วันจันทร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2554

แนวคิดเรื่องการทะยานขึ้นอย่างสันติของจีน (China's Peaceful Rise)


สิทธิพล เครือรัฐติกาล
แนวคิดเรื่องการทะยานขึ้นอย่างสันติ (和平崛起) ปรากฏขึ้นเมื่อ ค.ศ. 2002 โดยการนำเสนอของเจิ้งปี้เจียน (郑必坚) รองอธิการบดีโรงเรียนพรรคแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งแต่ ค.ศ. 1997 ถึง ค.ศ. 2002 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่หูจิ่นเทาดำรงตำแหน่งอธิการบดี (ก่อนที่จะขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคและประธานาธิบดีใน ค.ศ. 2002 และ ค.ศ. 2003 ตามลำดับ) คำให้สัมภาษณ์ของเจิ้งปี้เจียนเมื่อวันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 2004 ระบุชัดเจนว่าแนวคิดนี้เป็นส่วนหนึ่งในการตอบโต้แนวคิดเรื่อง “ภัยคุกคามจากจีน” ดังที่เขาได้เล่าว่า

เมื่อปลาย ค.ศ. 2002 หรือไม่กี่เดือนหลังการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 16 ข้าพเจ้าได้นำคณะของ China Reform Forum เดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกา เมื่อได้สนทนากับบุคคลทั้งในและนอกรัฐบาล ข้าพเจ้าก็พบว่าทฤษฎี “ภัยคุกคามจากจีน” และ “การล่มสลายของจีน” นั้นแพร่หลายอยู่ค่อนข้างกว้างขวาง ภัยคุกคามจากจีนก็คือ ถ้าจีนเดินไปข้างหน้าและแข็งแกร่งมากขึ้น จีนก็ต้องแสวงหาทรัพยากรและขยายดินแดนออกไป . . . ข้าพเจ้ามีปฏิกิริยาในทันทีว่าจะต้องโต้ตอบอะไรออกไปบ้าง และควรทำบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและประสบการณ์พื้นฐานในการพัฒนาของจีน . . . ดังนั้น เมื่อเดินทางกลับจีนแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้เสนอให้มีการวิจัยเรื่องนี้ (Zheng Bijian, 2005, pp. 56-57)

ในสุนทรพจน์ของเจิ้งปี้เจียน ณ Center for Strategic and International Studies กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และ Council on Foreign Relations นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 9 และ 13 ธันวาคม ค.ศ. 2002 ตามลำดับนั้น เขาได้เน้นย้ำว่า เส้นทางการพัฒนาของจีนเป็นเส้นทางใหม่ที่ไม่เหมือนบรรดาประเทศมหาอำนาจทั้งหลายในอดีต โดยจะเป็นเส้นทางที่ต้องพึ่งพาปัจจัยต่างๆ ได้แก่ การพัฒนาที่เป็นของตนเอง การเปิดตลาด การสร้างนวัตกรรมเชิงสถาบัน การเชื่อมต่อกับโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจมากกว่าที่จะโดดเดี่ยวตนเอง รวมทั้งการมีความสัมพันธ์แบบต่างตอบแทนและได้ประโยชน์ร่วมกันกับประเทศอื่นๆ ซึ่งเขาได้เรียกเส้นทางสายนี้ว่า “เส้นทางแห่งการทะยานขึ้นอย่างสันติ” (Zheng Bijian, 2005, pp. 71 และ 80)

ต่อมาเจิ้งปี้เจียนได้นำเสนอแนวคิดเรื่องการทะยานขึ้นอย่างสันติโดยละเอียดในการประชุมป๋ออ๋าวแห่งเอเชีย (博鳌亚洲论坛 Bo’ao Forum for Asia) ณ มณฑลไห่หนานของจีน เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2003 โดยอธิบายว่า แม้จีนจะดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศมาเป็นเวลากว่า 25 ปีแล้ว หากแต่จีนยังคงมีสถานะเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาใหญ่ 2 เรื่อง คือ (1) ปัญหาการทวีคูณ (multiplication) หมายถึง การที่จีนมีประชากรกว่า 1,300 ล้านคน และจะเพิ่มเป็น 1,500 ล้านคนใน ค.ศ. 2030 ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมขึ้น แม้ปัญหานั้นอาจจะคิดเป็นสัดส่วนเล็กๆ แต่เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรแล้วก็ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ และ (2) ปัญหาการแบ่งปัน (division) หมายถึง ไม่ว่าจีนจะมีทรัพยากรมากเพียงใด หากแต่การที่จีนมีประชากรเป็นจำนวนมากก็ทำให้ทรัพยากรต่อหัว (per capita) อยู่ในระดับต่ำ เส้นทางการพัฒนาของจีนจึงหนีไม่พ้นปัจจัยด้านจำนวนประชากร ดังนั้น นโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การต่างประเทศ และการทหาร ต่างต้องมีเป้าหมายเพื่อทำให้ประชากรจีน 1,300 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ของประชากรโลกมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น (Zheng Bijian, 2005, pp. 14-15)

