วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

แนวคิดเรื่องวิญญาณในปรัชญาของอริสโตเติล



กนกวรรณ สุทธิพร

บทความชิ้นนี้เป็นบทความนำเสนอธรรมชาติเกี่ยวกับวิญญาณของมนุษย์ในปรัชญาของอริสโตเติล อริสโตเติล ให้ความหมายของคำว่าวิญญาณ” (Soul) ไว้ 2 ประการ คือ (1) หมายถึง สิ่งที่ขาดไม่ได้ของสิ่งมีชีวิต (2) หมายถึง ภาวะจริงของร่างกาย หรือ สารัตถะของบางอย่างที่มีภาวะแฝง(being) ที่มีจิต กล่าวโดยทั่วไป วิญญาณตามนัยของอริสโตเติล หมายถึง หลักการแห่งชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย (Life Principle or principle of animal life) จัดเป็นแบบของชีวิต เป็นธรรมชาติที่มีอำนาจในการควบคุมบงการร่างกาย วิญญาณกับร่างกายเป็นเอกภาพที่ไม่พรากจากกัน ทั้งสองอย่างรวมกันเรียกว่าชีวิตซึ่งหมายถึง ความสามารถในการรับอาหาร เจริญเติบโต และเสื่อมสลายไป(Hippocrates G.Apostle Lloyd P.Gerson,1982,pp.259-261)

หน้าที่และประเภทของวิญญาณ
วิญญาณของมนุษย์ มีหน้าที่ 3 ประการด้วยกัน คือ
(1) หล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ให้คงอยู่จนกว่าจะสิ้นอายุขัย เรียกว่า อาหารวิญญาณ (Nutritive Soul)
(2) รับรู้สิ่งต่าง ๆ ด้วยผัสสะทั้ง 5 เรียกว่า ผัสสวิญญาณ (Sensitive Soul)
(3) คิดอย่างมีเหตุผล เรียกว่า พุทธิวิญญาณ (Rational Soul)
หน้าที่ทั้ง 3 ประการนี้ เท่ากับเป็นการแบ่งประเภทของวิญญาณไปในตัวเพราะ Nutritive Soul เป็นวิญญาณของพืช และ Sensitive Soul เป็นวิญญาณของสัตว์เดรัจฉาน ส่วนมนุษย์มีวิญญาณทั้ง 3 ประเภทอยู่ในชีวิต แต่ Rational Soul เท่านั้น ที่จัดเป็นวิญญาณของมนุษย์อย่างแท้จริง เพราะวิญญาณของมนุษย์สามารถคิดอย่างมีเหตุผลด้วยพุทธิปัญญา(Nous) อริสโตเติลจึงจัดวิญญาณของมนุษย์ให้อยู่ในระดับที่มีพัฒนาการสูงสุดในบรรดาสิ่งมีชีวิตด้วยกันและเรียกวิญญาณในระดับนี้ว่าพุทธิวิญญาณ”(Rational Soul) นอกจากการแบ่งวิญญาณเป็น 3 ประเภทแล้ว อริสโตเติลยังแบ่งวิญญาณของมนุษย์ออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่มีเหตุผล(rational part) และส่วนที่ไร้เหตุผล (irrational part) โดยจัด Nutritive Soul และ Sensitive Soul เป็นส่วนที่ไร้เหตุผล และจัด Rational Soul เป็นส่วนที่มีเหตุผล วิญญาณทั้ง 2 ส่วนของมนุษย์อาจเขียนเป็นโครงสร้างได้ดังนี้


พุทธิวิญญาณ
(Rational)

ผัสสวิญญาณ
(Sensitive Soul)

อาหารวิญญาณ
(Nutritive Soul)


ส่วนที่มีเหตุผล           
วิญญาณของมนุษย์

ส่วนที่ไร้เหตุผล         
วิญญาณของสัตว์เดรัจฉาน                     

ส่วนที่ไร้เหตุผล         
วิญญาณพืช

ในทัศนะของอริสโตเติลวิญญาณของมนุษย์ (พุทธิวิญญาณ) ไม่สามารถแบ่งแยกเป็นส่วนย่อยได้ เป็นแบบที่สมบูรณ์ในตัวเอง มนุษย์แต่ละคนมีเพียงวิญญาณเดียวเท่านั้น ส่วนจิต(Mind)เป็นเพียงสมรรถภาพ(faculty)อย่างหนึ่งของวิญญาณ(Hippocrates G.Apostle Lloyd P.Gerson,1982,pp.281-282)

