วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

กระบวนทัศน์สิทธิสตรีคือสิทธิมนุษยชน

แนวความคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเป็นที่ยอมรับในระดับสากลอย่างกว้างขวาง นับตั้งแต่มีการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) เมื่อ ปี ค.ศ. 1948  อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าในส่วนประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิสตรีไม่ได้กล่าวไว้โดยตรงมากนัก ตามมาตรา 2 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนกำหนดสิทธิโดยรวมไว้สรุปความได้ว่าสิทธิและเสรีภาพที่กำหนดไว้ในปฏิญญาฉบับนี้ จะไม่มีความแตกต่างในเรื่องชาติพันธุ์ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความเห็นทางการเมืองหรือความเห็นอื่นใดที่มาทางสังคมหรือเชื้อชาติ รวมทั้งทรัพย์สิน แหล่งกำเนิดหรือสถานะอื่นใด[1] Eleanor Roosevelt และกลุ่มสตรีละตินอเมริกันได้ทำการต่อสู้ที่จะรวมเอาเรื่องเพศภาวะไว้ในปฏิญญาดังกล่าว เพื่อที่จะให้สังคมโลกตระหนักถึงปัญหาสถานะของผู้หญิงที่ด้อยกว่าชาย[2] อันจะส่งผลให้มีการปฏิบัติต่อสตรีอย่างเหมาะสมและมีความเท่าเทียมกันกับชายมากยิ่งขึ้น                                                                    


ต่อมา สหประชาชาติซึ่งได้ตระหนักถึงปัญหาสถานภาพของผู้หญิงในประเทศต่าง ๆ และนำไปสู่การกีดกันในหลาย ๆ เรื่องนั้น ได้จัดให้มีการประชุมและส่งผลให้บรรดาประเทศต่าง ๆ มีมติรับรองอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women- CEDAW) ขึ้นโดยข้อมติที่ 34/180 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2522 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2534[3] เป็นต้นมา โดยประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวเมื่อวันที่ 8 กันยายน  2528

                                                                  
หลังจากที่ประเทศไทยเป็นพันธกรณีตามอนุสัญญาดังกล่าว   รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ก็ได้นำหลักความเสมอภาคระหว่างชายและหญิงมาบัญญัติไว้ใน มาตรา 30 วรรค 2 รวมถึงกำหนดให้มีการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างชายและหญิง และการคุ้มครองแรงงานหญิงให้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐด้วย ซึ่งหลักความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงนี้ได้ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 (ฉบับปัจจุบัน) ด้วยเช่นกัน แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่มีกระแสเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเคลื่อนไหวของสตรีในการผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายในหลายเรื่องเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันให้สอดคล้องกับหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริงนั้น ในความเป็นจริงแล้วสิทธิมนุษยชนกับสิทธิสตรีมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างไร และหากมองว่าสิทธิสตรีคือสิทธิมนุษยชนจะทำให้เกิดมุมมองใหม่ในการเปลี่ยนแปลงมโนทัศน์เกี่ยวกับสิทธิสตรีอย่างไรบ้าง

เนื่องจากในความเป็นจริงแล้ว ความพยายามของกลุ่มสตรีนิยมคงไม่ได้มุ่งเน้นที่การเปลี่ยนแปลงกฎหมายซึ่งเป็นรูปธรรมชัดเจนที่จะรับรองสิทธิสตรีได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น  แต่ในระยะยาวแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนมโนทัศน์ที่มองผู้หญิงตามแบบฉบับดั้งเดิมให้เป็นผู้หญิงที่มีโอกาสและสถานะทางกฎหมายในทุกเรื่องที่พึงเท่าเทียมกับชายโดยไม่ยึดติดกับวัฒนธรรม จารีตประเพณี และการเมืองที่ประกอบสร้างความหมายให้กับผู้หญิง   ตามคำกล่าวของ Simone de Beauvoir ที่ว่า “เราไม่ได้เกิดมาเป็น แต่กลายมาเป็นผู้หญิง” (one is not born, but, rather, becomes a woman,)   และการสะท้อนความคิดของ Merleau-Ponty ไว้ในหนังสือ “The Phenomenology of Perception” ที่ว่า “ร่างกายเป็นความคิดทางประวัติศาสตร์” (the body is "an historical idea)[4] ซึ่งเป็นถ่ายทอดความเชื่อใด ๆ ก็ตามเกี่ยวกับผู้หญิงจนกลายเป็นประสบการณ์ที่มีการรับรู้ร่วมกันของคนในสังคม (intersubjectivity)  เช่น การทำแท้งเป็นบาป เป็นแนวคิดดั้งเดิมที่มีที่มาจากศาสนาและฝังรากลึกเกือบทุกสังคม ต่อเมื่อเวลาผ่านไป อิทธิพลความคิดในเรื่องบาปของบางสังคม/บางประเทศกลับลดน้อยถอยลง จนเกิดชุดความรู้ใหม่ที่ว่าผู้หญิงควรมีสิทธิในร่างกายตนเอง  ซึ่งเป็นแนวคิดที่กลุ่มสตรีนิยมบางกลุ่มเชื่อว่าสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน เป็นต้น 

ประเด็นปัญหาที่ว่าสิทธิมนุษยชนกับสิทธิสตรีมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างไร และหากว่าเรามองว่าสิทธิสตรีคือสิทธิมนุษยชน โดยมโนทัศน์ดังกล่าวนี้จะทำให้เกิดคุณูปการอย่างไรบ้างในการส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างเพศหญิงและชาย 
1. ความสัมพันธ์ระหว่างสิทธิมนุษยชนกับสิทธิสตรี

1.1 กรอบความคิดสิทธิมนุษยชนเพื่อสตรี                                  
สิทธิมนุษยชนเป็นคำที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พร้อม ๆ กับการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติในปี ค.ศ. 1945 โดยการรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสมัชชาใหญ่ในปี ค.ศ. 1948 คำนี้ได้นำมาใช้เพื่อแทนที่คำว่า “natural rights” เพื่อหลีกเลี่ยงคำว่าสิทธิธรรมชาติ ทั้งนี้ เนื่องจากแนวคิดในเรื่องกฎหมายธรรมชาติ อันเป็นที่มาของ “สิทธิธรรมชาติ” นั้นถูกโต้แย้งและคัดค้านอย่างมากและคำนี้ใช้แทนที่คำว่าสิทธิของมนุษย์ (rights of man) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในยุคนั้น ทั้งนี้เพื่อให้ครอบคลุมถึงสิทธิสตรีในยุคของสหประชาชาติที่เน้นถึงการไม่เลือกปฏิบัติ[5]  อย่างไรก็ตาม แม้คำว่าสิทธิมนุษยชนจะเป็นคำใหม่ที่เกิดขึ้นกว่าหกสิบทศวรรษมาแล้วก็ตาม แต่นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่าแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชนมีรากฐานมานานตั้งแต่สมัยกรีก เนื่องจากสิทธิมนุษยชนถือว่าเป็นสิทธิธรรมชาติ (Natural Rights) ที่มีที่มาจากกฎหมายธรรมชาติ (Natural Law) โดยกลุ่มปรัชญา Stoic ซึ่งอธิบายเรื่องสิทธิธรรมชาติว่ามีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคนมาตั้งแต่เกิด สิทธิเหล่านี้มิใช่อภิสิทธิ์ของบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ หากแต่เป็นความชอบธรรมที่มนุษย์ทั่วทุกหนทุกแห่งจะพึงมี โดยเหตุที่เขาเกิดมาเป็นมนุษย์และเป็นผู้มีเหตุผล[6]        
         
แม้ว่านักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนหลายคนเชื่อว่าการที่ชาวกรีกและชาวโรมันโบราณเป็นผู้มอบมรดกล้ำค่านั่นคือปรัชญาการเมือง การปกครองและกฎหมายไว้ให้อนุชนรุ่นหลัง แต่ข้อค้นพบหนึ่งที่น่าสนใจจากคำบอกกล่าวของ G. Oestreich ผู้ซึ่งทำการศึกษาเรื่องประวัติความเป็นมาของสิทธิมนุษยชนอย่างลึกซึ้งก็คือ จากถ้อยคำที่มีการบันทึกไว้ทั้งหมด เกี่ยวกับเสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์   และที่เกี่ยวกับความเคารพในความเป็นมนุษย์ที่ได้มีการศึกษามา เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการเรียกร้องสิทธิที่ไม่อาจละเมิดได้สำหรับมนุษย์ทุกคน แม้แต่คำสอนของพวก  stoic ในสมัยโรมัน   ซึ่งสอนเกี่ยวกับความเสมอภาคระหว่างมนุษย์ด้วยกันก็เป็นเพียงแนวความคิดเกี่ยวกับจริยธรรมทางสังคมเท่านั้น หาได้มุ่งสู่การสร้างสรรค์ระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจแต่อย่างใดไม่”[7]     
         
ตามคำกล่าวข้างต้นนั้น เป็นมุมมองทางประวัติศาสตร์หนึ่งที่น่าสนใจ  แต่ไม่ว่าแนวคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนจะมีมายาวนานมากน้อยแค่ไหนก็ตาม ผู้วางรากฐานทฤษฎีสิทธิธรรมชาติสมัยใหม่อันเป็นแนวคิดที่มาของสิทธิมนุษยชน ซึ่งมักได้รับการกล่าวขวัญถึงก็คือ John Locke จากการประกาศว่าปัจเจกบุคคลโดยธรรมชาติเป็นผู้ครอบครองสิทธิในชีวิต อิสรภาพ และทรัพย์สิน ในทรรศนะของ Locke สิทธิธรรมชาติเป็นสิ่งที่ในเชิงศีลธรรมไม่อาจล่วงละเมิดได้ในภาวะธรรมชาติ แต่ก็บังคับใช้ได้จริงก็แต่ในประชาคม (Civil Society) ซึ่งมีพันธะรับผิดชอบในการปกป้องสิทธิดังกล่าวผ่านทางสัญญาประชาคม (Social Contract)[8] หลักการสำคัญที่อยู่ในแนวคิดสิทธิธรรมชาติของ Locke ประการแรกคือปัจเจกบุคคลคือสภาพชีวิตที่มีความเป็นอิสระ มีความสามารถที่จะกำหนดการเลือกการตัดสินใจ และประการที่สองคือความชอบธรรมของรัฐบาลมิได้ดำรงอยู่โดยขึ้นกับเจตจำนงของประชาชนเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับความตั้งใจและความสามารถของรัฐบาลในการปกป้องสิทธิธรรมชาติเชิงปัจเจกชนด้วย[9]   โดยนัยนี้ แสดงให้เห็นว่าสิทธิธรรมชาติของปัจเจกบุคคลจะต้องเป็นสิ่งที่ได้รับการรับรองโดยรัฐเพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการปกป้องคุ้มครอง และรัฐที่ทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดีก็จะได้เป็นแบบอย่างให้อีกหลายรัฐได้เจริญรอยตาม เนื่องจากเรื่องสิทธิธรรมชาติที่ถูกสถาปนาเป็นสิทธิมนุษยชนนี้มิได้เป็นเป็นเรื่องของประเทศใดโดยเฉพาะ แต่เป็นสิทธิไร้พรมแดนที่เป็นที่จ้องมองของนานาอารยประเทศไปแล้ว

เนื่องจากกรอบความคิดสิทธิมนุษยชนมีพัฒนาการมาหลายยุคสมัย มีความซับซ้อนและกว้างขวางครอบคลุมในหลายเรื่อง ได้แก่ การขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติทุกรูปแบบ   การขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี/ทางเพศทุกรูปแบบ การกระทำทารุณและการลงโทษที่โหดร้าย การปกป้องคุ้มครองเด็ก อาชญากรรมอันเป็นการทำลายเผ่าพันธุ์มนุษย์ การคุ้มครองสิทธิด้านแรงงาน การคุ้มครองชนกลุ่มน้อยและชาวพื้นเมือง เป็นต้น    โดยสิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิธรรมชาติที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน ดังนั้น สิทธิสตรีซึ่งถูกมองว่าเป็นประเด็นคนชายขอบหรือเสียงส่วนน้อยนั้น ควรที่จะถูกชูขึ้นโดยมองในกรอบของสิทธิมนุษยชนเป็นหลักสำคัญ กล่าวคือขณะนี้เราต้องมองเห็นว่าประเด็นปัญหาสิทธิสตรีมิใช่ปัญหาเฉพาะผู้หญิงและมิใช่ปัญหาที่แยกส่วนอีกต่อไป เพราะหากมองภาพรวมแล้วเราไม่อาจมองข้ามระเบียบของสังคมโลกปัจจุบันซึ่งเสริมสร้าง ตอกย้ำ และอุ้มชู การเลือกปฏิบัตินานาชนิดในสังคม[10] โดยจากการสำรวจบทความและงานวิจัยต่างประเทศ ส่วนใหญ่พบว่าจะกล่าวถึงเชิงวิเคราะห์และวิพากษ์อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ค.ศ. 1979  ซึ่งถือว่าเป็นหลักการสิทธิมนุษยชนสำหรับสตรีที่เป็นยอมรับระดับสากล โดยมีเป้าหมายสำคัญที่จะสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างเพศหญิงและชายในทุกรูปแบบ                            

ตามคำนิยาม “การเลือกปฏิบัติต่อสตรี” ที่กำหนดไว้ในมาตรา 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ สรุปความหมายได้ว่าคือการแบ่งแยก การกีดกัน หรือการจำกัดใด ๆ เพราะเหตุแห่งเพศ ซึ่งมีผลทำลายหรือทำให้เสื่อมเสียการยอมรับ การได้อุปโภค หรือใช้สิทธิโดยสตรี โดยไม่เลือกสถานภาพด้านการสมรสบนพื้นฐานของความเสมอภาคของผู้ชายและผู้หญิงของสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม พลเมือง   หรือด้านอื่น ๆ[11]   ทั้งนี้ เพื่อที่จะให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการนำหลักการไปปฎิบัติในแต่ละประเทศ จึงมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 2 ว่าให้บรรจุหลักการของความเสมอภาคระหว่างชายและหญิงไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งชาติ หรือในบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เหมาะสมอื่น ๆ ตามความเป็นไปได้ของแต่ละประเทศ และออกมาตรการด้านนิติบัญญัติที่เหมาะสมในเรื่องการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบต่อผู้หญิง รวมถึงยกเลิกกฎหมาย กฎระเบียบ ประเพณี และแนวปฏิบัติ (รวมทั้งบทบัญญัติที่เป็นการลงโทษ) ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศที่มีอยู่ในปัจจุบันด้วย[12]  โดยอนุสัญญาฯ มีบทบัญญัติทั้งหมด 30 มาตรา ซึ่งในที่นี้จะสรุปสาระสำคัญที่มีการรับรองสิทธิสตรีให้เท่าเทียมกับชายเพื่อให้เกิดความเสมอภาคในด้าน  ต่าง ๆ ดังนี้
1.       ความเสมอภาคทางด้านการเมือง
2.       ความเสมอภาคทางด้านกฎหมาย
3.       ความเสมอภาคทางด้านการศึกษา
4.       ความเสมอภาคทางด้านครอบครัว เศรษฐกิจและสังคม
5.       ส่งเสริมสถานะและบทบาทของสตรีในชนบท
โดยประเทศไทยได้ลงนามเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ค.ศ. 1979 โดยวิธีภาคยานุวัติ เมื่อวันที่  8 กันยายน พ.ศ. 2528 ประเทศไทยจึงมีข้อผูกพันที่จะต้องกำหนดนโยบายและมาตรการดำเนินการด้านนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ ตลอดจนมาตรการอื่น ๆ เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงทุกรูปแบบ และให้หลักประกันว่าผู้หญิงจะต้องได้รับสิทธิประโยชน์และโอกาสต่าง ๆ จากรัฐบนพื้นฐานของความเสมอภาคกับผู้ชาย โดยตั้งข้อสงวนไว้ 7 ข้อ ได้แก่ ข้อ  เรื่องความเสมอภาคทางการเมืองและการรับตำแหน่งราชการ,  ข้อ 9    การถือสัญชาติของบุตร, ข้อ 10  ความเสมอภาคทางการศึกษา, ข้อ 11 สิทธิและโอกาสที่จะได้รับการจ้างงานชนิดเดียวกัน,  ข้อ 15 การทำนิติกรรม,ข้อ 16  ความเสมอภาคในครอบครัว,  ข้อ 29  การตีความและการระงับข้อพิพาท
ต่อมาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2539 ไทยได้เพิกถอนข้อสงวนต่อข้อ 7 ข้อ 9  ข้อ 10 และข้อ 15 และยังคงข้อสงวนต่อข้อ 16 (ความเสมอภาคในครอบครัว)  และข้อ 29 (การตีความและการระงับข้อพิพาท)[13] ไว้  นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ลงนามในพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2543 อันมีผลผูกพันให้ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของผู้หญิงอันเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในภาพรวม โดยเปิดโอกาสให้ผู้หญิงสามารถเสนอข้อเรียกร้องได้เมื่อถูกเลือกปฏิบัติ          สำหรับพิธีสารเลือกรับฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและเพิ่มกลไกการคุ้มครองสิทธิผู้หญิงจากเดิมที่มีอยู่ เช่น การเสนอรายงานการดำเนินการให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ ต่อคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี ทุก 4 ปีเพื่อเป็นมาตรการภายในประเทศในการคุ้มครองสิทธิผู้หญิง ซึ่งนำไปสู่การแก้ไขกฎหมาย การยุติการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการปรับเปลี่ยนค่านิยมทางวัฒนธรรมและสังคมที่มีต่อผู้หญิงตามแบบฉบับดั้งเดิม โดยอาจกล่าวได้ว่าพิธีสารเลือกรับฯ นี้เป็นกลไกในการเรียกร้องของผู้หญิงฉบับแรก ซึ่งทำให้อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบอยู่ในระดับเดียวกันกับตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ที่มีกระบวนการร้องเช่นเดียวกัน และนับว่าเป็นก้าวสำคัญที่จะสร้างมโนทัศน์เกี่ยวกับสิทธิสตรีคือสิทธิมนุษยชนที่เป็นที่ยอมรับในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก  ตัวอย่างบางประเทศที่กำลังเคลื่อนไหวให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายภายในประเทศเพื่อสอดคล้องกับมาตรา 16 ของอนุสัญญาฯ  “การเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการสมรสและความสัมพันธ์ของครอบครัว” ได้แก่ กฎหมาย นิกรากัว ค.ศ. 1981 ให้บิดาและมารดามีหน้าที่ต่อบุตรอย่างเท่าเทียมกันและการร่วมกับทำงานบ้าน[14] ซึ่งเป็นกรณีที่รัฐเข้ามาแทรกแซงในพื้นที่ส่วนตัวเพื่อสลายลำดับชั้นระบบอำนาจผู้ชายเป็นใหญ่ในสังคม นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดี เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยที่ยังคงตั้งข้อสงวน ข้อ 16 (ความเสมอภาคในครอบครัว)  เอาไว้

1.2  ข้อโต้เถียงประเด็นสิทธิสตรีใดที่ถือว่าเป็นสิทธิมนุษยชน
สำหรับคำกล่าวที่ว่า “สิทธิสตรีคือสิทธิมนุษยชน” นักทฤษฎีหลายคนมีแนวโน้มที่จะเสนอความคิดโดยทั่วไปในเบื้องต้นว่าเราเข้าใจ “สิทธิมนุษยชน” อย่างไรบ้าง  ตัวอย่างเช่น Radhika Coomaraswamy นักทฤษฎีด้านสิทธิมนุษยชนผู้ให้ข้อสังเกตว่าเราสามารถเข้าใจและวิเคราะห์สิทธิสตรีคือสิทธิมนุษยชนภายในข้อสันนิษฐานตามยุคแห่งการรู้แจ้ง (Enlightenment) ซึ่งเป็นช่วงที่แนวคิดนี้กำเนิดขึ้นมาอย่างเป็นทางการ โดยเป็นการให้ความหมายว่าผู้หญิงมีความเสรีและเป็นอิสระ มีสิทธิและเป็นตัวแสดงที่ใช้เหตุผล (rational agency)  และ Adetoun Ilumoka นักวิชาการอีกท่านหนึ่งได้กล่าวว่าวาทกรรมสิทธิมนุษยชน (human rights discourse) เกิดขึ้นมาพร้อมกับศตวรรษที่ 17 ในยุคแห่งการรู้แจ้งโดยมุ่งเน้นเกี่ยวกับเสรีภาพของพลเมืองและเสรีภาพทางการเมือง สิทธิในทรัพย์สิน และหลักนิติรัฐซึ่งมาจากแนวความคิดของสังคมในยุคนั้นที่มีลักษณะแยกตัว พึ่งพิงตัวเอง  มีความเป็นปัจเจกชน อิสระ และเท่าเทียมกัน โดยเข้าถึงตลาดแรงงานด้วยตนเอง ความคิดเห็นที่กล่าวมานี้อยู่ภายในกรอบความคิดทางตะวันตกที่สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามโนทัศน์เกี่ยวกับ “มนุษย์” สามารถใช้ได้อย่างเป็นสากล ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าเรามองเห็นว่ามโนทัศน์นี้เป็นแม่แบบที่เหมาะสมในการให้ค่าของสิทธิใด ๆ แก่บุคคล[15]

Bunch ให้ข้อสังเกตว่ามีแนวคิดพื้นฐาน 4 ประการ[16] ที่เชื่อมโยงสิทธิสตรีเข้ากับสิทธิมนุษยชน โดยแนวคิดดังกล่าวนี้ถูกนำเสนอแยกจากกันเพื่อให้เห็นแต่ละประเด็นอย่างชัดเจน ทั้งที่ในทางปฏิบัติ 4 แนวคิดนี้มีความคาบเกี่ยวกันอยู่ และประเด็นหนึ่งก็ตั้งคำถามไปสู่อีกประเด็นหนึ่งได้อย่างมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน                 
(1) สิทธิสตรีรวมถึงสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
ประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาเนื่องจากเป็นความรุนแรงต่อสตรีในรูปแบบหนึ่ง ได้แก่ การทรมานผู้หญิงที่ติดคุกในคดีทางการเมืองในอเมริกาใต้  กลุ่มที่มาเรียกร้องมีชื่อว่า “ Women's Task      Force of Amnesty International” ได้รณรงค์ในนามสตรีที่ติดคุกทางการเมืองโดยแสดงให้เห็นว่าการละเมิดทางเพศ การข่มขืนผู้หญิงที่อยู่ภายใต้การคุมขังของรัฐ  การขาดการดูแลผู้เป็นแม่ที่ถูกคุมขังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งตัวผู้หญิงเอง และยังมีผลไปถึงบุตรของผู้หญิงเหล่านั้น  ตัวอย่างที่ยกมานี้ครอบคลุมไปถึงกลุ่มผู้หญิงที่อยู่ในค่ายกักกัน ค่ายอพยพต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายบริเวณชายแดน รอยตะเข็บพรมแดนที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมจนถึงขั้นทารุน โหดร้าย จากตัวอย่างเหล่านี้คือสิ่งที่ Bunch ต้องการชี้ให้เห็นว่าสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับประเด็นเรื่องต่าง ๆ ของสิทธิมนุษยชน และขยายผลไปสู่การตั้งคำถามถึงข้อจำกัดในการมองเสรีภาพของพลเมืองอย่างแคบเช่น ประเด็นเรื่องการข่มขืนจะถูกมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นก็ต่อเมื่อเกิดขึ้นจากการถูกกักขัง กักกัน อยู่ภายใต้อารักขาของรัฐเท่านั้น แต่ไม่ได้รวมถึงเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดตามท้องถนนหรือในบ้านของผู้หญิงเอง  ซึ่งในการมองเช่นนั้น เป็นมุมมองที่คับแคบ เนื่องจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนทางเพศเกิดขึ้นได้ทุกแห่ง ไม่จำกัดว่าต้องเป็นเรื่องระหว่างรัฐเท่านั้น โดยเฉพาะในพื้นที่ส่วนตัวคือครอบครัวนับว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวที่รัฐมักมองข้าม
(2) สิทธิสตรีรวมถึงสิทธิทางเศรษฐกิจสังคม
สิทธิทางเศรษฐกิจสังคมในที่นี้ ได้แก่ สิทธิในอาหาร ที่พัก การดูแลรักษา  และการจ้างงาน  แนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนโดยนักเคลื่อนไหวด้านแรงงานและสังคม ซึ่งมองว่าสิทธิมนุษยชนทางการเมืองจะไม่มีความหมายอะไรหากปราศจากสิทธิทางเศรษฐกิจ  กลุ่มผู้ที่สนับสนุนแนวความคิดที่ให้สิทธิสตรีรวมถึงสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมมองว่าสิทธิมนุษยชนแบบแนวคิดดั้งเดิมและกฎหมายระหว่างประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องปัจเจกบุคคลมากเกินไป  และชี้ให้เห็นว่าการกดขี่สตรีเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจขั้นพื้นฐานด้วย โดยแนวคิดดังกล่าวมีที่มาจากแนวคิดสังคมนิยมที่ให้ความสำคัญกับแรงงานสตรี และแนวคิดนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศโลกที่สามซึ่งมองว่าการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นประเด็นสิทธิมนุษยชน  อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของแนวความคิดนี้มีแนวโน้มว่าจะทำให้ความต้องการของสตรีลดทอนมาอยู่ในปริมณฑลทางเศรษฐกิจซึ่งมีนัยยะว่าจะต้องมีการปฏิบัติตามแนวทางการพัฒนาของกลุ่มประเทศโลกที่สามซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับแนวคิดด้านสังคมนิยม เพื่อมิให้อยู่ภายใต้ข้อจำกัดตามแนวคิดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง กลุ่มที่สนับสนุนแนวคิดสิทธิสตรีคือสิทธิทางเศรษฐกิจสังคม จึงไม่ได้มีความพยายามที่จะผลักดันให้สิทธิสตรีเข้าสู่รูปแบบการพัฒนาตามแนวทุนนิยมตะวันตกหรือสังคมนิยมแต่อย่างใด แต่ได้แสวงหากระบวนการพัฒนาที่มุ่งเชื่อมโยงระหว่างการเมือง เศรษฐกิจและการส่งเสริมด้านวัฒนธรรมแทน
(3) สิทธิสตรีและกฎหมาย
ตามแนวความคิดนี้เป็นการใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อขจัดความไม่เท่าเทียมกัน/การเลือกปฏิบัติทางเพศ    โดยมีความพยายามที่จะทำให้สถาบันทางการเมืองและสถาบันกฎหมายที่มีอยู่ทำงานเพื่อสตรีและขยายความรับผิดชอบของรัฐให้ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของสตรีให้มากขึ้น  กรณีกฎหมายภายในประเทศที่มีอยู่เดิมก็ได้ถูกร่างใหม่ปรับเปลี่ยนเพื่อแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศและขจัดความรุนแรงที่กระทำต่อผู้หญิงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงแนวทางที่สนับสนุนแนวคิดนี้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (อนุสัญญาฯ) โดยในทางทฤษฎีหรือตามหลักการ ประเทศที่มีพันธกรณีต่ออนุสัญญาฯ จะต้องปฏิบัติตามนโยบายของอนุสัญญาฯ และรายงานผลการปรับแก้กฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ ด้วย  ทั้งนี้  ประเด็นเรื่องความรุนแรงต่อสตรีถือว่าเป็นหลักพื้นฐานสำคัญของอนุสัญญาฯ  โดยตามมาตรา 5 ของอนุสัญญาฯ มีเจตนารมณ์ให้แก้ไขแบบแผนทางสังคม วัฒนธรรม และบทบาททางเพศ รวมถึงแบบฉบับดั้งเดิมที่อยู่บนพื้นฐานความคิดเกี่ยวกับความด้อยกว่าหรือเหนือกว่าของเพศใดเพศหนึ่ง       อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบได้กำหนดกรอบสิทธิมนุษยชนเพื่อสิทธิสตรีไว้อย่างชัดเจน ซึ่งหากได้รับการยอมรับโดยรัฐบาลของแต่ละประเทศก็จะเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความเสมอภาคด้านต่าง ๆ สำหรับสตรีดังได้กล่าวมาแล้วในข้อ 1.1 อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ ปรากฎว่าสหประชาชาติได้รับรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ ของประเทศต่าง ๆ น้อยมาก  ยิ่งไปกว่านั้น จากการพิจารณาเอกสารรายงานต่าง ๆ พบว่ารัฐบาลและองค์กรที่มิใช่รัฐบาลส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้มองว่าสิทธิสตรีสตรีคือสิทธิมนุษยชน  ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีความก้าวหน้าเกี่ยวกับการให้ความสำคัญสิทธิสตรีเป็นสิทธิมนุษยชนมากนัก แต่ก็เป็นหลักการที่ได้รับการรับรองจากสหประชาชาติแล้ว ซึ่งกลุ่มผู้หญิงในแต่ละประเทศสามารถที่จะเคลื่อนไหวเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและกฎหมายในประเทศของตนเองต่อไปได้   
(4) การเปลี่ยนกระบวนทัศน์สิทธิสตรีเป็นสิทธิมนุษยชน
การเปลี่ยนมโนทัศน์ของสิทธิสตรีสู่ความเป็นสิทธิมนุษยชน จะทำให้ครอบคลุมสิทธิทุกประเภทของสตรีรวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ของสตรีในทุก ๆ ด้าน ซึ่งมีนัยยะความหมายที่กว้างขวางกว่าความหมายสิทธิสตรีแบบเดิม  ยกตัวอย่างเช่น  GABRIELA สมาพันธ์สตรีในฟิลิปปินส์ได้ใช้คำกล่าว “สิทธิสตรีคือสิทธิมนุษยชน” (Women's Rights are Human Rights) ในการรณรงค์เมื่อไม่นานมานี้  Ninotchka Rosca อธิบายการรณรงค์ดังกล่าวสรุปได้ว่าสิทธิมนุษยชนไม่สามารถถูกลดทอนมาเป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับกระบวนการและวิถีทางกฎหมาย กล่าวคือในกรณีประเด็นด้านสตรี สิทธิมนุษยชนได้รับผลกระทบจากการรับรู้ตามจารีตประเพณีของสังคมโดยรวมว่าอะไรสมควรหรือไม่สมควรสำหรับสตรี ในทำนองเดียวกัน ผลการสนทนากลุ่มเมื่อปี ค.ศ. 1990 ของกลุ่มสตรีระหว่างประเทศในการประชุม “Rights Action Watch” แสดงให้เห็นว่าความรุนแรงต่อสตรีเป็นประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน (Violence Against Women is a Human Rights Issue) ขณะที่แนวความคิดเกี่ยวกับสิทธิสตรีในแง่ต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้วสามหัวข้อข้างต้น เราจะพบว่าเป็นมุมมองจากกลุ่มสตรีนิยม  แต่ปรากฎว่าแนวความคิดสุดท้ายนี้เห็นได้ชัดเจนว่ามาจากแนวคิดของสตรีนิยมที่มีจุดยืนของสตรีเป็นศูนย์กลางและปฏิเสธที่จะรอให้ผู้มีอำนาจคนใดมาตัดสินว่าประเด็นสิทธิสตรีใดบ้างที่ถือว่าเป็นสิทธิมนุษยชน

แนวคิดทั้ง 4 ประการ เป็นแนวคิดหลักสำคัญของสิทธิสตรีที่มีความเชื่อมโยงกับหลักสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจนและปรากฎเป็นข้อเรียกร้องสำคัญ ๆ ของกลุ่มสตรีนิยมอยู่เสมอ แต่บางประเด็นมักถูกยอมรับหรือถูกเพิกเฉยแล้วแต่สภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละรัฐ และที่สำคัญที่สุดก็คือรัฐที่มีระบบอำนาจผู้ชายเป็นใหญ่

Bunch ผู้เขียนบทความเรื่อง  Women's Rights as Human Rights: Toward a Re-Vision of Human Rightsมีความเห็นว่าสังคมในหลายประเทศส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อว่าการกดขี่สตรีเป็นผลมาจากการเมืองที่ชายเป็นใหญ่โดยแยกเรื่องการเลือกปฏิบัติทางเพศ และความรุนแรงต่อสตรีออกจากประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ตามความเห็นของเธอ สถานะที่ด้อยกว่าทางสังคมของผู้หญิงยังคงถูกมองว่าเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หรือเป็นเรื่องตามธรรมชาติมากกว่าถูกมองว่าเป็นความจริงที่ถูกประกอบสร้างทางการเมืองที่ธำรงไว้เพื่อผลประโยชน์ของผู้ชายเป็นใหญ่ อุดมการณ์และสถาบันของสังคม[17]   ซึ่งหากสังคมส่วนใหญ่มีมุมมองเช่นนี้แล้ว ย่อมทำให้การยอมรับสิทธิสตรีว่าเท่าเทียมกับชายในทางปฏิบัติจริงเป็นไปได้ยาก     Catherine MacKinnon (1989) และ Carole Pateman (1988) ได้วิพากษ์รัฐส่วนใหญ่ในโลกว่าล้มเหลวที่จะสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างสิทธิสตรีในพื้นที่ส่วนตัว (ครอบครัว) และพื้นที่สาธารณะ[18]  กล่าวคือในพื้นที่ส่วนตัว ลำดับชั้นของอำนาจที่ถือว่าผู้ชายเป็นใหญ่มีอยู่ในหลายครอบครัวเกือบจะทุกสังคมและเกิดความรุนแรงภายในครอบครัวอันเนื่องมาจากระบบที่ผู้ชายเป็นใหญ่นี้ ซึ่งรัฐไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ได้ ยกตัวอย่าง หลายประเทศรวมถึงเปรู และอียิปต์ พบว่าสามีมีสิทธิทางกฎหมายที่จะทุบตีและแม้กระทั่งฆ่าภรรยาของพวกเขาได้หากสงสัยว่าภรรยาของพวกเขามีชู้  และกฎหมายครอบครัวของฝรั่งเศสที่กำหนดว่าสามีหรือภรรยาที่ทิ้งร้างครอบครัวจะไม่มีสิทธิในการร่วมครอบครองบ้าน ซึ่งตามกฎหมายดังกล่าวนี้ ผู้หญิงที่ไม่อาจทำความรุนแรงภายในครอบครัวได้ก็ไม่สามารถออกจากบ้านได้ เพราะเธอจะไม่มีที่ไป ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยและไม่ได้สิทธิในการเลี้ยงดูบุตร[19] เนื่องจากในความเป็นจริงที่ผู้หญิงหนีอออกจากครอบครัวมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากความสัมพันธ์ที่รุนแรงกับสามีของเธอ ในขณะที่ผู้ชายทิ้งครอบครัวเพราะเรื่องการหนีปัญหาทางการเงิน ความรับผิดชอบทางสังคมหรือการมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงใหม่

แม้ว่าประเด็นความเท่าเทียมระหว่างเพศชายหญิง และการใช้ประโยชน์จากแรงงานสตรีอย่างธรรมจะเป็นปัญหาสากล  แต่การเคลื่อนไหวในแต่ละประเทศก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดทางวัฒนธรรมที่แวดล้อมกลุ่มสตรีที่ทำการเคลื่อนไหว  ยิ่งไปกว่านั้น เงื่อนไขที่นำไปสู่การเปลี่ยนรูปแบบจากประเด็นเรื่องส่วนบุคคลกลายเป็นนโยบายสาธารณะที่ตราเป็นกฎหมายก็จะมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ[20] กล่าวคือบางประเทศยังมองว่าประเด็นที่เกี่ยวกับครอบครัวและแรงงานสตรีซึ่งถูกยกเป็นข้อโต้เถียงทางสาธารณะในหลายประเทศนั้น ยังคงถูกนิยามว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่อยู่ในพื้นที่ส่วนตัว รัฐจึงไม่เข้าไปแทรกแซง หรือในอีกแง่หนึ่ง ถ้าตีความตามกลุ่มสตรีนิยมบางกลุ่ม ก็จะมองว่าระบบอำนาจที่ชายเป็นใหญ่อยู่ในตัวรัฐเอง จึงไม่ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ที่มองเรื่องครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัวที่อาจมีความความรุนแรงต่อผู้หญิง ซึ่งก็เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงในรูปแบบหนึ่งเช่นกัน

แม้กระทั่งในประเทศญี่ปุ่น สมาคมสิทธิสตรีระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japanese Association of International Women's Rights) ก็ยังมีความเห็นว่านัยยะสำคัญพิเศษที่ปรากฏในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิสตรีส่วนใหญ่เป็นการสร้างความตระหนักว่าผู้หญิงไม่ได้มีลักษณะของความเสียเปรียบในเชิงประวัติศาสตร์ แต่เป็นการเลือกปฏิบัติและการกดขี่โดยสร้างแบบฉบับด้านลบให้กับผู้หญิง และข้อสันนิษฐานด้านลบก็ถูกฝังลึกในวัฒนธรรม และได้รับอิทธิพลเกี่ยวกับทัศนคติทางศาสนาและสังคม  จุดมุ่งหมายของอนุสัญญานี้ก็คือการขจัดความไม่เท่าเทียมกันและภาพลักษณ์ที่เป็นแบบฉบับด้านลบออกไป และสร้างความเข้าใจว่าแนวคิดแบบฉบับดั้งเดิมเป็นการปฏิเสธสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้หญิง[21] ดังนั้น ในประเด็นข้อโต้เถียงที่ว่าสิทธิสตรีประเภทใดคือสิทธิมนุษยชนในทางปฏิบัติแล้ว จะพบว่ามุมมองจะสอดคล้องกับสังคม วัฒนธรรม จารีตประเพณีของประเทศนั้น ๆ ด้วย ซึ่งรัฐจะต้องทำความเข้าใจว่าการประกอบสร้างความจริงใด ๆ เกี่ยวกับสตรีนั้นสามารถทำการรื้อสร้างได้ มิใช่ผูกติดกับความเชื่อดั้งเดิมของสังคม


[1] สรุปจากภาษาอังกฤษ Article 12  of Universal Declaration of Human Rights ที่กำหนดไว้ดังนี้ "the rights and freedoms set forth in this Declaration, without distinction of any kind, such as race, colour, sex, language, religion, political or other opinion, national or social origin, property, birth or other status."
[2] โปรดดูรายละเอียด Blanche Wiesen Cook, "Eleanor Roosevelt and Human Rights: The Battle for Peace and Planetary Decency, "Edward P. Crapol, ed. Women and American Foreign Policy: Lobbyists, Critics, and Insiders (New York: Greenwood Press, 1987), 98-118; Georgina Ashworth, "Of Violence and Violation :      Women and Human Rights," Change Think book II (London, 1986) อ้างใน Bunch, “Women's Rights as Human Rights: Toward a Re-Vision of Human Rights,” p. 487.
[3] กนกวรรณ ภิบาลชนม์, “สิทธิสตรีตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ,” หน้า 105.
[4]Butler, Judith, “Performative Acts and Gender Constitution: An Essay in Phenomenology and Feminist Theory,” p. 520.
[5]ดูรายละเอียดสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย, โครงการศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา สาขานิติศาสตร์ สุโขทัยธรรมธิราช พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, หน้า 2.
[6]ดูรายละเอียด นพนิธิ สุริย  “สิทธิมนุษยชน”  สรุปคำบรรยายวิชาสิทธิมนุษยชน, LA 253 มหาวิทยาลัยรามคำแหง 2520.
[7] G. Oestreich, Die Entwicklung der Menschenrechte und Grundfreiheiten, in: Bettermann-Neumann- Nipperday (Hrsg.), Die Grundrechte, Bd.1, 1.Hbd., 1966, S. 13. อ้างใน บุญศรี  มีวงศ์อุโฆษ, รายงานการวิจัยเรื่อง “หลักการใช้อำนาจขององค์กรที่ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ,” หน้า 94.
[8] จรัญ โฆษณานันท์, สิทธิมนุษยชนไร้พรมแดน ปรัชญา กฎหมาย และความเป็นจริงทางสังคม, หน้า 63.  
[9] Davidson, Scott. Human Right, p. 28.
[10]วิระดา สมสวัสดิ์, คู่มือกฎหมายสำหรับผู้หญิง, หน้า 11-12.
[11] Article 1 of  The Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women:              “any distinction, exclusion, or restriction made on the basis of sex which has the effect or purpose of impairing or nullifying the recognition, enjoyment or exercise by women, irrespective of their marital status, on a basis of equality of men and women, of human rights and fundamental freedoms in the political, economic, social, cultural, civil or any other field.
[12]Article 2  of  The Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women:  “States parties to the Convention agree to establish equality of women through their national legal systems in a variety of ways: by conforming national constitutions or appropriate legislation to the principles of the Covenant, by enacting legal sanctions against discrimination, by prohibiting discrimination by public authorities and institutions, by establishing de jure equality of women and men, and by abolishing existing laws, regulations, customs, and practices (including penal provisions) which are discriminatory.
[13] กนกวรรณ ภิบาลชนม์, “สิทธิสตรีตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ,” หน้า 105.
[14] Cook, “Enforcing Women's Rights through Law,” p.12.
[15]Linsenbard, “Beauvoir, Ontology, and Women's Human Rights,” p. 149.
[16]Bunch, “Women's Rights as Human Rights: Toward a Re-Vision of Human Rights,” pp. 493-497.
[17] Bunch, “Women's Rights as Human Rights: Toward a Re-Vision of Human Rights,” p. 491.
[18] Bahar, “Human Rights are Woman’s Right: Amnesty International and the Family,” p. 106.
[19] Bahar, “Human Rights are Woman’s Right: Amnesty International and the Family,” p. 106.
[20] Palley, “Women's Rights as Human Rights: An International Perspective,” p. 164.
[21] Cook, “Enforcing Women's Rights through Law,” p. 9.

บรรณานุกรม


ภาษาไทย
กนกวรรณ ภิบาลชนม์. “สิทธิสตรีตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ,” สิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย, กรุงเทพฯ: โครงการศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2543: 105-109.

บุญศรี  มีวงศ์อุโฆษ. “รายงานการวิจัยเรื่อง “หลักการใช้อำนาจขององค์กรที่ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ,”” กรุงเทพฯ: บริษัท พี. เพรส จำกัด,  2549.

วิระดา  สมสวัสดิ์. คู่มือกฎหมายสำหรับผู้หญิง, กรุงเทพมหานคร : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2537.

ปฏิญญาเวียนนาและแผนปฏิบัติการ,” สิทธิมนุษยชน, กรุงเทพมหานคร: คณะกรรมการประสานงานองค์กรสิทธิมนุษยชน (กปส.), 2540: 201-236.

ภาษาอังกฤษ

Bahar, Saba. “Human Rights are Woman’s Right: Amnesty International and the Family,” Hypatia, 11, no. 1, The Family and Feminist Theory, Winter 1996: 105-134.


Bunch, Charlotte. “Women's Rights as Human Rights: Toward a Re-Vision of Human Rights, ”Human Rights Quarterly, 12, no. 4, November 1990: 486-498.

 
Butler, Judith. “Performative Acts and Gender Constitution: An Essay in  Phenomenology and  Feminist Theory,” Theatre Journal,  40, no. 4, December 1988: 519-531.


Cook, Elizebeth Adell,  Jelen, Ted G. and Wilcox, Clyde. Between two absolutes, Public Opinion  and Politics of Abortion,  San Francisco: Westview Press, 1992.


Cook, Rebecca J. “Enforcing Women's Rights through Law,”  Gender and Development 3, no. 2, June 1995: 8-15.

Davidson, Scott. Human Right. Buckingham: Open University Press, 1993.


Dixon-Mueller, Ruth. Population Policy & Women’s Right. United States of America: Praeger  Publishers, 1993.


Linsenbard,  Gail E. “Beauvoir, Ontology, and Women's Human Rights,” Hypatia, 14, no. 4,  Philosophy of Simone de Beauvoir, Autumn, 1999: 145-162.

Palley, Marian Lief.  “Women's Rights as Human Rights: An InternationalPerspective”  Annals  of the American Academy of Political and Social Science,  515, American Feminism:  New Issues for a Mature Movement, May 1991: 163-178.

                                         ------------------------------------------------------------------
                                                                                                                          
โดย ภิรัชญา วีระสุโข

วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ผ่าม่าน “ความกลัว” ประสบการณ์กลางสนามความรุนแรง



พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ [1]

“ไม่กลัวเหรอ? อยู่ยันกรุงเทพฯ ยังมาถึงที่นี่อีก ไม่มีใครเขามากันแล้ว”
“เปลี่ยนเรื่องทำได้มั้ย หรือไม่ก็ไปทำที่อื่น เก็บข้อมูลที่อื่น เหนือ อีสาน อะไรโน่น จะมาเสี่ยงทำไมที่นี่? ลูกของพี่ยังไม่อยากให้เขากลับมาอยู่นราฯ เลย”
“ทำไมต้องมาทำที่สามจังหวัดนี่ด้วย?”
“น้องกลับไปสอนหนังสือที่กรุงเทพเหมือนเดิมเถอะ อย่ามาอีกเลย มันอันตราย ไม่กลัวหรืองัย?”
“ไม่เข้าใจ ทำไมพี่เห็นเขาโฆษณาว่าเรียนปริญญาเอกสองปี สามปีจบฟังดูแล้วท่าทางมันไม่เห็นต้องมาทำอะไรยากๆ เหมือนเรา (ผู้วิจัย) ทำเลย แล้วนี่ทำไมต้องมาทำอะไรเสี่ยงๆ อย่างนี้ล่ะ น่ากลัวก็น่ากลัวนะ มันไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว”
เฮ้ย เธอจะมาทำไมอีกว้า สถานการณ์ตอนนี้มันน่ากลัวมากขึ้นอีกแล้วนะ ช่วงนี้มันชักก่อเหตุในเมืองมากขึ้น บ่อยขึ้นนะ ชั้นเองยังเสียวๆ สันหลังเลยอยู่ที่นี่น่ะ ขนาดว่าคุ้นเคยและรู้ช่องทางหนีทีไล่พอสมควรแล้วนะ”
“มีคนกลุ่มนี้อยู่ด้วยหรือ?”  
“คาทอลิกน่ะเร๊อะ! มีกี่คน จะคุ้มมั้ยกับการจะไปศึกษาน่ะ กลัวว่าจะไม่มีเหลือให้ศึกษาจนจบน่ะซิ”
ฯลฯ
สารพัดคำถาม คำทัดทาน กระทั่งคำขู่กลายๆ ทั้งจากเพื่อน พ่อแม่พี่น้องคนรอบข้าง รวมตลอดไปถึงผู้ให้ข้อมูลในสนามวิจัยจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่วันแรกที่บอกกับใครๆ ว่าจะทำวิจัยเรื่องคาทอลิกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อจะค้นหาว่า “คนกลุ่มน้อย” ต่างศาสนากลุ่มนี้ “อยู่อย่างไร?” ในขณะที่ข่าวคราวความรุนแรงทางหน้าสื่อมวลชน (mass media) ทั้งไทยและเทศโหมกระพือความรุนแรงให้แพร่สะพัด และเขย่าขวัญผู้คนที่ได้รับรู้ผ่านสื่อต่างๆ เหล่านั้นให้ถูกเกาะกุมด้วย “ความกลัว” จนบางครั้งผู้เขียนเองก็ตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกันว่า “กลัว” หรือเปล่า?
แน่นอนว่าในฐานะนักเรียนปริญญาเอก ที่ขาข้างหนึ่งเคยก้าวเข้าไปในอาณาบริเวณของห้องเรียนมานุษยวิทยา  แม้จะช่วงสั้นๆ แต่ก็ตระหนักว่า การเก็บข้อมูลภาคสนามเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ รวมทั้งความรู้จากห้องเรียนมานุษยวิทยาที่บอกว่า นักมานุษยวิทยานั้นนอกจากจะเป็นผู้ตั้งคำถามเพื่อค้นหาคำตอบจากผู้ให้ข้อมูลในสนามแล้ว บ่อยครั้งที่นักมานุษยวิทยาก็ถูกกลุ้มรุมด้วยคำถามจากสนามด้วย ทั้งรู้มาก่อนแล้วเลาๆ แต่เมื่อเจอกับสารพัดคำถามเข้า บางครั้งผู้เขียนเองก็อึ้ง และต้องนั่งตรึกตรองเมื่อมีโอกาส
โดยเฉพาะเมื่อตั้งกลุ่มเป้าหมายในการศึกษาเป็นกลุ่มคนที่มีตัวตน มีวัฒนธรรม และวิถีชีวิตอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในฐานะที่ “คนกลุ่มน้อย” ทั้งทาง “จำนวน” และทางการนับถือ “ศาสนา” นั่นคือ กลุ่มคาทอลิกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และยังไม่ค่อยมีใครรับรู้ว่ามีคนกลุ่มนี้อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย ทั้งคนกลุ่มนี้ก็ดูเหมือนจะเก็บตัวเงียบๆ ไม่ประสงค์จะเผยตัวให้ใครรู้จักเท่าใดนัก
และถึงแม้ว่ากลุ่มเป้าหมายในการสัมภาษณ์ สังเกตการณ์และเข้าไปมีประสบการณ์ร่วมในการใช้ชีวิตประจำวันอันดับแรกของผู้เขียนคือ กลุ่มคาทอลิกซึ่งมีจำนวนน้อยนิดมากในพื้นที่ แต่ก็ไม่เคยละเลยที่จะสังเกต และวิ่งเข้าหาโอกาสที่จะได้พูดคุยกับคนไทยพุทธ คนมุสลิมในพื้นที่เสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ตลาดสด ร้านน้ำชากาแฟ หน้าโรงเรียน และพื้นที่สาธารณะอื่นๆ สุดแต่ว่า “โอกาส” จะมาถึงเมื่อใด ที่ไหนก็ตามผู้เขียนจะไม่ยอมติดกับดักของความกลัวเด็ดขาด  ตรงกันข้ามความกล้าบ้าบิ่นและความกลัวว่าจะไม่ได้ข้อมูลติดมือกลับมาเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกให้สำเร็จเป็นแรงผลักดันให้วิ่งผ่าม่านหมอกของความกลัวไปได้ทุกครั้ง 
อย่างไรก็ดี ท่ามกลาง “ความกลัว” ของใครๆ ก็ตามที่ได้ยินเรื่องราวของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้เขียนอดตั้งข้อสงสัยไม่ได้ว่า “ความกลัว” ที่เกิดขึ้นนั้นมันมี “การเมืองของความกลัว” (politics of fear) พรางกายอยู่ด้วยหรือไม่?  
ทั้งนี้ จากประสบการณ์ตรงของผู้เขียน เมื่อจะเดินทางไปอำเภอสุคีริน จ.นราธิวาสเมื่อต้นปี พ.ศ. 2552 แค่เอ่ยชื่อจังหวัดนราธิวาสเพื่อถามหาตั๋วเครื่องบินเท่านั้น พนักงานขายตั๋วก็ทำท่าทางตกใจกลัวขึ้นมาทันทีและย้อนถามผู้เขียนเพื่อความแน่ใจว่า “จะไปนราธิวาสจริงๆ หรือ?” ครั้นเมื่อเดินทางกลับมาจากการเก็บข้อมูลรอบดังกล่าว ผู้เขียนอาศัยรถแท็กซี่จากสนามบินสุวรรณภูมิให้มาส่งที่บ้าน คนขับรถแท็กซี่ถามผู้เขียนว่าเดินทางมาจากไหน พอตอบคำถามไปว่ามาจากนราธิวาส เขาก็แสดงท่าทางตกใจ จ้องมองผู้เขียนทางกระจกพร้อมๆ กับบอกว่า “น่ากลัว ไปทำไม เป็นคนนราธิวาสหรือเปล่า?”
ประสบการณ์ตรงที่ผู้เขียนรู้สึก “แย่” เห็นจะเป็น เมื่อปลายเดือนมีนาคม  พ.ศ. 2554  ที่ผ่านมา เมื่อผู้เขียนไปตลาดหน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อหาซื้อเสื้อผ้าใส่เพิ่มเติม เนื่องจากเสื้อผ้าที่นำไปไม่พอใช้  เหตุมาจากฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง ไม่เปิดโอกาสให้เสื้อผ้าที่ซักตากไว้ได้มีโอกาสแห้งทันใส่นั่นเอง
ที่ร้านขายเสื้อผ้าดังกล่าว เจ้าของร้านเป็นผู้หญิงไทยพุทธวัยประมาณ 40 ต้นๆ เห็นจะได้ ระหว่างที่ผู้เขียนเลือกเสื้อผ้า ผู้เขียนก็จะชวนคุยและซักถามเรื่องราวต่างๆ ไปด้วย เธอคงเห็นว่าผู้เขียนไม่ใช่คนแถวปัตตานีหรือใน 3 จังหวัดเป็นแน่ เธอจึงตั้งคำถามกลับว่า “มาจากไหน” พอผู้เขียนตอบกลับไปว่า “จากกรุงเทพฯ” เท่านั้นแหล่ะ เธอก็ระบายเรื่องราวให้ฟังเป็นชุดๆ เรื่องหนึ่งที่สะดุดใจผู้เขียนคือ “นอกจากความกลัวของคนอื่นๆ ที่มีต่อคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ยังมี “ความเกลียดชัง” ที่เจ้าของร้านเล่าให้ฟังว่า เธอมาซื้อเสื้อผ้าจากกรุงเทพฯ เพื่อนำมาขายที่ปัตตานี แม่ค้าที่ประตูน้ำถามเธอว่าจะเอาไปขายที่ไหน พอเธอตอบว่า จะเอาไปขายที่ปัตตานี เท่านั้นแหล่ะ แม่ค้าร้านที่เธอจะซื้อเสื้อผ้าก็บอกว่า “พวกตัวสร้างปัญหาให้ประเทศชาติ พวกก่อความเดือนร้อนวุ่นวายให้ประเทศ ดูซิงบประมาณแทนที่จะมาพัฒนาประเทศต้องไปทุ่มให้สามจังหวัด เพื่อแก้ปัญหาผู้ก่อการแบ่งแยกดินแดน อยู่เมืองไทยสบายๆ ไม่เอา ถ้าไม่อยากอยู่เมืองไทยก็ไปอยู่ที่อื่น”  (แม่ค้า 27 มีนาคม 2554)
เรื่องเล่าจากปากของแม่ค้าขายเสื้อผ้าจากปัตตานีคนเดิมอีกเรื่องหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นม่านความกลัวที่ปกคลุมไม่เพียงผู้คนที่อยู่ภายนอกสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูกติดป้ายว่าเป็นดินแดนแห่งความรุนแรงเท่านั้น  เธอเล่าว่า “ทุกวันนี้ พวกเด็กมุสลิมสาวๆ ในปัตตานีนี่ก็กลัวเหมือนกัน กลัวไม่ได้งาน เดี๋ยวนี้หลายคนพอเรียนจบจะไปสมัครงาน เขาจะมาซื้อเสื้อผ้าชุดทำงานที่ร้านพี่และร้านคนไทยพุทธอื่นๆ ซื้อกระโปรงสั้นๆ เลยนะ แล้วเวลาไปสมัครงานเขาก็จะถอดผ้าคลุมออก เพราะถ้าใส่ไปแล้วไม่ค่อยมีใครอยากจะรับเข้าทำงานหรอก แล้วพวกนี้เขาก็จะไปสมัครงานแถวๆ หาดใหญ่กันเยอะ เวลาไปสมัครงานเห็นเขาแต่งตัวแล้วต้องตกใจแหล่ะ นุ่งกระโปรงสั้นๆ (เน้นเสียง) แล้วก็ไม่คลุมผ้า บางทีคนที่พี่สนิทๆ กับเขาด้วย พี่ก็ถามเขาเหมือนกันว่าทำไมไม่คลุมผ้า แล้วนุ่งสั้นๆ อย่างนั้นมันผิดไม่ใช่เหรอ แต่เขาบอกว่า ถ้าไม่แต่งตัวอย่างนี้ก็ไม่ได้งานหรอก ใครๆ เขาก็กลัวมุสลิม กลัวคนในสามจังหวัดนี่กันทั้งนั้น เด็กๆ เขาบอกมาอย่างนั้นน่ะ พี่ก็เออเข้าใจ เพราะเวลาเขามาซื้อผ้าที่ร้านพี่ เขาจะถามหากระโปรงแบบสั้นมากๆ จนพี่ก็อดถามไม่ได้น่ะ”
“ความกลัว” ที่แม้แต่ชื่อของจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งในสามที่เอ่ยเอื้อนขึ้นมาครา ก็ทำเองขวัญและกำลังใจของผู้ฟังต้องสั่นสะเทือนด้วยแทบทุกผู้คนนั้น ใครสร้างขึ้นมา และมันดำรงอยู่อย่างไร ทั้งยังน่าสงสัยอีกว่า ผลที่เกิดจากการสร้างความกลัวนั้น นอกจากทางจิตวิทยาแล้ว ผลในทางการเมืองด้านอื่นๆ มีหรือไม่ อย่างไร เพราะความในใจของแม่ค้าขายเสื้อผ้าที่บ่งบอกว่า “ความกลัว” นำไปสู่อย่างน้อยก็ “ความเกลียดชัง” ทั้งๆ ที่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน อย่าว่าจะสร้างความขัดแย้งต่อกัน กรณีของแม่ค้าเสื้อผ้าจากปัตตานีรายนี้เธอเป็นผู้แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับแม่ค้าที่ประตูน้ำด้วยซ้ำไป และเรื่องเล่าเรื่องที่สองสะท้อนให้เห็นอีกมุมหนึ่งของ “ความกลัว” ในลักษณะที่มันมีอำนาจ และมีผลก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้สามารถดำรงอยู่ได้ โดยเฉพาะการยอมสละทิ้งอัตลักษณ์ของหญิงมุสลิม ที่พวกเธอต้องยอมละเมิดต่อกฎเกณฑ์ข้อบังคับทางศาสนาบางอย่างเป็นการชั่วคราวเพื่อนายจ้างจะได้ไม่ “กลัว” พวกเธอ และจะรับพวกเธอเข้าทำงาน

