วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2554

ฤาจะเป็นความทุกข์ทางสังคม (Social suffering)?

พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ [1]
            หลังแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น และโรงงานพลังงานนิวเคลียร์อยู่ในภาวะวิกฤติ หลายคนอาจคิดถึงเหยื่อผู้พิการและประสบกับภาวะเป็นโรคอันเป็นผลพวงของกัมตภาพรังสีจากระเบิดปรมาณูเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 บางคนอาจคิดถึง เหยื่อของโรงถลุงแร่ที่คลิตี้ล่าง จ.กาญจนบุรี หรือผู้ประท้วงที่เคยอยู่อาศัยบริเวณที่เป็นเขื่อนหลายๆ เขื่อน ซึ่งต่างก็ประสบความทุกข์ร่วมกันทางสังคม  ความทุกข์เชิงสังคมคืออะไร และเกิดขึ้นอย่างไร และในบทความสั้นๆ นี้ผู้เขียนทดลองหยิบตัวอย่างความทุกข์เชิงสังคมขึ้นมาเพื่อตั้งคำถามว่า แนวคิดเรื่องความทุกข์เชิงสังคมจะสามารถอธิบายปรากฏการณ์ที่ผู้เขียนประสบมาได้หรือไม่

ความทุกข์เชิงสังคม (social suffering)
Paul Farmer (1996) บอกว่าใครๆ ก็รู้ว่าความทุกข์มีอยู่ แต่คำถามคือว่าเราจะให้คำจำกัดความมันอย่างไร การให้คำจำกัดความของและบุคคลในเรื่องความเจ็บปวดมีระดับความเป็นจริงไปตามที่แต่ละคนให้ ประสบการณ์ความทุกข์ถูกบันทึกไว้เสมอว่ามันไม่สามารถจะถ่ายทอดออกมาเป็นกราฟ หรือ สถิติตัวเลขได้   คำถามมีอยู่ว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้คำจำกัดความที่เป็นความเห็นพ้องต้องกันต่อ “social suffering” หรือ “ความทุกข์เชิงสังคม 
นักมานุษยวิทยาหลายคนที่รับเอาคำถามนี้ไปเป็นคำถามในการวิจัยทั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับประสบการณ์ส่วนบุคคลและขยายสู่ระดับประสบการณ์ของสังคมว่าความกดดันทางสังคมมีผลต่อความทุกข์และการเป็นโรคของบุคคลอย่างไร  และกลไกอะไรที่ทำให้ความกดดันทางสังคมแปรผันจากความยากจนไปสู่ประเด็นการเหยียดเชื้อชาติกลับกลายมาเป็นรูปธรรมขึ้นมาในฐานะประสบการณ์ส่วนบุคคล ( Farmer, 1996, p.261-262)  
ในขณะที่ปัญหาทางสังคม(social problems) กับ ปัญหาส่วนบุคคล (personal problems)  มีความหมายที่ใกล้ชิดกันมากและเป็นการเปิดเผยให้เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างบุคคล (interpersonal) ซึ่งเป็นฐานของความทุกข์ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ความทุกข์ซึ่งเป็นประสบการณ์ของสังคมที่เกิดขึ้น  และไม่เพียงแต่เกิดในสลัมซึ่งตั้งอยู่ในเมือง หรือ ในสังคมที่ยากจนเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นได้แม้แต่ในเมือง Chicago, the South Bronx  อีกด้วย 
