วันอังคารที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ชุดความรู้ในพิพิธภัณฑ์ไทย : บททดลองนำเสนอ



เบญจวรรณ นาราสัจจ์

ความเป็นมา

“พิพิธภัณฑ์” เป็นคำที่สื่อถึงสถานที่เก็บรวบรวมและจัดแสดงวัตถุ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวบางอย่างที่เป็น “ความรู้” ให้ผู้มาเยี่ยมชมได้รับรู้ตามความประสงค์ของผู้จัด พิพิธภัณฑ์จึงมีหลากหลายประเภท กระนั้น พิพิธภัณฑ์ที่จัดได้ว่าเป็นภาพลักษณ์หลักของพิพิธภัณฑ์ในการรับรู้ของสังคมไทย คือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมศิลปากร และมีลักษณะเด่นในการเป็นแหล่งเก็บรวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ เพื่อแสดงความรู้ด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์หรืออดีตทางวัฒนธรรมของชาติ เป็นสำคัญ แม้ในระยะหลังได้มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์โดยหน่วยงาน/องค์กรอื่น เอกชน และคนท้องถิ่นต่างๆ ที่เพิ่มความหลากหลายของเนื้อหา เช่น กิจการของหน่วยงาน,อุปกรณ์การทำงานเฉพาะอาชีพ,อัญมณีและเครื่องประดับ ฯลฯ แต่เรื่องราวหลักในการนำเสนอของพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ ยังคงเป็นอดีตทางวัฒนธรรมของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเช่นกัน โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ซึ่ง “มีความโดดเด่นอย่างมากในฐานะที่เป็นคลังที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก มีวัตถุสิ่งของที่มีค่าและสามารถจะเป็นสะพานก่อให้เกิดการสนทนากับโลกของท้องถิ่น ส่วนใหญ่แล้วเป็นโลกของอดีต” (ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล และคณะ, 2547 : 74)

จากการสำรวจพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ของ ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล และคณะ (2547) พบว่า การเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในประเทศไทยสัมพันธ์เกี่ยวโยงอย่างแนบแน่นกับบริบททางสังคมในหลายระดับ และการเปลี่ยนแปลงแนวคิดและการรับรู้เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น รวมถึงความตระหนักถึงวิถีชีวิตในอดีตที่ผ่านเลยไป คุณค่าของโบราณวัตถุหรือของเก่าแก่ในทัศนะของคนท้องถิ่น ทำให้มีการก่อตัวของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหลายระยะ ได้แก่

(1) การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ในวัดสำคัญตามหัวเมืองต่างๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสมุหเทศาภิบาลสมัยรัชกาลที่ 5 ตามแนวคิดเรื่องการสะสมอนุรักษ์สมบัติทางศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงไว้ในแผ่นดิน มิให้สูญสลายหายไป โดยมีการคัดเลือกของชิ้นสำคัญส่วนหนึ่งไปไว้ที่ส่วนกลางแล้วส่วนที่เหลือเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์วัด ซึ่งต่อมามีบางแห่งได้รับการประกาศเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เช่น พระปฐมเจดีย์พิพิธภัณฑสถาน จังหวัดนครปฐม (พ.ศ.2454), พิพิธภัณฑ์วัดพระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก (พ.ศ.2480) เป็นต้น

แนวคิดสำคัญที่ต่อมาแพร่กระจายไปยังวัดต่างๆ จำนวนมาก คือการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เน้นการเก็บรวบรวม “ของมีค่าและของแปลก” มากกว่าคำนึงถึงแนวทางการจัดแสดง ต่อมาบางช่วงเวลาได้รับการสนับสนุนจากกรมการศาสนาให้มีการพัฒนาวัดเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนหรือศูนย์กลางวัฒนธรรมของท้องถิ่น เช่น พิพิธภัณฑ์วัดมหาชัย จังหวัดมหาสารคาม เป็นต้น

(2) ราวต้นทศวรรษ 2520 มีการเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในสถานศึกษาต่างๆ ในนาม “ศูนย์วัฒนธรรม” จากนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) ซึ่งพยายามนิยามความหมายและหน้าที่ของศูนย์วัฒนธรรมให้แตกต่างไปจากพิพิธภัณฑสถานของรัฐที่เป็นเสมือนคลังสะสมของ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่หยุดนิ่ง ไม่มีชีวิต แต่กลับปรากฏในกาลต่อมาว่าไม่สามารถพัฒนาตัวเองอย่างเต็มที่เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ (ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล, 2547 : 35)

(3) ราวกลางปี พ.ศ.2530 มีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวงานด้านพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เป็นกลไกนอกภาครัฐคือ ชาวบ้านและนักวิชาการ ที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มของ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม และมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ที่เข้าไปมีส่วนกระตุ้นและช่วยเหลือชาวบ้านในการตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อให้คนในท้องถิ่นได้รู้จักตนเอง เน้นประวัติศาสตร์สังคมและชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนในท้องถิ่นเป็นหลัก เช่น พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง จังหวัดราชบุรี (พ.ศ.2535), พิพิธภัณฑ์วัดจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ (พ.ศ.2538), พิพิธภัณฑ์เขายี่สาร จังหวัดสมุทรสงคราม (พ.ศ. 2539) เป็นต้น ซึ่ง ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล (2547 : 54) เรียกว่า “แนวสร้างสำนึกท้องถิ่น”

ตั้งแต่ พ.ศ.2542 เป็นต้นมา รศ.สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และโครงการโบราณคดีชุมชน ได้สนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ในพื้นที่หลุมขุดค้นทางโบราณคดี ตลอดจนการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นที่ต้องการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์จากโบราณวัตถุสำคัญที่มีอยู่ เช่น พิพิธภัณฑ์เฮือนบ้านสวกแสนชื่น(และเตาเผาโบราณ) จังหวัดน่าน (พ.ศ.2544), พิพิธภัณฑ์บ้านนาซาวสามัคคี จังหวัดน่าน (พ.ศ.2545) โดยมีจุดเน้นในการใช้กระบวนการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนเป็นกระบวนการพัฒนาชุมชน หรือเรียกว่า “แนวพิพิธภัณฑ์บำบัด” (สายันต์ ไพรชาญจิตร์, 2550 : 271)

(4) ตั้งแต่ทศวรรษ 2540 ที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล เป็นต้น หันมาสนับสนุนการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตและสร้างประโยชน์จากการท่องเที่ยว เช่น พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านละงู จังหวัดสตูล, พิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์ จังหวัดสงขลา เป็นต้น และมีโครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2545 อันเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) มูลนิธิชุมชนไท สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายองค์กรชุมชนเมือง ซึ่งส่งเสริมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในฐานะองค์ประกอบหนึ่งของเมืองน่าอยู่ เช่น พิพิธภัณฑ์วัดเกตุการาม จังหวัดเชียงใหม่, พิพิธภัณฑ์ชุมชน อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น อันอาจเรียกรวมกันว่าเป็นการสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็น “แหล่งเรียนรู้” ซึ่งพิพิธภัณฑ์จังหวัดนนทบุรี ก็จัดเข้าข่ายนี้ด้วย

ความแตกต่างในแง่จุดกำเนิดและกลุ่มผู้ให้การสนับสนุนย่อมมีส่วนสำคัญในการสร้างความแตกต่างทั้งด้านแนวคิดของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแต่ละแห่ง และการจัดแสดงที่ปรากฏ เนื่องจากการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ไม่ว่าแบบใด ย่อมต้องเป็นกระบวนการจัดการ “ความรู้” โดยการคัดเลือกว่าจะนำเนื้อหาใดมาจัดแสดง มีประเด็นใดเป็นประเด็นหลัก ประเด็นรอง ซึ่งลำดับความสำคัญของความรู้มักมีอุดมการณ์บางอย่างแฝงอยู่ อันอาจเป็นที่รับรู้หรือไม่ก็ตามในระหว่างการเข้าชม ที่สำคัญคือการเลือกจัดแสดงชุดความรู้ที่เหมือนหรือแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมแล้ว ย่อมสะท้อนถึงปฏิสัมพันธ์ หรืออาจเรียกว่าเป็นการ “สนทนา” กับพิพิธภัณฑ์เหล่านั้นผ่านปฏิบัติการของพิพิธภัณฑ์ที่จัดตั้งขึ้นก่อน

จากสมมติฐานว่าบทสนทนาดังกล่าว เริ่มต้นที่การนำเสนอของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งสามารถก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้ด้วยการนำเสนอผ่านพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกลุ่มต่างๆ ขณะเดียวกันก็มีการตอบสนองปฏิกิริยาเหล่านั้นผ่านทางการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในที่อื่นๆ รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ (คลังกลาง) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก เป็นแห่งล่าสุด จึงทำการการศึกษาเปรียบเทียบการนำเสนอเรื่องราวในอดีตของสังคมไทย/ชุมชนท้องถิ่นผ่านการจัดแสดงของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และคลังกลาง กับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแต่ละแบบ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์วัด ได้แก่ พิพิธภัณฑ์วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม, พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง จังหวัดราชบุรี, พิพิธภัณฑ์เฮือนบ้านสวกแสนชื่น (และเตาเผาโบราณ) จังหวัดน่าน, และพิพิธภัณฑ์จังหวัดนนทบุรี เป็นหลัก

ข้อค้นพบ

จากการศึกษาเปรียบเทียบเรื่องราวในอดีตของสังคม/ชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับการนำเสนอผ่านการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ พบว่าชุดความรู้ที่พิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งใช้เป็นหลักในการนำเสนอมีทั้งส่วนที่คล้ายคลึงและแตกต่างกัน กล่าวคือ ชุดความรู้สำคัญที่เน้นความรู้ทางวิชาการยังคงอาศัยรากฐานการแบ่งยุคสมัยในอดีตของความรู้ทางโบราณคดี-ประวัติศาสตร์กระแสหลักที่สืบต่อมาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งใช้รูปแบบศิลปะเป็นเกณฑ์แบ่ง และเรียกตามชื่ออาณาจักรหรือเมืองสำคัญ เช่น ทวารวดี ลพบุรี ศรีวิชัย สุโขทัย เป็นต้น โดยมีความพยายามจัดแสดงโบราณวัตถุตามลำดับยุคและระบุหน่วยของเวลาชัดเจน ตลอดจนเน้นการเชื่อมโยงอดีตของท้องถิ่นสู่รากเหง้าที่เก่าที่สุดของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง และพิพิธภัณฑ์จังหวัดนนทบุรี(แม้ไม่มีโบราณวัตถุจัดแสดงก็ใช้ป้ายคำบรรยายแทน) ตรงกันข้าม พิพิธภัณฑ์เฮือนบ้านสวกแสนชื่นไม่แสดงความใส่ใจหลักฐานแสดงความเก่าแก่ที่สุดของพื้นที่ซึ่งเก่าแก่เกินกว่าจะเชื่อมโยงกับความรู้สึกเป็นเจ้าของหรือเห็นคุณค่าของคนปัจจุบันได้ จึงเน้นอดีตที่คนปัจจุบันสามารถรับรู้อย่างมีความหมายได้เป็นหลัก ส่วนพิพิธภัณฑ์วัดพระปฐมเจดีย์ มิได้ให้ความสำคัญกับการจำแนกโบราณวัตถุลำดับเวลาเลย กลับเน้นการจัดแสดงที่เชื่อมโยงกับศรัทธาและการรับรู้คุณค่าของวัตถุต่างๆ ตามโลกทัศน์พื้นบ้านเป็นหลัก

ขณะที่ความรู้ว่าด้วยประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งเน้นสามอาณาจักรของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยภายใต้พระปรีชาสามารถของกษัตริย์ อันสะท้อนอุดมการณ์ชาตินิยมแบบราชาชาตินิยมอย่างชัดเจนในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถูกโต้แย้งด้วยพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วงที่เน้นความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่ถูกกำหนดอัตลักษณ์ด้วยวัฒนธรรม อันแสดงถึงอุดมการณ์ชาตินิยมที่เน้นความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม อันประกอบขึ้นจากท้องถิ่นจำนวนมาก ส่วนพิพิธภัณฑ์เฮือนบ้านสวกแสนชื่นฯ แสดงความเห็นแย้งการกำหนดระดับของพิพิธภัณฑ์ “ท้องถิ่น” ตามแนวสร้างสำนึกท้องถิ่น ด้วยการนำเสนอพิพิธภัณฑ์ระดับชุมชน ที่มีฐานการดำเนินงานในหมู่บ้านเดียว และนำเสนอชุดความรู้เฉพาะประเด็น ได้แก่ เตาโบราณและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ดั้งเดิมของชุมชน โดยอาศัยการนำเสนอผ่านการนำชมของวิทยาการในชุมชน สะท้อนถึงชุดความรู้และอุดมการณ์วัฒนธรรมชุมชน ซึ่งสอดคล้องด้วยดีกับแนวทางการพัฒนาพิพิธภัณฑ์เพื่อการพัฒนาชุมชน ขณะที่พิพิธภัณฑ์จังหวัดนนทบุรี ยังผลิตซ้ำอุดมการณ์ชาตินิยม ที่เน้นความสำคัญของผู้ปกครอง และฐานะของท้องถิ่นในการเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย ทำหน้าที่ต่างๆ อย่างผู้ใต้ปกครองที่ดี เช่น เชื่อฟังคำสั่งในการให้เปลี่ยนหน่วยงานที่มาตั้งในอาคาร คอยสนับสนุนช่วยเหลือเมื่อส่วนกลางเกิดปัญหาดังกรณีการให้โรงพยาบาลศิริราชมาใช้เป็นที่ทำการในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นต้น

ถ้าพิจารณาเปรียบเทียบกับแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทย จะพบว่าพิพิธภัณฑ์ที่ศึกษาอาจจัดเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทยอย่างเป็นวิชาการ ตั้งแต่ทศวรรษ 2500 ที่การขยายตัวด้านเศรษฐกิจสังคมและการศึกษา มีส่วนกระตุ้นให้คนในท้องถิ่นสนใจศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของท้องถิ่นตนเอง อันเป็นการสืบทอดความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นทางด้านต่างๆ จากปราชญ์รุ่นเก่าให้เผยแพร่ไปสู่สังคมในระดับที่กว้างขึ้น ทั้งโดยการพิมพ์เผยแพร่และการนำเสนอในรูปแบบภาษาวิชาการ เช่น การเขียนความเรียงให้อ่านเข้าใจง่ายตามแบบสมัยใหม่ การจัดหมวดหมู่หัวข้อให้เป็นระบบ เป็นต้น โดยการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกระแสหลักที่เกิดขึ้นและสืบเนื่องต่อกันมาอย่างเหนียวแน่นจนปัจจุบัน รวมถึงได้รับความสนใจเผยแพร่อย่างต่อเนื่องจากหน่วยราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น คือการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภายใต้กรอบประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งปัจจุบันเน้นการพัฒนาวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เป็นสินค้า(OTOP, แหล่งท่องเที่ยว) ดังปรากฏชัดในห้องจัดแสดงผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด ของพิพิธภัณฑ์จังหวัดนนทบุรี ซึ่งมีองค์กรปกครองท้องถิ่น อย่างเทศบาลนนทบุรีเป็นเจ้าของ

นอกจากนั้นได้มีพัฒนาการของแนวงานศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหลากหลาย เช่น
- แนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดีของกลุ่ม รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูลหลักฐานทางโบราณคดี ตำนานท้องถิ่น คำบอกเล่าของชาวบ้าน นำมาตีความและสังเคราะห์ภายใต้กรอบคิดทางวิชาการโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และมานุษยวิทยา ทำให้เกิดแนวคำอธิบายอดีตของท้องถิ่นที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมอันเป็นรากฐานอย่างแท้จริงให้กับอาณาจักรไทย (ยงยุทธ ชูแว่น, 2552 : 116) อันจัดเป็นอุดมการณ์ชาตินิยมแบบใหม่ที่เน้นพหุวัฒนธรรม สะท้อนชัดเจนในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง

- แนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรมชุมชน อันเป็นการศึกษาแบบแผนการดำเนินชีวิตของชุมชนหมู่บ้านในอดีต ด้านการทำมาหากิน ความสัมพันธ์ทางสังคมการเมือง ความเชื่อและภูมิปัญญา โดยมักแสดงให้เห็นถึงความพอเพียง ความมีน้ำใจ ความผสมผสานกลมกลืนในชุมชน ตลอดจนภูมิปัญญาต่างๆ ว่าเป็นคุณค่าดั้งเดิมของไทยนั้นได้มีอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน(ยงยุทธ ชูแว่น, 2552 : 165-169) สะท้อนให้เห็นในพิพิธภัณฑ์เฮือนบ้านสวกแสนชื่น ที่เลือกสร้างเฮือนโบราณและจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในวิถีชีวิตการผลิตแบบดั้งเดิมเป็นอนุสรณ์ของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบต่อจากบรรพบุรุษแต่กำลังหายไป ซึ่งสามารถดึงกลับมาปรับใช้กับปัจจุบันในนามของ “เศรษฐกิจพอเพียง” ได้ (อุษณีษ์ ยุทธพงษ์ธาดา, 2549 : 142-144)

ทั้งนี้ หากมองในแง่ที่พิพิธภัณฑ์ส่วนหนึ่งเป็นปฏิบัติการที่เชื่อมต่อกระแสการประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่มุ่งหมายให้อุดมการณ์บางอย่างเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ในสังคม จะพบว่าไม่น่าแปลกใจที่พิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งต้องนำเสนอเรื่องราวอย่างมีโครงเรื่องชัดเจน มีจุดเด่น(highlight) ของการจัดแสดง รวมทั้งเน้นการสร้างความเพลิดเพลินให้กับผู้เข้าชมด้วยการจัดแสดงในอาคารที่โปร่ง อากาศถ่ายเทได้ดี หรือติดเครื่องปรับอากาศ ใช้สื่อสมัยใหม่ช่วยดึงดูดความสนใจและให้ผู้เข้าชมมีปฏิสัมพันธ์ด้วยการกดปุ่ม หรือมีผู้นำชมคอยแนะนำ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้เข้าชมสามารถเสพชุดความรู้สำเร็จรูปที่เตรียมไว้อย่างสะดวกสบาย ภายในระยะเวลาอันสั้น จึงไม่มีเวลาที่จะขบคิดอย่างลึกซึ้ง อาจรับเอาอุดมการณ์ที่แฝงอยู่ไปด้วยอย่างง่ายดายโดยไม่รู้ตัว สอดคล้องกับสถานการณ์การศึกษาของไทยในปัจจุบันที่เน้นให้นักเรียนนักศึกษามีความรู้กว้างขวาง จนไม่มีเวลาศึกษาระดับลึกอย่างจริงจัง ทั้งยังมีแนวคิดในการจัดกระบวนการเรียนรู้ปัจจุบันที่เน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง อันนำไปสู่การที่ผู้สอนต้องจัดเตรียมตัวความรู้ให้อยู่ในลักษณะที่ดึงความสนใจให้ผู้เรียนอยากเรียนและเมื่อเรียนแล้วก็ต้องมีความรู้ที่ชัดเจน

นอกจากนี้ ความรู้สำเร็จรูปที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์หลายแห่งที่มุ่งนำเสนออย่างเป็นวิชาการ ยังมักตัดส่วนที่เป็น “ศรัทธา” ออก กล่าวคือ มีการจัดแสดงรูปเคารพทางศาสนาในฐานะวัตถุจัดแสดง ของพิพิธภัณฑ์ ปราศจากบรรยากาศในการเคารพสักการะ อันเป็นส่วนหนึ่งของการลดทอนความหมายเชิงจิตวิญญาณของสิ่งเหล่านั้น ทำให้ผู้เข้าชมได้รับความรู้ไปเพียงเสี้ยวเดียวของปรากฏการณ์จริงในสังคม ซึ่งไม่น่าจะเป็นการเรียนรู้ที่เพียงพอสำหรับการทำความเข้าใจสังคมวัฒนธรรม โดยเฉพาะในแง่ศาสนา

ในทางตรงข้าม การให้ผู้เรียนขวนขวายเข้าถึงความรู้ด้วยตนเอง อย่างพิพิธภัณฑ์วัดพระปฐมเจดีย์ที่มิได้มุ่งนำเสนอชุดความรู้ทางวิชาการ หรือส่วนจัดแสดง ประณีตศิลป์ และ ชาติพันธุ์วิทยา ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และ คลังกลาง ซึ่งไม่นำเสนอความรู้สำเร็จรูป มักถูกมองในแง่ลบต่อการเป็นแหล่งเรียนรู้ของสังคมไทย ทั้งที่ หากมองในเชิงคุณค่าที่เกิดจากความหลากหลายของชุดความรู้ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แล้ว การมีพิพิธภัณฑ์ที่ไม่แสดงความรู้สำเร็จรูปย่อมเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมให้เกิดการขวนขวายทำความเข้าใจด้วยตนเอง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่กระตุ้นให้เกิดความอยากรู้หรือตั้งคำถามจากสิ่งที่เห็นแล้วไปแสวงหาคำตอบซึ่งอาจมิได้มีเพียงคำตอบเดียว กระนั้น สำหรับพิพิธภัณฑ์วัดที่มีวัตถุสะสมจำนวนมากจัดแสดงเต็มพื้นที่จนแทบไม่มีทางเดิน ผู้เขียนเห็นด้วยกับข้อเสนอให้ขยับขยายไปสู่พื้นที่กว้างขวางขึ้น หากสามารถทำได้ เพื่อช่วยให้สามารถจัดแสดงได้อย่างเป็นระบบตามระบบคุณค่าพื้นบ้าน อันเป็นการเพิ่มคุณค่าในฐานะแหล่งเรียนรู้ที่มีบรรยากาศเอื้ออำนวยต่อผู้เข้าชม ดังตัวอย่างของพิพิธภัณฑ์วัดมหาชัย จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งจัดแสดงวัตถุเป็นกลุ่มๆ ตามความหมายแบบพื้นบ้าน เช่น ไหโบราณ เป็นไหใส่กระดูกคนตาย เปลือกหอยใหญ่แสดงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลเมื่อก่อนเป็นแผ่นดินอีสาน กลุ่มเทวรูปและพระพุทธรูปโบราณแสดงความสืบเนื่องในการนับถือพุทธศาสนา ฯลฯ ก็สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นได้ทั้งในแง่วัตถุและวิธีการให้ความหมายแบบพื้นบ้าน สำหรับนักเรียนนักศึกษาและผู้สนใจทั่วไปได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น ด้วยความหลากหลายของชุดความรู้เกี่ยวกับอดีตทางวัฒนธรรมของสังคม/ท้องถิ่นไทย ทั้งที่เป็นโลกทัศน์พื้นบ้าน และความรู้ทางวิชาการประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทยแนวต่างๆ ที่มีรากฐานจากอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน ปัจจุบัน การจัดพิพิธภัณฑ์เป็นช่องทางหนึ่งในการนำเสนอชุดความรู้เหล่านั้นอย่างเป็นรูปธรรมซึ่งยากที่หน่วยงาน/องค์กรใดจะผูกขาดให้เป็นไปเฉพาะในแนวทางที่เห็นชอบได้ จึงนับเป็นสถานการณ์อันเหมาะสมที่จะสนับสนุนให้เกิดเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับอุดมการณ์ที่แฝงฝังอยู่กับชุดความรู้ และความเป็นตัวตนที่กลุ่มผู้จัดพิพิธภัณฑ์ต้องการนำเสนอสู่สาธารณชน ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจในโลกทัศน์ และระบบคุณค่าที่ได้รับความสำคัญในปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่นำเสนอเรื่องเฉพาะทาง และพิพิธภัณฑ์ในแนวสร้างสำนึกท้องถิ่นที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดนอกกรอบเดิมอย่างมาก เช่น พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดศรีสุธาวาส จังหวัดเชียงราย ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ หากครอบคลุมพื้นที่วัดทั้งหมดรวมทั้งป่าไม้โดยรอบด้วย (วลัยลักษณ์ ทรงศิริ, 2551 : 70-71) เพื่อทำความเข้าใจชุดความรู้และอุดมการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงหรือยังคงเดิมแตกต่างเพียงรูปแบบการนำเสนอ

