วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554

ถอดบทเรียนเกือบ 2 ทศวรรษ การต่อสู้ ต่อรอง และสมานฉันท์: ปฏิสัมพันธ์ของตัวแสดงภาครัฐ-นอกภาครัฐในโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ[i]


ภาสิรี  สังข์แก้ว[ii]

          ลุ่มน้ำปากพนังมีต้นน้ำกำเนิดจากเทือกเขาบรรทัด อำเภอชะอวด แล้วไหลขึ้นสู่ทิศเหนือสู่ทะเลที่อ่าวปากพนัง อำเภอปากพนัง ผ่านพื้นที่ภูมิศาสตร์ที่หลากหลายทั้งพื้นที่เทือกเขา พื้นที่ราบลุ่มและป่าพรุ พื้นที่ราบชายฝั่งทะเล และพื้นที่ปากแม่น้ำ (สีลาภรณ์ บัวสาย, 2552: 12,14) รวมถึงอิทธิพลจากน้ำทะเลตามแต่ฤดูกาล (คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, 2547: 89) จึงก่อให้เกิดระบบนิเวศเฉพาะถิ่นที่ชาวบ้านเรียกว่า “น้ำ 4 รส” คือ น้ำจืดบริเวณลุ่มน้ำตอนบน น้ำเปรี้ยวบริเวณป่าพรุควนเคร็ง น้ำกร่อยบริเวณกลางลุ่มน้ำ และน้ำเค็มบริเวณปากอ่าว สภาพภูมิศาสตร์และระบบนิเวศน้ำ 4 รสดังกล่าวสัมพันธ์กับวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของชาวลุ่มน้ำปากพนังมายาวนาน (ขจรจบ กุสุมาวลี, 2547: 41-42) เมื่อเวลาผ่านไป ลุ่มน้ำปากพนังที่เคยอุดมสมบูรณ์กลับประสบความเสื่อมโทรมลงเรื่อย ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จนกลายเป็นพื้นที่ยากจนของประเทศ และรวมถึงปัญหาด้านน้ำที่เกิดขึ้นในลุ่มน้ำแห่งนี้ซึ่งกรมชลประทานได้เรียกว่า “ปัญหาน้ำ 3 รส” ได้แก่ น้ำจืด ที่มีปริมาณลดลงจาก 9 เดือน เหลือ 3 เดือน น้ำเค็ม รุกล้ำเข้าไปในแม่น้ำปากพนังและลำน้ำสาขาเป็นระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร    น้ำเปรี้ยว อันเนื่องจากน้ำท่วมขังพรุควนเคร็งตลอดปี น้ำเสียจากการทำนากุ้งกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกทั้งยังสร้างความขัดแย้งระหว่างชาวนากุ้งและนาข้าว และน้ำท่วมจากอุทกภัย “โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” จึงเกิดขึ้นเพื่อบรรเทาแก้ไขปัญหาดังกล่าว (กรมชลประทาน, มปป.)
โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ. 2538 มีระยะโครงการตั้งแต่ พ.ศ. 2538-2547 จัดเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาเกษตรกรแบบเบ็ดเสร็จ โดยมีแผนงานก่อสร้างระบบชลประทานเป็นแผนงานหลัก ดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำปากพนัง ชื่อ “ประตูอุทกวิภาชประสิทธิ” หรือ “เขื่อนปากพนัง” ตามคำเรียกของชาวบ้าน เพื่อกั้นน้ำจืดกับน้ำเค็มออกจากกัน นอกจากนี้ยังมีงานขุดคลองและสร้างประตูระบายน้ำย่อยกระจายตามจุดต่าง ๆ และก่อสร้างคันดินแบ่งน้ำจืด-น้ำเค็ม อีกเป็นต้น เมื่อแล้วเสร็จจะยังประโยชน์การใช้น้ำเพื่อการเกษตรบริเวณสองฝั่งลำน้ำประมาณ 521,500 ไร่ ในฤดูฝน และประมาณ 240,700 ไร่ ในฤดูแล้ง รวมทั้งสามารถลดความขัดแย้งของราษฎรระหว่างกลุ่มอาชีพนาข้าวและนากุ้ง (กรมชลประทาน, 2545: 8-11) อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังจะมีเจตนาและเป้าหมายที่ดีเพื่อความอยู่ดี แต่ผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการฯ โดยเฉพาะประตูอุทกวิภาชประสิทธิกลับสร้างผลกระทบทางลบต่อวิถีชีวิตการดำรงชีพของชาวบ้านและระบบนิเวศของลุ่มน้ำปากพนังอย่างมหาศาล (ขจรจบ กุสุมาวลี, 2547: 60)
ภายหลังปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา เมื่อประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิก่อสร้างเสร็จและปิดประตูกั้นแยกน้ำจืดและน้ำเค็มออกจากกัน ปรากฎว่าได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศที่สำคัญ กล่าวคือ ระบบนิเวศน้ำ 4 รสเดิมเสียสมดุลธรรมชาติ น้ำนิ่งและเน่าเสีย สัตว์น้ำลดลงทั้งปริมาณและชนิดพันธุ์ เกิดน้ำท่วมขังในเขตชุมชน สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่ออาชีพชาวบ้านตามมา ทั้งชาวนาข้าวทำนาไม่ได้เพราะน้ำท่วมขัง/ ดินเปียกแฉะ/ทิ้งนาข้าวให้ร้าง ชาวนากุ้งเลี้ยงกุ้งไม่ได้เพราะน้ำเน่าเสียและการแบ่งเขตพื้นที่น้ำจืด-น้ำเค็ม ชาวประมงพื้นบ้านสูญสิ้นอาชีพเพราะหาสัตว์น้ำไม่ได้และสูญเสียภูมิปัญญาชาวบ้านในวิธีการ/เครื่องมือการจับสัตว์น้ำ และชาวบ้านที่ทำน้ำตาลจากสูญเสียรายได้เสริมจากการทำน้ำตาลจากต้นจาก เป็นต้น โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 อำเภอที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ ได้แก่ อำเภอหัวไทร เชียรใหญ่ และปากพนัง ซึ่งเป็นพื้นที่หลักและศูนย์กลางของลุ่มน้ำปากพนังตามนิยามของชาวบ้านในพื้นที่และคนทั่วไป (ตฤณ สุขนวล, 2546: 107)
