วันอังคารที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2554

การประเมินประสิทธิภาพห่วงโซ่อุปทานภาคบริการ



สิริยุพา เลิศกาญจนาพร

บทความชิ้นนี้ทำการศึกษาและวิเคราะห์วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประเมินประสิทธิภาพโซ่อุปทานภาคบริการ (Performance measurement in service supply chain) เพื่อทำความเข้าใจสถานะของกระบวนการประเมินประสิทธิภาพในปัจจุบันซึ่งมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องอยู่ค่อนข้างน้อย เพื่อให้ได้มาซึ่งเกณฑ์และแนวทางในการประเมินประสิทธิภาพโซ่อุปทานภาคบริการที่ควรจะเป็นในอนาคต ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากจะสามารถสะท้อนผลการดำเนินงานของโซ่อุปทานทั้งภาพรวม ก่อให้เกิดการปรับปรุงการดำเนินงานภายในโซ่อุปทานอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงสามารถใช้ในการกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานของธุรกิจภาคบริการได้  ผลการทบทวนวรรณกรรมพบว่า ธุรกิจในภาคบริการมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงแตกต่างกันไปตามลักษณะของบริการที่มีหลากหลาย เช่น การให้บริการการท่องเที่ยว การให้บริการสุขภาพ การให้บริการการศึกษา ดังนั้นการประเมินประสิทธิภาพโซ่อุปทานภาคบริการควรใช้การประเมินร่วมกันหลายมิติ ทั้งในลักษณะของข้อมูลที่เป็นการเงิน และข้อมูลที่ไม่ใช่ทางการเงิน  ผู้วิจัยทำการจัดกลุ่มดัชนีการประเมินแบ่งได้  6 มิติ คือ มิติด้านลูกค้า(Customer) มิติด้านการเงิน(Financial) มิติด้านกระบวนการภายใน(Internal process) มิติด้านบุคลากร(People) มิติด้านผู้จัดหา(Supplier) และมิติด้านความยั่งยืน(Sustatinable)

การประเมินประสิทธิภาพของโซ่อุปทานภาคบริการ
Yilmaz and Bititci (2006) ศึกษาการประเมินประสิทธิภาพของการท่องเที่ยวโดยใช้แบบจำลองโซ่คุณค่า(Value chain model)  โดยนำเทคนิคการวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่า(Value Chain Analysis) และแบบจำลองโซ่อุปทาน(SCOR Model) มาประยุกต์ใช้ในห่วงโซ่อุปทานของการท่องเที่ยวเพื่อใช้อธิบายลักษณะการดำเนินงานการจัดการโซ่อุปทาน และแสดงให้เห็นกิจกรรมของธุรกิจในโซ่อุปทานทั้งหมด ผลการศึกษาพบว่าห่วงโซ่คุณค่าของการท่องเที่ยวประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญ 5 ขั้นตอนคือ 1.กิจกรรมการตัดสินใจซื้อบริการท่องเที่ยวของลูกค้า(Win order) โดยนักท่องเที่ยวอาจตัดสินใจเลือกรูปแบบการท่องเที่ยวในลักษณะแพคเกจผ่านตัวแทนบริษัททัวร์หรือวางแผนการท่องเที่ยวด้วยตนเอง  2.กิจกรรมสนับสนุนก่อนส่งมอบบริการ(Pre-delivery support) เช่น การขอวีซ่า การให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยว และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก่อนการเดินทาง ซึ่งตัวแทนบริษัทท่องเที่ยวจะเป็นตัวกลางในดำเนินกิจกรรมในส่วนของ 2 กิจกรรมแรกนี้ในกรณีที่นักท่องเที่ยวซื้อบริการเป็นแพกเกจ  3.กิจกรรมการส่งมอบบริการ(Delivery) เป็นขั้นตอนที่นักท่องเที่ยวได้รับบริการการท่องเที่ยว บุคคลที่มีส่วนในการส่งมอบบริการนี้ได้แก่ผู้ให้บริการด้านการขนส่ง, โรงแรมที่พัก และกิจกรรมขณะท่องเที่ยว 4.กิจกรรมสนับสนุนหลังส่งมอบบริการ(Post-delivery support) เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อประเมินความพึงพอใจของลูกค้า ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการจัดการโซ่คุณค่าการท่องเที่ยว 5.กิจกรรมการวางแผน เป็นกิจกรรมหลักที่เกิดขึ้นในทุกขั้นตอนของกิจกรรม
จากนั้นได้เสนอแนะแบบจำลองเพื่อใช้ประเมินประสิทธิภาพของโซ่คุณค่าการท่องเที่ยว โดยแบ่งการประเมินออกเป็น 3 ระดับ แต่ละระดับแยกเป็น 2 มุมมอง คือมุมมองความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว (Customer) และมุมมองของการบริหารจัดการภายใน (Internal)
การประเมินในระดับที่ 1  มุ่งเน้นการประเมินประสิทธิภาพภายในองค์กรและความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวที่มีต่อบริการการท่องเที่ยวโดยรวม   โดยนำเครื่องมือการบริการเชิงคุณภาพ(Service Quality Management ; SERVQUAL) (Parasuraman, et.al, 1988) ซึ่งประกอบด้วย 5 มิติสำคัญ คือ
1.ความน่าเชื่อถือ(Reliability)  หมายถึง ความสามารถในการให้บริการได้ตรงกับสัญญาที่ให้ไว้กับลูกค้า บริการที่ให้ทุกครั้งจะต้องมีความถูกต้อง เหมาะสม และได้ผลออกมาเช่นเดิมในทุกจุดของการบริการ ความสม่ำเสมอนี้จะส่งผลให้ลูกค้ารู้สึกว่าบริการที่ได้รับนั้นมีความน่าเชื่อถือ สามารถให้ความไว้วางใจได้
2.การตอบสนองลูกค้า(Responsiveness)  หมายถึง ความพร้อมและความเต็มใจที่จะให้บริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกคาได้อย่างทันท่วงที ลูกค้าสามารถเข้ารับบริการได้ง่าย และได้รับความสะดวกจากการใช้บริการ รวมทั้งมีการกระจายการให้บริการไปอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว
3.ความไว้วางใจ(Assurance)  หมายถึง ความสามารถในการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับลูกค้า ผู้ให้บริการจะต้องแสดงถึงทักษะความรู้ ความสามารถในการให้บริการและตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการด้วยความสุภาพ ใช้การติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและให้ความมั่นใจว่าผู้รับบริการจะได้รับบริการที่ดีที่สุด
4.รูปลักษณ์ทางกายภาพ (Tangibles) หมายถึง ลักษณะทางกายภาพที่ปรากฏให้เห็นถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อันได้แก่ สถานที่ บุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องมือ เอกสารที่ใช้ในการติดต่อ รวมทั้งสภาพแวดล้อมที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าได้รับการดูแลจากผู้ให้บริการ บริการที่ถูกนำเสนอออกมาเป็นรูปธรรมจะทำให้ลูกค้ารับรู้ถึงการให้บริการนั้นๆ ได้ชัดเจนขึ้น
5.การเอาใจใส่ (Empathy)  หมายถึง ความสามารถในการดูแลเอาใจใส่ลูกค้าตามความต้องการที่แตกต่างของลูกค้าแต่ละราย
งานศึกษาของ Yilmaz and Bititci (2006) นำหลักการ SERVQUAL และความคุ้มค่าของเงิน(Value for money) มาใช้เป็นเกณฑ์ในการวัดคุณภาพการให้บริการ ในขณะที่การประเมินภายในองค์กรใช้ข้อมูลเชิงปริมาณเช่น ความสามารถในการทำกำไร(Profitability) ความสามารถในการให้บริการ(Productivity) ต้นทุน(Cost) กระแสเงินสด(Cash Flow) และความสามารถในให้บริการ(Capacity Management) เป็นดัชนีชี้วัด
การประเมินในระดับที่ 2 ประกอบด้วยขั้นตอนของการรับคำสั่งซื้อ(Win order)  ก่อนการส่งมอบบริการ(Pre-delivery) การส่งมอบบริการ(Delivery) และหลังการส่งมอบบริการ(Post-delivery)  ดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพถูกตั้งขึ้นเพื่อประเมินประสิทธิภาพของแต่ละขั้นตอนที่ประกอบอยู่ในโซ่คุณค่า
การประเมินในระดับที่ 3  เป็นการประเมินประสิทธิภาพของหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขั้นตอนการส่งมอบบริการ ซึ่งประกอบด้วย ที่พักอาศัย(Accommodation)  การขนส่ง(Transportation) และผู้แทนบริษัทนำเที่ยวภาคพื้นดิน(Incoming travel agents)
งานศึกษาของ Schiefelbusch, et al.(2006) ทำการศึกษาการวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวและการขนส่งของเยอรมันในการท่องเที่ยว โดยสร้างแนวคิดห่วงโซ่การท่องเที่ยว(Travel Chain)  ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมการเดินทางและกิจกรรมการท่องเที่ยว โดยนำเสนอทางเลือกว่าในการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใดแห่งหนึ่ง สามารถใช้เส้นทางใดในการเดินทางเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้บ้าง ด้วยยานพาหนะใด และมีกิจกรรมท่องเที่ยวใดบ้างที่จะเกิดขึ้นในเส้นทางนั้น จากนั้นทำการพัฒนาเครื่องมือ ที่เรียกว่า EVALENT สำหรับใช้ประเมินห่วงโซ่การท่องเที่ยวดังกล่าว เพื่อเลือกห่วงโซ่ที่มีการเดินทางและกิจกรรมท่องเที่ยวที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ชุมชน และสังคมน้อยที่สุด โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
เครื่องมือ EVALENT แบ่งเกณฑ์การประเมินห่วงโซ่การท่องเที่ยวออกเป็น 3 ลักษณะคือ  1.ดัชนีชี้วัดด้านระบบนิเวศ (Ecological indicators)   2.ดัชนีชี้วัดด้านเศรษฐกิจ (Economic indicators)   3.ดัชนีชี้วัดด้านสังคม (Social indicators)  โดยดัชนีชี้วัดด้านระบบนิเวศและด้านเศรษฐกิจประกอบด้วยดัชนีชี้วัดเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ ในขณะที่ดัชนีชี้วัดด้านสังคมมีเพียงดัชนีชี้วัดเชิงคุณภาพเพียงด้านเดียวเดียว ดังรายละเอียดในตาราง 1

ตาราง1 :  ดัชนี้ชี้วัดของเครื่องมือ EVALENT

ประเภทดัชนีชี้วัด
ดัชนีชี้วัดด้านระบบนิเวศ
ดัชนีชี้วัดด้านเศรษฐกิจ
ดัชนี้ชี้วัดด้านสังคม
ดัชนีวัดเชิงปริมาณ
- ปริมาณพลังงานที่ใช้ (MJ)
- ปริมาณปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกซ์ (กก.)
- ปริมาณปล่อยก๊าซไนโตรเจน (กก.)
- การใช้พื้นที่ถาวร (ตร.กม.)
- การบดอัดดินถาวร (ตร.กม.)
- ความยาวของเส้นทางที่ต้องผ่านพื้นที่อนุรักษ์ (กม.)
- ระยะเวลาเดินทาง (วัน)
- ค่าใช้จ่ายต่อหัวในการเดินทาง (ยูโร)
- จำนวนการพักค้างคืน (วัน)
- ค่าใช้จ่ายค่าที่พัก(บาท/คืน)
- การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ (บาท)
- ต้นทุนค่าบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ (บาท/ปี)




-
ดัชนีวัดเชิงคุณภาพ
- การท่องเที่ยวส่งผลต่อพื้นที่เพาะปลูกหรือไม่
- การท่องเที่ยวมีลักษณะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่
- การท่องเที่ยวได้ให้ความรู้และสร้างความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือไม่
- ผู้ให้บริการได้รับเครื่องหมายผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่
- การท่องเที่ยวส่งเสริมความตระหนัก, ประชาชน หรือขายสินค้าท้องถิ่นหรือไม่
- ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวหรือไม่
- การท่องเที่ยวสร้างงานอย่างยั่งยืนหรือไม่
- การท่องเที่ยวนำไปสู่การท่องเทียวท้องถิ่นหรือไม่
- การท่องเที่ยวเหมาะสำหรับเด็ก คนชรา ผู้พิการ และผู้มีรายได้น้อย หรือไม่
- การท่องเที่ยวสนับสนุนหรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมหรือไม่
- การท่องเที่ยวได้นำไปสู่การป้องกันวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ท้องถิ่นหรือไม่
- การท่องเที่ยวส่งเสริมภาพลักษณ์ท้องถิ่นหรือไม่
ที่มา : ผู้วิจัย ประยุกต์จาก Summary of qualitative and quantitative criteria in EVALENT,Schiefelbusch, et al., 2007. p99.

Zhang, et al.(2009) ทำการทบทวนวรรณกรรมผลงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยว พบว่าการประเมินประสิทธิภาพเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยว งานวิจัยส่วนใหญ่มุ่งเน้นประเมินประสิทธิภาพโซ่อุปทานในภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่การศึกษาเกี่ยวกับการประเมินประสิทธิภาพโซ่อุปทานในภาคบริการโดยเฉพาะการท่องเที่ยวมีน้อยมาก และได้ทำการจัดกลุ่มเกณฑ์ในการประเมินประสิทธิภาพที่ปรากฏในงานต่างๆ ไว้ 3 กลุ่ม คือ
1. การประเมินด้านการเงิน (Financial performance)
เกณฑ์ที่ใช้ประเมิน ได้แก่ ต้นทุนรวม(Total cost) ต้นทุนการกระจายสินค้า(Distribution cost) ต้นทุนการผลิต(Manufacturing cost) ต้นทุนสินค้าคงคลัง(Inventory cost) ผลตอบแทนการลงทุน(Return on investment) รายได้รวม(Total revenue) และผลกำไร(Profit)
2. การประเมินด้านการดำเนินงาน (Operational performance)
เกณฑ์ที่ใช้ประเมิน ได้แก่ เวลาในการตอบสนองลูกค้า(Customer response time) ระยะเวลานำในการผลิต(Manufacturing lead time)  คุณภาพของสินค้า(Product quality) และ ความมีพร้อมของสินค้า(Product availability)
3. การประเมินภาพรวมทั้งโซ่อุปทาน (Overall supply chain performance)
เกณฑ์ที่ใช้ประเมิน ได้แก่ ความพึงพอใจของลูกค้า(Customer satisfaction) และความยืดหยุ่นของโซ่อุปทาน(Supply chain flexibility)

OntarioBuys (2006) โครงการภายใต้ Ontario Ministry of Finance ประเทศแคนาดา ทำการศึกษาการประเมินประสิทธิภาพของโซ่อุปทานโรงพยาบาลเพื่อตอบสนองความต้องการของคนไข้ที่คาดหวังจะได้รับคุณภาพจากการให้บริการของโรงพยาบาลมากขึ้น โครงการได้ใช้แนวคิด Balance Scorecard ; BSC เป็นกรอบในการประเมินประสิทธิภาพ จากนั้นได้ปรับเพิ่มมิติในการวัดผลให้สอดคล้องกับลักษณะการดำเนินงานของโรงพยาบาล ซึ่งเป็นธุรกิจภาคบริการ โดยปรับเปลี่ยนมิติในการวัดผลสำเร็จขององค์กร จากเดิม 4 มิติ คือ   ด้านการเงิน (The Financial Perspective)  ด้านลูกค้า (The Customer Perspective)   ด้านกระบวนการภายใน (The Business Process/Internal Operations Perspective) และด้านการเรียนรู้และการพัฒนา (The Learning and Growth Perspective) ไปเป็น 6 มิติ     ได้แก่
1.       ด้านการจัดการและกระบวนการภายใน (Governance & Process)  เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายและนำไปสู่แนวการปฏิบัติที่ดี
2.       ด้านการเงิน (Financial) เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน และต้นทุนในการจัดซื้อ
3.       ด้านการดำเนินการและเทคโนโลยี (Transactions & Technology) เพื่อลดจำนวนกิจกรรมดำเนินการที่ไม่จำเป็นและปรับปรุงคุณภาพของข้อมูล
4.       ด้านลูกค้า (Customers) เพื่อเพิ่มคุณภาพในการส่งมอบบริการแก่ลูกค้า ด้วยการทำความเข้าใจความต้องการของคนไข้และบุคลากรทางการแพทย์
5.       ด้านผู้จัดหาวัตถุดิบ (Suppliers) เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับผู้จัดหาที่มีความชำนาญ
6.       ด้านบุคลากร (People) เพื่อสนับสนุนให้บุคลากรภายในมีโอกาสพัฒนาทักษะทางวิชาชีพ

ซึ่งการประเมินประสิทธิภาพของโซ่อุปทานทั้ง 6 มิติ แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ การวัดในเชิงคุณภาพ และการวัดในเชิงปริมาณ  และแบ่งการประเมินออกเป็น 3 ลักษณะ คือ Core supply chain operations, Emerging supply chain practices และ Supply chain excellence

บทสรุป
            จากาการศึกษาพบว่าการประเมินประสิทธิภาพโซ่อุปทานภาคบริการมีการแบ่งมิติเพื่อการประเมินและวิเคราะห์ออกเป็น 6 มิติ  คือ มิติด้านลูกค้า(Customer) มิติด้านการเงิน(Financial) มิติด้านกระบวนการภายใน(Internal process) มิติด้านบุคลากร(People) มิติด้านผู้จัดหา(Supplier) และมิติด้านความยั่งยืน(Sustatinable)    และสามารถสรุปดัชนีชี้วัดที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพโซ่อุปทานในมิติต่างๆ ดังตารางที่ 2

ตาราง 2 : มิติและดัชนีชี้วัดที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพโซ่อุปทานภาคบริการ

มิติ
ดัชนีชี้วัด
Customer
- SERVQUALa                              - Value of money a
- % of repeat customer a                 - Customer response time c
- Customer satisfaction c
Financial
- Revenue per customer a               - Value chain cost (fixed) a
- Marketing Cost (variable) a            - Cash flow a
- Total Cost c                                - Distribution cost c
- Manufacturing cost c                    - Inventory cost c
- Return on investment c                 - Total revenue c
- Profit c
Internal process
- % of no show a                           - % of capacity used to total a
- % of overbooking problem a          - Forecast accuracy a     
- Manufacturing lead time c             - Product quality c
- Product availability c                    - Supply Flexibility c
- Transaction and technology d
People
- Voluntary Turnover d                    - Investment in education and skills development d
- Level of internal staff satisfaction d
 - Proportion of individuals actively appraised and assessed d
- Proportion of individuals qualified to agreed role standards d
Supplier
- Supplier performance d                 - Total number of active suppliers d
- Proportion of suppliers measured d - Proportion of invoices paid within due date d  
- Number of new supply sources d     - Supplier feedback survey d
Sustainable
- Ecological  indicators b                  - Economic indicators b
- Social indicators b
ที่มา : ผู้วิจัย  a = Yilmaz & Bititci 2006  b = Schiefelbusch, et al.(2006)  c = Zhang, et al.(2009)  d = OntarioBuys (2006)

จากการทบทวนทฤษฎีและวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง พบว่าการประเมินประสิทธิภาพโซ่อุปทานภาคบริการ มีแนวโน้มที่จะทำการประเมินในหลายมิติพร้อมกัน โดยมีการใช้ดัชนีชี้วัดทางการเงิน ควบคู่ไปกับดัชนีชี้วัดที่ไม่ใช่การเงิน รวมถึงมีการระบุถึงวัตถุประสงค์ที่จะทำการประเมินเพื่อกำหนดดัชนีชี้วัดตามวัตถุประสงค์เหล่านั้น ผู้เขียนจึงสรุปได้ว่าการประเมินประสิทธิภาพโซ่อุปทานภาคบริการไม่จำเป็นต้องทำการประเมินโดยใช้มิติในการวัดเพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่สามารถปรับให้มีความยืดหยุ่นและประยุกต์ใช้มิติในการวัดอื่นเข้าร่วมเพื่อให้ได้มาตรวัดที่สมบูรณ์ ทั้งนี้มีข้อควรตระหนักคือการประเมินประสิทธิภาพต้องสามารถประเมินได้ครอบคลุมตลอดทั้งโซ่อุปทาน และตรงตามกลยุทธ์และเป้าหมายที่วางไว้ และมาตรวัดที่ดีควรจะต้องแสดงให้เห็นถึงการประสานความร่วมมือกันจากทุกข้อส่วนในโซ่อุปทาน รวมถึงสนับสนุนการปรับปรุงกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับองค์กรอย่างต่อเนื่องได้
สำหรับงานวิจัยในอนาคต ควรมีการศึกษาโซ่อุปทานและการประเมินประสิทธิภาพของโซ่อุปทานในธุรกิจภาคบริการที่จำเพาะเจาะจง เนื่องจากธุรกิจภาคบริการเป็นธุรกิจที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันไปในแต่ละธุรกิจ ประกอบกับยังขาดแคลนกรอบแนวคิดและดัชนีที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพที่ชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นธุรกิจในภาคบริการที่มีความสำคัญในแง่ของการสร้างรายได้ รวมทั้งมีผู้เกี่ยวข้องในโซ่อุปทานเป็นจำนวนมาก

บรรณานุกรม
[1]           Beamon, B. M., 1999, “Measuring supply chain performance”, Journal of Operations & Production Management, Vol. 19, 275-292.
[2]           Choprva, Sunil, and Peter Meindl, 2001, “Supply Chain Management : Strategy,Planning and Operations”, Upper Saddle River,NJ:Prentice-Hall,Inc.
[3]           Ganeshan, Ram and Terry P. Harrison, 1995, ” An Introduction to Supply Chain Management”,http://mason.wm.edu/faculty/ganeshan_r/documents/intro_supply_chain.pdf
[4]           Lambert, DouglasM., Jame R.Stock, and LisaM.Ellram, 1998, “Fundamentals of Logistics Management”, Boston,MA:Irwin/McGraw-Hill.
[5]           Larry Lapide, 2000, “What About Measuring Supply Chain Performance?”, Achieving Supply Chain Excellence through Technology, Volume 2, April 15, 2000.
[6]           Martin Schiefelbusch, Angela Jain, Tanja Schafer, Diana Muller, 2007, “Transport and tourism : roadmap to integrated planning developing and assessing integrated travel chains.
[7]           Mentzer, J.T., DeWitt, W., Keebler, J.S., Min, S., Nix, N.W., Smith, C.D., Zacharia, Z.G., 2001, "Defining supply chain management", Journal of Business Logistics, Vol. 22 No.2, pp.1-25.
[8]           OntarioBuys, 2006, “Performance measurement : a report by the hospital supply chain metrics working group”, pp.1-30.
[9]           Xinyan Zhang, Haiyan Song, George Q.Huang, 2009, “Tourism supply chain management : A new research agenda”, Tourism Management, Vol.30 pp.345-358.
[10]         Yildirim Yilmaz, Umit S.Bitici, 2006, “Performance measurement in tourism : a value chain model”, International Journal of Contemporary Hospitality Management, Vol.18 No.4, pp.341-349.

วันจันทร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2554

เหตุผลของการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา


สมคิด บุญล้นเหลือ

เหตุผลของการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance: ODA) หรือเหตุผลในการจัดสรรความช่วยเหลือ ให้แก่ต่างประเทศ(foreign aid allocation)  มักมีคำอธิบายเกี่ยวข้องกับแนวคิดเชิงเศรษฐศาสตร์การพัฒนา (Development economics) โดย Riddell (2007, pp. 91-92) ได้อธิบายถึงสาเหตุจูงใจที่ทำให้ประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือ (Donor) ตัดสินใจให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศผู้รับความช่วยเหลือ (Recipient) ออกเป็น 8 สาเหตุ ได้แก่ (1) เพื่อช่วยเหลือยามเกิดเหตุจำเป็นฉุกเฉิน (emergency need) (2) เพื่อช่วยเหลือผู้รับความช่วยเหลือในการพัฒนาประเทศ (โดยเฉพาะการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและลดความยากจน) (3) เพื่อแสดงความสมานฉันท์หรือสามัคคี (solidarity) ระหว่างผู้ให้กับผู้รับความช่วยเหลือ (4) เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองและยุทธศาสตร์ชาติของผู้ให้ความช่วยเหลือ (5) เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าของผู้ให้ความช่วยเหลือ (6)เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นทางประวัติศาสตร์ (historical ties) ระหว่างผู้ให้กับผู้รับความช่วยเหลือ (7) เพื่อจัดสรรสินค้าสาธารณะให้แก่โลก (global public goods) และแก้ไขผลกระทบจากโลกาภิวัตน์ และ (8) เพื่อสิทธิมนุษยชน (human right) และมนุษยธรรม (humanitairian) ซึ่งสาเหตุทั้ง 8 ประการดังกล่าวสะท้อนแนวคิดพื้นฐานออกเป็น 2 กลุ่มหลัก โดยกลุ่มแรกเชื่อว่าการให้ความช่วยเหลือเกิดจากแรงจูงใจที่ต้องการทำความดีเพื่อประโยชน์ส่วนรวม (altruism) ความมีมนุษยธรรม ความรักสามัคคี ความต้องการขจัดความยากจน[1] ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าการให้ความช่วยเหลือเกิดจากสาเหตุจูงใจด้านผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจการค้าและการเมือง[2]

อิทธิพลด้านปัจจัยทางเศรษฐกิจและปัจจัยทางการเมืองที่มีต่อผู้ให้ความช่วยเหลือในการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ (โดยเฉพาะความช่วยเหลือทางการเงิน) แก่ประเทศผู้รับความช่วยเหลือ เป็นแนวคิดกระแสหลักที่กล่าวถึงในหมู่นักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศ ในที่นี้ได้แบ่งการอธิบายปัจจัยทั้ง 2 ประการ ดังนี้

 1. ปัจจัยทางเศรษฐกิจ

มีการอธิบายสาเหตุจูงใจทางเศรษฐกิจออกเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหภาค
และประโยชน์ทางการค้า

สาเหตุจูงใจทางเศรษฐกิจมหภาคเป็นการพิจารณาจากประโยชน์ที่ทั้งผู้ให้ความช่วยเหลือและผู้รับความช่วยเหลือจะได้รับจากการโอนย้าย เงินทุนต่างประเทศ (foreign capital)” เพื่อปิดช่องว่างของการออม (saving gap)และปิดช่องว่างของการเงินตราต่างประเทศ (foreign exchange gap) (Meier, 1968, pp. 97-98) โดยการปิดช่องว่างการออมหมายถึงการไหลของเงินออมส่วนเกินจากผู้ให้ความช่วยเหลือ (ซึ่งมักเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่ประชาชนมีระดับการออมสูง) โอนไปเป็นเงินลงทุนและการลงทุนจากต่างประเทศในประเทศผู้รับการช่วยเหลือซึ่งปกติมักขาดแคลนเงินออมเพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศ โดยหากไม่มีเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศดังกล่าวแล้ว ผู้รับความช่วยเหลือจำเป็นต้องก่อหนี้สาธารณะเพิ่มเติมหรือใช้เงิน      คงคลังที่มีอยู่เพียงน้อยนิดเพื่อให้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศนอกเหนือจากรายได้จากภาษีอากรที่ยังมีไม่เพียงพอ ดังนั้น เมื่อคำนึงถึงผลลัพธ์ที่ต่างฝ่ายต่างชนะ (win-win outcome) ประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือจะได้รับประโยชน์จากดอกผลของเงินลงทุนที่สูงขึ้น (higher return) ในขณะที่ประเทศผู้รับความช่วยเหลือจะได้ประโยชน์จากการได้รับเงินทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า (cheaper capital) ส่วนการไหลของเงินตราต่างประเทศจากการให้ความช่วยเหลือทางการเงินของผู้ให้ความช่วยเหลือไปยังผู้รับความช่วยเหลือจะส่งผลให้เกิดเงินทุนไหลเข้า (capital Inflow) ซึ่งจะไปชดเชยความแตกต่างระหว่างรายรับเงินตราต่างประเทศ (เช่น รายรับจากการส่งออก) และรายจ่ายในเงินตราต่างประเทศ (เช่น รายจ่ายจากการนำเข้า) ในดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account Balance) แทนที่จะขจัดช่องว่างด้วยการใช้เงินสำรองระหว่างประเทศ (สาลินี สุวัจนานนท์  วรบัณฑูร, 2532, น. 568; Addison& Mavrotas, 2008, p. 3; Meier, 1968, p. 98-104)

ทั้งนี้ แนวคิดเรื่องการลดช่องว่างยังสามารถอธิบายได้จากสมการบัญชีรายได้ประชาชาติ[3] ซึ่งทำให้ประเทศที่ใช้จ่ายในรูปของการลงทุน (I) และการใช้จ่ายภาครัฐบาล (G) มากกว่าการออมภาคเอกชน (S) และภาษี (T) เกิดช่องว่างทรัพยากร (resource gap) ในระบบเศรษฐกิจ เมื่อมีการนำเข้า (M) มากกว่าการส่งออก (X) ช่องว่างทรัพยากรจะมีผลขยายไปสู่ดุลการชำระเงินและกลายเป็นช่องว่างเงินตราต่างประเทศ (foreign exchange gap) หรือช่องว่างการค้า (trade gap) ดังนั้น ในการลดช่องว่างทรัพยากรและช่องว่างเงินตราต่างประเทศดังกล่าวสามารถทำได้โดยอาศัยความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ซึ่งมีผลทำให้มีเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ (ปิยะศิริ เรืองศรีมั่น และสุชาดา ตั้งทางธรรม, 2545, น. 6)

ส่วนสาเหตุจูงใจด้านการค้า (commercial interest) ของผู้ให้ความช่วยเหลือมักจะเชื่อมโยงกับวิธีการกำหนดข้อผูกพันให้ซื้อสินค้าและบริการจากประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือ (tying of aid หรือ tied aid) โดยยังมีวิธีการ tying ในรูปแบบทางอ้อมด้วย เช่น ผ่านกิจการส่งเสริมการค้าแบบต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น การอุดหนุนโดยให้สินเชื่อเพื่อการส่งออก (export-credit schemes) และการจัดสรรเงินช่วยเหลือให้แก่บริษัท (ของประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือ) ที่เสนอขอประมูลงาน ซึ่งทำให้บริษัทดังกล่าวมีต้นทุนทางธุรกิจต่ำลง และการ tying ทางอ้อมด้วยการกดดันผู้รับความช่วยเหลือให้พยายามจัดซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทในประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือ เป็นต้น ทั้งนี้ การทำ tying aid โดยปกติถือเป็นการสร้างสถานการณ์ “win-win” หรือ การมีประโยชน์ร่วมกัน (mutual interest)” โดยผู้ให้ความช่วยเหลือได้รับผลประโยชน์ทางการค้า ในขณะที่ผู้รับความช่วยเหลือมีการขยายการจ้างงานและขยายการส่งออกพร้อม ๆ กับมีการพัฒนาที่เกิดจากความช่วยเหลือจากต่างประเทศ (Riddell, 2007, pp.98-99) อย่างไรก็ดี การให้ความช่วยเหลือแบบ tied aid ดังกล่าวก็ให้เกิดต้นทุน (extra cost) แก่ประเทศผู้รับความช่วยเหลือ และเป็นประเด็นวิวาทะในเชิงวิชาการเกี่ยวกับความมีประสิทธิผลของการให้ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ซึ่งจะได้กล่าวอย่างละเอียดในหัวข้อถัดไป

 2. ปัจจัยทางการเมือง

Riddell (2007) อธิบายสาเหตุจูงใจที่มาจากปัจจัยด้านประโยชน์ทางการเมือง (รวมถึงประโยชน์เพื่อความมั่นคงแห่งชาติและนโยบายการต่างประเทศ) ว่าถือเป็นสาเหตุจูงใจอันดับแรกสุดในการใช้นโยบายให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศ โดยเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อครั้งมีการฟื้นฟูและบูรณะยุโรปช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมาจนถึงช่วงสงครามเย็นเพื่อปกป้องลัทธิทางการเมืองของแต่ละขั้ว แม้หลังสงครามเย็นยุติก็ยังมีความช่วยเหลืออยู่ต่อเนื่องเพื่อทรงความมีอิทธิพลของประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือต่อประเทศผู้รับความช่วยเหลือ แต่จะมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ทางด้านความมั่นคงและเพื่อการพัฒนา รวมไปถึงเพื่อดำเนินการตามนโยบายสร้างความร่วมมือร่วมกันในทางระหว่างประเทศ (collective international cooperation) อาทิ การให้ความช่วยเหลือเพื่อปฎิบัติตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDGs) ภายใต้กรอบสหประชาชาติ อย่างไรก็ดี ประเทศพัฒนาแล้วผู้ให้ความช่วยเหลือจะมีสาเหตุจูงใจทางการเมือง ความมั่นคงและการต่างประเทศ เน้นหนักความสำคัญแตกต่างกันไป อาทิ สหรัฐอเมริกามุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศเพื่อประโยชน์ด้านการป้องกันประเทศ (defense) ซึ่งรวมถึงการต่อต้านการก่อการร้าย นอกจากนี้ยังเน้นการช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม และเพื่อการพัฒนาอีกด้วย ในขณะที่กลุ่มประเทศแถบยุโรปเหนือ อาทิ สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ มุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาและสร้างความสมานฉันท์ (solidarity) มากกว่า ซึ่งสะท้อนสาเหตุจูงใจแบบ altruistic motives แตกต่างจากประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ที่ใช้การให้ความช่วยเหลือเพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงและความเจริญแก่ประเทศของตน สำหรับประเทศฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร สเปน เบลเยี่ยม และเนเธอร์แลนด์ มักมุ่งเน้นการจัดสรรความช่วยเหลือให้แก่ประเทศที่เคยเป็นอดีตอาณานิคมของตน Riddell (2007, pp. 94-99) นอกเหนือจากเหตุผลที่กล่าวแล้ว การให้ความสำคัญแก่ประโยชน์เชิงภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical interest) ยังเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ ให้ความสำคัญ ดังนั้น จึงมีการให้ควมสำคัญกับการช่วยเหลือแก่ประเทศที่เป็นเพื่อนบ้าน (neighbor) อีกด้วย ดังเช่นที่ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ได้มุ่งเน้น (Jones et al., 2005)  

กล่าวโดยสรุปแล้วจะเห็นได้ว่า มูลเหตุสำคัญในการจัดสรรความช่วยเหลือจากต่างประเทศเพื่อการพัฒนามาจากปัจจัยด้านประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและทางการเมืองทั้งของประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือและประเทศผู้รับความช่วยเหลือ อันเป็นแนวคิดที่สะท้อนถึงลัทธิปกป้องผลประโยชน์ของตน (Protectionism) เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี มูลเหตุของการให้ความช่วยเหลือเพื่อเหตุผลด้านมนุษยธรรมของลัทธิเพื่อประโยชน์ส่วนรวม (Altruism) ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ แก่ต่างประเทศอีกด้วย
-------------------------------------------------------------------------------

[1] อาทิ งานของ David Lumsdaine (1993) ในหนังสือเรื่อง Moral Vision in
International Politics: The Foreign Aid Regime ซึ่งสรุปว่าความช่วยเหลือจากต่างประเทศไม่ได้มาจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของผู้ให้ความช่วยเหลือเพียงลำพัง หากแต่ยังมาจากอิทธิพลของนักมนุษยธรรม (Humanitarian) และนักต่อสู้เพื่อความเสมอภาค (Egalitarian) ที่มีต่อผู้ให้ความช่วยเหลือด้วย (Lumsdaine, 1993, p.29)
[2] มีนักวิชาการส่วนใหญ่รวมทั้ง Riddell (2007) ที่เชื่อว่าผลประโยชน์ทางด้าน
เศรษฐกิจ (ด้านมหภาคและการค้า) และผลประโยชน์ทางการเมืองของผู้ให้ความช่วยเหลือเป็นปัจจัยหลักของการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศ อาทิ งานของ Alesina& Dollar (2000) McGillovray (2003) Maizals&Nissanke (1984)  และ Meier (1968) ส่วนนักวิชาการไทยก็มีทัศนะคล้ายคลึงกัน อาทิ ปิยะศิริ เรืองศรีมั่น และสุชาดา ตั้งทางธรรม (2545) ที่กล่าวถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหภาคในการลดช่องว่างการออมและเงินตราต่างประเทศ รัตนา สายคณิต จากการแปลงานของ Meier (ไมเออร์, 2411/2521) และสาลินี สุวัจนานนท์ วรบัณฑูร (2532) ที่อธิบายสาเหตุของการให้ความช่วยเหลือว่ามาจากเศรษฐกิจและการเมืองและสาเหตุของการรับความช่วยเหลือว่ามาจากเศรษฐกิจ การเมือง และมนุษยธรรม
[3] สมการเอกลักษณ์บัญชีรายได้ประชาชาติ (Gross National Income Identity)
แสดงในรูปสมการอย่างง่ายได้ดังนี้
                Y = C + S + T และ Y =  C + I + G + (X – M )
C + S + T         =    C + I + G + (X – M)
                                    S + T    =    I + G + (X – M)
                   (S + T) – (I + G)    =   (X – M)
                   (S – I) + (T – G)     =   (X – M)
หรือ saving gap + fiscal gap     =   foreign exchange gap
นั่นคือ        resource gap          =   foreign exchange gap
โดย Y คือ ผลผลิต (รายได้) ประชาชาติ C คือ การบริโภค I คือ  การลงทุน G คือ การใช้จ่ายของรัฐบาล X คือ การส่งออก M คือ การนำเข้า S คือ การออม และ T คือ ภาษี (ปิยะศิริ เรืองศรีมั่น และสุชาดา ตั้งทางธรรม, 2545) รายละเอียดของสมการดังกล่าวยังสามารถค้นคว้าได้จากงานของ Branson (1989, p. 27)  

บรรณานุกรม

ปิยะศิริ เรืองศรีมั่น, และสุชาดา ตั้งทางธรรม. (2545). การลงทุนและความช่วยเหลือทางการเงิน
            ระหว่างประเทศกับการพัฒนา. ใน ประมวลสาระชุดวิชาเศรษฐศาสตร์การพัฒนา
          หน่วยที่ 11-15 (พิมพ์ครั้งที่ 2, น. 1-54). นนทบุรี: สำนักพิมพ์
            มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
ไมเออร์, เจอราลด์ เอ็ม. (2521). เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา (The International
            Economics of Development: Theory and Policy) (รัตนา สายคณิต, ผู้แปลและ
            เรียบเรียง). กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช. (ต้นฉบับพิมพ์ปี 1968)
สาลินี สุวัจนานนท์  วรบัณฑูร. (2532). การลงทุนและความช่วยเหลือจากต่างประเทศ. ใน
            เอกสารการสอนชุดวิชาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (International Economics)
          หน่วยที่ 8-15 (พิมพ์ครั้งที่ 3, ล. 2, น. 529-572).  นนทบุรี: สำนักพิมพ์
            มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
Addison, T.& Mavrotas, G. (2008). Development Finance in the Global Economy: The
          Road  Ahead. Hampshire/New York: United Nations University
Alesina, A.,& Dollar, D. (2000). Who Gives Foreign Aid to Whom and Why? Journal of
          Economic Growth, 5, 33-63.
Branson, W.H. (1989). Macroeconomic Theory and Policy (3rd Edition). New York:
            Harper & Row.
Jones, S., Riddell, R., & Kotoglou, K. (2005). Aid Allocation Criteria: Managing for
Development Results and Difficult Partnerships. Paris: OECD.
Lumsdaine, D.H. (1993). Moral Vision in International Politics: The Foreign Aid Regime
1949-1989. Princeton, NJ: Princeton University Press.
McGillivray, M. (2003). Aid Effectiveness and Selectivity: Integrating Multiple Objectives
into Aid Allocations. DAC Journal, 4 (3), 23-36.
Maizals, A., & Nissanke, M.K. (1984). Motivations for Aid to Developing Countries. World
          Development, 12 (9), 879-900.  
Menard, C., & Shirley, M.M. (2005). Introduction. In C. Menard and M.M. Shirley
(Eds.). Handbook of New Institutional Economics (pp. 1-18). Dordrecht:
Springer.
Meier, G. M. (1968). The International Economics of Development: Theory and Policy.
New York: Haper&Row.
Riddell, R.C. (2007). Does Foreign Aid Really Work? New York: Oxford University Press.