วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ว่าด้วยทฤษฎีเมือง (ภาค 3)

อัญชลิตา สุวรรณะชฎ[1]

ทฤษฎีความยุ่งเหยิงของเมือง (Urban Anomie Theory)

หลุยส์ ไวร์ท (Louis Wirth)[2] เขียนเกี่ยวกับความหนาแน่นของประชากรและชนชั้นทางสังคมในมุมมองผลกระทบของเมืองต่อพลเมือง โดยเฉพาะชาวเมืองที่อยู่กันหนาแน่นและใกล้ชิดกันภายใต้ผู้คนและสิ่งแวดล้อมรอบตัวมากมาย ทั้งสถานที่ต่างๆ เสียง และกลิ่น ที่ต้องประสบในแต่ละวัน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงบุคลิกและอารมณ์ที่เย็นชา


มุมมองของไวร์ทเริ่มมาจากแนวคิดของ จอร์จ ซิมเมล (Georg Simmel) เรื่อง The Metropolis and Mental Life (1905) ซิมเมลสันนิษฐานว่า การใช้ชีวิตที่อึดอัดเกินไปในเมือง (สถานที่ต่างๆ เสียง และกลิ่น) ทำให้เกิดความเครียดในแต่ละคน นำไปสู่การปรับตัวโดยแยกตัวเองออกจากคนอื่นๆ ในเมือง และกลายเป็นเหตุผลที่ต้องคำนึงถึงในการใช้ชีวิต งานเขียน Urbanism as Way of Life (1938) ไวร์ทนำแนวคิดความสับสน (anomie) ของ อีมิล เดอร์กไคม์ (Emile Durkheim) มาปรับใช้กับรูปแบบเมือง โดยชี้ให้เห็นความแตกต่างทางสังคมที่เพิ่มขึ้นจากความหนาแน่นของประชากรและการแย่งงาน ชีวิตในเมืองมีความยุ่งเหยิงทางสังคมเพิ่มขึ้นและความเป็นส่วนตัวลดลง ความอึดอัดใจกับการใช้ชีวิตในเขตชนบท การใช้ชีวิตอย่างเสรีในเมืองมีผลต่อกลุ่มและปัจเจกชน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลลัพธ์ของวัฒนธรรมในสภาพแวดล้อมของเมืองสร้างความห่างเหินทางสังคมตามทฤษฎีของไวร์ท เขาสนับสนุนอิสรภาพในการเปิดเผยตนเองและความคิดสร้างสรรค์ เพราะการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมาจากการพบปะของประชาชนในเมือง ไม่ใช่จากบรรทัดฐานทางสังคมที่ประชาชนเหล่านี้ต้องปฏิบัติตาม เราต้องแยกความยุ่งเหยิง ความเหงา และการฆ่าตัวตายออกจากอิสรภาพส่วนตัวที่จะแสดงตัวตน และความคิดสร้างสรรค์

ทฤษฎีวัฒนธรรมเมือง (Urban Culturalist Theory)

เฮอร์เบิร์ต แกนส์ (Herbert Gans) ไม่ได้ศึกษาเมืองโดยจำแนกประเภทตามวิวัฒนาการทางชนชั้นของผู้ที่อาศัยอยู่ในเมือง แต่แกนส์กล่าวถึงวิถีทางการดำเนินชีวิต (lifestyle) ที่ก่อตัวขึ้นโดยความเป็นเมือง แกนส์ได้รับอิทธิพลจาก โรเบิร์ต ปาร์ก และ เออร์เนส เบอร์เกส สำนักชิคาโก แกนส์เน้นศึกษาชีวิตในเมืองที่เกิดขึ้นในกลุ่มเล็กๆ ได้แก่ ครอบครัว เพื่อน และเพื่อนบ้าน ซึ่งกลุ่มเล็กๆ นี้อยู่ในถิ่นของชาวต่างประเทศภายในเมืองใหญ่ อย่างเช่น ลิตเติ้ลอิตาลีหรือไชน่าทาวน์ แกนส์ยืนยันว่าปัจจัยเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมเมือง ไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อกลุ่มหรือปัจเจกชน  เพียงแต่เป็นผลลบเล็กน้อยต่อการดำรงอยู่ของกลุ่มเล็กๆ ในเมือง (เช่น ลิตเติ้ลอิตาลี) ทฤษฎีพื้นที่ของแกนส์ต่อต้านการมองเมืองในด้านมืดแบบติดลบต่อกลุ่มเล็กๆ (Turley, Allan 2005: 10-11)
โฮเวิร์ด เบคเคอร์ (Howard Becker) ได้พัฒนาแนวคิดสำนักชิคาโกและแกนส์ ที่เสนอความซับซ้อนของชุมชนเมืองตามธรรมชาติในความหมายของ สังคมโลก (social world) กล่าวคือ ประสบการณ์โดยรวมและความสัมพันธ์ของถิ่นชาวต่างประเทศภายในเมืองใหญ่ เพื่อนบ้าน หรือ สภาพแวดล้อมการทำงาน ที่ทำให้ชาวเมืองใช้ชีวิตแตกต่างกันในสังคมโลก สู่การเคลื่อนไหวที่กลมกลืนกับเพื่อนบ้านทางสังคมโลก ถึงการทำงานในสังคมโลก และความเป็นครอบครัวในสังคมโลก อันนำไปสู่ผลผลิตทางวัฒนธรรม ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาเพลงคลาสสิกในทุกๆ เมืองในสหรัฐอเมริกา เมืองที่ปกครองตนเองโดยกลุ่มผู้ดีชั้นสูงเป็นผู้จัดการกองทุนภาษี (ท้องถิ่น รัฐ หรือสันนิบาต) เพื่อใช้จ่ายค่าอำนวยความสะดวก นักดนตรี และวงออเคสตราเพื่อแสดงดนตรีคลาสสิก ผู้ชม ทีมงาน และนักดนตรี เป็นผู้สร้างสรรค์สังคมโลกเพื่อผลิตวัฒนธรรมใหม่ รวมถึงสถาบันต่างๆ (วงซิมโฟนีหรือคณะโอเปรา) ผู้เชี่ยวชาญภาษาในการสื่อสาร (บทละครเรื่องมาดามบัตเตอร์ ฟลาย) เป็นบรรทัดฐานที่นำไปสู่สังคมโลก (การสวมใส่ชุดทักซิโดในการแสดง) สถาบันเหล่านี้ได้สร้างวัฒนธรรมเมือง (Turley, Allan 2005: 11)


หากย้อนกลับไปมอง เมือง ในทางรัฐศาสตร์ จอห์น มอลเลนคอมป์ (John Mollenkompf) ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมเมือง เชื่อว่านโยบายสนับสนุนการปกครองตนเองและโครงการจัดหาทุนต่างๆ เป็นพื้นฐานการเปลี่ยนแปลงของเมือง การออกแบบเมืองและการทำงานของเมืองเป็นการจัดการการปกครองตนเองทางวัฒนธรรมที่เหมาะสม รัฐบาลของสหพันธรัฐ กระทรวงที่อยู่อาศัยและการพัฒนาเมือง ได้เปลี่ยนเมืองโดยการออกแบบและโครงสร้างเมื่อ 50 ปีก่อน การเปลี่ยนเมืองใหม่ได้รับอนุมัติจากผู้นำเมืองในปี ค.ศ. 1950 นโยบายการบริหารกิจการภายในประเทศของประธานาธิบดีรูสเวลท์ ครอบคลุมถึงโครงการที่อยู่อาศัยจำนวนมาก จนอาจกล่าวได้ว่า เป็นการเริ่มต้นของกรุงวอชิงตันจากอิทธิพลความเป็นเมือง รัฐบาลเป็นผู้สร้างโครงการที่อยู่อาศัยเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1940 และออกแบบเพื่อผู้ไร้ที่อยู่อาศัยในปี ค.ศ. 1950 หลังยุคเศรษฐกิจตกต่ำ ในปี ค.ศ. 1960 ใช้เงินกองทุนเพื่อพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยในอเมริกา ทำให้เมืองใหญ่ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้น มีย่านธุรกิจหลักและตึกอาคารที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ ที่น่าเศร้า คือ ในปี ค.ศ. 1960-1970 นักพัฒนาที่ดินผู้ร่ำรวยเข้ามาฟื้นฟูทรัพย์สินในย่านธุรกิจหลัก ทำกำไรจากการซื้อขายเปลี่ยนมืออาคารที่เก็บค่าเช่าเพียงเพื่อเป็นค่าภาษีที่ดิน ในขณะที่การก่อสร้างต่ำกว่ามาตรฐานและความหละหลวมในการกำหนดเวลาสำหรับที่อยู่อาศัยเพื่อคนจนในระยะยาว ทำให้จำนวนยูนิตที่พักอาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยลดลง
เอลิซา แอนเดอร์สัน (Elijah Anderson)[3] ได้ใช้วิธีการศึกษาทางมานุษยวิทยา อธิบายชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันในเรื่องโครงสร้างและปัญหาทางประวัติศาสตร์ ระหว่างพื้นที่แออัดที่คนกลุ่มน้อยในเมืองอาศัยอยู่กับชานเมือง แอนเดอร์สันอธิบายถึงชีวิตและโครงสร้างครอบครัว สิทธิ (decent) และ ถนน (street) สิทธิของครอบครัวชนชั้นกลางมีคุณค่าทางโครงสร้างวัฒนธรรมของสังคม และวัฒนธรรมครอบครัวข้างถนนกลับถูกปล่อยปละละเลย คุณค่าทางชนชั้นเป็นข้อเท็จจริงของชีวิตภายในเมืองที่ต้องยอมรับในระยะเวลาอันสั้น
การดูแลเอาใจใส่ กับ การแบ่งแยก วัฒนธรรมข้างถนน เป็นข้อถกเถียงของวัฒนธรรมอเมริกัน ที่ทำให้วัฒนธรรมอยู่ในภาวะชะงักงัน (dysfunction culture) วัฒนธรรมข้างถนนเป็นปฏิกิริยาต่อความยากจนมากกว่าเป็นการสร้างความยากจน ปฏิกิริยาต่อความยากจนภายในเมืองได้สร้างวัฒนธรรม ฮิบ-ฮอบ หรือวัฒนธรรมเพลงแร็บ ซึ่งเป็นผลผลิตของวัฒนธรรมข้างถนน รวมถึงบรรทัดฐานทางการใช้ภาษา (การใช้คำที่ไม่ถูกต้องตามไวยากรณ์ เช่น “dissin”) โครงสร้างมาตรฐาน (ความรุนแรงและการใช้ปืนเพื่อแก้ปัญหา) และแฟชั่น (ผ้าพันคอตามสีของแก็งค์ต่างๆ และการทิ้งรถยนตร์ราคาถูกไว้เป็นสัญลักษณ์ตามถนน)
วัฒนธรรมเมือง พลเมือง ธุรกิจ องค์กรทางสังคม องค์กรต่างๆ และการผลิตผลงานศิลปะ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกันดังกล่าวข้างต้น สิ่งเหล่านี้เป็นเสมือนรหัสของวัฒนธรรมเมืองใหญ่ที่ต้องการการถอดรหัส เพื่อทำความเข้าใจความหมายของวัฒนธรรมเมือง


[1] บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาบัณฑิตสัมมนา (สห. 845) โครงการปริญญาเอกสหวิทยาการ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคการศึกษาที่ 2/2552
[2] Wirth, Louis. (1938). Urbanism as a Way of Life, American Journal of Sociology Vol. 14, pp. 1-24.
[3] Anderson, Elijah. (1990). Streetwise: Race, Class and Change in the Urban Community. Chicago: University of Chicago Press.

วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การอ่านเพื่อเรียนรู้วิธีวิทยาในการวิจัย

เบญจวรรณ นาราสัจจ์[1]

ยังต้องอ่านอีกมาก ไปอ่านเพิ่ม  ขอแนะนำให้อ่านเรื่อง....
คำแนะนำทำนองนี้เป็นสิ่งที่อาจารย์และผู้หวังดีทั้งหลายมักจะพูดออกมาเสมอ เมื่อพบนักศึกษาปริญญาโท/เอกที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเค้าโครงวิทยานิพนธ์ แต่ยังขาดทักษะการวิจัย[2] กระนั้นก็มีนักศึกษาจำนวนหนึ่งที่แสนขยันอ่านแล้วยังประสบปัญหาในการทำความเข้าใจ/จินตนาการถึงสิ่งที่ตัวเองกำลังจะศึกษาอยู่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำอธิบายที่เป็น นามธรรม ทั้งหลายที่มีเขียนไว้ในกรอบคิดทฤษฏีต่างๆ เช่น  ปฏิบัติการทางสังคม, การปะทะ-ประสาน-ช่วงชิง-ต่อรอง, กลยุทธ์การดำรงชีพ ฯลฯ ซึ่งดูเหมือนจะชัดเจน เข้าใจได้ แต่กลับไม่สามารถยกตัวอย่าง รูปธรรม มาเชื่อมโยงได้  อันเป็นอาการที่ถูกเรียกว่า อ่าน(หนังสือ)ไม่แตก(ฉาน)
อาการอ่านหนังสือไม่แตกมีสาเหตุและความเป็นไปในหลายลักษณะ แต่ในที่นี้ขอตั้งข้อสังเกตเฉพาะการอ่านงานวิจัยแล้วกลับไม่ได้เรียนรู้ วิธีวิทยา (Methodology) ของงานที่อ่าน  เนื่องจากอาจารย์หลายท่านมักคาดหวังว่านักศึกษาอ่านงานวิจัยในประเด็นเดียวกันหรือแนวทางการวิเคราะห์เดียวกันกับที่นักศึกษาตั้งใจจะทำวิทยานิพนธ์แล้วจะเกิดความเข้าใจและลงมือทำด้วยตนเองได้  ขณะที่นักศึกษาอ่านแล้วก็สรุปเนื้อหางานวิจัยได้ แต่ยังคิดรายละเอียดไม่ออกอยู่ดีว่าจะเริ่มต้นเก็บข้อมูลที่ไหน/อย่างไร  บางคนอุตส่าห์ลงสนามไปด้วยความเหน็ดเหนื่อย แต่ก็มีอาการ เห็น-ได้ยินมากมาย แต่ไม่รู้จะดู-ถามอะไรอีก จึงได้เพียงข้อมูลผิวเผินที่ไม่เพียงพอกับการเชื่อมโยงสู่แนวคิดนามธรรมที่เลือกใช้ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในช่วงเริ่มต้นการพัฒนาเค้าโครงวิทยานิพนธ์ 
ทั้งนี้ เนื่องจากประสบการณ์ส่วนใหญ่ของดิฉันเป็นการอ่าน-ทำงานวิจัยเชิงคุณภาพตามแนวทางมานุษยวิทยาจึงเลี่ยงไม่ได้ที่ตัวอย่างทั้งหลายในบทความนี้จะอยู่ในกลุ่มงานดังกล่าว  กระนั้น ก็หวังว่าข้อสังเกตเกี่ยวกับวิธีการอ่านที่ดิฉันนำเสนอนี้จะสามารถแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่กำลังทำวิจัยกันอยู่ในสาขาอื่นๆ ได้ด้วย

