วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ภาพจิตรกรรมรามเกียรติ์ในวัดพระแก้ว เขียนเพื่ออะไรกันแน่?

ภาพจิตรกรรมรามเกียรติ์
ในวัดพระแก้ว
ไม่ใช่เรื่องของพระนารายณ์
ไม่ใช่เรื่องของสงคราม
ไม่ใช่เรื่องของเทพฮินดู
แต่.......เป็นบันทึกราชสำนักกรุงรัตนโกสินทร์

ใครอาจจะมองว่ารามเกียรติ์ในวัดพระแก้ว เขียนขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติ์พระนารายณ์ ซึ่งก็ไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูกนัก หรือใครอาจจะบอกว่าเป็นประเพณีมาตั้งแต่นครวัดแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะผิด แต่ก็ใช่ว่าจะถูกอีก หรือใครจะบอกว่ามันแสดงสงคราม การต่อสู้ระหว่างธรรมะกับอธรรม ผมก็ไม่ได้ปฏิเสธ แต่ก็ไม่ยอมรับซะทีเดียว
จากการชมงานจิตรกรรมครั้งล่าสุด ได้มุมมองใหม่ว่า อันที่จริงแล้ว คนเขียนในรุ่นก่อนนั้น เค้าพยายามจะสร้างการบันทึกภาพ กิจวัตรต่างๆ ขนมธรรมเนียม ประเพณี ของราชสำนัก ในยามที่ไม่มีกล้องถ่ายภาพ งานจิตรกรรมนั่นละ จะเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่ง มันจำลองกรุงรัตนโกสินทร์ลงมาในผนังนั้นเอง  

1. เรื่องราวของรามเกียรติ์จากจิตรกรรมนั้นมิได้มีจุดเริ่มเช่นเดียวกับงานวรรณกรรม (ซึ่งแสดงเรื่องตั้งแต่การอวตารเป็นหมูป่าของพระนารายณ์เพื่อปราบยักษ์หิรัญ)แต่เริ่มต้นขึ้นเมื่อมีการประสูติโอรสของท้าวทศรส จากพระมเหสีสี่พระองค์ คือ พระราม พระลักษมณ์ พระพรต พระสัตรุต วาดไว้ที่ซุ้มประตูวิหารยอด ต่อด้วยตอนกำเนิดนางสีดา วาดที่ผนังระเบียงคด และดำเนินเรื่องต่อไปจากนี้ตามเข็มนาฬิกา
อย่างไรก็ตาม เรื่องรามเกียรติ์ตอนก่อนหน้านี้นั้น ภาพจิตรกรรมมิได้ละทิ้งไป มีการวาดภาพเอาไว้เช่นกัน แต่ตำแหน่งของภาพวาดจะไม่อยู่ที่ฝาผนังระเบียง กลับวาดไว้ในผนังที่ซุ้มประตูต่างๆทำให้ไม่โดดเด่นและทำให้เรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้ต่อเนื่องเรียงลำดับเชื่อมกันกับส่วนอื่นๆ ดูเสมือนว่าผู้เขียนได้นำเรื่องราวก่อนการเกิดของพระรามแยกออกเป็นอีกมิติหนึ่ง ที่ไม่เกี่ยวข้องกับรามเกียรติ์ตอนอื่นๆ
ตัวอย่างของรามเกียรติ์ตอนก่อนหน้าการประสูติของพระรามที่มีการวาดไว้เช่น พระนารายณ์อวตารเป็นหมูป่า พิธีหุงข้าวทิพย์ กำเนิดทหารเอก พาลี สุครีพ หนุมาน องคต หรือตอนนนทุกนิ้วเพชร กับพระนารายณ์ซึ่งแปลงเป็นนางรำ จะนำไปวาดไว้บนเหนือซุ้มประตูต่างๆไม่ต่อเนื่องกับเรื่องราวหลัก ทั้งๆที่เรื่องเหล่านี้มีความสำคัญ และจะเกี่ยวเนื่องกับเรื่องรามเกียรติ์ในตอนอื่นๆต่อไป
(สังเกตรูปประกอบผังระเบียงคดและงานจิตรกรรมฝาผนัง จะเห็นว่าเรื่องรามเกียรติ์ตอนก่อนประสูติพระราม เช่น รูปปราบยักษ์หิรัญ โดยอวตารเป็นหมูป่า มิได้วาดต่อเนื่องกับส่วนอื่น แต่วาดแยกลงบนซุ้มประตู และเป็นส่วนที่ไม่ต่อเนื่องกับตอนอื่นๆ)


สังเกตตรงซุ้มประตูจะมีที่ว่างให้เขียนภาพ ซึงจิตรกรก็ได้เขียนภาพลงไป หลายตอน เช่น ปราบยักษ์หิรัญ ทำให้ตอนเหล่านี้ตัดขาดออกจากตอนอื่นๆที่วาดบนผนัง

ประเด็นของการเริ่มเรื่องรามเกียรติ์ตั้งแต่กำเนิดพระรามนั้น ผู้เขียนสันนิษฐานว่า ความต้องการหลักในการวาดภาพคือการสะท้อนภาพของราชสำนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยกย่องพระมหากษัตริย์ในฐานะพระรามอวตาร การเขียนภาพจิตรกรรมจึงจับเอาเฉพาะเรื่องราวของพระรามเป็นหลัก เป็นการแสดง ชีวประวัติของพระรามเนื่องจากชื่อรามเกียรติ์นั้นแปลได้ว่า เกียรติของพระรามอันสอดคล้องกับเกียรติยศของพระมหากษัตริย์

ส่วนเรื่องตอนอื่นๆนั้นเป็นเรื่องของภารกิจของพระนารายณ์ก่อนที่จะมาเป็นพระรามนั้น คนไทยไม่ได้ให้ความสำคัญนัก เนื่องจากไม่ได้นับถือศาสนาฮินดูเป็นศาสนาหลัก ศิลปินจึงมิได้สนใจจะแสดงเรื่องราวของพระนารายณ์ แต่สนใจที่จะแสดงเรื่องของ พระรามมากกว่า เช่นเดียวกับเรื่องราวของตัวละครอื่นๆในรามเกียรติ์ก่อนพระรามเกิด เช่น กำเนิดทหารเอก(หนุมาน สุครีพ)ทศกัณฐ์ได้นางมณโฑ ฯลฯ ซึ่งไม่ใช่จุดประสงค์ที่ศิลปินไทยจะมุ่งเน้นเป็นหลัก เนื่องจากอยู่นอกเหนือ ชีวประวัติของพระรามจึงมีการเขียนไว้บ้าง แต่อยู่ในอีกมิติหนึ่งซึ่งแยกออกเป็นคนละส่วน
ดังนั้น จุดประสงค์หลักของงานจิตรกรรมรามเกียรติ์จึงมิใช่การบูชาพระนารายณ์ในฐานะเทพเจ้าฮินดู แต่เป็นการเล่าเรื่องของพระมหากษัตริย์อันเป็นบุคคลที่อยู่ในฐานะสมมติเทพ ซึ่งหมายถึงพระมหากษัตริย์ของไทย ซึ่งประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง (โดยการเปรียบเทียบว่าเป็นพระราม) มากกว่า
นอกเหนือจากการแสดงภาพอุดมคติของพระมหากษัตริย์แล้ว หากศึกษาต่อไปจะพบว่า ประเด็น ที่จิตรกรรมต้องการมุ่งเน้น มิใช่เรื่องของอภินิหารจากสงคราม การสร้างภารกิจในการรบ ปราบยักษ์ เป็นหลัก แต่มุ่งเน้นการถ่ายทอด บันทึก จำลอง ชีวิตในราชสำนัก และสังคมไทยอื่นๆ รวมถึงการสะท้อนภาพของกรุงรัตนโกสินทร์ไว้ด้วย

การให้ความสำคัญกับบางประเด็นในภาพจิตรกรรม ซึ่งไม่ใช่ประเด็นหลักในเนื้อเรื่อง
จากการสังเกตการจัดองค์ประกอบภาพจิตรกรรมฝาผนังนั้น จะพบว่าศิลปินมีการคัดเลือกให้ภาพบางภาพ เรื่องราวบางประเด็นมีความสำคัญกว่าเรื่องอื่นๆ สังเกตได้จากการนำมาทำเป็นภาพขนาดใหญ่ จัดวางในตำแหน่งศูนย์กลาง หรือวางตำแหน่งของภาพให้อยู่ในระดับสายตา ทำให้เห็นว่าศิลปินให้ความสำคัญของส่วนประกอบต่างกันในแต่ละตอน
หากมองในส่วนรวมแล้ว ภาพที่มีความโดดเด่นมากที่สุดได้แก่ ชีวิตในพระราชวัง ซึ่งถูกให้ความสำคัญมาก มีการจัดองค์ประกอบที่มุ่งเน้นให้เป็นศูนย์กลางของภาพและในบางกรณีมีความโดดเด่นกว่าประเด็นหลักของท้องเรื่องด้วยซ้ำ สังเกตได้จากบางตอนเช่น ตอนที่พญาขร (พี่ชายนางสำมนักขา)ต่อสู้กับพระราม  จิตรกรไม่ได้ให้ความสำคัญกับการ สู้รบ กลับให้ความสำคัญกับภาพในวังของพญาขร ขณะพญาขรกำลังปรึกษากับเหล่าเสนา ซึ่งไม่ได้เป็นประเด็นหลักของเรื่องแต่นำมาไว้กลางผนัง มีขนาดใหญ่ และอยู่ในระดับสายตา ส่วนภาพการสู้รบกลับอยู่เหนือระดับตา มีขนาดเล็ก และมองไม่ชัดเจน (ดูภาพประกอบ)
 ภาพที่3 ภาพนี้จะเห็นได้ว่าลักษณะเด่นของภาพคือชีวิตในวัง ขณะที่จุดเด่นของเรื่องคือการรบกับพญาขร จะอยู่ด้านบน มีขนาดเล็ก แม้กระทั่งรูปขบวนรถทรงยังดูเด่นกว่าการสู้รบเสียอีก
ภาพขยายการสู้รบระหว่างพระรามกับพญาขร ซึ่งอยู่ส่วนบนของภาพที่ 3(มองจากภาพที่ 3 จะเห็นไม่ชัด)
ลักษณะเช่นนี้ ได้เกิดเช่นเดียวกันกับตอนอื่นๆจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น เช่น การรบกับพญาทูต พญาตรีเศียร การรบระหว่างกุมภกรรณกับพระลักษมณ์  หนุมานสู้กับอินทรชิตตอนเข้าสวนขวัญเมืองลงกาและอื่นๆอีกจำนวนมาก ส่วนที่เป็นการสู้รบ การแสดงอภินิหารกลับไม่ถูกเน้น มักอยู่ด้านบนเหนือระดับสายตา มีขนาดเล็ก ขณะที่ศูนย์กลางภาพซึ่งมีขนาดใหญ่จะเป็นภาพภายในกำแพงวัง แสดงกิจกรรมต่างๆของกษัตริย์ เช่น ปรึกษากับเหล่าเสนา วางแผนการรบอยู่
ตัวอย่างภาพตอนพระรามรบกับพญาขร จะเห็นว่าศูนย์กลางภาพเป็นภาพพระราชวัง และชีวิตในราชสำนัก รองลงมาเป็นขบวนรถทรง (อยู่ด้านล่างขวามือ ใกล้ระดับสายตาผู้ชม)ส่วนการสู้รบกับพระรามด้านบนเป็นภาพขนาดเล็กและห่างไกลจากสายตาผู้ชม

นอกเหนือจากนั้น เราจะพบว่า ประเด็นที่จิตรกรรมต้องการมุ่งเน้น มิใช่เรื่องของอภินิหารจากสงคราม การสร้างภารกิจในการรบ ปราบยักษ์ เป็นหลัก แต่มุ่งเน้นการถ่ายทอด บันทึก จำลอง ชีวิตในราชสำนัก ทั้งในรูปแบบการสะท้อนภาพจริงและภาพอุดมคติ

3.รามเกียรติ์ในฐานะภาพสะท้อนสังคมจริงและสังคมอุดมคติ
ตามที่กล่าวแล้วว่า จิตรกรรมฝาผนังนี้ ไม่ได้มีจุดประสงค์หลักในการแสดงถึงการรบในสงคราม แต่เน้นการจำลองชีวิตในราชสำนักมากกว่า เพื่อสนับสนุนแนวคิดเทวราชาหรือสมมติเทพ (พระรามคือกษัตริย์ รัตนโกสินทร์ ที่สืบต่อจากอโยธยา)ดังนั้น ภาพที่เขียนไว้จำนวนมากจึงเป็นภาพเมือง พระราชวัง ซึ่งคล้ายคลึงกับกรุงรัตนโกสินทร์หลายประการ แสดงถึงความต้องการที่จะนำเอานครในอุดมคติ มาเป็นแบบอย่างให้กับนครของตน นอกเหนือจากการตั้งชื่อเมืองหลวงว่ากรุงศรีอยุธยา ตามชื่อเมืองอโยธยาที่เป็นของพระราม
จากรูปประตูเมืองของพระราม เห็นชื่อกรุงศรีอยุธยา นครหลวงของไทย

(หมายเหตุในตอนตั้งกรุงรัตนโกสินทร์นั้น เรามีความคิดว่ากรุงเทพฯนี้คืออยุธยา ที่ถูกสร้างใหม่ กษัตริย์พระองค์รัชกาลที่ 1-3 ก็ยังเรียกตัวเองว่าเจ้ากรุงศรีอยุธยาด้วยซ้ำ)

ในอีกทางหนึ่ง การสร้างให้รามเกียรติ์มีส่วนใกล้เคียงกับความเป็นจริงในสังคมหรือประวัติศาสตร์ไทย อาจแสดงการบันทึกประวัติศาสตร์ในรูปของงานจิตรกรรมฝาผนังอีกด้วย

เราจะเห็นภาพเมือง พระราชวัง คล้ายคลึงกับกรุงรัตนโกสินทร์หลายประการ ดังภาพแสดงด้านล่าง



