วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

พลเมืองและความเป็นพลเมืองกับมุมมองที่แตกต่าง ระหว่างเสรีนิยมและชุมชนนิยม (ตอนที่ 2)


ศรัณยุ หมั้นทรัพย์



แนวคิดเสรีนิยม และ ชุมชนนิยม

แนวคิดหลักของ เสรีนิยม (Liberalism) ให้ความสำคัญของปัจเจกบุคคลโดยเน้นที่สิทธิ เสรีภาพ เพราะสิทธิ เสรีภาพเป็นคุณสมบัติตั้งแต่กำเนิดของมนุษย์ มนุษย์จึงมีสิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกัน การกระทำใดๆ เพื่อตอบสนองความต้องการส่วนบุคคล เป็นไปอย่างไม่มีขอบเขตจำกัดภายใต้กฎหมาย (freedom under the law) เสรีนิยมเชื่อมั่นในเหตุผลและการใช้สติปัญญาของมนุษย์ และความหลากหลายที่ดำรงอยู่ในสังคมว่าทำให้สังคมเข้มแข็งด้วยจะสร้างให้เกิดการอภิปราย ถกเถียง และสร้างสรรค์ทางปัญญา การเปลี่ยนแปลงหรือความก้าวหน้าในสังคมมนุษย์จะเกิดจากการใช้เหตุผลอภิปราย ถกเถียงระหว่างกันมากกว่าการรบราฆ่าฟัน เสรีนิยมเชื่อว่าการอยู่ร่วมกันในสังคมต้องได้รับความเห็นชอบของสมาชิกในสังคม ซึ่งแนวคิดนี้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยระบบตัวแทน ที่ใช้ฉันทานุมัติของผู้ใต้ปกครองในการเลือกตัวแทนสู่ระบบการเมือง

นักคิดเสรีนิยมอย่าง จอห์น ล็อก, ฌ็อง ฌ้ากส์ รุสโซ, อดัม สมิธ, โธมัส เพน, จอห์น สจ๊วต มิลล์ ต่างปฏิเสธการจำกัดเสรีภาพของมนุษย์ และส่งเสริมให้ปัจเจกชนมีสิทธิและความรับผิดชอบต่อตนเองโดยสมบูรณ์ แนวคิดของนักคิดเสรีนิยมเหล่านี้ได้พัฒนาสู่เสรีภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ปฏิเสธอำนาจการบังคับของระบบเทวสิทธิ์และสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และคัดค้านการจำกัดสิทธิในการค้าขายและการปิดกั้นเสรีภาพในการประกอบกิจการของบุคคล ในทางรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ถือว่าแนวคิดนี้คือพื้นฐานสำคัญที่ก่อให้เกิดการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย โดยเฉพาะจากความคิดโดดเด่นของ จอห์น ล็อก และจอห์น สจ๊วต มิลล์ ที่ทำให้แนวคิดเสรีนิยมเริ่มมีความสัมพันธ์กับประชาธิปไตย กลายเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย (liberal democracy) และ ปัจเจกชนนิยมเสรี (liberal individualism) ในศตวรรษต่อมา

