วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การจัดการโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว


สิริยุพา เลิศกาญจนาพร
         
          ท่ามกลางการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่รุนแรงในช่วงศตวรรษที่ 21 ทำให้มุมมองในการบริหารจัดการธุรกิจเปลี่ยนจากการให้ความสนใจเฉพาะองค์กรมาเป็นการบริหารจัดการในภาพรวมตลอดทั้งธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกันตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยอาศัยหลักการจัดการโซ่อุปทานซึ่งเป็นแนวคิดการบริหารจัดการเชิงระบบ(System approach)  ซึ่งแรกเริ่มได้มีการนำมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อปรับปรุงคุณภาพสินค้า เพิ่มสมรรถนะในการแข่งขัน โดยหลักการสำคัญของการจัดการโซ่อุปทาน (Supply Chain Management : SCM) คือต้องตระหนักว่าสมาชิกในโซ่อุปทานมีความเป็นอิสระจากกัน และจะทำอย่างไรให้แต่ละฝ่ายสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
งานวิจัยด้านการจัดการโซ่อุปทานที่ผ่านมามุ่งความสนใจไปยังภาคอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากมีตัวสินค้าที่สามารถจับต้องได้ และมีระบบการผลิตที่เห็นเป็นรูปธรรม แต่ปัจจุบันแนวโน้มงานวิจัยด้านการจัดการโซ่อุปทานเริ่มให้ความสนใจในธุรกิจบริการมากขึ้น และการศึกษาโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็เป็นหนึ่งในความท้าทายนั้น เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมในภาคบริการที่ได้รับการยอมรับว่ามีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม ในแง่ของการสร้างรายได้ สร้างงาน และสร้างธุรกิจต่อเนื่อง ในปี 2553 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 15.75 ล้านคน สร้างรายได้ให้กับประเทศถึง 5.6 แสนล้านบาท[1]
แต่จากรายงานการวิจัย[2] กลับระบุว่าปัญหาด้านการท่องเที่ยวของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ซึ่งหมายรวมถึงประเทศไทยด้วยนั้น ไม่ได้อยู่ที่แหล่งท่องเที่ยว หากแต่อยู่ที่การจัดการห่วงโซ่อุปทานด้านการท่องเที่ยว (Tourism Supply Chain) ด้วยเหตุที่การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมในภาคบริการ ที่มีลักษณะเฉพาะของธุรกิจแตกต่างไปจากธุรกิจในภาคอุตสาหกรรม กล่าวคือเป็นบริการที่ไม่มีตัวตนจับต้องไม่ได้  ไม่สามารถจัดส่งบริการท่องเที่ยวให้กับลูกค้าได้เหมือนสินค้าทั่วไป ลูกค้าหรือนักท่องเที่ยวต้องเดินทางมารับบริการท่องเที่ยวนั้นด้วยตนเอง ณ แหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ อุปสงค์หรือความต้องการซื้อบริการท่องเที่ยวขึ้นลงตามฤดูกาล บริการการท่องเที่ยวไม่สามารถเก็บไว้ใช้ได้ องค์ประกอบของการให้บริการด้านการท่องเที่ยวมีความหลากหลายประกอบด้วยการดำเนินการร่วมกันของหลายฝ่ายซึ่งต่างมีความเป็นอิสระต่อกัน ทำให้ยากต่อการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานการบริการ การจัดการโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจึงมีความสำคัญและจำเป็นเพื่อให้การบริหารจัดการขั้นตอนต่างๆในการให้บริการท่องเที่ยวเกิดความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพสูงสุดทั้งในแง่ของต้นทุน เวลา และ ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว
          X.Zhang et al. (2009) ได้ให้คำนิยามว่า โซ่อุปทานการท่องเที่ยว หมายถึง เครือข่ายขององค์กรด้านการท่องเที่ยวที่มีส่วนร่วมในสร้างสรรค์กิจกรรมและผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวจนกระทั่งมีการส่งมอบบริการนั้นให้กับนักท่องเที่ยว
          เครือข่าย (Network) ด้านการท่องเที่ยวที่ร่วมมือกันสรรสร้างผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวนั้นครอบคลุมการดำเนินงานของธุรกิจหลากหลายสาขา เช่น ธุรกิจที่พัก ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจสินค้าที่ระลึก ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจซักรีด ธุรกิจบันเทิง ฯลฯ ซึ่ง Collier and Harraway (1997) ระบุว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีองค์ประกอบที่สำคัญ 4 ส่วน ซึ่งถือเป็นผู้ให้บริการโดยตรง(Direct Providers) ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ได้แก่ 
          1.การขนส่ง  (Transportation)  การขนส่งทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าถึงยังแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างรวดเร็วและสะดวกสบาย   นับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างมากต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว    การขนส่งมีหลายรูปแบบ เช่น   การขนส่งทางบก   ทางน้ำ   และทางอากาศ
            2. ที่พัก  (Accommodation)  เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวจึงจำเป็นต้องมีที่พักในบริเวณใกล้เคียงแหล่งท่องเที่ยว   เช่น   โรงแรม   รีสอร์ท  อพาร์ทเม้นท์ เกสต์เฮ้าส์ การให้บริการด้านที่พักอาจแตกต่างออกไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ประกอบการ   รสนิยมของผู้บริโภคและสภาพแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยว 
          3. สิ่งดึงดูดใจ  กิจกรรม  และสิ่งอำนวยความสะดวกในการบริการต่างๆ  (Attractions Activities and Ancillary Services)   วัตถุประสงค์หลักในการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ คือต้องการได้รับความเพลิดเพลินสนุกสนานและประสบการณ์แปลกใหม่ในการเดินทางท่องเที่ยว   สิ่งดึงดูดใจให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวอาจเป็นสถานที่ (sites) หรือ เหตุการณ์ (Events)  ซึ่งเกิดได้ตามธรรมชาติหรือมนุษย์สร้างขึ้น รวมไปถึงกิจกรรมการท่องเที่ยว และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆในการให้บริการการท่องเที่ยวเพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว เช่น การอำนวยความสะดวกในด้านการเดินทางเข้าออกประเทศ ด้านสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ
          4.การขาย (Sales) เป็นกิจกรรมที่ช่วยกระจายบริการด้านการท่องเที่ยวจากผู้ให้บริการไปยังผู้บริโภคหรือนักท่องเที่ยว ซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย เช่น  ผู้ขายส่งบริการด้านการท่องเที่ยว(Tour Operator)  ตัวแทนจัดการเดินทาง (Travel Agents)  ตัวแทนจำหน่ายและเฉพาะทาง(Specially Chandlers)
ต่อมา Richard Tapper (2004) ได้นำเสนอความเชื่อมโยงของธุรกิจภายในโซ่อุปทานการท่องเที่ยว  โดยยังคงไว้ซึ่งองค์ประกอบหลักตามแนวคิดของ Collier and Harraway อันได้แก่ การขนส่ง ที่พัก การขาย สิ่งดึงดูดใจ กิจกรรม และสิ่งอำนวยความสะดวกในการบริการต่างๆ  และได้เพิ่มเติมองค์ประกอบที่สำคัญอื่นในโซ่อุปทานการท่องเที่ยวอีก 12 ประเด็น  ได้แก่ ลูกค้า (Customers) การตลาดและการขาย (Marketing & Sales) การจัดการนำเที่ยว(Tour operating) การจัดหาอาหารและเครื่องดื่ม(Catering, food & beverages) ธุรกิจซักรีด (Laundry)  การผลิตอาหาร(Food Production) การกำจัดของเสียและนำกลับมาใช้ใหม่ (Waste recycling & disposal)  ระบบไฟฟ้าและน้ำประปา (Energy & water supplies) โครงสร้างพื้นฐานและแหล่งทรัพยากรท่องเที่ยว (Infrastructure, services & resources of destinations) เฟอร์นิเจอร์และงานฝีมือ (Furniture & crafts)  วัฒนธรรม เหตุการณ์ทางสังคมและกีฬา (Cultural, social & sports events)  การเดินทางระยะสั้นและสิ่งดึงดูดใจ (Excursions & attractions)  การขนส่งภาคพื้นดิน(Ground transport)  และดำเนินการภาคพื้นดิน(Ground operations)

อย่างไรก็ดีแม้ว่า Tapper จะนำเสนอความเชื่อมโยงในห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยวไว้ถึง 16 ประเด็น แต่งานวิจัยของเขากลับเลือกศึกษาเฉพาะองค์ประกอบหลักในห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยว 4 ด้าน ได้แก่ ที่พัก (Accommodation) การขนส่ง (Transport) การให้บริการนำเที่ยวและกิจกรรม (Ground handlers, excursions and activities) อาหารและงานฝีมือ (Food and craft)

          การจัดการโซ่อุปทานการท่องเที่ยวเป็นการนำหลักการด้านบริหารจัดการมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว งานวิจัยที่เกี่ยวข้องโดยตรงยังมีค่อนข้างจำกัด แต่กรอบแนวคิดหลักที่คล้ายคลึงกันคือในโซ่อุทานการท่องเที่ยวมี Tour operator เปรียบเสมือนผู้ค้าส่งที่ทำหน้าที่ประสานงานองค์ประกอบด้านการบริการอื่นๆ เช่น ที่พัก ขนส่ง ร้านอาหาร เข้ามารวมกันในลักษณะของแพกเกจทัวร์แล้วนำเสนอแพกเกจทัวร์นั้นผ่านตัวแทนบริษัทนำเที่ยวและผ่านต่อไปยังนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นผู้บริโภคคนสุดท้าย  จากนั้นจึงศึกษาย่อยลงไปในแต่ละองค์ประกอบของโซ่อุปทานการท่องเที่ยวว่าจะสามารถนำหลักการบริหารใดมาประยุกต์ใช้ได้บ้าง รวมถึงความพยายามในการประเมินประสิทธิภาพของโซ่อุปทานการท่องเที่ยว ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ก็มีหลากหลาย ทั้ง Balance Scorecard, SCOR model และ SERVQUAL

บรรณานุกรม
[1]      Richard Tapper, 2004, “Tourism supply chains”, Report of a desk research project for the travel foundation, Final report 31st January 2004.
[2]      Xinyan Zhang, Haiyan Song, George Q.Huang, 2009, “Tourism supply chain management : A new research agenda”, Tourism Management, Vol.30 pp.345-358.



[1] ข้อมูลจากการแถลงข่าวสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สรุปสถานการณ์ท่องเที่ยวปี 2553 คาดการณ์ปี 2554 และข้อเสนอทิศทางการพัฒนา
[2] มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด และคณะ,การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงบูรณาการที่ยั่งยืนในลุ่มแม่น้ำโขง 3
 

วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

แนวคิดเรื่อง “ภัยคุกคามจากจีน” (The China Threat)

Chairman of the US Joint Chiefs of Staff Marine Gen. Peter Pace inspects the guard of honor during a welcome ceremony at the Defence Ministry in Beijing March 22, 2007. [Reuters]

สิทธิพล เครือรัฐติกาล
แนวคิดที่ว่าจีนเป็นภัยคุกคามหรือมีความสามารถที่จะเป็นภัยคุกคามนั้นมีมาเป็นเวลานานแล้ว ทั้งในยามที่จีนอ่อนแอและในยามที่จีนเข้มแข็ง ความวุ่นวายทางการเมืองและสังคมของจีนในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้ทำให้มีชาวจีนอพยพออกไปทำงานและตั้งถิ่นฐานยังต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และทำให้รัฐบาลของประเทศที่ชาวจีนเข้าไปอาศัยอยู่มองดูชาวจีนด้วยความหวาดระแวง ดังเช่นในสหรัฐอเมริกาที่แรงงานจีนจำนวนมากเข้าไปแย่งงานชาวอเมริกันในแถบชายฝั่งตะวันตก จนทำให้ทางการสหรัฐฯ ต้องออกรัฐบัญญัติกีดกันชาวจีน (The Chinese Exclusion Act) เมื่อ ค.ศ. 1882 (Moss, 2000, p. 19) หรือในกรณีของไทย ซึ่งแม้ว่าการลงนามในสนธิสัญญาบาวริ่ง (The Treaty of Bowring) เมื่อ ค.ศ. 1855 จะทำให้รัฐบาลสยามต้องการแรงงานมากขึ้น และชาวจีนก็เป็นผู้ให้แรงงานได้อย่างดีที่สุด หากแต่เมื่อเวลาผ่านไป รัฐบาลสยามก็มีความเคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับทัศนคติทางการเมืองของชาวจีนเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทศวรรษ 1910 ที่แนวคิดการปฏิวัติสาธารณรัฐของ ดร. ซุนยัตเซ็น กำลังแพร่กระจายอยู่ทั้งภายในและภายนอกประเทศจีน ดังพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ ค.ศ. 1910 – ค.ศ. 1925) ที่ทรงเปรียบเปรยว่าชาวจีนเป็น “ยิวแห่งบูรพทิศ” ซึ่งยังคงผูกพันและภักดีต่อแผ่นดินจีน บูชาเงินเป็นพระเจ้า ไม่มีศีลธรรม และเป็นกาฝากที่เกาะกินอยู่บนเศรษฐกิจของสยาม (สกินเนอร์, 2548, น. 166-167)