ข้อสังเกตเกี่ยวกับการ อ่าน(งานวิจัย)ไม่แตก
การอ่านงานวิจัยแล้วไม่ได้เรียนรู้วิธีวิทยา(Methodology) มากพอที่จะเอามาใช้ในงานวิจัย(วิทยานิพนธ์)ของนักศึกษา อาจเกิดขึ้นในหลายลักษณะ ดังนี้
1. การอ่านไม่แตกส่วนหนึ่งเกิดจากผู้อ่านอ่านโดยปราศจากเป้าหมายว่ากำลังหาอะไร
ในการอ่านส่วนใหญ่ นักศึกษามักจะใช้วิธีอ่านจับใจความสำคัญ ของสิ่งที่เขียนอยู่ทำให้ได้รู้  ข้อค้นพบ/ข้อสรุป ของงานวิจัย ซึ่งก็ถือเป็นสาระเบื้องต้นที่ควรได้จากการอ่าน  แต่ยังมีสาระสำคัญอื่นๆ อีกมากที่ควรตั้งเป้าหมายว่าจะอ่านให้พบ โดยเฉพาะสำหรับมือใหม่ ที่เริ่มต้นทำวิจัยในประเด็นนั้นเป็นครั้งแรก ก็น่าจะอ่านให้ได้ วิธีวิทยา ของงานวิจัย เพื่อนำมาใช้เป็นตัวอย่าง(ที่มีรายละเอียดเชิงรูปธรรมและการวิเคราะห์ด้วยคำอธิบายเชิงนามธรรม)ในการออกแบบงานวิจัยของตนเอง 
การตั้งเป้าหมายว่าจะหาอะไรจากงานวิจัย ทำให้เกิดความใส่ใจเป็นพิเศษ ผู้อ่านจึงมีโอกาสได้เรียนรู้ในประเด็นนั้นมากขึ้น (ถ้าต้องการแค่ข้อค้นพบ/ข้อสรุปของงาน หลายคนอาจ อ่านลัดแค่บทคัดย่อและบทสรุปของงาน จึงไม่ได้เรียนรู้สาระสำคัญอื่นที่จะเป็นประสบการณ์วิจัยมือสองให้ตนเอง)

2. นักศึกษาบางคนอ่าน วิธีวิทยา ของงานวิจัยเฉพาะที่เขียนไว้ในหัวข้อ ระเบียบวิธีการศึกษา/วิธีดำเนินการวิจัย และ ขอบเขตการศึกษา
สิ่งที่เขียนในหัวข้อเหล่านั้นซึ่งปรากฏชัดเจนในบทที่ 1หรือบทนำ มักพาให้ผู้อ่านลืมค้นหาให้พบรายละเอียดที่ยังมีอีกมากในเนื้อหาส่วนอื่นๆ   ทั้งนี้ สิ่งที่ควรหาให้พบเพื่อเพิ่มความเข้าใจวิธีวิทยาของงานวิจัยที่อ่าน ได้แก่
(1)  โจทย์วิจัย อันประกอบด้วย
(1.1) คำถามหลัก  และ
(1.2) กรอบคิดที่เป็นพื้นฐานของการตั้งคำถาม (และหาคำตอบ)
แม้คำถามหลักมักถูกระบุอย่างชัดเจนในส่วนของบทนำ แต่กรอบคิดพื้นฐานของคำถามหลักอาจไม่ได้เขียนออกมาชัดๆ แต่ย่อมมีนัยยะจากการนำเสนอ ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา ในบทที่ 1 และการเรียบเรียงข้อมูลมานำเสนอในบทต่อๆ มา (ทั้งส่วนทบทวนวรรณกรรมและผลการศึกษา) ที่ผู้อ่านต้องหาให้พบ ด้วยการตั้งคำถามกับตนเองและหาคำตอบจากเนื้อหาที่อ่านว่า งานนี้ให้มุมมองต่อสิ่งที่ศึกษาอย่างไร เหมือน-แตกต่างจากงานอื่นที่ใช้แนวทางการศึกษาแบบอื่นอย่างไร(กรณีอ่านงานวิจัยในหัวข้อนั้นเป็น ชิ้นแรกอาจเปรียบเทียบกับมุมมองเดิมของผู้อ่านเองก็ได้[3])  เช่น
- งานวิจัยวาทกรรม มีนัยยะของการวิพากษ์สิ่งที่ศึกษาว่าเป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้างทางสังคม โดยกลุ่มคนบางกลุ่มและ/หรือมีอำนาจบางอย่างกำกับ ทำให้คนส่วนใหญ่ยอมรับ/เชื่อว่าเป็นความจริง แต่ก็มักมีการต่อต้านเกิดขึ้นจนสามารถ ตามรอยการประกอบสร้างนั้นได้
- งานวิจัยยุทธศาสตร์การดำรงชีพ(ของผู้ด้อยโอกาส)มีนัยยะของการมองผู้ด้อยโอกาสที่มักถูกมองว่า เหยื่อของระบบ/โครงสร้างสังคม ในลักษณะของ Agency ที่ต่อสู้กับระบบ/โครงสร้างสังคมที่กำกับพวกเขาอยู่ 
- งานวิจัยความทรงจำร่วม(Collective memory) เกี่ยวกับอดีตมีนัยยะของการเปิดพื้นที่ให้กับเรื่องเล่าของผู้คนที่เป็นเจ้าของอดีตซึ่งเคยถูกกดทับด้วยประวัติศาสตร์ทางการ เป็นต้น
ทั้งนี้ แม้แต่งานวิจัยในบางสาขา เช่น ประวัติศาสตร์ ไม่นิยมประกาศชัดว่าใช้แนวคิดทฤษฏีอะไร ก็ยังต้องมีกรอบคิดพื้นฐานบางอย่างในการตั้งคำถามหลักเสมอ เช่น การตั้งคำถามถึงการเปลี่ยนแปลงคำอธิบายบทบาทของพระมหาธรรมราชาในประวัติศาสตร์ชาติไทย แสดงถึงกรอบคิดพื้นฐานแนววาทกรรมที่ว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องเล่าที่ผ่านการประกอบสร้างความหมายโดยคนแต่ละยุค เป็นต้น

(2) วิธีการศึกษา มักเขียนไว้อย่างสังเขปและเป็นไปตามรูปแบบหลัก คือระบุว่าเป็นวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ สังเกต ใช้ข้อมูลเอกสารร่วมด้วย ฯลฯ เท่านั้น ไม่ว่าจะอ่านยังไงก็ไม่เพียงพอที่จะเข้าใจว่าจริงๆ แล้วผู้วิจัยใช้การสัมภาษณ์ใคร-ถามอะไรบ้าง อย่างไร
ในการอ่านให้ได้รายละเอียดของวิธีที่ใช้ศึกษา  ผู้อ่านจึงควรถือว่าข้อมูลที่เป็นเนื้อหาหรือรายละเอียดในบทต่อๆ มาคือ คำตอบ แล้วไตร่ตรองว่าผู้วิจัยได้คำตอบมาอย่างไร ก็จะได้ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับ คำถามหลัก-คำถามรอง-คำถามย่อย และวิธีการเก็บข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงในระหว่างการวิจัย เช่น
- เนื้อหาที่ประกอบด้วยประวัติความเป็นมาของสิ่งที่ศึกษา ตารางแสดงการเปลี่ยนแปลงที่มีการระบุช่วงเวลา-เหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยน-ผลที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเป้าหมายในการวิจัย  แสดงให้เห็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับประวัติศาสตร์  อันมีรายละเอียดตั้งแต่จุดเริ่มต้นของสิ่งที่ศึกษาและการเปลี่ยนแปลงแต่ละอย่างที่กระทบกับเรื่องที่ศึกษา
- เนื้อหาที่เป็นแผนผังแสดงพื้นที่เป้าหมายในการศึกษา  แสดงถึง การกำหนดขอบเขตสิ่งที่ศึกษาที่เป็นหลักกับเป็นบริบท  การเชื่อมโยงสิ่งที่เป็นกายภาพกับการกระทำของผู้คน(ในแผนผัง เช่น ที่ตั้งบึง, บ้านเรือนของผู้คนที่ใช้ประโยชน์จากบึง, ตำแหน่งที่คนมาหาปลาหรือทำกิจกรรมต่างๆ ในบึง เป็นต้น)
- แหล่งอ้างอิงที่ระบุในเชิงอรรถ เป็นสิ่งบ่งบอกการใช้ข้อมูลประเภทต่างๆ เช่น เอกสารทางราชการ, เอกสารวิชาการ, เวบไซด์(หน่วยงานทางการ/ห้องสนทนาที่เป็นเวทีสาธารณะ/โฮมเพจที่เป็นพื้นที่แสดงความรู้และความคิดเห็นส่วนบุคคล/ฯลฯ), สื่อท้องถิ่น, การสัมภาษณ์บุคคลในสถานภาพต่างๆ  เป็นต้น ซึ่งนำมาประกอบกันอย่างสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการนำเสนอและก่อให้เกิดความน่าเชื่อถือในคำอธิบาย
ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า คำถาม และ วิธีเก็บข้อมูล ย่อมสัมพันธ์กับ แนวคิดทฤษฏี (ที่ใช้ในการวิเคราะห์และ/หรือเป็นกรอบคิดพื้นฐานในการตั้งโจทย์วิจัย) หากผู้อ่านพิจารณาแล้วว่าผู้วิจัยตั้งคำถามอย่างไร ใช้วิธีเก็บข้อมูลอย่างไรบ้าง ก็น่าจะเข้าใจมากขึ้นถึง แนวคิดทฤษฏี ที่ใช้ โดยสามารถดึงเอารายละเอียดในเนื้อหามาเป็นตัวอย่างรูปธรรมของสิ่งที่แนวคิดอธิบาย เช่น การใช้ประโยชน์จากผู้คนที่ตัวเองรู้จักในการหางานทำและเช่าบ้านแบ่งกันในราคาถูก (และอื่นๆ อีกมากมาย) คือตัวอย่างของการใช้ ทุนทางสังคม เป็นต้น

(3) “ข้อโต้แย้งทางวิชาการ (argument) อาจปรากฏบางส่วนใน สมมติฐานงานวิจัย และ ทบทวนแนวคิดและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 
อย่างไรก็ตาม ผู้อ่านจะเข้าใจได้ชัดเจนเป็นรูปธรรมก็ต่อเมื่อสามารถสรุปด้วยตนเอง[4]ว่า ข้อค้นพบ ของงานมีส่วนโต้แย้งหรือสนับสนุนองค์ความรู้เดิมในเรื่องนั้นๆ อย่างไร โดยส่วนใหญ่เป็นการโต้แย้งหรือสนับสนุน(ขยายความ) คำอธิบาย ที่เคยมีมาก่อน แต่ก็มักสัมพันธ์กับ วิธีการศึกษา ด้วย เช่น การศึกษายุทธศาสตร์การดำรงชีพของแรงงานหญิงเพื่อชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างของยุทธศาสตร์การดำรงชีพของแรงงานชาย เป็นการเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายที่ศึกษาเพื่อผลในเชิงการสร้างข้อโต้แย้งที่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการศึกษาแรงงานชายหรือแรงงานชายหญิงโดยรวม  เป็นต้น

2. นักศึกษาบางคนเข้าใจว่าการอ่านจบหนึ่งรอบถือว่าเพียงพอแล้ว เนื่องจากมีรายการหนังสือจำนวนมากที่ได้รับคำแนะนำให้อ่านจนไม่มีเวลาเพียงพอจะอ่านให้จบทุกเล่มอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม สำหรับการอ่านเพื่อให้ได้สาระการวิจัยอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ มักต้องอ่านทบทวนมากกว่า 1 รอบ โดยในรอบแรกอ่านเพื่อให้ได้ภาพรวมของงาน ซึ่งทำให้ตัดสินใจได้ว่าน่าจะอ่านอีกรอบเพื่อหาคำตอบที่คาดหวังหรือไม่ ถ้าใช่ ก็ต้องอ่านอีกเพื่อหาสิ่งที่ต้องการไปทีละอย่างให้เข้าใจมากพอที่จะนำมาประยุกต์ใช้ได้ (หากอ่านรอบสองแล้วได้ครบทุกอย่างที่ต้องการก็ขอแสดงความยินดีด้วยค่ะ[5])
บางครั้งเมื่ออ่านพบแล้วเอามาใช้ไม่ได้ก็ต้องปลงว่าสิ่งที่อ่านได้ก็ช่วยเปิดมุมมองเพิ่ม ไม่จำเป็นต้องใช้กับงานในมือเสมอไป อย่างที่อาจารย์ท่านหนึ่งเคยย้ำในชั้นเรียนเสมอว่า ให้อ่านเพื่อจะไม่ใช้[6]   ก็ถ้าไม่อ่านจะรู้ได้ไงว่าในงานนั้นไม่มีสิ่งที่เราควรเรียนรู้และนำมาใช้ แต่อ่านแล้วไม่ใช้ก็รู้ล่ะว่าทำไมถึงไม่เอามาใช้ เช่น ไม่สอดคล้องกับแนวงานของตัวเราเอง หรือไม่เหมาะกับทักษะของตัวเรา เป็นต้น และสามารถจดจำไว้เป็น คลังความรู้ ที่รอวันดึงมาใช้ในเวลาที่ต้องการได้
เมื่อต้องอ่านหลายรอบ จำนวนชิ้นงานที่อ่านจึงมักจะน้อยกว่าที่ได้รับคำแนะนำเสมอ และต้องจัดลำดับความสำคัญของชิ้นงานต่างๆ ที่ ต้องอ่าน ให้สามารถเลือกหยิบอ่านได้สอดคล้องกับความจำเป็นและความต้องการในขณะนั้นได้  