ด้านมุมมองต่อสังคมและชุมชน เสรีนิยมเห็นว่าเมื่อมนุษย์มีสิทธิ เสรีภาพที่เท่าเทียมและไม่จำกัดมาอยู่รวมกันนั้นจะเกิดภาวะอนาธิปไตย อันเป็นสภาวะความสัมพันธ์และใช้ชีวิตตามธรรมชาติ ไม่มีสังคม เป็นภาวะของความเท่าเทียมกันในทุกสถานการณ์ เท่าเทียมในการหาทรัพยากร เท่าเทียมในการได้รับภยันตรายได้ และในที่สุดภาวะดังกล่าวจะกลายเป็นการแก่งแย่งและขัดแย้ง ซึ่งมนุษย์ผู้มีสติปัญญาจะเรียนรู้ และเลือกคงไว้ซึ่งภาวะสังคมที่สงบ มีเสถียรภาพ และไม่มีภยันตรายแทน ในขณะที่จอห์น ล็อก ได้เน้นถึงกฎแห่งเหตุผลที่มนุษย์จะต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น ไม่ละเมิดไม่ก้าวก่ายสิทธิและเสรีภาพมนุษย์ผู้อื่น ซึ่งเป็นกฎที่ควบคุมสังคมมนุษย์ให้อยู่ในสภาพที่มีระเบียบแบบแผน มีสันติและสงบ และผู้ที่ฝ่าฝืนหรือละเมิดระเบียบแบบแผนจะถูกลงโทษ เสรีนิยมมีคำอธิบายเกี่ยวกับชุมชนว่าชุมชนมีต้นกำเนิดจากกิจกรรมสมัครใจของปัจเจกบุคคล หรืออีกนัยคือปัจเจกบุคคลเป็นผู้สร้าง/กำหนดชุมชน

แนวคิดหลักของ ชุมชนนิยม (Communitarian) ให้ความสำคัญกับชุมชนหรือค่านิยมของสังคม (social values) มากกว่าปัจเจกบุคคลหรือค่านิยมส่วนตัวของบุคคล แนวคิดนี้เชื่อว่าความหมายในชีวิตและเสรีภาพของปัจเจกบุคคล จะเข้มแข็ง มีชีวิตชีวาขึ้นอยู่กับการมีสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นๆ ในชุมชน เพราะชุมชนมีบทบาทในการกำหนดและปรับแต่งปัจเจก พื้นฐานทางสังคมเป็นสิ่งที่ผูกติดกับตัวตนของปัจเจก ปัจเจกจึงถูกสร้างขึ้นโดยชุมชนที่บุคคลนั้นเป็นส่วนหนึ่งอยู่ และทำให้ปัจเจกสามารถดำรงความเป็นตัวตนได้ในสังคม หรือวัฒนธรรมของตน โดยที่วัฒนธรรมแต่ละสังคมจะมีกฎเกณฑ์คุณค่าแตกต่างกันไป นั่นคือปัจเจกบุคคลมิได้ดำรงตัวตนอยู่ด้วยการยึดหลักสากล (Universal) ตายตัว เหมือนกันไปทั้งหมด และสิ่งนั้นทำให้นักคิดชุมชนนิยมสนใจในสิทธิกลุ่ม (group rights) และสิทธิร่วม (collective rights) ทั้งในแง่สิทธิทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม โดยเฉพาะสิทธิต่อทรัพยากร ชุมชนนิยมยังเห็นว่าการให้ความสำคัญกับปัจเจกบุคคลเหนือชุมชนและสังคมจะเป็นการลดทอนความสำคัญของปัจเจกเองในการอ้างสิทธิ เสรีภาพของตน เพราะสิทธิเป็นการจัดความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างผู้อ้างสิทธิกับสังคมนั้น สิทธิจึงไม่สามารถดำรงอยู่ในสุญญากาศ ทั้งสิทธิและเสรีภาพต้องพึ่งพิงกับชุมชนและสังคม

อันที่จริง แนวคิดชุมชนนิยมได้รวมเอาแนวคิดประชาสังคมที่มีพัฒนาการความคิดมาตั้งแต่หลักการปกครองแบบสาธารณรัฐในยุคกรีก [1] และรับเอาแนวคิดของ อเล็กซิส เดอ ต็อกเกอวิลล์ [2] เข้าไว้ในปรัชญาชุมชนนิยมเมื่อประมาณต้นศตวรรษที่ 20 และเชื่อมโยงแนวคิดไปสู่แนวคิดและปรัชญาการเมืองอื่นๆ อย่างเครือข่ายสังคมและทุนทางสังคม และยังกำหนดรวมไปถึง “นักชุมชน” ที่มีหมายความถึงบุคคลที่ซึ่งเป็นสมาชิกของชุมชนและช่วยสนับสนุนชุมชน ซึ่งกลายเป็นความหมายของพลเมืองแบบชุมชนนิยมในเวลาต่อมา


