วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

กลุ่มภาษาตระกูลไท-กะได:เกณฑ์การจัดจำแนกและข้อถกเถียงทางทฤษฎี

ดำรงพล อินทร์จันทร์ [1]


1. เกณฑ์และข้อถกเถียงว่าด้วยการจัดจำแนกทางภาษา

ปัจจุบันการจัดจำแนกทางภาษาของกลุ่มคนปรากฏข้อถกเถียงทางทฤษฏีและการกระจายตัวนับจากอดีตมาแล้ว ด้วยความมุ่งหมายเพื่อตอบคำถามเรื่องถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมหรือถิ่นกำเนิด เส้นทางการย้ายถิ่นฐาน หรือจัดวางกลุ่มคนภายใต้รัฐชาติสมัยใหม่ หากด้วยมุมมองความคิดแตกต่างกันว่า ภาษาในกลุ่มคนตระกูลเดียวกันในปัจจุบันซึ่งมีความแตกต่างกันนั้นอาจเคยมีบรรพบุรุษร่วมกันมาในอดีตแล้วแยกตัวจากกันในภายหลัง ต้องอาศัยการอธิบายประกอบหลักฐานสนับสนุนรวมถึงบริบทด้านต่าง ๆ เช่น โบราณคดี ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา หรือพันธุศาสตร์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการแยกตัวจากกันนั้นส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางภาษา หรือในทางตรงกันข้ามอาจเกิดการรวมกันด้วยเหตุผลทางสังคมและการเมืองก็เป็นได้ หลักฐานแต่ละด้าน ต่างเป็นเอกเทศของตัวเอง ขณะเดียวกันด้วยก็อาจรวมหรือหยิบยืมหลักฐานอื่นเข้าด้วยกันเพื่ออธิบายให้หนักแน่นมากขึ้น กรอบความคิดภายใต้หลักฐานเช่นนี้เป็นไปภายใต้เงื่อนไขเฉพาะ ซึ่งในข้อถกเถียงทางทฤษฎีการจัดจำแนกของกลุ่มคนตระกูลภาษาไท-กะไดก็ปรากฏการศึกษาในแนวทางเดียวกันนี้เช่นกัน ในส่วนนี้จะทำความเข้าใจเกณฑ์การแบ่งกลุ่มทางภาษาและประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่ข้อถกเถียงของการจัดจำแนกตระกูลภาษาไท-กะไดภายใต้กลุ่มตระกูลภาษากลุ่มใหญ่ของเอเชียตะวันออก และข้อโต้แย้งทางทฤษฎีในการอธิบายการกระจายตัวและถิ่นกำเนิดของภาษาในกลุ่มดังกล่าวต่อไป
หมู่บ้านของชาวจ้วง กลุ่มปู้หนงในอำเภอกว่างหนาน
เขตปกครองตนเองชนชาติจ้วง-แม้ว เหวินซาน มณฑลยูนนาน
สาธารณรัฐประชาชนจีน -  ผู้เขียน

เกณฑ์และระบบในการจัดจำแนกกลุ่มของภาษาการจัดกลุ่มภาษา (typological classification; language classification) ปรากฏตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 -19 ด้วยกระบวนการแสวงหาความรู้จากแบบตรรกวิทยา(logic)ซึ่งเป็นศาสตร์เชิงทฤษฎีที่เน้นในรูปแบบและกฎของการคิด แบบเหตุผลนิยม(Rationalism) ซึ่งเป็นปรัชญาที่มองเหตุผลเป็นพื้นฐานของการรับรู้โดยประสาทสัมผัสและกิจกรรมของมนุษย์ มาเป็นเชิงประจักษ์นิยม (empiricism) ที่เชื่อว่าพื้นฐานของความรู้มาจากประสาทสัมผัสและประสบการณ์ ในยุคสมัยที่โลกตะวันตกใช้วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์อธิบายปรากฏการณ์ การจัดกลุ่มภาษาได้รับอิทธิพลจากการจัดหมวดหมู่สิ่งมีชีวิตของนักทฤษฎีวิวัฒนาการ การศึกษาเปรียบเทียบภาษากลุ่มต่างๆ ที่เชื่อว่ามีเชื้อสายเดียวกันในภาคพื้นยุโรป ใช้ความเหมือนและความต่างของภาษามาเปรียบเทียบกันตามหลักเกณฑ์และวิธีการไปยังการสืบสร้างภาษา (language reconstruction) ในสมัยเก่ากว่า โดยแนวคิดการจัดกลุ่มภาษานี้เชื่อมโยงกับวิวัฒนาการของภาษากับระดับอารยธรรมของกลุ่มชน กลุ่มคำโดด(isolating language)เป็นภาษาที่มีวิวัฒนาการทางภาษาขั้นต่ำหรือขั้นแรก ขณะที่กลุ่มภาษาผันรูป(inflecting language) ถือว่ามีวิวัฒนาการทางภาษาขั้นสูง นักภาษาศาสตร์ในสมัยต่อมาไม่เห็นด้วย และไม่ยอมรับความคิดดังกล่าว เพราะภาษาเป็นหน่วยที่เป็นเอกภาพ การอธิบายเพียงลักษณะเดียวเป็นการอธิบายทั้งภาษา หากภาษาเปลี่ยนลักษณะก็มีผลทำให้ภาษาเปลี่ยนกลุ่ม หรือการยึดเกณฑ์อย่างเดียวโดยเคร่งครัดไม่น่าจะถูกต้องเพราะภาษามีลักษณะหลายหลาก หรือภาษาหนึ่งๆอาจใช้วิธีการแสดงลักษณะได้หลายแบบ(ปราณี กุลละวณิชย์, 2545) แนวทางการจัดจำแนกกลุ่มทางภาษายังมีปัญหาถกเถียงกันอยู่ อาทิ การแยกความแตกต่างระหว่างภาษาย่อย(dialect)กับภาษา(language) มีความคลาดเคลื่อนหรือไม่แน่นอนตายตัว นอกจากนั้นแล้วการจัดจำแนกทางภาษาไม่อาจขึ้นกับหลักการทางภาษาอย่างเดียว มีปัจจัยอื่นที่ส่งผลหรือต้องพิจารณาด้วย อาทิ ประวัติศาสตร์ การเมือง สังคมวัฒนธรรม และศาสนา ด้วยแต่ละภาษามีลักษณะเฉพาะในระบบเสียง คำศัพท์ และไวยากรณ์ ขณะเดียวกันก็อาจมีความคล้ายคลึงกันอันจะนำมาสู่การจัดกลุ่มภาษาเข้าด้วยกัน
ด้วยภาษาของโลกมีจำนวนมากประมาณถึง 2,000-7,000 ภาษา จึงจำเป็นต้องมีการแบ่งเป็นกลุ่มตระกูลสาขา โดยอาศัยเกณฑ์พิจารณาหลายประการ แต่ละประการย่อมมีเป้าหมายเฉพาะตัว หรือสนองตอบความสนใจใคร่รู้ต่างแบบกัน ในที่นี้ขอยกตัวอย่างการแบ่งกลุ่มของสรัญญา เศวตมาลย์(2542) นักภาษาศาสตร์เชิงประวัติซึ่งแบ่งกลุ่มภาษาด้วย 3 วิธีคือ พิจารณาจากโครงสร้างทางภาษา(structural characteristics) ตามความสัมพันธ์ทางเชื้อสาย(genetic relationships) และตามลักษณะเด่นตามพื้นที่ (area features) พบว่า การแบ่งกลุ่มนั้นแต่ละวิธีไม่ได้ปฏิเสธวิธีอื่น อาจพบการเชื่อมโยงวิธีการมาสนับสนุนซึ่งกันและกันได้เช่นกัน ได้แก่ โดยหลักการแล้วการแบ่งตามลักษณะโครงสร้างของภาษานั้นพิจารณาภาษาที่มีระบบเสียง ระบบหน่วยคำ หรือไวยากรณ์เหมือนกันจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน เช่น โครงสร้างทางวากยสัมพันธ์ของภาษาประกอบด้วย ประธาน กริยา กรรม มีการจัดแบ่งจากการเรียงลำดับคำต่างกัน เป็นต้น การแบ่งตามโครงสร้างเป็นวิธีการที่นำไปสู่การค้นพบลักษณะโครงสร้างทางภาษาที่เป็นลักษณะสากลที่ปรากฏในทุกภาษาที่ว่า ภาษาที่พัฒนามาจากภาษาแม่ (proto-language)ภาษาเดียวกันถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ขณะที่การแบ่งตามลักษณะเด่นตามพื้นที่ซึ่งพิจารณาจากลักษณะเด่นด้านระบบเสียงและระบบวากยสัมพันธ์ที่พบตามพื้นที่ต่าง ๆของโลกก็อาศัยลักษณะโครงสร้างสำคัญของเสียงและไวยากรณ์ของภาษามาใช้แบ่งภาษาต่างตระกูลที่มีลักษณะเด่นร่วมกันในพื้นที่หนึ่งๆ หรือเป็นลักษณะเด่นที่พบในภาษาที่ไม่ได้อยู่ในตระกูลเดียวกัน หรือในภาษาที่มีการติดต่อกัน ภาษาหนึ่งอาจปรับรับลักษณะเด่นจากอีกภาษาหนึ่งมาใช้ในภาษาตน มีภาษาแม่แบบ (source language)ซึ่งมีอิทธิพลต่ออีกภาษาหนึ่ง ใช้เป็นวิธีการแบ่งกลุ่มภาษาออกเป็นกลุ่มย่อยได้ เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกเป็นพื้นที่ซึ่งมีลักษณะเด่นทางการใช้เสียงวรรณยุกต์ ลักษณะเด่นเสียงปลายลิ้นม้วนปรากฏในภาษาแถบอินเดีย อันเป็นลักษณะเด่นของภาษาตระกูลดราวิเดียน แล้วต่อมาแพร่เข้าไปในภาษาตระกูลอินโด-อิหร่าน(สรัญญา เศวตมาลย์, 2545: 103)

