วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

Aristotle Nicomachean Ethics



กนกวรรณ สุทธิพร

ความเรียงฉบับนี้เป็นการสรุปผลงานเขียนของอริสโตเติลจากผลงานชื่อAristotle Nicomachean Ethics สาระสำคัญที่อริสโตเติลนำเสนอคือ จริยศาสตร์เป็นศาสตร์ที่สูงที่สุดและความดีสูงสุดคือความสุข ความดีและความสุขในทัศนะของอริสโตเติลเป็นเรื่องเดียวกัน มีความหมายเหมือนกัน คือ กิจกรรมทางวิญญาณที่สอดคล้องกับคุณธรรมสมบูรณ์ คำว่า คุณธรรมสมบูรณ์ได้แก่ คุณธรรมที่ดีที่สุดที่มนุษย์เลือกมาถือปฏิบัติและเป็นการถือปฏิบัติจนตลอดชีวิต ปฏิบัติจนกระทั่งคุณธรรมนั้นๆกลายเป็นนิสัยประจำชีวิตของมนุษย์ อริสโตเติลแบ่งความสุขหรือความดีของมนุษย์ออกเป็นสามระดับ คือ ความดีหรือความสุขของสามัญชนทั่วไป ได้แก่ การกระทำที่มุ่งความบันเทิงเริงรมย์ สนุกสนานทั่วไป ความดีหรือความสุขของบุคคลที่มีรสนิยมสูงกว่าสามัญชนทั่วไป ได้แก่ ความสุขที่เกิดจากการมีวิถีชีวิตทางการเมือง ชีวิตที่ต้องการความร่ำรวยและเกียรติยศชื่อเสียง และความดีหรือความสุขของบุคคลที่มีวิถีชีวิตทางปัญญา ได้แก่ ความสุขที่เกิดจากกิจกรรมทางวิญญาณที่สอดคล้องกับคุณธรรมที่สมบูรณ์กล่าวคือ การดำเนินชีวิตด้วยคุณธรรมที่สมบูรณ์ซึ่งเกิดจากการฝึกหัดจนเกิดเป็นนิสัยและถือปฏิบัติได้ตลอดชีวิต ซึ่งมีอยู่สองประการ คือ คุณธรรมทางสติปัญญาและคุณธรรมทางศีลธรรม ความสุขทั้งสามระดับนี้อริสโตเติลยกย่องสรรเสริญความสุขในระดับที่สามว่าเป็นความสุขสูงสุด ดีที่สุด น่าพึงพอใจที่สุด และถือเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดที่แท้จริงในชีวิตมนุษย์
ในทัศนะของอริสโตเติลคุณธรรมของมนุษย์มีสองประเภท คือ คุณธรรมด้านพุทธิปัญญา ได้แก่ ปรัชญา ความรอบรู้และปรีชาญาณ และคุณธรรมด้านศีลธรรม เช่น ความมีใจกว้าง ความพอดี ความกล้าหาญฯลฯ คุณธรรมมิใช่สิ่งที่เกิดมาพร้อมกับมนุษย์ แต่มนุษย์สร้างคุณธรรมขึ้นเองได้ในภายหลัง
ความดีสูงสุดของมนุษย์ คือ ความสุข เพราะความสุขเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกระดับชั้นต้องการมากที่สุด ความสุขเป็นความดีที่สร้างความพึงพอใจให้แก่มนุษย์มากที่สุด เป็นสิ่งที่สูงส่งที่สุด สามารถรู้ได้ด้วยตัวเอง ทั้งยังเป็นปัจจัยแก่ความดีอย่างอื่นด้วย แต่การทำความดีคือความสุขที่จัดเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดในชีวิตอย่างแท้จริง คือ กิจกรรมทางวิญญาณที่สอดคล้องกับคุณธรรมสมบูรณ์เท่านั้น

Aristotle Nicomachean Ethics

อริสโตเติลเริ่มต้นข้อเขียนของเขาโดยกล่าวว่า “ ทุกศิลปะและทุกการค้นคว้า และเช่นเดียวกันทุกการกระทำและความพยายามที่จะพบบางสิ่ง เป็นความคิดที่จะมุ่งหมายความดีบางอย่าง...” ถ้าเป็นเช่นนั้นปัญหาของจริยธรรมคือ อะไรเป็นความดี(good) ซึ่งพฤติกรรมของมนุษย์มุ่งหมาย หลักการของความดีและความถูกต้องถูกฝังอยู่ในมนุษย์แต่ละบุคคล หลักการนี้สามารถถูกค้นพบโดยการศึกษาธรรมชาติที่สำคัญของมนุษย์และสามารถบรรลุถึงโดยผ่านทางพฤติกรรมที่เป็นจริงในชีวิตประจำวัน คุณธรรม คือหลักความประพฤติที่แสดงถึงคุณลักษณะนิสัย(ที่ดี)ในการเลือกตัดสินใจกระทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้อย่างพอดีๆไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป หรือไม่ขาดไม่เกิน ความพอดีนี้เป็นความพอดีของแต่ละบุคคลซึ่งจะเป็นผู้กำหนดความพอดีจากการใช้หลักเหตุผลและความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งที่จะได้จากความชำนาญทางการลงมือปฏิบัติจริงๆมาเป็นตัวกำหนดให้เกิดความพอดี อริสโตเติลแบ่งคุณธรรมออกเป็นสองประการ คือ คุณธรรมทางศีลธรรมและคุณธรรมทางปัญญา