ผลกระทบด้านลบที่ได้รับจากโครงการฯ ดังกล่าว นักวิชาการเห็นว่าเกิดขึ้นเนื่องจากกรมชลประทานไม่ได้นำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาประกอบการตัดสินใจในโครงการฯ แต่อย่างใด (คณะกรรมการสิทธิ-มนุษยชนแห่งชาติ, 2547: 159) และยังเป็นโครงการที่ไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาแสดงความคิดเห็น/ร่วมตัดสินใจใด ๆ เนื่องจากโครงการถูกกำหนดเบ็ดเสร็จมาแล้วส่วนกลาง ทั้งยังออกแบบที่บิดเบือนไปจากพระราชดำริของในหลวง โดยเฉพาะการพัฒนาที่ไม่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชุมชน (ขจรจบ กุสุมาวลี, 2547: 95-96 ; ตฤณ สุขนวล, 2546: 107 ; วิทวัส แกล้วทนง, 2542: 67 ; คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน, 2547: 158) อย่างไรก็ดี ชาวบ้านในพื้นที่กลับมีความตื่นตัวค่อนข้างสูงต่อความพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการฯ โดยได้รวมตัวกันเป็นกลุ่ม/องค์กร/เครือข่ายเพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้อง/ผลักดัน/นำเสนอการจัดการน้ำต่อหน่วยงานภาครัฐด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งคัดค้าน/นำเสนอทางเลือก/ต่อรอง และดื้อแพ่ง ซึ่งการเคลื่อนไหวเพื่อการมีส่วนร่วมในโครงการฯ ที่มียาวนานเกือบ 20 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2536 เป็นต้นมา ได้สร้างประสบการณ์ร่วมกันระหว่างกลุ่ม/องค์กรชาวบ้านกับหน่วยงานภาครัฐ ตลอดทั้งบริบทและเงื่อนไขใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ได้นำไปสู่การปรับเปลี่ยนท่าทีของทั้งสองฝ่ายจากความขัดแย้งเป็นปรปักษ์สู่ความร่วมมือและมีแนวทางพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังร่วมกันมากขึ้น ปฏิสัมพันธ์ที่มีมายาวนานและต่อเนื่องเกือบสองทศวรรษ สามารถถอดประสบการณ์และบทเรียนความสัมพันธ์ระหว่างตัวแสดงต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโครงการที่เป็นไปอย่างหลากหลายและซับซ้อน ได้ดังนี้

1. ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแสดงภาครัฐกับนอกภาครัฐ มี 2 ลักษณะ คือ 1) ความสัมพันธ์แบบขัดแย้งต่อสู้ต่อรองสู่ความร่วมมือ และ 2) ความสัมพันธ์เชิงการสนับสนุนระหว่างกัน ดังนี้
1) ความสัมพันธ์ในลักษณะความขัดแย้งสู่ความร่วมมือการจัดการน้ำในโครงการฯ เป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างกรมชลประทานและกลุ่มชาวบ้านที่มียาวนานต่อเนื่องเกือบ 20 ปี ถือเป็นความสัมพันธ์หลักที่เกิดขึ้นแล้วมีผลต่อการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังด้านการจัดการน้ำเพื่อการเกษตรของโครงการฯ ตลอดถึงทิศทางนโยบายการจัดการน้ำของพื้นที่ฯ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ความสัมพันธ์ของสองฝ่ายนี้มีพัฒนาการใน 2 ช่วง คือ      
(1) ช่วง พ.ศ. 2536 – พ.ศ. 2546 โครงการกำลังดำเนินการก่อสร้างฯ ความสัมพันธ์ของตัวแสดง 2 ฝ่าย มีลักษณะเป็นฝ่ายตรงข้าม มีความเห็นแตกต่างและขัดแย้งกัน ตัวแสดงนอกภาครัฐมีการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านคัดค้านโครงการฯ มากมายหลายกลุ่มกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะอำเภอปากพนัง หัวไทร เชียรใหญ่ และชะอวด ซึ่งชาวบ้านมีทั้งการรวมตัวแบบหลวม ๆ ระดับตำบล[iii] และการรวมตัวกันเป็นองค์กร[iv]/เครือข่าย[v]ระดับจังหวัดทำการต่อสู้/ตอบโต้/ต่อรองกับหน่วยงานภาครัฐ ขณะที่หน่วยงานภาครัฐก็ตอบโต้กลุ่มชาวบ้านด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่นกัน เช่น การกล่าวอ้างพระราชดำริเพื่อปรามกลุ่มชาวบ้าน การฟ้องร้องดำเนินคดีกับกลุ่มชาวบ้าน การบังคับข่มขู่ด้วยกฎหมายและทหาร เป็นต้น 
ตฤณ สุขนวล (2547) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและกลุ่มชาวบ้านที่เกิดขึ้นในโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ ว่าเป็นลักษณะโต้ตอบในรูปแบบของวาทกรรมหลักซึ่งปฏิบัติการโดยหน่วยงานภาครัฐเพื่อสร้างความชอบธรรมหรือชี้ให้เห็นความจำเป็นของโครงการภาครัฐต่อการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง กับรูปแบบวาทกรรมทางเลือกซึ่งปฏิบัติการโดยกลุ่มชาวบ้านเพื่อต่อต้าน/คัดค้านวาทกรรมกระแสหลัก ด้วยวิธีการทั้งการตอบโต้ การป้องกันตัวเอง การเรียกร้องความเห็นใจในความเดือดร้อน และการสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำของชาวบ้านเอง แต่มีเป้าหมายเพื่อสิทธิในการจัดการชีวิตตนเองและชุมชนได้ สาเหตุหนึ่งของการปฏิบัติการวาทกรรมทางเลือก เนื่องจากชาวบ้านไม่มีความมั่นใจในภาครัฐว่าจะทำให้พวกเขาอยู่ดีกินดีได้จริง เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมานโยบาย/โครงการของภาครัฐทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังด้อยพัฒนามากกว่าพัฒนา ทั้งนี้ การตอบโต้ของกลุ่มชาวบ้านหากมองในมิติของความพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการฯ จากการที่ถูกหน่วยงานภาครัฐปิดกั้นเอาไว้ จะเห็นมีทั้งในระดับการช่วงชิงพื้นที่การให้ข้อมูลข่าวสารกับหน่วยงานภาครัฐ การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการฯ ในประเด็นต่าง ๆ เพื่อลดความน่าเชื่อถือการดำเนินโครงการฯ ของหน่วยงานภาครัฐ และการแสดงความคิดเห็นในระดับการผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐตัดสินใจตามข้อเรียกร้อง
การแสดงความคิดเห็นของกลุ่มชาวบ้านในรูปแบบผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐตัดสินใจตามข้อเรียกร้อง ในช่วงการก่อสร้างระบบชลประทานของโครงการฯ ชาวบ้านหลากหลายกลุ่มได้ปฏิบัติเรียกร้องผลักดันหรือยืนยันความคิดของฝ่ายตนกับหน่วยงานภาครัฐด้วยวิธีการที่เรียกว่า “การดื้อแพ่งแข็งอาญา” ในหลายกรณี แต่ส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จตามข้อเรียกร้อง เช่น ให้เปลี่ยนจุดสร้างประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิไปตั้งที่อำเภอเชียรใหญ่ซึ่งมีภูมิศาสตร์และระบบนิเวศน์ที่เหมาะสมกว่า การเรียกร้องให้สร้างประตูระบายน้ำกั้นคลองปากพนังจากบ้านเสือหึงมาที่บ้านเสือร้องซึ่งชาวบ้านอ้างว่าเป็นไปตามพระราชดำริฯ มากกว่า การเรียกร้องให้ขยายพื้นที่น้ำจืด-น้ำเค็มใหม่โดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม การเรียกร้องไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่ในแนวขุดคลอง แต่สุดท้ายโดนหน่วยงานรับผิดชอบฟ้องร้องต่อศาลบังคับให้ชาวบ้านยินยอม เรียกร้องให้ขยายความกว้างของถนนภายในโครงการ/สร้างรางระบายน้ำเสียให้ทั่วถึงทุกบ่อเลี้ยงกุ้ง/ให้ติดตั้งไฟฟ้าในโครงการชลประทานน้ำเค็ม การคัดค้านการถมคลองสาธารณะบริเวณรอยต่อ ตำบลเกาะเพชรกับตำบลขนาบนาก เป็นต้น[vi]
ส่วนการเรียกร้องแล้วประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง คือ กรณีคัดค้านการแบ่งเขตน้ำจืด-น้ำเค็มและการห้ามทำนากุ้งในพื้นที่น้ำจืดโดยกลุ่มชาวนากุ้ง ซึ่งเห็นว่าการจัดแบ่งพื้นที่น้ำจืดให้เกษตรกรทำนาข้าวกับพื้นที่น้ำเค็มให้เกษตรกรทำนากุ้ง ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 7 กรกฏาคม พ.ศ. 2541 และคำสั่งจังหวัดนครศรีธรรมราชให้ระงับการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำในพื้นที่น้ำจืดมีความไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้งในเขตน้ำจืด และยังเห็นว่ารัฐไม่มีสิทธิที่มาห้ามชาวบ้านไม่ให้ประกอบอาชีพที่ได้พยายามปรับตัวเรียนรู้ด้วยตนเองจนสามารถอยู่รอดได้ โดยที่รัฐไม่เคยเข้ามาส่งเสริมช่วยเหลือให้คำแนะนำแต่อย่างใด ดังนั้นจึงได้รวมตัวคัดค้านและยืนยันที่จะเลี้ยงกุ้งต่อไป แม้รัฐจะสั่งห้ามหรือลงโทษให้ติดหราง (คุก/ตาราง) ก็ตาม บางพื้นที่ยอมติดคุกกันทั้งหมู่บ้าน ตลอดทั้งมีการเคลื่อนไหวคัดค้าน/ชุมนุมประท้วงระดับอำเภอและจังหวัดของชมรมผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำจังหวัดนครศรีธรรมราช ผลการดื้อแพ่งของชาวบ้านในพื้นที่ทำให้รัฐไม่สามารถดำเนินการอะไรได้มากนัก แม้สำนักงานประมงจังหวัดแจ้งเตือนให้มีการจับกุมไปยังอำเภอต่าง ๆ หรือการให้ทหารเข้ามาชี้แจง (ข่มขู่) กับชาวบ้าน แต่สุดท้ายคือการประนีประนอมตามข้อเสนอของชาวบ้าน ทั้งนี้ การเรียกร้องของชาวบ้านในกรณีปัญหาต่าง ๆ บางครั้งได้มีการจัดเวทีประชุมขึ้นโดยหน่วยงานภาครัฐ เพื่อปรึกษาหารือแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านตามข้อเรียกร้อง แต่ส่วนใหญ่ชาวบ้านกลับไม่ได้โอกาสแสดงความคิดเห็น/ได้พูดแม้เตรียมข้อมูลไปมากมาย และเวทีที่จัดก็กลายเป็นการชี้แจงของภาครัฐเพื่อให้ชาวบ้านยอมรับโครงการฯ แทน
