วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

วิธีวิทยาเรื่องเล่า(Narrative Method)

กนกวรรณ สุทธิพร


วิธีวิทยาแบบเรื่องเล่าเป็นวิธีวิทยาที่สำคัญในแนวสตรีนิยม ให้ความสำคัญกับการศึกษาเรื่องของผู้หญิงผ่านวิธีการเล่าเรื่อง ให้ความสำคัญกับเสียงและประสบการณ์ที่ผ่านการเล่าเรื่องโดยผู้หญิง ทำให้ชีวิตและตัวตนของผู้หญิงถูกรับรู้ ซึ่งแตกต่างจากกระบวนการแสวงหาความรู้ในแบบดั้งเดิมที่เน้นการวิจัยเชิงปริมาณที่มิได้ให้ความสำคัญกับการเป็นองค์ประธานของผู้หญิง ผู้หญิงมักถูกกีดกันออกไปจากพื้นที่ในการผลิตความรู้และเป็นเพียงกรรมหรือวัตถุของการศึกษา วิธีวิทยาเรื่องเล่าจึงเป็นวิถีที่ทำให้เกิดการค้นพบ ค้นหา และนิยามตัวตนของตนเองของผู้หญิง นอกจากนั้นยังเปิดพื้นที่ให้เห็นถึงความแตกต่างของสถานภาพที่หลากหลาย ความสลับซับซ้อน อารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ ซึ่งวิธีวิทยาในแบบดั้งเดิมไม่สามารถเข้าถึงได้ลึกซึ้ง
 
เรื่องเล่าเป็นวิถีทางในการเก็บข้อมูลที่มีลักษณะเฉพาะ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจประสบการณ์และชีวิตของผู้หญิง และในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ด้วยจึงควรตระหนักและระมัดระวังต่อความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มีในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ต้องพึงตระหนักในรูปแบบและกระบวนการในการนำเสนอเรื่องเล่านั้นๆ การประยุกต์ใช้เรื่องเล่าในฐานะวิธีวิทยาจึงต้องมีการประยุกต์ใช้และศึกษาอย่างเป็นองค์รวมโดยไม่ละทิ้ง เพิกเฉย ต่อรายละเอียดต่างๆที่ปรากฏในเรื่องเล่านั้น นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญคือ ผู้หญิงทุกคนจะต้องเล่าเรื่องของตัวเองในภาษาของตน ภาษาเป็นพลังในการจัดระบบเรื่องเล่า และเป็นแม่พิมพ์ของเรื่องเล่า เรื่องเล่ามีความแตกต่างหลากหลายขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของผู้เล่าแต่ละบุคคล การวิเคราะห์เรื่องเล่าจึงต้องวิเคราะห์ผ่านโครงสร้างของภาษาที่ใช้ รูปแบบในการเล่าเรื่องมิได้เพียงสะท้อนลักษณะเฉพาะของผู้เล่าเท่านั้น โครงสร้างของเรื่องเล่าเองยังสามารถแสดงถึงสถานภาพ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล มุมมองต่อภาษา ตัวตน และโลกของผู้เล่าเรื่องได้ด้วย
 