ความทุกข์เชิงสังคมเป็นประสบการณ์ร่วมกันของคนในสังคมซึ่งข้ามพ้นจากระดับฐานะความรวยความจน หรือความแตกต่างอื่นๆ (Desjarlais, 1997, p.ix)  คำแนะนำแนวคิดเรื่องความทุกข์ทางสังคม (Preface to the Issue "Social Suffering")  ซึ่ง S. R. G. (1996) ได้เอ่ยถึงในบทความของเขาว่าความทุกข์ทางสังคมไม่ใช่เป็นคำที่จะใช้กันทั่วไป ไม่ใช่ถ้อยคำสำนวนที่จะปรากฏในสารบัญของนักคิดส่วนใหญ่  ทั้งไม่ใช่เป็นการแสดงออกทางจารีตของพวกสื่อสารมวลชน  แต่ต้องยอมรับและให้การยกย่องแก่นักคิดทั้ง 3 คนคือ Veena Das, Arthur Kleinman,  and Margaret Lock ที่ได้นำเสนอแนวคิดที่ละเอียดอ่อนและการทำงานอย่างหนักต่อการนำเสนอแนวคิดที่เรียกว่า “social suffering” ซึ่งเกี่ยวกับนโยบายทางสังคมเรื่องสุขภาพ ความเจ็บป่วย การตระหนักถึงวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายของโลกในศตวรรษที่ 21 ซึ่งไม่ง่ายที่จะทำความเข้าใจกับประสบการณ์ความเจ็บปวดทุกข์ทรมานของคนหนุ่มสาว ผู้ชาย ผู้หญิง คนที่ไม่มีงานทำ คนที่เป็นโรคติดต่อ คนที่เป็นเหยื่อจากสงคราม คนที่ถูกกระทำจากการเมือง ทั้งที่เป็นความทุกข์ฝ่ายกาย และความทุกข์ทางจิตใจ  (S.R.G., 1996, p. v-x)
Veena Das (1996)  ผู้นำเสนอแนวคิดความทุกข์เชิงสังคม (Jonathan Benthall, 1997, p.1-2) อันเป็นผลมาจากการวิจัยของเธอในประเทศอินเดียถึงความทุกข์ทางสังคมของชาวโบพาลที่ต้องประสบกับความทุกข์อันเกิดจากปฏิบัติการทางวาทกรรมของแพทย์ ศาล และราชการ ที่ไปผลิตซ้ำความทุกข์ที่ชาวโบพาลต้องเผชิญจากเหตุการณ์แก๊สรั่ว (Das, 1995, p. viii)    แนวคิดนี้ถูกนำมาใช้ในการศึกษาวิเคราะห์ในหลายกรณี งานชิ้นสำคัญๆ มักเกี่ยวข้องกับการอธิบายความทุกข์เชิงสังคมผ่านความเจ็บไข้ได้ป่วยของคนที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงเชิงโครงสร้าง  ในขณะที่งานศึกษาของ Paul Farmer (1997) เขาใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นชาวไฮติ จากงานวิจัยของเขาเกี่ยวกับเรื่องของชาวนาไฮติที่ต้องถูกบังคับให้อพยพย้ายที่อยู่จากที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์ริมแม่น้ำที่พวกเขาสามารถทำการเกษตรอย่างได้ผล มีรายได้จากการขายผลิตผลทางการเกษตรที่พวกเขาผลิตมันขึ้นมา ต่อมาเมื่อรัฐบาลไฮติมีการสร้างเขื่อนที่ใหญ่ที่สุด ผลที่เกิดขึ้นกับชาวนากลุ่มนี้คือพวกเขาถูกบังคับให้ย้ายบ้านเรือนขึ้นไปอยู่ในที่สูงซึ่งเป็นภูเขาที่เต็มไปด้วยหิน เนื่องจากระดับน้ำในเขื่อนที่ท่วมสูงขึ้น และท่วมบ้านเรือนและไร่นาที่เป็นของชาวบ้าน การย้ายไปอยู่บนที่สูงเพื่อให้พ้นจากภาวะน้ำท่วมไม่ได้แก้ปัญหาความทุกข์ให้ชาวบ้าน แต่สร้างความเสี่ยงชุดใหม่ให้ชาวบ้าน และเป็นการทำให้พวกเขามีฐานะความเป็นอยู่ที่แย่ลง (Farmer,1997,  p. 264)