สมรรถภาพของวิญญาณ
อริสโตเติลเรียกธรรมชาติภายในวิญญาณของมนุษย์ว่า ความสำนึก(consciousness) และเรียกระดับชั้นต่างๆ ของความสำนึกว่า สมรรถภาพ(faculties) สมรรถภาพแห่งวิญญาณของมนุษย์ มีระดับชั้นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
(1)การรับรู้ทางประสาทสัมผัส (Sense – perception) วิญญาณที่เป็นแบบของมนุษย์ ทำให้มนุษย์มีความสามารถในการรับรู้โลกโดยผ่านกายทวาร 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น และผิวกาย ซึ่งทวาร 5 นี้ รับรู้อารมณ์เฉพาะของตนเอง เช่น ตารับได้เฉพาะภาพเท่านั้น ไม่สามารถได้ยินเสียงแทนหูได้ ฯลฯ อริสโตเติลเชื่อว่า คนเราสามารถมองเห็น, ได้ยิน, ได้กลิ่น, รู้รสและรู้สิ่งที่มา กระทบผิวกาย เพราะความสามารถของวิญญาณ
(2)สามัญสำนึก หรือ ผัสสะร่วม(Common sense) หมายถึง จุดรวมของความรู้สึก หรือ การรับรู้ร่วมกันของประสาทสัมผัสทั้ง 5 เช่น ขณะที่เรานั่งรถที่กำลังเคลื่อนที่ เรารู้ว่ารถเคลื่อนที่ได้ด้วยตาและผิวกาย ฯลฯ สามัญสำนึกเป็นที่ที่ความรู้สึกแต่ละอย่างมาพบกัน มารวมกัน และจัดตัวเข้าเป็นประสบการณ์หน่วยหนึ่ง สามัญสำนึกทำหน้าที่เปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างกัน ทำหน้าที่เปลี่ยนสิ่งที่ผสมปนเปกันอย่างยุ่งเหยิงของปรากฏการณ์ให้เป็นประสบการณ์ที่จำกัดและกลมกลืนกัน สภาวะที่เป็นเกณฑ์บอกว่าเป็นผัสสะร่วม ได้แก่ การเคลื่อนที่, การหยุดนิ่ง,รูปทรง,ขนาด และจำนวน ศูนย์กลางที่คอยทำหน้าที่ควบคุมและประสานงานจนเกิดผัสสะร่วม คือ หัวใจ อริสโตเติลเชื่อว่า สามัญสำนึกอยู่ที่หัวใจซึ่งเป็นที่ตั้งของจิตวิญญาณ อาศัยตา หู จมูก ลิ้นและผิวกายเป็นพื้นฐาน ผัสสะร่วมนี้ทำให้มนุษย์สามารถรับรู้,จำได้,จินตนาการได้,สามารถลำดับภาพได้, ทำให้รู้สึกพอใจอยากได้หรือทุกข์ใจและเกลียดชัง(กีรติ บุญเจือ,2528,หน้า 77)
(3)สมรรถภาพทางจินตนาการ (Faculty of imagination) หมายถึง อำนาจที่ทุกคนมีอยู่ในการสร้างจินตภาพ ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานภายในอวัยวะที่ยังรับสัมผัสที่คงมีอยู่ต่อไป หลังจากที่วัตถุหยุดกระทำต่อประสาทสัมผัสนั้นแล้ว อริสโตเติลไม่ได้หมายถึง จินตนาการการสร้างสรรค์ของศิลปิน 
(4)ความทรงจำ (Memory) สมรรถภาพในระดับนี้เป็นสิ่งเดียวกันกับจินตนาการ แต่ความทรงจำเป็นจินตนาการที่รู้ว่าภาพแห่งจินตนาการนั้นเป็นสิ่งลอกแบบของความรู้สึกทางผัสสะในอดีต
(5)การระลึกได้ (Recollection) หมายถึง ความสามารถในการปลุกความทรงจำให้กลับคืนมาได้ ซึ่งปกติความทรงจำจะล่องลอยไปในจิตอย่างไร้จุดหมาย
(6)ความสามารถระดับเหตุผลหรือปัญญา (Faculty of reason) สมรรถภาพในระดับนี้ถือว่าเป็นสมรรถภาพพิเศษของมนุษย์ (Specifically human faculty) เหตุผลหรือปัญญาของมนุษย์เป็นภาวะที่ทำให้มนุษย์รู้สิ่งต่างๆ ตามลำดับ คือ รู้สิ่งสากล (มโนภาพ), รู้ข้อตัดสิน, รู้ข้ออ้างเหตุผล และสามารถรู้ด้วยอัชฌัตติกญาณ[i] ได้ด้วยเมื่อไม่ได้อาศัยร่างกายแล้ว  เหตุผลหรือปัญญาของมนุษย์แบ่งออกเป็น 2 ระดับคือ(1) เหตุผลหลับ (Passive reason) ได้แก่ ความสามารถแฝงของจิต กล่าวคือ จิตมีอำนาจในการคิดก่อนที่จะคิดจริง ๆ อุปมาเหมือนแผ่นขี้ผึ้งเรียบๆ ที่สามารถรับการเขียนได้ แต่ยังไม่ถูกเขียน (2) เหตุผลตื่น (Active reason) ได้แก่ กิจกรรมที่แท้จริงของความคิด หรือ การลงมือคิดจริง ๆ อุปมาเหมือนแผ่นขี้ผึ้งที่กำลังถูกเขียน  
ความสามารถของวิญญาณทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เมื่อมนุษย์สิ้นชีพ ความสามารถด้านประสาทสัมผัส ผัสสะร่วม จินตนาการทั้งหมด รวมทั้งเหตุผลแฝง จะดับสลายไปพร้อมกับร่างกาย แต่เหตุผลจริงของวิญญาณเป็นอมตะ ดังที่อริสโตเติลกล่าวว่า จิต (Mind) สามารถแยกจากร่างกายได้ ไม่แตกดับ และไม่รวมกับร่างกาย...เมื่อจิตถูกปลดปล่อยเป็นอิสระจากเงื่อนไขปัจจุบัน (คือร่าง กาย) จิตจะปรากฏตามที่เป็นจริง และไม่มากไปกว่านั้น จิตที่อยู่ตามลำพังนี้เป็นอมตะและมีอยู่นิรันดร และถ้าปราศจากจิตก็ไม่มีอะไรที่จะต้องคิด(Hippocrates G.Apostle Lloyd P.Gerson,1982,pp.290-291)
จากข้อความที่ยกมาแสดงให้เห็นว่า อริสโตเติลเชื่อในความเป็นอมตะและคงอยู่นิรันดรของวิญญาณแห่งเหตุผลของมนุษย์ โดยเห็นว่าเหตุผลจริงหรือเหตุผลตื่นเป็นอมตะแต่เหตุผลแฝงหรือเหตุผลหลับไม่เป็นอมตะ

ความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายกับวิญญาณ
 อริสโตเติลจัดให้มนุษย์เป็นอินทรียสสารที่อยู่ในระดับสูงสุดเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ได้ด้วยอาหาร มีการเจริญเติบโตและเปลี่ยนแปลงไม่คงที่ สามารถขยายพันธุ์ได้เหมือนพืชซึ่งเป็นอินทรียสสารระดับต่ำสุด สามารถรับรู้ได้ด้วยผัสสะและมีความรู้สึกสุขทุกข์ได้เหมือนสัตว์เดรัจฉานทั่วไปซึ่งเป็นอินทรียสสารระดับกลางและมนุษย์สามารถคิดอย่างมีเหตุผลได้ด้วยพุทธิปัญญา ดังนั้นระหว่างกายกับวิญญาณ อริสโตเติลถือว่าวิญญาณเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดเพราะร่างกายสามารถเคลื่อนไหวได้ก็ด้วยอาศัยวิญญาณ วิญญาณเป็นตัวกำหนดหลักการของชีวิตมนุษย์ ส่วนร่างกายนั้นถือเป็นเครื่องมือของวิญญาณแต่ถึงแม้อริสโตเติลจะให้ความสำคัญกับวิญญาณ แต่เขามีความเห็นว่าร่างกายและวิญญาณไม่เคยแยกจากกัน เหมือนสสารและแบบที่ไม่เคยแยกจากกัน องค์ประกอบทั้ง 2 ต่างอาศัยซึ่งกันและกันอยู่โดยกายเป็นที่อยู่อาศัยของวิญญาณ วิญญาณทำให้ร่างกายดำรงอยู่ได้ ซึ่งการอธิบายเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า อริสโตเติลยอมรับว่ากายและวิญญาณของมนุษย์มีอยู่จริง และมีอยู่อย่างอิงอาศัยซึ่งกันและกัน