การเมืองของความกลัว (Politics of Fear)
เมื่อกล่าวถึง “ความกลัว” Frank Furedi บอกว่า “ความกลัว” มีอิทธิพลครอบงำชี้นำชีวิตทางสังคมของผู้คนได้ และการเมืองของความกลัวเป็นอาการของโรคชนิดหนึ่งที่บ่งบอกลักษณะของความอ่อนแอและหลบลี้หนีออกจากชีวิตทางสังคมการเมือง (Frank Furedi, 2005)
David L. Altheide (2006) เขียน “Terrorism and the Politics of Fear” เอาไว้โดยเฉพาะในประเด็นที่เขาตั้งคำถามว่า “ความกลัว” ถูกประกอบสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือ เป็นเงื่อนไขของบรรดาผู้นำทางการเมืองในการสร้างความชอบธรรมในการออกกฎเกณฑ์ มาตรการ หรือนโยบายต่างๆ เพื่อควบคุมสังคม ความเป็นอยู่ของผู้คนพลเมือง และวัฒนธรรม  โดยที่ผู้คนในสังคมยินยอมที่จะตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ต่างๆ เหล่านั้นเพื่อเหตุผล ความมั่นคงปลอดภัยของสังคมประเทศชาติโดยผ่านช่องทางสื่อสาธารณะต่างๆ   
ผู้เขียนอดคิดไม่ได้ว่า “การเมืองของความกลัว” กำลังทำงานอยู่ในสังคมไทยโดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่  หากจะสังเกตปรากฎการณ์ของ “เรื่องราว” ความน่ากลัวของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่แพร่กระจายดาดดื่นในพื้นที่สาธารณะต่างๆ ทั้งจากภาพข่าว จากเรื่องเล่าในนิยายและเรื่องสั้นที่ปรากฎตัวอยู่มากมายบนแผงหนังสือ ไม่รวมงานเขียนเชิงวิชาการ และงานเขียนในรูปแบบอื่นๆ อีกหลากชนิดในห้วงเวลาตั้งแต่หลังปี พ.ศ. 2547  เป็นต้นมา
และเพราะสิ่งเหล่านี้ด้วยหรือไม่ที่ทำให้ “สถานการณ์ความรุนแรง” ในพื้นที่ยังคงได้รับการหล่อเลี้ยงให้ดำรงอยู่เพื่อสร้างความกลัว เพื่อสร้างเงื่อนไขอื่นๆ อันเป็นผลพวงของความกลัวด้วยหรือไม่ เราจะก้าวข้ามอำนาจของความกลัวนี้ไปได้อย่างไร และหากยังไม่มีใครกล้าที่จะก้าวข้าม “ความกลัว” เพื่อค้นหาสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงและแก้ไขให้ถูกทางอย่างกล้าหาญ แม้งานเขียนสั้นๆ ฉบับนี้จะยังไม่สามารถวิเคราะห์ “การเมืองของความกลัว”  ทำได้แค่เพียง “จั่วหัว” ไว้ แต่ผู้เขียนก็ตั้งใจว่าจะพยายามค้นหาสิ่งที่เรียกว่า “การเมืองของความกลัว” ต่อไป ด้วยผู้เขียนเชื่อว่า สิ่งนี้อาจมีผลต่อการดำรงอยู่ของสถานการณ์ความรุนแรง และรวมไปถึงการดำรงอยู่ของผู้คนทั้งที่เป็นคนกลุ่มน้อยนิด และคนกลุ่มอื่นๆ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งก็เป็นได้
และก่อนที่จะหาคำตอบให้ตัวเองว่า “กลัวหรือไม่” ผู้เขียนก็ตะลุยผ่าม่านหมอกความกลัวของใครๆ ลงพื้นที่ไปทั้ง 3 จังหวัดเรียบร้อยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552-2553 และบางพื้นที่ก็ไปซ้ำเป็นรอบที่สอง รอบที่สาม หรือรอบที่สี่เสียแล้ว และพบว่ายังมีมุมที่ได้พบกับความสนุกสนานและความสุขทุกครั้งกับการได้ลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูล สัมภาษณ์ และสังเกตชีวิตของผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ว่าความรู้สึกส่วนมากของผู้เขียนในการทำงานภาคสนามจะเป็น “ความทุกข์ใจ”มากกว่ากับความคับข้องใจว่า “จะทำอย่างไรถึงจะค้นหา “คำตอบ” จากสนามวิจัยให้ได้เร็ว และครบถ้วนมากที่สุดจนลืมไปว่าผู้เขียนเองมี “ความกลัว” 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในหัวใจด้วยหรือเปล่า


“ไม่กลัวเหรอ? อยู่ยันกรุงเทพฯ ยังมาถึงที่นี่อีก ไม่มีใครเขามากันแล้ว”
“เปลี่ยนเรื่องทำได้มั้ย หรือไม่ก็ไปทำที่อื่น เก็บข้อมูลที่อื่น เหนือ อีสาน อะไรโน่น จะมาเสี่ยงทำไมที่นี่? ลูกของพี่ยังไม่อยากให้เขากลับมาอยู่นราฯ เลย”
“ทำไมต้องมาทำที่สามจังหวัดนี่ด้วย?”
“น้องกลับไปสอนหนังสือที่กรุงเทพเหมือนเดิมเถอะ อย่ามาอีกเลย มันอันตราย ไม่กลัวหรืองัย?”
“ไม่เข้าใจ ทำไมพี่เห็นเขาโฆษณาว่าเรียนปริญญาเอกสองปี สามปีจบฟังดูแล้วท่าทางมันไม่เห็นต้องมาทำอะไรยากๆ เหมือนเรา (ผู้วิจัย) ทำเลย แล้วนี่ทำไมต้องมาทำอะไรเสี่ยงๆ อย่างนี้ล่ะ น่ากลัวก็น่ากลัวนะ มันไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว”
เฮ้ย เธอจะมาทำไมอีกว้า สถานการณ์ตอนนี้มันน่ากลัวมากขึ้นอีกแล้วนะ ช่วงนี้มันชักก่อเหตุในเมืองมากขึ้น บ่อยขึ้นนะ ชั้นเองยังเสียวๆ สันหลังเลยอยู่ที่นี่น่ะ ขนาดว่าคุ้นเคยและรู้ช่องทางหนีทีไล่พอสมควรแล้วนะ”
“มีคนกลุ่มนี้อยู่ด้วยหรือ?”  
“คาทอลิกน่ะเร๊อะ! มีกี่คน จะคุ้มมั้ยกับการจะไปศึกษาน่ะ กลัวว่าจะไม่มีเหลือให้ศึกษาจนจบน่ะซิ”
ฯลฯ
สารพัดคำถาม คำทัดทาน กระทั่งคำขู่กลายๆ ทั้งจากเพื่อน พ่อแม่พี่น้องคนรอบข้าง รวมตลอดไปถึงผู้ให้ข้อมูลในสนามวิจัยจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่วันแรกที่บอกกับใครๆ ว่าจะทำวิจัยเรื่องคาทอลิกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อจะค้นหาว่า “คนกลุ่มน้อย” ต่างศาสนากลุ่มนี้ “อยู่อย่างไร?” ในขณะที่ข่าวคราวความรุนแรงทางหน้าสื่อมวลชน (mass media) ทั้งไทยและเทศโหมกระพือความรุนแรงให้แพร่สะพัด และเขย่าขวัญผู้คนที่ได้รับรู้ผ่านสื่อต่างๆ เหล่านั้นให้ถูกเกาะกุมด้วย “ความกลัว” จนบางครั้งผู้เขียนเองก็ตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกันว่า “กลัว” หรือเปล่า?
แน่นอนว่าในฐานะนักเรียนปริญญาเอก ที่ขาข้างหนึ่งเคยก้าวเข้าไปในอาณาบริเวณของห้องเรียนมานุษยวิทยา  แม้จะช่วงสั้นๆ แต่ก็ตระหนักว่า การเก็บข้อมูลภาคสนามเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ รวมทั้งความรู้จากห้องเรียนมานุษยวิทยาที่บอกว่า นักมานุษยวิทยานั้นนอกจากจะเป็นผู้ตั้งคำถามเพื่อค้นหาคำตอบจากผู้ให้ข้อมูลในสนามแล้ว บ่อยครั้งที่นักมานุษยวิทยาก็ถูกกลุ้มรุมด้วยคำถามจากสนามด้วย ทั้งรู้มาก่อนแล้วเลาๆ แต่เมื่อเจอกับสารพัดคำถามเข้า บางครั้งผู้เขียนเองก็อึ้ง และต้องนั่งตรึกตรองเมื่อมีโอกาส
โดยเฉพาะเมื่อตั้งกลุ่มเป้าหมายในการศึกษาเป็นกลุ่มคนที่มีตัวตน มีวัฒนธรรม และวิถีชีวิตอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในฐานะที่ “คนกลุ่มน้อย” ทั้งทาง “จำนวน” และทางการนับถือ “ศาสนา” นั่นคือ กลุ่มคาทอลิกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และยังไม่ค่อยมีใครรับรู้ว่ามีคนกลุ่มนี้อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย ทั้งคนกลุ่มนี้ก็ดูเหมือนจะเก็บตัวเงียบๆ ไม่ประสงค์จะเผยตัวให้ใครรู้จักเท่าใดนัก
และถึงแม้ว่ากลุ่มเป้าหมายในการสัมภาษณ์ สังเกตการณ์และเข้าไปมีประสบการณ์ร่วมในการใช้ชีวิตประจำวันอันดับแรกของผู้เขียนคือ กลุ่มคาทอลิกซึ่งมีจำนวนน้อยนิดมากในพื้นที่ แต่ก็ไม่เคยละเลยที่จะสังเกต และวิ่งเข้าหาโอกาสที่จะได้พูดคุยกับคนไทยพุทธ คนมุสลิมในพื้นที่เสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ตลาดสด ร้านน้ำชากาแฟ หน้าโรงเรียน และพื้นที่สาธารณะอื่นๆ สุดแต่ว่า “โอกาส” จะมาถึงเมื่อใด ที่ไหนก็ตามผู้เขียนจะไม่ยอมติดกับดักของความกลัวเด็ดขาด  ตรงกันข้ามความกล้าบ้าบิ่นและความกลัวว่าจะไม่ได้ข้อมูลติดมือกลับมาเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกให้สำเร็จเป็นแรงผลักดันให้วิ่งผ่าม่านหมอกของความกลัวไปได้ทุกครั้ง 
อย่างไรก็ดี ท่ามกลาง “ความกลัว” ของใครๆ ก็ตามที่ได้ยินเรื่องราวของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้เขียนอดตั้งข้อสงสัยไม่ได้ว่า “ความกลัว” ที่เกิดขึ้นนั้นมันมี “การเมืองของความกลัว” (politics of fear) พรางกายอยู่ด้วยหรือไม่?  
ทั้งนี้ จากประสบการณ์ตรงของผู้เขียน เมื่อจะเดินทางไปอำเภอสุคีริน จ.นราธิวาสเมื่อต้นปี พ.ศ. 2552 แค่เอ่ยชื่อจังหวัดนราธิวาสเพื่อถามหาตั๋วเครื่องบินเท่านั้น พนักงานขายตั๋วก็ทำท่าทางตกใจกลัวขึ้นมาทันทีและย้อนถามผู้เขียนเพื่อความแน่ใจว่า “จะไปนราธิวาสจริงๆ หรือ?” ครั้นเมื่อเดินทางกลับมาจากการเก็บข้อมูลรอบดังกล่าว ผู้เขียนอาศัยรถแท็กซี่จากสนามบินสุวรรณภูมิให้มาส่งที่บ้าน คนขับรถแท็กซี่ถามผู้เขียนว่าเดินทางมาจากไหน พอตอบคำถามไปว่ามาจากนราธิวาส เขาก็แสดงท่าทางตกใจ จ้องมองผู้เขียนทางกระจกพร้อมๆ กับบอกว่า “น่ากลัว ไปทำไม เป็นคนนราธิวาสหรือเปล่า?”
ประสบการณ์ตรงที่ผู้เขียนรู้สึก “แย่” เห็นจะเป็น เมื่อปลายเดือนมีนาคม  พ.ศ. 2554  ที่ผ่านมา เมื่อผู้เขียนไปตลาดหน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อหาซื้อเสื้อผ้าใส่เพิ่มเติม เนื่องจากเสื้อผ้าที่นำไปไม่พอใช้  เหตุมาจากฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง ไม่เปิดโอกาสให้เสื้อผ้าที่ซักตากไว้ได้มีโอกาสแห้งทันใส่นั่นเอง
ที่ร้านขายเสื้อผ้าดังกล่าว เจ้าของร้านเป็นผู้หญิงไทยพุทธวัยประมาณ 40 ต้นๆ เห็นจะได้ ระหว่างที่ผู้เขียนเลือกเสื้อผ้า ผู้เขียนก็จะชวนคุยและซักถามเรื่องราวต่างๆ ไปด้วย เธอคงเห็นว่าผู้เขียนไม่ใช่คนแถวปัตตานีหรือใน 3 จังหวัดเป็นแน่ เธอจึงตั้งคำถามกลับว่า “มาจากไหน” พอผู้เขียนตอบกลับไปว่า “จากกรุงเทพฯ” เท่านั้นแหล่ะ เธอก็ระบายเรื่องราวให้ฟังเป็นชุดๆ เรื่องหนึ่งที่สะดุดใจผู้เขียนคือ “นอกจากความกลัวของคนอื่นๆ ที่มีต่อคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ยังมี “ความเกลียดชัง” ที่เจ้าของร้านเล่าให้ฟังว่า เธอมาซื้อเสื้อผ้าจากกรุงเทพฯ เพื่อนำมาขายที่ปัตตานี แม่ค้าที่ประตูน้ำถามเธอว่าจะเอาไปขายที่ไหน พอเธอตอบว่า จะเอาไปขายที่ปัตตานี เท่านั้นแหล่ะ แม่ค้าร้านที่เธอจะซื้อเสื้อผ้าก็บอกว่า “พวกตัวสร้างปัญหาให้ประเทศชาติ พวกก่อความเดือนร้อนวุ่นวายให้ประเทศ ดูซิงบประมาณแทนที่จะมาพัฒนาประเทศต้องไปทุ่มให้สามจังหวัด เพื่อแก้ปัญหาผู้ก่อการแบ่งแยกดินแดน อยู่เมืองไทยสบายๆ ไม่เอา ถ้าไม่อยากอยู่เมืองไทยก็ไปอยู่ที่อื่น”  (แม่ค้า 27 มีนาคม 2554)
เรื่องเล่าจากปากของแม่ค้าขายเสื้อผ้าจากปัตตานีคนเดิมอีกเรื่องหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นม่านความกลัวที่ปกคลุมไม่เพียงผู้คนที่อยู่ภายนอกสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูกติดป้ายว่าเป็นดินแดนแห่งความรุนแรงเท่านั้น  เธอเล่าว่า “ทุกวันนี้ พวกเด็กมุสลิมสาวๆ ในปัตตานีนี่ก็กลัวเหมือนกัน กลัวไม่ได้งาน เดี๋ยวนี้หลายคนพอเรียนจบจะไปสมัครงาน เขาจะมาซื้อเสื้อผ้าชุดทำงานที่ร้านพี่และร้านคนไทยพุทธอื่นๆ ซื้อกระโปรงสั้นๆ เลยนะ แล้วเวลาไปสมัครงานเขาก็จะถอดผ้าคลุมออก เพราะถ้าใส่ไปแล้วไม่ค่อยมีใครอยากจะรับเข้าทำงานหรอก แล้วพวกนี้เขาก็จะไปสมัครงานแถวๆ หาดใหญ่กันเยอะ เวลาไปสมัครงานเห็นเขาแต่งตัวแล้วต้องตกใจแหล่ะ นุ่งกระโปรงสั้นๆ (เน้นเสียง) แล้วก็ไม่คลุมผ้า บางทีคนที่พี่สนิทๆ กับเขาด้วย พี่ก็ถามเขาเหมือนกันว่าทำไมไม่คลุมผ้า แล้วนุ่งสั้นๆ อย่างนั้นมันผิดไม่ใช่เหรอ แต่เขาบอกว่า ถ้าไม่แต่งตัวอย่างนี้ก็ไม่ได้งานหรอก ใครๆ เขาก็กลัวมุสลิม กลัวคนในสามจังหวัดนี่กันทั้งนั้น เด็กๆ เขาบอกมาอย่างนั้นน่ะ พี่ก็เออเข้าใจ เพราะเวลาเขามาซื้อผ้าที่ร้านพี่ เขาจะถามหากระโปรงแบบสั้นมากๆ จนพี่ก็อดถามไม่ได้น่ะ”
“ความกลัว” ที่แม้แต่ชื่อของจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งในสามที่เอ่ยเอื้อนขึ้นมาครา ก็ทำเองขวัญและกำลังใจของผู้ฟังต้องสั่นสะเทือนด้วยแทบทุกผู้คนนั้น ใครสร้างขึ้นมา และมันดำรงอยู่อย่างไร ทั้งยังน่าสงสัยอีกว่า ผลที่เกิดจากการสร้างความกลัวนั้น นอกจากทางจิตวิทยาแล้ว ผลในทางการเมืองด้านอื่นๆ มีหรือไม่ อย่างไร เพราะความในใจของแม่ค้าขายเสื้อผ้าที่บ่งบอกว่า “ความกลัว” นำไปสู่อย่างน้อยก็ “ความเกลียดชัง” ทั้งๆ ที่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน อย่าว่าจะสร้างความขัดแย้งต่อกัน กรณีของแม่ค้าเสื้อผ้าจากปัตตานีรายนี้เธอเป็นผู้แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับแม่ค้าที่ประตูน้ำด้วยซ้ำไป และเรื่องเล่าเรื่องที่สองสะท้อนให้เห็นอีกมุมหนึ่งของ “ความกลัว” ในลักษณะที่มันมีอำนาจ และมีผลก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้สามารถดำรงอยู่ได้ โดยเฉพาะการยอมสละทิ้งอัตลักษณ์ของหญิงมุสลิม ที่พวกเธอต้องยอมละเมิดต่อกฎเกณฑ์ข้อบังคับทางศาสนาบางอย่างเป็นการชั่วคราวเพื่อนายจ้างจะได้ไม่ “กลัว” พวกเธอ และจะรับพวกเธอเข้าทำงาน