การจัดจำแนกกลุ่มภาษาตามเชื้อสายดูจะเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย ด้วยหลักเกณฑ์ว่า ภาษาที่ได้พัฒนามาจากภาษาแม่ (proto - language)หรือภาษาดั้งเดิม (ancestor language)ภาษาเดียวกันจะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มภาษาเดียวกัน โดยใช้การสืบสร้างภาษาตามการเปรียบเทียบ (comparative reconstruction) ซึ่งมีหลักว่า ภาษาที่มีความสัมพันธ์ทางเชื้อสายต่อกันจะมีเสียงและการใช้คำศัพท์คล้ายคลึงกัน เช่น คำศัพท์เชื้อสาย (cognates)ได้แก่ ศัพท์ที่บ่งอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย จำนวนนับ เครือญาติ และศัพท์ในชีวิตประจำวัน ลักษณะสภาพทางธรรมชาติ เครื่องมือเครื่องใช้พื้นฐาน เมื่อเปรียบเทียบคำร่วมเชื้อสายจะพบว่ามีความคล้ายคลึงกันหรือต่างกันตามตระกูลเชื้อสายของภาษา คำร่วมเชื้อสายจะแสดงลักษณะความคล้ายคลึงกันทางเสียงที่เป็นระบบร่วมกัน ภาษาที่มีระดับความสัมพันธ์ต่างกันจะแสดงความคล้ายคลึงกันทางเสียงต่างกันด้วย การกำหนดว่าภาษาใดภาษาหนึ่งมีความสัมพันธ์ทางเชื้อสายร่วมกับอีกภาษาหนึ่ง ทำให้นักภาษาศาสตร์สามารถที่จะสืบสร้างภาษาที่เป็นภาษาแม่ร่วมกันได้ คำร่วมเชื้อสายที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันทางเสียงก็จะสามารถสืบสร้างหาคำศัพท์พื้นฐานดั้งเดิม(proto-form) ซึ่งจะใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการจำแนกภาษาที่มีความสัมพันธ์ทางเชื้อสายร่วมกันต่อไป แต่ประเด็นที่เป็นปัญหาถกเถียงในการจัดกลุ่มภาษาตามเชื้อสายก็คือ จำนวนของคำร่วมเชื้อสายที่จะนำมาใช้เป็นข้อมูลในการเปรียบเทียบหาความสัมพันธ์ของภาษาหนึ่งกับอีกภาษาหนึ่ง ในการเก็บข้อมูลจำนวนศัพท์นั้นควรจะมีมากน้อยเพียงไรในการที่จะสืบสร้างทางภาษา หรือถ้าภาษานั้นไม่มีรายการศัพท์ที่ใช้เป็นต้นแบบจะแก้ปัญหาอย่างไร ทำให้การศึกษาหาความสัมพันธ์ทางภาษาใช้เวลานาน นอกจากนั้นเกณฑ์ที่ใช้ในการสร้างความสัมพันธ์ของภาษาตามเชื้อสายไม่ลงรอยกันในหมู่นักภาษาศาสตร์ว่า ภาษาที่มีความสัมพันธ์ต่อกันนั้น ควรจะมีความเหมือนกันมากน้อยเพียงใด และความเหมือนนั้นเนื่องจากปัจจัยการติดต่อระหว่างภาษาส่งผลต่อการหยิบยืมหรือเป็นความเหมือนกันทางลักษณะทางภาษา จะเห็นได้ว่า ภาษาจะมีลักษณะโครงสร้างที่เหมือนกันได้โดยที่ภาษานั้นไม่มีความสัมพันธ์ทางเชื้อสายต่อกัน ภาษามีลักษณะโครงสร้างที่เหมือนกันได้อาจจะนำไปสู่ข้อสรุปการแบ่งกลุ่มภาษาที่ผิดพลาดได้ ลักษณะโครงสร้างที่เหมือนกันนี้อาจเกิดขึ้นจากการติดต่อกัน ในทางกลับกันแล้วภาษาที่มีลักษณะโครงสร้างต่างกันอาจมีความสัมพันธ์ทางเชื้อสายต่อกันได้ หรือพบปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ของคำร่วมเชื้อสาย ตัวอย่างที่ปรากฏได้แก่ ภาษาอังกฤษที่มีโครงสร้างทางไวยากรณ์เหมือนภาษาไทย มีการจัดเรียงลำดับหน่วยไวยากรณ์ในประโยคบอกเล่า ในรูปของประธาน กริยาและกรรม หากในทางเชื้อสายภาษาอังกฤษอยู่ในตระกูลภาษาเยอรมานิค(Germanic) ภาษาไทยอยู่ในตระกูลภาษาไท-กะได (Tai-Kadai) เป็นตระกูลภาษาที่ต่างกัน
จากที่กล่าวมาข้างต้นทำให้เห็นว่า การแบ่งกลุ่มทางภาษานั้นไม่ได้มีข้อยุติหรือกฏเกณฑ์ตายตัว หากสัมพันธ์กับวัตถุประสงค์ในการใช้หรือทำความเข้าใจ เกณฑ์การจำแนกแต่ละแบบไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกันเสมอไป ผลที่ไม่สอดคล้องกันก็มีส่วนช่วยให้เข้าใจความแตกต่างที่เกิดขึ้น ดังนั้นความสัมพันธ์ของกลุ่มภาษาตามเชื้อสายและพื้นที่ภูมิศาสตร์อันเป็นถิ่นอาศัยของกลุ่มผู้ใช้ภาษานั้นสำคัญต่อการทำความเข้าใจในชุดของการเปลี่ยนแปลงทางภาษาและภูมิหลังความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่มีต่อความแตกต่างทางเชื้อสายซึ่งเกิดขึ้น บางกรณีอาจเป็นเหตุเป็นผลสอดประสานกันอย่างดี ขณะที่บางกรณีจำต้องอาศัยการสืบค้น ตรวจสอบ พิสูจน์จากหลักฐานอื่นประกอบ นอกจากนั้นข้อแตกต่างจากการแบ่งกลุ่มตระกูลภาษาสามารถอ้างอิงถึงอายุความเก่าแก่กลับไปได้เมื่ออธิบายเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อสายของภาษา ภูมิศาสตร์ หลักฐานทางโบราณคดี และพันธุศาสตร์ ซึ่งจะอภิปรายต่อไป

2. กลุ่มภาษาตระกูลภาษาไท-กะไดภายใต้ข้อถกเถียงการจัดจำแนกกลุ่มภาษาของเอเชียตะวันออก


ในส่วนนี้จะทำความเข้าใจในการจัดจำแนกกลุ่มตระกูลภาษา ถิ่นกำเนิด และการกระจายตัวของกลุ่มภาษาหลักของเอเชียตะวันออกตลอดจนข้อถกเถียงที่เกิดขึ้น ด้วยกลุ่มตระกูลภาษาไท-กะไดเป็นตระกูลภาษาใหญ่กลุ่มหนึ่งในตระกูลภาษาหลักของเอเชียตะวันออก ซึ่งปรากฏประเด็นถกเถียงทางทฤษฎีเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเชื้อสายกับกลุ่มตระกูลภาษา ด้วยอาศัยวิธีวิทยาทางภาษาศาสตร์ โบราณคดี และพันธุศาสตร์มาประกอบกัน โดยจะเน้นทางภาษาศาสตร์เป็นสำคัญ

เครื่องประดับศีรษะของสตรีชาวเย้าในตลาดนัด
ที่หมู่บ้านกุ้ยหม่าอำเภอกว่างหนานของเหวินซาน
 มณฑลยูนนาน ประเทศจีน - ผู้เขียน