อมตภาพของวิญญาณ
เนื่องจากอริสโตเติลถือว่า วิญญาณเป็นแบบของชีวิตมนุษย์ แต่ไม่เป็นส่วนประกอบใดของกายมนุษย์ เพียงแต่อาศัยกายของมนุษย์อยู่เท่านั้น เมื่อกายของมนุษย์สลายไปแล้ว วิญญาณจะยังคงอยู่เป็นนิรันดร วิญญาณสามารถแยกจากร่างกายได้แต่ไม่แตกดับ ที่วิญญาณยังอยู่ในกายมนุษย์เพราะมีกายเป็นเงื่อนไข ถ้าปราศจากเงื่อนไขคือร่างกายของมนุษย์แล้ววิญญาณก็ถูกปลดปล่อยเป็นอิสระ ดังนั้น วิญญาณในทัศนะของอริสโตเติลจึงมีสถานะเป็นอมตะภาพ
กล่าวโดยย่อคือ อริสโตเติลแบ่งองค์ประกอบแห่งชีวิตของมนุษย์ออกเป็น 2 ส่วน คือ ร่างกายกับวิญญาณ ร่างกายถือเป็นสสารเป็นส่วนรูปธรรม รองรับแบบของชีวิต ส่วนวิญญาณเป็นแบบ เป็นหลักการของชีวิต เป็นส่วนนามธรรม ทั้ง 2 ส่วนอาศัยซึ่งกันและกันดำรงอยู่ เพียงแต่ร่างกายได้รับการจัดสรรโดยวิญญาณเท่านั้น เพราะวิญญาณเป็นหลักการของชีวิต คอยหล่อเลี้ยงชีวิต คอยรับรู้ผัสสะต่าง ๆ และทำให้มนุษย์เป็นสัตว์โลกที่คิดอย่างมีเหตุผล ร่างกายของมนุษย์ไม่เป็นอมตะ แต่วิญญาณของมนุษย์เป็นอมตะ

วิญญาณแห่งเหตุผลของมนุษย์
วิญญาณแห่งเหตุผล หมายถึง วิญญาณที่มีสมรรถภาพในการคิดอย่างมีเหตุผล เป็นคุณสมบัติที่ทำให้มนุษย์ได้รับการขนานนามจากมนุษย์ด้วยกันว่าเป็นสัตว์ที่รู้คิดด้วยเหตุผล ถ้าเราถามว่า ทำไมมนุษย์จึงเป็นสัตว์ที่มีเหตุผลหรือเป็นสัตว์รู้คิด(Thinking animal) อริสโตเติลอาจตอบเราว่า เพราะแบบหรือวิญญาณกำหนดให้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆอีก เช่น เหตุผลหรือปัญญาของมนุษย์มีลักษณะอย่างไร เหตุผลมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์อย่างไร  และแท้จริงแล้วอริสโตเติลตอบปัญหาเหล่านี้อย่างไรบ้าง
.เหตุปัจจัยที่ทำให้มนุษย์เป็นสัตว์รู้คิดด้วยเหตุผล ได้กล่าวถึงไปแล้วว่า ในทรรศนะของอริสโตเติล แบบหรือวิญญาณเป็นตัวการกำหนดความมีความเป็นต่างๆให้กับมนุษย์ ฉะนั้น เหตุที่มนุษย์เป็นสัตว์รู้คิดด้วยเหตุผล เพราะในวิญญาณหรือแบบของมนุษย์มีภาวะอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “Nous” เป็นส่วนสำคัญอยู่ คำว่า “Nous” เป็นภาษากรีกแปลว่า อนุตรจิต,จิต,ปัญญา,เหตุผล,มโน,จิตสากลของจักรวาล ซึ่งจัดให้สรรพสิ่งเป็นระเบียบเข้าใจได้ เมื่อภายในวิญญาณของมนุษย์มีภาวะที่เป็นปัญญาหรือเป็นเหตุผลอยู่ภายในจึงทำให้มนุษย์สามารถรู้คิดด้วยเหตุผล แต่ภาวะที่เรียกว่า “Nous” หรือ ธรรมชาติที่เป็นเหตุผลของมนุษย์นี้ อริสโตเติลบอกว่ามาจากพระเจ้า พระเจ้าเป็นเหตุผลสมบูรณ์ เมื่อมนุษย์ตายร่างกายหยุดทำหน้าที่ เหตุผลตื่นหรือเหตุผลจริง (Active or actual reason) จะกลับคืนไปสู่พระเจ้า
.เหตุที่แบบของมนุษย์มีวิญญาณแห่งเหตุผล เนื่องจากอริสโตเติลเสนอทัศนะเกี่ยวกับระดับของแบบ (being) ชนิดต่างๆ ว่าที่มีระดับสูงกว่าย่อมมีแบบที่สูงกว่า มนุษย์จัดเป็น being ที่มีอินทรียภาพสูงกว่าอินทรียภาพอื่นทั้งหมด และรวมเอาอินทรียภาพของ beingในระดับที่ต่ำกว่าเอาไว้ ด้วยเหตุนี้ทำให้มนุษย์มีแบบที่มากกว่าและสูงกว่าพืชและสัตว์เดรัจฉาน จากหลักการดังกล่าวนี้ทำให้เราได้คำตอบว่าเหตุที่แบบของมนุษย์มีวิญญาณแห่งเหตุผล เพราะมนุษย์เป็น being ที่มีระดับสูงกว่าพืชและสัตว์เดรัจฉาน จึงเป็นเหตุให้แบบของมนุษย์มีอะไรที่มากกว่า พิเศษกว่า และแตกต่างจาก being สองระดับดังกล่าวตามไปด้วย ดังนั้น วิญญาณแห่งเหตุผลหรือปัญญาจึงมีเฉพาะในแบบของมนุษย์ไม่มีในแบบของพืชและสัตว์เดรัจฉาน แต่คุณสมบัติในแบบของพืชและสัตว์เดรัจฉานล้วนมีอยู่ในแบบของมนุษย์ เหตุผลทั้งหมดนี้ถือเป็นคำตอบอยู่ในตัวว่า ที่แบบของพืชและสัตว์เดรัจฉานไม่มีวิญญาณแห่งเหตุผล เพราะพืชและสัตว์เดรัจฉานเป็น being ที่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามนุษย์นั่นเอง
การแบ่งระดับของ being ตามนัยของอริสโตเติล ในประเด็นนี้จะเห็นว่า อริสโตเติลแบ่งระดับของอินทรียภาพโดยอาศัยทฤษฎีเรื่องระดับของแบบในbeing มาเป็นเกณฑ์ แน่นอนว่ามี being ที่มีแบบสูงกว่ามนุษย์ นั่นคือแบบบริสุทธิ์หรือแบบสมบูรณ์ ซึ่งเป็นแบบที่ไม่สามารถเข้าถึงได้  แต่อริสโตเติลหมายเอาเฉพาะ being ที่สูงที่สุดในโลกนี้เท่านั้นไม่ได้หมายถึงจักรวาลทั้งหมด จึงถือว่ามนุษย์จึงเป็น being ที่มีระดับสูงที่สุดในโลกนี้ แบบในอินทรียภาพของมนุษย์จึงมีคุณสมบัติมากกว่าและสูงกว่าแบบในอินทรียภาพของ being ประเภทอื่น
ค.ลักษณะของเหตุผลหรือปัญญาในวิญญาณของมนุษย์ เหตุผลหรือปัญญาของมนุษย์เป็นภาวะที่ทำให้มนุษย์รู้สิ่งต่างๆ ตามลำดับ คือ รู้สิ่งสากล(มโนภาพ), รู้ข้อตัดสิน,รู้ข้ออ้างเหตุผลและสามารถรู้ด้วยอัชฌัตติกญาณได้ด้วยเมื่อไม่ได้อาศัยร่างกายแล้ว (กีรติ บุญเจือ,2528,หน้า 77) ดังที่ได้กล่าวถึงแล้วว่าเหตุผลหรือปัญญาของมนุษย์แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ (1) เหตุผลหลับ(Passive reason) อันได้แก่ ความสามารถแฝง เช่น จิตมีอำนาจในการคิดก่อนที่จะคิดจริง ๆ อุปมาเหมือนแผ่นขี้ผึ้งเรียบๆ ที่สามารถรับการเขียนได้แต่ยังไม่ถูกเขียน หรืออุปมาเหมือนกระดาษที่ว่างเปล่าขาวสะอาดแผ่นหนึ่ง ถือได้ว่าจิตในระดับนี้เป็นศักยภาพในการคิดที่ยังไม่มีผลงาน (2) เหตุผลตื่น (Active reason) ได้แก่ กิจกรรมที่แท้จริงของความคิด หรือ การลงมือคิดจริง ๆ อุปมาเหมือนแผ่นขี้ผึ้งที่กำลังถูกเขียน เหตุผลระดับนี้อริสโตเติลเชื่อว่าเป็นเหตุผลที่มีความสามารถในการเข้าใจคณิตศาสตร์และปรัชญาและเป็นเหตุผลที่เป็นอมตะ