คุณธรรมทางศีลธรรม (Moral Virtues) มีลักษณะเป็นคุณธรรมทางนิสัย อันเกิดจากความเคยชินเพราะความชำนาญการ ความชำนาญการที่ทำให้เห็นความเป็นกลางนั้นได้สามารถตัดสินใจเลือกกระทำการเป็นกลางนั้นได้บ่อยๆจนกลายเป็นนิสัยเช่นนั้นทำให้บุคคลถึงซึ่งสภาวะของความเป็นผู้มีคุณธรรมทางศีลธรรม คือมีคุณธรรมเป็นนิสัย อริสโตเติลเห็นว่าคุณธรรมทางศีลธรรมมิได้เกิดขึ้นเองในตัวเราตามธรรมชาติและสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติก็ไม่สามารถทำให้เกิดลักษณะนิสัยขึ้นในตัวมนุษย์ได้ ลักษณะอุปนิสัยของมนุษย์มีวิธีเดียวเท่านั้น คือ การพยายามฝึกหัดอบรม มิเช่นนั้นแล้วคุณธรรมจะไม่บังเกิด คุณธรรมต่างๆนั้นเกิดได้เนื่องจากการลงมือปฏิบัติและศึกษา กล่าวคือ บุคคลจะเป็นคนที่ทำหน้าที่การงานได้สมบูรณ์เพราะได้ปฏิบัติอย่างแท้จริง เช่น คนที่เป็นช่างต่อเรือเขาต้องทำการต่อเรือ ผู้ที่จะเป็นนักดีดพิณบุคคลผู้นั้นก็จะต้องลงมือดีดพิณ ในทำนองเดียวกันเรากลายเป็นคนยุติธรรมโดยการกระทำอย่างยุติธรรม เป็นผู้มีความพอดี โดยการกระทำอย่างพอประมาณ จะเป็นผู้กล้าหาญก็โดยการกระทำที่กล้าหาญ ฯลฯ อริสโตเติลมีความเห็นว่าคุณธรรมเป็นได้ทั้งสิ่งสร้างสรรค์และทำลาย เป็นเหมือนศิลปะ เช่นเดียวกับการดีดพิณให้ไพเราะน่าฟังก็ได้ ไม่ไพเราะก็ได้ ขึ้นอยู่กับผู้ดีดพิณ ดังนั้นมนุษย์จะเป็นผู้สร้างสรรค์ให้ดีหรือไม่ดีก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกทางใด

Types of Ends ชนิดของจุดมุ่งหมาย การกระทำทั้งหมดมุ่งไปที่จุดมุ่งหมาย จำแนกออกได้เป็นสองแบบ จุดมุ่งหมายที่สำคัญที่ทำให้บางสิ่งเกิดขึ้น ( some ends are activities) และจุดมุ่มหมายที่เป็นผลิตผลทีเกิดจากการกระทำนั้น (products which are additional to the activities) อริสโตเติลยกตัวอย่างเช่น ในทุกการกระทำที่เกี่ยวข้องกับสงคราม เมื่อเราพิจารณาสิ่งที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของการกระทำที่เกี่ยวกับสงคราม เราจะพบว่ามีชุดของการกระทำชนิดพิเศษซึ่งมีจุดมุ่งหมายต่างๆกัน แต่เมื่อมันถูกทำให้สมบูรณ์ มันเป็นเพียงวิธีการที่จุดมุ่งหมายอื่นๆถูกทำให้บรรลุถึง เช่นเดียวกับศิลปะในการทำอานม้า เมื่อกระทำอานม้าเสร็จสมบูรณ์แล้ว ผู้กระทำบรรลุจุดมุ่งหมายของเขาในฐานะผู้ทำอานม้า แต่อานม้าเป็นวิธีการสำหรับผู้ขี่ม้าควบคุมทิศทางของม้าในสงคราม เช่นเดียวกับช่างไม้สร้างเรือนพักของทหาร เขาได้ทำหน้าที่ของเขาสำเร็จในฐานะช่างไม้ แต่จุดมุ่งหมายต่างๆถูกบรรลุถึงโดยช่างไม้และเรือนพักทหารไม่ได้เป็นจุดมุ่งหมายในตัวมันเองแต่เป็นวิธีการในการจัดหาสถานที่พักให้ทหารจนกระทั่งมันเคลื่อนที่ไปในขั้นตอนต่อไปของการกระทำของมันเอง แพทย์ทำหน้าที่ของเขาสำเร็จเมื่อเขารักษาทหารให้มีสุขภาพดี แต่จุดมุ่งหมายของสุขภาพดีในที่นี้กลายเป็นวิธีการสำหรับการรบที่มีประสิทธิผล ทหารมุ่งหมายชัยชนะในสงคราม แต่ชัยชนะเป็นวิธีการไปสู่สันติภาพ สันติภาพโดยตัวของมันเองแม้บางครั้งถูกเข้าใจผิดเป็นจุดมุ่งหมายสุดท้ายของสงคราม มันเป็นวิธีการสำหรับสร้างสภาวะซึ่งมนุษย์ สามารถทำหน้าที่ของเขาสำเร็จในฐานะมนุษย์ เมื่อเราหาว่ามุ่งหมายไปเพื่ออะไร ไม่ใช่ในฐานะช่างไม้ แพทย์ ทหาร แต่ในฐานะมนุษย์ เราจะมาถึงการกระทำเพื่อตัวของมันเองและการกระทำอื่นๆทั้งหมดเป็นเพียงวิธีการเท่านั้น อริสโตเติลกล่าวว่าในเรื่องนี้ “ต้องเป็นความดีของมนุษย์” อริสโตเติลผูกติดคำว่าดีกับหน้าที่พิเศษชนิดหนึ่ง ช่างไม้ที่ดีถ้าเขาทำหน้าที่ของเขาสำเร็จในฐานะช่างไม้ สิ่งเหล่านี้คือความเป็นจริงในงานฝีมือและอาชีพทั้งหมด แต่ในที่นี้อริสโตเติลแสดงความแตกต่างระหว่างงานฝีมือหรืออาชีพของมนุษย์กับการกระทำในฐานะมนุษย์ เช่น การเป็นแพทย์ที่ดีมิได้หมายความว่าเป็นสิ่งเดียวกับการเป็นมนุษย์ที่ดี ในที่นี้มีสองหน้าที่ที่แตกต่างกัน คือหน้าที่ของแพทย์และหน้าที่ของการกระทำในฐานะมนุษย์ การค้นพบความดีที่มนุษย์ควรมุ่งหมาย เราต้องค้นพบหน้าที่ที่เด่นชัดของธรรมชาติเกี่ยวกับมนุษย์ มนุษย์ที่ดีต้องเป็นมนุษย์ที่ทำหน้าที่ของเขาสำเร็จในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง การกระทำทุกอย่างของมนุษย์มุ่งไปสู่เป้าหมาย เป้าหมายที่มนุษย์ทุกคนมุ่งไปสู่คือ ความสุข ความสุขเป็นเป้าหมายที่มีจุดจบในตัวของมันเอง การกระทำที่ดีเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความสุข คือการกระทำตามหน้าที่ของวิญญาณตามวิถีทางที่ประเสริฐสุดหรือตามวิถีทางของคุณธรรม การปฏิบัติให้สอดคล้องกับเหตุผลที่ถูกต้องถือเป็นกฎเกณฑ์สากลทางศีลธรรมหรือความเลิศทางปัญญา เพราะเหตุผลคือปัญญาหรือเป็นคุณธรรมที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าถึงความสุขสมบูรณ์ที่แท้จริงได้ ชีวิตผู้เข้าถึงความสุขอริสโตเติลเรียกว่า Eudaemon life

The function of Man หน้าที่ของมนุษย์ จุดมุ่งหมายของมนุษย์มิใช่เป็นเพียงการมีชีวิต หน้าที่ของมนุษย์เป็นการทำของจิตวิญญาณซึ่งดำเนินรอยตามหรือใช้หลักการที่สมเหตุสมผล ดังนั้นความดีของมนุษย์เป็นการกระทำของจิตวิญญาณที่สอดคล้องกับคุณธรรม เพราะหน้าที่ของมนุษย์ในฐานะมนุษย์หมายถึงการทำหน้าที่ที่เหมาะสมของจิตวิญญาณของเขา หน้าที่ของมนุษย์อันมีเป้าประสงค์ในชีวิตเป็นเกณฑ์แบ่งออกเป็น 3 ประการ คือ
1.ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการหาเลี้ยงชีพ
2.การสนองตอบต่อประสาทสัมผัส
3.ชีวิตที่กระตือรือร้นบนฐานของเหตุผล
ในหน้าที่ทั้ง 3 ประการนี้หน้าที่ที่อริสโตเติลเห็นว่าเป็นหน้าที่ของมนุษย์ในฐานะที่เป็นมนุษย์จริงๆได้แก่หน้าที่ในข้อที่ 3 คือการกระทำอย่างมีเป้าหมายที่เหมาะสม หรือ ชีวิตที่กระตือรือร้นบนฐานของเหตุผล เนื่องจาก หน้าที่ในข้อ 1 แม้แต่พืชก็มีเช่นเดียวกัน ส่วนหน้าที่ในข้อที่ 2 ในสัตว์ประเภทอื่น เช่น วัว ควาย ก็เป็นเหมือนกัน แต่หน้าที่ในข้อที่ 3 พืชและสัตว์อื่นไม่มี จึงเป็นหน้าที่ของมนุษย์ในฐานะมนุษย์อย่างแท้จริง
จิตวิญญาณมีสองส่วน คือ ส่วนที่ไม่สมเหตุสมผลและส่วนที่สมเหตุสมผล ส่วนที่ไม่สมเหตุสมผลเป็นส่วนที่ได้รับอิทธิพลจากภายนอกตัวเรา ได้แก่ สิ่งต่างๆและบุคคลอื่น จิตวิญญาณส่วนที่ไม่สมเหตุสมผลประกอบด้วย อารมณ์ ความอยาก ความรัก ความโกรธ ฯลฯ อารมณ์และความอยากของมนุษย์เป็นตัวการที่นำมนุษย์ไปสู่การสร้างสรรค์และทำลาย มนุษย์จึงควรรู้ว่าเราควรปรารถนาอะไร และควรปฏิบัติตนอย่างไร ภายใต้สถานการณ์ต่างๆ วิญญาณส่วนที่สมเหตุผลประกอบด้วยปรีชาญาณ (wisdom) และการใคร่ครวญพิจารณา ( contemplation)
คุณธรรมทางศีลธรรมจะต้องเกิดจากการปฏิบัติและกระทำซ้ำๆ มีอยู่ด้วยกันสองลักษณะคือ เป็นสภาวะทางจิตใจมิใช่อารมณ์หรือสมรรถนะ และเป็นสภาพทางจิตใจที่สามารถเลือกความพอดีได้ เป็นวิถีทางสายกลางที่มีค่าเหมือนทอง คนที่มีความสุข คนที่มีคุณธรรมคือผู้ที่รักษาทางสายกลางที่เป็นทองระหว่างปลายสุดแห่งความประพฤติที่ต่ำช้าทั้งสอง เขาคือคนซึ่งถือหางเสือสายกลางระหว่างขวากหนามทั้งสองข้างที่คอยทำลายความสุขของเขาในการปฏิบัติงาน ในความคิด ในอารมณ์ คนเราอาจจะปฏิบัติหน้าที่เกินขอบเขตหรือไม่ถึงขนาดหรือเพียงแต่ทำให้ถูกต้องแต่พอดีเท่านั้น ดังนั้นในการเฉลี่ยสิ่งของให้แก่ผู้อื่น คนเราอาจจะกระทำการฟุ่มเฟือยหรือทำเกินขอบเขตหรือตระหนี่ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่พอประมาณ ทางชีวิตที่ต้องด้วยเหตุผล คือ ต้องไม่ทำอะไรมากเกินไปหรือน้อยเกินไป แต่ต้องถือสายกลาง คนที่มีคุณธรรมมิใช่คนที่เกินปกติหรือต่ำกว่าปกติ แต่เป็นคนที่มีปกติภาพอย่างเที่ยงธรรมและฉลาด เขาจะปฏิบัติเมื่อถึงเวลาที่เหมาะโดยเพ่งเล็งที่จุดมุ่งหมายที่เหมาะต่อคนที่เหมาะ ด้วยความปรารถนาที่เหมาะและในทางที่เหมาะสม คือเพ่งเล็งที่ทางสายกลาง ที่มีค่าเสมือนทองทุกกาลเวลาและภายใต้สภาพทุกสภาพ เพราะทางสายกลางนั้น คือ หนทางอันสูงส่งสำหรับวิถีในการเข้าสู่ความสุข การพิจารณาเลือกทางสายกลางต้องอาศัยองค์ประกอบ 5 ประการคือ
1.เวลาที่เหมาะสม
2.จุดหมายที่ดี
3.คนดี
4.แรงจูงใจดี
5.วิถีทางที่ถูกต้อง
หลักการเรื่องทางสายกลางใช้สำหรับควบคุมอารมณ์หรือความรู้สึกของมนุษย์ โดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ความสุขในชีวิต แต่มิได้หมายถึงการกำจัดอารมณ์หรือความรู้สึกให้หมดไป และในการดำเนินชีวิตต้องให้จุดหมายของชีวิตกับหลักทางสายกลางมีความสอดคล้องกัน การมีชีวิตที่ดีกับการกระทำดี จะต้องเชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน และต้องเชื่อมโยงกับพื้นฐานของข้อเท็จจริงเกี่ยวกับธรรมชาติชีวิตของมนุษย์
ลักษณะของมนุษย์ในอุดมคติ ซึ่งสมควรมีความสุขอย่างที่สุด มีลักษณะดังต่อไปนี้ ไม่พลีตัวให้แก่อันตรายโดยไม่จำเป็นแต่เต็มใจที่จะพลีชีวิตในยามวิกฤตกาลและจำเป็น จะเกิดความปิติเมื่อได้ทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น จะรู้สึกละอายเมื่อคนอื่นทำประโยชน์ให้แก่เขาเพราะว่าการให้ความเมตตากรุณาแก่ผู้อื่นเป็นเครื่องหมายแห่งความเขื่อง แต่การรับเอาเป็นความด้อย มนุษย์ในอุดมคติย่อมพลีตัวเพื่อความสุขของผู้อื่นเพราะเขาเป็นคนฉลาด เขาไม่พูดให้ร้ายผู้อื่นแม้ว่าจะเป็นศัตรู คงปล่อยให้คนเหล่านั้นได้รับความชั่วไปตามลำพัง เขาไม่รู้สึกร้ายต่อผู้อื่นและลืมการกระทำร้ายของผู้อื่นซึ่งปฏิบัติต่อตัวเขาเสมอ นั่นคือเขาเป็นเพื่อนที่ดีต่อคนอื่น เพราะเขาเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดต่อตัวเขาเอง