ลาเรนซ์ ซาการ์ทและคณะ(Laurence Sagart et.al, 2005) กล่าวว่า ในการจัดจำแนกตระกูลภาษาเอเชียตะวันออกนั้น ยังไม่มีกฏเกณฑ์สากลมากนัก หากมีการศึกษาทำความเข้าใจการก่อตัวของประชากร ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและกลุ่มตระกูลภาษา โดยนักพันธุศาสตร์ นักมานุษยวิทยากายภาพ นักโบราณคดี และนักภาษาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจับคู่รหัสพันธุกรรม(genetic markers) หมู่เลือด และเกี่ยวกับโมเลกุล ซึ่งมีความก้าวหน้าไปมาก สามารถบอกถึงถิ่นกำเนิดแรกเริ่มของมนุษย์สมัยใหม่ของเอเชียตะวันออกตลอดจนการเคลื่อนย้ายกระจายตัวของประชากรที่เกิดขึ้นในอดีตได้ นักโบราณคดีชาวจีนชี้ว่า แหล่งกำเนิดวัฒนธรรมข้าวพบยังบริเวณตอนกลางของลุ่มแม่น้ำแยงซีเมื่อราว 10,000 ปีมาแล้ว ส่วนวัฒนธรรมข้าวฟ่างก่อตัวขึ้นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำหวงเหอในยุคต่อมา ส่วนนักภาษาศาสตร์ใช้การสืบสร้างทางภาษาเพื่อหาภาษาดั้งเดิมของกลุ่มตระกูลภาษาหลักและเสนอความสัมพันธ์ทางเชื้อสายขึ้นมา แสดงช่วงเวลาใกล้เคียงกันแสดงให้เห็นถึงการกระจายตัวของพืชท้องถิ่น นักวิชาการทั้งสามศาสตร์จึงพยายามตอบคำถามสมมติฐานที่ว่า ภาษาและหน่วยพันธุกรรม(ยีน)มีความสอดคล้องต้องกันอย่างไร ด้วยกระบวนการที่แต่ละศาสตร์อาจเป็นอิสระจากกัน หรืออาศัยหลักฐานต่างสาขาร่วมกัน หรืออาจมีสมมติฐานที่ขัดแย้งกันในแต่ละสาขาอยู่บ้างก็เป็นไปได้ แต่ที่สำคัญก็คือนัยสำคัญของสมมติฐานที่เป็นการตีความของตนเอง ซาการ์ทจึงได้เสนอข้อตกลงเกี่ยวกับภาษาเอเชียตะวันออกที่คิดว่าค่อนข้างเป็นที่ยอมรับขึ้นมาในที่นี้ โดยเมื่อเขาแยกคนที่พูดภาษาญี่ปุ่น เกาหลี ไอนุ(Ainu) และอัลเทอิค(Altaic) (หรือในตระกูลภาษามองโกเลีย (Mongolic) เทอร์คิด (Turkic) และทุงกูสิค (Tungusic)ในทางตอนเหนือและตะวันออกของภูมิภาคออกไปแล้ว สามารถแบ่งภาษาของเอเชียตะวันออกเป็น 5 กลุ่มตระกูลใหญ่ได้แก่ จีน –ทิเบต (Sino-Tibetan) ม้ง-เมี่ยน (Hmong-Mien) ไท-กะได (Tai-Kadai), ออสโตร-เอเชียติก (Austro-Asiatic) และ ออสโตรนีเชียน (Austronesian) (ดังตาราง)


ตารางแสดง 5 กลุ่มตระกูลภาษาของเอเชียตะวันออก


กลุ่มตระกูลภาษา(Phylum)
ชื่อเรียกอื่นๆ (Alternative name)
ภาษาที่ใช้ (Representative language)
ที่ตั้งถิ่นฐานสำคัญ(Principal locations)
อายุบรรพบุรุษโดยประมาณ (Approximate date of ancestor)
จีน-ทิเบต
ทิเบต-พม่า
จีน ทิเบต พม่า จิงโป
จีน รวมทิเบต พม่า เนปาล ภูฏาน ตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย
6,000 - 7,000 ปี
ม้ง-เมี่ยน
แม้ว-เย้า
ม้ง เมี่ยน โฮเต
ตอนใต้ของจีน  พม่าอินโดจีน
2,500 ปี
ไท-กะได
ข้า-ไท (Kra –Dai)  ไต
ไทย ลาว ก้ำ หลี    เก้อหล่าว
ตอนใต้ของจีน พม่า อินโดจีน
เก่ากว่า 4,000 ปี
ออสโตร-เอเชียติก

เวียดนาม เขมร มอญ คาซี มุนดา
อินโดจีน ตอนกลางของมาเลเซีย ตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย
7,000 ปี
ออสโตรนีเซียน

อตายัล(Atayal) รูไค(Rukai) ไพวาน(Paiwan) ตากาล็อก มาเลย์ มาลากาซี ฮาวายอิ เมารี
หมู่เกาะแปซิฟิค ยกเว้นออสเตรเลีย และบางส่วนของนิวกีนี มาดากาสการ์

ที่มา: ดัดแปลงจาก Table 0.1 Five East Asia phyla (Sagart, Blench and Sanchez-Mazas (Eds.), 2005: 2)



ซาการ์ท(Sagart, 2005: 2-4) อธิบายแต่ละกลุ่มตระกูลภาษาในแง่ของจำนวนภาษา ภูมิศาสตร์การตั้งถิ่นฐาน ข้อสันนิษฐานเรื่องถิ่นกำเนิดบรรพบุรุษของภาษา หรือลักษณะรูปแบบโครงสร้าง และการเรียงลำดับคำในภาษานั้น ๆโดยสังเขปว่า

จีน-ทิเบต เป็นกลุ่มตระกูลใหญ่ประกอบไปด้วย 365 ภาษา เป็นตระกูลภาษาที่มีจำนวนผู้พูดมากที่สุดในโลกถึง 1,000 ล้านคน ประกอบด้วย 2 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มทิเบต-พม่า ประกอบด้วย ทิเบต พม่า จิงโป(Jingpo) และภาษาต่างๆ ในลาว พม่า ตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย เนปาล และภูฏาน และกลุ่มภาษาซินิติค(Sinitic)ประกอบด้วยซินิติคเหนือคือภาษาจีนกลาง(Mandarin)และซินิติคใต้ได้แก่ กวางตุ้ง(Cantonese), จีนแคะ(Hakka), อู (Wu), เซียง(Hsing) และมิน(Min) ลักษณะสำคัญของภาษากลุ่มนี้ก็คือเป็นภาษาที่มีวรรณยุกต์ ลักษณะทางหน่วยคำเป็นภาษาคำโดดไม่ค่อยมีพยัญชนะควบกล้ำที่ซับซ้อน การเรียงลำดับคำจะอยู่ในรูปประธาน ตามด้วยกริยา และกรรม หรืออยู่ในรูปประธาน ตามด้วยกรรม และกริยาก็ได้
กลุ่มชาวม้ง(แม้ว)ในตลาดนัดหมู่บ้านกุ้ยหม่า
อำเภอกว่างหนานของเหวินซาน
มณฑลยูนนาน ประเทศจีน - ผู้เขียน
ม้ง-เมี่ยน เป็นกลุ่มตระกูลภาษากลุ่มย่อยมีเพียง 32 ภาษา ได้แก่ ภาษาถิ่นของม้ง และโฮเต (Ho Nte), บูนุ(Bunu), เมี่ยน(Mien) เป็นต้น มีถิ่นกำเนิดอยู่ในตอนกลางและตอนล่างของที่ราบลุ่มแม่น้ำแยงซี บรรพบุรุษอยู่ในสมัยรัฐฉู่ (the state of Chu) บริเวณใกล้เคียงกับทางใต้ของจีนในสมัยราชวงศ์โจว (Zhou dynasty)

สตรีชาวหลีในเกาะไหหลำ - ผู้เขียน

ไท-กะได ประมาณ 70 ภาษาย่อยในตอนใต้ของจีน(รวมถึงเกาะไหหลำ) ไทย ลาว พม่า เวียดนาม เป็นชุมชนเกษตรกรรมเพาะปลูกข้าวในนาที่ลุ่ม ไทยมีตัวอักษรเก่าแก่ที่สุด ไท-กะได(โดยเฉพาะกลุ่มย่อย ก้ำ –ไท(Kam-Tai))ได้รับอิทธิพลจากภาษาจีนอย่างมากเช่นเดียวกับกลุ่มตระกูลภาษาม้ง-เมี่ยน เป็นตระกูลภาษาที่คล้ายภาษาจีนตามตัวอักษร มีพยางค์เดี่ยว วรรณยุกต์ และปรากฏชัดทางระบบหน่วยคำ


ออสโตร – เอเชียติก มีตระกูลภาษาหลากหลายอย่างมากถึง 168 ภาษา มีจำนวนผู้พูดทั้งหมดประมาณ 40 ล้านคน ในทวีปอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากแต่ไม่พบถิ่นกำเนิดเดิม เนื่องจากการกระจายตัวก็ยังคงเป็นปริศนาอยู่ หากส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่พูดภาษาในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มภาษามอญ-เขมร(Mon – Khmer) และเวียดนาม[2] กลุ่มภาษามุนดารี(Mundari) ทางอินเดียตอนเหนือ(ได้แก่ กลุ่มคาสี (Khasi) มุนดา(Munda) บาร์นาร์ (Bahnar)) และกลุ่มภาษานิโคบาร์ (Nicobar) อันประกอบด้วยภาษาคาร์ (Car) และนานคาวรี(Nancowry) คนที่พูดภาษาออสโตร-เอเชียติกค่อนข้างจะเป็นกลุ่มคนที่ทำการเพาะปลูกข้าว แต่บางชุมชนในมาเลเซียตอนกลาง เกาะนิโคบาร์(Nicobar Island)ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย และในบางแห่งยังคงมีวิถีชีวิตแบบเก็บหาอาหารอยู่ ลักษณะสำคัญทางภาษาของภาษาตระกูลออสโตร-เอเชียติกคือบางภาษาจะมีวรรณยุกต์เช่น ภาษาเวียดนาม ขณะที่บางภาษาจะมีระบบเสียงควบกล้ำจำนวนมากและซับซ้อน เช่น ภาษามอญ มีเสียงควบกล้ำมากถึง 4 เสียง การเรียงลำดับคำของภาษาอยู่ในรูปของประธาน กริยา และกรรม บางภาษาก็เรียงในรูป ประธาน กรรมและกริยา

ด้วยออสโตร –เอเชียติกเป็นหนึ่งในกลุ่มตระกูลภาษาที่เป็นที่รู้จักน้อยมากในโลก เจอร์ราร์ด ดิฟเฟลอท์ (Gérard Diffloth, 2005) ซึ่งศึกษาด้วยกระบวนการสืบสร้างและสืบค้นภาษาจากการทำงานภาคสนาม เขาสืบสร้างทางภาษาในคำศัพท์โบราณเกี่ยวกับข้าว พืชสัตว์ และการกระจายของภาษา มีข้อเสนอว่ามีการแพร่กระจายของภาษาในยุคต้นที่มีการเพาะปลูกแบบหมุนเวียนพบตามพื้นที่เชิงเขาบริเวณป่าต้นน้ำของที่ราบลุ่มแม่น้ำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย เมื่อสืบสร้างภาษาเชื่อมโยงกับการเพาะปลูกข้าวและชื่อพันธุ์พืชแล้วจึงสร้างแผนภูมิต้นไม้ภาษาของออสโตร-เอเชียติกขึ้นมา จนนำไปสู่ประมาณการอายุของภาษาบรรพบุรุษออสโตร-เอเชียติกอยู่ในช่วง 6,000 – 7,000 ปี(Sagart, 2005: 3)[3] และสันนิษฐานว่าภาษากลุ่มนี้น่าจะมีถิ่นกำเนิดอยู่ทางด้านตะวันออกที่ซึ่งมีความหลากหลายสูงสุด(Diffloth, 2005: 77-80) ขณะที่จอร์จ ฟาน ไดรแอม (George van Driem, 2005) เสนอเกี่ยวกับการจัดจำแนกภายในกลุ่มภาษาจีน-ทิเบตจากการสืบสร้างแผนภูมิต้นไม้ภาษาสาขาทิเบต-พม่า และอินโดจีน ประกอบการตีความจากหลักฐานทางโบราณคดี ประกอบข้อมูลทางพันธุศาสตร์ เสนอว่าถิ่นกำเนิดภาษาทิเบต-พม่าอยู่ในเสฉวนแล้วจึงกระจายมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไดรแอมยังเสนออีกว่ากลุ่มตระกูลภาษาจีน-ทิเบตต้องถูกพิจารณาใหม่ โดยเฉพาะการรวมกลุ่มซินิติคและโบดิค(Bodic)เข้าเป็นกลุ่มย่อยเดียวกัน(Driem, 2005: 81-106)

ออสโตรนีเชียน เป็นกลุ่มตระกูลภาษาขนาดใหญ่มากมีภาษามากถึง 1,262 ภาษา ครอบคลุมอาณาบริเวณแปซิฟิกทั้งหมด ยกเว้นบางส่วนของนิวกินีและหมู่เกาะโดยรอบ และออสเตรเลีย รวมถึงมาดากัสกาต์ บางส่วนของเวียดนามใต้ ภาษาออสโตรนีเชียน ได้แก่ มาเลย์ ชวา ตากาล็อก และมาลากัสซี บรรพบุรุษของตระกูลภาษานี้อยู่ในช่วงราวก่อนคริสตศตวรรษประมาณ 5,500ปีในไต้หวัน เป็นกลุ่มที่เพาะปลูกข้าวและข้าวฟ่าง บริเวณซึ่งมีความหลากหลายสูงที่สุด หากสมติฐานเชิงทฤษฎีนี้ถูกโต้แย้งโดยปีเตอร์ เบลล์วูด(Peter Bellwood, 2005: 17-30) ซึ่งกล่าวว่าทฤษฎีการแพร่กระจายของภาษากับการเกษตรนั้นไม่สามารถอธิบายทุกสิ่งได้ทั้งหมด ต้องอาศัยหลักฐานทางโบราณคดี พันธุศาสตร์มาประกอบ เบลล์วูดเสนอต่างออกไปว่าภูมิศาสตร์การกระจายของภาษาเกิดขึ้นบริเวณตอนกลางของจีนแถบเขตปลูกข้าวยุคแรกเริ่มในตอนกลางลุ่มแม่น้ำแยงซีและหวงเหอในยุควัฒนธรรมหินใหม่ (Neolithic cultures) เบลล์วูดเสนอว่ารูปแบบแรกเริ่มของตระกูลหลักทางด้านใต้คือ ออสโตร-เอเชียติก ม้ง-เมี่ยน ออสโตรนีเชียนและไทได้เกิดขึ้นใกล้กัน มีแลกเปลี่ยนทั้งทางเชื้อสายและพื้นที่กัน

นอกจากนั้นเบลล์วูด (Bellwood, 2005: 17-30)ยังเสนอเรื่องการสำรวจตรวจสอบสมมติฐานการกระจายตัวของภาษา และการเกษตรกรรมในบริบทของเอเชียตะวันออกว่า การเริ่มต้นการกระจายตัวของตระกูลภาษาหลักในเขตร้อนและเขตอบอุ่น เช่น อินโด-ยูโรเปียน อัฟโฟร-เอเชียติก ออสโตร-เอเชียติก และออสโตรนีเชียน ปรากฏการตั้งถิ่นฐานด้วยเศรษฐกิจที่พึ่งพาการเกษตรและความหนาแน่นของประชากรเพิ่มขึ้นในพื้นที่ที่ทำการเกษตร ความหนาแน่นของประชากรที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้มีระดับการเคลื่อนไหวที่อาจเห็นไม่ชัดเจน หากเป็นข้อจำกัดที่ไม่อาจปฏิเสธได้ สมมติฐานซึ่งเชื่อมโยงกับพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหลายกลุ่มตระกูลภาษา อาจกล่าวได้ว่าการพัฒนาทางภาษาศาสตร์และโบราณคดีไม่ได้ล้มล้างสมมติฐานเชิงทฤษฎี แต่ประยุกต์ไปสู่บริเวณจุดกำเนิดทางการเกษตรของจีน มีการประสานข้อมูลทางโบราณคดี ภาษาศาสตร์ และพันธุศาสตร์เข้าด้วยกัน เบื้องหลังของสมมติฐานเชิงทฤษฎีนี้ประกอบด้วย หนึ่ง-พัฒนาการทางการเกษตรยุคแรกมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อการกระจายของภาษา วัฒนธรรม และหน่วยพันธุกรรม(ยีน) ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่ดำรงชีพด้วยการเก็บหาของป่า ล่าสัตว์ สอง-หลักฐานการแพร่กระจายของตระกูลภาษาอย่างยาวนานในทางประวัติศาสตร์และในทางสังคมวัฒนธรรมจำเป็นต้องอาศัยการขับเคลื่อนของประชากร การเปลี่ยนแปลงของภาษาเป็นไปในระดับย่อยแต่ก็ไม่ได้โน้มนำให้กำเนิดของภาษาอินโด-ยูโรเปียนข้ามไปจากอนาโตเลียหรือยูเครนไปตะวันตก หรือภาษาออสโตรนีเชียนข้ามจากไต้หวันไปมาดากัสการ์และหมู่เกาะทางตะวันออก สาม-การแพร่ออกไปจากพื้นที่ใจกลางที่ทำการเกษตรมีแนวโน้มที่ของการลดลงของประชากรจากจุดศูนย์กลางจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เบลล์วูดเสนอเงื่อนไขเพิ่มเติมคือ ประการแรก-ตระกูลภาษาที่ทำการเกษตรเคยกระจายตัวไปมีหลายภาษา แรกเริ่มแพร่กระจายในกลุ่มเก็บหาของป่าล่าสัตว์ ต่อมา-ไม่ได้อนุมานว่า เมื่อการแพร่กระจายทางการเกษตรย้อนกลับไปหารากแท้ๆของตระกูลภาษาทั้งหมดแล้วจะต้องเป็นเกษตรกร เป็นการยากที่จะสืบสร้างแน่นอนว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นจากพื้นฐานภาษาโบราณ และสุดท้าย- ไม่ได้หมายความว่า มีการแพร่กระจายของกลุ่มย่อยหรือตระกูลภาษาที่ทำการเกษตรทั้งหมด บางกลุ่มอยู่กับที่และมีการผลิตที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องยาวนาน ตระกูลภาษาและกลุ่มย่อยหลัก ๆ อาทิเช่น บันตู, อินโด-ยูโรเปียน, อัฟโฟร-เอเชียติก, ออสโตร-เอเชียติก, จีน-ทิเบต, ออสโตรนีเชียน และยูโท-แอชเทค (Uto-Aztecan) สะท้อนการแพร่กระจายของการเกษตรมากกว่าการล่าสัตว์มาตั้งแต่ยุคหลังยุคหินใหม่แล้ว

หลักฐานของจีนบอกกำเนิดของการเกษตรของจีนใน 2 แหล่ง คือ ในตอนกลางของที่ราบลุ่มแยงซีเกี่ยวกับพันธุ์ข้าว Oryza sativa และตอนกลางหรือตอนล่างของที่ราบลุ่มหวงเหอเกี่ยวกับพันธุ์ข้าวฟ่างมีหาง Setaria itlalica ในเขตวัฒนธรรมเป่ยลี่กาง (Peiligang) ทางตอนกลางของที่ราบลุ่มหวงเหอและบริเวณใกล้เคียง มีพันธุ์ข้าวฟ่าง 2 ชนิด ส่วนตอนกลางของที่ราบลุ่มแยงซีพบหลักฐานทางโบราณคดีซึ่งบ่งบอกการเปลี่ยนจากพันธุ์พื้นเมืองไปสู่พันธุ์เพื่อการเพาะปลูก หลักฐานการค้นพบจากถ้ำในหูหนานและเจียงซีมีร่องรอยของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองและเครื่องกระเบื้องดินเผาอายุระหว่าง 7,000- 6,500 ปี ส่วนข้าวฟ่างมีหางบริเวณที่ราบหวงเหอเก่าแก่ไปจนถึง 6,500 ปี ในเขตวัฒนธรรมซื่อชาน-เป่ยลี่กาง(Cishan-Peiligang) และอาจจะถึง 6,000 ปีทางตอนใต้ของแมนจูเรีย(Bellwood, 2005: 17-31)