การเคลื่อนไหวของชาวบ้านเพื่อการมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำของโครงการฯ ที่ปฏิบัติการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเคลื่อนไหวกระจายตามจุดต่าง ๆ ของชุมชนที่ได้รับผลกระทบความเดือดร้อนจากโครงการฯ  และการเคลื่อนไหวอยู่ที่จุดใหญ่ของโครงการคือประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ ด้วยวิธีการที่หลากหลายตั้งแต่การยื่นหนังสือเรียกร้อง/แสดงความคิดเห็นถึงนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดี และนายกรัฐมนตรี การชุมนุมประท้วงบริเวณหน้าอำเภอ ศาลากลางจังหวัด ที่ทำการแพปลาของอำเภอ จุดก่อสร้างประตูระบายน้ำ (เป็นวิธีการที่ชาวบ้านเรียนรู้จากกรณีความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่อื่น ๆ เช่น เขื่อนปากมูล โรงไฟฟ้าบ่อนอกหินกรูด) เป็นต้น, การฟ้องร้องต่อศาลปกครอง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา,[vii] การแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้เสียงชาวบ้านดังขึ้น เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ท้องถิ่นโดยเฉพาะวารสารลุ่มน้ำปากพนังของสมาคมนักเขียนลุ่มน้ำปากพนัง เวทีการเสวนา/สัมมนาที่จัดขึ้นโดยชาวบ้านเองหรือที่จัดโดยองค์กรอื่น,[viii] การพูดคุยกันเองระหว่างกลุ่มชาวบ้านตามร้านน้ำชากาแฟในหมู่บ้าน/งานบุญพิธีต่าง ๆ เพื่อถกเถียง/แลกเปลี่ยน/ขยายวง, การแสดงความคิดเห็นโดยใช้พื้นที่งานวิจัยของบุคคล/องค์กรต่าง ๆ ที่เข้าไปสัมภาษณ์ชาวบ้านในการศึกษาเกี่ยวกับลุ่มน้ำปากพนังหรือโครงการฯ, การนำเสนอข้อมูลและบทความลงสื่อเว็บไซต์ขององค์กรอื่นที่เปิดพื้นที่ให้[ix]
ตฤณ สุขนวล (2547) ได้สรุปปฏิบัติการของชาวบ้านลุ่มน้ำปากพนังที่มีต่อการจัดการน้ำโดยโครงการของภาครัฐในช่วงการดำเนินก่อสร้างไว้ว่าเป็น “การเคลื่อนไหวต่อสู้ที่ค่อนข้างเงียบไร้เสียง” รับรู้กันเฉพาะในพื้นที่เท่านั้น บุคคลภายนอกหรือสาธารณะไม่ค่อยรับรู้เหมือนในกรณีอื่น ๆ ในสังคมไทย เพราะเป็นการต่อสู้ในพื้นที่พิเศษที่ค่อนข้างปิดกั้นมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ อย่างไรก็ดี ความเดือดร้อนที่เกิดจากการพัฒนา (โดยเฉพาะผลกระทบที่ได้รับจากประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ) ทำให้การปิดกั้นไม่สามารถทำได้อย่างเบ็ดเสร็จ ปฏิบัติการของชาวบ้านที่เริ่มจากจุดเล็ก ๆ หลาย ๆ จุด กลายเป็นพลังเงียบที่เริ่มมีพลังเพิ่มขึ้น เรื่อย ๆ และต่อมากลายเป็นที่รับรู้ของสาธารณะมากขึ้น
การเคลื่อนไหวที่ยาวนานทำให้เสียงของชาวบ้านดังขึ้น ประกอบกับผลกระทบแก่ลุ่มน้ำ  ปากพนังโดยเฉพาะระบบนิเวศเฉพาะถิ่น ทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังได้รับความสนใจแก่บุคคล/หน่วยงานภายนอก  อื่น ๆ และได้เข้ามาเกี่ยวข้อง/สนับสนุนในโครงการฯ ในบทบาทที่เด่นชัดขึ้นภายหลัง พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและกลุ่มชาวบ้านเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น นอกจากนี้ในส่วนของกลุ่มชาวบ้านเองจากการเคลื่อนไหวมานาน ได้มีการเรียนรู้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่ตนต่อสู้เรียกร้องและกับหน่วยงานภายนอกที่เข้ามามีบทบาท จึงทำให้มีท่าทีและมุมมองต่อการแก้ปัญหาใหม่ว่า การจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังนั้นเป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าที่หน่วยงานใดจะรับผิดชอบและตัดสินใจได้เพียงหน่วยงานเดียว กรมชลประทานจึงควรให้ชาวบ้านและหน่วยงานอื่น ๆ เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำในพื้นที่ดังกล่าวด้วย (ตฤณ สุขนวล, 2546 ; คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน, 2547)

(2) ช่วง พ.ศ. 2547-ปัจจุบัน ความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับกลุ่มชาวบ้านคลี่คลายเนื่องจากปัจจัย/เงื่อนไขต่าง ๆ ความสัมพันธ์มีลักษณะความร่วมมือการจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง มากขึ้น มีความสัมพันธ์เชิงการแลกเปลี่ยนทรัพยากรในด้านความรู้และประสบการณ์การจัดการน้ำระหว่างกัน และเริ่มมองถึงทิศทางการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังที่จะเกิดขึ้นในอนาคตร่วมกัน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทั้งสองช่วงตัวแสดงภาครัฐยังมีบทบาทหลักด้านการตัดสินใจและบทบาทนี้อยู่ที่หน่วยงานส่วนบนเป็นหลัก ขณะที่กลุ่มชาวบ้านเองก็มีอิทธิพลต่อการปรับเปลี่ยนท่าทีของหน่วยงานภาครัฐ ด้วยการยอมรับให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมการจัดการน้ำในโครงการฯ จากการเป็นคนนอกเข้าสู่การเป็นคนในในกระบวนการจัดการน้ำของโครงการฯ ในรูปแบบคณะทำงาน/คณะกรรมการชุดต่าง ๆ มากขึ้น[x] รวมทั้งยอมรับองค์ความรู้ด้านระบบนิเวศของชาวบ้านที่มีประโยชน์ต่อโครงการฯ ที่เคยถูกละเลยจากหน่วยงานภาครัฐในก่อนหน้านี้
สีลาภรณ์ บัวสาย (2552) ชี้ให้เห็นคามสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงจากความขัดแย้งสู่ความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐกับกลุ่มชาวบ้านว่า เกิดขึ้นจากปัจจัยภายในที่ทุกฝ่ายได้มีเวทีแลกเปลี่ยนที่สร้างสรรค์ระหว่างคนที่มีมุมมองหลากหลาย ทำให้ได้เห็นข้อมูลที่เป็นจริงรอบด้านและความรู้ที่ครบถ้วนในทุกศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง และมีกลไกจัดการให้ทุกฝ่ายมองเห็นคุณค่า/เป้าหมายร่วมกันของการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง โดยเฉพาะกลไกสำนักประสานงานโครงการวิจัยและพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เพื่อใช้เป็นเวทีของกระบวนการทำวิจัยและนำความรู้จากผลการวิจัยมาเป็นเครื่องมือประสานความเข้าใจของทุกฝ่าย และปัจจัยจากสถานการณ์ภายนอก เช่น การเลิกเลี้ยงกุ้งของกลุ่มชาวนากุ้งเนื่องจากราคากุ้งในตลาดโลกตกต่ำ การมองเห็นประโยชน์ของประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิว่ามีส่วนสำคัญในการช่วยลดปัญหาความรุนแรงของน้ำท่วมจากอุทกภัย รวมทั้งผลกระทบด้านบวกมีมากกว่าผลกระทบด้านลบของประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ (แต่ผลกระทบด้านลบก็เกิดขึ้นกว้างขวางครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพอย่างไม่อาจปฏิเสธได้) ผลลัพธ์ของท่าทีและความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและกลุ่มชาวบ้าน คือ การปรับเปลี่ยนเข็มทิศและทิศทางการทำงานร่วมกัน การเปลี่ยนแปลงของกรมชลประทานในการยอมทบทวนแนวปฏิบัติการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำ และในปี พ.ศ. 2550 ก็ยอมอนุมัติเกณฑ์การจัดสรรน้ำและจัดลำดับความสำคัญของการจัดสรรใหม่ โดยกำหนดให้การใช้น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศทางน้ำและการประมงขึ้นมาเป็นอันดับแรก (จากเดิมที่เป็นการกำหนดขอบเขตการใช้ที่ดินสำหรับพื้นที่น้ำจืด-น้ำเค็มชัดเจน) ตามข้อเสนอของศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูระบบนิเวศและอาชีพของเกษตกรในพื้นที่  ลุ่มน้ำปากพนัง  

2) ความสัมพันธ์เชิงการสนับสนุนระหว่างกัน เป็นความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาวบ้านกับหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ทั้งหน่วยงานราชการส่วนกลาง/ภูมิภาค/ท้องถิ่น องค์กรอิสระ สถาบันอุดมศึกษา และนักการเมืองท้องถิ่น/ระดับชาติ ซึ่งเข้ามามีส่วนในการสนับสนุนทั้งโดยตรงและโดยอ้อมแก่กลุ่มชาวบ้านในบทบาท/ลักษณะต่าง ๆ กล่าวคือ องค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน มีบทบาทเป็นทั้งผู้ประสานความต้องการ/ความเดือดร้อน/ข้อร้องเรียนของชาวบ้านกับหน่วยงานรับผิดชอบโครงการฯ และในบางกรณีก็ร่วมเป็นแกนนำกับกลุ่มชาวบ้านเรียกร้อง/คัดค้านโครงการฯ ด้วย เช่น ร่วมกับกลุ่มชาวบ้านเดินทางยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลเรียกร้องให้เปิดประตูระบายน้ำปากพนังและสร้างประตูระบายน้ำกั้นคลองปากพนังที่บ้านเสือร้องแทนบ้านเสือหึง, นายอำเภอแสดงความเข้าใจ/เห็นด้วยกับปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านและยอมรับผลกระทบจากโครงการฯ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส. นายวิทยา แก้วภารดัย) ร่วมผลักดันจัดทำข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีกรณีปัญหาการแบ่งเขตพื้นที่น้ำจืด-น้ำเค็มขอให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องของชาวบ้าน สมาชิกสภาจังหวัด (อดีต สจ.  นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์) ร่วมผลักดันข้อเรียกร้องของชาวบ้านตั้งแต่โครงการฯ ดำเนินก่อสร้าง ปัจจุบันเข้าร่วมเป็นคณะทำงานศึกษาแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฯ ชุดภาคประชาชน