อริสโตเติลจำแนกคุณธรรมทางศีลธรรมออกเป็น 4 ประการ คือ
1.ความรู้จักประมาณหมายถึงความพอเหมาะพอดีในการแสวงหาความเพลิดเพลินทางกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเพลิดเพลินเหล่านั้นมีอยู่ในสัตว์ชั้นต่ำ การรู้จักบังคับใจมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการรู้จักประมาณ แต่มีความแตกต่างจากความรู้จักประมาณ เพราะข้อเท็จจริงที่ว่า คนที่รู้จักการบังคับใจมีความปรารถนารุนแรง ส่วนคนที่รู้จักประมาณไม่มีความปรารถนาเช่นนั้น และสามารถอยู่เหนือความปรารถนาเหล่านั้นได้ เพราะฉะนั้นการรู้จักบังคับใจนี้จึงเป็นคุณธรรมที่ด้อยกว่า
2.ความกล้าหาญ อยู่ตรงกลางระหว่างความขี้ขลาดและความหุนหันพลันแล่น โดยแบ่งความกล้าหาญออกเป็น 5 ชนิด ความกล้าหาญด้านการเมือง ความกล้าหาญจากประสบการณ์เดิม ความกล้าหาญที่เกิดจากอารมณ์ที่แจ่มใสร่าเริง ความกล้าหาญที่เกิดจากความโกรธแค้นหรือเจ็บปวดทรมาน และความกล้าหาญที่เกิดจากความโง่เขลา
3.ความยุติธรรม แบ่งออกเป็นสองประการ คือ การที่ประเทศชาติยินยอมให้เกียรติยศและสิทธิอื่นๆแก่พลเมืองทุกคนเท่าเทียมกันเป็นการส่งเสริมให้ตั้งอยู่ในความเจริญ เรียกว่าการให้ความยุติธรรม ประการที่สองความยุติธรรมอาจได้มาทั้งทางกฎหมายและจากผู้บริหาร ความยุติธรรมเป็นความดีของผู้ปกครองที่รักษาพลเมืองในครอบครอง ผู้ปกครองจำต้องให้ความยุติธรรมแก่ตัวท่านเองและครอบครัวของท่านเหมือนกัน สำหรับประเทศความยุติธรรมจึงจำต้องกำหนดไว้อย่างแน่ชัด การกระทำที่ถูกต้องย่อมมาจากนิสัยที่ดีงาม ผู้มีนิสัยรักความยุติธรรมอยู่แล้วย่อมเป็นการยากที่จะทำสิ่งใดที่ปราศจากความยุติธรรม
4.มิตรภาพ มีอยู่สามประการ คือ มิตรภาพที่เกิดจากความมีประโยชน์ มิตรภาพที่เกิดจากความเพลิดเพลินและมิตรภาพที่เกิดจากความดี มิตรภาพที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคล ความรักซึ่งกันและกันอาจเกิดจากการตอบแทนอันนำมาซึ่งความมีประโยชน์ ความเพลิดเพลินและความดี การมีมิตรภาพแท้นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้โดยยาก เพราะมิตรภาพที่แท้จริงนั้นมีอยู่แต่ในระหว่างผู้ที่มีคุณลักษณะอย่างเดียวกัน
ประเภทของมิตรภาพได้แก่
1.มิตรภาพระหว่างผู้ที่ไม่เท่าเทียมกัน
2.มิตรภาพระหว่างบิดามารดาและบุตร
3.มิตรภาพระหว่างเจ้านายและผู้ใต้บังคับบัญชา
4.มิตรภาพระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย
มิตรภาพเกิดจากความรักใคร่ชอบพอใจอีกฝ่ายหนึ่งมากกว่าถูกอีกฝ่ายหนึ่งรัก แต่คนส่วนใหญ่มักชอบให้คนอื่นรักตนมากกว่ารักคนอื่น มิตรภาพคือการแลกเปลี่ยนชนิดหนึ่งหรือการตอบแทนระหว่างกัน แต่การตอบแทนนั้นจะตราเป็นกฎใช้แน่นอนไม่ได้ การแตกร้าวอาจเกิดได้ง่ายในเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติตัวชั่วช้าลงหรือเพิ่มความหยิ่งยิ่งขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตามมิตรภาพอาจคงอยู่ได้ถ้าหากฝ่ายที่ผิดพลาดรู้สึกตัวและขอโทษกับอีกฝ่ายหนึ่ง คนดีอยู่แล้วย่อมจำเป็นต้องมีเพื่อน ชีวิตของผู้มีเกียรติสูงถ้าหากขาดเพื่อนเสียแล้วก็เหมือนกับขาดความสมบูรณ์ไปส่วนหนึ่ง มิตรภาพจึงจำเป็นสำหรับทุกคนที่จะทำตนให้สมบูรณ์จริงๆ มิตรภาพเองก็เป็นสิ่งสำคัญต่อคุณธรรมเรื่องความอยู่ดีมีสุขเหมือนกัน เพราะมนุษย์โดยธรรมชาติเป็นสัตว์สังคม การใช้คุณธรรมข้อนี้จึงเป็นบ่อเกิดกิจกรรมที่ดีงามหลายอย่าง มิตรภาพเป็นความดีภายนอกที่สำคัญที่สุด ชีวิตโดยสาระสำคัญแล้วเป็นสิ่งที่ดีงาม สำหรับคนดีและการมีเพื่อนที่ดีงามก็เท่ากับเป็นการเพิ่มคุณธรรมเรื่องการอยู่ดีมีสุขให้แก่ตนเองโดยการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชีวิตซึ่งก่อให้เกิดคุณธรรมเรื่องการอยู่ดีมีสุขแก่คนอื่นด้วย