ความซับซ้อนในการจัดกลุ่มตระกูลภาษาเอเชียตะวันออกเป็นประเด็นถกเถียงมานานหลายทศวรรษแล้ว จึงไม่ง่ายนักในทางภาษาศาสตร์ที่จะตัดสินว่าภาษาตระกูลไทจะมีความสัมพันธ์ทางเชื้อสายกับภาษาตระกูลใด ต้นทศวรรษ 1940 พอล เค เบเนดิกท์(Paul K. Benedict, 1942) นักภาษาศาสตร์ที่ศึกษาทางมานุษยวิทยาได้เสนอการจัดจำแนกภาษาด้วยสมมติฐานที่ว่า ความสัมพันธ์ทางเชื้อสายต้องมาจากคำศัพท์พื้นฐาน เขาแสดงความคล้ายคลึงกันระหว่างภาษาไทยและออสโตรนีเชียนในจำนวนนับ คำเรียกสรรพนาม และคำศัพท์พื้นฐานอื่น ๆ ขณะเดียวกันเขาก็แย้งว่า ความคล้ายคลึงกันของคำระหว่างภาษาไทยและภาษาจีนไม่ไปด้วยกันในคำศัพท์พื้นฐาน เขาจึงแยกภาษาไทยออกจากภาษาจีน-ทิเบต ความสัมพันธ์ระหว่างภาษาไทยและจีนจึงเป็นเรื่องของการติดต่อกัน เมื่อแรกเบเนดิกท์แยกภาษาไทยจากอภิมหาตระกูลภาษาจีน-ทิเบต (Macro-Sino-Tibetan) ไปยังด้านออสโตรนีเชียนของออสตริก(Austric) ต่อมาเขาได้ลบออสโตร-เอเชียติก ออกจากชุดของไทยและออสโตรนีเชียน กลายเป็น ออสโตร-ไทย การจัดจำแนกทางภาษาศาสตร์ของกลุ่มเอเชียตะวันออกทั้งหมดแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักคือ กลุ่มตระกูลจีน-ทิเบต อยู่ในทางตอนเหนือ ประกอบด้วยภาษาจีนและ ทิเบต-พม่า กลุ่มตระกูลออสโตร-เอเชียติกอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ และออสโตร-ไทย อยู่ในตะวันออกเฉียงใต้ ความคิดของ เบเนดิกท์ ที่กล่าวว่า ภาษาจีน-ทิเบต ไม่เกี่ยวกับภาษาอื่นในเอเชียตะวันออก เซอร์เกย์ สตาร์รอสติน (Sergei Starostin, 1991) เห็นด้วยกับคำศัพท์พื้นฐานและสหสัมพันธ์ของเสียง (sound correspondence) ที่พบความสัมพันธ์ในภาษาคอเคซัสเหนือ(north Caucasus) และในเกต(Ket) ของที่ราบลุ่มเยนนิเซ (Yenisei valley)ซึ่งอยู่ในโซเวียตด้านติดกับเอเชีย นั่นคือสมมติฐานจีน-คอเคเซียน (Sino- Caucasian) เบเนดิกท์เสนอว่า กลุ่มบรรพบุรุษมีอายุราว 10,000 ปีอยู่ทางตะวันตกของเอเชียตะวันออกเป็นกลุ่มจีน-ทิเบตและจีน

ข้อถกเถียงมากมายสืบเนื่องมาจากข้อเสนอดังกล่าวของเบเนดิกท์ ทั้งในประเด็นที่เกี่ยวกับออสโตร –ไทย ย่อมเป็นข้อเสนอที่เปิดโอกาสให้เกิดการสืบค้นและแสวงหาแนวทางการสร้างคำอธิบายของนักภาษาศาสตร์สมัยต่อมา

นอกจากเบเนดิกท์แล้ว นักภาษาศาสตร์บางคนคือเอดมุนสัน และซอลนิท(Edmondson and Solnit, 1988) ได้จัดให้ภาษาตระกูลไทรวมเข้ากับภาษาไท -กะไดซึ่งพูดในบริเวณเวียดนาม และเรียกภาษาตระกูลนี้ว่าตระกูลภาษาก้ำ-ไท นอกจากนั้นยังสอดคล้องกับนักภาษาศาสตร์อีกหลายคน ได้แก่ มาสเปโร(Maspero, 1933) เกดนีย์(Gedney, 1976) และหลี่ (Li, 1976) ก็จัดให้ภาษาตระกูลไทมีความสัมพันธ์ทางเชื้อสายกับภาษาจีน เรียกว่า “ตระกูลภาษาจีน-ไท” ด้วยเหตุผลว่า ทั้งภาษาตระกูลไท และภาษาจีน มีลักษณะความสำคัญทางภาษาคล้ายคลึงกัน เช่น เป็นลักษณะภาษาคำโดด มีวรรณยุกต์ ระบบเสียงพยัญชนะและสระไม่สลับซับซ้อน ไม่มีเสียงควบกล้ำที่ซ้ำซ้อน มีการเรียงลำดับคำคล้าย ๆ กัน คือ อยู่ในรูปของประธานตามด้วยกริยา และกรรมคล้าย ๆ กัน

แต่กลุ่มที่มีความคิดเห็นต่างออกไปได้แก่ ชเลเกล (Schlegel, 1901) เบเนดิกท์ (Benedict, 1942, 1975) เอเกรอด(Egerod, 1976) เสนอว่า ความเหมือนกันทางภาษาเหล่านี้ อาจจะเป็นผลมาจากอิทธิพลของการยืม เนื่องจากภาษาเหล่านี้อยู่ในดินแดนที่ติดต่อไปมาถึงกันได้โดยสะดวกและมีการติดต่อค้าขายกันมาช้านาน อาจจะเป็นได้ว่าคนไทได้ยืมลักษณะทางภาษาบางลักษณะจากภาษาจีน ดังนั้นความสัมพันธ์ทางเชื้อสายของตระกูลภาษาจีน – ไท จึงไม่อาจเป็นไปไม่ได้ โดยเสนอว่า ภาษาตระกูลไทอาจจะมีสัมพันธ์ทางเชื้อสายกับภาษาออสโตรนีเชียน ขณะที่นักวิชาการทางภาษาศาสตร์หลายท่านไม่เห็นด้วย เนื่องจากตระกูลภาษาไทและออสโตรนีเชียนมีความแตกต่างทางพื้นฐานมาก คือ ภาษาตระกูลไทเป็นภาษาคำโดด เป็นภาษาที่มีวรรณยุกต์ ระบบเสียงสระ และพยัญชนะไม่ซับซ้อนและมีเรียงลำดับคำในรูปของ ประธาน ตามด้วยกริยา และกรรม ส่วนภาษาออสโตรนีเชียนมีลักษณะที่ตรงข้ามจากภาษาตระกูลไททั้งหมด โดยที่เป็นภาษาที่ไม่มีวรรณยุกต์ มีระบบเสียงสระและพยัญชนะที่ซับซ้อนในระบบภาษา และมีการเรียงลำดับคำในรูปของกริยา ตามด้วยประธาน และกรรม สลับกันในรูปของประธาน ตามด้วยกริยา และกรรม นอกจากนี้ คำร่วมเชื้อสายที่เป็นหลักฐานแสดงความสัมพันธ์ของภาษาตระกูลไทกับภาษาตระกูลออสโตรนีเชียน ตามที่เบเนดิกท์ได้เสนอไว้นั้นมีหลักฐานใหม่ว่า คำเหล่านั้น ไม่ใช่คำร่วมเชื้อสายที่แท้จริงแต่เป็นคำยืมที่ได้รับอิทธิพลมาจากการติดต่อของคนที่พูดภาษาทั้งสองตระกูลนี้ (Thurgood, 1993)

ต้นทศวรรษปี 1990 มีข้อโต้แย้งในความสัมพันธ์ทางเชื้อสายระหว่างจีนและออสโตรนีเชียน หรือทฤษฎีตระกูลภาษาจีน-ออสโตรนีเชียน ได้แก่ จีนใกล้ชิดกับออสโตรนีเชียนมากกว่าทิเบต-พม่า (1993) ไม่นานมานี้ (2001) ภาษาจีน-ออสโตรนีเชียน มี 2 สาขา คือ จีน-ออสโตรนีเชียน และออสโตรนีเชียน เพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงนี้จึงเรียกว่า กลุ่มอภิมหาตระกูลภาษาจีน-ทิเบต-ออสโตรนีเชียน (Macrophylum Sino –Tibetan – Austronesian) ภาษาโบราณอันบ่งชี้ว่าเป็นของกลุ่มที่เพาะปลูกข้าวและข้าวฟ่างในที่ราบลุ่มแม่น้ำหวงเหอราว 8,000 ปี ภาษาตระกูลไท-กะไดจัดเป็นสาขาหนึ่งของตระกูลออสโตรนีเชียน มากกว่าจะเป็นตระกูลภาษาที่แยกต่างหากจากจีน-ทิเบต-ออสโตรนีเชียน จึงรวมตระกูลภาษาจีน-ทิเบต ออสโตรนีเชียน และไท-กะไดรวมเข้าด้วยกันเป็น อภิมหาตระกูลภาษา (macrophylum) เดียวกัน การรวมออสตริกและ ออสโตร-ไทยถูกละทิ้งไปและนำกลับมาใช้ใหม่ในชื่อ อภิมหาออสตริก(greater Austric) สันนิษฐานว่าเกิดรวมเข้าด้วยกันตั้งแต่ศตวรรษที่ 9-8 ก่อนคริสตกาล(Sagart, Blench and Sanchez-Mazas 2005: 6)