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้รับชัยชนะในสงครามกลางเมืองและก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1949 โลกในขณะนั้นได้เข้าสู่สภาวะสงครามเย็น อันเป็นการเผชิญหน้าระหว่างโลกเสรีที่นำโดยสหรัฐอเมริกา กับโลกสังคมนิยมที่นำโดยสหภาพโซเวียต จีนได้ประกาศนโยบาย “เอียงเข้าข้างหนึ่ง” (lean-to-one-side policy) นั่นคือการอยู่ข้างสหภาพโซเวียต จีนจึงกลายเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงทางลบในสายตาของผู้คนในโลกเสรี การที่จีนส่งทหารเข้าไปช่วยเกาหลีเหนือต่อสู้กับสหรัฐอเมริกาในสงครามเกาหลี รวมทั้งช่วยเหลือขบวนการปฏิวัติฝ่ายซ้ายในประเทศต่างๆ ทำให้มีการมองว่าจีนเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของโลก (Mackerras, 1999, pp. 84-90) จนกระทั่งจีนยุตินโยบายส่งออกการปฏิวัติและหันมาปฏิรูปเศรษฐกิจเมื่อสิ้นทศวรรษ 1970 แนวคิดเรื่องภัยคุกคามจากจีนจึงลดลงไป และแทนที่ด้วยความชื่นชมและคาดหวัง (โดยเฉพาะในโลกตะวันตก) ที่ว่า จีนกำลังปฏิรูปเศรษฐกิจให้ทันสมัยตามแบบตะวันตก ซึ่งเป็นวิถีทางที่ถูกต้อง (Mackerras, 1999, pp. 134-135) และหนึ่งในสัญลักษณ์ที่สะท้อนว่าโลกตะวันตกมองจีนในทางที่ดีมากขึ้นก็คือ การที่เติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำสูงสุดของจีนได้รับเลือกจากนิตยสาร ไทม์ (Time) ของสหรัฐอเมริกาให้เป็นบุคคลแห่งปี (Man of the Year) ถึง 2 ครั้ง คือใน ค.ศ. 1979 และ ค.ศ. 1986

นับจากทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การขยายบทบาทในเวทีโลก รวมทั้งการพัฒนากองทัพให้ทันสมัยของจีน ทำให้ทั่วโลกจับตามองความเคลื่อนไหวของจีนอย่างใกล้ชิด และมีการพูดกันอยู่บ่อยครั้งถึง “การทะยานขึ้นของจีน” (The Rise of China) และการที่คริสต์ศตวรรษที่ 21 จะเป็น “ศตวรรษของจีน” (The Chinese Century) ผลการสำรวจของหน่วยงานในสหรัฐอเมริกาที่มีชื่อว่า The Global Language Monitor เมื่อ ค.ศ. 2009 ระบุว่า ข่าวที่เกี่ยวกับ “การทะยานขึ้นของจีน” ถือเป็นข่าวที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจมากที่สุดในรอบทศวรรษ ทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีคนให้ความสนใจมากกว่าข่าวสงครามที่สหรัฐอเมริกาบุกยึดอิรักเมื่อ ค.ศ. 2003 ถึง 4 เท่า (China’s rise most read story of the decade, 2009, December 8) และสิ่งหนึ่งที่ตามมาพร้อมกับความสนใจที่ผู้คนทั่วโลกมีต่อจีนก็คือ การกลับมาของแนวคิดที่ว่าจีนเป็นภัยคุกคาม หรือที่รู้จักกันในนามของแนวคิดเรื่อง “ภัยคุกคามจากจีน” (The China Threat) ซึ่งแพร่หลายอยู่ในโลกตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา

ความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างราบรื่นระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาหลังการไปเยือนจีนของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard M. Nixon) เมื่อ ค.ศ. 1972 มาสะดุดลงใน ค.ศ. 1989 เมื่อเกิดเหตุการณ์นองเลือด ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน พร้อมๆ กับการล่มสลายของโลกคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกและสหภาพโซเวียต ผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาเริ่มมองจีนในฐานะที่เป็นประเทศที่ท้าทายอำนาจและผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในโลกยุคหลังสงครามเย็น แนวคิดเรื่อง “ภัยคุกคามจากจีน” จึงปรากฏให้เห็นมากขึ้นนับแต่นั้นมา และบางครั้งมีการนำแนวคิดนี้ไปใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองภายในอีกด้วย เช่น การหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี เป็นต้น ประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ทำให้ชาวอเมริกันให้การตอบรับกับแนวคิดเรื่อง “ภัยคุกคามจากจีน” อยู่ไม่น้อย เพราะพวกเขาถือว่า “ประชาธิปไตย” (democracy) และ “เสรีภาพ” (freedom) เป็นค่านิยมสากล และสหรัฐฯ มีหน้าที่ต้องส่งเสริมค่านิยมเหล่านี้ในระดับโลกด้วยการเข้าไปแทรกแซงเสียแต่เนิ่นๆ ดีกว่าจะปล่อยให้ประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเหล่านี้เติบโตขึ้นจนสหรัฐอเมริกาต้องเข้าไปเกี่ยวข้องในภายหลังเหมือนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสอง (Lampton, 2002, pp. 250-251)

ฝ่ายบริหารของสหรัฐอเมริกาซึ่งรับผิดชอบด้านการต่างประเทศโดยตรงได้มีส่วนสำคัญในการนำเสนอแนวคิดเรื่อง “ภัยคุกคามจากจีน” ตัวอย่างเช่น ใน ค.ศ. 1992 เจมส์ ลิลลี่ (James Lilley) ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวถึงภัยคุกคามจากจีนและสนับสนุนให้สหรัฐอเมริกาขายเครื่องบินรบเอฟ 16 จำนวน 150 ลำให้แก่ไต้หวัน (Tyler, 1999, p. 377) หรือเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2005 โดนัลด์ รัมสเฟลด์ (Donald Rumsfeld) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวสุนทรพจน์ ณ ประเทศสิงคโปร์ โดยระบุว่าจีนเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของเอเชีย (Rumsfeld: China’s military buildup a threat, 2005, June 4) นอกจากนี้ ยังมีการนำประเด็นเรื่อง “ภัยคุกคามจากจีน” มาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกด้วย โดยในการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อ ค.ศ. 1992 บิล คลินตัน (Bill Clinton) ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสังกัดพรรคเดโมแครตได้เรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาเป็น “อเมริกาที่ไม่พะเน้าพะนอทรราชอย่างแบกแดดและปักกิ่ง” (Tyler, 1999, p. 386) และต่อมาในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ ค.ศ. 2000 จอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสังกัดพรรครีพับลิกันได้กล่าวไว้ในรายการ Larry King Show เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2000 ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนควรเป็นไปในลักษณะของ “คู่แข่งทางยุทธศาสตร์” (strategic competitor) มากกว่าการเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” (strategic partner) และเขาจะไม่ยอมให้มีภัยใดๆ มาคุกคามพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคตะวันออกไกล (George W. Bush on Foreign Policy, 2009)

ฝ่ายนิติบัญญัติอย่างสภาคองเกรสเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการนำเสนอแนวคิดที่ว่าจีนเป็นภัยคุกคาม โดยเมื่อ ค.ศ. 2000 สภาคองเกรสได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการทบทวนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน (The U.S. – China Economic and Security Review Commission) ซึ่งทำหน้าที่สอดส่อง สืบสวน และส่งรายงานประจำปีต่อสภาคองเกรสในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจทวิภาคีระหว่างสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีนัยสำคัญต่อความมั่นคงแห่งชาติ รวมทั้งให้คำแนะนำตามที่เห็นควรแก่สภาคองเกรสเพื่อดำเนินการทางนิติบัญญัติและทางบริหาร (U.S. - China Economic and Security Review Commission, 2009)

ขณะที่นักวิชาการและนักสื่อสารมวลชนในสหรัฐอเมริกาก็มีส่วนสำคัญในการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ “ภัยคุกคามจากจีน” เช่นเดียวกัน อาทิ หนังสือ The Coming Conflict with China ของ Bernstein and Munro (1997) หนังสือ Red Dragon Rising: Communist China’s Military Threat to America ของ Timperlake and Triplett II (1999) หนังสือ The China Threat: How the People’s Republic Targets America ของ Gertz (2000) หนังสือ Hegemon: China’s plan to dominate Asia and the world ของ Mosher (2000) บทความเรื่อง “Preventing War between China and Japan” ของ Friedman (2000) และหนังสือ China: The Gathering Threat ของ Menges (2005) เป็นต้น โดยบุคคลเหล่านี้ยังได้เขียนบทความหรือให้สัมภาษณ์ลงในหนังสือพิมพ์และนิตยสารฉบับต่างๆ เช่น Time, Washington Times, New York Times เป็นต้น รวมทั้งเป็นวิทยากรรับเชิญในสถานีโทรทัศน์ชั้นนำที่แพร่ภาพในระดับสากลอย่าง CNN และ BBC อีกด้วย

ในทวีปยุโรป แม้ว่าการศึกษาเกี่ยวกับประเทศจีนแต่เดิมจะเน้นหนักไปในทางจีนวิทยา (Sinology) เป็นส่วนใหญ่ หากแต่ในปลายทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ได้เริ่มมีนักวิชาการที่สนใจเกี่ยวกับประเด็นด้านความมั่นคงและนโยบายต่างประเทศของจีนมากขึ้น (ดู Möller, 2007) และบางคนก็ได้นำเสนอแนวคิดที่ว่าจีนเป็นภัยคุกคาม อาทิ บทความของ Segal (1995, August 7) เป็นต้น แนวคิดทำนองนี้ยังปรากฏในประเทศที่มีปัญหาในความสัมพันธ์กับจีนอีกด้วย ดังที่ประเด็นเรื่อง “ภัยคุกคามจากจีน” ได้เป็นหัวข้อศึกษาวิจัยที่สำคัญในวงวิชาการด้านความมั่นคงศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเศรษฐศาสตร์ของญี่ปุ่น (ดู Ohashi, 2007 และ Takagi, 2007) หรือในกรณีของอินเดียที่ผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศแสดงความกังวลต่อพัฒนาการทางทหารของจีน (Burns, 1998, May 5)

เอกสารอ้างอิง
สกินเนอร์, จี. วิลเลียม. (2548). สังคมจีนในประเทศไทย: ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์ (พรรณี ฉัตรพลรักษ์, ภรณี กาญจนัษฐิติ, ชื่นจิตต์ อำไพพรรณ, ปรียา บุญยะศิริ, ม.ร.ว. ประกายทอง สิริสุข และ ศรีสุข ทวิชาประสิทธิ, ผู้แปล; ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, บรรณาธิการและคำนำ; พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

Bernstein, Richard and Ross H. Munro. (1997). The Coming Conflict with China. New York: Alfred J. Knopf.

Burns, John F. (1998, May 5). India’s New Defense Chief Sees Chinese Military Threat. New York Times. Retrieved November 18, 2008, from http://query/nytimes. com.

China’s rise most read story of the decade. (2009, December 8). China Daily. Retrieved December 9, 2009, from http://www.chinadaily.com.cn/china/2009-12/08/ content_9139100.htm.

Friedman, Edward. (2000). Preventing War between China and Japan. In Edward Friedman and Barrett L. McCormick (Eds.), What If China Doesn’t Democratize? (pp. 99-128). Armonk, N.Y.: M.E. Sharp, Inc.

George W. Bush on Foreign Policy. (2009). Retrieved December 10, 2009, from http://www.ontheissues.org.

Gertz, Bill. (2000). The China Threat: How the People’s Republic Targets America. Washington, DC: Regnery Publishing, Inc.

Lampton, David M. (2002). Same Bed, Different Dreams: Managing U.S. – China Relations 1989-2000. Berkeley, CA: University of California.

Mackerras, Colin. (1999). Western Images of China. Hong Kong: Oxford University Press.

Menges, Constantine C. (2005). China: The Gathering Threat. Nashville, TN: Nelson Current.

Möller, Kay. (2007). Studies of China’s Foreign and Security Policies in Europe. In Robert Ash, David Shambaugh and Seiichiro Takagi (Eds.), China Watching: Perspectives from Europe, Japan and the United States (pp. 171-188). London: Routledge.

Mosher, Steven W. (2000). Hegemon: China’s plan to dominate Asia and the world. San Francisco, CA: Encounter Books.

Moss, George Donelson. (2000). America in the Twentieth Century (Fourth Edition). Upper Saddle River, NJ: Prentice Hall.

Ohashi, Hideo. (2007). Studies of China’s Economy in Japan. In Robert Ash, David Shambaugh and Seiichiro Takagi (Eds.), China Watching: Perspectives from Europe, Japan and the United States (pp. 50-79). London: Routledge.

Rumsfeld: China’s military buildup a threat. (2005, June 4). Defense & Security News. Retrieved December 10, 2009, from http://www.defencetalk.com.

Segal, Gerald. (1995, August 7). We Can Shape China as a Congenial Superpower – Policy: Western interests can be influential and helpful to Beijing while holding fast on ‘containment’. Los Angeles Times. Retrieved September 12, 2009, from http://articles.latimes.com/1995-08-07/local/me32313_1_coastal-china.

Takagi, Seiichiro. (2007). Studies of China’s Foreign and Security Policies in Japan. In Robert Ash, David Shambaugh and Seiichiro Takagi (Eds.), China Watching: Perspectives from Europe, Japan and the United States (pp. 189-212). London: Routledge.

Timperlake, Edward and William C. Triplett II. (1999). Red Dragon Rising: Communist China’s military threat to America. Washington, DC: Regnery Publishing, Inc.

Tyler, Patrick. (1999). A Great Wall: Six Presidents and China: An Investigative History. New York: PublicAffairs.

The U.S. - China Economic and Security Review Commission. (2009). Fact Sheet: About the Commission. Retrieved December 4, 2009, from http://www.uscc.gov/ about/facts.php.

วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ประสิทธิผลของความช่วยเหลือจากต่างประเทศเพื่อการพัฒนา (Aid Effectiveness)


สมคิด บุญล้นเหลือ
นักศึกษาปริญญาเอกสหวิทยาการ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                   ความสำเร็จหรือความมีประสิทธิผลของการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (ODA) เป็นประเด็นที่มีความสำคัญยิ่งต่อการสร้างความยั่งยืนให้แก่ภารกิจความช่วยเหลือจากต่างประเทศเพื่อการพัฒนา ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์มีแนวคิดในการวิเคราะห์อยู่         2 กรอบใหญ่ กรอบแรกเป็นการวิเคราะห์ประสิทธิผลเชิงเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งเป็นกรอบการวิเคราะห์กระแสหลัก ส่วนอีกกรอบหนึ่งเป็นการวิเคราะห์ประสิทธิผลของความช่วยเหลือจากมุมมองเชิงเศรษฐกิจการเมืองและโดยเฉพาะในแขนงของเศรษฐศาสตร์สถาบัน (Institutional Economics)
                   1. ประสิทธิผลเชิงเศรษฐกิจมหภาค
                       มุมมองด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคมุ่งวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของการให้ความช่วยเหลือจากต่างประเทศกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (aid and growth) ในรูปแบบผลกระทบของความช่วยเหลือที่มีต่อรายได้ประชาชาติต่อหัว (per capita income) ของประเทศผู้รับความช่วยเหลือ โดยส่วนใหญ่เป็นผลงานเชิงประจักษ์ที่ใช้การวิเคราะห์การเติบโตแบบถดถอย (growth regression) ด้วยวิธีการทางเศรษฐมิติ ซึ่งมีทั้งการให้ข้อสรุปในเชิงบวกของการให้ความช่วยเหลือจากต่างประเทศที่มีผลต่อขนาดและทิศทางของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศผู้รับความช่วยเหลือ อาทิ งานของ World Bank (1998)[1] อย่างไรก็ดี มีผลงานเชิงประจักษ์เช่นกันที่ให้ข้อสรุปว่าการให้ความช่วยเหลือจากต่างประเทศแม้จะมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกับการเพิ่มรายได้ประชาชาติต่อหัว แต่ผลของมันมีขนาดเพียงเล็กน้อยมาก ตัวอย่างเช่นงานของ Tran Van Hoa (2007) ที่ได้พยายามวัดประสิทธิผลของความช่วยเหลือจากต่างประเทศต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจในประเทศไทยในช่วง 19 ปีที่ผ่านมา (1986-2004) โดยใช้แบบจำลองการเติบโตแบบ generalized gravity theory (GGT) พบว่าการให้ความช่วยเหลือแบบ ODA มีผลกระทบเชิงบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยแต่ส่งผลเล็กน้อยมาก กล่าวคือ การให้ความช่วยเหลือแบบ ODA มีผลต่อการเพิ่มรายได้ต่อหัวเพียงร้อยละ 0.003 (ณ ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 10) ซึ่งผลการศึกษาความมีประสิทธิผลที่ต่ำของการให้ความช่วยเหลือในเชิงเศรษฐกิจมหภาคดังกล่าวสนับสนุนแนวคิดเรื่องความมีประสิทธิผลต่ำของการให้ความช่วยเหลือจากต่างประเทศโดยเฉพาะที่มีผลต่อการบรรลุวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาประเทศผู้รับความช่วยเหลือ[2] ดังนั้น จึงยังมีประเด็นที่เป็นวิวาทะกันโดยไม่มีข้อสรุปตายตัวว่าการให้ความช่วยเหลือจากต่างประเทศจะมีประสิทธิผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศผู้รับความช่วยเหลือจริงหรือไม่
                   2. ประสิทธิผลเชิงเศรษฐกิจการเมืองและเศรษฐศาสตร์สถาบัน
                      นอกจากประเด็นผลกระทบของความช่วยเหลือต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว ยังมีประเด็นเกี่ยวกับประสิทธิผลของการให้ความช่วยเหลือจากต่างประเทศในมุมมองด้านเศรษฐกิจการเมืองและเศรษฐศาสตร์สถาบันอีกด้วย
                       ประเด็นแรกที่มีการพิจารณากันมากมักเป็นกรณีของการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแบบเงินให้กู้เงื่อนไขผ่อนปรนแต่มีข้อผูกพันการให้กู้ (tied aid) ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักมีเงื่อนไขผูกพันให้ประเทศผู้รับเงินกู้ต้องซื้อสินค้าและบริการจากประเทศผู้ให้กู้ ทำให้ถูกจำกัดเสรีภาพในการเลือกซื้อสินค้าและบริการจากแหล่งที่มีต้นทุนต่ำสุด นอกจากนี้ เงื่อนไขผูกพันดังกล่าวมักกำหนดให้ต้องซื้อสินค้าและบริการจากผู้ผลิตของประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือ และมักตั้งราคาแพงกว่าปกติอีกด้วย โดยมีการประเมินว่า การช่วยเหลือแบบมีข้อผูกพันเป็นการตัดทอนมูลค่าเงินช่วยเหลือที่ได้รับถึงร้อยละ 25-40 ของเงินที่ได้รับการช่วยเหลือ เนื่องจากต้องจ่ายเป็นค่าสินค้าและบริการนำเข้าจากประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือในราคาที่ไม่เป็นไปตามราคาตลาด ดังนั้น จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าความช่วยเหลือดังกล่าวเป็นเพียงเครื่องมือด้านนโยบายการต่างประเทศ (foreign policy tool) ชนิดหนึ่งเพื่อช่วยเหลือประเทศผู้ให้มากกว่าช่วยเหลือประเทศผู้รับ (Shah, 2010, pp. 35-37)  นอกจากนี้ tied aid ที่มีภาระต้นทุนแก่ประเทศผู้รับความช่วยเหลือ เป็นการลดมูลค่าที่แท้จริงของความช่วยเหลือจากต่างประเทศลงด้วย เนื่องจากราคาในประเทศที่ให้ความช่วยเหลือสูงมากและเทคโนโลยีอาจไม่เหมาะสมกับประเทศผู้รับความช่วยเหลือ เป็นสาเหตุให้เกิดการบิดเบือนการจัดสรรทรัพยากรเพื่อการลงทุนและเป็นเครื่องมือปกป้องที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือ (ปิยะศิริ เรืองศรีมั่นและสุชาดา ตั้งทางธรรม, 2545, น. 10) แต่อย่างไรก็ดี เงินกู้แบบมีข้อผูกพันอาจเป็นทางเลือกที่ดีเป็นอันดับสอง (second best) รองจากทางเลือกที่ดีที่สุดคือการช่วยเหลือทางการเงินแบบไม่มีข้อผูกพัน (untied aid) ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาเต็มใจที่จะยอมรับเมื่อไม่สามารถแสวงหาความช่วยเหลือแบบ untied aid จากต่างประเทศได้ (สาลินี สุวัจนานนท์, 2532, น. 569)    
                        การนำเอาทฤษฎีด้านเศรษฐศาสตร์สถาบันมาใช้อธิบายและวิเคราะห์ความมี ประสิทธิผลของการให้ความช่วยเหลือจากต่างประเทศเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ โดยสำนักเศรษฐศาสตร์สถาบันมีความเชื่อว่าประสิทธิผลของความช่วยเหลือในรูปของผลการดำเนินงาน (aid performance) มาจากการทำงานอย่างมีประสิทธิผลของกลไกเชิงสถาบัน (Institution) และองค์การ (organization)[3] หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ประสิทธิผลของการให้ความช่วยเหลือจะขึ้นอยู่กับการจัดการเชิงสถาบันที่ดี ดังเช่นที่ World Bank (1998) ได้เสนอแนะว่าการจัดการเชิงสถาบันที่ดี ซึ่งรวมถึงการมีระบบนิติธรรมที่แข็งแกร่ง การมีระบบราชการ (หน่วยงานของรัฐ) ที่มีคุณภาพ และการมีระบบการคอรัปชั่นต่ำ จะมีส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและลดความยากจนในประเทศผู้รับการช่วยเหลือ ส่วน  Shirley (2005) อธิบายว่าประสิทธิผลของการพัฒนากับสถาบันที่ดีมีความสัมพันธ์กันในเชิงบวก โดยสถาบันที่ดีในที่นี้คือการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ที่อำนวยให้เกิดการแลกเปลี่ยน (foster exchange) นำมาซึ่งการลดต้นทุนธุรกรรม (transaction cost) ให้ต่ำลง และกฎเกณฑ์การคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินของเอกชน (property rights) ที่มีประสิทธิภาพขึ้น ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคในการลงทุนและนำไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจในประเทศผู้รับการช่วยเหลือได้ (Shirley, 2005, pp.613-616) สำหรับด้านองค์การมีการศึกษาวิเคราะห์ถึงประสิทธิผลของความช่วยเหลือที่เกิดจากการทำงานและความสัมพันธ์ระหว่างองค์การต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานของรัฐผู้ให้ความช่วยเหลือ หน่วยงานของรัฐผู้รับความช่วยเหลือ ผู้รับเหมาเอกชน (subcontractor) ตลอดจนบทบาทของนักการเมือง ประชาชนผู้เสียภาษี (แหล่งเงินทุนของผู้ให้ความช่วยเหลือ) และประชาชนผู้รับผลประโยชน์ (beneficiary) ในประเทศผู้รับความช่วยเหลือ โดยให้ความสำคัญกับปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จ ผลการดำเนินงานหรือประสิทธิผลของการให้ความช่วยเหลือผ่านองค์การเหล่านี้ เช่น ปัจจัยด้านรูปแบบขององค์การ (modes of organization) แรงจูงใจ (incentives) ขององค์การและเจ้าหน้าที่ในองค์การ ความต้องการเป็นเจ้าของ (ownership) ของผู้รับความช่วยเหลือจากโครงการต่าง ๆ ที่ได้รับความช่วยเหลือ เป็นต้น รวมถึงปัญหาตัวการ-ตัวแทน (Principal-Agent Problem) ระหว่างองค์การในฐานะผู้แสดง (actors) ในระบบการให้ความช่วยเหลือจากต่างประเทศที่เป็นอุปสรรคต่อความมีประสิทธิผลของความช่วยเหลือ[4]

กล่าวโดยสรุป ความมีประสิทธิผลของการให้ความช่วยเหลือจากต่างประเทศเพื่อการพัฒนาต่าง ๆ มักนิยมวัดประสิทธิผลจากกรอบมุมมองด้านผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคในประเทศผู้รับความช่วยเหลือ โดยเฉพาะผลของการให้ความช่วยเหลือที่มีต่อการเพิ่มระดับรายได้ประชาชาติต่อหัวในประเทศผู้รับความช่วยเหลือ นอกจากนี้ ยังมีมุมมองเชิงเศรษฐกิจการเมืองและเศรษฐศาสตร์เชิงสถาบันที่ให้ความสำคัญกับการมีโครงสร้างเชิงสถาบันที่ดีทั้งในลักษณะของกฎเกณฑ์กติกาทางกฎหมายและทางบรรทัดฐานสังคม และสถาบันในลักษณะขององค์การ ซึ่งจะส่งผลต่อความมีประสิทธิผลในการให้ความช่วยเหลือจากต่างประเทศเพื่อการพัฒนาได้



บรรณานุกรม

ปิยะศิริ เรืองศรีมั่น, และสุชาดา ตั้งทางธรรม. (2545). การลงทุนและความช่วยเหลือทางการเงิน
            ระหว่างประเทศกับการพัฒนา. ใน ประมวลสาระชุดวิชาเศรษฐศาสตร์การพัฒนา
          หน่วยที่ 11-15 (พิมพ์ครั้งที่ 2, น. 1-54). นนทบุรี: สำนักพิมพ์
            มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
สาลินี สุวัจนานนท์  วรบัณฑูร. (2532). การลงทุนและความช่วยเหลือจากต่างประเทศ. ใน
            เอกสารการสอนชุดวิชาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (International Economics)
          หน่วยที่ 8-15 (พิมพ์ครั้งที่ 3, ล. 2, น. 529-572).  นนทบุรี: สำนักพิมพ์
            มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
Coase, R.H. (1937).  The Nature of Firm. Economica, 4(16), 386–405
Coase, R.H. (1960). The Problem of Social Cost. Journal of Law and Economics, 3,       1-44.
Easterly, W. (2006). The Whiteman Man’s Burden: Why the West’s Efforts to Aid the Rest Have Done So much Ill and So Little Good? New York: Penguin Press.
Easterly, W. (2008). Introduction: Can’t Take It  Anymore. In W. Easterly (Ed.). Reinventing Foreign Aid (pp. 1-43). Cambridge, MA: MIT Press.
Gibson, C.C., Andersson, K., Ostrom, E.,& Shivakumar, S. (2005). The Samaritan’s
Dilemma: The Political Economy of Development Aid. New York: Oxford
University Press.
Martens, B., Mummert, U., Murrell, P., & Seabright, P. (2002). The Institutional
Economics of Foreign Aid. Cambridge: Cambridge University Press.
Menard, C., & Shirley, M.M. (2005). Introduction. In C. Menard and M.M. Shirley
(Eds.). Handbook of New Institutional Economics (pp. 1-18). Dordrecht:
Springer.
North, D.C. (1990). Institutions, Institutional Change, and Economic Performance. New
York: Cambridge University Press.
Shah, A. (2010). Foreign Aid for Development Assistance. Retrieved December 17,
assistance
Shirley, M.M. (2005). Institutions and Development. In C. Menard and M.M. Shirley
(Eds.). Handbook of New Institutional Economics (pp. 611-638). Dordrecht:
Springer.
Williamson, O.E. (2005). Transaction Cost Economics. In C. Menard and M.M. Shirley
(Eds.). Handbook of New Institutional Economics (pp. 41-65). Dordrecht:
Springer.
World Bank. (1998). Assessing Aid: What  Works, What Doesn’t and Why.
Washington, DC: World Bank.



[1] ธนาคารโลกได้เคยประเมินประสิทธิผลของความช่วยเหลือจากต่างประเทศต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและลดความยากจนโดยใช้การวิเคราะห์แบบถดถอยทางเศรษฐมิติ ซึ่งพบว่าความช่วยเหลือมีผลทางบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจภายใต้เงื่อนไขว่าประเทศผู้รับความช่วยเหลือต้องมีสภาพแวดล้อมของการจัดการที่ดี (good/sound management environment) ซึ่งประกอบด้วยการมีสถาบัน (institution) ที่ดี มีระบบนิติธรรม (rule of law) ที่แข็งแกร่ง มีหน่วยงานของรัฐที่มีคุณภาพ และมีการคอรัปชั่นต่ำ และการมีนโยบายที่ดี (มีเสถียพภาพด้านเงินเฟ้อ มีงบประมาณเกินดุล และมีการเปิดเสรีการค้า) (World Bank, 1998, p. 12 และ pp. 121-124)
[2] เช่นงานของนักวิชาการที่มีชื่อเสียงในวงการอย่าง Wlliam Easterly ที่อธิบายถึงการทำงานที่ไร้ผลของการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศโดยผู้ให้ความช่วยเหลือทั้งแบบทวิภาคีและพหุภาคี โดยการทุ่มเงินเป็นจำนวนมหาศาลเพื่อให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา แต่ได้รับผลสำเร็จเล็กน้อยมากและยังไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาโดยเฉพาะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การลดความยากจน และยกระดับสวัสดิการสังคมในประเทศผู้รับความช่วยเหลืออย่างแท้จริงได้ (Easterly, 2006, 2008)  
[3] ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สถาบันแบบใหม่ (New Institutional Economic: NIE) ได้จำแนกสถาบันออกเป็น 2 ลักษณะ คือ สถาบัน (institution) กับองค์การ (organization) โดยDouglass North ได้ให้คำจำกัดความของสถาบันว่าคือข้อจำกัดที่คิดขึ้นโดยมนุษย์เพื่อจัดโครงสร้างปฎิสัมพันธ์ของมนุษย์ด้วยกัน (humanly devised constraints that structure human interaction) ซึ่งประกอบไปด้วยข้อจำกัดที่เป็นทางการ (formal constraints) หรือสถาบันที่เป็นทางการ (formal institution) อาทิ กฎเกณฑ์ (rules) รัฐธรรมนูญ (constitutions) และกฎหมาย (law) และข้อจำกัดที่ไม่เป็นทางการ (informal constraints) หรือสถาบันที่ไม่เป็นทางการ (informal institution) อาทิ บรรทัดฐาน (norms) ธรรมเนียมปฏิบัติ (conventions) และประมวลความประพฤติที่กำหนดขึ้นเอง (self imposed codes of conduct) ในขณะที่ องค์การหมายถึงกลุ่มของบุคคลที่ผูกพันกันด้วยเป้าประสงค์บางอย่างร่วมกันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์บางอย่าง (groups of individuals bound together by some common purpose to achieve certain objectives) นอกจากนี้ สถาบันยังอธิบายความหมายได้ว่าเป็นกฎกติกาการเล่นเกมส์ (rule of the game) ในขณะที่องค์การเป็นผู้เล่น (player) (North, 1990) ทั้งนี้ การศึกษาองค์การตามแนวคิดของ NIE มีหัวใจหลักอยู่ที่การอธิบายโดยใช้ ต้นทุนธุรกรรม (transaction cost)” โดย Ronald Coase (1937, 1960) ได้อธิบายถึงสาเหตุที่องค์การหรือธุรกิจ (firm) ยังคงดำรงอยู่ในระบบเศรษฐกิจได้ก็เพื่อลดต้นทุนธุรกรรม โดยต้นทุนธุรกรรมประกอบด้วยต้นทุนในการสืบหา (searching cost) ต้นทุนในการเจรจา (negotiating cost) ต้นทุนในการตรวจสอบ (monitoring cost) และต้นทุนในการบังคับการตามสัญญา (enforcing contract) จากทฤษฎีของ Coase เป็นรากฐานแนวคิดที่สำคัญของ Oliver Williamson ที่นำไปสู่การศึกษาเรื่องเศรษฐศาสตร์ต้นทุนธุรกรรม (transaction cost economics) เพื่อทำความเข้าใจถึงบทบาทขององค์การในการจัดสรรกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพผ่านการมีระบบสัญญา (contract) ที่ดีและนำไปสู่อภิบาล (governance) ที่พึงปรารถนาได้ (Williamson, 2005) ทั้งนี้ ทั้งสถาบันและองค์การรูปแบบต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกรรมของเอกชนและส่งเสริมพฤติกรรมเชิงร่วมมือกัน (cooperative behavior) จะเป็นปัจจัยที่กำหนดผลการดำเนินงานของระบบเศรษฐกิจแบบตลาดได้ (Menard& Shirley, 2005, p.1)
[4] วรรณกรรมที่มีการวิเคราะห์องค์การด้วยทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองและเศรษฐศาสตร์สถาบันในบริบทของการให้ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เช่น งานของ Gibson et al. (2005) ที่มีการศึกษาเชิงประจักษ์โดยการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานผู้ให้ความช่วยเหลือของสวีเดน (Swedish International Development Cooperation Agency: Sida) ข้าราชการกระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศสวีเดนและประเทศผู้รับความช่วยเหลือ ตลอดจนที่ปรึกษาโครงการและองค์การที่จัดทำโครงการความช่วยเหลือ เพื่อพิสูจน์และพบว่าแรงจูงใจ (incentives) และความเป็นเจ้าของ (ownership) เป็นปัจจัยสำคัญต่อประสิทธิผลด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) ของประเทศผู้รับความช่วยเหลือ นอกจากนี้ ยังมีงานการทดสอบเชิงทฤษฎีของ Martens et al. (2002) เกี่ยวกับแรงจูงใจและข้อจำกัดของหน่วยงานผู้ให้ความช่วยเหลือ ปฎิสัมพันธ์ระหว่างผู้รับเหมาเอกชนกับหน่วยงานผู้รับความช่วยเหลือ แรงจูงใจภายในหน่วยงานผู้รับความช่วยเหลือ และอคติต่อระบบประเมินผลการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีอิทธิผลต่อผลการดำเนินงานของความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ยุคสมัยใหม่กับสุญนิยม: เสรีภาพและอัตลักษณ์ของปัจเจกชน

อัญชลิตา สุวรรณะชฎ



แนวคิดสมัยใหม่ (Modernity) เป็นผลสืบเนื่องมาจากยุคแห่งภูมิปัญญา (Enlightenment) และการปฏิวัติโครงสร้างทางวิทยาศาสตร์ ในศตวรรษที่ 18 ซึ่งทำให้เกิดวิวัฒนาการของวิชาการสมัยใหม่ เป็นยุคที่นักคิดนักเขียนในยุโรปเริ่มตั้งข้อสงสัยต่อศาสนจักร ไม่เชื่อถือต่ออำนาจแบบประเพณีนิยม และต่อต้านการใช้สิทธิอำนาจแบบเด็ดขาด (anti-authoritarian) ผู้ที่มีการศึกษาได้เปิดโลกทัศน์อย่างกว้างไกล และเคารพในเหตุผล โดยเห็นว่าเหตุผลเป็นเครื่องนำทางและบ่งชี้ถึงคุณสมบัติของมนุษย์ กล่าวได้ว่า เป็นยุคของการก่อเกิดแนวคิดแบบเสรีนิยม

ขณะเดียวกันแนวคิดการปฏิเสธต่อการมีอยู่ของหลักความรู้และหลักความจริง โดยมีความเชื่อที่ว่าสถาบันทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม จะต้องถูกทำลายเพื่อให้เกิดสถาบันใหม่ขึ้นมานั้น เนื่องมาจากการวิพากษ์วัฒนธรรมมวลชน ของ เฟรดเดอริค นิทเช่ (Friedrich Nietzsche) ที่ถือเป็นผู้ริเริ่มยุคสมัยใหม่ (Modernism) โดยนำเสนอแนวคิดว่าด้วยเรื่องสุญนิยมหรือความว่างเปล่า (Nihilism)

ยุคสมัยใหม่กับสุญนิยม

ยุคสมัยใหม่ (Modernism) คือ ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีลักษณะสังคมที่ควบคุมบังคับยาก หรืออาจเรียกว่าเป็นสังคมแบบเสี่ยงภัย (risk society) ยกตัวอย่างเช่น มีการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ เมื่อต้นศตวรรษที่ 20 ปัญญาชนของสำนัก Frankfurt School ได้ใช้ทฤษฎี “Critical Theory” วิพากษ์ลัทธิทุนนิยมอุตสาหกรรมแห่งโลกสมัยใหม่ว่า “ในความรู้สึกโดยทั่วไปเกี่ยวกับความคิดที่ก้าวหน้าส่วนใหญ่ ยุค Enlightenment มักจะมีเป้าหมายอยู่ที่การปลดปล่อยมนุษย์ให้เป็นอิสระจากความหวาดกลัวและได้สถาปนาอำนาจอธิปไตยของพวกเขาขึ้นมา กระนั้นก็ตาม โลกที่ถูกทำให้สว่างหรือตื่นขึ้นมาอย่างเต็มที่ (fully enlightened earth) จะแผ่รังสีความหายนะออกมาในลักษณะของผู้มีชัยชนะ... สิ่งที่มนุษย์ต้องการเรียนรู้จากธรรมชาติก็คือ จะใช้มันอย่างไร เพื่อที่จะครอบงำธรรมชาติและมนุษย์คนอื่นๆ เอาไว้ได้ทั้งหมด โดยปราศจากความเมตตาสงสาร”

คำว่า “Modern” หรือ “สมัยใหม่” หมายถึง ความใหม่ ความร่วมยุคร่วมสมัย ในทางศิลปะสำหรับผู้สร้างงานศิลปะล้วนแล้วแต่ “ใหม่ (modern)” เสมอ ไม่ว่าจะเป็นยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) ในฟลอเรนซ์ หรือในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในนิวยอร์ค หรือศิลปะที่เขียนขึ้นในวันนี้ ตามรูปแบบของศิลปะคริสต์ศตวรรษที่ 15 ก็ยัง “ใหม่ (modern)” ในความหมายนี้ หรืออีกนัยหนึ่ง “สมัยใหม่” ก็คือ สิ่งที่ไม่เก่า สิ่งที่ตรงกันข้ามกับ “เก่า” หรือ “ประเพณี”

ประมาณปี ค.ศ. 1860 - 1970 คำว่า “สมัยใหม่” ถูกใช้อธิบายรูปแบบและอุดมคติหรืออุดมการณ์ในการสร้างสรรค์ศิลปะสมัยนั้น ลักษณะสำคัญของ “ศิลปะสมัยใหม่” (Modern Art) และ “ลัทธิสมัยใหม่” (Modernism) คือ ทัศนคติใหม่ๆ ที่มีต่ออดีตและอนาคต ซึ่งเป็นไปแบบสุดขั้ว โดยเริ่มต้นมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 ศิลปินเริ่มที่จะให้การยอมรับการเขียนภาพ “เหตุการณ์ปัจจุบัน-ร่วมสมัย” ว่ามีคุณค่าทางศิลปะเท่าเทียมกับภาพเขียนเรื่องราวในอดีตตั้งแต่ยุคโบราณ หรือยุคประวัติศาสตร์จากคัมภีร์ไบเบิล การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขนานใหญ่ทั่วยุโรปในปี ค.ศ. 1848 ประกอบกับการอ่อนแรงของศิลปะแบบทางการ หรือศิลปะตามหลักวิชา (academic art) ทำให้กระแสศิลปะสมัยใหม่เติบโตอย่างรวดเร็ว

ส่วนคำว่า “สุญนิยม” (Nihilism) มาจากคำว่า “Nihil” ภาษาลาติน แปลว่า ความว่างเปล่า โดย นิทเช่ เสนอให้เห็นถึงความตกต่ำและเสื่อมถอยของอารยธรรมตะวันตกในแง่อภิปรัชญา ญาณวิทยา ศีลธรรม การเมืองสมัยใหม่ ส่งผลต่อจิตวิญญาณของมนุษย์ เป็นการเดินทางไปสู่สุญนิยม คือ การมองว่าโลกนี้สิ้นหวัง ภาวะสมัยใหม่ให้ความสำคัญต่อความเป็นเหตุผลนิยม (rationalism) วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ความเชื่อมั่นในความก้าวหน้าของสังคมและมนุษยชาติ พระเจ้าตายแล้ว (God is dead) วัฒนธรรมของชนชั้นกลาง การเมืองสมัยใหม่ และความเหลื่อมล้ำทางสถานะระหว่างชนชั้นสูงกับชนชั้นต่ำ ทำให้มนุษย์ต้องเผชิญหน้ากับสภาพแห่งความว่างเปล่า ปราศจากความหมาย ไร้คุณค่า สิ้นหวัง เหนื่อยล้า และไม่ยินดียินร้ายต่อความเชื่อ อุดมการณ์ คุณค่าที่เคยยึดถือ ดังนั้น มนุษย์จึงสรุปว่า ไม่มีสิ่งใดถูกต้อง ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปได้ นิทเช่ แบ่งช่วงการเปลี่ยนผ่านออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงแรก จากสังคมก่อนศีลธรรม-สู่ศีลธรรม (500 ปี ก่อนคริสตกาล) ช่วงที่สอง การเกิดคริสต์ศาสนา ช่วงที่สาม พระเจ้าตายแล้ว (สมัยใหม่หรือสมัยปัจจุบัน) การหาทางออกจากสุญนิยม ต้องปฏิเสธคุณค่าเดิม ประเมินคุณค่าใหม่ (revaluation of all values) และตีความ (interpretation) มีความรักในชีวิต ผู้ที่ทำเช่นนี้ได้ คือ อภิชน (superman)


เจอร์เก้น ฮาเบอร์มาส (Jurgen Habermas) นักคิดชาวเยอรมันสำนัก Frankfurt School มีทัศนะต่อ Modernity ว่าเป็นรอยต่อระหว่างความเก่ากับความใหม่ (an unfurnished project) เป็นสุนทรียทางปัญญา วัฒนธรรมสมัยใหม่และสังคมสมัยใหม่ เป็นผลสืบเนื่องมาจากยุคแห่งภูมิปัญญา แนวคิดแบบคานท์ (Kant) ที่เห็นว่าสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นภายในจิตใจของเราเองและจริยธรรมมีรากฐานอยู่บนการนับถือซึ่งกันและกันของมนุษย์ กลลวงและทางเลือกทางวัฒนธรรม ลัทธิอนุรักษ์นิยมที่เพิ่งเริ่มต้น ลัทธิอนุรักษ์นิยมแบบเก่า และลัทธิอนุรักษ์นิยมแบบใหม่
โดยสรุปตามแนวคิดของ ฮาเบอร์มาส ที่ใช้ทฤษฎีวิพากษ์ (Critical Theory) โดยใช้หลักเหตุผล ในยุคสมัยใหม่การแลกเปลี่ยนความคิดโดยเสรีและการวิพากษ์เป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดความรู้ ควรวิพากษ์การใช้ความเป็นเหตุเป็นผลแทนวิธีแสวงหาความรู้แบบวิทยาศาสตร์และหลักความเป็นเหตุเป็นผล (rationality) ในสังคมทุนนิยม มนุษย์ประสงค์ที่จะปลดปล่อยตัวเองจากความบิดเบือนหรือพันธนาการของการสื่อสารในระดับปัจเจก สนใจเชิงปรัชญาและการทำความเข้าใจนำไปสู่การศึกษาจิตวิเคราะห์ ภาษาจึงเป็นเรื่องของการตีความ ส่วน นิทเช่ ต้องการที่จะก้าวเลยไปจากความเป็นสมัยใหม่ เพื่อแบบฉบับของวัฒนธรรมและสังคมที่พิเศษและเหนือกว่า ซึ่งจะสร้างสรรค์ความเป็นปัจเจกให้เข้มแข็ง และมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

เสรีภาพและอัตลักษณ์ของปัจเจกชน

ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 แนวคิดแบบเสรีนิยมและสุญนิยมในยุคสมัยใหม่นำมาซึ่งเสรีภาพและอัตลักษณ์ของปัจเจกชน เป็นจุดเริ่มต้นของศิลปินสมัยใหม่ พวกอิมเพรสชันนิสต์ (Impressionist) และ โพสต์-อิมเพรสชันนิสต์ (Post-Impressionist) ปฏิเสธการเขียนภาพเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และไม่สนใจขนบของการเขียนภาพให้เหมือนจริงที่สุด ซึ่งพัฒนามาตั้งแต่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ “ความใหม่” คือ สิ่งที่ศิลปินสมัยใหม่ให้ความสำคัญ ทัศนคติแบบนี้จะปรากฏให้เห็นในแนวคิด “อาวองท์-การ์ด” (avant-garde) ศิลปินอาวองท์-การ์ด หรือศิลปินหัวก้าวหน้า ได้กลายเป็นพวกที่ล้ำยุคล้ำสมัยของสังคม ถึงแม้ว่าความก้าวล้ำแซงหน้าจะได้รับการยอมรับโดยทั่วไป แต่การที่ศิลปินอิสระจนหลุดพ้นไปจากกรอบของยุคสมัย ทำให้บางครั้งถูกปฏิเสธจากนักประวัติ ศาสตร์ศิลป์ ศาสนจักร รัฐ และขุนนาง ที่เคยเป็นผู้อุปถัมภ์ศิลปะในอดีตถูกลดบทบาทลงไปอย่างมาก เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ลัทธิสมัยใหม่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เพราะศิลปินสมัยใหม่จะมีอิสระ เสรีที่จะคิดและทำศิลปะที่แตกต่างไปจากอดีต เพราะต้องทำตามความชอบของผู้ว่าจ้าง นอกจากนี้การค้าขายศิลปะตามระบบทุนนิยม ก็ยังเป็นตัวกระตุ้นให้ศิลปินทำการทดลองสิ่งที่แปลกใหม่ คำว่า “ศิลปะเพื่อศิลปะ” เริ่มแพร่หลายในต้นศตวรรษที่ 20 สามารถใช้อธิบายงานศิลป์ที่เกิดจากความคิดส่วนตัวของศิลปินที่มีความเป็นปัจเจกสูง โดยไม่ต้องการการอ้างอิงถึงประเด็นทางสังคมและศาสนา สังคมตะวันตกได้เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบอุตสาหกรรม ความเป็นเมืองใหญ่แบบมหานคร และการเป็นสังคมแบบวัตถุนิยม ศิลปินสมัยใหม่ได้ท้าทายรสนิยมของชนชั้นกลาง โดยสรรหาเรื่องราว ประเด็นและรูปแบบใหม่ๆ ที่แปลกแตกต่างไปจากระเบียบแบบแผนดั้งเดิมมานำเสนอ งานศิลปะสมัยใหม่จะมีแนวเนื้อหาและการแสดงออกที่แตกต่างกัน เช่น แนวเนื้อหาเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ (แสดงออกในงานศิลปะแบบ Futurism และ Constructivism ในสหภาพโซเวียต) การค้นหาจิตวิญญาณ (ศิลปะแบบ Symbolism ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา) และความสนใจในศิลปะของคนป่า (Primitivism) ปรากฏชัดในงาน Cubism ของ โพสต์-อิมเพรสชันนิสม์ และ German Expressionism

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ประมาณปี ค.ศ. 1916 - 1922 ศิลปะสกุล Dada เริ่มเกิดขึ้นในเมืองซูริค สวิตเซอร์แลนด์ เป็นแนวคิดแบบ anti-arts หรือศิลปะเพื่อการต่อต้านศิลปะ กล่าวคือ ใช้ศิลปะเป็นสื่อทำให้มนุษย์ได้มองเห็นความโหดเหี้ยมทารุณ ความบ้าคลั่ง และอิทธิพลของเทคโนโลยีและเครื่องจักรกลสมัยใหม่ ศิลปินมีหน้าที่สะท้อนโลกที่ไร้เหตุผล โลกที่บ้าคลั่ง โกรธแค้น เมื่อศิลปะ Abstract หลุดพ้นจากข้อผูกพันกับธรรมชาติ สามารถดำรงอยู่และสร้างสุนทรียภาพได้ด้วยตัวเอง จึงเป็นการตอกย้ำปรัชญาสุญนิยมของ นิทเช่ ที่มองว่าไม่มีพื้นฐานสากลใดๆ สำหรับความจริง ความดี หรือความงาม


วัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดเจนในศตวรรษที่ 20 นอกจากงานศิลปะแล้ว ยังมีรายการโทรทัศน์ รูปแบบ sitcom ที่แสดงอารมณ์ขันแบบเหน็บแนมประชดประชัน ดนตรีพังก์ (punk) ในอังกฤษ วงแร็พ (gangsta rap) ตามถนน ดนตรี ป๊อบ-ร็อค (Pop-Rock) ในอเมริกา เกิดวิวัฒนาการของวัฒนธรรมดนตรี การปฏิวัติวิถีชีวิตของคนหนุ่มสาวและวัยรุ่นแบบต่างๆ ขยายไปทั่วโลก เช่น การแต่งตัว มารยาทประเพณี เพศสัมพันธ์ ค่านิยมในเรื่องครอบครัว การศึกษา และการทำงาน เกิดขบวนการฮิปปี้ การขบถต่อกรอบระเบียบแบบแผนดั้งเดิมเช่นนี้ ส่งผลให้วัฒนธรรมประชานิยมขยายตัวกว้างขวางยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น Nikki นักดนตรีฮาร์ดร็อก ชาวอเมริกัน มือเบส วง Mötley Crüe ศิลปินที่เป็นเสรีชนสุดขั้วในยุคสมัยใหม่ ที่ตัดสินใจออกจากบ้านตั้งแต่อายุ 14 ปี เพื่อค้นหาจิตวิญญาณตนเอง ชีวิตมีแต่ดนตรี เหล้า ยา และเซ็กซ์ แต่กลับประสบความสำเร็จในชีวิตการแสดงบนเวที ไม่มีใครเคยสนใจว่าชีวิตส่วนตัวของเขาจะเป็นอย่างไร และเขาได้ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตเป็นตัวหนังสือเรื่อง The Mötley House สิ่งที่เขายึดมั่นในชีวิตมีเพียงอย่างเดียว คือ กีตาร์ เขาใช้ดนตรีเป็นสื่อในการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง เช่น การถูกปฏิเสธจากพ่อว่าไม่มีลูกชาย ความรู้สึกคับแค้นถูกถ่ายทอดออกมาเป็นบทเพลงในการแสดงดนตรีคืนนั้น โดยเขาเขียนคำร้องว่า พ่อถูกเขาฆ่าตายแล้วด้วยเสียงเพลง

อาจกล่าวได้ว่า ยุคสมัยใหม่ เป็นยุคที่ปัจเจกชนโดยเฉพาะศิลปินมีเสรีภาพมาก สามารถแสดงความเป็นตัวตนได้อย่างอิสระ มีการนำเทคโนโลยีวัสดุอุปกรณ์แบบใหม่ รวมถึงเครื่องจักรกลเข้ามาใช้ในการสร้างสรรค์งานมากขึ้น การบริโภคหรือการสนับสนุนงานศิลปะไม่จำกัดอยู่ที่ ชนชั้นสูง ขุนนาง หรือผู้ร่ำรวยเท่านั้น แต่ยังตอบสนองต่อประชาชนทั่วไปอีกด้วย นอกจากนี้ ไม่เพียงแต่รูปแบบศิลปะที่หลากหลายเท่านั้น งานศิลปะรูปแบบดั้งเดิมก็ยังได้รับความนิยม และ สืบทอดต่อกันมาจนถึงสมัยปัจจุบัน ขณะเดียวกันปัจเจกชนเหล่านี้ปฏิเสธต่อการมีอยู่ของหลักความรู้และหลักความจริง ปฏิเสธเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของวัฒนธรรมสมัยใหม่ ตามแนวคิดของ นิทเช่ ว่าด้วยเรื่องสุญนิยมหรือความว่างเปล่า (Nihilism) อย่างแท้จริง

บทส่งท้าย


ยุคสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 19 - 20 การปฏิวัติอุตสาหกรรมได้เปลี่ยนโลกตะวันตกจากสังคมเกษตรกรรมไปสู่สังคมอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ ประชาชนทิ้งไร้ทิ้งนาเข้ามาสู่เมือง ทำงานในโรงงาน ขณะเดียวกันโรงงานก็พยายามเปลี่ยนจากแรงงานคนมาเป็นเทคโนโลยีแทน ระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่เกิดขึ้น เพื่อตอบสนองกับสังคมอุตสาหกรรม จนเกิดเป็นระบบทุนนิยมไปในที่สุด ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ทำให้เกิดตลาดเสรีการค้า การแลกเปลี่ยน มีนายทุนไม่กี่คนที่ได้กำไรมหาศาล ในขณะที่คนงานต้องทำงานหนักเพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินเดือนเพียงเล็กน้อย เกิดการข่มขี่เอารัดเอาเปรียบทางชนชั้น เกิดการประท้วงและจัดตั้งเป็นขบวนการทางสังคม (Social Movement) ต่อสู้กับลัทธินายทุนและล้มล้างระบบลง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในรอยต่อของยุคสมัยใหม่นี้ ก็คือ การเกิดคำว่า “มาตรฐาน” (Standardization) ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่สุดในการ “วัดคุณค่า” ทั้งการผลิตและการบริโภค ไม่ว่าจะเป็นการผลิตให้ได้มาตรฐาน ซึ่งหมายถึงของทุกชิ้นที่ออกมาสู่ตลาด ต้องมีคุณภาพที่ดีเหมือนกันทั้งหมด มาจากมาตรฐานเดียวกัน การได้มาซึ่งมาตรฐานย่อมหมายถึง การได้มาซึ่งชื่อเสียง เงินทอง อำนาจในการต่อรอง การได้เปรียบทางการค้า อย่างไรก็ดี การเกิดขึ้นของชนชั้นทางสังคม ก็ถูกกำหนดขึ้นจากมาตรฐานตัวเช่นเดียวกัน การสร้างภาพให้ผู้คนพยายามที่จะสามารถครอบครองความมีมาตรฐาน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สบายขึ้น เป็นการเลื่อนขั้นทางสังคมอย่างหนึ่ง ซึ่งยุคสมัยใหม่ได้สัญญาเอาไว้กับมนุษย์ ขณะเดียวกันการสร้างมาตรฐานก็กลายมาเป็นการสร้างกรอบหรือระเบียบปฏิบัติต่อสังคม เพื่อให้ดำเนินไปด้วยดีอย่างเป็นปกติ