พลเมือง และ ความเป็นพลเมือง กับ ทั้งสองแนวคิด และประเด็นถกเถียง


จากฐานคิดของเสรีนิยม พลเมือง และ ความเป็นพลเมือง จึงมีความหมายถึง การเป็นปัจเจกบุคคลที่มีสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมอย่างไม่จำกัดภายใต้กฎหมาย ภายใต้สังคมที่สงบสุขด้วยเหตุผลของมนุษย์ที่ทำให้เกิดการควบคุมสังคมนั้น ด้วยการเป็นสมาชิกของชุมชนที่ต้องมีการระบุสถานะ ลงทะเบียน หรือ ใช้สิทธิ ในแนวคิดนี้พลเมืองจะเป็นผู้ที่ใช้อำนาจอธิปไต รัฐหรือกฎระเบียบของสังคมทำให้หน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ หรือการไม่ได้รับประโยชน์ของปัจเจกบุคคล และเพื่อคงไว้ซึ่งความสงบสุขของสังคมนั้น

จากฐานคิดของชุมชนนิยม พลเมืองจึงหมายถึงผู้กระทำการหรือตัดสินใจด้วยการคิดถึงส่วนรวม คำนึงถึงความซับซ้อนของชุมชน เน้นประโยชน์สาธารณะว่าอยู่เหนือจากความต้องการและผลประโยชน์ส่วนบุคคล ความเป็นพลเมืองแบบชุมชนนิยมให้ความสำคัญกับพันธะ ข้อตกลงทางสังคม และการสร้างและการคงไว้ซึ่งชุมชน ความเป็นพลเมืองแบบชุมชนนิยมต้องแบ่งปันชีวิตและเป้าหมายร่วมกัน ภายใต้กิจกรรมที่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ร่วม และไม่จำเป็นต้องระบุสถานะใดๆ ของปัจเจกในสังคม/ชุมชนนั้น เช่นที่เสรีนิยมมักทำกัน กฎระเบียบข้อตกลงของรัฐ สังคม หรือ ชุมชน จึงเป็นการมีส่วนร่วมและเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และด้วยแนวคิดเช่นนี้การกำหนดนโยบายของรัฐบาลและการตัดสินใจเลือกของปัจเจกจึงควรตอบสนองต่อชุมชนและสังคม มากกว่าเพื่อประโยชน์ของปัจเจกบุคคล