3. นักศึกษาบางคนเข้าใจว่า คำถามวิจัย กับ คำถามที่ใช้ในสนาม เป็นสิ่งเดียวกัน อย่างที่อาจมีการถามถึงความหมายของพิธีกรรมที่ศึกษาจากผู้ให้ข้อมูลในสนาม ทั้งที่นั่นเป็นสิ่งที่ผู้วิจัยต้องค้นหาด้วยการประมวลและวิเคราะห์จากคำบอกเล่า, พฤติกรรม, และสิ่งที่ได้พบเห็นในสนาม เพื่อยกระดับเป็นคำอธิบายเชิงนามธรรม   
ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะเมื่ออ่านงานวิจัยมักจะมี คำตอบ ของคำถามวิจัยนำเสนอไว้อย่างชัดเจน ทำให้นักวิจัยมือใหม่ลืมไปว่าสิ่งที่อ่านอยู่นั้นเป็นผลผลิตของกระบวนการวิจัยที่ผู้วิจัยไปถามจากในสนาม ผ่านการวิเคราะห์สังเคราะห์เชื่อมโยงอย่างลงตัวแล้วจึงนำมาเขียนไว้ให้อ่าน เปรียบได้กับบ้านที่สร้างเสร็จก็ย่อมเอานั่งร้านออก งานวิจัยที่เสร็จแล้วย่อมไม่เขียนถึง คำถามที่ใช้ในสนาม  หรือประโยคที่ผู้วิจัยใช้ในการสนทนากับผู้ให้ข้อมูลจริง ซึ่งต้องเป็นไปตามสถานการณ์, ตำแหน่งและเงื่อนไขมากมายระหว่างเก็บข้อมูล  ผู้อ่านที่คิดจะถาม คำถามวิจัย ทำนองเดียวกับในงานที่อ่านจึงจำเป็นต้องคาดคะเนเองว่า จาก คำถามวิจัยหรือสิ่งที่ผู้วิจัยอยากรู้อยากค้นให้พบ ต้องถามเป็น คำพูดในการสนทนากับผู้ให้ข้อมูลอย่างไร หรือจะได้ข้อมูลด้วยการเข้าไปอยู่ร่วมในสถานการณ์แบบใด เช่น งานบุญประเพณี  วงสนทนาที่ร้านกาแฟ ที่ประชุมหมู่บ้าน  เป็นต้น 
ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่นำเสนอในงานวิจัยราวกับได้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ในครั้งเดียวอาจเป็นสิ่งที่ผู้วิจัยต้องแวะไปถามไถ่พูดคุยอยู่นานกว่าผู้ให้ข้อมูลจะคุ้นเคยและตอบออกมาทีละส่วนๆ และ/หรือมักมีคำตอบในทำนองคล้ายกันซ้ำๆ จากผู้ให้ข้อมูลหลายคน จนผู้วิจัยตัดสินใจว่าคำตอบนั้นใช้แทนการรับรู้/ความคิดเห็นของกลุ่มเป้าหมายที่ศึกษาได้จึงเลือกคำพูดของคนหนึ่งมาใช้เป็นตัวอย่างประกอบคำอธิบาย  ดังนั้น คำถามที่ใช้จริงในสนาม จึงเป็นสิ่งที่แตกต่างกับ คำถามวิจัย แม้จะมีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดก็ตาม

4. นักศึกษาจำนวนไม่น้อย ลืมตั้งคำถามเชิงวิพากษ์กับวิธีวิทยาและข้อถกเถียงทางวิชาการที่อ่านพบ
ในกรณีที่อ่านเพื่อเรียนรู้ วิธีวิทยา ผู้อ่านไม่เพียงควรพอใจกับการได้ข้อสรุปว่างานชิ้นที่อ่านใช้วิธีวิทยาอย่างไรเท่านั้น หากจำเป็นต้องนำมาพิจารณาในรายละเอียดเกี่ยวกับส่วนต่างๆ เช่น โจทย์วิจัย, กรอบคิด, วิธีเก็บข้อมูล, แนวทางการวิเคราะห์ ฯลฯ ว่าได้ถูกนำมาใช้อย่างเหมาะสมมากน้อยเพียงใด(ในการสร้างความน่าเชื่อถือของข้อค้นพบ/คำอธิบายในงาน) และสามารถให้แง่มุมคำอธิบายที่แตกต่างหรือคล้ายคลึงกับมุมมองที่มีอยู่เดิมอย่างไร เพื่อที่จะ ตัดสินอย่างเป็นอัตวิสัย[7]เกี่ยวกับวิธีวิทยาส่วนนั้นๆ ว่ามีความน่าสนใจมากน้อยเพียงใดที่จะนำไปใช้ในงานศึกษาทำนองเดียวกัน และ/หรือควรนำเอามาใช้ในงานวิจัยของตนเองหรือไม่ อย่างไร   ซึ่งขณะที่เป็นมือใหม่ในเรื่องที่สนใจศึกษา ดิฉันเห็นว่าการคิดเชื่อมโยงกับหัวข้อที่กำลังสนใจจะทำการศึกษา มีส่วนช่วยให้สามารถใคร่ครวญในรายละเอียดระดับลึกได้ง่ายกว่าและเป็นประโยชน์ต่องานที่กำลังจะทำมากกว่าการคิดตามรายละเอียดในงานวิจัยที่อ่านอยู่เพียงอย่างเดียว
ทั้งนี้ การคิดเชิงวิพากษ์วิธีวิทยาย่อมรวมไปถึงการวิพากษ์ข้อโต้แย้งทางวิชาการของงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการถกเถียงในหัวข้อศึกษา/แนวทางการศึกษานั้นๆ ด้วยว่า งานที่อ่านได้มีส่วนสร้างเสริมหรือหักล้างคำอธิบายแบบใดบ้าง เพื่อที่จะได้ประมวลรวมกับองค์ความรู้ที่มีอยู่เดิมว่าการถกเถียงทางวิชาการ(debate) ในหัวข้อหรือแนวทางการศึกษานั้น มีจุดใดบ้างที่ได้รับการนำเสนอและสนับสนุนกันอย่างมากมาย จุดใดบ้างที่ถูกหักล้างหรือลดความน่าเชื่อถือไปแล้ว จุดใดบ้างที่ยังมีการสนับสนุนหรือหักล้างน้อยหรือไม่มีเลย ซึ่งน่าจะเป็น ช่องว่าง ให้นักศึกษาเลือกทำการวิจัยได้อย่างมี ที่ยืน ในทางวิชาการ (เนื่องจากงานวิจัยทุกชิ้นถูกคาดหวังให้เสนอองค์ความรู้ที่มีอะไร ใหม่ หรือ originality)  และการที่จะได้ข้อโต้แย้งทางวิชาการ ใหม่ มักสัมพันธ์กับการเลือกวิธีวิทยาที่ให้มุมมองการวิเคราะห์ใหม่ด้วย จึงจำเป็นที่นักศึกษาต้องเรียนรู้วิธีวิทยาและข้อโต้แย้งทางวิชาการที่หลากหลายจากการ อ่าน มากๆ นั่นเอง
ที่สำคัญ สิ่งที่อ่านและได้รับการใคร่ครวญแล้วว่าน่าจะนำมาใช้ ก็ไม่จำเป็นต้องนำมาใช้ตามตัวอย่างเสมอไป    ขอยกตัวอย่างจากประสบการณ์ของดิฉันเอง เมื่อได้อ่านงานวิจัยมรดกทางวัฒนธรรม ประเภทโบราณสถาน อาคารประวัติศาสตร์ ศาสนสถาน ที่อาศัยกรอบคิดว่าด้วยความทรงจำร่วม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการมองภาพรวมของเมืองที่ประกอบด้วยมรดกหลายๆ แห่งในลักษณะ ภูมิทัศน์ความทรงจำ ที่สะท้อนการดำรงอยู่ร่วมกันของความทรงจำร่วมชุดต่างๆ ที่ได้รับการเชิดชูจากกลุ่มคนต่างๆ ในเมือง อันมีลักษณะของการช่วงชิงการนำเสนอเรื่องเล่าเกี่ยวอดีตหลายชุดของเมือง  จากเดิมที่ดิฉันเข้าใจว่าการวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมควรเลือกมรดก 1 แห่งเป็นพื้นที่ศึกษาหลัก ก็ทำให้ได้ตัวอย่างของมุมมองความสัมพันธ์ระหว่างมรดกหลายๆ แห่งที่ต้องมีข้อมูลบ่งชี้ความเชื่อมโยงระหว่างกัน ต่อมาเมื่อดิฉันสนใจเลือกใช้แนวคิดภาพตัวแทน (Representation) เป็นหลักในการศึกษาปราสาทพนมรุ้ง  วิธีมองดังกล่าวทำให้ดิฉันสามารถเริ่มวางกรอบการเก็บข้อมูลปราสาทพนมรุ้งในการรับรู้ของคนท้องถิ่นโดยไม่จำกัดเฉพาะตัวปราสาทพนมรุ้งในขอบเขตที่ถูกกำหนดโดยกรมศิลปากรอย่างที่คาดว่าจะทำก่อนที่จะได้อ่านงานดังกล่าว หากแต่มองสิ่งที่อยู่รอบนอกเขตอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งแต่มีฐานะเป็นส่วนหนึ่งของปราสาทพนมรุ้งในความหมายที่คนท้องถิ่นรับรู้และถ่ายทอดสู่สาธารณะ ได้แก่ วัดปราสาทพนมรุ้ง และศาลเจ้าพ่อปราสาททอง ด้วย 


อีกตัวอย่างคืองานวิจัยความทรงจำร่วมที่ถูกลืม ที่มีผู้วิจัยเสนอให้ใช้การขุดค้นทางโบราณคดีเป็นแหล่งข้อมูลทดแทนเพราะไม่สามารถถามจากผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ได้  ดิฉันอ่านแล้วประเมินศักยภาพตัวเองได้ว่าไม่สามารถทำตามได้ จึงอาศัยเพียงข้อสังเกตเกี่ยวกับการลืมสิ่งที่เคยเกิดขึ้นว่ามีหลายระดับ[8] นำมาใช้ประยุกต์กับการค้นหาตำนาน/นิทานพื้นบ้านเรื่อง ปาจิต-อรพิม ที่เคยแพร่หลายแต่หายไปหลังการเผยแพร่องค์ความรู้สมัยใหม่เกี่ยวกับปราสาทพนมรุ้ง โดยสอบถามคนในท้องถิ่นเชิงเขาพนมรุ้ง พร้อมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับระดับการลืมตำนานดังกล่าว ที่มีตั้งแต่ ไม่รู้จักเลย เคยได้ยินแต่ไม่สนใจ ไม่รู้เลยว่าเกี่ยวกับปราสาทพนมรุ้ง เคยได้ยินแต่จำไม่ได้ รู้ว่าเคยมีนางอรพิมอยู่ที่ปราสาท ยังจำได้ เล่าได้ แต่ไม่เชื่อเพราะไม่เป็นความจริง ตามข้อมูลกรมศิลปากร ซึ่งทำให้ต้องละเอียดอ่อนต่อคำบอกเล่าของผู้ให้ข้อมูลแต่ละคนมากขึ้น และหาวิธีตั้งคำถามที่จะทำให้เชื่อได้ว่าผู้ให้ข้อมูลแต่ละรายจดจำหรือลืมตำนานดังกล่าวในระดับใด เพื่อใช้ประกอบการวิเคราะห์ถึงการกดทับความรู้ท้องถิ่น(ที่แสดงออกในรูปตำนาน)ขององค์ความรู้ทางวิชาการต่อไป
นอกจากนี้ ในการลงสนามแต่ละครั้ง ถึงแม้จะได้มีการวางแผนหรือออกแบบงานวิจัยไว้ล่วงหน้า ทำให้รู้ว่าต้องการเก็บข้อมูลในประเด็นใดบ้าง ถามจากใครด้วยคำถามอะไร อันเป็นสิ่งที่สะท้อนมาจากกรอบคิด/มุมมองทางวิชาการที่เลือกใช้  แต่ปรากฏการณ์ในสนาม[9]ที่พบเจออาจทำให้นักศึกษารู้สึกได้ว่า ไม่สอดคล้องกับกรอบงานที่วางไว้ จำเป็นต้องปรับ เนื่องจากกรอบคิด/มุมมองทางวิชาการเป็นเสมือนไฟส่องทางในการค้นหาคำอธิบายเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสนาม  จึงต้องไม่ยึดถือแบบตายตัวจนกลายเป็น กรงขัง ความคิดวิเคราะห์ของผู้วิจัยเองหรือเกิดลักษณะที่มีผู้เปรียบเทียบว่าเป็นการ ตัดเท้าให้เข้ากับเกือก  คือการตัดทอนข้อมูลสนามออกบางส่วนเพื่อให้สอดคล้องลงตัวกับกรอบคิด อันเป็นการบิดเบือนข้อมูล และผิดจรรยาบรรณอย่างร้ายแรง แม้ว่าจะเป็นการกระทำอย่างไม่ตั้งใจก็ตาม
นักวิจัยจะสามารถปรับกรอบคิด/มุมมองทางวิชาการตามปรากฏการณ์สนามได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด ดิฉันเชื่อว่าอยู่ที่ คลังความรู้ เกี่ยวกับวิธีวิทยาที่มีในตัวเองขณะนั้น หากมีวิธีวิทยาที่หลากหลาย(จากการอ่านมากๆ)อยู่ในหัว ย่อมจะมีโอกาสเลือกให้เหมาะกับสิ่งที่พบเห็น[10] แล้วลองขยายแนวทางการวิจัยไปตามนั้นได้โดยไม่ต้องเสียเวลากลับมาอ่านหาใหม่  ถึงแม้ภายหลังกลับมาอ่านเพิ่มเติมแล้วพบว่าแนวทางที่เลือกยังต้องการข้อมูลในแง่มุมที่มากกว่านั้น แต่ตอนนั้น[11]ก็ยังได้ข้อมูลเบื้องต้นสำหรับประเมินว่าแนวทางที่เลือกใหม่นั้นสอดคล้องกับปรากฏการณ์หรือไม่ หากใช่ จะได้ดำเนินการต่อไป ถ้าไม่ใช่ก็จะได้เลือกมุมมองอื่นแทน หรือถ้าจะใช้กรอบคิดเดิมก็อาจต้องหาพื้นที่ศึกษาใหม่ที่มีปรากฏการณ์สอดคล้องกัน 
ยกตัวอย่างเช่น ดิฉันเคยสนใจศึกษาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแห่งหนึ่งซึ่งมีข้อมูลว่าจัดแสดงของใช้ท้องถิ่นที่มีป้ายคำอธิบาย 3 ภาษาคือ เขมร กูย และลาว อันแสดงถึงการเชิดชูแนวคิดพหุวัฒนธรรม/ชาติพันธุ์ที่ดำรงอยู่ในท้องถิ่นนั้น  แต่เมื่อลงสนามเก็บข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้องด้วยแนวคิดว่าด้วยภาพตัวแทนชุมชนที่ถูกสร้างผ่านพิพิธภัณฑ์ ก็พบว่าตัวพิพิธภัณฑ์อยู่ระหว่างปรับปรุง ไม่สามารถศึกษาภาพตัวแทนในลักษณะของการอ่านความหมายของสิ่งจัดแสดงและสอบถามจากผู้เกี่ยวข้องอย่างที่ตั้งใจไว้ได้ จึงปรับแผนการเก็บข้อมูลโดยมุ่งไปที่ความทรงจำร่วมของผู้คนในชุมชนที่มีต่ออดีตที่ถูกนำเสนอในพิพิธภัณฑ์ แต่ยิ่งถามลึกยิ่งพบแต่ข้อมูลความขัดแย้งที่ทำให้ผู้คนยกมาพูดถึงบดบังเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวจนไม่สามารถเข้าถึงแง่มุมที่จะนำไปสร้างคำอธิบายตามแนวคิดความทรงจำร่วมที่ดิฉันต้องการ เมื่อพิจารณาจากกรอบคิดทั้งหมดที่ดิฉันมีอยู่และพอจะดึงมาใช้กับกรณีดังกล่าว  คาดว่าต้องเปลี่ยนหัวข้อเรื่องเป็น ชีวิตและจุดจบของพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่ง[12] แทน ซึ่งดิฉันไม่ได้สนใจทำ จึงตัดสินใจเปลี่ยนพื้นที่ศึกษาด้วยการไปสำรวจพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแห่งอื่นแทน  