ข้อเสนอในการรวมตระกูลภาษาทั้งห้าของเอเชียตะวันออกมีความชัดเจนมากขึ้นในกลุ่มย่อย แม้จะมีข้อถกเถียงระหว่างกลุ่มแต่ก็เป็นเพียงความแตกต่างในเรื่องของความพยายามจัดกลุ่มหรือตั้งชื่อ

ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับกลุ่มคนตระกูลภาษาไท-กะไดในจีน ซึ่งวีระ โอสถาภิรัตน์ (Weera Ostapirat, 2005) รวบรวมและนำเสนอเกี่ยวกับ ข้า-ไท (Kra-dai)[4] และออสโตรนีเชียนมีความสัมพันธ์กันทางเชื้อสายกัน ใช้การสืบสร้างใหม่ของภาษาข้า/กะไดดั้งเดิม (Proto-Kra=Kadai) สร้างกรณีศึกษาเชื่อมโยงทางเชื้อสายระหว่างไท-กะไดและออสโตรนีเชียน โดยใช้สหสัมพันธ์ทางเสียงจากคลังศัพท์ที่มีรากตระกูลภาษาเดียวกัน(lexical cognates) แสดงว่า กลุ่มไท-กะไดยังคงรักษาความแตกต่างแรกเริ่มในภาษาออสโตรนิเซียนไว้ได้ แบบฉบับของ ภาษาฟอร์มาซาตอนกลางและตะวันตก[5] ตัวอย่างเช่น ความแตกต่างระหว่างภาษาออสโตรนีเชียนดั้งเดิม(Proto-Austronesian) ในเสียงพยัญชนะและเสียงวรรณยุกต์บางเสียง สรุปว่าภาษาตระกูลไท-กะไดเป็นกลุ่มภาษาย่อยในตระกูลออสโตรนิเซียน มากกว่าเป็นตระกูลภาษาที่สัมพันธ์กัน ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ค่อนข้างจะเหมือนกับว่าอยู่นอกเหนือการจัดหมวดหมู่ (clade) ซึ่งรวมภาษาของชายฝั่งด้านตะวันออกของฟอร์มาซาและ มลาโย-โพลีนีเชียนไว้ด้วยกัน(Ostapirat, 2005: 107-131) การศึกษาสหสัมพันธ์ทางเสียงและการกระจายของคำศัพท์สนับสนุนข้อเสนอที่ว่า กลุ่มตระกูลภาษาข้า-ไท และออสโตรนีเชียน มีคำศัพท์พื้นฐานร่วมกันของออสโตรนีเชียน-ข้า-ไทจำนวนมากในผลการศึกษาเป็นผลมาจากโอกาสหรือจากการหยิบยืมอย่างง่ายๆ ส่วนมากของรากศัพท์ออสโตรนีเชียน-กะไดกระจายอย่างกว้างขวาง ข้ามภาษาข้า-ไทและเสียงอย่างเป็นระบบ ตระกูลภาษาอื่น อาจจะอ้างความสัมพันธ์ทางเชื้อสายกับข้า-ไท เช่น จีน แต่ไม่อาจเปรียบเทียบกันได้ รากศัพท์เดิม(etyma) เหล่านั้นที่ร่วมกันระหว่างไทยและจีนพบน้อยมากในสาขาข้า-ไท ทั้งหมด และส่วนใหญ่เป็นของคำศัพท์หลัก(Ostapirat, 2005: 125)

หากความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มตระกูลภาษาข้า-ไท และออสโตรนีเชียนเป็นจริง เป็นกลุ่มเชื้อสายเดียวกันและมันเกิดขึ้นเมื่อไหร่และมันแยกตัวเมื่อไหร่ กลุ่มภาษาข้า-ไทหรือสาขาสัมพันธ์กับภาษาออสโตรนีเชียนดั้งเดิม ภายในตระกูลออสโตร-ไทหรือกลุ่มภาษาลูก (daughter language group) ภายในออสโตรนีเชียนสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับมลาโย-โพลีนีเซียนหรือไม่ คำตอบของคำถามเหล่านี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของกลุ่มตระกูลภาษาข้า-ไทดั้งเดิม (Proto Kra-Dai) ซึ่งไม่สามารถบันทึกโดยระบบการสืบสร้างแบบของภาษาออสโตรนีเชียนดั้งเดิมซึ่งเบเนดิกท์ที่เคยพยายามโดยการวางตำแหน่งจำนวนของเสียงควบกล้ำพยางค์แรก, ระหว่างกลุ่มอื่นซึ่งเขาอ้างว่าปรากฏในข้า-ไท แต่ไม่พบในภาษาออสโตรนีเชียนดั้งเดิม ตามระบบสหสัมพันธ์ในปัจจุบันคำควบกล้ำเชิงสมมติฐานปรากฏเป็นจำนวนมากและฟุ้งกระจาย คำควบกล้ำของตระกูลภาษาข้า-ไท สมัยใหม่เป็นผลมาจากการลดลงของพยางค์ของรากศัพท์ที่มีสองพยางค์(disyllabic) เช่น *k-t->khr- ยิ่งกว่านั้นความสัมพันธ์ของทั้งออสโตรนีเชียนและข้า-ไทสัมพันธ์กัน พยางค์ของ PKd และสระแสดงถึงการออกเสียงที่ขาดในภาษาออสโตรนีเชียนดั้งเดิม อย่างไรก็ตามต้นกำเนิดของเสียงวรรณยุกต์ของข้า-ไทยังไม่ได้อธิบายให้รู้เกี่ยวกับระบบของภาษาออสโตรนีเชียนดั้งเดิมมากเท่าใดนัก

ลอว์เรนซ์ รีด (Lawrence Reid, 2005) นักทฤษฎีออสตริกผู้มีชื่อเสียงได้สรุปว่า ข้อจำกัดของการใช้คลังศัพท์ที่ยอมรับได้ เขาทบทวนแนวทางการใช้หลักฐานเกี่ยวกับระบบหน่วยคำและโครงสร้างประโยคย้ำความสมเหตุสมผลของความสัมพันธ์ทางเชื้อสายภาษาออสโตรนีเชียน-ออสโตร-เอเชียติก แต่พัฒนาการที่สำคัญอันหนึ่งในมุมมองของซาการ์ท(Sagart, 2005) เชื่อมโยงภาษาจีน-ทิเบตและออสโตรนีเชียนว่า ความสัมพันธ์ระหว่างออสโตร-เอเชียติกและออสโตรนีเชียนอาจสิ้นสุดลงนานแล้ว และตระกูลออสตริกไม่เป็นเชื้อสายเดียวหากควรรวมกลุ่มจีน-ทิเบตเข้าไปด้วย ซาการ์ทเคยเสนอความเชื่อมโยงทางเชื้อสายระหว่างภาษาซินิติคและออสโตรนีเชียนตั้งแต่ทศวรรษ 1990 บนหลักการของการใช้คำศัพท์ร่วม ความสัมพันธ์ทางเสียง และระบบคำศัพท์ร่วมกัน เขาเสนอข้อถกเถียงใหม่ต่อทฤษฎีจีน-ทิเบต-ออสโตรนีเชียน ว่าเป็นตระกูลที่มีความสัมพันธ์กัน มีข้อเสนอที่ว่ากลุ่มภาษาจีน-ทิเบต-ออสโตรนีเชียนดั้งเดิม (ProtoSino-Tibetan-Austronesian) มีถิ่นกำเนิดอยู่ในวัฒนธรรมข้าวฟ่างของจีนตอนเหนือในที่ราบลุ่มตอนกลางของเม่น้ำหวงเหอ มีอายุราว 8,500-7,500 ปี และวัฒนธรรมข้าวฟ่างของไต้หวันก็รวมอยู่ด้วย และถือเป็นช่วงเวลาสำคัญมากในอดีตกาล

ซาการ์ท(Sagart, 2005) เสนอทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของตระกูลภาษาไท-กะไดแทนที่การมีลักษณะร่วมกันกับตระกูลภาษาออสโตรนีเชียนเช่นที่เบเนดิกท์เคยเสนอไว้ แสดงให้เห็นว่า สาขาของภาษาออสโตรนีเชียนดั้งเดิมกลายเป็นการจัดหมวดหมู่ซึ่งรวมหลายตระกูลภาษาของชายฝั่งทางตะวันออกของเกาะฟอร์มาซาและมลาโย-โพลีนีเชียน ข้อเสนอนี้มาจากการศึกษาลักษณะของคลังศัพท์ และระบบคำในคำศัพท์ภาษาไทร่วมกับออสโตรนีเชียน โดยเฉพาะไท-กะไดร่วมกับมลาโย-โพลีนีเซียน ในคำบ่งบอกลักษณะในสรรพนามบุรุษที่ 2