การเมืองของความกลัว (Politics of Fear)
เมื่อกล่าวถึง “ความกลัว” Frank Furedi บอกว่า “ความกลัว” มีอิทธิพลครอบงำชี้นำชีวิตทางสังคมของผู้คนได้ และการเมืองของความกลัวเป็นอาการของโรคชนิดหนึ่งที่บ่งบอกลักษณะของความอ่อนแอและหลบลี้หนีออกจากชีวิตทางสังคมการเมือง (Frank Furedi, 2005)
David L. Altheide (2006) เขียน “Terrorism and the Politics of Fear” เอาไว้โดยเฉพาะในประเด็นที่เขาตั้งคำถามว่า “ความกลัว” ถูกประกอบสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือ เป็นเงื่อนไขของบรรดาผู้นำทางการเมืองในการสร้างความชอบธรรมในการออกกฎเกณฑ์ มาตรการ หรือนโยบายต่างๆ เพื่อควบคุมสังคม ความเป็นอยู่ของผู้คนพลเมือง และวัฒนธรรม  โดยที่ผู้คนในสังคมยินยอมที่จะตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ต่างๆ เหล่านั้นเพื่อเหตุผล ความมั่นคงปลอดภัยของสังคมประเทศชาติโดยผ่านช่องทางสื่อสาธารณะต่างๆ   
ผู้เขียนอดคิดไม่ได้ว่า “การเมืองของความกลัว” กำลังทำงานอยู่ในสังคมไทยโดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่  หากจะสังเกตปรากฎการณ์ของ “เรื่องราว” ความน่ากลัวของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่แพร่กระจายดาดดื่นในพื้นที่สาธารณะต่างๆ ทั้งจากภาพข่าว จากเรื่องเล่าในนิยายและเรื่องสั้นที่ปรากฎตัวอยู่มากมายบนแผงหนังสือ ไม่รวมงานเขียนเชิงวิชาการ และงานเขียนในรูปแบบอื่นๆ อีกหลากชนิดในห้วงเวลาตั้งแต่หลังปี พ.ศ. 2547  เป็นต้นมา
และเพราะสิ่งเหล่านี้ด้วยหรือไม่ที่ทำให้ “สถานการณ์ความรุนแรง” ในพื้นที่ยังคงได้รับการหล่อเลี้ยงให้ดำรงอยู่เพื่อสร้างความกลัว เพื่อสร้างเงื่อนไขอื่นๆ อันเป็นผลพวงของความกลัวด้วยหรือไม่ เราจะก้าวข้ามอำนาจของความกลัวนี้ไปได้อย่างไร และหากยังไม่มีใครกล้าที่จะก้าวข้าม “ความกลัว” เพื่อค้นหาสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงและแก้ไขให้ถูกทางอย่างกล้าหาญ แม้งานเขียนสั้นๆ ฉบับนี้จะยังไม่สามารถวิเคราะห์ “การเมืองของความกลัว”  ทำได้แค่เพียง “จั่วหัว” ไว้ แต่ผู้เขียนก็ตั้งใจว่าจะพยายามค้นหาสิ่งที่เรียกว่า “การเมืองของความกลัว” ต่อไป ด้วยผู้เขียนเชื่อว่า สิ่งนี้อาจมีผลต่อการดำรงอยู่ของสถานการณ์ความรุนแรง และรวมไปถึงการดำรงอยู่ของผู้คนทั้งที่เป็นคนกลุ่มน้อยนิด และคนกลุ่มอื่นๆ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งก็เป็นได้
และก่อนที่จะหาคำตอบให้ตัวเองว่า “กลัวหรือไม่” ผู้เขียนก็ตะลุยผ่าม่านหมอกความกลัวของใครๆ ลงพื้นที่ไปทั้ง 3 จังหวัดเรียบร้อยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552-2553 และบางพื้นที่ก็ไปซ้ำเป็นรอบที่สอง รอบที่สาม หรือรอบที่สี่เสียแล้ว และพบว่ายังมีมุมที่ได้พบกับความสนุกสนานและความสุขทุกครั้งกับการได้ลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูล สัมภาษณ์ และสังเกตชีวิตของผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ว่าความรู้สึกส่วนมากของผู้เขียนในการทำงานภาคสนามจะเป็น “ความทุกข์ใจ”มากกว่ากับความคับข้องใจว่า “จะทำอย่างไรถึงจะค้นหา “คำตอบ” จากสนามวิจัยให้ได้เร็ว และครบถ้วนมากที่สุดจนลืมไปว่าผู้เขียนเองมี “ความกลัว” 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในหัวใจด้วยหรือเปล่า

การอ้างอิง
[1] นักศึกษาปริญญาเอกโครงการสหวิทยาการ (Ph.D Candidate) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. แม้ว่างานเขียนฉบับนี้จะมาจากส่วนหนึ่งของประสบการณ์การทำงานภาคสนามของผู้เขียนเพื่อประกอบการเขียนวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอกของผู้เขียนภายใต้การให้คำแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก คือ ศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วมคือ อาจารย์ ดร.สายพิณ ศุพุทธมงคล  ซึ่งผู้เขียนขอบพระคุณทั้งสองท่านสำหรับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในเชิงวิชาการ  อย่างไรก็ดีงานเขียนชิ้นนี้เป็นประสบการณ์ตรงของผู้เขียนในภาคสนามซึ่งเพียงทดลองเล่าสู่กันฟัง ดังนั้น ความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นจากงานเขียนฉบับนี้อันเนื่องมาจากความผิดพลาดในขนบของการทำงานวิจัยภาคสนาม การวิเคราะห์ หรืออื่นใดก็ตามล้วนเป็นความผิดพลาดของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น
[2] Frank Furedi.(2005). Politics of Fear : Beyond Left and Right. London:Continuum International Publishing Group. Foreword 1-2, p.123-142.
[3] David L. Altheide (2006). Terrorism and the Politics of Fear.  UK: AltaMaria Press.
การอ้างอิง
[1] นักศึกษาปริญญาเอกโครงการสหวิทยาการ (Ph.D Candidate) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. แม้ว่างานเขียนฉบับนี้จะมาจากส่วนหนึ่งของประสบการณ์การทำงานภาคสนามของผู้เขียนเพื่อประกอบการเขียนวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอกของผู้เขียนภายใต้การให้คำแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก คือ ศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วมคือ อาจารย์ ดร.สายพิณ ศุพุทธมงคล  ซึ่งผู้เขียนขอบพระคุณทั้งสองท่านสำหรับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในเชิงวิชาการ  อย่างไรก็ดีงานเขียนชิ้นนี้เป็นประสบการณ์ตรงของผู้เขียนในภาคสนามซึ่งเพียงทดลองเล่าสู่กันฟัง ดังนั้น ความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นจากงานเขียนฉบับนี้อันเนื่องมาจากความผิดพลาดในขนบของการทำงานวิจัยภาคสนาม การวิเคราะห์ หรืออื่นใดก็ตามล้วนเป็นความผิดพลาดของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น
[2] Frank Furedi.(2005). Politics of Fear : Beyond Left and Right. London:Continuum International Publishing Group. Foreword 1-2, p.123-142.

[3] David L. Altheide (2006). Terrorism and the Politics of Fear.