วันพุธที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ความกวัดแกว่งและไหลเลื่อนของ “ศูนย์กลาง” และ “โครงสร้าง” ใน Structural, Sign, and Play in the Discourse of the Human Sciences ของ Jacques Derrida[1]

โดย อัฐมา โภคาพานิชวงษ์ [2]
ธันวาคม 2553


Jacques Derrida นำเสนอบทความเรื่อง “Structure, Sign, and Play in the Discourse of the Human Sciences” เป็นครั้งแรกในการประชุมว่าด้วยโครงสร้างนิยมที่ John Hopkins University เมื่อปี ค.ศ.1966 จากนั้นบทความนี้ถูกนำมาตีพิมพ์รวมเล่มในหนังสือชื่อ “Writing and Difference” [3] (พิมพ์ครั้งแรกในภาษาฝรั่งเศสเมื่อปี 1967 และพิมพ์ครั้งแรกในฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษเมื่อปี 1978) ความสำคัญของงานชิ้นนี้อยู่ที่การวิพากษ์ ความรู้ หรือญาณวิทยาแบบสำนักปรากฎการณ์วิทยา (phenomenology) และสำนักโครงสร้างนิยม (structuralism) โดยเฉพาะแนวคิดโครงสร้างนิยมของ Claude Levi-Strauss ที่นำเสนอผ่านงานเขียน 4 ชิ้น คือ The Elementary Structures of Kinship (1949), The Savage Mind (1962), The Raw and the Cooked (.1964) และ Race and History (1958)

คำ technical term ที่เดอร์ริดาใช้เป็นคำหลัก (keywords) ในการอรรถาธิบายของเขา ได้แก่ โครงสร้าง/ความเป็นโครงสร้าง (structure/structurality), ศูนย์กลาง/ความเป็นศูนย์กลาง (center), สัญญะ (sign), การเล่น (play/freeplay), ภาพรวบยอด (total/totalization), สภาพการณ์ (event), การปรากฎอยู่/การไม่ปรากฎ (presence/absence), ความวิปริต/แปรปรวน (scandal) และ bricolage/bricoleur ประเด็นหลักที่เดอร์ริดาเสนอเป็นการโต้แย้งต่อความเป็นโครงสร้างของ Levi-Strauss ซึ่งเดอร์ริดาพบว่ามีความขัดแย้งหลายประการระหว่างภายในตัว โครงสร้าง (structure) เอง กับ ศูนย์กลาง (center) ในความเป็นโครงสร้างที่ปรากฎในงานของ Levi-Strauss สิ่งที่เดอร์ริดากระทำจึงเป็นความพยายามชี้ให้เห็นถึงสภาพการณ์ (event)  ของการแตกกระจายออก (rupture/disruption) ของ ความเป็นโครงสร้างของโครงสร้าง (structurality of structure) นั้น

เดอร์ริดาเสนอว่า Levi-Strauss มองว่า โครงสร้าง ทำงานและดำรงอยู่อย่างเป็นประวัติศาสตร์แบบต่อเนื่อง (a history) มีลักษณะเป็นเส้นตรง (linear) เช่นเดียวกับ Saussure และเราสามารถหา ศูนย์กลาง ของมันพบได้ภายในระบบและโครงสร้าง เพราะความเป็น ศูนย์กลาง ของโครงสร้างเป็นสิ่งที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ที่เราสามารถมองเห็นและนำเสนอผ่านระบบของภาษาได้ด้วยตัวหมาย (signifier) โดยเชื่อว่าตัวหมายนี้สามารถสะท้อนตัวถูกหมาย (signified) หรือสิ่งที่ต้องการบอกได้อย่างตรงไปตรงมา ดังนั้น ศูนย์กลาง ในแบบ Levi-Strauss จึงถูกทำให้เป็นสิ่งที่ ปรากฎอยู่ (presence)

ความเป็น ศูนย์กลาง ยังวางตำแหน่ง (position) อยู่ ณ ศูนย์กลางของโครงสร้างหรือระบบด้วย  ศูนย์กลาง ยังทำหน้าที่เป็นแหล่งกำเนิดที่ตายตัว (fixed origin) ให้กับอำนาจที่กำกับความเป็นไปของส่วนต่างๆ ทั้งหมด (whole structure) ภายในโครงสร้าง หรือกล่าวได้ว่า ศูนย์กลาง ทำหน้าที่ควบคุมเกมหรือการ เล่น (play) ภายในระบบ/โครงสร้างส่วนต่างๆ ขณะที่ตัวมันเองปรากฎอยู่อย่างเต็มรูปและอยู่พ้นไปจากการเล่น (a full presence is beyond play) หรือมีลักษณะเป็นตัวหมายในระบบสัญญะที่อยู่พ้นไปหรือมีอภิสิทธิ์เหนือภายในโครงสร้าง (transcendental or privileged signifier) ระบบ/โครงสร้างนั้นจึงไม่ได้มีอิสระที่จะเคลื่อนไหวหรือดำเนินโดยตัวของมันเอง (freeplay) เพราะถูกจำกัดด้วย ศูนย์กลาง อยู่ตลอดเวลา โดยนัยนี้จึงหมายความว่า เมื่อใดที่ระบบหรือโครงสร้างขาด ศูนย์กลาง การเล่นของส่วนต่างๆ ก็จะสามารถเป็นไปอย่างไร้ขีดจำกัด (infinite)
ทว่าเดอร์ริดากลับมองเห็นว่า โครงสร้าง ดำรงอยู่ด้วยกันกับความเป็น ศูนย์กลาง เสมอ แต่ ศูนย์กลาง ที่ว่านี้ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งและก็อยู่ทั้งข้างในโครงสร้างและข้างนอกโครงสร้างในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ ในขณะที่ ศูนย์กลาง เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้าง ศูนย์กลาง ได้ทำหน้าที่เป็นตัวควบคุมกำกับ ส่วนต่างๆ ของโครงสร้างแต่ตัวมันเองกลับอยู่พ้นไปจากการควบคุมกำกับนั้น ความเป็น ศูนย์กลาง จึงไม่ได้หมายถึงตำแหน่งตรงกลางของโครงสร้าง (center is not the center)

นอกจากนี้ ศูนย์กลาง เป็นสิ่งที่ไม่สามารถถูกนำเสนอด้วยภาพแสดงแทนใดๆ ได้ เป็นตัวถูกหมายที่เราไม่อาจอ้างอิงแทนที่ด้วยสัญญะใดๆ (transcendental signified) เพราะ ศูนย์กลาง เป็นสิ่งที่มีอยู่ แต่ ไม่ปรากฎอยู่ (absence) ในระบบหรือโครงสร้าง ศูนย์กลาง จึงเป็นสิ่งที่เราไม่มีทางคว้าจับมันได้เลย เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราพยายามจะคว้าจับ มันก็ไหลเลื่อนเคลื่อนไปตลอดเวลาหรืออยู่ในสภาพของการเล่นอย่างไม่รู้จบ (come in to play) สิ่งที่เราทำได้มีเพียงการมองหาร่องรอย (trace) ของมันที่ปรากฎอยู่ในส่วนต่างๆ เท่านั้น การ เล่น ในโครงสร้างจึงเป็นสิ่งที่ขัดขวางการปรากฎอยู่ (แต่การเล่นในที่นี้ก็เป็นการ เล่น ทั้งกับการปรากฎและไม่ปรากฎอยู่ (play of absence and presence) การ เล่น จึงเป็นสิ่งที่มีอยู่ก่อนการปรากฎและไม่ปรากฎอยู่ ขณะที่การดำรงอยู่โดยตัวของมันเองก็คือการ เล่น ของทั้งการปรากฎและไม่ปรากฎอยู่) [4] อีกทั้งการปรากฎอยู่ของ ศูนย์กลาง จะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในสภาวะของการคงที่ (stability) เท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะการ เล่น ของส่วนต่างๆ ดำเนินอยู่ตลอดเวลา

เดอร์ริดาชี้ให้เห็นว่า โครงสร้าง เป็นคำและกรอบคิด (word and concept) ที่มีความเก่าแก่มากพอๆ กับความเป็นศาสตร์และปรัชญาตะวันตก อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายแห่งรากของภาษาและความคิดซึ่งง่ายมากที่จะทำให้เราหลงลืมในความเป็นอุปลักษณ์ (metaphorical character) ของมัน โดยเฉพาะ ความเป็นโครงสร้างของโครงสร้าง (structurality of structure) ที่ถูกทำให้ดูเป็นกลาง (neutralized) ด้วยการทึกทักความเป็นศูนย์กลาง การปรากฎอยู่และการเป็นแหล่งกำเนิดที่ตายตัวภายใต้ระบบของภาษาและความคิด ศูนย์กลาง จึงเป็นเพียงอุปลักษณ์หนึ่งที่อยู่ภายในอุปลักษณ์ของ โครงสร้าง และถึงกับกล่าวว่า ประวัติศาสตร์ของความรู้ที่เป็นอภิปรัชญาทั้งหลายอย่างเช่นประวัติศาสตร์ตะวันตกก็คือประวัติศาสตร์ว่าด้วยอุปลักษณ์และอุปมา (“the history of metaphysics, like the history of the West, is the history of these metaphors and metonymies”) [5] เหล่านี้เป็นปัญหาสากลและสะท้อนภาวะที่มนุษย์จะไม่สามารถคิดได้เลย (unthinkable) หากปราศจากการทำให้มันแตกกระจายออก ทำให้ไม่ปรากฎหรือทำให้เห็นความเลื่อนไหล (rupture / disruption / absence / difference คำต่างๆ เหล่านี้คือพัฒนาการที่มาของคำว่า deconstruction หรือการรื้อสร้างของเดอร์ริดาในเวลาต่อมา) [6]

ปัญหาก็คือ เดอร์ริดาเห็นว่า มันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะ คิด หรือ พูดถึง ระบบและศูนย์กลางโดยไม่ไปสร้างตัวระบบหรือความเป็น ศูนย์กลาง ใหม่ขึ้นมา เพราะทุกครั้งที่เราพยายามจะรื้อสร้าง (deconstruct) ระบบด้วยการพูดถึงสัญญะต่างๆ อย่างเสมอภาค แต่เราก็กลับลื่นไถลเข้าไปในระบบนั้นอีก ทั้งนี้ก็เพราะเราจำเป็นต้องพูดผ่านคำที่เป็นสัญญะซึ่งมีความหมายที่ถูกกำหนด (assume) ตายตัวอยู่ เดอร์ริดาจึงเห็นว่า การมอง ศูนย์กลาง แบบหยุดนิ่งของ Levi-Strauss มีลักษณะเป็นการหวนหาสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ (nostalgia) เพราะนั่นเท่ากับการแยก ศูนย์กลาง ออกจากธรรมชาติที่มันเป็นด้วยกระบวนการทำซ้ำและแทนที่ (repeatability and substitutability) เท่านั้น ขณะเดียวกันระบบก็อยู่บนสัญญะที่อยู่บนฐานของภาษา ซึ่งสัญญะในระบบของภาษาศาสตร์ไม่เคยที่จะสามารถบ่งชี้สิ่งที่มันต้องการพูดถึงได้อย่างแท้จริงเลย [7]

โดยนัยนี้ การพูดว่า ศูนย์กลาง ปรากฎอยู่จึงเป็นการสร้างความจริงทางอภิปรัชญา (metaphysics) อย่างหนึ่ง ทั้งที่จริงแล้วการดำรงอยู่อย่างไม่ปรากฎอยู่ของมันทำให้ทุกๆ สิ่งที่เราพยายามคว้าจับหรือพูดถึงมันกลายเป็นเพียง วาทกรรม (discourse) ของ โครงสร้าง เท่านั้น เช่นเดียวกับเมื่อ Levi-Strauss นำกรอบคิดชาติพันธุ์วิทยา (ethnology) มาเป็นที่ตั้งในการอธิบายโครงสร้างทางวัฒนธรรมของคนพื้นเมืองก็กลับเป็นวาทกรรมที่อยู่บนฐานคิดเรื่องการเอาคุณค่าทางวัฒนธรรมของตัวเองมาเป็นที่ตั้งไปในทันที (ethnocentrism) ในประเด็นนี้ เดอร์ริดาได้ชี้ให้เห็นการพยายามสร้างความจริงทางอภิปรัชญาของ Levi-Strauss เช่นในกรณีการแยกคู่ตรงข้ามระหว่าง ธรรมชาติ กับ วัฒนธรรม ในงานเขียนเรื่อง The Elementary Structures of Kinship (1949) ที่นิยามว่า ธรรมชาติ (natural) เป็นสิ่งสากล (universal) ที่เกิดขึ้นเหมือนๆ กันในทุกๆ ที่ (spontaneous) โดยไม่ขึ้นกับระบบทางวัฒนธรรมหรือบรรทัดฐาน (norm) ใดๆ ขณะที่วัฒนธรรม (culture) เป็นสิ่งที่ขึ้นต่อระบบบรรทัดฐานหรือการควบคุมทางสังคม ซึ่งมีความเฉพาะแตกต่างไปในแต่ละโครงสร้างสังคม

ในทางกลับกัน Levi-Strauss พูดถึงความวิปริต/ผิดแปลก (scandal) ในกรณีเกี่ยวกับการละเมิดข้อห้ามการมีเพศสัมพันธ์ในหมู่คนที่มีสายเลือดเดียวกัน (incest prohibition)  ที่ไม่สามารถจะจัดวางว่ามันเป็นอะไรกันแน่ระหว่างคู่ทั้งสอง เพราะ scandal เป็นสิ่งที่ถูกผลิตขึ้นบนฐานของ ศูนย์กลาง ที่พยายามจะควบคุมกำกับสังคม ขณะเดียวกัน ศูนย์กลาง ก็ไม่อาจที่จะเข้าไปควบคุมสิ่งที่เป็น scandal ได้ มันจึงเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เดอร์ริดาจึงสรุปว่า ข้อห้ามทางสังคม (taboo) ดังกล่าวจึงเป็นทั้งสิ่งสากลหรือเท่ากับ ธรรมชาติ และก็เป็นบรรทัดฐานให้คนปฏิบัติซึ่งก็คือ วัฒนธรรม ในเวลาเดียวกันด้วย ตัวอย่างนี้ทำให้เห็นว่าวิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามของมันได้สูญเสียไปและนำไปสู่การ เล่น ในรูปแบบหนึ่ง สะท้อนปัญหาของการพยายามแบ่งแยกสิ่งที่เป็นธรรมชาติกับวัฒนธรรมออกจากกันโดยไม่สนใจความจริงที่เป็นอยู่

อย่างไรก็ตาม Levi-Strauss ถือว่า นี่เป็นวิธีการหยิบยืมประโยชน์จากแนวคิดบางอย่างมาใช้ในการนำเสนอข้อเท็จจริงที่เขาเรียกว่า “bricolage” [8] แต่เดอร์ริดาวิจารณ์ว่า เป็นวิธีการเลือกใช้แนวคิดต่างๆ เพื่อนำเสนอความจริงแบบหนึ่งโดยไม่สนใจว่ามันจะยืนอยู่บนความจริง (truth) หรือไม่ “bricolage” จึงเป็นรูปหนึ่งของมายาคติ (mythopoetic) ไม่มีความเป็นเหตุเป็นผล (not rational) ขณะเดียวกัน “bricolage” เองก็มีลักษณะเป็นการ เล่น หรือเลื่อนไหลภายในโครงสร้างมากกว่าที่จะเป็น ระบบ อย่างที่ Levi-Strauss ใช้ แล้วก็อาจพูดได้เช่นกันว่า วาทกรรมต่างๆ ล้วนแต่มีลักษณะเป็น “bricoleur” ด้วยทั้งสิ้น ในท้ายที่สุดแล้ว Levi-Strauss ได้แสดงความยอมรับในประเด็นนี้ผ่านงานเขียนอีกเรื่องคือ The Raw and The Cooked (1964) โดยบอกว่า “bricolage” เป็นชนิดของมายาคติในตัวของมันเองแบบหนึ่ง ไปๆ มาๆ แล้ว งานชาติพันธุ์วิทยาของ Levi-Strauss จึงมีลักษณะเป็นโวหาร (rhetoric) มากพอๆ กับที่งานทางปรัชญามีลักษณะเป็นวรรณกรรม (literature) นั่นเอง [9]

เดอร์ริดายังวิจารณ์ว่า ภาพรวบยอด (totalization) ในความเป็น โครงสร้าง ของ Levi-Strauss เป็นความปรารถนาต่อสิ่งที่เป็น ระบบ ทฤษฎี และ ปรัชญา ที่สามารถนำมาอธิบายได้กับทุกๆ สิ่ง ในความเห็นของเดอร์ริดา ภาพรวบยอดนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไม่มีแนวคิดทฤษฎีอะไรที่จะมีความสมบูรณ์จนสามารถใช้อธิบายทุกสิ่งทุกอย่างได้ เพราะความจริง (truth) เป็นสิ่งที่กว้างใหญ่เกินกว่าเราจะสามารถพูดได้หมด ในขณะที่ส่วนต่างๆ ของ โครงสร้าง ก็ไม่ได้ดำรงอยู่อย่างแน่นอนกับที่ หากแต่เต็มไปด้วยการ เล่น อยู่ตลอดเวลา [10] นอกจากนี้ ความคิดเรื่องภาพรวบยอดก็มีความลักลั่น/ขัดแย้งภายในตัวของมันเอง (paradoxical) กล่าวคือ ภาพรวบยอดจำเป็นต้องมี ศูนย์กลาง ไม่เช่นนั้นมันก็จะไม่อาจเป็นภาพรวบยอดได้ หากแต่กลายเป็นระบบ (system) แบบอื่นไป ขณะที่ โครงสร้าง ก็ต้องวางอยู่บนระบบที่มีแหล่งกำเนิดและเป้าหมาย (an origin and a goal) แหล่งกำเนิดและเป้าหมายก็ทำการปรับโครงสร้างให้สอดคล้องกัน ไม่เช่นนั้นความเป็น โครงสร้าง ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้

ความเป็น โครงสร้าง นั้นต้องการ ศูนย์กลาง ซึ่งกอปรระบบขึ้นมาจากจุดยืนของแหล่งกำเนิดและเป้าหมายของมัน อย่างไรก็ตาม แหล่งกำเนิดและเป้าหมายนี้ก็มีความขัดแย้งในตัวของมันเอง นั่นคือ ศูนย์กลาง ต้องเป็นทั้งส่วนหนึ่งและส่วนที่แยกออกจากระบบ เพราะ ศูนย์กลาง ไม่สามารถที่จะมีความเป็น ศูนย์กลาง ได้จนกว่าเราจะแยกมันออกจากศูนย์กลาง นี้จึงเป็นความกำกวมว่า ศูนย์กลาง เป็นส่วนของระบบที่มันปรับให้สอดคล้องหรือไม่ และอาจเป็นได้ว่า ศูนย์กลาง เป็นได้แค่เพียงการปรากฎอยู่อย่างสมบูรณ์ (complete presence) ในระบบภายใต้สถานการณ์ที่ถูกจำกัด (แต่ก็ไม่ใช่ full presence) หรือเป็นเพียงสิ่งที่มนุษย์ไม่มีวันจะเข้าถึงมันได้ซึ่งเดอร์ริดาเรียกว่า “eschatology” [11] ทั้งหมดนี้คือความลักลั่น/ขัดแย้ง (paradoxical) ที่เมื่อ โครงสร้าง ถูกนำเสนอออกมาเมื่อใดก็กลับเป็นการ รื้อโครงสร้าง (a destruction of themselves) โดยตัวของมันเองเสมอ ในทัศนะของเดอร์ริดา การสร้างกรอบความรู้ (episteme) ของโครงสร้างนิยมจึงเป็นวิธีการทางอภิปรัชญาแบบหนึ่งเท่านั้น

ในความเห็นของผู้เรียบเรียง ข้อเสนอของเดอร์ริดาเป็นสิ่งที่ท้าทายแนวความคิดโครงสร้างนิยมที่เป็นหลักใหญ่ในการเรียนรู้ซึ่งสอดแทรกแฝงฝังอยู่ในแขนงศาสตร์วิชาต่างๆ ที่เราร่ำเรียนกันมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย จนดูเหมือนกับว่านับแต่หัวสมองของเราเริ่มต้นที่จะจดจำและแยกแยะสิ่งต่างๆ ได้ โครงสร้างของคู่ตรงข้ามก็ฝังแฝงอยู่ในหัวเราเสมอ ไม่ว่าจะสีขาวกับสีดำ ความดีกับความเลว สกปรกกับสะอาด ฯลฯ จนเป็นเรื่องยากแสนยากหรือเป็นไปไม่ได้ที่เราจะสามารถหลุดพ้นออกจากระบบคิดดังกล่าวนี้

แม้ในการทำความเข้าใจและจินตนาการตามความคิดและข้อเสนอของเดอร์ริดาก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาถ้อยคำมาอธิบายสิ่งที่เขาพูดถึง เพราะเมื่อใดที่ผู้เรียบเรียงพยายามจะอธิบายถึงการดำรงอยู่ของ ศูนย์กลาง ของเดอรริดา ก็รู้สึกราวกับตนเองได้พลัดตกลงไปในกับดักของโครงสร้างอยู่ร่ำไป โดยเฉพาะเป็นสิ่งยากยิ่งที่จะสามารถ เห็นถึง ภาพของ ศูนย์กลาง ที่ไม่ปรากฎอยู่ ทว่ามีอำนาจคอยกำกับส่วนต่างๆ ภายในโครงสร้าง นั่นเพราะเรามักถูกสอนให้คิดถึงองค์ประกอบที่ต้องมีรูปลักษณ์ ขอบเขตหรือตำแหน่งแห่งที่ที่แน่นอน นี่เองที่น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เดอร์ริดาบอกว่า คิดไม่ได้  ซึ่งช่วยให้ผู้เรียบเรียงเห็นว่า สิ่งแรกของการทำความเข้าใจแนวคิดการรื้อสร้าง (deconstruction) และก่อนที่จะนำมันไปใช้อย่างเท่าทันความคิดตัวเองก็คือ เราคงต้องรื้อสร้างฐานคิดหรือความเชื่อเดิมที่เรามีอยู่เป็นเบื้องแรกด้วยการ ตั้งคำถาม ต่อสิ่งที่เราเคยเชื่อหรือยึดถือ เพื่อเริ่มต้นไปสู่การคิดถึงสิ่งที่ คิดไม่ได้ จึงจะสามารถเห็นถึงกระบวนการ เล่น ภายในโครงสร้างที่ดำรงอยู่

กระนั้น แม้เราจะไม่มีทางคว้าจับความเป็น ศูนย์กลาง ได้เลย ทั้งนี้เพราะ ศูนย์กลาง ดูจะไม่ใช่อะไรที่มีที่ทางอยู่อย่างแน่นอน (position) หากเป็นแต่ตัวแสดงหน้าที่ (function) ของโครงสร้าง อย่างไรก็ตาม ความเป็น ศูนย์กลาง ก็น่าจะแสดงร่องรอยอย่างชัดเจน ณ จุดหนึ่งของพื้นที่และเวลา (space & time) ที่สภาพการณ์ (event) ของโครงสร้างสันดาปการทำงานอย่างสมบูรณ์ที่สุด (ในเชิงรูปธรรมอาจได้แก่ ณ ขณะเวลาและสถานที่ซึ่งความขัดแย้งและการต่อต้านต่อรองได้แสดงปฏิกิริยาหรือทำงานอย่างเข้มข้น) ขณะเดียวกัน การ เล่น ภายในโครงสร้างทำให้ ศูนย์กลาง สามารถเลื่อนไหล ถ่ายเทหรือมีการเข้าแทนที่ทางอำนาจได้เรื่อยๆ เช่นนั้นก็น่าจะหมายความด้วยว่า ความเป็น ศูนย์กลาง สามารถเกิดขึ้นได้หลายอันในเวลาเดียวกัน อย่างน้อยก็คือความเป็น ศูนย์กลาง ภายในบริบทและขอบเขตที่มันถูกพูดถึงหรือกำลังทำงานด้วย เช่นเดียวกับที่ประเด็นในเรื่องหนึ่งอาจมีหลายวาทกรรมที่ต่างฝ่ายต่างเป็นศูนย์กลางให้แก่อุดมการณ์ที่มันเชิดชู

ปัญหาก็คือ ทุกครั้งที่คนพยายามจะอ้างอิงถึงความเป็น ศูนย์กลาง มันก็ลื่นไหลจากเราไป สิ่งที่เราพูดจึงไม่ใช่ความจริงสัมบูรณ์ (absolute truth) กลับกลายเป็น วาทกรรม ไปเสียหมด เช่นนั้นแล้วท่ามกลางวาทกรรมต่างๆ เราจะสามารถใช้สิ่งใดเป็นหลักทางสังคมที่จะบอกว่า วาทกรรมใดที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุดหรือใกล้เคียงกับความเป็นกลางที่สุด เพราะในเมื่อทุกฝ่ายต่างก็อ้างความเป็นวาทกรรมได้มากพอๆ กัน ท้ายที่สุดก็น่าจะไม่พ้น อำนาจ ในการโน้มนำหรือโน้มน้าวให้คนส่วนใหญ่เชื่อถือฐานะการเข้าใกล้ความจริงมากที่สุดของมันนั่นเอง ปัญหาดังกล่าวทำให้การรื้อสร้างคงเป็นสิ่งที่ไม่ทางรู้จบกับทั้งมีความผูกโยงกับอำนาจใดอำนาจหนึ่งอยู่ตลอดเวลา จนแล้วจนรอดจึงมีแต่เพียงการพิสูจน์ ต่อรองระหว่างกัน

ปัญหาประการสุดท้ายที่อาจฟังดูเป็นนิทานไม่รู้จบ (the neverending story) ก็คือ การ พูด หรือ อธิบาย ในแบบสำนักหลังโครงสร้างนิยมเองจะสามารถพ้นไปจากตรรกะของวิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามได้หรือไม่? เพราะแม้ที่ผ่านมา การสร้างข้อถกเถียงหรือรื้อถอนความคิดเดิมโดยสำนักหลังโครงสร้างนิยมเองก็ ยังคง และ จำเป็น ต้องกระทำผ่านการวิพากษ์งานเขียนหรือแนวคิดโครงสร้างนิยมเป็นพื้นฐาน และแม้เราจะยอมรับ/รับรู้ถึงความหลากเลื่อนหรือเลื่อนไหลอันเกิดจากกระบวนการ เล่น ภายในโครงสร้างเท่าไร แต่เราก็ยังคงยืนอยู่ระหว่างฟากทั้งสองของความหลากเลื่อนนั้น เช่นนั้นแล้วจะต่างอะไรกับ สะพานแขวน ที่แม้เราไม่อาจมองเห็นสุดปลายสะพานทั้งสองด้าน แต่ก็รับรู้ได้ถึงสองฟากฝั่งที่อยู่คนละด้านของมัน ขณะเดียวกันก็ไม่อาจมีฟากหนึ่งฟากใดดำรงอยู่โดยปราศจากอีกฟากหนึ่งได้ เพราะหากทำเช่นนั้นสะพานแขวนก็คงจะมิใช่สะพานแขวนอย่างแน่นอน


[1] บทความนี้ปรับปรุงจากรายงานนำเสนอในวิชาปรัชญามนุษยศาสตร์ (IG 810) ภาค 2/2551 หลักสูตรดุษฎีบัณฑิต วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เรียบเรียงใคร่ขอขอบพระคุณ รศ. ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ที่ได้กรุณาแก้ไขบางถ้อยคำที่คลาดเคลื่อน และ ผศ.ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ ที่กรุณาไขความกระจ่างในบางประเด็นแก่ผู้เรียบเรียง รวมทั้งขอขอบคุณ คุณรัตนไชย สราธิวัฒน์ประไพ ที่กรุณาแนะนำให้อ่านบทความของ Mary Clages อนึ่ง ความบกพร่องผิดพลาดใดๆ ในงานชิ้นนี้ล้วนแล้วเป็นความรับผิดชอบของผู้เรียบเรียงทั้งสิ้น
[2] นักศึกษาปริญญาเอก วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
[3] Davis, Robert Con and Schleifer, Ronald (eds). Contemporary Literary Criticism: Literary and Cultural studies. New York: Longman and White Plains. pp.229-248.
[4] Derrida, Jacques. (2002). Structure, Sign, and Play in the Discourse of Human Sciences. In Derrida, Jacques. Writing and Difference. (pp.351-370). Translated, with an introduction and additional notes by Bass, Alan. London and New York: Routledge. pp.369.
[5] Derrida, Ibid. pp.353.
[6] Payne, Michael. (1993). Reading Theory: An Introduction to Lacan, Derrida, and Kristeva. Massachusetts: Blackwell Publisher. pp.12-13.
[7] Stocker, Barry. (2006). Routledge Philosophy Guidebook to Derrida on Deconstruction. London and New York: Routledge. pp.116.
[8] ในบทความนี้ รศ. ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ได้อธิบายเพิ่มเติมแก่ผู้เรียบเรียงว่า “bricolage” มีความหมายในลักษณะ ไทยประดิษฐ์ อันหมายถึง การนำสิ่งต่างๆ มาผสมผสานขึ้นใหม่ คล้ายกับช่างไทยที่มักใช้วิธีการถอดนั่นเติมนี่ อย่างไรก็ตาม ผู้เรียบเรียงยังคงไม่แน่ใจว่า ไทยประดิษฐ์ จะเป็นถ้อยคำที่สื่อได้อย่างเหมาะเจาะลงตัวทั้งในวิธีคิดแบบตะวันตกและในสังคมไทยแล้วหรือไม่ จึงใช้ในลักษณะคำทับศัพท์ไปก่อน
[9] Payne, Michael. Ibid. pp.16-17.
[10] Clages, Mary. (1997). J.Derrida: Structure, Sign, and Play in the Discourse of Human Sciences: A Reading Guide., University of Colorado at Boulder. Fall Semester. In http://www/. colorado. edu/English/ courses/Engl2012Klages/ index.html.
[11] Stocker, Barry. Ibid. pp.114.

1 ความคิดเห็น:

  1. อัฐมาจ๊ะ

    แวะมาบ่นว่าถูกแซงคิวหน่ะจ๊ะ คราวนี้ส่งงานได้รวดเร็วกว่ากำหนด แสดงว่ามีพัฒนาการด้านความไวเพิ่มขึ้นอย่างมาก (แซวเล่นหน่ะจ๊ะ) ตอนแรกปูกะว่าจะแกล้งทำมึนๆให้ผ่านคิวปูไปเลย แต่ก็ไม่กล้า เลยขอ post ลงวันเดียวกันนี่เลยละกันนะ เพื่อไม่ให้เสียประวัติอันน่าเชื่อถือหน่ะ 555 หวังว่าจูจะสบายดีนะคะ

    ปู

    ตอบลบ