ด้วยความสลับซับซ้อนที่เชื่อมโยงทางภาษาศาสตร์กับโบราณคดี สแตนลีย์ สตารอสตา (Stanley Starosta, 2005) เสนอบทความภายใต้ชื่อ “Proto – East –Asian” สร้างสมมติฐานคาดการณ์การรวมกลุ่มภาษาทั้งห้าของเอเชียตะวันออกเป็นหนึ่งเดียวกัน ทฤษฎีของสตาร์รอสตาเกี่ยวกับภาษาบรรพบุรุษที่พูดกันเมื่อราว 8,500 – 8,000 ปี บนที่ราบจีนตอนเหนือจากการแพร่ขยายของประชากรของกสิกรผู้ปลูกข้าวฟ่างในวัฒนธรรมซื่อชาน-เป่ยลี่กาง(Cishan-Peiligang) เบื้องแรกเป็นการแยกกลุ่มก่อนออสโตรนีเชียน(Pre- Austronesian)ซึ่งตั้งถิ่นฐานบนชายฝั่งด้านตะวันออกของจีนหรือวัฒนธรรมต้าเหวินโข่วและเหอมูตู (Dawenkou and Hemudu Cultures)กลุ่มย่อยกลุ่มหนึ่งไปจนถึงไต้หวันซึ่งมีการเพาะปลูกข้าวในไต้หวัน คนเหล่านี้กลายเป็นออสโตรนีเชียนดั้งเดิม และเริ่มทำให้มีความหลากหลายในออสโตรนีเชียนสาขาต่าง ๆ รวมทั้งไท-กะได สตารอสตา(Starosta, 2005)ยอมรับในทัศนะของซาการ์ทที่เคยเสนอว่า กลุ่ม ไท-กะไดเป็นกลุ่มตระกูลภาษาย่อยของออสโตรนีเชียนมากกว่าจะเป็นกลุ่มที่แยกออกไปต่างหาก ในขณะเดียวกันกลุ่มที่เคยอยู่ที่บริเวณราบจีนตอนเหนือขยายไปถึงตอนใต้จนถึงเขตแยงซี การรวมกลุ่มสาขาใต้หรือสาขาของแยงซี ต่อมาแตกสาขาไปเป็นม้ง-เมี่ยนและออสโตร-เอเชียติก ขณะที่กลุ่มอื่น ๆ ยังคงอยู่บริเวณที่ราบจีนตอนเหนือแล้วค่อยๆพัฒนาไปเป็นตระกูลภาษาทิเบต-พม่า ซึ่งปรากฏลักษณะทางภาษาศาสตร์บางประการของแต่ละปมของข้อเสนอในเค้าโครงของต้นไม้ภาษา(family tree)[6]

ความเหมือนกันระหว่างภาษาของเอเชียตะวันออกทำให้นักวิชาการเชื่อว่าความเชื่อมโยงทางพันธุกรรมและข้อเสนอ “อภิมหาตระกูลภาษา(macrophyla)” มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน หากมีความหลากหลายสูงและแน่นอนว่าความเหมือนกันบางประการต้องอธิบายด้วยการติดต่อกันในอดีต ประวัติศาสตร์ภายใต้ภาษา 2 ภาษาเป็นเหตุให้บางตระกูลภาษามีความเหมือนกัน ขณะที่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของออสโตรนีเชียนและ ออสโตร-เอเชียติกมีมาอย่างยาวนานแล้ว

ภาพวาดบนกำแพงในหมู่บ้านชาวปู้หนง อำเภอกว่างหนาน
เขตปกครองตนเองชนชาติจ้วง-แม้ว เหวินซาน มณฑลยูนนาน
สาธารณรัฐประชาชนจีน - ผู้เขียน

หากการแพร่กระจายของภาษาเป็นผลมาจากการทำการเกษตร สมมติฐานเชิงทฤษฎีที่ว่าด้วยการแพร่กระจายของภาษาออสโตรนีเชียนครอบคลุมทั่วโลกเกิดจากหลายสาขาเข้าด้วยกัน ข้อมูลสนับสนุนแนวคิดนี้ได้แก่ บางกลุ่มตระกูลภาษาซึ่งทำการเกษตรมีกลไกทางการเดินทางติดต่อค้าขายช่วยในการแพร่กระจายตัว เช่น ในตระกูลภาษาออสโตรนีเชียนและไท-กะได ส่วนตระกูลภาษาจีน-ทิเบตและออสโตร-เอเซียติกสะท้อนจากการเพาะปลูกธัญพืช แสดงว่าการสืบสร้างทางภาษาจากชื่อพืชเชิงเดี่ยวสามารถสะท้อนลักษณะที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติได้ ส่วนการเกษตรก็มีบทบาทเช่นกัน หลักฐานโบราณคดีและกระบวนการทางภาษาศาสตร์ต่างตรวจสอบซึ่งกันและกัน วัตถุทางพฤกษโบราณคดี (archaeobotanical material)ใหม่ๆ ที่พบแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงการเกษตรในเอเชียตะวันออกอย่างรวดเร็วเพียงไม่กี่ศตวรรษ ข้อเสนออภิมหาตระกูลภาษามีประวัติศาสตร์เก่าแก่อย่างมาก แต่การเปรียบเทียบความผันแปรทางพันธุกรรม(genetic variation) และการจัดจำแนกทางภาษาศาสตร์ย้อนหลังกลับไปไม่ถึงสองทศวรรษ ด้วยคณะต่างๆของ Luca Cavilla-Sforza, Robert Sokal และ Andre’ Langaney ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1987 เป็นต้นมา(Sagart, Blench and Sanchez-Mazas 2005: 31) ขีดความสามารถของการศึกษาทั้งแบบคลาสสิคที่ใช้การศึกษาหมู่เลือด การจับคู่รหัสพันธุกรรม และแบบการตรวจสอบด้วยดีเอ็นเอที่เรียกว่า DNA polymorphisms เพื่อใช้ศึกษาความสัมพันธ์ทางช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์หรือระดับของการผสมผสานของผู้คนในอดีตเป็นประโยชน์อย่างมาก แม้จะเป็นการวิเคราะห์และตีความภายใต้ข้อจำกัดก็ตาม การศึกษาทางพันธุศาสตร์เปิดโอกาสให้สามารถนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับคนของเอเชียตะวันออก แต่ไม่ได้ตัดสินสมมติฐานหรือทฤษฎีการข้ามกลุ่มตระกูลภาษา (transphylic) เฉพาะเจาะจงใดใด หากเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น เนื่องจากมีการศึกษาคนพื้นเมืองของไต้หวันอย่างละเอียดถี่ถ้วน ที่น่าสังเกตอย่างเช่น กรณีของชาวอามิส(Amis)ในงานศึกษาเกี่ยวกับความหลากหลายทางพันธุกรรมของคนพื้นเมืองในไต้หวัน(Lin et.al, 2005: 230-247) จากการเก็บตัวอย่างเลือดของคนมาตรวจสอบหาความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม ในเชิงวิวัฒนาการแล้วหน่วยพันธุกรรม(ยีน)และภาษา แม้ว่าจะห่างจากจุดกำเนิดก็ไม่เป็นไปในระดับเดียวกัน การถ่ายทอดของยีนข้ามขอบเขตทางตระกูลภาษาที่ต่างกันเกิดขึ้นได้ทั่วโลก หากสามารถเข้าใจข้อจำกัดแล้วเชื่อได้ว่า การนำทั้งสามสาขาคือโบราณคดี ภาษาศาสตร์ และพันธุศาสตร์เข้าด้วยกันจะทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของมนุษย์สามารถพัฒนาขึ้นอย่างมาก(Sagart, Blench and Sanchez-Mazas 2005: 31)

ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากข้อถกเถียงเกี่ยวกับการจัดจำแนกกลุ่มตระกูลภาษาไท-กะได และภาษาในเอเชียตะวันออก ตลอดจนทฤษฎีถิ่นกำเนิดของผู้คนเชื้อสายจากหลายสาขาประกอบกันเข้าด้วยกันแล้ว พบว่า ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษาของกลุ่มคนที่พูดตระกูลภาษาไท-กะได และกลุ่มตระกูลภาษาอื่น ๆนั้นไม่อาจแยกขาดหรือระบุชี้ชัดลงไปได้ ข้อเสนอทางทฤษฎีเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดและการกระจายตัวในของคนในดินแดนเอเชียตะวันออกจึงเป็นเรื่องที่ต้องมีการศึกษา ค้นคว้า ทำความเข้าใจ และตรวจสอบ หรืออ้างอิงหลักฐานมาสนับสนุนมากขึ้น อย่างไรก็ตามในการจัดจำแนกความสัมพันธ์ทางภาษาและการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ของกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไทนั้นมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาไปสู่การสร้างกรอบการรับรู้ความสัมพันธ์ทางภาษาระหว่างกลุ่มย่อยในตระกูลภาษากลุ่มนี้เป็นสำคัญ



บรรณานุกรม


Benedict, Paul K. (1942). Thai, Kadai and Indonesia: a new alignment in southeastern Asia. American Anthropologist, 44(4), 576 – 601.


Benedict, Paul K. (1975). Austro-Thai: language and culture, with a glossary of roots. New Haven, Human Relations Area Files Press, 1942, 1975.


Blust, Robert. (1980). Austronesian Etymologies. Oceanic Linguistics, 19 (1-2):1-181.


Chamberlain, James R. (1975). A New Look at the History and Classification of the Tai Languages. In Harris, Jimmy G. and Chamberlain, James R. (Eds.) (1975). Studies in Tai linguistics: in honor of William Gedney, (pp.49-66). Bangkok: Central institute of English Language.