            การศึกษาโดยใช้กรอบแนวคิดเรื่องความทุกข์เชิงสังคม (social suffering) ในวงวิชาการไทยปรากฏในงานวิจัยทางสังคมศาสตร์ โดย มาลี สิทธิเกรียงไกร (2551) ใช้แนวคิดนี้ในการวิเคราะห์ความทุกข์ทางสังคมของชาวคลิตี้ล่างซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ที่มาอาศัยอยู่ใน อำเภอทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี และได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ล่างที่พวกเขาใช้เป็นลำห้วยสายหลักในการดำรงชีพมาหลายปี แต่เมื่อรัฐให้สัมปทานกับเจ้าของธุรกิจที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่นซึ่งมีอำนาจในพื้นที่ก่อสร้างและประกอบกิจการโรงถลุงแร่ด้านบนของลำห้วยคลิตี้ล่างและปล่อยสารตะกั่วลงในลำห้วยที่ชาวบ้านอาศัยใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคส่งผลให้ชาวบ้านได้รับสารตะกั่วตกค้างเข้าไปในร่างกายเป็นจำนวนมากจนเกิดอาการเจ็บป่วย  เมื่อชาวบ้านร้องเรียนต่อรัฐ  กระบวนการของรัฐในการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านด้วยการส่งแพทย์เข้ามาให้การรักษาไม่ได้เป็นการแก้ไขความทุกข์ทางสังคมของชาวบ้านแต่กลับเป็นการผลิตซ้ำความทุกข์ให้ชาวบ้านด้วยคำอธิบายจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ว่าการที่ชาวบ้านเจ็บป่วยไม่ได้มีสาเหตุมาจากสารตะกั่วที่ตกค้างในเลือดแต่เป็นเพราะชาวบ้านมีสุขภาพไม่ดีอยู่ก่อนแล้ว เป็นการสร้างความเสี่ยงชุดใหม่ขึ้นมาปิดบังอำพราง ความเจ็บป่วยของชาวบ้าน รวมทั้งการสร้างวาทกรรมทางการแพทย์เพื่อทำให้ชาวบ้านซึ่งเป็นเหยื่อยอมรับว่าความเจ็บป่วยของพวกเขาเป็นผลมาจากชะตากรรมของชีวิตที่จมปลักอยู่กับความยากจน และโรคภัย จนทำให้ชาวบ้านไร้อำนาจในการนิยามความเจ็บป่วยของตนเอง และยากที่จะนำไปสู่การอ้างสิทธิเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยได้  ( Das, 1999, p.156 อ้างใน มาลี สิทธิเกรียงไกร, 2551 หน้า 45)  
            ความน่าสนใจมีอยู่ว่า ความทุกข์เชิงสังคม มักเกิดจากการถูก “อำนาจ” และ “การใช้อำนาจ” กระทำไม่ทางใดทางหนึ่งเสมอ  ทั้งอำนาจทางเศรษฐกิจ อำนาจทางการเมือง อำนาจของความรู้ ในขณะที่อำนาจทางศาสนาเองก็มีส่วนสำคัญในการก่อให้เกิดความทุกข์ทางสังคมและการผลิตซ้ำความทุกข์เชิงสังคมได้เช่นกัน
ตัวอย่างการรักษาอาการป่วยด้วยโรคเอดส์ หรือ โรคร้ายแรงอื่นๆ ที่มีประเด็นเรื่องทางศีลธรรมหรือเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง อำนาจทางการแพทย์จากการวินิจฉัยโรค อำนาจทางศีลธรรมของชุมชนเหนือการเจ็บป่วย อำนาจทางเศรษฐกิจที่ผลักดันให้ประกอบอาชีพบางอย่างและทำให้เกิดการเจ็บป่วยตามมา ในขณะที่หากจะใช้อำนาจทางการเมืองระหว่างคนกลุ่มใหญ่และคนกลุ่มน้อยมาใช้ในการอธิบายการตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมหรือค่าชดเชย หรือการเยียวยาด้วยวิธีการต่างๆ ของคนกลุ่มน้อย มักพบเสมอว่าคนกลุ่มน้อยมักตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบและมักถูกอำนาจทางการเมืองของคนกลุ่มใหญ่กระทำให้เกิดความทุกข์เชิงสังคมเพิ่มขึ้น เป็นความทุกข์ที่มีอยู่จริงในชีวิตประจำวัน