สรุป
การอ่านที่จะช่วยพัฒนาทักษะการวิจัยโดยเฉพาะในส่วน วิธีวิทยา อันประกอบด้วยโจทย์วิจัย กรอบคิดทฤษฏี วิธีการศึกษา และข้อโต้แย้งทางวิชาการ เป็นกระบวนการที่คล้ายกับการสนทนาระหว่าง งาน(วิจัย)ที่อ่าน กับ ประสบการณ์ของผู้อ่าน โดยผู้อ่านต้องตั้งเป้าหมายในการอ่านที่จะค้นหาวิธีวิทยาของงานชิ้นที่อ่าน  แล้วถามกลับเสมอเมื่ออ่านรายละเอียดเนื้อหา/ผลการวิจัยว่างานชิ้นนั้นมีคำถามวิจัย/วิธีวิจัย/กรอบคิดทฤษฏีที่ใช้อย่างไรพร้อมตัวอย่างรูปธรรมอะไร ผู้วิจัยเลือกใช้แต่ละส่วนได้สอดคล้องกับงานทั้งชิ้นหรือไม่ อย่างไร หากจะนำไปประยุกต์ใช้กับสิ่งที่สนใจศึกษาน่าจะทำได้มากน้อยเพียงไร อย่างไร  เพื่อจะได้เป็นประสบการณ์มือสองในการทำวิจัยของตนเองและเพิ่มการเติบโตของ คลังความรู้(ในการทำวิจัย) ในตัวเอง สามารถดึงมาใช้เมื่อเผชิญกับปรากฏการณ์ในสนามได้อย่างมีประสิทธิภาพ   อันเป็นสิ่งที่อาจารย์ทั้งหลายต้องการให้นักศึกษาได้รับเมื่อย้ำแล้วย้ำอีกให้นักศึกษา อ่านมากๆ และไม่น่าแปลกใจที่ผู้อ่านแต่ละคนจะได้ประโยชน์จากการอ่านงานชิ้นเดียวกันในระดับที่แตกต่างกัน ขณะที่งานบางชิ้นได้รับการอ่านรอบแล้วรอบเล่าจากผู้อ่านคนเดิม
คุณละคะ คิดว่ายังไง?

---------------------------------------------------------------------------


[1] นักศึกษาปริญญาเอกหลักสูตรสหวิทยาการ ธรรมศาสตร์  อยู่ระหว่างพัฒนาเค้าโครงวิทยานิพนธ์และอ่าน(ให้แตก)  ใคร่ขอขอบคุณเพื่อนนักศึกษาและอาจารย์ทุกท่านที่มีส่วนเสริมสร้างแรงบันดาลใจและกำลังใจในการเขียนบทความนี้ ทั้งที่ตัวดิฉันอาจมีความสามารถในการอ่านให้แตกฉานน้อยกว่าท่านอื่นเสียอีกจึงเห็นเป็นปัญหาที่ต้องมาเขียนบทความให้เกิดการแลกเปลี่ยนนี้  และสิ่งที่นำเสนอต่อไปนี้ก็ได้จากการเก็บเล็กผสมน้อยจากการอ่านและฟังในกาละ-เทศะต่างๆ ระหว่างการเรียน course work ปริญญาเอก หลักสูตรสหวิทยาการ ที่ดิฉันได้ฝึกอ่านพร้อมรับฟังคำวิจารณ์จนยากจะระบุแหล่งอ้างอิงให้ชัดเจนว่าข้อสังเกตไหนมาจากชั้นเรียนวิชาใดหรือเมื่อใด กระนั้น คำอธิบายทั้งหมดในบทความนี้ ไม่ว่าจะน่าเชื่อถือหรือไม่ย่อมเป็นความรับผิดชอบของดิฉันในฐานะที่เป็นผู้เขียนเพียงผู้เดียว
[2] สำหรับนักศึกษาที่มีปัญหาอื่นก็มักได้รับคำแนะนำทำนองเดียวกันนี้ แต่ในที่นี้ขอไม่กล่าวถึงการอ่านเพื่อประโยชน์อย่างอื่นเนื่องจากข้อจำกัดของพื้นที่บทความและศักยภาพของดิฉันเอง 
[3] ดิฉันเชื่อตามที่เคยอ่านมาว่างานวิจัยทางสังคมศาสตร์เป็นการศึกษามนุษย์ในสังคมเพื่อหาคำอธิบายที่ผู้คนในสังคมยอมรับได้  ผู้อ่านในฐานะสมาชิก คนหนึ่งในสังคมจึงน่าจะสามารถใช้สามัญสำนึก(common sense) ในการประเมินความน่าเชื่อถือของคำอธิบายที่เกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง 
[4] หมายถึงนักศึกษาสามารถ เล่า ด้วยคำพูด/เขียนของตัวเองได้ว่า งานชิ้นนั้นนำเสนออะไรอย่างไร โดยไม่ใช่การยกเอา ประโยค/ย่อหน้า ที่เขียนไว้ในงานมาพูดตาม/วางไว้ในงานเขียน  ยกเว้น คำสำคัญ (keywords) บางคำซึ่งมีนัยยะของกรอบคิดทฤษฏีที่หากใช้คำสามัญอื่นแทนจะสูญเสียความหมายสำคัญไป เช่น วาทกรรม, ยุทธศาสตร์การดำรงชีพ, ความสัมพันธ์ข้ามแดน ฯลฯ แต่เมื่อยกมาใช้ นักศึกษาก็ต้องอธิบายได้ว่าหมายถึงอะไรโดยไม่ใช่การลอกคำอธิบายที่เขียนไว้ในงานมาพูด/เขียนซ้ำ
[5] สำหรับตัวดิฉันไม่เคยทำได้เลย อย่างมากก็ประหยัดเวลาเล็กน้อยด้วยการอ่านข้ามบางจุดที่ยังจำได้หรือไม่น่าจะเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังหา ไม่ได้อ่านรายละเอียดหน้าต่อหน้าเสมอไปในการอ่านเกินรอบแรก กระนั้นหากอ่านข้ามมากจนหาสิ่งที่ต้องการไม่พบก็ต้องวนกลับไปอ่านในจุดที่ข้ามเพื่อหาให้พบ จนไม่แน่ใจเหมือนกันว่าประหยัดหรือเปลืองเวลากันแน่
[6] ขอขอบพระคุณอาจารย์ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร ที่ย้ำประโยคนี้จนซึมซาบสู่การรับรู้ของดิฉัน(หลังจากช๊อคมากในการได้ยินครั้งแรกซึ่งตอนนั้นยังคิดจะอ่านเพื่อเอามาใช้เท่านั้น) และเห็นว่าเป็นคำขวัญที่นักศึกษาควรท่องไว้เสมอ โดยเฉพาะหากกำลังรู้สึกเหนื่อยหน่ายที่ถูกสั่งให้อ่านๆๆๆ  จึงขอยกมานำเสนอในที่นี้ ไม่ว่าประโยคนี้จะมีส่วนสร้างเสริมหรือบ่อนทำลายแรงจูงใจในการอ่านก็ตาม และไม่ว่าอาจารย์จะตั้งใจสื่อความหมายอย่างไร คำอธิบายที่เขียนไว้ในที่นี้ย่อมเป็นผลจากการรับรู้และถ่ายทอดของดิฉันเอง
[7] ดิฉันเชื่อว่าโดยทั่วไป ผู้อ่านย่อมใช้วิจารณญาณในการตัดสินความน่าเชื่อถือของงานได้ด้วยความคิดเห็นส่วนตัวอยู่แล้ว ทำให้รู้สึกว่างานที่อ่านนี้ดีหรือเปล่า น่าสนใจหรือไม่  แต่หลายครั้งดิฉันไม่แน่ใจตัวเอง อ่าน ส่วนดีๆ ของงานนั้นได้อย่างที่ควรจะเป็นหรือเปล่า ก็จะใช้วิธีพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนนักศึกษา หรืออาจารย์ หรือค้นหาบทความปริทัศน์เกี่ยวกับงานชิ้นนั้นมาอ่านเพื่อเพิ่มมุมมองให้กับตนเอง แล้วจึงกลับไปอ่านทบทวนอีกรอบ  แต่ถึงที่สุดแล้วการจะเลือกมาใช้ในงานวิจัยของตนเองก็มีความเป็นอัตวิสัยอยู่มาก เพราะต้องขึ้นกับความถนัดของตัวผู้วิจัยที่ต้องทำหน้าที่เก็บข้อมูล/วิเคราะห์ข้อมูลด้วย มิหนำซ้ำต่อให้วิธีวิทยาดี/น่าสนใจเพียงใด  หากผู้วิจัยมิได้เห็นพ้องกับกรอบคิดพื้นฐานของวิธีวิทยานั้นย่อมไม่สามารถทำวิจัยตามได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การศึกษาภาพตัวแทนของวีรบุรุษในประวัติศาสตร์ หากผู้วิจัยเชื่อว่าประวัติศาสตร์ทางการนำเสนอ ความจริง ที่มีหนึ่งเดียวแล้ว ย่อมไม่สามารถวิเคราะห์สิ่งที่ถูกนำเสนอในฐานะ ภาพตัวแทน ที่ไม่ขึ้นอยู่กับ ความจริงเพียงหนึ่งเดียว อันเป็นมุมมองเชิงวิพากษ์ได้ เป็นต้น
[8] ในงานดังกล่าวอาศัยมุมมองทางจิตวิทยาอธิบายสาเหตุการลืมรายละเอียดเกี่ยวกับการทิ้งระเบิดในพื้นที่แห่งหนึ่งจนไม่สามารถเก็บข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูลเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจากคำบอกเล่า แต่จากข้อมูลที่ปรากฏ ผู้เกี่ยวข้องแต่ละรายก็ยังมีความทรงจำที่สามารถเล่าได้ในระดับต่างๆ กัน
[9] คำว่า สนาม มักทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่า หมายถึงชุมชนท้องถิ่นในชนบทหรือในเมือง แต่ในที่นี้ ดิฉันตั้งใจใช้คำว่าสนาม หมายรวมถึงพื้นที่ศึกษาในแบบอื่นๆ ซึ่งผู้วิจัยต้องสัมพันธ์ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งจึงจะได้ข้อมูลมาเป็นผลการศึกษา เช่น การศึกษาพฤติกรรมของผู้ใช้ในไซเบอร์สเปซด้วยการเข้าเป็นสมาชิกและแชตด้วย เป็นต้น
[10] ในช่วงเริ่มต้นสำรวจภาคสนามเพื่อจัดทำเค้าโครงวิจัย ดิฉันใช้วิธีอ่าน/สอบถามจนได้ข้อมูลมือสองเกี่ยวกับพื้นที่เป้าหมายเพื่อใช้ในการวางแผนเก็บข้อมูล แต่ทุกครั้งก็มักไปพบเห็นสิ่งที่ไม่คาดคิดและต้องปรับเปลี่ยนกรอบคิดที่จะใช้เป็นแนวทางในการเก็บข้อมูลเสมอ หากขณะนั้นคิดออกว่าสิ่งที่พบเห็นน่าจะเข้าข่ายคำอธิบายตามแนวทางใด ก็จะลองตั้งคำถามเพื่อเก็บข้อมูลขยายไปแนวทางนั้นๆ ด้วย แต่หากคิดไม่ออกก็ต้อง เหวี่ยงแห ด้วยการถามทุกอย่างที่คาดว่าอาจจะเกี่ยวข้อง ซึ่งเหนื่อยมากและเสี่ยงต่อการถูกผู้ให้ข้อมูลมองว่าถามสะเปะสะปะ