Edmondson, Jerold A. and David A. Soinit (1988). Comparative Kadai: linguistic studies beyond Tai. Dallas, Texas: Summer Institute of Linguistics.


Egerod, Soren. (1976). Benedict’s Austro-Thai hypothesis. Computational analyses of Asian and African languages, 6: 51-60.


Finegan, Edward and Besnier, Niko. (1989). Language: its structure and use. New York: Harcourt, Brace, Jovanovich Publishers.


Gedney, William J. (1972). A Checklist for determining in Tai dialects. Unpublished.


Gedney, William J. (1976). On the Thai evidence for Austro – Thai. In Monterio J. Hashimoto (ed.) Computational analyses of Asian and African languages, 6: 65-81.


Gedney, William J. (1989). Selected papers on comparative Tai studies. Edited by Bickner, J. Robert., Hartmann, John., Hudak, Thomas John., and Peyasantiwong, Patcharin. (Michigan papers on South and Southeast Asia center for south and Southeast Asian studies, the University of Michigan, Number 29). Ann Arbor: University of Michigan center for South and Southeast Asian Studies.


Kullavanijaya, Pranee and L-Thongkum, T (1998). Linguistic criteria for determining Tai ethnic groups: case studies on Central and Southwestern Tais. Paper presented at International conference on Tai Studies organized by the Institute of Language and Culture for Rural Development, Mahidol University. Bangkok, July 29-31,1998.


Li, Fang Kuei (1976). Sino-Tai. Computational analyses of Asian and African languages, 3: 98-48.


Li, Fang Kuei (1977). A Handbook of comparative Tai. Honolulu: The University of Hawaii Press.


Maspero, Henri (1933). La Language Chinoise. Paris: Conf de l’Inst de Ling de I’Univ. de Paris.


Matisoff, James A. (1993). [Review of the book Selected papers on comparative Tai studies by William J. Gedney]. Lanuage, 69(1), 178-182.


Ostapirat, Weera (2000), Proto-Kra. Linguistics of Tibeto-Burman Area, 23(1).


Ostapirat, Weera (2005). Kra-Dai and Austronesian: Notes on phonological correspondences and vocabulary distribution. In Sagart, Laurent Roger Blench and Alisia Sanchez-Mazas (Eds.), (2005). The People of East Asia: Putting together archaeology, linguistics and genetics (pp. 107-131). London and New York: Routledge Curzon.


Sagart, Laurent Roger Blench and Alisia Sanchez-Mazas (Eds.), (2005). The People of East Asia: Putting together archaeology, linguistics and genetics. London and New York: Routledge Curzon.


Thurgood, Graham (1993). Tai-Kadai and Austronesian: the nature of the historical relationships. Manusrcript.


ปราณี กุลละวณิชย์. (2545). แบบลักษณ์ภาษา. กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.


พรรณราย โอสถาภิรัตน์. (2543). พรมแดน-แผนที่ “ไท-ไทย”.(บรรณาธิการแถลง) วารสารธรรมศาสตร์. 26(3): 5-9.


สรัญญา เศวตมาลย์ (2542). การแบ่งกลุ่มภาษาตามแนวภาษาศาสตร์: เชิงโครงสร้างและเชิงประวัติ. กรุงเทพฯ: อักษรพัฒนา.



เชิงอรรถ

[1] ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และนักศึกษาระดับปริญญาเอกโครงการปริญญาเอกสหวิทยาการ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ภายใต้ทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. เสมอชัย พูลสุวรรณ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ E-mails: damrongphon@yahoo.com, damrongphon@hotmail.com


[2] นักภาษาศาสตร์บางคนไม่จัดภาษาเวียดนามอยู่ในกลุ่มนี้เนื่องมาจากไม่มีหลักฐานแสดงความสัมพันธ์ทางเชื้อสายร่วมกับภาษาอื่นในตระกูลนี้อย่างชัดเจน แต่ยอมรับว่าภาษาเวียดนามอาจจะมีความสัมพันธ์อย่างห่าง ๆ กับภาษาเขมร ซึ่งอยู่ในตระกูลออสโตร-เอเชียติก (Finegan and Besnier, 1989)


[3]แต่เจอร์ราร์ด ดิฟเฟลอท์เองไม่ได้ระบุช่วงเวลาชัดเจนเช่นนั้นในแผนภูมิต้นไม้ทางภาษาตระกูลออสโตร-เอเชียติก พบตัวเลข เก่าแก่สุดที่ 5,000 ปี (5,000 BC) (Figure 5.1 AA(Austro-Asiatic) with a tentative calibration of time-depths for the various branches of the language family of Diffloth, 2005: 79).


[4] เนื่องจากคำว่า Kra นั้นไม่พบคำภาษาไทยในเอกสารอื่น นอกจากงานเรียบเรียงเรื่อง พรมแดน-แผนที่ “ไท-ไทย” ของพรรณราย โอสถาภิรัตน์(2543) ในบทบรรณาธิการแถลง(สุดแดน วิสุทธิลักษณ์) ของ วารสารธรรมศาสตร์, 26(3): 8-9. จึงใช้ ข้า แทนคำ Kra ซึ่งอาจจะไม่ตรงตามการถ่ายเสียงทางสัทศาสตร์เท่าใดนัก


[5]ภาษาในตระกูลออสโตรนีเชียน แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มฟอร์มาซา(Formasan) และกลุ่มมลาโย-โพลีนีเชียน กลุ่มฟอร์มาซา มีภาษาที่สำคัญคือภาษาอามีส(Amis) ภาษารูไค ภาษาอตายัล ซึ่งในบริเวณหมู่เกาะฟอร์โมซา ทางมหาสมุทรแปซิฟิคตอนเหนือ (Blust, 1980)


[6] ออกัสท์ ชไลเดอร์ (August Schlieker ,1821 – 1868) เป็นผู้เสนอแผนภูมิต้นไม้(tree diagram , family tree) ที่แสดงตระกูลของภาษา ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการศึกษาการจัดกลุ่มภาษา(ปราณี กุลละวณิชย์, 2545: 11)

6 ความคิดเห็น:

  1. อ.ดำรงพล ใกล้จะจบหรือยังครับเนี่ย

    ตอบลบ
  2. อ.สิทธิพล ถามเช่นนี้ ประเดี๋ยวเพื่อน ๆ รุ่น ๗ หรือรุ่นพี่ ๆ จะตระหนกหรือเคืองผมเอานะครับ!
    ผมยังไม่จบได้ง่ายหรอกครับ เพิ่งเดินทางกลับจากเก็บข้อมูลภาคสนามเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เองครับ เพิ่งลงทะเบียนไป และยังไม่ได้เริ่มเขียนเลยครับ ขอตั้งหลักก่อนนะครับ บทความที่นำมาลงนั้นเป็นชุดที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของงานในวิชาการศึกษาค้นคว้าเฉพาะ ภายใต้ความดูแลของรศ.ดร.นันทนา และศ.ดร.เสมอชัย ในปีที่ผ่านมา(ปีสองกระมัง)นะครับ
    ว่าแต่อ.สิทธิพลเขียนเรียบร้อยและ เตรียมสอบแล้วใช่ไหมครับ? เพราะผมเห็นจดหมายแนบเมื่อหลายวันก่อน สอบวันไหนนะครับ? ผมสนใจอยากไปฟังอาจารย์อยู่นะครับ ขออภัยนะครับ ผมอาจจะตกข่าวก็ได้ครับ ขอให้อาจารย์โชคดีและสำเร็จนะครับ
    ดำรงพล

    ตอบลบ
  3. เห็นรูปประกอบบทความแล้ว อยากจะชวนรุ่น 8 ไปเที่ยว เอ๊ย ลงภาคสนามที่นั่นมาก ภาพวาดบนกำแพงในหมู่บ้านชาวปู้หนง ก็สีสดสวยมากเลย อ.ดำรงพลแต่งสีสันเพิ่มเติมหรือไม่คะ ถ้าเป็นไปได้และไม่รบกวนเกินไปอยากให้ อ.ดำรงพลเขียนโพสต์เรื่องการเก็บข้อมูลภาคสนามที่นั่นให้พวกเราได้อ่านด้วยค่ะ

    ตอบลบ
  4. ขอบคุณมากครับที่ติดตาม และให้ความสนใจ
    ผมขอชี้แจงว่า ผมไม่ได้ตกแต่งภาพแต่ประการใด ภาพบนกำแพงมาจากสีสันฝีมือศิลปินที่นั่นครับ และยังมีภาพอีกเป็นจำนวนมากที่มาจากภาคสนาม เมื่อมีโอกาสและเวลาผมจะเล่าประสบการณ์ภาคสนามมาแบ่งปันกันครับ มีตั้งแต่ทุกข์ระทม ปนเศร้า จนกระทั่งสนุกสุดแสนเลยครับ ส่วนใครที่อยากไปเที่ยวหรือคิดต่อเรื่องการวิจัยที่นั่น ผมยินดีแลกเปลี่ยนและแนะนำครับ
    ดำรงพล
    damrongphon@yahoo.com

    ตอบลบ
  5. คนที่พูดภาษาตระกุล ไท-กะได มีทั้งในประเทศไทย ไทใหญ่ ลาว จีนสิบสองปันนา เชียงรุ้ง ไทอหม ผาเก คำตี่ ในแคว้นอัสสัม และเวียตนาม คือ ไทขาว

    ตอบลบ