เป็นความไม่ยุติธรรมที่ยอมรับว่ามีอยู่จริงเป็นการผลิตซ้ำความทุกข์ในรูปแบบที่เป็นสิ่งปกติในชีวิตประจำวัน ที่เรียกว่า Internal Orientation คือการทำให้เหยื่อยอมรับว่า ความทุกข์เหล่านั้นเป็นผลมาจากการกระทำของพระเจ้า จากเหตุบังเอิญซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ ความทุกข์ในลักษณะนี้ไม่ได้นำไปสู่การกล่าวโทษผู้ใด แต่เป็นการทำให้เหยื่อยอมรับความทุกข์นั้นอย่างดุษฎี (มาลี สิทธิเกรียงไกร. 2552 : 45) 

ความทุกข์ทางสังคมของ(บาง)ผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547  เป็นต้นมา ไม่เพียงแต่สร้างความเจ็บปวดทุกข์ทรมานแก่เหยื่อของความรุนแรงทางตรง แต่ยังได้สร้างความเจ็บปวดทุกข์ทรมานทางสังคมให้กับผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ทั้งที่เป็นความทุกข์ในระดับปัจเจกบุคคล และ ความทุกข์ในระดับสังคมอันมาจากความรุนแรงและบาดแผลในประสบการณ์ของมนุษย์ โดยมีความเชื่อมโยงกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางสังคม (ชิเกฮารุ ทานาเบ, 2551 : 8) กล่าวคือ ความทุกข์ทรมานของเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงที่มาจากแรงกดดันทางสังคมต่อประสบการณ์ของมนุษย์ (Kleinman, Das, and Lock, 1997: p.ix) ที่เรียกว่า “ความทุกข์เชิงสังคม” (social suffering) อันเป็นผลมาจากเงื่อนไขทางการเมือง เศรษฐกิจ และอำนาจของสถาบันต่างๆ ที่กระทำต่อประชาชนและที่มากกว่านั้นคือจากเงื่อนไขต่างๆ เหล่านั้นโดยตัวมันเองมีอิทธิพลตอบสนองต่อปัญหาต่างๆ ทางสังคม  รวมทั้งภายใต้การจัดแบ่งประเภทของความทุกข์เชิงสังคมเป็นเงื่อนไขที่โดยปกติแล้วจะถูกแบ่งแยกตามสภาพเงื่อนไขซึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องสุขภาพ สวัสดิการ กฎหมาย ศีลธรรม และประเด็นทางศาสนา (Kleinman, Das, and Lock, 1997: p.ix)  
การศึกษาปัญหาของผู้ประสบภัย (victim) ที่เผชิญกับความทุกข์ ความเจ็บป่วย และความสูญเสีย โดยทั่วไปมักอธิบายความทุกข์ในลักษณะที่เป็นปัญหาระดับบุคคลว่าความทุกข์นั้นเป็นผลมาจากการกระทำผิดของบุคคลต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ (Das , 2001: p.105-112) หรือเป็นผลมาจากพฤติกรรมส่วนบุคคล ขณะที่การทำความเข้าใจกับความทุกข์อีกประเภทหนึ่งคือ ความทุกข์เชิงสังคม มักไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก (มาลี สิทธิเกรียงไกร, 2551, : 44)
อย่างไรก็ดี เมื่อผู้วิจัยได้ทำงานภาคสนาม และได้พบปะพูดคุยกับผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้คือ “การเจ็บป่วยด้วยโรคความทุกข์ทางสังคม” ที่สะท้อนผ่านเรื่องเล่าที่พรั่งพรูราวกับว่าอาจจะได้พูดเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายของชีวิต  เมื่อสองปีก่อนผู้วิจัยเก็บข้อมูลภาคสนามใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับฟังความทุกข์ทางสังคมของชาวคาทอลิกเป็นส่วนใหญ่อันเป็นผลพวงมาจกาความรุนแรงในพื้นที่ที่ส่งผลให้พวกเขาต้องตกอยู่ในสภาพที่มีความทุกข์ทางจิตใจ และส่งผลต่อการดำเนินความสัมพันธ์กับผู้คนในศาสนาเดียวกัน และผู้คนต่างศาสนาในพื้นที่  
แต่จากการลงทำงานภาคสนามปี 2553 ผู้วิจัยได้รับฟังความทุกข์ทางสังคมจากคนต่างศาสนาบ้างเช่น ชาวมุสลิม ชาวเขาที่ย้ายมาอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และชาวจีนหลายคนทั้งที่เป็นพุทธ และที่เป็นคริสต์
ปี 2554  ผู้วิจัยได้รับฟังความทุกข์ทางสังคมของผู้คนที่เปลี่ยนไป จากที่เคยฟังถึงความทุกข์ที่เกิดจากความกลัวว่าความรุนแรงจะมาถึงตัวเมื่อใดไม่รู้ กลัวว่าความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจะมีหรือไม่ เป็นต้น แต่ว่าครั้งนี้ ผู้วิจัยได้รับฟังความทุกข์อีกแบบหนึ่งซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเรียกว่าเป็นความทุกข์เชิงสังคมได้อย่างมีน้ำหนักมากกว่าความทุกข์ที่เคยได้รับฟังมาหรือไม่ เพราะวันนี้ ผู้วิจัยได้รับฟังคำบอกเล่าของแม่ค้าขายเสื้อผ้าซึ่งเป็นหญิงไทยพุทธ บนถนนหน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี พวกเธอเล่าว่า “ ปกติจะต้องไปกรุงเทพเพื่อเลือกซื้อเสื้อผ้า หรือข้าวของต่างๆ มาขายในปัตตานี ระยะหลังๆ นี่แม่ค้าที่กรุงเทพจะถามว่ามาจากไหน พอบอกว่ามาจากปัตตานี พวกแม่ค้ากรุงเทพจะต่อว่า “พวกสร้างปัญหาให้ประเทศชาติ” บางร้านก็ว่าแรงๆ บางร้านก็ทำหน้าตาไม่ต้อนรับ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นทุกข์ เพราะไหนจะต้องทุกข์กับสถานการณ์ที่มีอยู่ในพื้นที่ พอออกไปนอกพื้นที่กลับได้รับความทุกข์ซ้ำเติมด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็น “พวกสร้างปัญหา” เธอกล่าวว่า "ดูซี เราอยู่ที่นี่ก็ทุกข์จะตายอยู่แล้ว ออกไปข้างนอกเพื่อนยังว่าให้ช้ำใจอีก" (พี่แดง, สัมภาษณ์ 27  มีนาคม 2554)
ในขณะที่ แม่ค้าที่เป็นชาวไทยพุทธหลายคนบอกว่า “เดี๋ยวนี้ พวกสาวๆ มุสลิมที่เรียนจบดีๆ ต้องการไปหางานทำ จะต้องยอมถอดผ้าคลุมออกแล้วก็มาหาซื้อกระโปรงสั้นเลยนะ แต่งตัวแบบเหมือนคนไทยทั่วไปเลย เพราะไม่อย่างนั้นก็จะไม่ได้งาน” (สัมภาษณ์ พี่สาว  27  มีนาคม 2554)  
ผู้วิจัยได้ประสบกับหลักฐานข้อนี้ เมื่อมีครูมาสมัครเป็นครูที่โรงเรียน ในรูปถ่ายเมื่อสำเร็จการศึกษาของเธอเป็นรูปถ่ายที่เธอคลุมผ้าอย่างเรียบร้อย แต่วันที่เธอมาสมัคร เธอไม่ได้สวมผ้าคลุม และสวมกระโปรงสั้น รัดรูป ดูไม่ออกว่าเป็นสตรีมุสลิม หรือว่านี่จะเป็นความทุกข์เชิงสังคมของผู้คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงต้องหาทางออกจากความทุกข์อย่างเช่นครูมุสลิมสองคนนั้นที่ผู้วิจัยได้พบเห็นด้วยตนเอง ผู้วิจัยไม่ได้มีโอกาสถามเธอทั้งสองคนว่ามีความทุกข์มากน้อยเพียงใดหรือไม่อย่างไร  จากการที่เธอต้องยอมถอดผ้าคลุมเพื่อมาหางานทำ