ธีโอดอร์ อะดอร์โน (Theodor Adorno) ได้วิเคราะห์ศิลปะในสังคมทุนนิยมว่าเป็นการผลิตแบบอุตสาหกรรม ผลิตจำนวนมากเพื่อการบริโภคของคนจำนวนมาก ศิลปะแบบนี้จึงต้องมีลักษณะง่ายต่อความเข้าใจ ไม่ซับซ้อน เป็นการทำศิลปะให้เป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ (commercialization of arts) เรียกว่า ศิลปะโหล (mass culture) ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมทางสังคม (social cement) ให้กับระบบสังคมทุนนิยมอีกทอดหนึ่ง ซึ่ง นิทเช่ ก็สนับสนุนความคิดนี้โดยประกาศว่า “No artist tolerates reality” ไม่มีศิลปินคนไหนยอมทนต่อความเป็นจริง ศิลปินไม่ได้บอกความจริง แต่ทำให้ความคิดของเขาเป็นจริงในผลงานของเขา เพราะฉะนั้นเขาไม่ต้องสนใจความจริง เพราะความจริงที่มีพื้นฐานอยู่บนความเป็นเหตุเป็นผลเป็นสิ่งที่ศิลปินไม่ยอมรับ


บรรณานุกรม

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาทฤษฎีสังคม (สห. 826) โครงการปริญญาเอกสหวิทยาการ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคการศึกษาที่ 2/2552 ซึ่ง รศ.ดร. มนตรี เจนวิทย์การ ได้พาผู้เขียนเข้าสู่โลกสมัยใหม่ ขอกราบขอบพระคุณมา ณ ที่นี้

มงคล นาฏกระสูตร. เอกสารการบรรยาย ทฤษฎีทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา. http://www.learners.in.th/file/drwattana
สุภางค์ จันทวานิช. (2552). ทฤษฎีสังคมวิทยา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Maurizio Passerin d’Entrèves and Seyla Benhabib. (1996). Habermas and The Unfurnished Project of Modernity. Cambridge: The MIT Press.
http://www.en.wikipedia.org/wiki/Nihilism
http://www.midnightuniv.org/datamid2002/newpage4.html
http://www.thapra.lib.su.ac.th/objects/thesis/fulltext/thapra/Chutchon_Sengma/Chapter2.pdf
http://www.utm.edu/research/iep/n/nihilism.html

วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

Aristotle Nicomachean Ethics



กนกวรรณ สุทธิพร

ความเรียงฉบับนี้เป็นการสรุปผลงานเขียนของอริสโตเติลจากผลงานชื่อAristotle Nicomachean Ethics สาระสำคัญที่อริสโตเติลนำเสนอคือ จริยศาสตร์เป็นศาสตร์ที่สูงที่สุดและความดีสูงสุดคือความสุข ความดีและความสุขในทัศนะของอริสโตเติลเป็นเรื่องเดียวกัน มีความหมายเหมือนกัน คือ กิจกรรมทางวิญญาณที่สอดคล้องกับคุณธรรมสมบูรณ์ คำว่า คุณธรรมสมบูรณ์ได้แก่ คุณธรรมที่ดีที่สุดที่มนุษย์เลือกมาถือปฏิบัติและเป็นการถือปฏิบัติจนตลอดชีวิต ปฏิบัติจนกระทั่งคุณธรรมนั้นๆกลายเป็นนิสัยประจำชีวิตของมนุษย์ อริสโตเติลแบ่งความสุขหรือความดีของมนุษย์ออกเป็นสามระดับ คือ ความดีหรือความสุขของสามัญชนทั่วไป ได้แก่ การกระทำที่มุ่งความบันเทิงเริงรมย์ สนุกสนานทั่วไป ความดีหรือความสุขของบุคคลที่มีรสนิยมสูงกว่าสามัญชนทั่วไป ได้แก่ ความสุขที่เกิดจากการมีวิถีชีวิตทางการเมือง ชีวิตที่ต้องการความร่ำรวยและเกียรติยศชื่อเสียง และความดีหรือความสุขของบุคคลที่มีวิถีชีวิตทางปัญญา ได้แก่ ความสุขที่เกิดจากกิจกรรมทางวิญญาณที่สอดคล้องกับคุณธรรมที่สมบูรณ์กล่าวคือ การดำเนินชีวิตด้วยคุณธรรมที่สมบูรณ์ซึ่งเกิดจากการฝึกหัดจนเกิดเป็นนิสัยและถือปฏิบัติได้ตลอดชีวิต ซึ่งมีอยู่สองประการ คือ คุณธรรมทางสติปัญญาและคุณธรรมทางศีลธรรม ความสุขทั้งสามระดับนี้อริสโตเติลยกย่องสรรเสริญความสุขในระดับที่สามว่าเป็นความสุขสูงสุด ดีที่สุด น่าพึงพอใจที่สุด และถือเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดที่แท้จริงในชีวิตมนุษย์
ในทัศนะของอริสโตเติลคุณธรรมของมนุษย์มีสองประเภท คือ คุณธรรมด้านพุทธิปัญญา ได้แก่ ปรัชญา ความรอบรู้และปรีชาญาณ และคุณธรรมด้านศีลธรรม เช่น ความมีใจกว้าง ความพอดี ความกล้าหาญฯลฯ คุณธรรมมิใช่สิ่งที่เกิดมาพร้อมกับมนุษย์ แต่มนุษย์สร้างคุณธรรมขึ้นเองได้ในภายหลัง
ความดีสูงสุดของมนุษย์ คือ ความสุข เพราะความสุขเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกระดับชั้นต้องการมากที่สุด ความสุขเป็นความดีที่สร้างความพึงพอใจให้แก่มนุษย์มากที่สุด เป็นสิ่งที่สูงส่งที่สุด สามารถรู้ได้ด้วยตัวเอง ทั้งยังเป็นปัจจัยแก่ความดีอย่างอื่นด้วย แต่การทำความดีคือความสุขที่จัดเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดในชีวิตอย่างแท้จริง คือ กิจกรรมทางวิญญาณที่สอดคล้องกับคุณธรรมสมบูรณ์เท่านั้น

Aristotle Nicomachean Ethics

อริสโตเติลเริ่มต้นข้อเขียนของเขาโดยกล่าวว่า “ ทุกศิลปะและทุกการค้นคว้า และเช่นเดียวกันทุกการกระทำและความพยายามที่จะพบบางสิ่ง เป็นความคิดที่จะมุ่งหมายความดีบางอย่าง...” ถ้าเป็นเช่นนั้นปัญหาของจริยธรรมคือ อะไรเป็นความดี(good) ซึ่งพฤติกรรมของมนุษย์มุ่งหมาย หลักการของความดีและความถูกต้องถูกฝังอยู่ในมนุษย์แต่ละบุคคล หลักการนี้สามารถถูกค้นพบโดยการศึกษาธรรมชาติที่สำคัญของมนุษย์และสามารถบรรลุถึงโดยผ่านทางพฤติกรรมที่เป็นจริงในชีวิตประจำวัน คุณธรรม คือหลักความประพฤติที่แสดงถึงคุณลักษณะนิสัย(ที่ดี)ในการเลือกตัดสินใจกระทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้อย่างพอดีๆไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป หรือไม่ขาดไม่เกิน ความพอดีนี้เป็นความพอดีของแต่ละบุคคลซึ่งจะเป็นผู้กำหนดความพอดีจากการใช้หลักเหตุผลและความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งที่จะได้จากความชำนาญทางการลงมือปฏิบัติจริงๆมาเป็นตัวกำหนดให้เกิดความพอดี อริสโตเติลแบ่งคุณธรรมออกเป็นสองประการ คือ คุณธรรมทางศีลธรรมและคุณธรรมทางปัญญา

คุณธรรมทางศีลธรรม (Moral Virtues) มีลักษณะเป็นคุณธรรมทางนิสัย อันเกิดจากความเคยชินเพราะความชำนาญการ ความชำนาญการที่ทำให้เห็นความเป็นกลางนั้นได้สามารถตัดสินใจเลือกกระทำการเป็นกลางนั้นได้บ่อยๆจนกลายเป็นนิสัยเช่นนั้นทำให้บุคคลถึงซึ่งสภาวะของความเป็นผู้มีคุณธรรมทางศีลธรรม คือมีคุณธรรมเป็นนิสัย อริสโตเติลเห็นว่าคุณธรรมทางศีลธรรมมิได้เกิดขึ้นเองในตัวเราตามธรรมชาติและสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติก็ไม่สามารถทำให้เกิดลักษณะนิสัยขึ้นในตัวมนุษย์ได้ ลักษณะอุปนิสัยของมนุษย์มีวิธีเดียวเท่านั้น คือ การพยายามฝึกหัดอบรม มิเช่นนั้นแล้วคุณธรรมจะไม่บังเกิด คุณธรรมต่างๆนั้นเกิดได้เนื่องจากการลงมือปฏิบัติและศึกษา กล่าวคือ บุคคลจะเป็นคนที่ทำหน้าที่การงานได้สมบูรณ์เพราะได้ปฏิบัติอย่างแท้จริง เช่น คนที่เป็นช่างต่อเรือเขาต้องทำการต่อเรือ ผู้ที่จะเป็นนักดีดพิณบุคคลผู้นั้นก็จะต้องลงมือดีดพิณ ในทำนองเดียวกันเรากลายเป็นคนยุติธรรมโดยการกระทำอย่างยุติธรรม เป็นผู้มีความพอดี โดยการกระทำอย่างพอประมาณ จะเป็นผู้กล้าหาญก็โดยการกระทำที่กล้าหาญ ฯลฯ อริสโตเติลมีความเห็นว่าคุณธรรมเป็นได้ทั้งสิ่งสร้างสรรค์และทำลาย เป็นเหมือนศิลปะ เช่นเดียวกับการดีดพิณให้ไพเราะน่าฟังก็ได้ ไม่ไพเราะก็ได้ ขึ้นอยู่กับผู้ดีดพิณ ดังนั้นมนุษย์จะเป็นผู้สร้างสรรค์ให้ดีหรือไม่ดีก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกทางใด

Types of Ends ชนิดของจุดมุ่งหมาย การกระทำทั้งหมดมุ่งไปที่จุดมุ่งหมาย จำแนกออกได้เป็นสองแบบ จุดมุ่งหมายที่สำคัญที่ทำให้บางสิ่งเกิดขึ้น ( some ends are activities) และจุดมุ่มหมายที่เป็นผลิตผลทีเกิดจากการกระทำนั้น (products which are additional to the activities) อริสโตเติลยกตัวอย่างเช่น ในทุกการกระทำที่เกี่ยวข้องกับสงคราม เมื่อเราพิจารณาสิ่งที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของการกระทำที่เกี่ยวกับสงคราม เราจะพบว่ามีชุดของการกระทำชนิดพิเศษซึ่งมีจุดมุ่งหมายต่างๆกัน แต่เมื่อมันถูกทำให้สมบูรณ์ มันเป็นเพียงวิธีการที่จุดมุ่งหมายอื่นๆถูกทำให้บรรลุถึง เช่นเดียวกับศิลปะในการทำอานม้า เมื่อกระทำอานม้าเสร็จสมบูรณ์แล้ว ผู้กระทำบรรลุจุดมุ่งหมายของเขาในฐานะผู้ทำอานม้า แต่อานม้าเป็นวิธีการสำหรับผู้ขี่ม้าควบคุมทิศทางของม้าในสงคราม เช่นเดียวกับช่างไม้สร้างเรือนพักของทหาร เขาได้ทำหน้าที่ของเขาสำเร็จในฐานะช่างไม้ แต่จุดมุ่งหมายต่างๆถูกบรรลุถึงโดยช่างไม้และเรือนพักทหารไม่ได้เป็นจุดมุ่งหมายในตัวมันเองแต่เป็นวิธีการในการจัดหาสถานที่พักให้ทหารจนกระทั่งมันเคลื่อนที่ไปในขั้นตอนต่อไปของการกระทำของมันเอง แพทย์ทำหน้าที่ของเขาสำเร็จเมื่อเขารักษาทหารให้มีสุขภาพดี แต่จุดมุ่งหมายของสุขภาพดีในที่นี้กลายเป็นวิธีการสำหรับการรบที่มีประสิทธิผล ทหารมุ่งหมายชัยชนะในสงคราม แต่ชัยชนะเป็นวิธีการไปสู่สันติภาพ สันติภาพโดยตัวของมันเองแม้บางครั้งถูกเข้าใจผิดเป็นจุดมุ่งหมายสุดท้ายของสงคราม มันเป็นวิธีการสำหรับสร้างสภาวะซึ่งมนุษย์ สามารถทำหน้าที่ของเขาสำเร็จในฐานะมนุษย์ เมื่อเราหาว่ามุ่งหมายไปเพื่ออะไร ไม่ใช่ในฐานะช่างไม้ แพทย์ ทหาร แต่ในฐานะมนุษย์ เราจะมาถึงการกระทำเพื่อตัวของมันเองและการกระทำอื่นๆทั้งหมดเป็นเพียงวิธีการเท่านั้น อริสโตเติลกล่าวว่าในเรื่องนี้ “ต้องเป็นความดีของมนุษย์” อริสโตเติลผูกติดคำว่าดีกับหน้าที่พิเศษชนิดหนึ่ง ช่างไม้ที่ดีถ้าเขาทำหน้าที่ของเขาสำเร็จในฐานะช่างไม้ สิ่งเหล่านี้คือความเป็นจริงในงานฝีมือและอาชีพทั้งหมด แต่ในที่นี้อริสโตเติลแสดงความแตกต่างระหว่างงานฝีมือหรืออาชีพของมนุษย์กับการกระทำในฐานะมนุษย์ เช่น การเป็นแพทย์ที่ดีมิได้หมายความว่าเป็นสิ่งเดียวกับการเป็นมนุษย์ที่ดี ในที่นี้มีสองหน้าที่ที่แตกต่างกัน คือหน้าที่ของแพทย์และหน้าที่ของการกระทำในฐานะมนุษย์ การค้นพบความดีที่มนุษย์ควรมุ่งหมาย เราต้องค้นพบหน้าที่ที่เด่นชัดของธรรมชาติเกี่ยวกับมนุษย์ มนุษย์ที่ดีต้องเป็นมนุษย์ที่ทำหน้าที่ของเขาสำเร็จในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง การกระทำทุกอย่างของมนุษย์มุ่งไปสู่เป้าหมาย เป้าหมายที่มนุษย์ทุกคนมุ่งไปสู่คือ ความสุข ความสุขเป็นเป้าหมายที่มีจุดจบในตัวของมันเอง การกระทำที่ดีเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความสุข คือการกระทำตามหน้าที่ของวิญญาณตามวิถีทางที่ประเสริฐสุดหรือตามวิถีทางของคุณธรรม การปฏิบัติให้สอดคล้องกับเหตุผลที่ถูกต้องถือเป็นกฎเกณฑ์สากลทางศีลธรรมหรือความเลิศทางปัญญา เพราะเหตุผลคือปัญญาหรือเป็นคุณธรรมที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าถึงความสุขสมบูรณ์ที่แท้จริงได้ ชีวิตผู้เข้าถึงความสุขอริสโตเติลเรียกว่า Eudaemon life

The function of Man หน้าที่ของมนุษย์ จุดมุ่งหมายของมนุษย์มิใช่เป็นเพียงการมีชีวิต หน้าที่ของมนุษย์เป็นการทำของจิตวิญญาณซึ่งดำเนินรอยตามหรือใช้หลักการที่สมเหตุสมผล ดังนั้นความดีของมนุษย์เป็นการกระทำของจิตวิญญาณที่สอดคล้องกับคุณธรรม เพราะหน้าที่ของมนุษย์ในฐานะมนุษย์หมายถึงการทำหน้าที่ที่เหมาะสมของจิตวิญญาณของเขา หน้าที่ของมนุษย์อันมีเป้าประสงค์ในชีวิตเป็นเกณฑ์แบ่งออกเป็น 3 ประการ คือ
1.ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการหาเลี้ยงชีพ
2.การสนองตอบต่อประสาทสัมผัส
3.ชีวิตที่กระตือรือร้นบนฐานของเหตุผล
ในหน้าที่ทั้ง 3 ประการนี้หน้าที่ที่อริสโตเติลเห็นว่าเป็นหน้าที่ของมนุษย์ในฐานะที่เป็นมนุษย์จริงๆได้แก่หน้าที่ในข้อที่ 3 คือการกระทำอย่างมีเป้าหมายที่เหมาะสม หรือ ชีวิตที่กระตือรือร้นบนฐานของเหตุผล เนื่องจาก หน้าที่ในข้อ 1 แม้แต่พืชก็มีเช่นเดียวกัน ส่วนหน้าที่ในข้อที่ 2 ในสัตว์ประเภทอื่น เช่น วัว ควาย ก็เป็นเหมือนกัน แต่หน้าที่ในข้อที่ 3 พืชและสัตว์อื่นไม่มี จึงเป็นหน้าที่ของมนุษย์ในฐานะมนุษย์อย่างแท้จริง
จิตวิญญาณมีสองส่วน คือ ส่วนที่ไม่สมเหตุสมผลและส่วนที่สมเหตุสมผล ส่วนที่ไม่สมเหตุสมผลเป็นส่วนที่ได้รับอิทธิพลจากภายนอกตัวเรา ได้แก่ สิ่งต่างๆและบุคคลอื่น จิตวิญญาณส่วนที่ไม่สมเหตุสมผลประกอบด้วย อารมณ์ ความอยาก ความรัก ความโกรธ ฯลฯ อารมณ์และความอยากของมนุษย์เป็นตัวการที่นำมนุษย์ไปสู่การสร้างสรรค์และทำลาย มนุษย์จึงควรรู้ว่าเราควรปรารถนาอะไร และควรปฏิบัติตนอย่างไร ภายใต้สถานการณ์ต่างๆ วิญญาณส่วนที่สมเหตุผลประกอบด้วยปรีชาญาณ (wisdom) และการใคร่ครวญพิจารณา ( contemplation)
คุณธรรมทางศีลธรรมจะต้องเกิดจากการปฏิบัติและกระทำซ้ำๆ มีอยู่ด้วยกันสองลักษณะคือ เป็นสภาวะทางจิตใจมิใช่อารมณ์หรือสมรรถนะ และเป็นสภาพทางจิตใจที่สามารถเลือกความพอดีได้ เป็นวิถีทางสายกลางที่มีค่าเหมือนทอง คนที่มีความสุข คนที่มีคุณธรรมคือผู้ที่รักษาทางสายกลางที่เป็นทองระหว่างปลายสุดแห่งความประพฤติที่ต่ำช้าทั้งสอง เขาคือคนซึ่งถือหางเสือสายกลางระหว่างขวากหนามทั้งสองข้างที่คอยทำลายความสุขของเขาในการปฏิบัติงาน ในความคิด ในอารมณ์ คนเราอาจจะปฏิบัติหน้าที่เกินขอบเขตหรือไม่ถึงขนาดหรือเพียงแต่ทำให้ถูกต้องแต่พอดีเท่านั้น ดังนั้นในการเฉลี่ยสิ่งของให้แก่ผู้อื่น คนเราอาจจะกระทำการฟุ่มเฟือยหรือทำเกินขอบเขตหรือตระหนี่ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่พอประมาณ ทางชีวิตที่ต้องด้วยเหตุผล คือ ต้องไม่ทำอะไรมากเกินไปหรือน้อยเกินไป แต่ต้องถือสายกลาง คนที่มีคุณธรรมมิใช่คนที่เกินปกติหรือต่ำกว่าปกติ แต่เป็นคนที่มีปกติภาพอย่างเที่ยงธรรมและฉลาด เขาจะปฏิบัติเมื่อถึงเวลาที่เหมาะโดยเพ่งเล็งที่จุดมุ่งหมายที่เหมาะต่อคนที่เหมาะ ด้วยความปรารถนาที่เหมาะและในทางที่เหมาะสม คือเพ่งเล็งที่ทางสายกลาง ที่มีค่าเสมือนทองทุกกาลเวลาและภายใต้สภาพทุกสภาพ เพราะทางสายกลางนั้น คือ หนทางอันสูงส่งสำหรับวิถีในการเข้าสู่ความสุข การพิจารณาเลือกทางสายกลางต้องอาศัยองค์ประกอบ 5 ประการคือ
1.เวลาที่เหมาะสม
2.จุดหมายที่ดี
3.คนดี
4.แรงจูงใจดี
5.วิถีทางที่ถูกต้อง
หลักการเรื่องทางสายกลางใช้สำหรับควบคุมอารมณ์หรือความรู้สึกของมนุษย์ โดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ความสุขในชีวิต แต่มิได้หมายถึงการกำจัดอารมณ์หรือความรู้สึกให้หมดไป และในการดำเนินชีวิตต้องให้จุดหมายของชีวิตกับหลักทางสายกลางมีความสอดคล้องกัน การมีชีวิตที่ดีกับการกระทำดี จะต้องเชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน และต้องเชื่อมโยงกับพื้นฐานของข้อเท็จจริงเกี่ยวกับธรรมชาติชีวิตของมนุษย์
ลักษณะของมนุษย์ในอุดมคติ ซึ่งสมควรมีความสุขอย่างที่สุด มีลักษณะดังต่อไปนี้ ไม่พลีตัวให้แก่อันตรายโดยไม่จำเป็นแต่เต็มใจที่จะพลีชีวิตในยามวิกฤตกาลและจำเป็น จะเกิดความปิติเมื่อได้ทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น จะรู้สึกละอายเมื่อคนอื่นทำประโยชน์ให้แก่เขาเพราะว่าการให้ความเมตตากรุณาแก่ผู้อื่นเป็นเครื่องหมายแห่งความเขื่อง แต่การรับเอาเป็นความด้อย มนุษย์ในอุดมคติย่อมพลีตัวเพื่อความสุขของผู้อื่นเพราะเขาเป็นคนฉลาด เขาไม่พูดให้ร้ายผู้อื่นแม้ว่าจะเป็นศัตรู คงปล่อยให้คนเหล่านั้นได้รับความชั่วไปตามลำพัง เขาไม่รู้สึกร้ายต่อผู้อื่นและลืมการกระทำร้ายของผู้อื่นซึ่งปฏิบัติต่อตัวเขาเสมอ นั่นคือเขาเป็นเพื่อนที่ดีต่อคนอื่น เพราะเขาเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดต่อตัวเขาเอง
อริสโตเติลจำแนกคุณธรรมทางศีลธรรมออกเป็น 4 ประการ คือ
1.ความรู้จักประมาณหมายถึงความพอเหมาะพอดีในการแสวงหาความเพลิดเพลินทางกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเพลิดเพลินเหล่านั้นมีอยู่ในสัตว์ชั้นต่ำ การรู้จักบังคับใจมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการรู้จักประมาณ แต่มีความแตกต่างจากความรู้จักประมาณ เพราะข้อเท็จจริงที่ว่า คนที่รู้จักการบังคับใจมีความปรารถนารุนแรง ส่วนคนที่รู้จักประมาณไม่มีความปรารถนาเช่นนั้น และสามารถอยู่เหนือความปรารถนาเหล่านั้นได้ เพราะฉะนั้นการรู้จักบังคับใจนี้จึงเป็นคุณธรรมที่ด้อยกว่า
2.ความกล้าหาญ อยู่ตรงกลางระหว่างความขี้ขลาดและความหุนหันพลันแล่น โดยแบ่งความกล้าหาญออกเป็น 5 ชนิด ความกล้าหาญด้านการเมือง ความกล้าหาญจากประสบการณ์เดิม ความกล้าหาญที่เกิดจากอารมณ์ที่แจ่มใสร่าเริง ความกล้าหาญที่เกิดจากความโกรธแค้นหรือเจ็บปวดทรมาน และความกล้าหาญที่เกิดจากความโง่เขลา
3.ความยุติธรรม แบ่งออกเป็นสองประการ คือ การที่ประเทศชาติยินยอมให้เกียรติยศและสิทธิอื่นๆแก่พลเมืองทุกคนเท่าเทียมกันเป็นการส่งเสริมให้ตั้งอยู่ในความเจริญ เรียกว่าการให้ความยุติธรรม ประการที่สองความยุติธรรมอาจได้มาทั้งทางกฎหมายและจากผู้บริหาร ความยุติธรรมเป็นความดีของผู้ปกครองที่รักษาพลเมืองในครอบครอง ผู้ปกครองจำต้องให้ความยุติธรรมแก่ตัวท่านเองและครอบครัวของท่านเหมือนกัน สำหรับประเทศความยุติธรรมจึงจำต้องกำหนดไว้อย่างแน่ชัด การกระทำที่ถูกต้องย่อมมาจากนิสัยที่ดีงาม ผู้มีนิสัยรักความยุติธรรมอยู่แล้วย่อมเป็นการยากที่จะทำสิ่งใดที่ปราศจากความยุติธรรม
4.มิตรภาพ มีอยู่สามประการ คือ มิตรภาพที่เกิดจากความมีประโยชน์ มิตรภาพที่เกิดจากความเพลิดเพลินและมิตรภาพที่เกิดจากความดี มิตรภาพที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคล ความรักซึ่งกันและกันอาจเกิดจากการตอบแทนอันนำมาซึ่งความมีประโยชน์ ความเพลิดเพลินและความดี การมีมิตรภาพแท้นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้โดยยาก เพราะมิตรภาพที่แท้จริงนั้นมีอยู่แต่ในระหว่างผู้ที่มีคุณลักษณะอย่างเดียวกัน
ประเภทของมิตรภาพได้แก่
1.มิตรภาพระหว่างผู้ที่ไม่เท่าเทียมกัน
2.มิตรภาพระหว่างบิดามารดาและบุตร
3.มิตรภาพระหว่างเจ้านายและผู้ใต้บังคับบัญชา
4.มิตรภาพระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย
มิตรภาพเกิดจากความรักใคร่ชอบพอใจอีกฝ่ายหนึ่งมากกว่าถูกอีกฝ่ายหนึ่งรัก แต่คนส่วนใหญ่มักชอบให้คนอื่นรักตนมากกว่ารักคนอื่น มิตรภาพคือการแลกเปลี่ยนชนิดหนึ่งหรือการตอบแทนระหว่างกัน แต่การตอบแทนนั้นจะตราเป็นกฎใช้แน่นอนไม่ได้ การแตกร้าวอาจเกิดได้ง่ายในเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติตัวชั่วช้าลงหรือเพิ่มความหยิ่งยิ่งขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตามมิตรภาพอาจคงอยู่ได้ถ้าหากฝ่ายที่ผิดพลาดรู้สึกตัวและขอโทษกับอีกฝ่ายหนึ่ง คนดีอยู่แล้วย่อมจำเป็นต้องมีเพื่อน ชีวิตของผู้มีเกียรติสูงถ้าหากขาดเพื่อนเสียแล้วก็เหมือนกับขาดความสมบูรณ์ไปส่วนหนึ่ง มิตรภาพจึงจำเป็นสำหรับทุกคนที่จะทำตนให้สมบูรณ์จริงๆ มิตรภาพเองก็เป็นสิ่งสำคัญต่อคุณธรรมเรื่องความอยู่ดีมีสุขเหมือนกัน เพราะมนุษย์โดยธรรมชาติเป็นสัตว์สังคม การใช้คุณธรรมข้อนี้จึงเป็นบ่อเกิดกิจกรรมที่ดีงามหลายอย่าง มิตรภาพเป็นความดีภายนอกที่สำคัญที่สุด ชีวิตโดยสาระสำคัญแล้วเป็นสิ่งที่ดีงาม สำหรับคนดีและการมีเพื่อนที่ดีงามก็เท่ากับเป็นการเพิ่มคุณธรรมเรื่องการอยู่ดีมีสุขให้แก่ตนเองโดยการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชีวิตซึ่งก่อให้เกิดคุณธรรมเรื่องการอยู่ดีมีสุขแก่คนอื่นด้วย