เจิ้งปี้เจียนอธิบายต่อไปว่า จีนจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ต้องอาศัยปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ (1) การเข้าไปมีส่วนร่วมในโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่จีนทำมาตลอดตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970 (2) การพัฒนาที่เป็นตัวของตัวเอง เน้นการสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเองด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างนวัตกรรมเชิงสถาบัน การใช้ประโยชน์จากตลาดภายในที่กำลังเติบโต การเปลี่ยนการออมเป็นการลงทุน การปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชากร และการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรและปัญหาสิ่งแวดล้อม และ (3) การยึดมั่นในสันติภาพและไม่แสวงหาความเป็นจ้าว เพราะถ้าจีนใช้ความก้าวร้าวรุนแรงก็จะมีแต่นำมาซึ่งความล้มเหลว ดังนั้นการทะยานขึ้นอย่างสันติจึงเป็นทางเลือกเดียวของจีน (Zheng Bijian, 2005, pp. 16-18)

ในมุมมองของเจิ้งปี้เจียน ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการทะยานขึ้นอย่างสันติของจีน ในสุนทรพจน์ ณ Brookings Institution กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ. 2005 เขาได้เสนอแนะว่า ในการพิจารณาถึงการทะยานขึ้นอย่างสันติของจีนและความสัมพันธ์จีน – สหรัฐฯ นั้น ชาวอเมริกันควรก้าวไปให้พ้น 3 สิ่งดังต่อไปนี้ (1) ความคิดแบบสงครามเย็นที่มองผู้อื่นโดยเอาอุดมการณ์และระบบสังคมมาเป็นเกณฑ์ (2) ความรู้สึกเหนือกว่าทางวัฒนธรรม (cultural superiority) ที่ใช้ค่านิยมของตนเองในการตัดสินถูกผิด และ (3) ความเชื่อในทฤษฎีที่ว่าประเทศมหาอำนาจใหม่จะต้องท้าทายประเทศมหาอำนาจเดิม (Zheng Bijian, 2005, p. 13) หรืออาจกล่าวได้ว่า สหรัฐอเมริกาควรก้าวไปให้พ้นแนวคิดเรื่อง “ภัยคุกคามจากจีน” นั่นเอง

แม้ว่าตั้งแต่ ค.ศ. 2004 เป็นต้นมา ทางการจีนเริ่มจะหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “การทะยานขึ้นอย่างสันติ” โดยหันมาใช้คำใหม่คือ “การพัฒนาอย่างสันติ” (和平发展 peaceful development) โดยไม่มีการอธิบายเหตุผลอย่างเป็นทางการ แต่เจิ้งปี้เจียนก็ยืนยันว่าความหมายและเนื้อหาของสองคำนี้ไม่แตกต่างกันแต่อย่างใด (Zheng Bijian, 2005, p. 53) และใน สมุดปกขาวว่าด้วยเส้นทางการพัฒนาอย่างสันติของจีน (White Paper on China’s Peaceful Development Road) ที่ออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 2005 ก็มีเนื้อหาไม่ต่างจากที่เจิ้งปี้เจียนเคยนำเสนอ (ดู The State Council Information Office, 2005, December 22)

สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าทางการจีนให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับแนวคิดเรื่องการทะยานขึ้นอย่างสันติก็คือ ใน ค.ศ. 2003 ได้มีการเชิญเฉียนเฉิงต้าน (钱乘旦) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่งมาบรรยายเกี่ยวกับประวัติการขึ้นเป็นมหาอำนาจของประเทศต่างๆ ให้แก่ผู้นำระดับสูงในคณะกรรมการกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน จนนำไปสู่การตัดสินใจให้สถานีโทรทัศน์กลางของจีนจัดทำสารคดีชุด การทะยานขึ้นของมหาอำนาจ (大国崛起) จนแล้วเสร็จเมื่อ ค.ศ. 2006 สารคดีความยาว 12 ตอนชุดนี้เล่าถึงการขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของประเทศต่างๆ ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 ได้แก่ โปรตุเกส สเปน เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา เฉียนเฉิงต้านในฐานะที่ปรึกษาทางวิชาการของสารคดีชุดนี้บอกว่า เมื่อพิจารณาถึงการขึ้นเป็นมหาอำนาจของทั้ง 9 ประเทศนี้แล้วจะพบว่าแต่ละประเทศมีเส้นทางการพัฒนาที่มีลักษณะเฉพาะของตนเองและไม่ซ้ำกับประเทศอื่นๆ (TV docu stimulates more open attitude, 2006, November 26) ซึ่งตีความได้ว่า การทะยานขึ้นเป็นมหาอำนาจของจีนไม่จำเป็นจะต้องนำไปสู่สงครามเหมือนในกรณีของญี่ปุ่นและเยอรมนี

เอกสารอ้างอิง
The State Council Information Office. (2005, December 22). White Paper on China’s Peaceful Development Road. Retrieved October 24, 2008, from http://english.peopledaily.com.cn/200512/22/print20051222_230059.html.

TV docu stimulates more open attitude to history, China, the world. (2006, November 26). People’s Daily Online. Retrieved December 24, 2009, from http://english.people.com.cn/200611/26/print20061126_32564.html.

Zheng Bijian. (2005). China’s Peaceful Rise: Speeches of Zheng Bijian, 1997-2005. Washington, D.C.: Brookings Institution Press.