[11] เนื่องจากการออกสนามแต่ละครั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เสียพลังงานของผู้วิจัยเอง และเสียเวลาของผู้ให้ข้อมูล ประกอบกับจำนวนเงินทุนวิจัยที่มีจำกัด การเก็บข้อมูลให้ได้เพียงพอต่อการสร้างคำอธิบายปรากฏการณ์ในขณะที่ลงสนามจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ทว่าเนื่องจากงานวิจัยเชิงคุณภาพอาศัยตัวนักวิจัยเป็น เครื่องมือ ที่ต้องใช้สมองคิด ปากถาม มือจด ร่างกายแสดงท่าทางที่เป็นธรรมชาติในการสนทนากับผู้ให้ข้อมูล(ไม่ให้เกร็งเหมือนตอบข้อสอบหรือถูกตำรวจสอบปากคำ) การเก็บข้อมูลแต่ละครั้งจึงมักได้ข้อมูลมากแต่ตกหล่นบางแง่มุมจากการ คิดไม่ทัน ในขณะถาม ทำให้ต้องกลับไป เก็บตก ข้อมูลเสมอ
[12] ดิฉันเคยอ่านงานวิจัยที่นำเสนอองค์ความรู้ในทำนองการเกิดขึ้น, ตั้งอยู่ และปิดไปของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจำนวนหนึ่ง ทำให้ประเมินเบื้องต้นว่า สาเหตุที่พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวถึงจุดจบ(ในแง่กระบวนการพิพิธภัณฑ์)แล้ว ไม่ได้แตกต่างจากที่งานวิจัยนั้นเคยนำเสนอ หากจะสร้างองค์ความรู้ ใหม่ ในประเด็นนี้ให้ได้คงต้อง อ่าน งานวิจัยอีกมากเพื่อเสริมสร้างมุมมองการวิเคราะห์ที่กว้างไกลกว่าข้อเสนอเชิงปรากฏการณ์ในงานวิจัยต่างๆ ที่เคยอ่าน  ซึ่งเป็นการลงทุนอย่างมาก เมื่อนึกถึงว่าดิฉันไม่ได้อยากศึกษาในแง่มุมนั้น

วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ว่าด้วยทฤษฎีเมือง (ภาค 2)

อัญชลิตา สุวรรณะชฎ[1]


ทฤษฎีนิเวศวิทยาเมือง (Urban Ecology Theory)

ทฤษฎีนิเวศวิทยาเมือง เป็นแนวทางการวิเคราะห์เมืองแบบใหม่ของสำนักชิคาโก (Chicago School) ที่แตกต่างไปจากนักสังคมวิทยาชาวยุโรปอย่างมาร์กซและเวเบอร์ เริ่มต้นจากปี ค.ศ. 1920 ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก โรเบิร์ต ปาร์ก (Robert Park) และ เออร์เนส เบอร์เกส (Ernest Burgess) ได้ศึกษาผลกระทบที่มีต่อการใช้ชีวิตของประชาชนจำนวนมากในเมือง ก่อนหน้านี้ปรากฏการณ์คนกลุ่มน้อยเป็นที่สนใจในวิชาสังคมศาสตร์อเมริกา เนื่องจากประชากรสหรัฐอเมริกา 80 เปอร์เซนต์และประชากรส่วนใหญ่ของโลกอาศัยอยู่นอกเมือง ซึ่งเป็นนัยสำคัญที่ชี้ให้คำนึงถึงวัฒนธรรม หรือเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ โดยเริ่มจากการศึกษารูปแบบสังคมในเมืองที่เกิดจากผู้ที่อยู่อาศัย กล่าวคือ รูปแบบวัฒนธรรมเมืองที่นักนิเวศวิทยาเมืองค้นพบ เป็นการปฏิบัติต่อๆ กันมาเป็นประจำตามความเคยชินของชาวบ้านธรรมดาๆ ทั้งกรรมกรผู้ใช้แรงงาน (blue-collar) และพนักงานสำนักงาน (white-collar) 
การศึกษาปรากฏการณ์วัฒนธรรมเมืองแบบดั้งเดิม เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยวิธีการสังเกต โดยยืนตามมุมถนนสังเกตคนทำงานที่ผ่านไปมาจากปกเสื้อ (ปกน้ำเงิน-ปกขาว) ป้ายชื่อ (ส่วนใหญ่ทำด้วยมือ) ระดับอาชีพ คือ ถ้าใส่เสื้อเชิ้ตสีขาว ปกเสื้อสีขาว ผูกเนคไท แสดงว่าเป็นระดับบริหาร ทำงานในอาคารสำนักงาน นั่นคือ การศึกษาปรากฏการณ์วัฒนธรรมเมืองของนักสังคมศาสตร์ ที่พบว่า เสื้อผ้าแสดงความเป็นเอกภาพของการจ้างงานในสภาพแวดล้อมเมือง เนื่องจากเสื้อผ้าแสดงถึงอาชีพ แม้ไม่ได้แบ่งแยกคนทำงานกับผู้จัดการ นอกจากนี้การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในเมืองเป็นมุมมองในเรื่องของแฟชั่น ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้คาดได้ว่า ผู้คนเหล่านั้นเป็นคนทำงานในย่านศูนย์กลางทางธุรกิจ ทำงานตามบ้าน ทำงานเกี่ยวกับการขนส่ง เป็นต้น
เบอร์เกส ได้สร้างโมเดลในการศึกษาสิ่งแวดล้อมเมือง โดยแบ่งเป็นโซนต่างๆ (Chicago’s Concentric Zones) เขาอธิบายถึงโซนที่เป็นช่วงรอยต่อระหว่างที่พักอาศัยกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มาจากแดนไกล (Zone II) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความผิดปกติของวัฒนธรรม คือ เป็นโซนที่อยู่รอบนอกความเจริญของเมือง มีสถานอาบอบนวด ไนท์คลับ หรือบ่อนการพนันที่ให้บริการกับชาวเมือง โซนนี้เป็นสถานที่เที่ยวตามเมืองต่างๆ ของคนที่อยู่ชานเมือง
อามอส ฮาว์เลย์ (Amos Hawley)[2] ได้ขยายแนวทางการศึกษานิเวศวิทยาเมือง โดยการวิจัยเชิงปริมาณ ศึกษาเปรียบเทียบจำนวนการออกเอกสารสิทธิ์ในเมืองกับเขตชนบท เพื่อหาความหนาแน่นและผลลัพธ์ของปฏิกิริยาทางสังคมที่เพิ่มขึ้น ฮาว์เลย์พบข้อเท็จจริงทางวัฒนธรรมในเชิงลบของเมือง (Turley, Allan 2005: 8)
วอลเตอร์ ฟายเออร์ (Walter Firey)[3] ได้พัฒนาทฤษฎีนิเวศวิทยาเมืองในขณะที่ศึกษาที่    ฮาร์วาร์ด เขาศึกษาชุมชนชาวอิตาเลียนที่อยู่ตอนเหนือสุดของบอสตัน ซึ่งสำนักชิคาโกหมายเหตุไว้ว่า กลุ่มผู้อพยพที่เข้ามาอยู่ในเมืองระหว่างปี ค.ศ. 1880-1920 เป็นผู้อพยพชาวอิตาเลียนและชาวยิว ชาวอิตาเลียนพักอาศัยย่านถนนและอยู่ในถิ่นวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวา ใกล้ร้านอาหาร มีร้านค้าสำหรับสมาชิกชาวอิตาเลียนที่อพยพมาจากชานเมือง ชุมชนชาวอิตาเลียนอาจสูญเสียวัฒนธรรมดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาจากการย้ายถิ่นฐานมาจากชานเมือง และการผสมกลมกลืนกับวัฒนธรรมแบบอังกฤษ (Anglo culture) แต่เพื่อนบ้านก็ยอมรับตัวตนที่แสดงออกมาของชุมชนชาวอิตาเลียน พวกเขาซื้ออพาร์ตเมนต์ในบอสตันตอนบน เพื่ออาศัยอยู่กับครอบครัวแทนการซื้อบ้านในชานเมือง ชุมชนชาติพันธุ์เช่นนี้ได้นิยามรูปแบบการตั้งรกรากที่ประสบความสำเร็จที่สามารถทำนายความต้อง การในการใช้ชีวิตในชานเมืองหรือการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมตอนเหนือในที่สุด การดำรงวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของพวกเขาถูกท้าทายด้วยสมมติฐานง่ายๆ จากการใช้ประโยชน์ในที่ดินตามรูปแบบนิเวศวิทยาเมือง
ฟายเออร์ พบว่า ที่ดินเป็นมูลค่าสัญลักษณ์ ซึ่งไม่เกี่ยวกับความเป็นชาติพันธุ์หรือกลุ่มวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนิคมบอสตันและบริเวณศูนย์กลางธุรกิจหลักของเมืองแถวอนุสาวรีย์สงครามการปฏิวัติระหว่างอังกฤษกับอเมริกา ที่ดินถูกใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพเพราะเป็นเขตปกครองตนเอง มีโครงการที่อยู่อาศัย มีถนนผ่าน และธุรกิจต่างๆ แต่ความเป็นเมืองและวัฒนธรรมประจำชาติทำให้บริเวณเหล่านี้มีความหมายเกี่ยวข้องกับเชื้อชาติ การพัฒนาวัฒน ธรรมจากจุดเริ่มต้นดังกล่าว ฟายเออร์เห็นว่า กระบวนทัศน์ทางนิเวศวิทยาเมือง ชี้ให้เห็นถึงพื้นที่ (space) ที่ไม่ได้สร้างสรรค์เฉพาะวัฒนธรรม แต่มีความหมายต่อการผลิตวัฒนธรรมด้วย (Turley, Allan 2005: 8)
ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ทางสังคมวิทยา จะเริ่มต้นด้วยการวิพากษ์นักทฤษฎีสำนักมาร์กซิสต์ ด้วยข้อถกเถียงเรื่องกระบวนทัศน์ว่าด้วยเมืองที่เกี่ยวกับเชื้อชาติ/ชาติพันธุ์ แต่วิธีการวิเคราะห์แบบนิเวศวิทยาเมือง เช่น โรเบิร์ต ปาร์ก (Robert Park) เออร์เนส เบอร์เกส (Ernest Burgess) อามอส ฮาว์เลย์ (Amos Hawley) และ วอลเตอร์ ฟายเออร์ (Walter Firey) ก็ยังยืนอยู่บนมุมมองของคนขาวที่ได้เปรียบทางโครงสร้างอำนาจในเมือง อย่างไรก็ตาม ยังมีทฤษฎีความยุ่งเหยิงของเมืองที่ให้ความกระจ่างต่อเมืองได้มากกว่าความสามารถของนักนิเวศวิทยาเมือง

(โปรดติดตามต่อ ภาค 3)


[1] บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาบัณฑิตสัมมนา (สห. 845) โครงการปริญญาเอกสหวิทยาการ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคการศึกษาที่ 2/2552
[2] Hawley, Amos. (1971). Urban Society. New York: Ronald Press.
[3] Firey, Walter. (1945). Sentiment and Symbolism as Ecological Variable, American Sociological Review. pp. 140-148.

วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

กระบวนทัศน์สิทธิสตรีคือสิทธิมนุษยชน

แนวความคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเป็นที่ยอมรับในระดับสากลอย่างกว้างขวาง นับตั้งแต่มีการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) เมื่อ ปี ค.ศ. 1948  อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าในส่วนประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิสตรีไม่ได้กล่าวไว้โดยตรงมากนัก ตามมาตรา 2 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนกำหนดสิทธิโดยรวมไว้สรุปความได้ว่าสิทธิและเสรีภาพที่กำหนดไว้ในปฏิญญาฉบับนี้ จะไม่มีความแตกต่างในเรื่องชาติพันธุ์ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความเห็นทางการเมืองหรือความเห็นอื่นใดที่มาทางสังคมหรือเชื้อชาติ รวมทั้งทรัพย์สิน แหล่งกำเนิดหรือสถานะอื่นใด[1] Eleanor Roosevelt และกลุ่มสตรีละตินอเมริกันได้ทำการต่อสู้ที่จะรวมเอาเรื่องเพศภาวะไว้ในปฏิญญาดังกล่าว เพื่อที่จะให้สังคมโลกตระหนักถึงปัญหาสถานะของผู้หญิงที่ด้อยกว่าชาย[2] อันจะส่งผลให้มีการปฏิบัติต่อสตรีอย่างเหมาะสมและมีความเท่าเทียมกันกับชายมากยิ่งขึ้น                                                                    


ต่อมา สหประชาชาติซึ่งได้ตระหนักถึงปัญหาสถานภาพของผู้หญิงในประเทศต่าง ๆ และนำไปสู่การกีดกันในหลาย ๆ เรื่องนั้น ได้จัดให้มีการประชุมและส่งผลให้บรรดาประเทศต่าง ๆ มีมติรับรองอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women- CEDAW) ขึ้นโดยข้อมติที่ 34/180 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2522 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2534[3] เป็นต้นมา โดยประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวเมื่อวันที่ 8 กันยายน  2528