แนวคิดอย่างเสรีนิยมมักถูกโจมตีว่าทำให้รัฐมีบทบาทเพียงเพื่อปกป้องการเสียสิทธิหรือการไม่ได้รับประโยชน์ส่วนรวมของปัจเจกเท่านั้น ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อประโยชน์สูงสุดของส่วนร่วม ซึ่งนักคิดสำนักเสรีนิยมอย่างโอลด์ฟิลด์ (อ้างถึงใน Shafir, Gershon, 1998) พยายามประนีประนอมว่าความเป็นตัวเองของปัจเจกบุคคล และ ส่วนรวม ต้องมีความสมดุลกัน ซึ่งยังคงถูกโต้แย้งถึงลำดับความสำคัญระหว่างสิทธิ และ ส่วนรวม ว่าสิ่งใดสำคัญกว่ากัน โอลด์ฟิลส์ได้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและปัจเจกบุคคลว่าการที่ปัจเจกบุคคลเป็นสมาชิกของชุมชนและสังคม การเมืองเป็นเรื่องของชุมชนและสังคม ดังนั้นความเป็นพลเมืองของเสรีนิยมจึงคงหมายถึง สมาชิกของชุมชนที่สามารถมีส่วนร่วมในชุมชนการเมืองได้เช่นกันด้วย ประเด็นถกเถียงประการต่อมา คือ การที่แนวคิดเสรีนิยมแสดงให้เห็นถึงการพึ่งพิง กลไกอำนาจ หรือระบบคุ้มครอง หรือระบบรับประกัน ต่อ สิทธิของปัจเจก เช่น การอาศัยสัญญาประชาคม สนธิสัญญา หรืออำนาจกลางที่สามารถปกป้องคุ้มครองปัจเจกบุคคล ซึ่งทำให้ความเป็นเสรีนิยมที่ชื่นชมในความเป็นมนุษย์ผู้มีเหตุผลและปัญญากลายเป็นผู้พึ่งพิงกลไกอำนาจ อันสะท้อนให้เห็นความไม่มั่นใจในการควบคุมอำนาจอธิปไตยไว้ในมือของปัจเจกเอง หรือเท่ากับปัจเจกสยบยอมต่อระบบการคุ้มครองโดยบุคคลอื่นและให้สังคมเป็นผู้จัดระเบียบให้ ซึ่งสะท้อนว่านอกจากการยอมเป็นสมาชิกสังคมแล้วก็ปัจเจกยังยอมรับอำนาจนำของชุมชนหรือสังคม ซึ่งเป็นภาวะแยกแย้งของปัจเจกบุคคลและของแนวคิดเสรีนิยมเอง

ในขณะที่แนวคิดชุมชนนิยมที่ว่าปัจเจกชนที่เข้มแข็งขึ้นอยู่กับการมีสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นๆในชุมชนนั้น ก็ได้สะท้อนความคิดอุดมคติ หรือมีมุมมองเพ้อฝันที่เห็นว่าชุมชนเป็นสิ่งดีที่สุด โดยไม่เปิดพื้นที่ให้ความคิดที่ว่าชุมชนดีได้เพราะปัจเจกบุคคลโดยปัจเจกที่จะสร้างชุมชนหรือสังคมให้ดีนั้นก็ต้องเป็นปัจเจกที่มีแนวคิดแบบชุมชนนิยมด้วย หรือเปิดพื้นที่ให้กับมุมมองที่ว่าชุมชนและปัจเจกต่างพึ่งพาอาศัยและไม่อาจแยกจากกันได้

ในกระแสโลกเสรีประชาธิปไตยเช่นปัจจุบัน งานศึกษาส่วนใหญ่มักถกเถียงประเด็นพลเมืองและความเป็นพลเมืองบนพื้นฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย (Liberal democracy) ซึ่งยืนยันถึงความสัมพันธ์อันแยกไม่ได้ระหว่าง “พลเมือง” กับ “การปกครองแบบประชาธิปไตย” ผลการศึกษาได้แสดงความกังวลต่อความเป็นปัจเจกชนเสรี ที่ใช้สิทธิ เสรีภาพ มากเกินกว่าการให้ความสนใจกับชุมชน สังคม การเมือง และประเทศชาติ ดังปรากฏการณ์ของการมีส่วนร่วมในชุมชนและการเมืองที่ลดน้อยลง เช่น การลดลงของการออกเสียงเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศ การเพิกเฉยต่อการเมืองของเยาวชนในประเทศเสรีประชาธิปไตย เป็นต้น สิ่งนี้ส่งผลลบต่อแนวคิดพลเมืองแบบเสรีนิยม และยิ่งเพิ่มความต้องการพลเมืองแบบชุมชนนิยมมากขึ้น ด้วยหวังจะสร้างพลเมืองที่ช่วยสร้างชุมชน สังคม และการเมืองให้ดีขึ้น

