ชญานิน ป้องกัน
นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2475 สถาบันทหาร นับได้ว่าเป็นสถาบันสำคัญที่มีบทบาทในการเมืองไทยตลอดมา ตลอดระยะเวลาเกือบแปดสิบปีที่ผ่านมานั้น แม้กองทัพไทย จะผ่านสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่างๆมากมาย ทั้งการเมืองภายในประเทศ และผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอกประเทศ แต่การเปลี่ยนผ่านของสถานการณ์เหล่านั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือที่เรียกกันในทางทฤษฎีว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือน (Civil-Military Relations) ในประเทศไทยไปมากนัก และแม้เส้นทางการเดินทางของความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับรัฐบาลพลเรือนในบางช่วงเวลา จะมีเวลาที่นักวิชาการไทยส่วนใหญ่เชื่อกันว่า สังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่กระบวนการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบประชาธิปไตย (Democratic consolidation) ที่ทหารถอนตัวออกจากการเมือง และกองทัพไทยมีความเป็น ทหารอาชีพ (Professional soldier) ที่ยอมรับหลักความเป็นใหญ่ของพลเรือน (Civilian Supremacy) อยู่บ้างก็ตาม แต่กระนั้น จากสถิติการปฏิวัติ รัฐประหาร และกบฎ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย รวมถึงการเป็นตัวแสดงที่สร้างปรากฏการณ์ทางการเมืองอยู่อย่างสม่ำเสมอ จึงยังถือได้ว่า ในประเทศไทย ทหารยังคงมีบทบาทสำคัญทางการเมือง ทั้งในลักษณะของการเข้าแทรกแซงทางการเมือง ด้วยการใช้กำลังอาวุธ ในรูปแบบของการรัฐประหาร ตลอดรวมถึงการเข้าแทรกแซงทางการเมือง ด้วยการใช้อิทธิพลเหนือรัฐบาลพลเรือน ในการครอบงำรัฐบาลพลเรือนเชิงนโยบายสาธารณะอย่างไม่เปลี่ยนแปลง
หากพิจารณาถึง บทบาททางการเมืองของทหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับแต่หลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น ทั้ง พม่า ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและไทย แม้มีสภาพการณ์ และมิติที่ต่างกันไป หากแต่ยังเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ความสำเร็จของการจัดการความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างกองทัพกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในลักษณะของการที่พลเรือนเป็นใหญ่ (Civilian supremacy) หรือ หลักการของการควบคุมกองทัพโดยพลเรือน(Civilian control) ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือนในประเทศประชาธิปไตย ดูจะยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ซึ่งหากสืบย้อนกลับไปพิจารณาสถานการณ์ระหว่างประเทศในยุคสงครามเย็น จะเห็นได้ว่า เนื่องจากการปกครองระบอบทหาร ได้กลายเป็นทางเลือกที่สำคัญของโลกตะวันตกในเวลานั้น ในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์สำหรับประเทศกำลังพัฒนา การปกครองระบอบประชาธิปไตยจึงถูกแทนที่ด้วยระบอบการปกครองที่มีความเข้มแข็งในการต่อสู้กับการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ และนำไปสู่การสร้างระบบคิดในยุคสงครามเย็นว่า กองทัพมีความเหมาะสมที่จะเป็นผู้ปกครอง ที่มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญมากกว่าการสนับสนุนกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตย (Democratization) ในระบบการเมืองของประเทศกำลังพัฒนา เหล่านั้น
บทบาททางการเมืองของทหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังปรากฏให้เห็นในประเทศที่ทหารเคยมีอำนาจทางการเมืองมาก่อน เช่น อินโดนีเซียที่อยู่ภายใต้ระบอบกำปั้นเหล็ก ของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต มาอย่างยาวนาน ฟิลิปปินส์ อดีตประธานาธิบดีคอราซอน อาควิโน่ ที่ต้องผจญกับ ความพยายามที่จะก่อรัฐประหารต่อต้าน และ อดีตประธานาธิบดีโจเซฟ เอสทราด้า ที่ต้องหมดอำนาจลง หลังจากกองทัพถอนการสนับสนุน และยังปรากฏมีข่าวลือแพร่สะพัด ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุด ว่ามีความเสี่ยงที่ทหารจะเข้าคุมอำนาจและตั้งรัฐบาลทหารในฟิลิปปินส์ ขณะที่พม่า ก็มีความชัดเจนอยู่แล้วว่า อยู่ภายใต้การปกครองของทหาร และรัฐบาลปัจจุบัน ที่มีการหนุนหลังโดยกองทัพ ผ่านการก่อรูปในลักษณะของรัฐบาลทหารหรือที่รู้จักกันดีในนามของ สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ ซึ่งเป็นเครื่องมือ ในการปกครองประเทศของพม่า และเช่นเดียวกัน ประเทศไทยเอง ก็ผ่านการรัฐประหารครั้งล่าสุดในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 มาเช่นกัน
ในด้านพัฒนาการทางการศึกษา ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือน (Civil-Military Relations) หรือ ทหารกับการเมือง เริ่มต้นขึ้นในปี 1941 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ Harold D.Lasswell ได้เขียนบทความชื่อ “The Garrion State” ลงในวารสาร American Journal of Sociology ต่อเนื่องมาจากการศึกษาทหารในกลุ่มงานเชิงสังคมวิทยาในช่วงก่อนหน้า เช่น ทฤษฎีทางสังคมวิทยา ของ Max Weber จึงถือได้ว่า Lasswell เป็นผู้วางรากฐานในการศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือน ให้เกิดขึ้นในโลกวิชาการทางรัฐศาสตร์ การศึกษาทหารในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มักจะเน้นอยู่กับวิธีการทางสังคมวิทยา ต่อมาในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 Samuel P.Huntington ได้เสนองานชื่อ The Soldier and the state ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1957 จึงนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด ของการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง ทหารกับพลเรือน และถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของในการศึกษาถึงบทบาททหารทางการเมือง
ต่อมา Morris Janowitz กับงาน The Professional Soldier ซึ่งได้ตีพิมพ์ ในปี 1960 ก็เปิดประเด็นเรื่อง ทหารอาชีพ ที่ทหารเป็นระบบทางสังคมแบบหนึ่ง ซึ่งผลของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม มีส่วนอย่างมากต่อการกำหนดความเป็นทหารอาชีพของบรรดานายทหารในกองทัพ และความเป็นอาชีพเอง ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา อย่างไรก็ตาม ทั้ง Huntington และ Janowitz ต่างก็มีจุดร่วมเดียวกันคือ กองทัพต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ขณะเดียวกัน S.E. Finer ในงาน The man on Horseback : the Role of the Military in Politics ได้เสนอลักษณะเด่นของทหาร ว่ามี 5 ประการ ซึ่งคือความเป็น “วิชาชีพ” ของทหาร (professionalism)ได้แก่ 1.มีการบังคับบัญชาที่รวมศูนย์ (Centralized command) 2.มีการบังคับบัญชาที่ลดหลั่นเป็นลำดับชั้น (hierarchy) 3.มีระเบียบวินัย (Discipline) 4.มีการติดต่อสื่อสารภายในหน่วยย่อยต่างๆในองค์กร (intercommunication) 5.มีความสามัคคีรักหมู่คณะ (Esprit de corps) และ มีความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้ (Isolation and Self-sufficiency)ซึ่ง Finer เสนอว่า ลักษณะเด่นทั้ง 5 ประการขององค์กรทหารนี้ ทำให้ทหารเป็นองค์กรจัดตั้งที่ดีที่สุด เมื่อเทียบกับองค์กรอื่นในสังคม และความเหนือกว่าในการจัดองค์กรนี้เอง ที่เป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้ทหารเข้ามามีบทบาททางการเมืองในประเทศกำลังพัฒนา และสำนึกของทหารทางด้าน “วิชาชีพ” นี้เอง เป็นสาเหตุที่นำไปสู่ความคิดของทหารที่ว่า ตนเป็นผู้รับใช้รัฐ มิใช่รับใช้รัฐบาล
เรื่องของบทบาททางการเมืองของทหาร กับความเป็นวิชาชีพของทหาร เป็นประเด็นปัญหาที่ถกเถียงกันมานาน ความเป็นวิชาชีพของทหาร เป็นประเด็นสำคัญที่ Huntington นำมาใช้อธิบาย ความสัมพันธ์ระหว่างทหาร กับพลเรือน โดย Huntington เห็นว่า ถ้าทหารมีความเป็นวิชาชีพสูง ทหารจะยอมรับอำนาจทางการเมืองของฝ่ายพลเรือนมากขึ้น ขณะที่ Finer เห็นว่า ไม่เป็นความจริง เพราะ คณะทหารในเยอรมันและญี่ปุ่น ต่างก็มีความเป็นวิชาสูง แต่ก็ยังแทรกแซงทางการเมืองในประเทศของตนสูงเช่นกัน Finer จึงเห็นว่าความเป็นวิชาชีพไม่ใช่ปัจจัยหลัก ในการกำหนดบทบาทของทหารในทางการเมือง แต่ปัจจัยหลักน่าจะอยู่ที่ การที่คณะทหารมีความเชื่อและยอมรับหลักการที่นักการเมืองพลเรือนจะมีอำนาจสูงสุดได้มากน้อยเพียงไรต่างหาก
โดยสรุป ในระยะแรก ทฤษฎีการศึกษา“ความสัมพันธ์ระหว่าง ทหาร –พลเรือน” (Civil-Military Relations) ที่แพร่หลาย หลังสงครามโลกครั้งที่สองนี้ แพร่หลายขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศเกิดใหม่ที่เพิ่งได้รับเอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งในเอเชีย และอัฟริกาและ ละตินอเมริกา ซึ่งส่วนใหญ่ทำโดยนักวิชาการอเมริกัน ทฤษฎีและแนวคิดส่วนใหญ่เกิดจากการวิเคราะห์กรณีศึกษา (Case study) อย่างละเอียดในประเทศหนึ่งๆ แล้วทำการสร้างแนวคิดในลักษณะของการจัดทำข้อสรุปทั่วไป(generalization)ขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาจากแนวคิดของพวกนักเศรษฐศาสตร์การเมือง ทำให้งานวิชาการด้านทหารกับการเมือง หรือ ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่าง ทหาร –พลเรือนได้รับอิทธิพลจากกระแสความคิดหลักคือ เศรษฐศาสตร์การเมือง
ในด้านการเมืองเปรียบเทียบ ละตินอเมริกา เป็นภูมิภาคที่น่าสนใจ เนื่องจากมีพัฒนาการ การเปลี่ยนผ่านของประชาธิปไตย (Democratic transition) ระหว่างกองทัพกับการเมืองมาพร้อมๆกับประเทศไทย หากแต่ปัจจุบันบทบาทกองทัพของละตินอเมริกา สถาบันทหารของละตินอเมริกาได้ก้าวเข้าสู่การเป็นทหารอาชีพแล้ว ท่ามกลางกระแส Democratization ได้กลายเป็นกระแสหลักในการเมืองทั่วโลก
และสำหรับในประเทศไทยแล้ว การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือน ทั้งในแง่ สถานะ และองค์ความรู้ จึงเป็นสิ่งที่จะได้กล่าวถึงต่อไป
บรรณานุกรม
ชัยอนันต์ สมุทวณิช. 2525. ยังเติร์กกับทหารประชาธิปไตย การวิเคราะห์บทบาททหารในการเมืองไทย.กรุงเทพ: บรรณกิจ.
ชัยอนันต์ สมุทวณิช. 2533. "อนาคตของการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือน ทหาร" วารสารสังคมศาสตร์ 27,1 (มีนาคม) : 271-296
สุรชาติ บำรุงสุข. 2541. ทหารกับประชาธิปไตยไทย : จาก 14 ตุลา สู่ปัจจุบันและอนาคต. กรุงเทพฯ : ศูนย์วิจัยและผลิตตำรา มหาวิทยาลัยเกริก.
สุรชาติ บำรุงสุข. 2551.ไตรสรณคมน์ทหาร รัฐประหาร และการเมืองไทย. กรุงเทพฯ : สถาบันปรีดี พนมยงค์.
สุรชาติ บำรุงสุข. 2549. ความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือน-ทหารของไทย. กรุงเทพฯ : บริษัท สแควร์ ปริ๊นซ์ 93 จำกัด. (จุลสาร)
Janowitz, Morris. 1960.The Professional Soldier, London:The free press of Glencoe.
Huntington, Samuel P. 1957. The Soldier and the state:Theory and Politics of Civil-Military Relations, New York:Vantage Books.
Finer, S. E. 1975. The Man on Horseback: The Role of the Military in Politics,2 nd enlageed ed. Middlesex : Penguin Books.
ช่วงเวลาที่น่าสนใจและยังไม่ค่อยมีคนศึกษาวิจัยอย่างลึกซึ้งก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 ที่ รสช.หมดอำนาจไป จนกระทั่งรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ทหารกลับเข้ามาอีก
ตอบลบและอย่าลืมปัจจัยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยนะครับ อิๆๆๆ
ตอบลบ