คุณธรรมทางปัญญา (Intellectual Virtues) เป็นคุณธรรมที่ต้องดำเนินพร้อมกับการใช้เหตุผลอย่างถูกต้องตามหน้าที่ต่างๆ ปัจจัยที่ทำให้เกิดคุณธรรมทางปัญญามี 5 ประการ คือ
1.ความรู้เกี่ยวกับศาสตร์ต่างๆ
2.ความรู้ทางศิลปะ
3.ความรู้ทางปฏิบัติอันเป็นความรู้ที่ทำให้มนุษย์เข้าถึงจุดหมายของชีวิต
4.ความรู้ที่รู้โดยตนเอง
5.ความรู้ในเชิงปรัชญาที่เกิดขึ้นร่วมกันจากศาสตร์ต่างๆและความรู้ที่รู้โดยตนเอง
อริสโตเติลยอมรับว่าบทบาทของเหตุผลเป็นศูนย์รวมที่จะนำไปสู่การปฏิบัติและการกระทำในเรื่องจริยธรรม ความรู้ทางปัญญาอยู่เหนือความรู้ทางการปฏิบัติ และถือว่าการไตร่ตรองพิจารณาเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่ความสุข การกระทำอย่างตั้งใจต่อเนื่อง ทำตามหน้าที่ของความเป็นมนุษย์นั้นแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ การกระทำที่เกิดจากความจงใจ (Voluntary Acts) หมายถึงการกระทำหรือผู้กระทำมีสติสัมปชัญญะ รู้เจตนาของการกระทำและเป็นอิสระในขณะที่กระทำโดยไม่ถูกบังคับ ลักษณะที่สองคือการกระทำที่ไม่ได้เกิดจากการจงใจ(Involuntary Acts) หมายถึงการกระทำที่ผู้กระทำมิได้จงใจที่จะกระทำ อาจถูกสถานการณ์หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งบังคับทำให้ต้องกระทำลงไป การกระทำแบบนี้อริสโตเติลไม่ถือว่านำมาตัดสินในเชิงจริยศาสตร์ได้ เช่น
1.การกระทำที่เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
2.การกระทำที่เกิดจากการถูกบังคับโดยตรง
3.การกระทำที่ทำลงไปเพื่อหลีกเลี่ยง ความเลวร้ายที่ยิ่งใหญ่กว่า เช่น การลงโทษบุคคลหนึ่งเพื่อป้องกันสังคมส่วนใหญ่ไว้
คุณธรรมลักษณะหนึ่งซึ่งเกิดจากคุณธรรมทางปัญญา คือ การเข้าใจในเหตุผล เข้าใจในความเป็นจริงของชีวิต เข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ จึงเกิดความเข้าใจในมนุษย์ด้วยกัน ความเข้าใจในมนุษย์ด้วยกันทำให้เกิดมิตรภาพ ซึ่งเป็นคุณธรรมทางปัญญาชนิดหนึ่ง

มิตรภาพ (Friendship) เป็นสิ่งจำเป็นที่มนุษย์เราจะขาดไม่ได้ แม้แต่คนที่สมบูรณ์พร้อมทุกสิ่งทุกอย่างก็ยังเลือกที่จะดำรงชีวิตอยู่กับมิตร ทำไมเราต้องมีมิตร อริสโตเติลให้เหตุผลว่าในยามจนและยามทุกข์ มิตรเป็นแหล่งที่พึ่งได้ ในยามปฐมวัยมิตรภาพช่วยให้เราไม่ทำผิด เมื่อวัยกลางคนมิตรภาพช่วยให้เรามีโอกาสในการทำงานที่มีตำแหน่งสูง เมื่อสูงวัยมิตรภาพช่วยดูแลและเสริมพลังให้แก่ผู้ชราที่เจ็บป่วยด้วยโรคภัย มิตรภาพจะเกิดขึ้นที่มนุษย์และสัตว์ต่างๆ แต่ความเป็นมิตรมีจิตไมตรีจะมีแพร่หลายในหมู่มนุษย์ และหากประชาชนเป็นมิตรกันความยุติธรรมก็เป็นสิ่งไม่จำเป็น อริสโตเติลอธิบายว่า หากเราเป็นคนยุติธรรมเราก็ต้องการมิตรภาพด้วย ความยุติธรรมจึงเป็นส่วนหนึ่งของมิตรภาพ มิตรภาพเป็นสิ่งจำเป็นและสูงส่ง มูลเหตุที่ทำให้เกิดความรักหรือมิตรภาพประกอบด้วย เรารู้ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งดี สิ่งนั้นเป็นสิ่งน่ารื่นรมย์ยินดี และสิ่งนั้นมีประโยชน์
คนที่จะเป็นมิตรกันได้จะต้องมีไมตรีจิตต่อกันและต้องมีความสำนึกรู้สึกในไมตรีจิตต่อกันและกัน มิตรภาพที่เกิดขึ้นของมนุษย์เพราะมนุษย์เห็นค่าความดีในมิตร มิตรภาพประเภทสูงส่ง คือ มิตรภาพระหว่างคนดีทั้งสองฝ่ายต่างปรารถนาดีต่อกัน แต่ก็มีมิตรภาพที่ตั้งอยู่บนความสนุกสนาน เช่น หนุ่มสาว และมิตรภาพที่ตั้งอยู่บนความมีประโยชน์ เราจึงเกิดความรักเพราะเราหวังประโยชน์ มิตรภาพจะเป็นสิ่งยืนยงต่อเมื่อแต่ละฝ่ายได้รับสิ่งที่เราให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง มิตรภาพสูงสุดคือมิตรภาพระหว่างคนดี เพราะเป็นมิตรภาพที่ตั้งอยู่บนคุณธรรมของทั้งสองฝ่าย และตั้งอยู่บนความเสมอภาค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมิตรภาพ มิตรภาพต้องประกอบด้วยการให้มากกว่าการรับ การให้เป็นการสร้างคุณธรรมให้เป็นมิตร การที่เรามีความสัมพันธ์ต่อเพื่อนและถือว่าเป็นมิตรเพราะ
1.เป็นคนที่ปรารถนาดีและทำสิ่งดีเพื่อตัวของผู้นั้นเอง
2.คนที่ปรารถนาให้มิตรดำรงอยู่และมีชีวิตเพื่อตัวเขาเอง
3.เป็นคนที่ใช้เวลาสุงสิงอยู่กับเรา
4.เป็นผู้มีปรารถนาเดียวกับเรา
5.เป็นผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเรา
ความรักตัวเองเป็นพื้นฐานของมิตรภาพ คนที่มีความรักตัวเอง จะทำสิ่งดีๆที่สัมพันธ์กับตนเองและสิ่งที่ถือเป็นคุณธรรมของคนดีเพราะ คนดี คือ คนที่ตัดสินใจทำอะไรไม่ขัดกับตัวเอง เขาจะทำในสิ่งที่ดีและคิดว่าดี เขาต้องการสงวนชีวิตของเขาเองในสิ่งที่ดีแก่ฐานะมนุษย์ และเขาต้องการความสุขไม่ต้องการความทุกข์ เพราะไม่มีใครจะมีส่วนร่วมในความทุกข์-สุขของเขามากกว่าตัวเขาเอง คนดีจะมีความรู้สึกในทุกอย่างที่กล่าวมานี้ เขามีท่าทีเช่นเดียวกับมิตรของเขา ซึ่งตัวเขาเองก็เป็นมิตรแท้คนหนึ่ง ดังนั้นมิตรภาพจึงเป็นความรู้สึกหนึ่งในความรู้สึกต่างๆเหล่านั้น อริสโตเติลเรียกคนที่มีความรู้สึกเช่นนี้ว่าเป็นมิตร นอกจากนี้ไมตรีจิต เป็นการเริ่มต้นของมิตรภาพ มิตรภาพจะเกิดจากความไม่มีไมตรีจิตต่อกันไม่ได้และไมตรีจิตอาจเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ถ้ามีไมตรีจิตเป็นเวลานานๆและมีความคุ้นเคย ไมตรีนั้นจะกลายเป็นมิตรภาพ นอกจากนี้การมีมิตรมากเกินความต้องการจึงไม่จำเป็น เราควรมีคนดีเป็นเพื่อนเราจำนวนมากเท่าที่จะทำได้ แต่มิตรภาพที่สนิทสนมอาจเกิดเฉพาะมิตรบางคนเท่านั้น ประเภทของมิตรอันได้แก่ มิตรภาพระหว่างผู้ไม่เท่าเทียมกัน มิตรภาพระหว่างบิดา-มารดาและบุตร มิตรภาพระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง และมิตรภาพระหว่างชาย-หญิง
อริสโตเติลกล่าวว่า มนุษย์ทุกคนควรรักตนเองแต่ก็ควรรักผู้อื่นให้มากที่สุดด้วย มนุษย์เรามิสามารถรู้ใจซึ่งกันและกันได้จนกว่าจะได้ใช้ชีวิตร่วมกัน และมิตรภาพที่สมบูรณ์ คือ มิตรภาพของคนดีมีคุณธรรม

ความสุข (happiness) ความสุขเป็นสิ่งที่มนุษย์ปรารถนา การกระทำของมนุษย์ที่สอดคล้องตามคุณธรรมทางศีลธรรมและคุณธรรมทางปัญญา ย่อมนำไปสู่ความสุขเสมอ ชีวิตมนุษย์ที่มีการกระทำโดยใช้คุณธรรมจะต้องพบกับความสุขในปัจจุบัน ชีวิตที่เต็มเปี่ยมด้วยการใช้คุณธรรมทั้งการปฏิบัติทั้งสติปัญญาอยู่ในขอบเขตของความพอดีแล้ว ทุกชีวิตย่อมพบความสุขทางจิตวิญญาณ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ชีวิตที่นำพาด้วยปัญญาเป็นชีวิตที่มีความสุข ความสุขจึงเกิดจากการทำกิจกรรมให้สอดคล้องสัมพันธ์กับคุณธรรม และกิจกรรมต่างๆด้วยการไตร่ตรองพิจารณาหาเหตุผลหรือปัญญา ดังนั้นชีวิตที่มีความสุขเกิดจากการไตร่ตรองพิจารณา เป็นชีวิตที่สอดคล้องกับเหตุผล ความสุขเป็นสิ่งที่ดีที่สุด น่าอภิรมย์ที่สุด


บรรณานุกรม

สมบัติ จันทรวงศ์. ประวัติปรัชญาการเมือง เล่ม1. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์คบไฟ, 2551.

Roger Crisp. Nicomachean Ethics,United kingdom:Cambridge University Press,2000.

Sombat Chantornvong. “BUDDHA, PLATO, AND ARISTOTLE: A COMPARISON OF
EASTERN AND WESTERN PHILOSOPHIES ON ETHICS AND POLITICS”.
Senior Thesis x190 Claremont Men’s Collage,1968.

http://e-book.ram.edu/e-book/inside/html/dbook.asp?code=PY336.