่านิยมและอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ในวัฒนธรรมพราหมณ์-ฮินดู

ผลงานชิ้นสำคัญอีกชิ้นที่มุ่งเน้นการสร้างพื้นที่ให้กับ “เสียง” “ตัวตน” “เรื่องราว” และ “ประสบการณ์” ของผู้หญิง คือผลงานของ ของ Rajeswari Sunder Rajan เรื่อง “The Subject of Sati : Pain and Death in Contemporary Discourse on Sati ” (1993) ในงานชิ้นนี้ Rajeswari Sunder Rajan เสนอแนวคิดเรื่อง “Sati as Pain” เพื่อแทนที่ “Sati as Death” โดยเธอวิพาษ์วิจารณ์ว่าที่ผ่านมางานส่วนใหญ่ทั้งที่สดุดีและวิพาษ์พิธีสตีนั้น ให้ความสำคัญแต่กับแง่มุมทางด้านศาสนาวัฒนธรรม แต่ไม่ได้นำเสนอพิธีสตีที่แท้จริง รวมทั้งได้ “ลบ” พื้นที่และเสียงของผู้หญิง ดังนั้นเพื่อกู้ชีวิต ตัวตน และเสียงของผู้หญิง และเพื่อให้เราเข้าถึงพิธีสตีที่แท้จริงมากขึ้น ในการศึกษาพิธีสตีจึงควรโฟกัสหรือให้ความสำคัญไปที่การถ่ายทอดประสบการณ์ความเจ็บปวดของผู้หญิง ให้ความสำคัญไปที่ตัวปัจเจกบุคลคล หรือผู้หญิงซึ่งเป็นองค์ประธานของเรื่องราว โดยเฉพาะผู้หญิงที่สามารถหลุดรอดจากความตาย ให้เป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวความเจ็บปวดที่พวกเธอได้รับ ในผลงานชิ้นนี้ Rajeswari Sunder Rajan ยังได้ศึกษาสื่อรูปแบบต่าง ๆ (Visual representation) ทั้งรูปภาพ โปสเตอร์ สื่อภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวความเจ็บปวดของผู้หญิง ซึ่งเธอเห็นว่าภายใต้วิถีทางนี้ พิธีสตีจะไม่ใช่เรื่องของความล้าหลังตกต่ำหรือความสูงส่งทางวัฒนธรรม แต่เป็นประสบการณ์ที่แสนขมขื่นและเจ็บปวดของหญิงหม้าย “สตีไม่ใช่ผู้หญิงที่ตายแล้ว แต่เป็นผู้หญิงที่กำลังถูกเผาไหม้ ไม่ใช่ผู้หญิงที่ถูกจ้องมอง แต่เป็นผู้หญิงที่เป็นผู้กระทำเป็นองค์ประธานของเรื่องราว”                  

บรรณานุกรม


Loomba, Ania. “Dead Women Tell No Tales: Issue of Female Subjectivity,Subaltern Agency and Tradition in Colonial and Post-Colonial Writings on Widow Immolation in India,” in History Workshop, no. 36(Autumn,1993),pp. 209-227.
 

Mani, Lata. “Contentious Traditions : The Debate on Sati in Colonial India” Cultural Critique, No.7 , The Nature and Context Of Minority Discourse II, 1987, pp. 119-156.

Manushi, Tenth Anniversary Issue, No.50,51,52,(Dehli,1989)
 

Rajan, Rajeswari Sunder.“The Subject of Sati : Pain and Death in Contemporary Discourse on Sati,” in Real and Imagined Women : Gender Culture and Postcolonialism, New York : Routledge, 1993,pp.15-39.
 

Sugirtharajah, Sharada. “Courtly Text and Courting Sati,” in Journal of Feminist studies in Religion, vol. 17 no.1 (Spring,2001),pp. 5-32.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น