                                    ________________________________________________
[1] ผู้เขียนทดลองอ่านแนวคิดนี้เมื่อปี พ.ศ. 2552  เพื่อจะหาคำอธิบายต่อความทุกข์ของผู้คนต่างศาสนาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งผู้เขียนได้พบและได้พูดคุยด้วยในสนามวิจัย ความคิดนี้หวนกลับเข้ามาสู่ความสนใจของผู้เขียนอีกครั้งเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2554 เมื่อผู้เขียนได้พบปะกับผู้คนมากหน้าหลายตาในตลาดปัตตานี ซึ่งพวกเขาได้ถ่ายทอดความรู้สึกเป็นทุกข์จากสภาพสังคมที่พวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ซึ่งถูกมองอย่างเหมารวมว่า "สร้างปัญหาให้ประเทศชาติ"

บรรณานุกรม
ชิเกฮารุ ทานาเบ. ( 2551). ชุมชนกับ การปกครองชีวญาณ. : กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีในภาคเหนือของไทย.
กรุงเทพ :  ศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร.
มาลี สิทธิเกรียงไกร. (2551). การแพทย์กับการผลิตซ้ำความทุกข์เชิงสังคม. วารสารสังคมศาสตร์. ปีที่
            20 ฉบับที่ 1/2551. หน้า 41- 82.
Benthall, Jonathan.(1997, Jun). Speaking of Suffering. Anthropology Today, Vol. 13, No. 3,
            pp. 1-2.
Das, Veena. (1995). Critical Events : An Anthropological Perspective on Contemporary
        India. Delhi : Oxford University Press.
__________. (2001, Winter). Violence and Translation. Anthropological Quarterly, Vol. 75, No.
        1 pp. 105-112.
Farmer, Paul.(1996, Winter). On Suffering and Structural Violence: A View from Below.
Daedalus, Vol. 125, No. 1, Social Suffering , pp. 261-283.
Kleinman,  Arthur., Das,  Veena., and Margaret Lock (eds.). (1997). Social Suffering.
            Berkeley : University California Press,1997  
Kleinman,  Arthur. (2000). The  Violences of Everyday Life : The Multiple Forms and Dynamics
            of  Social Violence. In Kleinman,  Arthur., Das,  Veena., Ramphele, Mamphela., and
Reynolds,  Pamela (eds.). Violence and Subjectivity. University of California Press.,
p.226-241.
Michael Moerman. Reviewed work(s): Isan: Regionalism in Northeastern Thailand by Charles
            F. Keyes American Anthropologist, New Series, Vol. 70, No. 3 (Jun., 1968), pp. 596-597
Robert, Desjarlais., Eisenberg, Leon. Good, Byron., and Kleinman, Arthur (eds.). (1995). World
Mental Health : Problems and Priorities in Low-Income Countries. New York : Oxford
University Press.

1 ความคิดเห็น:

  1. แล้วมันมีความสุขเชิงสังคมบ้างไหมครับ ...

    แบงค์

    ตอบลบ