ณัฐพล แสงอรุณ [1]
Skyline (2010) ในฐานะที่เป็นภาพยนตร์
Skyline (2010) เป็นภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน เข้าฉายในสหรัฐอเมริกาเมื่อ 12 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่เข้าฉายในไทยเมื่อวันที่ 11 เดือนเดียวกัน ถ้าถามว่า Skyline เป็นภาพยนตร์ประเภทใด คงต้องตอบว่าเป็นประเภทโลกาพิบัติภัย (global disaster) ที่มุ่งนำเสนอความล่มสลายของโลกทางกายภาพด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ เชื้อโรค รวมทั้งการคุกคามจากนอกพิภพ ทั้งที่เป็นสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต จนทำให้โลกกลายเป็นดาวเคราะห์ที่มีสภาพทางกายภาพเปลี่ยนไปจนเกือบไม่เหมือนเดิม อารยธรรมทั้งหลายถูกคุกคามทำลาย ซึ่งส่วนใหญ่ภาพยนตร์แนวนี้มุ่งนำเสนอวิถีในการต่อต้านและเอาตัวรอดของมนุษย์ต่อโลกาพิบัติภัยนั้นๆ
Skyline [2] เป็นผลงานการกำกับของสองพี่น้องตระกูล Strause: Greg และ Colin ชาวอเมริกัน ซึ่งมีผลงานมากมายทางด้านการทำภาพเทคนิคพิเศษ (special effect) และผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่อง Aliens vs. Predator: Requiem (2007) ส่วนหน้าที่การเขียนบทนั้นเป็นของ Joshua Cordes และ Liam O'Donnell นักแสดงนำ ได้แก่ Scottie Thompson, Eric Balfour, Donald Faison, และ David Zayas
Skyline ได้นำเสนอการคุกคามของสิ่งมีชีวิตนอกพิภพ (แต่ก็ไม่ได้บอกอย่างแน่ชัดว่า สิ่งมีชีวิตเหล่านั้น มาคุกคามโลกด้วยเหตุผลใด จะยึดครองเพื่อเป็นอาณานิคม? หรือ เพื่อเป็นแหล่งอาหาร? หรือ เพื่อการสืบเผ่าพันธุ์?) และจากการคุกคามดังกล่าว ได้ฉายภาพของการดิ้นรนเพื่อมีชีวิตรอดของคนธรรมดา (ซึ่งมีความแตกต่างจากภาพยนตร์เรื่องอื่นในประเภทเดียวกัน ที่ส่วนใหญ่จะให้น้ำหนักกับการต่อต้านภาวะคุกคามโดยผู้มีอำนาจทางการเมือง การทหาร และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมทั้งภาพของความเป็น “เจ้าผู้ครอง (The Prince) ของสหรัฐอเมริกา”, ซึ่งเหล่านี้ไม่พบเลยใน Skyline, ส่วนเรื่องราวของคนธรรมดา เป็นภาพรองเท่านั้น แต่มิได้ความหมายว่า Skyline จะสามารถนำเสนอออกมาได้อย่างน่าติดตามและเป็นเหตุเป็นผล)
คำวิจารณ์ที่มีต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ ส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ ภาคเทคนิคพิเศษต่างๆ สามารถทำได้อย่างดี แต่ ... สิ่งเหล่านี้เมื่อมาวางอยู่บนเนื้อหา / บทภาพยนตร์ที่อ่อนไปด้วยเหตุผล ขาดที่มาที่ไป แทบจะไม่สามารถหาสิ่งที่เรียกว่า main idea ได้ รวมทั้งนักแสดงไม่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ของคนที่กำลังดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตได้อย่างน่าติดตาม ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ขาดความน่าสนใจ และผู้ชมอาจจะเดินออกมาจากโรง ส่ายหัว พร้อมกับพูดกับตัวเองว่า “เสียดายเงินจริงๆ”
เมื่อนักวางแผนภาคได้มานั่งหน้าจอและดูภาพยนตร์เรื่องนี้, เขาจะสามารถอธิบายปรากฏการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นได้อย่างไร?
ฉากหนึ่งของภาพยนตร์ประเภทโลกาพิบัติภัยที่มักจะพบเสมอคือ การนำเสนอภาพของการถูกคุกคาม / การล่มสลายของเมืองใหญ่ / มหานครทั่วโลก ซึ่งใน Skyline ก็เช่นเดียวกัน นอกจากลอสแอนเจลิส ที่เป็นฉากการดำเนินเรื่องแล้ว เรายังพบนิว ยอร์ค ลอนดอน และเมืองใหญ่ในสหรัฐอเมริกาอีกหลายเมือง เมื่อดูภาพยนตร์ประเภทเดียวกันนี้เรื่องอื่นๆ ก็จะพบการนำเสนอฉากของมหานครใหญ่ ซึ่งก็ไม่พ้น วอชิงตัน ดีซี, นิว ยอร์ค, ลอนดอน, ปารีส, โตเกียว, ซิดนีย์ ... จึงเกิดเป็นคำถามบางอย่างที่ว่า ทำไมมหานครเหล่านี้จึงถูกนำมาใช้เป็นฉากในภาพยนตร์ และทำไมเมืองอย่างกรุงเทพมหานคร, มะนิลา, เคียฟ, กินซาซา, กีโต... ถึงไม่ถูกนำเสนอ?
คำตอบอาจถูกตอบได้โดยหลากหลายสาขา แต่ในฐานะนักวางแผนภาค [3] ผู้เขียนพยายามที่จะใช้ความรู้ทางด้านการวางแผนภาคและเมืองมาอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว ... มหานครทั่วโลกที่มักจะถูกนำมาเป็นฉากดังกล่าว เป็นมหานครที่ถูกเรียกว่า “เมืองระดับโลก (Global / World cities)” ซึ่งสามารถส่งอิทธิพลไม่เพียงแค่ในพื้นที่ต่อเนื่องรอบๆ (surrounding area) ในเชิงกายภาพเท่านั้น แต่อิทธิพลดังกล่าวสามารถที่จะข้ามน้ำ ข้ามทะเล ข้ามเขตเวลา ไปส่งผลยังพื้นที่อีกฝั่งหนึ่งของโลกได้ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีการวัด หรือหลักเกณฑ์บางอย่างที่จะว่าเมืองใหญ่ / มหานครไหนที่จะถูกเรียกได้ว่าเป็นเมืองระดับโลก
สิ่งที่เป็นหลักเกณฑ์ดังกล่าวนั้น คือ การหาสิ่งที่เรียกว่า “พื้นที่อิทธิพลของเมือง (Urban Zones of Influence)” โดยเมื่อย้อนไปหาทฤษฎีซึ่งเป็นพื้นฐานของการศึกษาในสาขาที่เกี่ยวกับ “ภาค” นั่นคือ ทฤษฎีแหล่งกลาง (Central place theory) ซึ่งมีที่มาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ Christaller [4] โดยพยายามที่จะอธิบายความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างเมืองและพื้นที่รอบข้าง จนสามารถสร้างเป็นแบบจำลองเชิงพื้นที่ของเขตอิทธิพลของเมือง ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในรูปหกเหลี่ยม และต่อมาได้ถูกขยายพรมแดนของความรู้ที่เกี่ยวเนื่องโดยนักวิชาการอีกหลายท่าน นอกจากนี้ในการอธิบายความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่เพื่อการหาเขตอิทธิพลของเมืองนั้น นอกจากความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจแล้ว ยังสามารถที่จะหาความเชื่อมโยงในประเด็นต่างๆ ได้อีก ไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพ เทคโนโลยี การบริการ การเคลื่อนย้ายประชาการ ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การบริหารและการปกครอง
งานศึกษาของ Christaller เป็นพื้นฐานของการสร้าง / การหาพื้นที่อิทธิพลของเมือง แต่อย่างไรก็ตาม เมืองไม่จำเป็นที่จะต้องส่งอิทธิพลไปยังพื้นที่รอบข้างที่มีความต่อเนื่องในเชิงภูมิศาสตร์เท่านั้น แต่ด้วยความกระชับขึ้นของพื้นที่และเวลาผ่านกระบวนการที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์นั้น เมือง / มหานครขนาดใหญ่สามารถที่จะส่งอิทธิพลของตัวเองไปยังพื้นที่อีกฝากฝั่งหนึ่งของโลก โดยผ่านช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทของมหานครนั้นในระบบเศรษฐกิจโลก (ซึ่งแสดงออกผ่านทางจำนวนและความสำคัญของบรรษัทข้ามชาติ ความสำคัญของตลาดเงินและตลาดทุน การบริการภาคการเงิน รวมทั้งค่าครองชีพ และสินทรัพย์ของมหานคร) นอกจากนั้น อิทธิทางด้านการเมือง (ซึ่งแสดงออกผ่านทางการออกชุดนโยบายที่มีอิทธิพลข้ามชาติ การเป็นพื้นที่ตั้งขององค์กรโลกบาล จำนวนและความหนาแน่นของประชากร รวมทั้งคุณภาพชีวิต) อิทธิพลทางวัฒนธรรม (ซึ่งแสดงออกผ่านทางการเป็นพื้นที่ตั้งของศูนย์วัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงระดับโลก การเป็นศูนย์กลางทางการศึกษา การเป็นศูนย์กลางทางศาสนา การเป็นศูนย์กลางทางการกีฬาและการเป็นเจ้าภาพการแข่งขั้นกีฬาระดับโลก