นอกเหนือจากภาพของนครและชีวิตในพระราชวังแล้ว ส่วนอื่นที่ได้รับการให้ความสำคัญ ได้แก่ พระราชพิธีต่างๆ เช่นพระราชพิธีอภิเษกสมรส, การประลองกำลังยกศร, การปลงพระศพ, การเฉลิมฉลอง และขบวนเสด็จ เช่น ขบวนแห่  ขบวนเรือ ขบวนรถทรง จะถูกวาดให้มีความโดดเด่น ทั้งในด้านขององค์ประกอบภาพ ขนาดภาพ การให้รายละเอียดตกแต่ง การปิดทอง การให้ความสำคัญกับพระราชกรณียกิจของกษัตริย์ ราชสำนัก พระราชพิธี ฯลฯ เหล่านี้มากกว่าท้องเรื่อง อาจมีข้อสันนิษฐานได้ว่า เนื่องจากจุดประสงค์หลักของจิตรกรรมรามเกียรติ์ คือการสร้างภาพสะท้อนทางอุดมคติของพระมหากษัตริย์ ซึ่งถูกสมมติเป็นพระรามแห่งกรุงอโยธยา ดังนั้น จิตรกรจึงต้องทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวในราชสำนักและบุคคลในราชสำนักเป็นหลัก มากกว่าจะคำนึงถึงความสำคัญของท้องเรื่องในด้านการสู้รบ สงคราม เทพฮินดู หรืออื่นๆ
ภาพขบวนรถทรง มักมีจุดเด่น มีขนาดพื้นที่ใหญ่มาก อยู่ใกล้ระดับสายตา หรือด้านล่างของระดับสายตาเล็กน้อย มีการให้รายละเอียดสูง และปิดทองดูโดดเด่น หากไม่ใช่ภาพที่เด่นเป็นหลักก็เป็นรอง ทั้งๆที่ภาพขบวนรถเหล่านี้เป็นเพียงส่วนประกอบของเรื่อง ไม่ใช่ส่วนหลัก แต่จิตรกรก็กลับให้ความสำคัญในส่วนเหล่านี้มาก

ภาพตอนงานศพทศกัณฐ์ เป็นภาพที่จิตรกรให้ความสำคัญมาก มีขนาดพื้นที่ใหญ่ มีรายละเอียดกิจกรรมครบถ้วน เสมือนการจำลองงานพระราชพิธีจริง ทั้งขบวนราชรถ การละเล่นต่างๆ เครื่องประกอบพระเมรุมาศ และเครื่องสูง



ขบวนรถทรงก็เขียนรายละเอียดแบบพิธีจริง

มีการละเล่นแบบในงานศพจริงด้วย

โรงมหรสพ กายกรรมก็มี

 และนี่รูปธง ซึ่งเคยเป็นธงชาติไทยมาก่อน ก็มีปรากฏในงานศพทศกัณฐ์ของเมืองลงกา (ซึ่งเป็นเมืองตรงข้ามกับอโยธยาของพระราม ก็ยังมีธงช้างปรากฏจนได้)


เห็นไหม ว่าจิตรกรเขาพขยายามจำลองพระราชวัง และกรุงรัตนโกสินทร์ ลงมาในภาพจิตรกรรม ในยุคที่ยังไม่มีภาพถ่าย และจำลองจนไม่สนใจว่าธงนั้นจะเป็นธงของฝ่ายไหน ก็เพราะจุดประสงคฺ์หลักของงานอันสำคัญกว่าสิ่งอื่นใดก็คือการจำลองภาพของกรุงรัตนโกสินทร์นี้มามากกว่า

หมายเหตุ จิตรกรรมฝาผนังในวัดพระแก้วที่เราเห็นนี้ผ่านการซ่อมมาหลายครั้ง ครั้งใหญ่สุดสมัยรัชกาล
ที่ 7ดังัน้น สิ่งที่เราเห็นขณะนี้ อาจเป็นสิ่งที่ช่างรุ่นใหม่ทำขึ้นใหม่ หรือทำการบูรณะแต่ยังคงสภาพของเดิมเอาไว้ แค่ไหน ในส่วนใด ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทว่าผู้วิจัยเชื่อว่าการบูรณะคงต้องสืบสานแนวคิดหรือรูปแบบบางอย่างเอาไว้บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ยังคงจุดประสงค์ในการสร้างภาพจิตรกรรมนั้นไว้


         บรรณานุกรม
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว, บ่อเกิดรามเกียรติ์ (พระนคร : ศิลปาบรรณาคาร, 2513) หน้า 209-10.
ศรีสุรางค์ พูลทรัพย์, นิทรรศการพิเศษรามเกียรติ์ในศิลปะและวัฒนธรรมไทย, กรุงเทพฯ,สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, 2534. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น