นอกจากนี้เหตุผลหรือปัญญาของมนุษย์ยังสามารถแบ่งได้อีกนัยหนึ่ง เป็น 2 ประเภท คือ (1) ปัญญาภาคทฤษฎี เป็นปัญญาที่ช่วยให้เกิดความรู้ทางวิทยาศาสตร์และปรัชญา (2) ปัญญาภาคปฏิบัติ เป็นปัญญาที่ให้ความรู้หลักเหตุผลประกอบการตัดสินใจเลือกทางสายกลาง สำหรับปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ถ้าไม่มีปัญญาภาคปฏิบัติ มนุษย์จะไม่สามารถเลือกคุณธรรมมาปฏิบัติได้
ง.วิญญาณแห่งเหตุผลกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ในทัศนะของอริสโตเติล วิญญาณแห่งเหตุผลทำให้มนุษย์มีศักยภาพที่สำคัญยิ่ง 2 ประการ คือ (1) อำนาจในการคิดได้ด้วยเหตุผล (2) ความรู้จักผิดชอบชั่วดี ศักยภาพทั้ง 2 ประการนี้ นอกจากทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อื่นในด้านสติปัญญาและความสำนึกดีชั่วแล้ว ยังมีความสำคัญโดยตรงต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เพราะเป็นธรรมชาติที่บอกให้ทราบว่ามนุษย์มีคุณธรรมประเภทใดบ้างในชีวิต ชีวิตของมนุษย์แต่ละคน ใครบ้างที่สามารถเข้าถึงจุดหมายปลายทางของชีวิตได้ อริสโตเติลถือว่าสรรพสิ่งในโลกนี้ทั้ง being ที่เป็นอนินทรียสสาร(Inorganic matter) และอินทรียสสาร(Organic matter) ล้วนมีจุดหมายปลายทางในตนเองทั้งสิ้น มนุษย์เป็นหนึ่งใน being กลุ่มอินทรียสารย่อมมีจุดหมายปลายทางในตนเองเช่นกัน จุดหมายปลายทางของมนุษย์ในทรรศนะของอริสโตเติล คือ การเข้าถึงภาวะสูงสุดของการเป็นมนุษย์ หรือ การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ที่สอดคล้องกับธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์ คือการทำหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ หน้าที่เฉพาะของมนุษย์คือเหตุผล กิจกรรมที่เหมาะสมของเหตุผล คือความดีสูงสุด ซึ่งได้แก่ ความคิดของมนุษย์นั่นเอง ช่วงชีวิตของมนุษย์แต่ละช่วงจึงเป็นการดิ้นรนไปสู่จุดหมายปลายทางของตนเองโดยการใช้ความคิดหรือเหตุผล
เหตุผลหรือปัญญานอกจากเป็นคุณธรรมสูงสุดที่เรียกว่าไดอะโนเอติก” (Dianoetic) ของมนุษย์แล้ว ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้มนุษย์สามารถเลือกเอาคุณธรรมมาถือปฏิบัติในชีวิตจนมีความสามารถในการควบคุม,บังคับความรู้สึก และความอยากกระหายด้วยเหตุผล การอาศัยคุณธรรมคือเหตุผลหรือปัญญาและคุณธรรมทางจริยศาสตร์ จะทำให้มนุษย์สามารถก้าวถึงความดีสูงสุด คือความสุขได้ เหตุผลหรือปัญญาจึงเป็นธรรมชาติที่สำคัญและพิเศษของมนุษย์ อีกทั้งมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ในฐานะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดสำหรับการตัดสินใจ
กล่าวโดยสรุป วิญญาณแห่งเหตุผล มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ใน 3 ประเด็น คือ
(1)  เป็นธรรมชาติที่ทำให้มนุษย์มีศักยภาพที่สำคัญ 2 ประการ คือ 1) มีอำนาจในการคิดได้ด้วยเหตุผล และ 2) มีความรู้จักรับผิดชอบชั่วดี
(2) เป็นธรรมชาติที่เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับมนุษย์ในการพิจารณาตัดสินใจเลือกเอาคุณธรรมใด ๆ มาถือปฏิบัติในชีวิต และส่งผลต่อการดำเนินของชีวิตด้วยว่า เป็นมนุษย์ที่ดีหรือไม่อย่างไร
(3) เป็นธรรมชาติที่ทำให้มนุษย์สามารถเข้าถึงภาวะสูงสุดของการเป็นมนุษย์ คือ ความดีสูงสุดหรือความสุข

บรรณานุกรม

กีรติ บุญเจือ.แก่นปรัชญากรีก.พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2528.

จำนงค์ ทองประเสริฐ.ปรัชญาตะวันตกสมัยโบราณ. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2533.

ชุมพร สังขปรีชา.ปรัชญาและทฤษฎีการเมืองว่าด้วยธรรมชาติของมนุษย์.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2531.

บรรณจบ บรรณรุจิ.จิต! มโน! วิญญาณ!. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, 2537.

พระราชวรมุนี(ประยูร ธมฺมจิตฺโต).ปรัชญากรีก: บ่อเกิดภูมิปัญญาตะวันตก.พิมพ์ครั้งที่ 3.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศยาม,2540. 

ฟื้น ดอกบัว.ปวงปรัชญากรีก.กรุงเทพฯ:โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์,2532.                       

Hippocrates G.Apostle Lloyd P.Gerson. “On The Soul”, Aristotle selected works. Iowa : The  Peripatetic Press,1982.

Roger Crisp. Nicomachean Ethics,United kingdom:Cambridge University  Press,2000.

Sombat Chantornvong. “BUDDHA, PLATO, AND ARISTOTLE: A COMPARISON OF EASTERN AND WESTERN PHILOSOPHIES ON ETHICS AND POLITICS”. Senior Thesis x190 Claremont Men’s Collage,1968.



[i] อัชฌัตติกญาณ คือ การที่จิตเกิดความรู้ แจ่มแจ้ง ชัดเจนขึ้นเองโดยตรง ไม่ต้องอาศัยการอ้างเหตุผลหรือความรู้อันเป็นตัวกลาง และการเล่าเรียน เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นภายในตนเอง หรือเกิดจากการเพ่งดูธรรมชาติของจิต

1 ความคิดเห็น: