วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

Erving Goffman : The Presentation of self in everyday life

กนกวรรณ สุทธิพร

ความเรียงฉบับนี้เป็นการสรุปผลงานของนักสังคมวิทยาชื่อ Erving Goffman ที่สนใจศึกษาปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในชีวิตประจำวัน โดยมีผลงานในหนังสือชื่อ The Presentation of self in everyday life นักสังคมวิทยาท่านนี้ได้นำเสนอแนวคิดที่เรียกว่า การวิเคราะห์เชิงละคร มาอธิบายการกระทำของมนุษย์ โดยมองว่ามนุษย์เรามีการกระทำโดยโต้ตอบกับผู้อื่นโดยการนำเสนอตัวตนของเราให้ผู้อื่นได้เห็นหรือรู้จัก การนำเสนอกระทำโดยภาษา คำพูดที่ใช้ กิริยาท่าทาง การแต่งกาย ฯลฯ ในการนำเสนอตัวตนนี้มนุษย์เราใช้วิธีการแบบเดียวกับการเล่นละคร กล่าวคือมนุษย์ทุกคนมีการกระทำทางสังคมต่อผู้อื่นด้วยการเล่นละครให้ผู้อื่นดูโดยมีองค์ประกอบหลักของการวิเคราะห์คือหน้าฉาก(ตัวตนที่ต้องการนำเสนอ) หลังฉาก(ตัวตนที่ซ่อนเอาไว้)และผู้ชม(บุคคลอื่นที่มนุษย์กำลังมีปฏิสัมพันธ์ด้วย)



ประวัติชีวิตของ Erving Goffman โดยสังเขป

Erving Goffman เกิดเมื่อวันที่ 11 เดือนมิถุนายน ปี ค.ศ.1922 ที่รัฐอัลเบอร์ทา ประเทศแคนาดา เป็นบุตรคนที่สองของครอบครัวลูกสาวหนึ่งคนและลูกชายหนึ่งคนของพ่อ Max และแม่ Ann ครอบครัวชาวยิวที่อพยพเข้าประเทศแคนาดาในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1897 และเป็นช่วงเวลาเดียวกับการเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พ่อ Max ประกอบอาชีพร้านขายของเล็กๆและแม่ Ann เป็นแม่บ้านดูแลครอบครัว Goffman จบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัย Toronto ในสาขามานุษยวิทยาและสังคมวิทยา ในปี ค.ศ.1945 จบการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย Chicago สาขาสังคมวิทยา ในปี ค.ศ. 1949 และปี ค.ศ.1953 ต่อมาได้เข้าเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย California ที่ Berkeley ในวันที่ 1 มกราคม ปี ค.ศ. 1958 ตามคำเชิญของ Herbert Blumer ในปี ค.ศ. 1964 ภรรยาของเขาคือ Angelica ได้ทำการอัตวินิบาตกรรมเนื่องจากความทุกข์ทรมานจากอาการป่วยทางจิต
Erving Goffman มีผลงานทางวิชาการที่สำคัญคือ The Presentation of Self in Everyday Life(1959)ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์มากกว่า 10 ภาษา Asylums: Essays on the Social Situation of Mental Patients and Other Inmates(1961)หนึ่งในผลงานที่มีอิทธิพลต่อวงการวิชาสังคมวิทยาในช่วงศตวรรษที่ 20 และ Stigma: Notes on the Management of Spoiled Identity(1961) ในปี ค.ศ. 1968 เข้าทำงานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย Pennsylvania และในปี ค.ศ. 1981 ผลงานจากหนังสือชื่อ Forms of Talk ได้รับการเสนอชื่อในงาน National Book Critic Circle Award ในปีเดียวกันนี้ได้เป็นประธานสมาคมสังคมวิทยาอเมริกัน เขาเสียชีวิตขณะมีอายุได้ 60 ปีเนื่องจากการป่วยเป็นโรคมะเร็งในกระเพาะอาหารในวันที่ 20 เดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1982



The Presentation of self in everyday life

การวิเคราะห์เชิงละครของ Goffman เป็นการขยายความคิดพื้นฐานที่ได้รับจาก Kenneth Burke ผู้ที่ถือได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกความคิด Dramatistic การวิเคราะห์เชิงละครของ Goffman พัฒนามาจากวิธีการสังเกตที่วางอยู่บนรากฐานหกประการ คือ 1)การแสดง 2)กลุ่มคน 3)บริบทและพฤติกรรม 4)บทบาทที่แตกต่าง 5)การสื่อสารที่ไม่อิงกับสัญลักษณ์(วจนะ) และ6)ศิลปะสำหรับการจัดการเกี่ยวกับความประทับใจ Goffman มองว่ามนุษย์แต่ละคนกำลังแสดงอยู่บนเวที ที่หน้าเวทีมีผู้ชมซึ่งได้แก่ คนอื่นที่มนุษย์กำลังมีปฏิสัมพันธ์ด้วย บนเวทีประกอบด้วยหน้าฉาก และหลังฉาก หน้าฉาก คือ การนำเสนอตัวตนของมนุษย์ตามที่อยากให้ผู้อื่นเห็นหรือรับรู้ การเลือกใช้ถ้อยคำที่เหมาะสมกับสถานภาพ มีกริยาท่าทาง การวางตัว สีหน้าและการแต่งกายที่เป็นไปตามบทบาท ฯลฯ เป็นตัวตนที่มนุษย์ต้องการนำเสนอให้ผู้อื่นเห็นซึ่งพวกเขามักจะกระทำเพื่อให้เกิดความสอดคล้องผสมกลมกลืน เช่น การที่แพทย์ผู้ผ่าตัดต้องการห้องทำการผ่าตัดคนไข้ รถแท็กซี่เช่าสำหรับคนขับรถแท็กซี่ ลานน้ำแข็งสำหรับนักเล่นสเก็ต ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นการจัดการทางกายภาพในส่วนของหน้าฉากที่ผู้แสดงล้วนจัดการให้เป็นไปตามบทบาทที่จะกระทำซึ่งหากปราศจากสิ่งเหล่านี้ก็คงไม่มีการแสดงบทบาทเหล่านั้นให้เห็น (George Ritzer 2008:372)
อย่างไรก็ตามมนุษย์แต่ละคนจะมีหลังฉาก คือ ความรู้สึกนึกคิดที่ไม่ต้องการเปิดเผยหรือนำเสนอให้ผู้อื่นรับรู้ เป็นส่วนที่มีความเป็นส่วนตัว หรือที่เรียกว่า ตัวตนที่ซ่อนอยู่ เมื่อขึ้นบนเวทีสิ่งที่เป็นหลังฉากจะไม่ถูกนำมาเสนอต่อผู้ชม ในแต่ละวันแต่ละเวลามนุษย์จะเล่นละครฉากแล้วฉากเล่าเพื่อนำเสนอตนเองให้สังคมได้รับรู้ ดังนั้นตัวตนในความหมายของ Goffman จึงเป็นการรับรู้ในผลิตผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้แสดงกับผู้ชม ในการแสดงละครนี้มนุษย์มีตัวละครที่ต้องแสดง มีบทบาทและมีตัวตน ตัวละครที่ต้องแสดงในที่นี้คือ ตัวตนของบุคคลที่มุ่งแสดงลักษณะของตนให้ปรากฏ ตัวตนนี้เป็นทั้งผู้แสดงและผู้ติชมการแสดงของตัวเองด้วย ตัวตนในการวิเคราะห์เชิงละครของ Goffman จึงเป็นกระบวนการที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปมาได้ ไม่มีลักษณะที่ตายตัวหยุดนิ่ง การแสดงตัวตนมุ่งหวังให้ผู้อื่นเกิดความประทับใจด้วยการแสดงบทบาทที่เหมาะสมกับบริบทของสถานการณ์นั้นๆ เช่น ผู้แสดงที่เป็นแพทย์ต้องแสดงท่าทีห่วงใยความเจ็บป่วยของคนไข้ เพื่อให้คนไข้เกิดความประทับใจเพื่อสร้างความเป็นตัวตนที่มีภาพลักษณ์ในทางบวก
บทบาท คือ การเลือกกระทำในกระบวนการของการมีปฏิสัมพันธ์ การแสดงบทบาทเป็นความคาดหมายชุดหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ โดยถูกผลักดันจากคู่ปฏิสัมพันธ์หรือจากความคาดหวังของสังคม มนุษย์มิได้ไปครอบครองหรือสวมใส่บทบาทแต่มนุษย์เลือกบทบาทในแต่ละสถานการณ์ มนุษย์จะจัดประเภทของบทบาทเพื่อจัดระเบียบการมีปฏิสัมพันธ์ของตนเองกับผู้อื่น บทบาทหนึ่งๆเกิดขึ้นและจะสลายไป บทบาทจึงเป็นกระบวนการตอบสนองความคาดหมายของคู่ปฏิสัมพันธ์ภายในโครงสร้างของความสัมพันธ์ชุดใดชุดหนึ่ง
ในการแสดงบทบาทมนุษย์ต่างต้องการสร้างภาพในอุดมคติที่จะทำให้ผู้อื่นเกิดความประทับใจ การพยายามสร้างภาพและสร้างความประทับใจทำให้มนุษย์ต้องเล่นละครมากขึ้น ตัวอย่างที่ Goffman ยกมาแสดงให้เห็นถึงการเล่นละครดังกล่าว เช่นกรณีของกลุ่มนักศึกษาหญิงในประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1950-1960 พวกเธอจะพยายามลดการแสดงออกเกี่ยวกับความสามารถ สติปัญญา และความมุ่งมั่นของพวกเธอเมื่ออยู่ต่อหน้านักศึกษาชายที่พวกเธอพึงใจ เธอจะแสร้งว่าติดตามบทเรียนไม่ทัน ต้องขอความช่วยเหลือให้เพื่อนชายช่วยสอนให้ แกล้งเล่นกีฬาให้แพ้ แกล้งสะกดคำให้ผิดเพื่อให้เพื่อนชายช่วยแก้ไขให้ หรือกรณีตัวอย่างของผู้มีรายได้น้อยที่เป็นชาวต่างประเทศและมีสิทธิ์ได้รับสวัสดิการช่วยเหลือจากภาครัฐ เมื่อมีเจ้าหน้าที่ของรัฐไปเยี่ยมเยียนที่บ้าน ผู้มีรายได้น้อยเหล่านี้จักตะโกนบอกพวกลูกๆโดยใช้ภาษาของตน เช่น ภาษาอิตาลีหรือภาษาละตินอเมริกา เพื่อให้ลูกๆของเธอสวมใส่เสื้อผ้าหรือรองเท้าขาดๆมาให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดู หรือการแอบเก็บอาหารและเครื่องดื่มดีๆ เช่น เหล้าหรือไวน์เข้าไว้ในตู้เก็บของเพื่อมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเห็น
การใช้สัญญะและตัวสื่อสัญญะในหน้าฉากตามการวิเคราะห์เชิงละครของ Goffman จะประกอบไปด้วยองค์ประกอบหลักๆสองประการคือ บริบทของสังคม และภาพที่ปรากฏกับกริยามารยาท บริบทของสังคมในที่นี้หมายถึงสิ่งแวดล้อม อุปกรณ์ต่างๆและสถานที่ตั้ง รวมถึงคุณลักษณะเฉพาะของมนุษย์ เช่น เพศ อายุ เชื้อชาติ ขนาดของสรีระฯลฯ สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญะที่เกี่ยวกับสังคม ที่เราทุกคนใช้เพื่อการปฏิสัมพันธ์และการที่จะสร้างความประทับใจได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบที่เกิดจากสัญญะดังกล่าวด้วย สำหรับภาพที่ปรากฏกับกริยามารยาทนั้นในแนวคิดดังกล่าวได้กล่าวถึงความแตกต่างของภาพที่ปรากฏกับกริยามารยาทไว้กล่าวคือ ภาพที่ปรากฏเป็นส่วนประกอบสำหรับหน้าฉาก หรือ บทบาท ซึ่งการคาดหวังเกี่ยวกับภาพที่ปรากฏจะถูกทำให้เป็นลักษณะที่เกิดขึ้นเป็นปรกติหรือเป็นบรรทัดฐานภายในวัฒนธรรมนั้นๆ อันมีความแปรผันไปตามความคาดหวัง เช่น นักออกแบบเสื้อผ้าและความคาดหวังของลูกค้าที่ติดตามผลงานการออกแบบ สิ่งเหล่านี้เรียกได้ว่าคือสัญญะที่ปรากฏ เป็นสิ่งที่ถูกเลือกขึ้นและสำหรับการกระทำหรือพิธีการต่างๆที่เกี่ยวข้องจะเป็นสัญญะที่ระบุสถานะต่างๆของผู้แสดง เช่น เป็นพิธีการหรือไม่ มีความเป็นองค์รวมหรือมีลักษณะเฉพาะของปัจเจก ในส่วนของการแต่งกายและอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เสื้อผ้า รถ บ้าน อาหาร รูปร่างทรวดทรง การแสดงท่าทางฯลฯ ยังเป็นส่วนช่วยในการสื่อสารทางเพศสภาพ สถานะ อาชีพ อายุ และความเกี่ยวพันส่วนบุคล กริยามารยาทเป็นส่วนที่แสดงว่าเราจะเล่นบทบาทอย่างไร เป็นการสัมผัสถึงในส่วนบุคคล เป็นการเตือนให้ผู้อื่นรับรู้ว่าผู้แสดงจะแสดงหรือจะแสวงหาบทบาทเพื่อแสดงออกมาอย่างไร
การที่ปัจเจกแต่ละบุคคลปรากฏขึ้นก่อนหน้าที่จะมีการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นนั้นมนุษย์แต่ละบุคคลรับรู้และมิได้วาดแผนการใดๆไว้ล่วงหน้าเพื่อกำหนดนิยามสถานกราณ์ต่างๆ มนุษย์จะถูกกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกในความเป็นจริงทางสังคมด้วยกันสามระดับ ซึ่งจะมีความแตกต่างกันอันเกี่ยวข้องกับเรื่องที่อ้างถึงและการเรียงลำดับความจริงที่เกิดขึ้น ในระดับแรกเป็นการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมซึ่งเกิดจากการเจรจาพูดคุยระหว่างสองฝ่าย ซึ่งระบบของสังคมจะก่อตัวขึ้นในระยะเวลาอันสั้นและคงสภาพไว้เนื่องจากการจัดลำดับปฏิสัมพันธ์ในสังคมได้กลายเป็นความไร้สภาพ ซึ่งสภาพดังกล่าวเป็นผลอันเกิดจากมุมมองในปฏิสัมพันธ์ของสังคม ในระดับที่สองผลของการไร้ระเบียบในการแสดง ณ ช่วงเวลานั้นๆ การแสดงออกในหนทางที่แตกต่างอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่คาดหวัง ผู้ชมพยายามที่จะรับรู้เกี่ยวกับตัวตนจากการแสดงออกของผู้แสดงตามการแสดงในปัจจุบันในฐานะการแสดงตามกลุ่มหรือทีม และผู้ชมยังรับรู้การแสดงของผู้แสดงในฐานะเป็นหลักฐานที่เกิดขึ้นเป็นประจำๆ Goffman ได้ยกกรณีตัวอย่างของแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดและเหล่าพยาบาลที่ต้องมีการปฏิบัติการที่กระทำเป็นประจำๆหากผิดเพี้ยนไปอาจเกิดความเสียหายแก่คนไข้และต่อโรงพยาบาลได้ ซึ่งความผิดเพี้ยนไปนี้เป็นผลของมุมมองเกี่ยวกับโครงสร้างในสังคม และในระดับที่สามคือการแสวงหาความเป็นปัจเจกอันมีความเกี่ยวข้องอย่างลึกกับความมีอัตตาซึ่งแต่ละบุคคลจะมีการให้นิยามความหมายแตกต่างกันออกไป นอกจากนี้ความเป็นปัจเจกยังมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มและการรับรู้เกี่ยวกับตัวเองในสถานะที่เป็นบุคคลที่มิได้แปลกแยกออกไปจากการมีปฏิสัมพันธ์ในสังคม หรือการเป็นหน่วยทางสังคมในแบบที่มิได้คาดหวังอันเกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์ หากความรู้สึกแปลกแยกเกิดขึ้นเราควรจะค้นหาว่าการรับรู้เกี่ยวกับตัวตนที่เกิดขึ้นรอบๆอันเป็นผลจากบุคลิกลักษณะของเขาเหล่านั้นที่แสดงออกมาอาจถูกทำให้เสื่อมเสียและไม่เป็นที่ยอมรับและผลลัพธ์เหล่านี้เป็นความแปลกแยกที่เกิดจากมุมมองของบุคลิกลักษณะที่มีในแต่ละบุคคล