ในความจริงแล้ว ควรตั้งประเด็นถกเถียงว่าพลเมือง และความเป็นพลเมืองไม่สามารถแยกเป็นขั้วตรงข้ามและเลือกเพียงแบบใดแบบหนึ่ง เพราะพลเมืองก็เฉกเช่นเดียวกับผลผลิตและอนุกรมวาทกรรมแห่งยุคสมัยในชุดอื่นๆ ที่ต่างถูกผลิตขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมของการคงอยู่ของอำนาจ ทั้งของรัฐ สังคม และชุมชน ข้อถกเถียงควรนำสู่ไปสู่การสร้างกรอบคิดและการรับรู้ของปัจเจกบุคคลที่จะส่งผลต่อความเป็นพลเมือง และนำไปสู่การสร้างพลเมืองที่ต้องการ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าพลเมืองที่ต้องการต้องเป็นพลเมืองที่ประสานแนวคิดทั้ง 2 และปรับมุมมองว่าแท้ที่จริงความแตกต่างนั้นหาใช่คู่ตรงข้าม แต่เป็นส่วนหนุนเสริมซึ่งกัน จุดอ่อนของแนวคิดเสรีนิยมคือไม่ได้ให้คำตอบเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคมอย่างมีส่วนร่วมและเท่าเทียมอย่างแท้จริงในระบบคุณค่าของสังคมที่เป็นจิตสำนึกร่วมกัน ในขณะที่ชุมชนนิยมเองก็ไม่ชัดเจนในเรื่องความแตกต่างหลากหลายของสังคมที่มีความขัดแย้งและไม่ได้เป็นเอกภาพหนึ่งเดียว


การประสานแนวคิดทั้งสองจึงเป็นการอธิบายสิทธิ เสรีภาพตามแนวทางเสรีนิยมที่รองรับโดยชุมชน และกฎกติกาของสังคม เพราะปัจจุบัน ภายใต้กระแสทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย ที่เน้นสิทธิเสรีภาพของปัจเจกอย่างสุดขั้ว ก็ปรากฏความซับซ้อนของสิทธิ เสรีภาพ ที่ยากจะนิยามหรือเลือกข้างให้ชัดเจน และก่อให้กระแสชุมชนนิยมมีบทบาทสำคัญและขยายพื้นที่ทางสังคมมากยิ่งขึ้น


เชิงอรรถ

[1] ดูเพิ่มเติมใน Civil society and political theory ( Jean L. Cohen and Andrew Arato) pp.84-85.

[2] นักคิดด้านรัฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส แนวคิดในหนังสือ Democracy in America (1835) ของเขา แสดงความคิดไว้ว่า ประชาธิปไตยควรมีสมดุลระหว่างเสรีภาพและความเสมอภาค และต้องใส่ใจกับทั้งปัจเจกบุคคลและชุมชน


บรรณานุกรม

ชลธิศ ธีระฐิติ. (2550). Liberalism เสรีนิยม. ใน พฤทธิสาณ ชุมพล. สิริพรรณ นกสวน และ
เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา (บรรณาธิการ). คำและความคิดในรัฐศาสตร์ร่วมสมัย. (ล.1 ,น.187-
189). (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สมเกียรติ วันทะนะ. (2551). อุดมการณ์ทางการเมืองร่วมสมัย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : เอส.พี.วี.
การพิมพ์ (2550).

สำราญ เทพจันทร์. (2543). ข้อโต้แย้งของฝ่ายชุมชนนิยมต่อมโนทัศน์ของจอห์น รอลส์ เรื่องบุคคล
และชุมชน. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อักษรศาสตร์.

Callan, Eamonn. (1997). Creating Citizens. Oxford: Clarendon Press

Heater, Derek. (1990). Citizenship: The Civic Ideal in World History, Politics and Education. London and New York: Longman.

Hiley, David R. (2006). Doubt and the Demands of Democratic Citizenship. Cambridge :
Cambridge University Press.

Nussbaum, Martha C., (1998). Cultivating Humanity A Classical Defense of Reform in Liberal Education. Cambridge, Massachusetts, London, England, : Harvard University Press.

Turner, Bryan S. and Hamilton, Peter. (1994). Citizenship: Critical Concepts. London and New York : Routledge.

Cohen, