วันจันทร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2554

เหตุผลของการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา


สมคิด บุญล้นเหลือ

เหตุผลของการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance: ODA) หรือเหตุผลในการจัดสรรความช่วยเหลือ ให้แก่ต่างประเทศ(foreign aid allocation)  มักมีคำอธิบายเกี่ยวข้องกับแนวคิดเชิงเศรษฐศาสตร์การพัฒนา (Development economics) โดย Riddell (2007, pp. 91-92) ได้อธิบายถึงสาเหตุจูงใจที่ทำให้ประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือ (Donor) ตัดสินใจให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศผู้รับความช่วยเหลือ (Recipient) ออกเป็น 8 สาเหตุ ได้แก่ (1) เพื่อช่วยเหลือยามเกิดเหตุจำเป็นฉุกเฉิน (emergency need) (2) เพื่อช่วยเหลือผู้รับความช่วยเหลือในการพัฒนาประเทศ (โดยเฉพาะการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและลดความยากจน) (3) เพื่อแสดงความสมานฉันท์หรือสามัคคี (solidarity) ระหว่างผู้ให้กับผู้รับความช่วยเหลือ (4) เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองและยุทธศาสตร์ชาติของผู้ให้ความช่วยเหลือ (5) เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าของผู้ให้ความช่วยเหลือ (6)เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นทางประวัติศาสตร์ (historical ties) ระหว่างผู้ให้กับผู้รับความช่วยเหลือ (7) เพื่อจัดสรรสินค้าสาธารณะให้แก่โลก (global public goods) และแก้ไขผลกระทบจากโลกาภิวัตน์ และ (8) เพื่อสิทธิมนุษยชน (human right) และมนุษยธรรม (humanitairian) ซึ่งสาเหตุทั้ง 8 ประการดังกล่าวสะท้อนแนวคิดพื้นฐานออกเป็น 2 กลุ่มหลัก โดยกลุ่มแรกเชื่อว่าการให้ความช่วยเหลือเกิดจากแรงจูงใจที่ต้องการทำความดีเพื่อประโยชน์ส่วนรวม (altruism) ความมีมนุษยธรรม ความรักสามัคคี ความต้องการขจัดความยากจน[1] ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าการให้ความช่วยเหลือเกิดจากสาเหตุจูงใจด้านผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจการค้าและการเมือง[2]

อิทธิพลด้านปัจจัยทางเศรษฐกิจและปัจจัยทางการเมืองที่มีต่อผู้ให้ความช่วยเหลือในการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ (โดยเฉพาะความช่วยเหลือทางการเงิน) แก่ประเทศผู้รับความช่วยเหลือ เป็นแนวคิดกระแสหลักที่กล่าวถึงในหมู่นักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศ ในที่นี้ได้แบ่งการอธิบายปัจจัยทั้ง 2 ประการ ดังนี้

 1. ปัจจัยทางเศรษฐกิจ

มีการอธิบายสาเหตุจูงใจทางเศรษฐกิจออกเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหภาค
และประโยชน์ทางการค้า

สาเหตุจูงใจทางเศรษฐกิจมหภาคเป็นการพิจารณาจากประโยชน์ที่ทั้งผู้ให้ความช่วยเหลือและผู้รับความช่วยเหลือจะได้รับจากการโอนย้าย เงินทุนต่างประเทศ (foreign capital)” เพื่อปิดช่องว่างของการออม (saving gap)และปิดช่องว่างของการเงินตราต่างประเทศ (foreign exchange gap) (Meier, 1968, pp. 97-98) โดยการปิดช่องว่างการออมหมายถึงการไหลของเงินออมส่วนเกินจากผู้ให้ความช่วยเหลือ (ซึ่งมักเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่ประชาชนมีระดับการออมสูง) โอนไปเป็นเงินลงทุนและการลงทุนจากต่างประเทศในประเทศผู้รับการช่วยเหลือซึ่งปกติมักขาดแคลนเงินออมเพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศ โดยหากไม่มีเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศดังกล่าวแล้ว ผู้รับความช่วยเหลือจำเป็นต้องก่อหนี้สาธารณะเพิ่มเติมหรือใช้เงิน      คงคลังที่มีอยู่เพียงน้อยนิดเพื่อให้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศนอกเหนือจากรายได้จากภาษีอากรที่ยังมีไม่เพียงพอ ดังนั้น เมื่อคำนึงถึงผลลัพธ์ที่ต่างฝ่ายต่างชนะ (win-win outcome) ประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือจะได้รับประโยชน์จากดอกผลของเงินลงทุนที่สูงขึ้น (higher return) ในขณะที่ประเทศผู้รับความช่วยเหลือจะได้ประโยชน์จากการได้รับเงินทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า (cheaper capital) ส่วนการไหลของเงินตราต่างประเทศจากการให้ความช่วยเหลือทางการเงินของผู้ให้ความช่วยเหลือไปยังผู้รับความช่วยเหลือจะส่งผลให้เกิดเงินทุนไหลเข้า (capital Inflow) ซึ่งจะไปชดเชยความแตกต่างระหว่างรายรับเงินตราต่างประเทศ (เช่น รายรับจากการส่งออก) และรายจ่ายในเงินตราต่างประเทศ (เช่น รายจ่ายจากการนำเข้า) ในดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account Balance) แทนที่จะขจัดช่องว่างด้วยการใช้เงินสำรองระหว่างประเทศ (สาลินี สุวัจนานนท์  วรบัณฑูร, 2532, น. 568; Addison& Mavrotas, 2008, p. 3; Meier, 1968, p. 98-104)

ทั้งนี้ แนวคิดเรื่องการลดช่องว่างยังสามารถอธิบายได้จากสมการบัญชีรายได้ประชาชาติ[3] ซึ่งทำให้ประเทศที่ใช้จ่ายในรูปของการลงทุน (I) และการใช้จ่ายภาครัฐบาล (G) มากกว่าการออมภาคเอกชน (S) และภาษี (T) เกิดช่องว่างทรัพยากร (resource gap) ในระบบเศรษฐกิจ เมื่อมีการนำเข้า (M) มากกว่าการส่งออก (X) ช่องว่างทรัพยากรจะมีผลขยายไปสู่ดุลการชำระเงินและกลายเป็นช่องว่างเงินตราต่างประเทศ (foreign exchange gap) หรือช่องว่างการค้า (trade gap) ดังนั้น ในการลดช่องว่างทรัพยากรและช่องว่างเงินตราต่างประเทศดังกล่าวสามารถทำได้โดยอาศัยความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ซึ่งมีผลทำให้มีเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ (ปิยะศิริ เรืองศรีมั่น และสุชาดา ตั้งทางธรรม, 2545, น. 6)

ส่วนสาเหตุจูงใจด้านการค้า (commercial interest) ของผู้ให้ความช่วยเหลือมักจะเชื่อมโยงกับวิธีการกำหนดข้อผูกพันให้ซื้อสินค้าและบริการจากประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือ (tying of aid หรือ tied aid) โดยยังมีวิธีการ tying ในรูปแบบทางอ้อมด้วย เช่น ผ่านกิจการส่งเสริมการค้าแบบต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น การอุดหนุนโดยให้สินเชื่อเพื่อการส่งออก (export-credit schemes) และการจัดสรรเงินช่วยเหลือให้แก่บริษัท (ของประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือ) ที่เสนอขอประมูลงาน ซึ่งทำให้บริษัทดังกล่าวมีต้นทุนทางธุรกิจต่ำลง และการ tying ทางอ้อมด้วยการกดดันผู้รับความช่วยเหลือให้พยายามจัดซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทในประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือ เป็นต้น ทั้งนี้ การทำ tying aid โดยปกติถือเป็นการสร้างสถานการณ์ “win-win” หรือ การมีประโยชน์ร่วมกัน (mutual interest)” โดยผู้ให้ความช่วยเหลือได้รับผลประโยชน์ทางการค้า ในขณะที่ผู้รับความช่วยเหลือมีการขยายการจ้างงานและขยายการส่งออกพร้อม ๆ กับมีการพัฒนาที่เกิดจากความช่วยเหลือจากต่างประเทศ (Riddell, 2007, pp.98-99) อย่างไรก็ดี การให้ความช่วยเหลือแบบ tied aid ดังกล่าวก็ให้เกิดต้นทุน (extra cost) แก่ประเทศผู้รับความช่วยเหลือ และเป็นประเด็นวิวาทะในเชิงวิชาการเกี่ยวกับความมีประสิทธิผลของการให้ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ซึ่งจะได้กล่าวอย่างละเอียดในหัวข้อถัดไป

 2. ปัจจัยทางการเมือง

Riddell (2007) อธิบายสาเหตุจูงใจที่มาจากปัจจัยด้านประโยชน์ทางการเมือง (รวมถึงประโยชน์เพื่อความมั่นคงแห่งชาติและนโยบายการต่างประเทศ) ว่าถือเป็นสาเหตุจูงใจอันดับแรกสุดในการใช้นโยบายให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศ โดยเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อครั้งมีการฟื้นฟูและบูรณะยุโรปช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมาจนถึงช่วงสงครามเย็นเพื่อปกป้องลัทธิทางการเมืองของแต่ละขั้ว แม้หลังสงครามเย็นยุติก็ยังมีความช่วยเหลืออยู่ต่อเนื่องเพื่อทรงความมีอิทธิพลของประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือต่อประเทศผู้รับความช่วยเหลือ แต่จะมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ทางด้านความมั่นคงและเพื่อการพัฒนา รวมไปถึงเพื่อดำเนินการตามนโยบายสร้างความร่วมมือร่วมกันในทางระหว่างประเทศ (collective international cooperation) อาทิ การให้ความช่วยเหลือเพื่อปฎิบัติตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDGs) ภายใต้กรอบสหประชาชาติ อย่างไรก็ดี ประเทศพัฒนาแล้วผู้ให้ความช่วยเหลือจะมีสาเหตุจูงใจทางการเมือง ความมั่นคงและการต่างประเทศ เน้นหนักความสำคัญแตกต่างกันไป อาทิ สหรัฐอเมริกามุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศเพื่อประโยชน์ด้านการป้องกันประเทศ (defense) ซึ่งรวมถึงการต่อต้านการก่อการร้าย นอกจากนี้ยังเน้นการช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม และเพื่อการพัฒนาอีกด้วย ในขณะที่กลุ่มประเทศแถบยุโรปเหนือ อาทิ สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ มุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาและสร้างความสมานฉันท์ (solidarity) มากกว่า ซึ่งสะท้อนสาเหตุจูงใจแบบ altruistic motives แตกต่างจากประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ที่ใช้การให้ความช่วยเหลือเพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงและความเจริญแก่ประเทศของตน สำหรับประเทศฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร สเปน เบลเยี่ยม และเนเธอร์แลนด์ มักมุ่งเน้นการจัดสรรความช่วยเหลือให้แก่ประเทศที่เคยเป็นอดีตอาณานิคมของตน Riddell (2007, pp. 94-99) นอกเหนือจากเหตุผลที่กล่าวแล้ว การให้ความสำคัญแก่ประโยชน์เชิงภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical interest) ยังเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ ให้ความสำคัญ ดังนั้น จึงมีการให้ควมสำคัญกับการช่วยเหลือแก่ประเทศที่เป็นเพื่อนบ้าน (neighbor) อีกด้วย ดังเช่นที่ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ได้มุ่งเน้น (Jones et al., 2005)  

กล่าวโดยสรุปแล้วจะเห็นได้ว่า มูลเหตุสำคัญในการจัดสรรความช่วยเหลือจากต่างประเทศเพื่อการพัฒนามาจากปัจจัยด้านประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและทางการเมืองทั้งของประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือและประเทศผู้รับความช่วยเหลือ อันเป็นแนวคิดที่สะท้อนถึงลัทธิปกป้องผลประโยชน์ของตน (Protectionism) เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี มูลเหตุของการให้ความช่วยเหลือเพื่อเหตุผลด้านมนุษยธรรมของลัทธิเพื่อประโยชน์ส่วนรวม (Altruism) ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ แก่ต่างประเทศอีกด้วย
-------------------------------------------------------------------------------

[1] อาทิ งานของ David Lumsdaine (1993) ในหนังสือเรื่อง Moral Vision in
International Politics: The Foreign Aid Regime ซึ่งสรุปว่าความช่วยเหลือจากต่างประเทศไม่ได้มาจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของผู้ให้ความช่วยเหลือเพียงลำพัง หากแต่ยังมาจากอิทธิพลของนักมนุษยธรรม (Humanitarian) และนักต่อสู้เพื่อความเสมอภาค (Egalitarian) ที่มีต่อผู้ให้ความช่วยเหลือด้วย (Lumsdaine, 1993, p.29)
[2] มีนักวิชาการส่วนใหญ่รวมทั้ง Riddell (2007) ที่เชื่อว่าผลประโยชน์ทางด้าน
เศรษฐกิจ (ด้านมหภาคและการค้า) และผลประโยชน์ทางการเมืองของผู้ให้ความช่วยเหลือเป็นปัจจัยหลักของการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศ อาทิ งานของ Alesina& Dollar (2000) McGillovray (2003) Maizals&Nissanke (1984)  และ Meier (1968) ส่วนนักวิชาการไทยก็มีทัศนะคล้ายคลึงกัน อาทิ ปิยะศิริ เรืองศรีมั่น และสุชาดา ตั้งทางธรรม (2545) ที่กล่าวถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหภาคในการลดช่องว่างการออมและเงินตราต่างประเทศ รัตนา สายคณิต จากการแปลงานของ Meier (ไมเออร์, 2411/2521) และสาลินี สุวัจนานนท์ วรบัณฑูร (2532) ที่อธิบายสาเหตุของการให้ความช่วยเหลือว่ามาจากเศรษฐกิจและการเมืองและสาเหตุของการรับความช่วยเหลือว่ามาจากเศรษฐกิจ การเมือง และมนุษยธรรม
[3] สมการเอกลักษณ์บัญชีรายได้ประชาชาติ (Gross National Income Identity)
แสดงในรูปสมการอย่างง่ายได้ดังนี้
                Y = C + S + T และ Y =  C + I + G + (X – M )
C + S + T         =    C + I + G + (X – M)
                                    S + T    =    I + G + (X – M)
                   (S + T) – (I + G)    =   (X – M)
                   (S – I) + (T – G)     =   (X – M)
หรือ saving gap + fiscal gap     =   foreign exchange gap
นั่นคือ        resource gap          =   foreign exchange gap
โดย Y คือ ผลผลิต (รายได้) ประชาชาติ C คือ การบริโภค I คือ  การลงทุน G คือ การใช้จ่ายของรัฐบาล X คือ การส่งออก M คือ การนำเข้า S คือ การออม และ T คือ ภาษี (ปิยะศิริ เรืองศรีมั่น และสุชาดา ตั้งทางธรรม, 2545) รายละเอียดของสมการดังกล่าวยังสามารถค้นคว้าได้จากงานของ Branson (1989, p. 27)  

บรรณานุกรม

ปิยะศิริ เรืองศรีมั่น, และสุชาดา ตั้งทางธรรม. (2545). การลงทุนและความช่วยเหลือทางการเงิน
            ระหว่างประเทศกับการพัฒนา. ใน ประมวลสาระชุดวิชาเศรษฐศาสตร์การพัฒนา
          หน่วยที่ 11-15 (พิมพ์ครั้งที่ 2, น. 1-54). นนทบุรี: สำนักพิมพ์
            มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
ไมเออร์, เจอราลด์ เอ็ม. (2521). เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา (The International
            Economics of Development: Theory and Policy) (รัตนา สายคณิต, ผู้แปลและ
            เรียบเรียง). กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช. (ต้นฉบับพิมพ์ปี 1968)
สาลินี สุวัจนานนท์  วรบัณฑูร. (2532). การลงทุนและความช่วยเหลือจากต่างประเทศ. ใน
            เอกสารการสอนชุดวิชาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (International Economics)
          หน่วยที่ 8-15 (พิมพ์ครั้งที่ 3, ล. 2, น. 529-572).  นนทบุรี: สำนักพิมพ์
            มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
Addison, T.& Mavrotas, G. (2008). Development Finance in the Global Economy: The
          Road  Ahead. Hampshire/New York: United Nations University
Alesina, A.,& Dollar, D. (2000). Who Gives Foreign Aid to Whom and Why? Journal of
          Economic Growth, 5, 33-63.
Branson, W.H. (1989). Macroeconomic Theory and Policy (3rd Edition). New York:
            Harper & Row.
Jones, S., Riddell, R., & Kotoglou, K. (2005). Aid Allocation Criteria: Managing for
Development Results and Difficult Partnerships. Paris: OECD.
Lumsdaine, D.H. (1993). Moral Vision in International Politics: The Foreign Aid Regime
1949-1989. Princeton, NJ: Princeton University Press.
McGillivray, M. (2003). Aid Effectiveness and Selectivity: Integrating Multiple Objectives
into Aid Allocations. DAC Journal, 4 (3), 23-36.
Maizals, A., & Nissanke, M.K. (1984). Motivations for Aid to Developing Countries. World
          Development, 12 (9), 879-900.  
Menard, C., & Shirley, M.M. (2005). Introduction. In C. Menard and M.M. Shirley
(Eds.). Handbook of New Institutional Economics (pp. 1-18). Dordrecht:
Springer.
Meier, G. M. (1968). The International Economics of Development: Theory and Policy.
New York: Haper&Row.
Riddell, R.C. (2007). Does Foreign Aid Really Work? New York: Oxford University Press.
                 




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น