คุณธรรมทางปัญญา (Intellectual Virtues) เป็นคุณธรรมที่ต้องดำเนินพร้อมกับการใช้เหตุผลอย่างถูกต้องตามหน้าที่ต่างๆ ปัจจัยที่ทำให้เกิดคุณธรรมทางปัญญามี 5 ประการ คือ
1.ความรู้เกี่ยวกับศาสตร์ต่างๆ
2.ความรู้ทางศิลปะ
3.ความรู้ทางปฏิบัติอันเป็นความรู้ที่ทำให้มนุษย์เข้าถึงจุดหมายของชีวิต
4.ความรู้ที่รู้โดยตนเอง
5.ความรู้ในเชิงปรัชญาที่เกิดขึ้นร่วมกันจากศาสตร์ต่างๆและความรู้ที่รู้โดยตนเอง
อริสโตเติลยอมรับว่าบทบาทของเหตุผลเป็นศูนย์รวมที่จะนำไปสู่การปฏิบัติและการกระทำในเรื่องจริยธรรม ความรู้ทางปัญญาอยู่เหนือความรู้ทางการปฏิบัติ และถือว่าการไตร่ตรองพิจารณาเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่ความสุข การกระทำอย่างตั้งใจต่อเนื่อง ทำตามหน้าที่ของความเป็นมนุษย์นั้นแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ การกระทำที่เกิดจากความจงใจ (Voluntary Acts) หมายถึงการกระทำหรือผู้กระทำมีสติสัมปชัญญะ รู้เจตนาของการกระทำและเป็นอิสระในขณะที่กระทำโดยไม่ถูกบังคับ ลักษณะที่สองคือการกระทำที่ไม่ได้เกิดจากการจงใจ(Involuntary Acts) หมายถึงการกระทำที่ผู้กระทำมิได้จงใจที่จะกระทำ อาจถูกสถานการณ์หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งบังคับทำให้ต้องกระทำลงไป การกระทำแบบนี้อริสโตเติลไม่ถือว่านำมาตัดสินในเชิงจริยศาสตร์ได้ เช่น
1.การกระทำที่เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
2.การกระทำที่เกิดจากการถูกบังคับโดยตรง
3.การกระทำที่ทำลงไปเพื่อหลีกเลี่ยง ความเลวร้ายที่ยิ่งใหญ่กว่า เช่น การลงโทษบุคคลหนึ่งเพื่อป้องกันสังคมส่วนใหญ่ไว้
คุณธรรมลักษณะหนึ่งซึ่งเกิดจากคุณธรรมทางปัญญา คือ การเข้าใจในเหตุผล เข้าใจในความเป็นจริงของชีวิต เข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ จึงเกิดความเข้าใจในมนุษย์ด้วยกัน ความเข้าใจในมนุษย์ด้วยกันทำให้เกิดมิตรภาพ ซึ่งเป็นคุณธรรมทางปัญญาชนิดหนึ่ง

มิตรภาพ (Friendship) เป็นสิ่งจำเป็นที่มนุษย์เราจะขาดไม่ได้ แม้แต่คนที่สมบูรณ์พร้อมทุกสิ่งทุกอย่างก็ยังเลือกที่จะดำรงชีวิตอยู่กับมิตร ทำไมเราต้องมีมิตร อริสโตเติลให้เหตุผลว่าในยามจนและยามทุกข์ มิตรเป็นแหล่งที่พึ่งได้ ในยามปฐมวัยมิตรภาพช่วยให้เราไม่ทำผิด เมื่อวัยกลางคนมิตรภาพช่วยให้เรามีโอกาสในการทำงานที่มีตำแหน่งสูง เมื่อสูงวัยมิตรภาพช่วยดูแลและเสริมพลังให้แก่ผู้ชราที่เจ็บป่วยด้วยโรคภัย มิตรภาพจะเกิดขึ้นที่มนุษย์และสัตว์ต่างๆ แต่ความเป็นมิตรมีจิตไมตรีจะมีแพร่หลายในหมู่มนุษย์ และหากประชาชนเป็นมิตรกันความยุติธรรมก็เป็นสิ่งไม่จำเป็น อริสโตเติลอธิบายว่า หากเราเป็นคนยุติธรรมเราก็ต้องการมิตรภาพด้วย ความยุติธรรมจึงเป็นส่วนหนึ่งของมิตรภาพ มิตรภาพเป็นสิ่งจำเป็นและสูงส่ง มูลเหตุที่ทำให้เกิดความรักหรือมิตรภาพประกอบด้วย เรารู้ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งดี สิ่งนั้นเป็นสิ่งน่ารื่นรมย์ยินดี และสิ่งนั้นมีประโยชน์
คนที่จะเป็นมิตรกันได้จะต้องมีไมตรีจิตต่อกันและต้องมีความสำนึกรู้สึกในไมตรีจิตต่อกันและกัน มิตรภาพที่เกิดขึ้นของมนุษย์เพราะมนุษย์เห็นค่าความดีในมิตร มิตรภาพประเภทสูงส่ง คือ มิตรภาพระหว่างคนดีทั้งสองฝ่ายต่างปรารถนาดีต่อกัน แต่ก็มีมิตรภาพที่ตั้งอยู่บนความสนุกสนาน เช่น หนุ่มสาว และมิตรภาพที่ตั้งอยู่บนความมีประโยชน์ เราจึงเกิดความรักเพราะเราหวังประโยชน์ มิตรภาพจะเป็นสิ่งยืนยงต่อเมื่อแต่ละฝ่ายได้รับสิ่งที่เราให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง มิตรภาพสูงสุดคือมิตรภาพระหว่างคนดี เพราะเป็นมิตรภาพที่ตั้งอยู่บนคุณธรรมของทั้งสองฝ่าย และตั้งอยู่บนความเสมอภาค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมิตรภาพ มิตรภาพต้องประกอบด้วยการให้มากกว่าการรับ การให้เป็นการสร้างคุณธรรมให้เป็นมิตร การที่เรามีความสัมพันธ์ต่อเพื่อนและถือว่าเป็นมิตรเพราะ
1.เป็นคนที่ปรารถนาดีและทำสิ่งดีเพื่อตัวของผู้นั้นเอง
2.คนที่ปรารถนาให้มิตรดำรงอยู่และมีชีวิตเพื่อตัวเขาเอง
3.เป็นคนที่ใช้เวลาสุงสิงอยู่กับเรา
4.เป็นผู้มีปรารถนาเดียวกับเรา
5.เป็นผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเรา
ความรักตัวเองเป็นพื้นฐานของมิตรภาพ คนที่มีความรักตัวเอง จะทำสิ่งดีๆที่สัมพันธ์กับตนเองและสิ่งที่ถือเป็นคุณธรรมของคนดีเพราะ คนดี คือ คนที่ตัดสินใจทำอะไรไม่ขัดกับตัวเอง เขาจะทำในสิ่งที่ดีและคิดว่าดี เขาต้องการสงวนชีวิตของเขาเองในสิ่งที่ดีแก่ฐานะมนุษย์ และเขาต้องการความสุขไม่ต้องการความทุกข์ เพราะไม่มีใครจะมีส่วนร่วมในความทุกข์-สุขของเขามากกว่าตัวเขาเอง คนดีจะมีความรู้สึกในทุกอย่างที่กล่าวมานี้ เขามีท่าทีเช่นเดียวกับมิตรของเขา ซึ่งตัวเขาเองก็เป็นมิตรแท้คนหนึ่ง ดังนั้นมิตรภาพจึงเป็นความรู้สึกหนึ่งในความรู้สึกต่างๆเหล่านั้น อริสโตเติลเรียกคนที่มีความรู้สึกเช่นนี้ว่าเป็นมิตร นอกจากนี้ไมตรีจิต เป็นการเริ่มต้นของมิตรภาพ มิตรภาพจะเกิดจากความไม่มีไมตรีจิตต่อกันไม่ได้และไมตรีจิตอาจเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ถ้ามีไมตรีจิตเป็นเวลานานๆและมีความคุ้นเคย ไมตรีนั้นจะกลายเป็นมิตรภาพ นอกจากนี้การมีมิตรมากเกินความต้องการจึงไม่จำเป็น เราควรมีคนดีเป็นเพื่อนเราจำนวนมากเท่าที่จะทำได้ แต่มิตรภาพที่สนิทสนมอาจเกิดเฉพาะมิตรบางคนเท่านั้น ประเภทของมิตรอันได้แก่ มิตรภาพระหว่างผู้ไม่เท่าเทียมกัน มิตรภาพระหว่างบิดา-มารดาและบุตร มิตรภาพระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง และมิตรภาพระหว่างชาย-หญิง
อริสโตเติลกล่าวว่า มนุษย์ทุกคนควรรักตนเองแต่ก็ควรรักผู้อื่นให้มากที่สุดด้วย มนุษย์เรามิสามารถรู้ใจซึ่งกันและกันได้จนกว่าจะได้ใช้ชีวิตร่วมกัน และมิตรภาพที่สมบูรณ์ คือ มิตรภาพของคนดีมีคุณธรรม

