วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

แนวคิดเรื่อง “ภัยคุกคามจากจีน” (The China Threat)

Chairman of the US Joint Chiefs of Staff Marine Gen. Peter Pace inspects the guard of honor during a welcome ceremony at the Defence Ministry in Beijing March 22, 2007. [Reuters]

สิทธิพล เครือรัฐติกาล
แนวคิดที่ว่าจีนเป็นภัยคุกคามหรือมีความสามารถที่จะเป็นภัยคุกคามนั้นมีมาเป็นเวลานานแล้ว ทั้งในยามที่จีนอ่อนแอและในยามที่จีนเข้มแข็ง ความวุ่นวายทางการเมืองและสังคมของจีนในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้ทำให้มีชาวจีนอพยพออกไปทำงานและตั้งถิ่นฐานยังต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และทำให้รัฐบาลของประเทศที่ชาวจีนเข้าไปอาศัยอยู่มองดูชาวจีนด้วยความหวาดระแวง ดังเช่นในสหรัฐอเมริกาที่แรงงานจีนจำนวนมากเข้าไปแย่งงานชาวอเมริกันในแถบชายฝั่งตะวันตก จนทำให้ทางการสหรัฐฯ ต้องออกรัฐบัญญัติกีดกันชาวจีน (The Chinese Exclusion Act) เมื่อ ค.ศ. 1882 (Moss, 2000, p. 19) หรือในกรณีของไทย ซึ่งแม้ว่าการลงนามในสนธิสัญญาบาวริ่ง (The Treaty of Bowring) เมื่อ ค.ศ. 1855 จะทำให้รัฐบาลสยามต้องการแรงงานมากขึ้น และชาวจีนก็เป็นผู้ให้แรงงานได้อย่างดีที่สุด หากแต่เมื่อเวลาผ่านไป รัฐบาลสยามก็มีความเคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับทัศนคติทางการเมืองของชาวจีนเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทศวรรษ 1910 ที่แนวคิดการปฏิวัติสาธารณรัฐของ ดร. ซุนยัตเซ็น กำลังแพร่กระจายอยู่ทั้งภายในและภายนอกประเทศจีน ดังพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ ค.ศ. 1910 – ค.ศ. 1925) ที่ทรงเปรียบเปรยว่าชาวจีนเป็น “ยิวแห่งบูรพทิศ” ซึ่งยังคงผูกพันและภักดีต่อแผ่นดินจีน บูชาเงินเป็นพระเจ้า ไม่มีศีลธรรม และเป็นกาฝากที่เกาะกินอยู่บนเศรษฐกิจของสยาม (สกินเนอร์, 2548, น. 166-167)

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้รับชัยชนะในสงครามกลางเมืองและก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1949 โลกในขณะนั้นได้เข้าสู่สภาวะสงครามเย็น อันเป็นการเผชิญหน้าระหว่างโลกเสรีที่นำโดยสหรัฐอเมริกา กับโลกสังคมนิยมที่นำโดยสหภาพโซเวียต จีนได้ประกาศนโยบาย “เอียงเข้าข้างหนึ่ง” (lean-to-one-side policy) นั่นคือการอยู่ข้างสหภาพโซเวียต จีนจึงกลายเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงทางลบในสายตาของผู้คนในโลกเสรี การที่จีนส่งทหารเข้าไปช่วยเกาหลีเหนือต่อสู้กับสหรัฐอเมริกาในสงครามเกาหลี รวมทั้งช่วยเหลือขบวนการปฏิวัติฝ่ายซ้ายในประเทศต่างๆ ทำให้มีการมองว่าจีนเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของโลก (Mackerras, 1999, pp. 84-90) จนกระทั่งจีนยุตินโยบายส่งออกการปฏิวัติและหันมาปฏิรูปเศรษฐกิจเมื่อสิ้นทศวรรษ 1970 แนวคิดเรื่องภัยคุกคามจากจีนจึงลดลงไป และแทนที่ด้วยความชื่นชมและคาดหวัง (โดยเฉพาะในโลกตะวันตก) ที่ว่า จีนกำลังปฏิรูปเศรษฐกิจให้ทันสมัยตามแบบตะวันตก ซึ่งเป็นวิถีทางที่ถูกต้อง (Mackerras, 1999, pp. 134-135) และหนึ่งในสัญลักษณ์ที่สะท้อนว่าโลกตะวันตกมองจีนในทางที่ดีมากขึ้นก็คือ การที่เติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำสูงสุดของจีนได้รับเลือกจากนิตยสาร ไทม์ (Time) ของสหรัฐอเมริกาให้เป็นบุคคลแห่งปี (Man of the Year) ถึง 2 ครั้ง คือใน ค.ศ. 1979 และ ค.ศ. 1986

นับจากทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การขยายบทบาทในเวทีโลก รวมทั้งการพัฒนากองทัพให้ทันสมัยของจีน ทำให้ทั่วโลกจับตามองความเคลื่อนไหวของจีนอย่างใกล้ชิด และมีการพูดกันอยู่บ่อยครั้งถึง “การทะยานขึ้นของจีน” (The Rise of China) และการที่คริสต์ศตวรรษที่ 21 จะเป็น “ศตวรรษของจีน” (The Chinese Century) ผลการสำรวจของหน่วยงานในสหรัฐอเมริกาที่มีชื่อว่า The Global Language Monitor เมื่อ ค.ศ. 2009 ระบุว่า ข่าวที่เกี่ยวกับ “การทะยานขึ้นของจีน” ถือเป็นข่าวที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจมากที่สุดในรอบทศวรรษ ทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีคนให้ความสนใจมากกว่าข่าวสงครามที่สหรัฐอเมริกาบุกยึดอิรักเมื่อ ค.ศ. 2003 ถึง 4 เท่า (China’s rise most read story of the decade, 2009, December 8) และสิ่งหนึ่งที่ตามมาพร้อมกับความสนใจที่ผู้คนทั่วโลกมีต่อจีนก็คือ การกลับมาของแนวคิดที่ว่าจีนเป็นภัยคุกคาม หรือที่รู้จักกันในนามของแนวคิดเรื่อง “ภัยคุกคามจากจีน” (The China Threat) ซึ่งแพร่หลายอยู่ในโลกตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา

ความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างราบรื่นระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาหลังการไปเยือนจีนของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard M. Nixon) เมื่อ ค.ศ. 1972 มาสะดุดลงใน ค.ศ. 1989 เมื่อเกิดเหตุการณ์นองเลือด ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน พร้อมๆ กับการล่มสลายของโลกคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกและสหภาพโซเวียต ผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาเริ่มมองจีนในฐานะที่เป็นประเทศที่ท้าทายอำนาจและผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในโลกยุคหลังสงครามเย็น แนวคิดเรื่อง “ภัยคุกคามจากจีน” จึงปรากฏให้เห็นมากขึ้นนับแต่นั้นมา และบางครั้งมีการนำแนวคิดนี้ไปใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองภายในอีกด้วย เช่น การหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี เป็นต้น ประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ทำให้ชาวอเมริกันให้การตอบรับกับแนวคิดเรื่อง “ภัยคุกคามจากจีน” อยู่ไม่น้อย เพราะพวกเขาถือว่า “ประชาธิปไตย” (democracy) และ “เสรีภาพ” (freedom) เป็นค่านิยมสากล และสหรัฐฯ มีหน้าที่ต้องส่งเสริมค่านิยมเหล่านี้ในระดับโลกด้วยการเข้าไปแทรกแซงเสียแต่เนิ่นๆ ดีกว่าจะปล่อยให้ประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเหล่านี้เติบโตขึ้นจนสหรัฐอเมริกาต้องเข้าไปเกี่ยวข้องในภายหลังเหมือนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสอง (Lampton, 2002, pp. 250-251)

ฝ่ายบริหารของสหรัฐอเมริกาซึ่งรับผิดชอบด้านการต่างประเทศโดยตรงได้มีส่วนสำคัญในการนำเสนอแนวคิดเรื่อง “ภัยคุกคามจากจีน” ตัวอย่างเช่น ใน ค.ศ. 1992 เจมส์ ลิลลี่ (James Lilley) ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวถึงภัยคุกคามจากจีนและสนับสนุนให้สหรัฐอเมริกาขายเครื่องบินรบเอฟ 16 จำนวน 150 ลำให้แก่ไต้หวัน (Tyler, 1999, p. 377) หรือเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2005 โดนัลด์ รัมสเฟลด์ (Donald Rumsfeld) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวสุนทรพจน์ ณ ประเทศสิงคโปร์ โดยระบุว่าจีนเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของเอเชีย (Rumsfeld: China’s military buildup a threat, 2005, June 4) นอกจากนี้ ยังมีการนำประเด็นเรื่อง “ภัยคุกคามจากจีน” มาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกด้วย โดยในการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อ ค.ศ. 1992 บิล คลินตัน (Bill Clinton) ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสังกัดพรรคเดโมแครตได้เรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาเป็น “อเมริกาที่ไม่พะเน้าพะนอทรราชอย่างแบกแดดและปักกิ่ง” (Tyler, 1999, p. 386) และต่อมาในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ ค.ศ. 2000 จอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสังกัดพรรครีพับลิกันได้กล่าวไว้ในรายการ Larry King Show เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2000 ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนควรเป็นไปในลักษณะของ “คู่แข่งทางยุทธศาสตร์” (strategic competitor) มากกว่าการเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” (strategic partner) และเขาจะไม่ยอมให้มีภัยใดๆ มาคุกคามพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคตะวันออกไกล (George W. Bush on Foreign Policy, 2009)

ฝ่ายนิติบัญญัติอย่างสภาคองเกรสเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการนำเสนอแนวคิดที่ว่าจีนเป็นภัยคุกคาม โดยเมื่อ ค.ศ. 2000 สภาคองเกรสได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการทบทวนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน (The U.S. – China Economic and Security Review Commission) ซึ่งทำหน้าที่สอดส่อง สืบสวน และส่งรายงานประจำปีต่อสภาคองเกรสในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจทวิภาคีระหว่างสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีนัยสำคัญต่อความมั่นคงแห่งชาติ รวมทั้งให้คำแนะนำตามที่เห็นควรแก่สภาคองเกรสเพื่อดำเนินการทางนิติบัญญัติและทางบริหาร (U.S. - China Economic and Security Review Commission, 2009)

ขณะที่นักวิชาการและนักสื่อสารมวลชนในสหรัฐอเมริกาก็มีส่วนสำคัญในการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ “ภัยคุกคามจากจีน” เช่นเดียวกัน อาทิ หนังสือ The Coming Conflict with China ของ Bernstein and Munro (1997) หนังสือ Red Dragon Rising: Communist China’s Military Threat to America ของ Timperlake and Triplett II (1999) หนังสือ The China Threat: How the People’s Republic Targets America ของ Gertz (2000) หนังสือ Hegemon: China’s plan to dominate Asia and the world ของ Mosher (2000) บทความเรื่อง “Preventing War between China and Japan” ของ Friedman (2000) และหนังสือ China: The Gathering Threat ของ Menges (2005) เป็นต้น โดยบุคคลเหล่านี้ยังได้เขียนบทความหรือให้สัมภาษณ์ลงในหนังสือพิมพ์และนิตยสารฉบับต่างๆ เช่น Time, Washington Times, New York Times เป็นต้น รวมทั้งเป็นวิทยากรรับเชิญในสถานีโทรทัศน์ชั้นนำที่แพร่ภาพในระดับสากลอย่าง CNN และ BBC อีกด้วย

ในทวีปยุโรป แม้ว่าการศึกษาเกี่ยวกับประเทศจีนแต่เดิมจะเน้นหนักไปในทางจีนวิทยา (Sinology) เป็นส่วนใหญ่ หากแต่ในปลายทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ได้เริ่มมีนักวิชาการที่สนใจเกี่ยวกับประเด็นด้านความมั่นคงและนโยบายต่างประเทศของจีนมากขึ้น (ดู Möller, 2007) และบางคนก็ได้นำเสนอแนวคิดที่ว่าจีนเป็นภัยคุกคาม อาทิ บทความของ Segal (1995, August 7) เป็นต้น แนวคิดทำนองนี้ยังปรากฏในประเทศที่มีปัญหาในความสัมพันธ์กับจีนอีกด้วย ดังที่ประเด็นเรื่อง “ภัยคุกคามจากจีน” ได้เป็นหัวข้อศึกษาวิจัยที่สำคัญในวงวิชาการด้านความมั่นคงศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเศรษฐศาสตร์ของญี่ปุ่น (ดู Ohashi, 2007 และ Takagi, 2007) หรือในกรณีของอินเดียที่ผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศแสดงความกังวลต่อพัฒนาการทางทหารของจีน (Burns, 1998, May 5)

เอกสารอ้างอิง
สกินเนอร์, จี. วิลเลียม. (2548). สังคมจีนในประเทศไทย: ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์ (พรรณี ฉัตรพลรักษ์, ภรณี กาญจนัษฐิติ, ชื่นจิตต์ อำไพพรรณ, ปรียา บุญยะศิริ, ม.ร.ว. ประกายทอง สิริสุข และ ศรีสุข ทวิชาประสิทธิ, ผู้แปล; ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, บรรณาธิการและคำนำ; พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

Bernstein, Richard and Ross H. Munro. (1997). The Coming Conflict with China. New York: Alfred J. Knopf.

Burns, John F. (1998, May 5). India’s New Defense Chief Sees Chinese Military Threat. New York Times. Retrieved November 18, 2008, from http://query/nytimes. com.

China’s rise most read story of the decade. (2009, December 8). China Daily. Retrieved December 9, 2009, from http://www.chinadaily.com.cn/china/2009-12/08/ content_9139100.htm.

Friedman, Edward. (2000). Preventing War between China and Japan. In Edward Friedman and Barrett L. McCormick (Eds.), What If China Doesn’t Democratize? (pp. 99-128). Armonk, N.Y.: M.E. Sharp, Inc.

George W. Bush on Foreign Policy. (2009). Retrieved December 10, 2009, from http://www.ontheissues.org.

Gertz, Bill. (2000). The China Threat: How the People’s Republic Targets America. Washington, DC: Regnery Publishing, Inc.

Lampton, David M. (2002). Same Bed, Different Dreams: Managing U.S. – China Relations 1989-2000. Berkeley, CA: University of California.

Mackerras, Colin. (1999). Western Images of China. Hong Kong: Oxford University Press.

Menges, Constantine C. (2005). China: The Gathering Threat. Nashville, TN: Nelson Current.

Möller, Kay. (2007). Studies of China’s Foreign and Security Policies in Europe. In Robert Ash, David Shambaugh and Seiichiro Takagi (Eds.), China Watching: Perspectives from Europe, Japan and the United States (pp. 171-188). London: Routledge.

Mosher, Steven W. (2000). Hegemon: China’s plan to dominate Asia and the world. San Francisco, CA: Encounter Books.

Moss, George Donelson. (2000). America in the Twentieth Century (Fourth Edition). Upper Saddle River, NJ: Prentice Hall.

Ohashi, Hideo. (2007). Studies of China’s Economy in Japan. In Robert Ash, David Shambaugh and Seiichiro Takagi (Eds.), China Watching: Perspectives from Europe, Japan and the United States (pp. 50-79). London: Routledge.

Rumsfeld: China’s military buildup a threat. (2005, June 4). Defense & Security News. Retrieved December 10, 2009, from http://www.defencetalk.com.

Segal, Gerald. (1995, August 7). We Can Shape China as a Congenial Superpower – Policy: Western interests can be influential and helpful to Beijing while holding fast on ‘containment’. Los Angeles Times. Retrieved September 12, 2009, from http://articles.latimes.com/1995-08-07/local/me32313_1_coastal-china.

Takagi, Seiichiro. (2007). Studies of China’s Foreign and Security Policies in Japan. In Robert Ash, David Shambaugh and Seiichiro Takagi (Eds.), China Watching: Perspectives from Europe, Japan and the United States (pp. 189-212). London: Routledge.

Timperlake, Edward and William C. Triplett II. (1999). Red Dragon Rising: Communist China’s military threat to America. Washington, DC: Regnery Publishing, Inc.

Tyler, Patrick. (1999). A Great Wall: Six Presidents and China: An Investigative History. New York: PublicAffairs.

The U.S. - China Economic and Security Review Commission. (2009). Fact Sheet: About the Commission. Retrieved December 4, 2009, from http://www.uscc.gov/ about/facts.php.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น