แนวคิดปฏิสัมพันธ์สัญลักษณ์มองบทบาทของบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับการให้นิยามสถานการณ์ สถานการณ์จะมีความแปรผันแตกต่างกันไปตามมุมมองของผู้นิยาม การนิยามขึ้นอยู่กับพื้นฐานจากประสบการณ์ในอดีตและแผนในอนาคตของแต่ละบุคคล ผู้อยู่ในสถานการณ์เดียวกันมีส่วนร่วมกำหนดความหมายของสถานการณ์นั้นๆ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องกำหนดความหมายเหมือนกัน การให้นิยามจึงถูกกำหนดโดยสังคมด้วย บุคคลจึงมิได้ให้หรือสร้างนิยามตามใจชอบ บทบาทของมนุษย์เป็นไปตามสถานการณ์ที่เขาได้นิยามไว้แล้ว มนุษย์เรียนรู้ที่จะให้นิยามและปรับตนให้เข้ากับสถานการณ์ที่นิยามผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคม
จากลักษณะการวิเคราะห์การแสดงตัวตนของมนุษย์ในปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของ Goffmanสังเกตได้ว่าให้ความสำคัญกับภาวะแห่งการตอบสนองกันทางปฏิสัมพันธ์ ให้ความสำคัญกับบริบทของหน้าฉากหรือตัวตนที่ต้องการนำเสนอ เน้นลักษณะการอธิบายเชิงพรรณนามากกว่าการอธิบายเชิงเหตุผล ไม่มุ่งเน้นการศึกษาตัวตนเชิงปัจเจกอย่างแท้จริง ลักษณะดังกล่าวสามารถเลือกศึกษาได้เฉพาะในกลุ่มเป้าหมายตามบริบทที่กำหนดเท่านั้น และจากการยกตัวอย่างประกอบที่ได้สรุปความมาเป็นข้อมูลในเบื้องต้น ตัวอย่างดังกล่าวยังขาดการให้รายละเอียดในบริบทของข้อมูลพื้นฐานในระดับปัจเจกจึงเป็นลักษณะวิธีการที่ใช้ในการสำรวจเพื่อคาดการณ์กรณีศึกษาที่วางอยู่ในบริบทขนาดเล็กและเป็นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะในแต่ละกรณีศึกษา เป็นการวิเคาราะห์เพื่อทำความเข้าใจปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในชีวิตประจำวันในทางสังคมวิทยามากกว่าการทำความเข้าใจในทางจิตวิทยา

บรรณานุกรม

สุภางค์ จันทวานิช.ทฤษฎีสังคมวิทยา.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2551.
อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย.เบื้องหลังหน้ากาก.นครปฐม: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร,2529.
Erving Goffman.The Presentation of Self in Everyday Life,New York:Doubleday Dell Publishing Group,Inc,1959.
George Ritzer.Sociological theory Seventh Edition,New York:McGraw-Hill,2008.
http://ssrl.uchicago.edu/NEWPRE/CULT98/Goffman1.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น