ความสุข (happiness) ความสุขเป็นสิ่งที่มนุษย์ปรารถนา การกระทำของมนุษย์ที่สอดคล้องตามคุณธรรมทางศีลธรรมและคุณธรรมทางปัญญา ย่อมนำไปสู่ความสุขเสมอ ชีวิตมนุษย์ที่มีการกระทำโดยใช้คุณธรรมจะต้องพบกับความสุขในปัจจุบัน ชีวิตที่เต็มเปี่ยมด้วยการใช้คุณธรรมทั้งการปฏิบัติทั้งสติปัญญาอยู่ในขอบเขตของความพอดีแล้ว ทุกชีวิตย่อมพบความสุขทางจิตวิญญาณ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ชีวิตที่นำพาด้วยปัญญาเป็นชีวิตที่มีความสุข ความสุขจึงเกิดจากการทำกิจกรรมให้สอดคล้องสัมพันธ์กับคุณธรรม และกิจกรรมต่างๆด้วยการไตร่ตรองพิจารณาหาเหตุผลหรือปัญญา ดังนั้นชีวิตที่มีความสุขเกิดจากการไตร่ตรองพิจารณา เป็นชีวิตที่สอดคล้องกับเหตุผล ความสุขเป็นสิ่งที่ดีที่สุด น่าอภิรมย์ที่สุด


บรรณานุกรม

สมบัติ จันทรวงศ์. ประวัติปรัชญาการเมือง เล่ม1. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์คบไฟ, 2551.

Roger Crisp. Nicomachean Ethics,United kingdom:Cambridge University Press,2000.

Sombat Chantornvong. “BUDDHA, PLATO, AND ARISTOTLE: A COMPARISON OF
EASTERN AND WESTERN PHILOSOPHIES ON ETHICS AND POLITICS”.
Senior Thesis x190 Claremont Men’s Collage,1968.

http://e-book.ram.edu/e-book/inside/html/dbook.asp?code=PY336.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น