รวมทั้งการเป็นพื้นที่ตั้งของสำนักข่าวและสื่อสารมวลชนที่ทรงอิทธิพลระดับโลก) รวมทั้ง อิทธิพลทางโครงสร้างพื้นฐาน (ซึ่งแสดงออกผ่านทางการเป็นศูนย์กลางการบินระหว่างประเทศ การมีระบบการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ที่ทันสมัย การมีโครงสร้างพื้นฐานทางการสื่อสารโทรคมนาคมที่ทันสมัย รวมทั้งการเป็นศูนย์การบริการทางการแพทย์ระดับโลก) อิทธิพลหรือบทบาทเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้มหานครใดๆ นั้นมิได้มีบทบาทแค่ในระดับประเทศเท่านั้น แต่มีบทบาทในพื้นที่ที่กว่างขึ้นทั้งในระดับภูมิภาคโลก (world region) และระดับโลก (global / world)
สำหรับในปี พ.ศ.2553 นี้ มีงานศึกษาของธนาคารซิตี้แบงค์ที่ชื่อว่า The Wealth Report 2010 [5] ได้จัดลำดับของมหานครต่างๆ ของโลกจำนวน 40 ลำดับ โดยใช้หลักเกณฑ์ทางด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อิทธิพลทางการเมือง ศูนย์กลางทางความรู้ และคุณภาพชีวิต ซึ่งมหานครที่อยู่ในลำดับแรก คือ นิว ยอร์ค (สหรัฐอเมริกา) ลำดับต่อมา ได้แก่ ลอนดอน (สหราชอาณาจักร) ปารีส (ฝรั่งเศส) โตเกียว (ญี่ปุ่น) และลอส แอนเจนลิส (สหรัฐอเมริกา) ในส่วนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น น่าดีใจว่ากรุงเทพมหานครถูกจัดให้เป็นอันดับที่สอง (รองจากสิงคโปร์) ของความเป็นเมืองระดับโลกในภูมิภาคนี้ และเป็นลำดับที่ 18 ในทั้งหมด 40 เมือง
เมื่อย้อนกลับไปในช่วงต้นของบทความ มหานครต่างๆ เหล่านี้ (โดยเฉพาะใน 5 ลำดับแรก) มักจะเป็นฉากที่ปรากฏอยู่ทั้งใน Skyline (2010) และภาพยนตร์ประเภทโลกาพิบัติภัยอื่นๆ อันเป็นเหตุผลมาจากความสำคัญของมหานครเหล่านี้ต่อระบบเศรษฐกิจ / การเมืองโลก ดังนั้น ถ้ามหานครเหล่านี้ถูกคุกคาม / ล่มสลาย ก็เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าโลกจะถึงกาลอวสาน อารยธรรมอันเป็นกระแสหลักที่ขับเคลื่อนโลกจะถูกทำลาย และการคุกคามนอกพิภพจะประสบความสำเร็จได้อย่างไม่ยากเย็น ซึ่งนับว่าสิ่งมีชีวิตนอกพิภพเหล่านี้ได้ทำวิจัยเรื่อง “เมืองระดับโลก (global / world cities)” มาเป็นอย่างดี และสามารถที่จะนำผลของการวิจัยไปสู่การปฏิบัติได้อย่างประสบความสำเร็จ (ถ้าการคุกคามในภาพยนตร์ต่างๆ กลายกลับมาเป็นเรื่องจริง)
------------------------
เชิงอรรถ
[1] นักศึกษาโครงการปริญญาเอกสหวิทยาการ รหัส 51, มีความสนใจเป็นพิเศษในประเด็นการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ และการพัฒนาพื้นที่เชิงเศรษฐกิจ, ได้รับทุนจากโครงการเครือข่ายเชิงกลยุทธ์เพื่อการผลิตและพัฒนาอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา โดยมี ศ.ดร.ปราณี ทินกร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์
[2] สรุปความจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Skyline_(film)
[3] ผู้เขียนอยากนำเสนอความหมายของคำว่า “ภาค” อย่างรวดเร็วที่สุด ... ลองนึกถึงไข่ดาวนะครับ ในส่วนของไข่แดง เราจะถือว่าเป็นเมือง (urban / city / burg / centre / core) เรื่องเล่าที่อธิบายเรื่องราวเชิงพื้นที่ / การใช้ที่ดินที่เกิดขึ้นภายในไข่แดงนั้น ได้ถูกเรียกว่า “การวางผังเมือง (urban planning)” ในส่วนของไข่ขาวนั้นเป็นพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากไข่แดง มีความเชื่อมโยงกันในประเด็นต่างๆ ซึ่งมันถูกเรียกว่าพื้นที่อิทธิพล (surrounding area / field of forces / complementary area / periphery) แต่อย่างไรก็ตาม พื้นที่นั้นมักที่จะถูกนิยามว่าเป็นพื้นที่ชนบท (rural / hinterland) ดังนั้นเรื่องเล่าภายในไข่ขาวนี้ ก็จะถูกเรียกว่าเป็น “การวางแผนชนบท (rural planning / rural development)
ส่วนคำว่าภาคนั้น คือ พื้นที่รวมของไข่แดงและไข่ขาว เรื่องเล่าจึงถูกเรียกว่า “การวางแผนภาค (regional planning)” ซึ่งสนใจในประเด็นความเชื่อมโยงของไข่แดงและไข่ขาวในประเด็นต่างๆ เช่น ความเชื่อมโยงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การเลือกที่ตั้งของแหล่งอุตสาหกรรม / แหล่งบริการทางสังคมขนาดใหญ่ การเคลื่อนย้ายประชากร ระบบการคมนาคมขนส่ง การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ บทบาทของแหล่งบริการทางเศรษฐกิจและสังคมในเมืองที่มีต่อชนบท เป็นต้น
[4] Christaller, Walter. 1933. Die zentralen Orte in Süddeutschland. Jena: Gustav Fischer. (Partial English translation: 1966. Central Places in Southern Germany. Prentice Hall.
[5] ดูรายละเอียดใน http://www.knightfrank.com/wealthreport/
แบงค์บทความนี้น่าสนใจตรงที่สามารถนำเอาภาพยนต์มาพยายามอธิบายเรื่องอิทธิพลของมหานคร โดยเชื่อมโยงกับข้อมูลและทฤษฎีที่ได้ reviews มา อ่านสนุกและทำให้เข้าใจความสนใจของแบงค์ได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญเธอหักมุมมาสรุปโดยให้เครดิตกับนักวิจัยต่างดาวได้ฮาดี พี่ชอบนะ ขอบคุณมากค่ะ
ตอบลบพี่ปู
@ พี่ปู
ตอบลบจริงๆ ผมตั้งใจเขียนวิจารณ์เรื่องนี้ใน facebook
แต่ไหนๆ ก็เลยเวลาที่จะส่งงานลงใน blog นี้แล้ว
ก็เลยต้องปรับ จากจะแค่เขียนวิจารณ์ (หรือด่านั้นแหละ)
มาเป็นอะไรที่ต้องกึ่งๆ วิชาการนิดนึง
ให้เขียนแบบวิชาการแบบหลายคนในที่นี้ คง .... ไม่ไหว
ส่วนเขียนให้เครดิตกับนักวิจัยต่างดาว อันนี้ไม่นึกว่าจะเป็นมุขฮาน่ะเนี่ย
เขียนแล้วมันลื่นไปเรื่อยๆ แต่นักวิชาการต่างดาวคงเก่งจริงแหละ
ไม่งั้นจะเลือกเมืิองที่มาทำลายถูกได้ไง
ขอบคุณที่ชอบครับ
แบงค์
ณํฐพล นายแน่มาก
ตอบลบพี่กลับมาจากภาคสนาม แล้วบังเอิญได้ไปดูหนังเรื่องนี้ ตัวเองไม่ไดเป็นคอหนังจำพวกนี้ พอดูจบก็คิดไม่ต่างไปจากผู้ชมทั่วไป โชคดีวันนั้นเป็นวันพุธ ตั๋วราคาถูก แต่ก็เสียดายเงินอยู่ดี (อารมณ์คล้ายๆ ไปนั่งปวดกบาลชวนอาเจียรเหมือนเมารถเมื่อคราวดู CLOVERFIELD(วันวิบัติอสูรกายถล่มโลก))
พออ่านบทความแบงค์ ชวนให้นึกว่า ปูมหลังของAudience นี่สำคัญมากต่อการเสพสื่อ ว่าแต่นักวางแผนภาคอย่างแบงค์ลองวิจารณ์หนังเรื่องจิตพิฆาตโลก(INCEPTION) สักหน่อยได้ไหมครับ...หรือนักเศรษฐศาสตร์โทรคมนาคมอย่างปูจะช่วยมองปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างโฆษณาDTACที่convincedให้คนปิดมือถือ ก็น่าสนใจไม่น้อยนะครับ หรือจะวิจารณ์หางของเมล์ที่มีลงท้ายว่า ส่งมาจาก iPhone, Blackberry, etc.ก็ดีนะครับ
ดำ sent from iPad
iPhone & Blackberry
Dopod,Nokia,Sumsung, G-Net,imobile,...