ประเด็นที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ชุดความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับท้องถิ่น ที่เกิดจากการศึกษาวิจัยคนในท้องถิ่นแล้วนำกลับไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นย่อมก่อให้เกิดการรับรู้และปรับระบบคิดเชิงคุณค่าต่อสิ่งต่างๆ ที่คนท้องถิ่นเคยมี เช่น จากความรู้ทางวิชาการที่เคยเป็นเรื่องไกลตัว กลับเป็นเรื่องราวว่าด้วยสิ่งที่คุ้นเคยในชีวิตประจำวัน จากของใช้ในครัวกลายเป็นวัตถุเพื่อการศึกษา เป็นต้น และน่าจะส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนโลกทัศน์ และระบบคุณค่าต่อสิ่งต่างๆ ของคนในท้องถิ่นซึ่งสัมพันธ์กับพิพิธภัณฑ์นั้น ซึ่งกระบวนการเรียนรู้แบบพื้นบ้านที่เคยถูกปฏิเสธจากโลกทัศน์ทางวิชาการในช่วงก่อนหน้า จะสามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงนี้และนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาระบบความรู้พื้นบ้านได้อย่างไร เป็นสิ่งที่น่าจะได้มีการศึกษาต่อไป

บรรณานุกรม

ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล และคณะ. 2547. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการวิจัย และพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นระยะที่ 1 สร้างเครือข่ายและสำรวจสภาพพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

ยงยุทธ ชูแว่น. 2551. ครึ่งศตวรรษแห่งการค้นหาและเส้นทางสู่อนาคตประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานสนับสนุนการวิจัย.

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. 2551. พิพิธภัณฑ์ของคนธรรมดา. กรุงเทพฯ : มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์.

สายันต์ ไพรชาญจิตร์. 2550. การจัดการทรัพยากรทางโบราณคดีในงานพัฒนาชุมชน. กรุงเทพฯ : โครงการโบราณคดีชุมชน.

อุษณีษ์ ยุทธพงษ์ธาดา. 2549. การจัดการความรู้แบบมีส่วนร่วมในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ชุมชน ศึกษาเปรียบเทียบพิพิธภัณฑ์เฮือนบ้านสวกแสนชื่น ตำบลสวก และพิพิธภัณฑ์วัดนาซาวสามัคคี ตำบลนาซาว อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน. วิทยานิพนธ์พัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น