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้ามาจัดเวทีเพื่อสร้างความเข้าใจของฝ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะจัดให้กลุ่มชาวบ้านได้แสดงความคิดเห็นในเวทีสัมมนา/ประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับฝ่ายหน่วยงานภาครัฐ  รับข้อร้องเรียนของกลุ่มชาวบ้านมาดำเนินการ และจัดตั้งคณะทำงานภาคประชาชนเพื่อศึกษาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกับภาครัฐ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยสนับสนุนโครงการวิจัยชุดต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจ/เข้าถึง/แนวทางแก้ไขความเดือดร้อนของชาวบ้านทุกกลุ่ม ตลอดทั้งเปิดพื้นที่เว็บไซต์ให้กลุ่มชาวบ้านได้แสดงความคิดเห็น/เผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะ สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติสนับสนุนโครงการต้นแบบนำร่องการจัดการน้ำตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนัง ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและสอดคล้องกับความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชศึกษาวิจัย/เครือข่ายข้อมูลพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง โดยการสนับสนุนทุนจากแหล่งต่าง ๆ ซึ่งชาวบ้านมีบทบาทเป็นผู้ให้ข้อมูล/ความรู้แก่ผู้วิจัย และเมื่อผลงานวิจัยแล้วเสร็จชาวบ้านก็นำไปใช้ประโยชน์ในการอ้างอิง/อาศัยพื้นที่ในงานวิจัยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการฯ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (หาดใหญ่) เข้ามาเป็นที่ปรึกษาแก่กลุ่มชาวบ้านในการศึกษาผลกระทบและ แนวทางแก้ไขปัญหา เป็นต้น

2. ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแสดงนอกภาครัฐกับนอกภาครัฐ ในโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ ความโดดเด่นอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาวบ้านกับกลุ่มชาวบ้านที่เคลื่อนไหวเพื่อการมีส่วนร่วมในโครงการฯ ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาวบ้านกับองค์กรพัฒนาเอกชนไม่ชัดเจนและโดดเด่นมากนัก เนื่องจากชาวบ้านรวมกลุ่มกันเองโดยไม่มีใครเข้ามาจัดตั้งทั้งในรูปแบบกลุ่มหลวม ๆ /ชมรม/เครือข่าย ด้วยการเรียนรู้การต่อสู้และมองเห็นจุดร่วมของปัญหา มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกลุ่มและมีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างเหนียวแน่น (บางกลุ่มใช้ทุนทางสังคมเดิมคือ “ความเป็นเกลอเขา-เกลอเล”  มาเป็นตัวกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม) การเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวบ้านแม้ระยะแรกจะมีกลุ่มกระจัดกระจายตามพื้นที่และประเด็นความเดือดร้อน แต่ข้อเรียกร้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ การต่อต้านคัดค้านโครงการฯ เนื่องจากเห็นว่ามีผลกระทบต่ออาชีพและระบบนิเวศ ต่อมาเมื่อโครงการฯแล้วเสร็จ ชาวบ้านมีจุดร่วมความเดือดร้อนของปัญหาเดียวกันคือผลกระทบจากประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ กลุ่มที่เคยกระจัดกระจายมาผนึกกันเป็นเครือข่ายชุมชน เสียงชาวบ้านที่กระจายตามพื้นที่ต่าง ๆ ได้กลายเป็นเสียงเดียวกันมากขึ้น บางกลุ่มยุติบทบาทเดิมแล้วมาเป็นแกนนำ/สมาชิกของอีกเครือข่ายหนึ่ง เช่น แกนนำและสมาชิกของชมรมผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำจังหวัดนครศรีธรรมราชยุติบทบาทของชมรมแล้วมาเข้าร่วมเคลื่อนไหวอยู่ในเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำปากพนัง เป็นต้น สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาวบ้านกับกลุ่มองค์กรนอกภาครัฐอื่น ๆ ที่โดดเด่นในพื้นที่ คือ ความสัมพันธ์กับสมาคมนักเขียนลุ่มน้ำปากพนัง (เป็นการรวมกลุ่มของคณะครู จดทะเบียนในรูปสมาคม) ซึ่งกลุ่มชาวบ้านอาศัยพื้นที่ในวารสารลุ่มน้ำปากพนังเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการฯ ในรูปบทกลอน/บทความต่าง ๆ นอกจากนี้ยังสัมพันธ์กับองค์กรพัฒนาเอกชนส่วนกลาง คือ มูลนิธิกองทุนไทย (ไทยเอ็นจีโอ) ที่กลุ่มชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์ในการเผยแพร่ข้อมูลและความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการฯ เช่นเดียวกัน
ความสัมพันธ์ของตัวแสดงในโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ มีลักษณะเด่นของความกลมเกลียวของคนกลุ่มต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดที่แม้มีบทบาทที่แตกต่างกัน แต่ก็มีจุดร่วมหรือการมองเห็นถึงปัญหาและประโยชน์สาธารณะที่เกิดแก่ท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของชาวบ้าน กลุ่มราชการส่วนท้องถิ่น/ภูมิภาค (เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล นายอำเภอ กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน และครู เป็นต้น) กลุ่มนักวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา หรือแม้แต่นักการเมือง ซึ่งต่างก็มีบทบาทในการหนุนช่วย/หนุนเสริมกันตามสถานการณ์และโอกาสต่าง ๆ เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังมีความยั่งยืนทั้งในด้านระบบนิเวศของธรรมชาติและความมั่นคงในอาชีพของเกษตร ความขัดแย้งในโครงการฯ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จึงเป็นความสัมพันธ์ขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนในพื้นที่ท้องถิ่น (โดยมีกลุ่มชาวบ้านเป็นตัวหลัก) กับหน่วยงานภาครัฐส่วนกลางโดยเฉพาะกรมชลประทาน แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายจากการเปิดใจยอมรับฟัง มองเห็นภาพรวมของปัญหา/ เข้าใจความเดือดร้อนและข้อจำกัดของแต่ละฝ่ายกันมากขึ้น ตลอดทั้งจากการร่วมกันศึกษาผลกระทบและแนวทางแก้ไขปัญหาจากโครงการฯ ความสัมพันธ์ใหม่ที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากความพยายามก้าวพ้นความขัดแย้งและช่วยกันบรรเทาผลกระทบแล้ว ยังร่วมกันขออำนาจกำหนดนโยบายพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ที่มาจากการคิดเห็น/ตัดสินใจร่วมกันระหว่างกลุ่มคนในท้องถิ่นกับผู้บริหาร/เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐในระดับพื้นที่ โดยเชื่อว่าความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมของกลุ่มชาวบ้าน ความสามัคคีของกลุ่มคน/สถาบัน/หน่วยงานต่าง ๆ ในท้องถิ่น และความสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยงานภาครัฐในระดับพื้นที่จะทำให้นโยบายพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังมีประสิทธิภาพกว่าที่แล้วมา โดยที่แนวทางการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังในอนาคตควรมีการตัดสินใจที่เกิดขึ้นจากระดับพื้นที่แล้วให้ฝ่ายรัฐบาล/อธิบดีก็สั่งการตามการตัดสินใจนั้น

เอกสารอ้างอิง

กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. (มปป.). การจัดการด้านระบบชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำ
ปากพนัง โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง. เอกสารแผ่นพับ. กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. (2545). รายงานสรุปแผนงานและผลการดำเนินงาน
ก่อสร้างด้านชลประทาน โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ. กรุงเทพฯ: กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
ขจรจบ กุสุมาวลี. (2547). ความขัดแย้งระหว่างรัฐ ทุน และท้องถิ่น: ศึกษาจากการจัดการ
ทรัพยากรธรรมชาติ บริเวณตำบลเกาะเพชร และตำบลท่าซอม อำเภอหัวไทร
จังหวัดนครศรีธรรมราช. รายงานวิจัยในชุดโครงการภูมิปัญญาทักษิณจากวรรณกรรมและพฤติกรรม, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์.
คณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ. (2547). นิเวศสามน้ำ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เดือนตุลา.
เชษฏ ตันสกุล. (2549). บ้านพ่อที่ลุ่มน้ำปากพนัง. กรุงเทพฯ: บริษัท นีโอเพรส จำกัด.
ณรงค์ บุญสวยขวัญ. (2552). การเมืองภาคพลเมือง บทวิเคราะห์แนวคิดและปฏิบัติการท้าทายอำนาจ
การเมืองในระบบตัวแทน. กรุงเทพฯ: บริษัท เอดิสันเพรส โปรดักส์ จำกัด.
ณรงค์ บุญสวยขวัญ. (2544). บทนำเอกสารประกอบการสัมมนาสังเคราะห์สถานภาพองค์ความรู้พื้นที่
ลุ่มน้ำปากพนัง. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์. นครศรีธรรมราช.
ตฤณ สุขนวล. (2546). วาทกรรมการพัฒนา: ศึกษากรณีการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง.
วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา.
มูลนิธิกองทุนไทย. (2548). ความคืบหน้าเวทีประชาชน: กระบวนการแก้ไขปัญหาโครงการลุ่มน้ำปากพนัง.
สืบค้นเมื่อวันที่ 22 กรกฏาคม 2553, จาก http://thaingo.org/story/paknang_seminar.htm.
วิทวัส แกล้วทนง. (2542). การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ลุ่มน้ำ
ปากพนัง. สารนิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์,
สำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษา.
สีลาภรณ์ บัวสาย. (2552). ลุ่มน้ำปากพนัง จากความขัดแย้งสู่ความสมานฉันท์. กรุงเทพฯ:  
บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).



เชิงอรรถ
[i] ขอบเขตของบทความนี้ คือ การรวบรวมและเรียบเรียงจากการเอกสารต่าง ๆ ช่วง พ.ศ. 2536-2552  เพื่อความเข้าใจเชิงปรากฏการณ์ โดยไม่ได้มีการวิเคราะห์เชิงทฤษฎีและการเก็บข้อมูลปัจจุบัน (2553-2554) ในภาคสนาม
[ii] นักศึกษาปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาสหวิทยาการ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่น 7 และนักศึกษาทุนในโครงการเครือข่ายเชิงกลยุทธ์เพื่อการผลิตและพัฒนาอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
[iii] เป็นการรวมกลุ่มอย่างหลวม ๆ เฉพาะกิจ ของชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการก่อสร้างของโครงการฯ โดยเรียกร้องให้หน่วยงานราชการตัดสินใจที่กลุ่มตนเสนอไป วิธีการเรียกร้องมีทั้งเรียกร้องผ่านองค์การบริหารส่วนตำบลให้เป็นผู้ประสานดำเนินการให้ และเรียกร้องกับหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง และในบางกรณีได้ถวายฎีกาถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าราชินี
[iv] เป็นการจัดตั้งกลุ่มอย่างเป็นทางการ มีแกนนำ/โครงการ/เป้าหมายหลัก/กิจกรรมแน่นอนต่อเนื่อง และมีขอบข่ายครอบคลุมทั้งจังหวัด เช่น ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำจังหวัดนครศรีธรรมราช จัดตั้งขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงกุ้งและช่องทางจัดจำหน่าย ในช่วงแรกได้เคลื่อนไหวต่อสู้กับจังหวัดนครศรีธรรมราชและกรมประมงเพื่อคัดค้านการแบ่งอาชีพนาข้าวนากุ้งตามพื้นที่น้ำจืด-น้ำเค็ม ต่อมาภายหลังได้ยุติชมรมและเข้าร่วมเป็นเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำปากพนัง ปัจจุบันแกนนำและสมาชิกทั้งระดับอำเภอและจังหวัดได้รับการยอมรับให้เป็นตัวแทนคณะกรรมการภาคประชาชนเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาพื้นที่ปากพนังฯ ตามคำสั่งคณะอนุกรรมการดำเนินการโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง (ณรงค์ บุญสวยขวัญ, 2552: 117) นอกจากนี้ยังมีองค์กรอื่น ๆ เช่น กลุ่มรักษ์แม่น้ำปากพนัง กลุ่มรักษ์พรุ และสมาคมนักเขียนลุ่มน้ำปากพนัง เป็นต้น
[v] มีเครือข่ายที่สำคัญ คือ เครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำปากพนัง เป็นศูนย์กลางในการปฏิสัมพันธ์สมาชิกทั้งระดับอำเภอ/จังหวัดและศูนย์กลางเครือข่ายองค์กรชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม ได้เคลื่อนไหวเกี่ยวกับโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ มาโดยตลอด จนเป็นที่ยอมรับจากเจ้าหน้าที่ราชการ นักการเมืองท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง (ณรงค์ บุญสวยขวัญ, 2552: 117) และยังมีเครือข่ายอื่น เช่น เครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำปากพนัง เป็นต้น
[vi] ส่วนการเรียกร้องที่ประสบความสำเร็จแต่อยู่ในเงื่อนไขพิเศษ เช่น กรณีกลุ่มชาวบ้านนำโดยนางบุญมี วิชัยดิษฐ์ ยื่นเรื่องทูลเกล้าถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระราชินีฯ ขอความเป็นธรรมในราคาการเวนคืนที่ดิน ทำให้ไม่สามารถขุดคลองชะอวด-แพรกเมืองได้ กรณีขุดคลองตัดผ่านต้นไทร แต่นายจำรูญ พลายด้วง ทูลขอไม่ให้ตัดต้นไทรเพราะชาวบ้านเชื่อว่าเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรณียายตั้ง หญิงชรา คัดค้านทหารแบบหัวชนฝาไม่ให้ขุดลอกคลองปากบาง ตำบาลบ้านพิง อำเภอปากพนัง โดยอ้างว่าจะทำลายป่าจากและต้นไม้อื่น ๆ ที่งอกขึ้นเองตามธรรมชาติไม่มีใครไปปลูก จึงไม่มีใครมีสิทธิไปทำลายได้ หรือการอ้างสิทธิธรรมชาติของต้นไม้
[vii] เช่น กรณีกลุ่มชาวบ้านยื่นฟ้องกรมประมงเพื่อคัดค้านการถมคลองสาธารณะในโครงการชลประทานน้ำเค็ม, เครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำปากพนังยื่นฟ้องกรมชลประทานและสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ให้จำกัดบทบาทการดำเนินงานในโครงการฯ
[viii] เช่น จัดโดยคณะอนุกรรมการด้านที่ดินและน้ำ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นต้น
[ix] เช่น เว็บไซต์ของโครงการสิทธิชุมชนศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ไทยเอ็นจีโอ
[x] เช่น คณะกรรมการศึกษาผลกระทบบริเวณล่างประตูระบายน้ำ คณะกรรมการท้องถิ่นเพื่อการบริหารจัดการน้ำ คณะอนุกรรมการลุ่มน้ำ คณะกรรมการบริหารจัดการประตูระบายน้ำ และคณะกรรมการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม (แต่งตั้งโดยสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม)  คณะทำงานศึกษาแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ ประกอบด้วยคณะทำงานชุดภาครัฐและชุดภาคประชาชน (แต่งตั้งโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน) แม้ในทางปฏิบัติของคณะกรรมการเหล่านี้ได้มีอุปสรรคเกิดขึ้นบ้างก็ตาม เช่น การไม่มีผลทางปฏิบัติของคณะกรรมการบางชุด (ตั้งแล้วไม่ทำงาน) การไม่มีอำนาจตัดสินใจแก้ไขปัญหาผลกระทบหรือแนวทางจัดการน้ำในโครงการฯ ได้ของคณะทำงานระดับพื้นที่ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น