เรื่องเล่าในฐานะวิธีการศึกษาเป็นเครื่องมือการวิจัยเพื่อปลดปล่อยผู้หญิงจากการครอบงำด้านวิธีวิทยาของการสร้างความรู้ที่นักสตรีศึกษามักใช้เป็นเป้าหมายในการพลิกประสบการณ์ชีวิตของผู้หญิงให้กลายเป็นองค์ความรู้ โดยผู้รู้ตามมุมมองสตรีนิยม คือผู้ที่มิได้แยกตัวออกจากสิ่งที่ศึกษา รวมถึงผู้ถูกศึกษา ทว่าหมายถึงผู้ที่ร่วมอยู่ในกระบวนการแสวงหาความรู้ อันได้แก่ตัวผู้ศึกษากับผู้ถูกศึกษาหรือผู้ให้ข้อมูล ซึ่งทั้งสองต่างเป็นผู้มีความสำคัญในการร่วมผลิตสร้างองค์ความรู้ ทั้งสองจึงมิอาจแยกออกจากกันได้อันถือเป็นหัวใจสำคัญประการหนึ่งของแนวคิดแบบสตรีนิยมที่พยามยามวิพากษ์มุมมองแบบปฏิฐานนิยมที่ได้รับการยอมรับและยึดถือเป็นวิธีวิทยาส่วนใหญ่ที่ใช้อยู่ในในวงวิชาการ โดยมิได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควรต่อการสะท้อนมิติประสบการณ์ของตัวผู้ศึกษาในงานที่ศึกษา คือ การมองข้ามภาวะอัตวิสัยของตัวผู้ศึกษากับผู้ถูกศึกษา นอกจากนี้ประเด็นที่ศึกษาในการสร้างความรู้แบบดั้งเดิมเน้นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการศึกษา จึงเกิดภาพลวงตาที่ว่าความรู้เป็นศาสตร์บริสุทธิ์ ปราศจากอคติของผู้ที่ทำการศึกษาวิจัย
เรื่องเล่าในที่นี้หมายถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิต การที่ผู้เล่านำประสบการณ์ของตนมาเล่านั้น ทำให้ผู้เล่ามีอำนาจในการต่อรอง เนื่องจากความเชื่อที่ว่า การเล่าเรื่องของตนเอง ไม่มีใครรู้ดีไปกว่าผู้เล่า เรื่องเล่ายังเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันที่เราได้ปฏิบัติในทุกวัน การเล่าเรื่องผู้เล่าถือเป็นองค์ประธานที่ไม่สามารถแยกอารมณ์ ความรู้สึก ทัศนคติจากสิ่งที่เล่า เรื่องเล่าถูกประกอบสร้างจากมิติของเวลา ภูมิศาสตร์ การเมือง วัฒนธรรม และสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดรูปแบบของการเล่าเรื่องที่แตกต่างกันออกไป เรื่องเล่าจึงทำหน้าที่ตอบโต้และเปิดเผยให้เห็นถึงกลไกการทำงานของระบบโครงสร้างทางสังคมที่ครอบงำปัจเจกนั้นๆอยู่ ซึ่งผู้เล่าได้แสดงออกมาในเนื้อหาเหล่านั้น ดังที่ Robert Atkinson ได้กล่าวใน Contexts and Use of Life Stories ว่าเรื่องเล่าหรือการศึกษาประวัติชีวิตนั้น ความสำคัญอยู่ที่ความพยามยามทำความเข้าใจตำแหน่งของผู้อื่นในชีวิต หรือการอธิบายตัวเองที่สัมพันธ์กับคนอื่น เพื่อให้เสียงเหล่านั้นเป็นที่ได้ยิน เพื่อให้ผู้เล่าได้พูดเพื่อตนเองและพูดเกี่ยวกับตนเองก่อน Atkinson เชื่อว่าหากเราต้องการรู้จักประสบการณ์และทัศนะของปัจเจกบุคคล หนทางที่ดีที่สุดคือการฟังเจ้าของเสียงนั้น ดังนั้นในการเล่าเรื่องจึงควรจะเล่าจากถ้อยคำของเจ้าของเรื่องเอง ในแง่นี้ผู้เล่าจึงเป็นผู้ตีความคนแรก ผ่านการสร้างความจริงส่วนตัว และเรื่องที่เล่า ส่วนผู้ศึกษาก็คือผู้ที่เข้าไปเรียนรู้จากสิ่งที่ต้องการ

Atkinson ได้นิยามการศึกษาประวัติชีวิตหรือเรื่องเล่าประสบการณ์ชีวิตว่า เป็นเรื่องที่บุคคลเลือกที่จะเล่าเกี่ยวกับชีวิตตนเอง เป็นการบอกเล่าที่สมบูรณ์และซื่อสัตย์เท่าที่จะทำได้ การบอกเล่าจะขึ้นอยู่กับความทรงจำและสิ่งที่ผู้เล่าต้องการจะให้ผู้อื่นรู้ โดยมักเป็นการสัมภาษณ์ที่มีการชี้นำในที่นี้คือผู้วิจัยเพื่อให้เป็นไปตามกรอบของการศึกษา เรื่องของระยะเวลานั้นสามารถครอบคลุมได้ตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน โดยสิ่งที่เล่านั้นมักรวมเอาเหตุการณ์สำคัญ ประสบการณ์ และความรู้สึกในช่วงชีวิต ร้อยเรียงเข้าด้วยกัน เพื่อผู้เล่าจักเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สังคม โดยรูปแบบในการนำเสนอประวัติชีวิตนั้นอาจทำได้ในหลายวิถี แต่มีหลักการคือเป็นการบอกเล่าให้คนอื่นทราบว่าเราเป็นใครและตัวเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับอะไร ผ่านสิ่งที่ทำในชีวิตประจำวันและในทุกขั้นตอนของชีวิตเป็นอย่างไร มีการแบ่งปันตัวตนของเรากับคนที่มาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นความโดดเดี่ยว สังคม หรือการเล่นในวัยเด็ก พิธีกรรมช่วงเปลี่ยนผ่านของวัยรุ่น การแต่งงาน หรือการเลี้ยงอำลาเกษียณอายุ ฯลฯ ดังนั้นความทรงจำ ประสบการณ์ และคุณค่าร่วมต่างๆเหล่านั้น มีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้งผ่านการบอกเล่าสู่ผู้อื่นในเรื่องเกี่ยวกับตนเอง หรือเป็นการนำสิ่งเหล่านั้นเก็บไว้ในรูปแบบที่ยืนนานกว่าตัวเราเอง

ในการสัมภาษณ์ประวัติชีวิต ผู้ถูกสัมภาษณ์เป็นผู้บอกเล่าเรื่องราว ในขณะที่ผู้สัมภาษณ์เป็นผู้นำทาง หรือผู้กำกับ ดังนั้นในกระบวนการนี้จึงเท่ากับว่าทั้งสองคนเป็นผู้ร่วมกันกระทำ ประพันธ์ และสร้างเรื่องที่ผู้เล่ามีความพอใจ แต่ควรตระหนักว่าในกระบวนการนี้ผู้วิจัยไม่สามารถควบคุมเรื่องราวที่เล่าออกมาได้จริงๆ และอาจจะไม่ราบรื่นดังที่คาดหวังเสมอไป สิ่งที่น่าสังเกตคือแม้ว่าข้อมูลที่ได้จากวิธีวิทยาเรื่องเล่าจะดูเหมือนเป็นการย้อนกลับไปหาอดีต แต่ความสำคัญของข้อมูลกลับอยู่ที่ปัจจุบัน คือการเป็นอดีตที่มีชีวิต เป็นอดีตที่มีความสำคัญต่อปัจจุบัน ซึ่งบุคคลจะเล่าเรื่องก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องเล่า การเล่าเรื่องจึงมิได้ให้ความสำคัญกับความสมจริงของข้อมูลเท่ากับเป็นการแสดงให้เห็นถึงมุมมองของคนๆหนึ่ง ซึ่งอ้างสิทธิในการเล่าเรื่องนั้นๆ

Catherine Kohler Riessman ได้นำเสนอภาพตัวแทนของเรื่องเล่า 5 ระดับอันเป็นกระบวนการวิจัย อาทิเช่น 
 
(1) การเข้าร่วมฟังประสบการณ์ ด้วยการให้ความสนใจปรากฏการณ์นั้นๆที่เต็มไปด้วยความหมาย มีการคัดเลือกในสิ่งที่สังเกตเห็น ถือเป็นประสบการณ์ขั้นต้น มีการคัดสรรบางส่วนโดยมิได้สะท้อนออกมา
 
(2) ขั้นตอนการบอกเล่าประสบการณ์ ในขั้นนี้ผู้เล่าเสนอเหตุการณ์อีกครั้งโดยมีการจัดลำดับในการสนทนา มีการบรรยายฉาก ตัวละคร พล็อตเรื่อง และนำเรื่องมาเรียงร้อยต่อกันในทางที่ชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ในการวาดภาพเหตุการณ์ขึ้นมาใหม่นั้นผู้เล่ามักมีการนำบริบททางวัฒนธรรม การพูดคุยและการฟัง ถือได้ว่าทั้งผู้เล่า ผู้ฟัง สร้างเรื่องเล่าขึ้นมาด้วยกัน และในการบอกเล่าเรื่องราวเหล่านั้นย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีช่องว่างระหว่างประสบการณ์ที่ตัวผู้เล่าได้อยู่กับการสื่อสารเรื่องนั้นๆออกมา เรื่องเล่าจึงมีการตีความและเกิดสิ่งที่เรียกว่า ติดกับคุกของภาษา ตามคำของนิทเช่ ทำให้ความหมายเปลี่ยนไปในทิศทางอื่นได้ด้วย เนื่องจากเรื่องเล่าได้ถูกสร้างขึ้นมาในภาพตัวแทนระดับที่สอง อันมีปฏิสัมพันธ์กับเรื่องที่ถูกเล่าสู่กลุ่มคนเฉพาะ และอาจมีรูปแบบที่แตกต่างออกไป เรื่องเล่าจึงมิได้เป็นกลางแต่เกิดขึ้นในบทสนทนาเฉพาะ ถือเป็นการสร้างตัวตนของผู้เล่าเช่นกันว่าอยากจะให้ผู้ฟังรู้จักตัวตนของผู้เล่าอย่างไร จึงหลีกเลี่ยงมิได้ว่า เรื่องเล่าจะเป็นภาพตัวแทนของตัวตนของผู้เล่า
 
(3) การถอดความประสบการณ์ เป็นระดับที่ 3 ของภาพตัวแทนที่เกี่ยวกับประสบการณ์ในเรื่องเล่า ซึ่งมีความไม่สมบูรณ์เฉกเช่นเดียวกับในระดับที่ 2 มีการดึงบางส่วน และคัดสรรบางช่วง การถอดเทปก็เหมือนกับการถ่ายรูปที่ต้องมีการตีความ ต้องตัดสินใจว่าจะถอดข้อความอย่างไร เหมือนการตัดสินใจในการเล่า และการฟังที่มีชุดความคิดหนึ่งมากำกับ
 
(4) การวิเคราะห์ประสบการณ์ ภาพตัวแทนในระดับนี้เป็นการเข้าสู่การวิเคราะห์ตัวบทที่ถอดความออกมาแล้ว ในขั้นนี้ผู้วิจัยเปิดอ่านเรื่องราวจากบทถอดเทป ตัด คัดสรรเรื่องราวในกระแสของการสนทนา การพูดคุยเพื่อให้มีความลงตัวกับชื่อปก และพยายามสร้างความรับรู้และความตึงเครียดดังเช่นละคร มีการตัดสินใจในหลายอย่างเกี่ยวกับรูปแบบ การจัดลำดับ รูปแบบการนำเสนอ เพื่อดูว่าชีวิตที่แตกเป็นส่วนๆในบทสัมภาษณ์นั้นจะนำมารวมกันได้อย่างไร ในกระบวนการทำงานขั้นนี้ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการผนวกรวมและการตัดออก ในท้ายที่สุดแล้วการวิเคราะห์ได้สร้างเรื่องใหญ่ขึ้นว่ามันเกิดอะไรขึ้น ด้วยการแสดงนัยยะของเรื่องเล่านั้นๆ มีการตกแต่งต้นฉบับและจัดรูปร่างขึ้นใหม่ในสิ่งที่ได้รับการบอกเล่า มีการเปลี่ยนจนกลายเป็นลูกผสม ในขั้นนี้ระบบคุณค่า การเมือง และการยอมรับในเชิงทฤษฎีได้เข้ามามีบทบาทอีกครั้ง รูปแบบ การหยุด และการเริ่มต้นของเรื่องเล่าปากเปล่าและประสบการณ์ส่วนบุคคล ได้ผ่านไปสู่บางสิ่งที่แตกต่างร่วมกัน และขั้นตอนท้ายสุดคือ
 
(5) รายงานต่างๆเมื่อเขียนเสร็จแล้วจะมีกลุ่มคนอ่านที่พกพาประสบการณ์ของตนเข้ามาในการอ่าน และสิ่งผู้ที่อ่านทุกคนมี คือการวิเคราะห์ภาพเสนอของตัวเอง จนท้ายที่สุดแล้วไม่สามารถเป็นสิ่งที่บอกชัดได้ว่าผู้ใดเป็นผู้ประพันธ์ตัวบทนั้นจริงๆ แม้ในตัวบทนั้นจะมีชื่อผู้เขียน นามปากกา ความหมายของตัวบท
 
ดังที่ได้กล่าวมาพอสังเขปจักเห็นได้ว่าเรื่องเล่าและประวัติชีวิตมีความเกี่ยวข้องกับตัวตนของผู้เล่า และการเลือกสรรในหลายขั้นตอน ทั้งยังเป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับภาษาตั้งแต่เริ่มต้นจากผู้เล่ามาสู่ผู้วิจัย จึงต้องมีความตระหนักในการทำงานว่าในปลายทางของสิ่งที่เป็นผลสำเร็จนั้นย่อมผ่านการคัดสรรออกมาในระดับหนึ่งซึ่งมีชุดความคิดหรือทฤษฎีที่กำกับอยู่เบื้องหลัง อันจัดแจงเรื่องราวที่จะออกมาว่าจะให้เป็นไปในทางใดทางหนึ่งเสมอ ผู้ศึกษาจึงต้องย้อนกลับมาสำรวจตัวเองอย่างลึกซึ้งด้วยเพื่อสะท้อนอคติทั้งหลายอันจะนำไปสู่การสืบหามุมมองเพื่อเปิดหนทางต่อการสำรวจ และวิเคราะห์ความรู้ที่ศึกษาได้ลุ่มลึกขึ้น



บรรณานุกรม
 
Atkinson,Paul and Delamont,Sara(ed.).Narrative Methods Volume 1-4 , London: SAGE Publications Ltd,2006.
 
Atkinson,Robert. “Contexts and Use of Life Stories”. The Life Story Interview,p.1-10. USA:SAGE Publications Inc.,1998.
 
Riessman,Catherine K. “Theoretical Contexts”.Narrative Analysis, USA: SAGE Publications Inc.,1993.
 
Stanley,Liz(ed.).Knowing Feminisms,Great Britain: Redwood Books,1997.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น