                                                                  
หลังจากที่ประเทศไทยเป็นพันธกรณีตามอนุสัญญาดังกล่าว   รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ก็ได้นำหลักความเสมอภาคระหว่างชายและหญิงมาบัญญัติไว้ใน มาตรา 30 วรรค 2 รวมถึงกำหนดให้มีการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างชายและหญิง และการคุ้มครองแรงงานหญิงให้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐด้วย ซึ่งหลักความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงนี้ได้ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 (ฉบับปัจจุบัน) ด้วยเช่นกัน แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่มีกระแสเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเคลื่อนไหวของสตรีในการผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายในหลายเรื่องเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันให้สอดคล้องกับหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริงนั้น ในความเป็นจริงแล้วสิทธิมนุษยชนกับสิทธิสตรีมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างไร และหากมองว่าสิทธิสตรีคือสิทธิมนุษยชนจะทำให้เกิดมุมมองใหม่ในการเปลี่ยนแปลงมโนทัศน์เกี่ยวกับสิทธิสตรีอย่างไรบ้าง

เนื่องจากในความเป็นจริงแล้ว ความพยายามของกลุ่มสตรีนิยมคงไม่ได้มุ่งเน้นที่การเปลี่ยนแปลงกฎหมายซึ่งเป็นรูปธรรมชัดเจนที่จะรับรองสิทธิสตรีได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น  แต่ในระยะยาวแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนมโนทัศน์ที่มองผู้หญิงตามแบบฉบับดั้งเดิมให้เป็นผู้หญิงที่มีโอกาสและสถานะทางกฎหมายในทุกเรื่องที่พึงเท่าเทียมกับชายโดยไม่ยึดติดกับวัฒนธรรม จารีตประเพณี และการเมืองที่ประกอบสร้างความหมายให้กับผู้หญิง   ตามคำกล่าวของ Simone de Beauvoir ที่ว่า “เราไม่ได้เกิดมาเป็น แต่กลายมาเป็นผู้หญิง” (one is not born, but, rather, becomes a woman,)   และการสะท้อนความคิดของ Merleau-Ponty ไว้ในหนังสือ “The Phenomenology of Perception” ที่ว่า “ร่างกายเป็นความคิดทางประวัติศาสตร์” (the body is "an historical idea)[4] ซึ่งเป็นถ่ายทอดความเชื่อใด ๆ ก็ตามเกี่ยวกับผู้หญิงจนกลายเป็นประสบการณ์ที่มีการรับรู้ร่วมกันของคนในสังคม (intersubjectivity)  เช่น การทำแท้งเป็นบาป เป็นแนวคิดดั้งเดิมที่มีที่มาจากศาสนาและฝังรากลึกเกือบทุกสังคม ต่อเมื่อเวลาผ่านไป อิทธิพลความคิดในเรื่องบาปของบางสังคม/บางประเทศกลับลดน้อยถอยลง จนเกิดชุดความรู้ใหม่ที่ว่าผู้หญิงควรมีสิทธิในร่างกายตนเอง  ซึ่งเป็นแนวคิดที่กลุ่มสตรีนิยมบางกลุ่มเชื่อว่าสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน เป็นต้น 

ประเด็นปัญหาที่ว่าสิทธิมนุษยชนกับสิทธิสตรีมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างไร และหากว่าเรามองว่าสิทธิสตรีคือสิทธิมนุษยชน โดยมโนทัศน์ดังกล่าวนี้จะทำให้เกิดคุณูปการอย่างไรบ้างในการส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างเพศหญิงและชาย 
1. ความสัมพันธ์ระหว่างสิทธิมนุษยชนกับสิทธิสตรี

1.1 กรอบความคิดสิทธิมนุษยชนเพื่อสตรี                                  
สิทธิมนุษยชนเป็นคำที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พร้อม ๆ กับการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติในปี ค.ศ. 1945 โดยการรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสมัชชาใหญ่ในปี ค.ศ. 1948 คำนี้ได้นำมาใช้เพื่อแทนที่คำว่า “natural rights” เพื่อหลีกเลี่ยงคำว่าสิทธิธรรมชาติ ทั้งนี้ เนื่องจากแนวคิดในเรื่องกฎหมายธรรมชาติ อันเป็นที่มาของ “สิทธิธรรมชาติ” นั้นถูกโต้แย้งและคัดค้านอย่างมากและคำนี้ใช้แทนที่คำว่าสิทธิของมนุษย์ (rights of man) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในยุคนั้น ทั้งนี้เพื่อให้ครอบคลุมถึงสิทธิสตรีในยุคของสหประชาชาติที่เน้นถึงการไม่เลือกปฏิบัติ[5]  อย่างไรก็ตาม แม้คำว่าสิทธิมนุษยชนจะเป็นคำใหม่ที่เกิดขึ้นกว่าหกสิบทศวรรษมาแล้วก็ตาม แต่นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่าแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชนมีรากฐานมานานตั้งแต่สมัยกรีก เนื่องจากสิทธิมนุษยชนถือว่าเป็นสิทธิธรรมชาติ (Natural Rights) ที่มีที่มาจากกฎหมายธรรมชาติ (Natural Law) โดยกลุ่มปรัชญา Stoic ซึ่งอธิบายเรื่องสิทธิธรรมชาติว่ามีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคนมาตั้งแต่เกิด สิทธิเหล่านี้มิใช่อภิสิทธิ์ของบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ หากแต่เป็นความชอบธรรมที่มนุษย์ทั่วทุกหนทุกแห่งจะพึงมี โดยเหตุที่เขาเกิดมาเป็นมนุษย์และเป็นผู้มีเหตุผล[6]        
         
แม้ว่านักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนหลายคนเชื่อว่าการที่ชาวกรีกและชาวโรมันโบราณเป็นผู้มอบมรดกล้ำค่านั่นคือปรัชญาการเมือง การปกครองและกฎหมายไว้ให้อนุชนรุ่นหลัง แต่ข้อค้นพบหนึ่งที่น่าสนใจจากคำบอกกล่าวของ G. Oestreich ผู้ซึ่งทำการศึกษาเรื่องประวัติความเป็นมาของสิทธิมนุษยชนอย่างลึกซึ้งก็คือ จากถ้อยคำที่มีการบันทึกไว้ทั้งหมด เกี่ยวกับเสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์   และที่เกี่ยวกับความเคารพในความเป็นมนุษย์ที่ได้มีการศึกษามา เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการเรียกร้องสิทธิที่ไม่อาจละเมิดได้สำหรับมนุษย์ทุกคน แม้แต่คำสอนของพวก  stoic ในสมัยโรมัน   ซึ่งสอนเกี่ยวกับความเสมอภาคระหว่างมนุษย์ด้วยกันก็เป็นเพียงแนวความคิดเกี่ยวกับจริยธรรมทางสังคมเท่านั้น หาได้มุ่งสู่การสร้างสรรค์ระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจแต่อย่างใดไม่”[7]     
         
ตามคำกล่าวข้างต้นนั้น เป็นมุมมองทางประวัติศาสตร์หนึ่งที่น่าสนใจ  แต่ไม่ว่าแนวคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนจะมีมายาวนานมากน้อยแค่ไหนก็ตาม ผู้วางรากฐานทฤษฎีสิทธิธรรมชาติสมัยใหม่อันเป็นแนวคิดที่มาของสิทธิมนุษยชน ซึ่งมักได้รับการกล่าวขวัญถึงก็คือ John Locke จากการประกาศว่าปัจเจกบุคคลโดยธรรมชาติเป็นผู้ครอบครองสิทธิในชีวิต อิสรภาพ และทรัพย์สิน ในทรรศนะของ Locke สิทธิธรรมชาติเป็นสิ่งที่ในเชิงศีลธรรมไม่อาจล่วงละเมิดได้ในภาวะธรรมชาติ แต่ก็บังคับใช้ได้จริงก็แต่ในประชาคม (Civil Society) ซึ่งมีพันธะรับผิดชอบในการปกป้องสิทธิดังกล่าวผ่านทางสัญญาประชาคม (Social Contract)[8] หลักการสำคัญที่อยู่ในแนวคิดสิทธิธรรมชาติของ Locke ประการแรกคือปัจเจกบุคคลคือสภาพชีวิตที่มีความเป็นอิสระ มีความสามารถที่จะกำหนดการเลือกการตัดสินใจ และประการที่สองคือความชอบธรรมของรัฐบาลมิได้ดำรงอยู่โดยขึ้นกับเจตจำนงของประชาชนเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับความตั้งใจและความสามารถของรัฐบาลในการปกป้องสิทธิธรรมชาติเชิงปัจเจกชนด้วย[9]   โดยนัยนี้ แสดงให้เห็นว่าสิทธิธรรมชาติของปัจเจกบุคคลจะต้องเป็นสิ่งที่ได้รับการรับรองโดยรัฐเพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการปกป้องคุ้มครอง และรัฐที่ทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดีก็จะได้เป็นแบบอย่างให้อีกหลายรัฐได้เจริญรอยตาม เนื่องจากเรื่องสิทธิธรรมชาติที่ถูกสถาปนาเป็นสิทธิมนุษยชนนี้มิได้เป็นเป็นเรื่องของประเทศใดโดยเฉพาะ แต่เป็นสิทธิไร้พรมแดนที่เป็นที่จ้องมองของนานาอารยประเทศไปแล้ว

เนื่องจากกรอบความคิดสิทธิมนุษยชนมีพัฒนาการมาหลายยุคสมัย มีความซับซ้อนและกว้างขวางครอบคลุมในหลายเรื่อง ได้แก่ การขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติทุกรูปแบบ   การขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี/ทางเพศทุกรูปแบบ การกระทำทารุณและการลงโทษที่โหดร้าย การปกป้องคุ้มครองเด็ก อาชญากรรมอันเป็นการทำลายเผ่าพันธุ์มนุษย์ การคุ้มครองสิทธิด้านแรงงาน การคุ้มครองชนกลุ่มน้อยและชาวพื้นเมือง เป็นต้น    โดยสิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิธรรมชาติที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน ดังนั้น สิทธิสตรีซึ่งถูกมองว่าเป็นประเด็นคนชายขอบหรือเสียงส่วนน้อยนั้น ควรที่จะถูกชูขึ้นโดยมองในกรอบของสิทธิมนุษยชนเป็นหลักสำคัญ กล่าวคือขณะนี้เราต้องมองเห็นว่าประเด็นปัญหาสิทธิสตรีมิใช่ปัญหาเฉพาะผู้หญิงและมิใช่ปัญหาที่แยกส่วนอีกต่อไป เพราะหากมองภาพรวมแล้วเราไม่อาจมองข้ามระเบียบของสังคมโลกปัจจุบันซึ่งเสริมสร้าง ตอกย้ำ และอุ้มชู การเลือกปฏิบัตินานาชนิดในสังคม[10] โดยจากการสำรวจบทความและงานวิจัยต่างประเทศ ส่วนใหญ่พบว่าจะกล่าวถึงเชิงวิเคราะห์และวิพากษ์อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ค.ศ. 1979  ซึ่งถือว่าเป็นหลักการสิทธิมนุษยชนสำหรับสตรีที่เป็นยอมรับระดับสากล โดยมีเป้าหมายสำคัญที่จะสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างเพศหญิงและชายในทุกรูปแบบ                            

ตามคำนิยาม “การเลือกปฏิบัติต่อสตรี” ที่กำหนดไว้ในมาตรา 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ สรุปความหมายได้ว่าคือการแบ่งแยก การกีดกัน หรือการจำกัดใด ๆ เพราะเหตุแห่งเพศ ซึ่งมีผลทำลายหรือทำให้เสื่อมเสียการยอมรับ การได้อุปโภค หรือใช้สิทธิโดยสตรี โดยไม่เลือกสถานภาพด้านการสมรสบนพื้นฐานของความเสมอภาคของผู้ชายและผู้หญิงของสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม พลเมือง   หรือด้านอื่น ๆ[11]   ทั้งนี้ เพื่อที่จะให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการนำหลักการไปปฎิบัติในแต่ละประเทศ จึงมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 2 ว่าให้บรรจุหลักการของความเสมอภาคระหว่างชายและหญิงไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งชาติ หรือในบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เหมาะสมอื่น ๆ ตามความเป็นไปได้ของแต่ละประเทศ และออกมาตรการด้านนิติบัญญัติที่เหมาะสมในเรื่องการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบต่อผู้หญิง รวมถึงยกเลิกกฎหมาย กฎระเบียบ ประเพณี และแนวปฏิบัติ (รวมทั้งบทบัญญัติที่เป็นการลงโทษ) ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศที่มีอยู่ในปัจจุบันด้วย[12]  โดยอนุสัญญาฯ มีบทบัญญัติทั้งหมด 30 มาตรา ซึ่งในที่นี้จะสรุปสาระสำคัญที่มีการรับรองสิทธิสตรีให้เท่าเทียมกับชายเพื่อให้เกิดความเสมอภาคในด้าน  ต่าง ๆ ดังนี้
1.       ความเสมอภาคทางด้านการเมือง
2.       ความเสมอภาคทางด้านกฎหมาย
3.       ความเสมอภาคทางด้านการศึกษา
4.       ความเสมอภาคทางด้านครอบครัว เศรษฐกิจและสังคม
5.       ส่งเสริมสถานะและบทบาทของสตรีในชนบท
โดยประเทศไทยได้ลงนามเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ค.ศ. 1979 โดยวิธีภาคยานุวัติ เมื่อวันที่  8 กันยายน พ.ศ. 2528 ประเทศไทยจึงมีข้อผูกพันที่จะต้องกำหนดนโยบายและมาตรการดำเนินการด้านนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ ตลอดจนมาตรการอื่น ๆ เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงทุกรูปแบบ และให้หลักประกันว่าผู้หญิงจะต้องได้รับสิทธิประโยชน์และโอกาสต่าง ๆ จากรัฐบนพื้นฐานของความเสมอภาคกับผู้ชาย โดยตั้งข้อสงวนไว้ 7 ข้อ ได้แก่ ข้อ  เรื่องความเสมอภาคทางการเมืองและการรับตำแหน่งราชการ,  ข้อ 9    การถือสัญชาติของบุตร, ข้อ 10  ความเสมอภาคทางการศึกษา, ข้อ 11 สิทธิและโอกาสที่จะได้รับการจ้างงานชนิดเดียวกัน,  ข้อ 15 การทำนิติกรรม,ข้อ 16  ความเสมอภาคในครอบครัว,  ข้อ 29  การตีความและการระงับข้อพิพาท
ต่อมาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2539 ไทยได้เพิกถอนข้อสงวนต่อข้อ 7 ข้อ 9  ข้อ 10 และข้อ 15 และยังคงข้อสงวนต่อข้อ 16 (ความเสมอภาคในครอบครัว)  และข้อ 29 (การตีความและการระงับข้อพิพาท)[13] ไว้  นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ลงนามในพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2543 อันมีผลผูกพันให้ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของผู้หญิงอันเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในภาพรวม โดยเปิดโอกาสให้ผู้หญิงสามารถเสนอข้อเรียกร้องได้เมื่อถูกเลือกปฏิบัติ          สำหรับพิธีสารเลือกรับฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและเพิ่มกลไกการคุ้มครองสิทธิผู้หญิงจากเดิมที่มีอยู่ เช่น การเสนอรายงานการดำเนินการให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ ต่อคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี ทุก 4 ปีเพื่อเป็นมาตรการภายในประเทศในการคุ้มครองสิทธิผู้หญิง ซึ่งนำไปสู่การแก้ไขกฎหมาย การยุติการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการปรับเปลี่ยนค่านิยมทางวัฒนธรรมและสังคมที่มีต่อผู้หญิงตามแบบฉบับดั้งเดิม โดยอาจกล่าวได้ว่าพิธีสารเลือกรับฯ นี้เป็นกลไกในการเรียกร้องของผู้หญิงฉบับแรก ซึ่งทำให้อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบอยู่ในระดับเดียวกันกับตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ที่มีกระบวนการร้องเช่นเดียวกัน และนับว่าเป็นก้าวสำคัญที่จะสร้างมโนทัศน์เกี่ยวกับสิทธิสตรีคือสิทธิมนุษยชนที่เป็นที่ยอมรับในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก  ตัวอย่างบางประเทศที่กำลังเคลื่อนไหวให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายภายในประเทศเพื่อสอดคล้องกับมาตรา 16 ของอนุสัญญาฯ  “การเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการสมรสและความสัมพันธ์ของครอบครัว” ได้แก่ กฎหมาย นิกรากัว ค.ศ. 1981 ให้บิดาและมารดามีหน้าที่ต่อบุตรอย่างเท่าเทียมกันและการร่วมกับทำงานบ้าน[14] ซึ่งเป็นกรณีที่รัฐเข้ามาแทรกแซงในพื้นที่ส่วนตัวเพื่อสลายลำดับชั้นระบบอำนาจผู้ชายเป็นใหญ่ในสังคม นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดี เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยที่ยังคงตั้งข้อสงวน ข้อ 16 (ความเสมอภาคในครอบครัว)  เอาไว้

1.2  ข้อโต้เถียงประเด็นสิทธิสตรีใดที่ถือว่าเป็นสิทธิมนุษยชน
สำหรับคำกล่าวที่ว่า “สิทธิสตรีคือสิทธิมนุษยชน” นักทฤษฎีหลายคนมีแนวโน้มที่จะเสนอความคิดโดยทั่วไปในเบื้องต้นว่าเราเข้าใจ “สิทธิมนุษยชน” อย่างไรบ้าง  ตัวอย่างเช่น Radhika Coomaraswamy นักทฤษฎีด้านสิทธิมนุษยชนผู้ให้ข้อสังเกตว่าเราสามารถเข้าใจและวิเคราะห์สิทธิสตรีคือสิทธิมนุษยชนภายในข้อสันนิษฐานตามยุคแห่งการรู้แจ้ง (Enlightenment) ซึ่งเป็นช่วงที่แนวคิดนี้กำเนิดขึ้นมาอย่างเป็นทางการ โดยเป็นการให้ความหมายว่าผู้หญิงมีความเสรีและเป็นอิสระ มีสิทธิและเป็นตัวแสดงที่ใช้เหตุผล (rational agency)  และ Adetoun Ilumoka นักวิชาการอีกท่านหนึ่งได้กล่าวว่าวาทกรรมสิทธิมนุษยชน (human rights discourse) เกิดขึ้นมาพร้อมกับศตวรรษที่ 17 ในยุคแห่งการรู้แจ้งโดยมุ่งเน้นเกี่ยวกับเสรีภาพของพลเมืองและเสรีภาพทางการเมือง สิทธิในทรัพย์สิน และหลักนิติรัฐซึ่งมาจากแนวความคิดของสังคมในยุคนั้นที่มีลักษณะแยกตัว พึ่งพิงตัวเอง  มีความเป็นปัจเจกชน อิสระ และเท่าเทียมกัน โดยเข้าถึงตลาดแรงงานด้วยตนเอง ความคิดเห็นที่กล่าวมานี้อยู่ภายในกรอบความคิดทางตะวันตกที่สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามโนทัศน์เกี่ยวกับ “มนุษย์” สามารถใช้ได้อย่างเป็นสากล ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าเรามองเห็นว่ามโนทัศน์นี้เป็นแม่แบบที่เหมาะสมในการให้ค่าของสิทธิใด ๆ แก่บุคคล[15]

Bunch ให้ข้อสังเกตว่ามีแนวคิดพื้นฐาน 4 ประการ[16] ที่เชื่อมโยงสิทธิสตรีเข้ากับสิทธิมนุษยชน โดยแนวคิดดังกล่าวนี้ถูกนำเสนอแยกจากกันเพื่อให้เห็นแต่ละประเด็นอย่างชัดเจน ทั้งที่ในทางปฏิบัติ 4 แนวคิดนี้มีความคาบเกี่ยวกันอยู่ และประเด็นหนึ่งก็ตั้งคำถามไปสู่อีกประเด็นหนึ่งได้อย่างมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน                 
(1) สิทธิสตรีรวมถึงสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
ประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาเนื่องจากเป็นความรุนแรงต่อสตรีในรูปแบบหนึ่ง ได้แก่ การทรมานผู้หญิงที่ติดคุกในคดีทางการเมืองในอเมริกาใต้  กลุ่มที่มาเรียกร้องมีชื่อว่า “ Women's Task      Force of Amnesty International” ได้รณรงค์ในนามสตรีที่ติดคุกทางการเมืองโดยแสดงให้เห็นว่าการละเมิดทางเพศ การข่มขืนผู้หญิงที่อยู่ภายใต้การคุมขังของรัฐ  การขาดการดูแลผู้เป็นแม่ที่ถูกคุมขังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งตัวผู้หญิงเอง และยังมีผลไปถึงบุตรของผู้หญิงเหล่านั้น  ตัวอย่างที่ยกมานี้ครอบคลุมไปถึงกลุ่มผู้หญิงที่อยู่ในค่ายกักกัน ค่ายอพยพต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายบริเวณชายแดน รอยตะเข็บพรมแดนที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมจนถึงขั้นทารุน โหดร้าย จากตัวอย่างเหล่านี้คือสิ่งที่ Bunch ต้องการชี้ให้เห็นว่าสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับประเด็นเรื่องต่าง ๆ ของสิทธิมนุษยชน และขยายผลไปสู่การตั้งคำถามถึงข้อจำกัดในการมองเสรีภาพของพลเมืองอย่างแคบเช่น ประเด็นเรื่องการข่มขืนจะถูกมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นก็ต่อเมื่อเกิดขึ้นจากการถูกกักขัง กักกัน อยู่ภายใต้อารักขาของรัฐเท่านั้น แต่ไม่ได้รวมถึงเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดตามท้องถนนหรือในบ้านของผู้หญิงเอง  ซึ่งในการมองเช่นนั้น เป็นมุมมองที่คับแคบ เนื่องจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนทางเพศเกิดขึ้นได้ทุกแห่ง ไม่จำกัดว่าต้องเป็นเรื่องระหว่างรัฐเท่านั้น โดยเฉพาะในพื้นที่ส่วนตัวคือครอบครัวนับว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวที่รัฐมักมองข้าม
(2) สิทธิสตรีรวมถึงสิทธิทางเศรษฐกิจสังคม
สิทธิทางเศรษฐกิจสังคมในที่นี้ ได้แก่ สิทธิในอาหาร ที่พัก การดูแลรักษา  และการจ้างงาน  แนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนโดยนักเคลื่อนไหวด้านแรงงานและสังคม ซึ่งมองว่าสิทธิมนุษยชนทางการเมืองจะไม่มีความหมายอะไรหากปราศจากสิทธิทางเศรษฐกิจ  กลุ่มผู้ที่สนับสนุนแนวความคิดที่ให้สิทธิสตรีรวมถึงสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมมองว่าสิทธิมนุษยชนแบบแนวคิดดั้งเดิมและกฎหมายระหว่างประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องปัจเจกบุคคลมากเกินไป  และชี้ให้เห็นว่าการกดขี่สตรีเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจขั้นพื้นฐานด้วย โดยแนวคิดดังกล่าวมีที่มาจากแนวคิดสังคมนิยมที่ให้ความสำคัญกับแรงงานสตรี และแนวคิดนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศโลกที่สามซึ่งมองว่าการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นประเด็นสิทธิมนุษยชน  อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของแนวความคิดนี้มีแนวโน้มว่าจะทำให้ความต้องการของสตรีลดทอนมาอยู่ในปริมณฑลทางเศรษฐกิจซึ่งมีนัยยะว่าจะต้องมีการปฏิบัติตามแนวทางการพัฒนาของกลุ่มประเทศโลกที่สามซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับแนวคิดด้านสังคมนิยม เพื่อมิให้อยู่ภายใต้ข้อจำกัดตามแนวคิดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง กลุ่มที่สนับสนุนแนวคิดสิทธิสตรีคือสิทธิทางเศรษฐกิจสังคม จึงไม่ได้มีความพยายามที่จะผลักดันให้สิทธิสตรีเข้าสู่รูปแบบการพัฒนาตามแนวทุนนิยมตะวันตกหรือสังคมนิยมแต่อย่างใด แต่ได้แสวงหากระบวนการพัฒนาที่มุ่งเชื่อมโยงระหว่างการเมือง เศรษฐกิจและการส่งเสริมด้านวัฒนธรรมแทน
(3) สิทธิสตรีและกฎหมาย
ตามแนวความคิดนี้เป็นการใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อขจัดความไม่เท่าเทียมกัน/การเลือกปฏิบัติทางเพศ    โดยมีความพยายามที่จะทำให้สถาบันทางการเมืองและสถาบันกฎหมายที่มีอยู่ทำงานเพื่อสตรีและขยายความรับผิดชอบของรัฐให้ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของสตรีให้มากขึ้น  กรณีกฎหมายภายในประเทศที่มีอยู่เดิมก็ได้ถูกร่างใหม่ปรับเปลี่ยนเพื่อแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศและขจัดความรุนแรงที่กระทำต่อผู้หญิงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงแนวทางที่สนับสนุนแนวคิดนี้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (อนุสัญญาฯ) โดยในทางทฤษฎีหรือตามหลักการ ประเทศที่มีพันธกรณีต่ออนุสัญญาฯ จะต้องปฏิบัติตามนโยบายของอนุสัญญาฯ และรายงานผลการปรับแก้กฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ ด้วย  ทั้งนี้  ประเด็นเรื่องความรุนแรงต่อสตรีถือว่าเป็นหลักพื้นฐานสำคัญของอนุสัญญาฯ  โดยตามมาตรา 5 ของอนุสัญญาฯ มีเจตนารมณ์ให้แก้ไขแบบแผนทางสังคม วัฒนธรรม และบทบาททางเพศ รวมถึงแบบฉบับดั้งเดิมที่อยู่บนพื้นฐานความคิดเกี่ยวกับความด้อยกว่าหรือเหนือกว่าของเพศใดเพศหนึ่ง       อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบได้กำหนดกรอบสิทธิมนุษยชนเพื่อสิทธิสตรีไว้อย่างชัดเจน ซึ่งหากได้รับการยอมรับโดยรัฐบาลของแต่ละประเทศก็จะเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความเสมอภาคด้านต่าง ๆ สำหรับสตรีดังได้กล่าวมาแล้วในข้อ 1.1 อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ ปรากฎว่าสหประชาชาติได้รับรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ ของประเทศต่าง ๆ น้อยมาก  ยิ่งไปกว่านั้น จากการพิจารณาเอกสารรายงานต่าง ๆ พบว่ารัฐบาลและองค์กรที่มิใช่รัฐบาลส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้มองว่าสิทธิสตรีสตรีคือสิทธิมนุษยชน  ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีความก้าวหน้าเกี่ยวกับการให้ความสำคัญสิทธิสตรีเป็นสิทธิมนุษยชนมากนัก แต่ก็เป็นหลักการที่ได้รับการรับรองจากสหประชาชาติแล้ว ซึ่งกลุ่มผู้หญิงในแต่ละประเทศสามารถที่จะเคลื่อนไหวเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและกฎหมายในประเทศของตนเองต่อไปได้   
(4) การเปลี่ยนกระบวนทัศน์สิทธิสตรีเป็นสิทธิมนุษยชน
การเปลี่ยนมโนทัศน์ของสิทธิสตรีสู่ความเป็นสิทธิมนุษยชน จะทำให้ครอบคลุมสิทธิทุกประเภทของสตรีรวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ของสตรีในทุก ๆ ด้าน ซึ่งมีนัยยะความหมายที่กว้างขวางกว่าความหมายสิทธิสตรีแบบเดิม  ยกตัวอย่างเช่น  GABRIELA สมาพันธ์สตรีในฟิลิปปินส์ได้ใช้คำกล่าว “สิทธิสตรีคือสิทธิมนุษยชน” (Women's Rights are Human Rights) ในการรณรงค์เมื่อไม่นานมานี้  Ninotchka Rosca อธิบายการรณรงค์ดังกล่าวสรุปได้ว่าสิทธิมนุษยชนไม่สามารถถูกลดทอนมาเป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับกระบวนการและวิถีทางกฎหมาย กล่าวคือในกรณีประเด็นด้านสตรี สิทธิมนุษยชนได้รับผลกระทบจากการรับรู้ตามจารีตประเพณีของสังคมโดยรวมว่าอะไรสมควรหรือไม่สมควรสำหรับสตรี ในทำนองเดียวกัน ผลการสนทนากลุ่มเมื่อปี ค.ศ. 1990 ของกลุ่มสตรีระหว่างประเทศในการประชุม “Rights Action Watch” แสดงให้เห็นว่าความรุนแรงต่อสตรีเป็นประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน (Violence Against Women is a Human Rights Issue) ขณะที่แนวความคิดเกี่ยวกับสิทธิสตรีในแง่ต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้วสามหัวข้อข้างต้น เราจะพบว่าเป็นมุมมองจากกลุ่มสตรีนิยม  แต่ปรากฎว่าแนวความคิดสุดท้ายนี้เห็นได้ชัดเจนว่ามาจากแนวคิดของสตรีนิยมที่มีจุดยืนของสตรีเป็นศูนย์กลางและปฏิเสธที่จะรอให้ผู้มีอำนาจคนใดมาตัดสินว่าประเด็นสิทธิสตรีใดบ้างที่ถือว่าเป็นสิทธิมนุษยชน

