ศรัณยุ หมั้นทรัพย์
พลเมือง (citizen) และ ความเป็นพลเมือง (citizenship) คำที่มีความหมายเชื่อมโยงกับประชาธิปไตย (democracy) และ ความเป็นประชาธิปไตย (democratization) ที่ได้รับความสนใจและกลับกลายเป็นประเด็นถกเถียงขึ้นอีกครั้งภายใต้พลวัตรก ระแสโลกอย่างการเกิดขึ้นของประเทศประชาธิปไตยใหม่ในยุโรปตะวันออกหลังการล่ม สลายของสหภาพโซเวียต การเปิดประเทศในอาฟริกา การพัฒนาแบบก้าวกระโดดตามกระแสทุนนิยมในประเทศแถบละตินอเมริกา การรวมกันของรัฐชาติในประชาคมยุโรป การอพยพย้ายถิ่นระดับโลกเพื่อรองรับรัฐอุตสาหกรรม ปัญหาความคลุมเครือทางชาติพันธ์ ความขัดแย้งระดับชาติ สิทธิในสวัสดิการในรัฐชาติ และ ประเด็นอื่นอีกมาก ความแตกต่างหลากหลายของข้อถกเถียงเหล่านั้นเป็นไปทั้งทางกฎหมาย การเมือง และสังคม ทั้งในความเป็นปัจเจก และ ในความเป็นรัฐชาติ ในประเทศไทยคำว่าพลเมือง กลายเป็นคำคุ้นชินของประชาชนไทยผ่านวาทกรรมการเมืองหลังรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทยฉบับ พ.ศ. 2540 ในฐานะของการเมืองคู่ตรงข้ามของการเมืองภาคตัวแทน ที่เรียกว่า “การเมืองภาคพลเมือง”
บทความต่อไปนี้จะนำเสนอความเลื่อนไหลของนิยาม ความหมาย ของ “พลเมือง” และ “ความเป็นพลเมือง” โดยเฉพาะความแตกต่างระหว่างแนวคิดเสรีนิยม และ ชุมชนนิยม เพื่อจะเชื่อมโยงสู่ความนิยาม ความหมาย และความเข้าใจเรื่องการเมืองภาคพลเมืองในบทความต่อๆ ไป
ในทางปรัชญาและประวัติศาสตร์การเมืองพัฒนาการและการเชื่อมโยงสู่ประชาธิปไตยของพลเมืองนับเนื่องมาได้ทุกยุคสมัย ใน ยุคกรีกโบราณ พลเมือง ในนครรัฐ (City-state) คือ ผู้ที่มีหน้าที่เข้าร่วมในการประชุมถกประเด็นทางการเมือง และได้สิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมทางกฎหมาย เป็นแนวคิดของพลเมือง หรือ ประชาชน (demos) เป็นผู้ปกครองตนเอง ซึ่งเป็นรากฐานแนวคิดประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยแบบกรีกเป็นประชาธิปไตยที่ไม่มีความเสมอภาคเท่าเทียมเพราะนคร รัฐกรีกโบราณถือว่าเสรีชนเพศชายเท่านั้นที่จะเป็นพลเมืองและมีหน้าที่ ไม่รวมถึงผู้หญิงและทาส ยุคโรมัน ความเป็นพลเมืองยังคงยึดโยงกับสิทธิและการมีส่วนร่วมในการปกครอง แต่ขยายครอบคลุมถึงไพร่ และทาส (Plebeians) และเนื่องจากเป็นยุคแห่งการขยายอาณาเขตและสร้างอาณาจักร ความเป็นพลเมืองของโรมันจึงครอบคลุมสู่ประชาชนในที่อาณาจักรโรมันแผ่อำนาจไป ถึงด้วย ดังนั้นในยุคนี้ความหมายของพลเมืองจึงเป็นความหมายของการพึงได้รับการปกป้อง ตามกฎหมายมากกว่ามีส่วนร่วมในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเท่ากับว่าความหมายของคำนี้ถูกลดทอนลงมาจนเหลือเพียงสถานภาพทางกฎหมาย หรือที่ปัจจุบันเรียกว่าสัญชาติ (nationality) เท่านั้น ใน ยุคกลาง แนวคิดความเป็นพลเมืองถูกเบียดบังจากแนวคิดความจงรักภักดีต่อมูลนายในระบบ ฟิวดัล (feudalism) เหลือเพียงบางกรณีในประเทศเยอรมันซึ่งมีคนชนชั้นกลาง (bourgeoisie) ที่เป็นพ่อค้าและมีฐานะ อ้างความเป็นพลเมืองของเมืองเพื่อป้องกันการถูกละเมิดจากเมืองอื่น ใน ยุคฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรม (Renaissance) แนวคิดเรื่องความเป็นพลเมืองได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งและเป็นแนวคิดเบื้องต้น ของการปฏิวัติรัฐธรรมนูญในอังกฤษในศตวรรษที่ 17 และมีอิทธิพลต่อการปฏิวัติอเมริกันและการปฏิวัติฝรั่งเศสในศตวรรษต่อมา และได้กลายเป็นอุดมคติสากลที่มีคำประกาศสิทธิของมนุษย์และพลเมือง (The Declaration of The Rights of Man and Citizen) ของฝรั่งเศสเป็นสัญลักษณ์ในเวลาต่อมา
แนวคิดความเป็นพลเมืองจึงผูกโยงเข้ากับแนวคิดความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และอย่างมีนัย Jean-Jacques Rousseau (ค.ศ. 1712-1778) ผนวกแนวคิดสาธารณรัฐนิยมคลาสสิค เข้ากับ แนวคิดสัญญานิยมสมัยใหม่ (พฤทธิสาณ ชุมพล. 2551, น. 25) โดยเสนอว่าพลเมืองคือปัจเจกผู้มีเสรีภาพและความเป็นตัวของตัวเอง ผู้ซึ่งมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในกฎเกณฑ์ที่บังคับให้ทุกคนทำ ตาม เป็นการเชื่อมโยงปัจเจกชนเข้ากับชุมชนทางการเมืองของสาธารณะรัฐ ที่ซึ่งพลเมืองปกครองตนเอง โดยปฏิเสธว่ากษัตริย์มีอำนาจปกครองเขา เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงสถานภาพที่เป็นข้าแผ่นดิน (subject) ของกษัตริย์ผู้มีอำนาจเหนือเขา ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเป็นรากฐานความคิดที่ให้กับนักปรัชญาการเมืองคนสำคัญ อย่าง John Rawls (ค.ศ. 1921-2002) ในศตวรรษที่ 20
ศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงการพัฒนาของโลกเสรี ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม แนวคิดเกี่ยวกับพลเมืองผู้เข้มแข็งแบบสาธารณรัฐนิยมถูกแทนที่โดยแนวความคิด ความเป็นพลเมืองที่เชื่อมโยงกับสิทธิตามธรรมชาติ (Natural rights) โดยนักเสรีนิยมมองว่า การมีจิตสาธารณะ การกระทำการสิ่งใดเพื่อส่วนรวม การมีส่วนร่วมทางการเมืองในชุมชนของผู้ที่เท่าเทียมกันเป็นสิ่งที่ล้าสมัย ความเป็นพลเมืองจึงถูกลดทอนลงเหลือเพียงสถานภาพทางกฎหมายของปัจเจกชนผู้มี สิทธิต่างๆ ซึ่งรัฐมีหน้าที่ปกป้อง T.H. Marshall (1893-1981) ได้วิเคราะห์และเสนอแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นพลเมืองแห่งโลกประชาธิปไตยแบบ เสรีนิยม ที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยไว้ว่า ในระยะแรกของการพัฒนาความเป็นพลเมืองคือในศตวรรษที่ 18 เป็นระยะของการก่อตัวของสิทธิ เสรีภาพที่จำเป็นต่อปัจเจก ได้แก่ สิทธิในทรัพย์สิน เสรีภาพส่วนบุคคล และสิทธิในความยุติธรรม ในศตวรรษ 19 ความเป็นพลเมืองขยายความไปสู่การมีสิทธิในการมีส่วนร่วมและบริหารจัดการ อำนาจทางการเมือง ผ่านการเลือกตั้ง และในระยะที่ 3 พลเมืองจะมีความหมายคือการเป็นพลเมืองของสังคม (Social Citizenship) คือ ความเป็นพลเมืองไม่เพียงการรวมเอาสิทธิด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจแต่หมายถึง การมีสิทธิของการแบ่งปันสิทธิทางสังคมต่างโดยสมบูรณ์และเท่าเทียม เพื่อการมีชีวิตอยู่ในอารยธรรมที่เป็นมาตรฐาน หรืออีกนัยหนึ่ง หมายถึง พลเมืองที่รัฐต้องมีหน้าที่ให้ได้รับสิทธิทุกอย่างในสังคม (Steenbergen, Bart Van. 1994, p. 90)
ศตวรรษ ที่ 20 ผลพวงจากวิวัฒนาการจากสิทธิพลเมืองสู่สิทธิทางการเมืองและสู่สิทธิทางสังคม ส่งผลให้ความหลากหลายแตกต่าง ของเพศสภาพ ชนกลุ่มน้อย ชาติพันธ์ ได้รับสิทธิในการเป็นพลเมืองมากขึ้น ทั้งตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) แห่งสหประชาชาติ และปรากฏการณ์สำคัญความงอกงามของระบอบเสรีประชาธิปไตย (Liberal democracy) หลังยุคสงครามเย็น
กระแสทุนนิยม ความเป็นเสรีทางการค้า ความเป็นปัจเจก กลายเป็นประเด็นที่มาของคำถามต่อการเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยเสรี ซึ่งความหมายและรูปแบบของประชาธิปไตยดังกล่าวดูไม่เอื้ออำนวยต่อการระบอบการ ปกครอง และยังเป็นประเด็นถกเถียงกับแนวคิดหลักที่เกิดขึ้นและได้รับความสนใจอย่าง มากอย่างแนวคิดชุมชนนิยม ที่มีหลักการ ความหมายและรูปแบบของประชาธิปไตยที่คล้ายเป็นความตรงข้ามกับเสรีนิยม ดังพบอยู่ในงาน ของ Bernard Dauenhauer (1996), Gershon Shafir (1998) Andrew Vandenberg (2000). และ John Hoffman, (2004) ซึ่งจะกล่าวถึงแนวคิดเสรีนิยม และ ชุมชนนิยม รวมทั้งประเด็นถกเถียงในตอนต่อไป
บรรณานุกรม
พฤทธิสาณ ชุมพล. และ เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา (บรรณาธิการ). 2551. คำและความคิดในรัฐศาสตร์ร่วมสมัย. (เล่ม 2) กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Dauenhauer, Bernard P.(1996). Citizenship in a Fragile World. Maryland: Rowman & Littlefield
Publishers, Inc.
Hoffman, John. (2004). Citizenship Beyond the State. London: Sage Publications
Shafir, Gershon. (1998). The Citizenship Debates : a Readers. Minneapolis:University of
Minnesota Press.
Steenbergen, Bart Van. (1994). The Condition of Citizenship. London: Sage Publications.
Vandenberg, Andrew. (2000). Citizenship and Democracy in a Global Era. London : Macmillan
Press.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น