แนวคิดทั้ง 4 ประการ เป็นแนวคิดหลักสำคัญของสิทธิสตรีที่มีความเชื่อมโยงกับหลักสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจนและปรากฎเป็นข้อเรียกร้องสำคัญ ๆ ของกลุ่มสตรีนิยมอยู่เสมอ แต่บางประเด็นมักถูกยอมรับหรือถูกเพิกเฉยแล้วแต่สภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละรัฐ และที่สำคัญที่สุดก็คือรัฐที่มีระบบอำนาจผู้ชายเป็นใหญ่

Bunch ผู้เขียนบทความเรื่อง  Women's Rights as Human Rights: Toward a Re-Vision of Human Rightsมีความเห็นว่าสังคมในหลายประเทศส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อว่าการกดขี่สตรีเป็นผลมาจากการเมืองที่ชายเป็นใหญ่โดยแยกเรื่องการเลือกปฏิบัติทางเพศ และความรุนแรงต่อสตรีออกจากประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ตามความเห็นของเธอ สถานะที่ด้อยกว่าทางสังคมของผู้หญิงยังคงถูกมองว่าเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หรือเป็นเรื่องตามธรรมชาติมากกว่าถูกมองว่าเป็นความจริงที่ถูกประกอบสร้างทางการเมืองที่ธำรงไว้เพื่อผลประโยชน์ของผู้ชายเป็นใหญ่ อุดมการณ์และสถาบันของสังคม[17]   ซึ่งหากสังคมส่วนใหญ่มีมุมมองเช่นนี้แล้ว ย่อมทำให้การยอมรับสิทธิสตรีว่าเท่าเทียมกับชายในทางปฏิบัติจริงเป็นไปได้ยาก     Catherine MacKinnon (1989) และ Carole Pateman (1988) ได้วิพากษ์รัฐส่วนใหญ่ในโลกว่าล้มเหลวที่จะสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างสิทธิสตรีในพื้นที่ส่วนตัว (ครอบครัว) และพื้นที่สาธารณะ[18]  กล่าวคือในพื้นที่ส่วนตัว ลำดับชั้นของอำนาจที่ถือว่าผู้ชายเป็นใหญ่มีอยู่ในหลายครอบครัวเกือบจะทุกสังคมและเกิดความรุนแรงภายในครอบครัวอันเนื่องมาจากระบบที่ผู้ชายเป็นใหญ่นี้ ซึ่งรัฐไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ได้ ยกตัวอย่าง หลายประเทศรวมถึงเปรู และอียิปต์ พบว่าสามีมีสิทธิทางกฎหมายที่จะทุบตีและแม้กระทั่งฆ่าภรรยาของพวกเขาได้หากสงสัยว่าภรรยาของพวกเขามีชู้  และกฎหมายครอบครัวของฝรั่งเศสที่กำหนดว่าสามีหรือภรรยาที่ทิ้งร้างครอบครัวจะไม่มีสิทธิในการร่วมครอบครองบ้าน ซึ่งตามกฎหมายดังกล่าวนี้ ผู้หญิงที่ไม่อาจทำความรุนแรงภายในครอบครัวได้ก็ไม่สามารถออกจากบ้านได้ เพราะเธอจะไม่มีที่ไป ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยและไม่ได้สิทธิในการเลี้ยงดูบุตร[19] เนื่องจากในความเป็นจริงที่ผู้หญิงหนีอออกจากครอบครัวมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากความสัมพันธ์ที่รุนแรงกับสามีของเธอ ในขณะที่ผู้ชายทิ้งครอบครัวเพราะเรื่องการหนีปัญหาทางการเงิน ความรับผิดชอบทางสังคมหรือการมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงใหม่

แม้ว่าประเด็นความเท่าเทียมระหว่างเพศชายหญิง และการใช้ประโยชน์จากแรงงานสตรีอย่างธรรมจะเป็นปัญหาสากล  แต่การเคลื่อนไหวในแต่ละประเทศก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดทางวัฒนธรรมที่แวดล้อมกลุ่มสตรีที่ทำการเคลื่อนไหว  ยิ่งไปกว่านั้น เงื่อนไขที่นำไปสู่การเปลี่ยนรูปแบบจากประเด็นเรื่องส่วนบุคคลกลายเป็นนโยบายสาธารณะที่ตราเป็นกฎหมายก็จะมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ[20] กล่าวคือบางประเทศยังมองว่าประเด็นที่เกี่ยวกับครอบครัวและแรงงานสตรีซึ่งถูกยกเป็นข้อโต้เถียงทางสาธารณะในหลายประเทศนั้น ยังคงถูกนิยามว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่อยู่ในพื้นที่ส่วนตัว รัฐจึงไม่เข้าไปแทรกแซง หรือในอีกแง่หนึ่ง ถ้าตีความตามกลุ่มสตรีนิยมบางกลุ่ม ก็จะมองว่าระบบอำนาจที่ชายเป็นใหญ่อยู่ในตัวรัฐเอง จึงไม่ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ที่มองเรื่องครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัวที่อาจมีความความรุนแรงต่อผู้หญิง ซึ่งก็เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงในรูปแบบหนึ่งเช่นกัน

แม้กระทั่งในประเทศญี่ปุ่น สมาคมสิทธิสตรีระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japanese Association of International Women's Rights) ก็ยังมีความเห็นว่านัยยะสำคัญพิเศษที่ปรากฏในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิสตรีส่วนใหญ่เป็นการสร้างความตระหนักว่าผู้หญิงไม่ได้มีลักษณะของความเสียเปรียบในเชิงประวัติศาสตร์ แต่เป็นการเลือกปฏิบัติและการกดขี่โดยสร้างแบบฉบับด้านลบให้กับผู้หญิง และข้อสันนิษฐานด้านลบก็ถูกฝังลึกในวัฒนธรรม และได้รับอิทธิพลเกี่ยวกับทัศนคติทางศาสนาและสังคม  จุดมุ่งหมายของอนุสัญญานี้ก็คือการขจัดความไม่เท่าเทียมกันและภาพลักษณ์ที่เป็นแบบฉบับด้านลบออกไป และสร้างความเข้าใจว่าแนวคิดแบบฉบับดั้งเดิมเป็นการปฏิเสธสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้หญิง[21] ดังนั้น ในประเด็นข้อโต้เถียงที่ว่าสิทธิสตรีประเภทใดคือสิทธิมนุษยชนในทางปฏิบัติแล้ว จะพบว่ามุมมองจะสอดคล้องกับสังคม วัฒนธรรม จารีตประเพณีของประเทศนั้น ๆ ด้วย ซึ่งรัฐจะต้องทำความเข้าใจว่าการประกอบสร้างความจริงใด ๆ เกี่ยวกับสตรีนั้นสามารถทำการรื้อสร้างได้ มิใช่ผูกติดกับความเชื่อดั้งเดิมของสังคม


[1] สรุปจากภาษาอังกฤษ Article 12  of Universal Declaration of Human Rights ที่กำหนดไว้ดังนี้ "the rights and freedoms set forth in this Declaration, without distinction of any kind, such as race, colour, sex, language, religion, political or other opinion, national or social origin, property, birth or other status."
[2] โปรดดูรายละเอียด Blanche Wiesen Cook, "Eleanor Roosevelt and Human Rights: The Battle for Peace and Planetary Decency, "Edward P. Crapol, ed. Women and American Foreign Policy: Lobbyists, Critics, and Insiders (New York: Greenwood Press, 1987), 98-118; Georgina Ashworth, "Of Violence and Violation :      Women and Human Rights," Change Think book II (London, 1986) อ้างใน Bunch, “Women's Rights as Human Rights: Toward a Re-Vision of Human Rights,” p. 487.
[3] กนกวรรณ ภิบาลชนม์, “สิทธิสตรีตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ,” หน้า 105.
[4]Butler, Judith, “Performative Acts and Gender Constitution: An Essay in Phenomenology and Feminist Theory,” p. 520.
[5]ดูรายละเอียดสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย, โครงการศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา สาขานิติศาสตร์ สุโขทัยธรรมธิราช พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, หน้า 2.
[6]ดูรายละเอียด นพนิธิ สุริย  “สิทธิมนุษยชน”  สรุปคำบรรยายวิชาสิทธิมนุษยชน, LA 253 มหาวิทยาลัยรามคำแหง 2520.
[7] G. Oestreich, Die Entwicklung der Menschenrechte und Grundfreiheiten, in: Bettermann-Neumann- Nipperday (Hrsg.), Die Grundrechte, Bd.1, 1.Hbd., 1966, S. 13. อ้างใน บุญศรี  มีวงศ์อุโฆษ, รายงานการวิจัยเรื่อง “หลักการใช้อำนาจขององค์กรที่ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ,” หน้า 94.
[8] จรัญ โฆษณานันท์, สิทธิมนุษยชนไร้พรมแดน ปรัชญา กฎหมาย และความเป็นจริงทางสังคม, หน้า 63.  
[9] Davidson, Scott. Human Right, p. 28.
[10]วิระดา สมสวัสดิ์, คู่มือกฎหมายสำหรับผู้หญิง, หน้า 11-12.
[11] Article 1 of  The Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women:              “any distinction, exclusion, or restriction made on the basis of sex which has the effect or purpose of impairing or nullifying the recognition, enjoyment or exercise by women, irrespective of their marital status, on a basis of equality of men and women, of human rights and fundamental freedoms in the political, economic, social, cultural, civil or any other field.
[12]Article 2  of  The Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women:  “States parties to the Convention agree to establish equality of women through their national legal systems in a variety of ways: by conforming national constitutions or appropriate legislation to the principles of the Covenant, by enacting legal sanctions against discrimination, by prohibiting discrimination by public authorities and institutions, by establishing de jure equality of women and men, and by abolishing existing laws, regulations, customs, and practices (including penal provisions) which are discriminatory.
[13] กนกวรรณ ภิบาลชนม์, “สิทธิสตรีตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ,” หน้า 105.
[14] Cook, “Enforcing Women's Rights through Law,” p.12.
[15]Linsenbard, “Beauvoir, Ontology, and Women's Human Rights,” p. 149.
[16]Bunch, “Women's Rights as Human Rights: Toward a Re-Vision of Human Rights,” pp. 493-497.
[17] Bunch, “Women's Rights as Human Rights: Toward a Re-Vision of Human Rights,” p. 491.
[18] Bahar, “Human Rights are Woman’s Right: Amnesty International and the Family,” p. 106.
[19] Bahar, “Human Rights are Woman’s Right: Amnesty International and the Family,” p. 106.
[20] Palley, “Women's Rights as Human Rights: An International Perspective,” p. 164.
[21] Cook, “Enforcing Women's Rights through Law,” p. 9.

บรรณานุกรม


ภาษาไทย
กนกวรรณ ภิบาลชนม์. “สิทธิสตรีตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ,” สิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย, กรุงเทพฯ: โครงการศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2543: 105-109.

บุญศรี  มีวงศ์อุโฆษ. “รายงานการวิจัยเรื่อง “หลักการใช้อำนาจขององค์กรที่ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ,”” กรุงเทพฯ: บริษัท พี. เพรส จำกัด,  2549.

วิระดา  สมสวัสดิ์. คู่มือกฎหมายสำหรับผู้หญิง, กรุงเทพมหานคร : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2537.

ปฏิญญาเวียนนาและแผนปฏิบัติการ,” สิทธิมนุษยชน, กรุงเทพมหานคร: คณะกรรมการประสานงานองค์กรสิทธิมนุษยชน (กปส.), 2540: 201-236.

ภาษาอังกฤษ

Bahar, Saba. “Human Rights are Woman’s Right: Amnesty International and the Family,” Hypatia, 11, no. 1, The Family and Feminist Theory, Winter 1996: 105-134.


Bunch, Charlotte. “Women's Rights as Human Rights: Toward a Re-Vision of Human Rights, ”Human Rights Quarterly, 12, no. 4, November 1990: 486-498.

 
Butler, Judith. “Performative Acts and Gender Constitution: An Essay in  Phenomenology and  Feminist Theory,” Theatre Journal,  40, no. 4, December 1988: 519-531.


Cook, Elizebeth Adell,  Jelen, Ted G. and Wilcox, Clyde. Between two absolutes, Public Opinion  and Politics of Abortion,  San Francisco: Westview Press, 1992.


Cook, Rebecca J. “Enforcing Women's Rights through Law,”  Gender and Development 3, no. 2, June 1995: 8-15.

Davidson, Scott. Human Right. Buckingham: Open University Press, 1993.


Dixon-Mueller, Ruth. Population Policy & Women’s Right. United States of America: Praeger  Publishers, 1993.


Linsenbard,  Gail E. “Beauvoir, Ontology, and Women's Human Rights,” Hypatia, 14, no. 4,  Philosophy of Simone de Beauvoir, Autumn, 1999: 145-162.

Palley, Marian Lief.  “Women's Rights as Human Rights: An InternationalPerspective”  Annals  of the American Academy of Political and Social Science,  515, American Feminism:  New Issues for a Mature Movement, May 1991: 163-178.

                                         ------------------------------------------------------------------
                                                                                                                          
โดย ภิรัชญา วีระสุโข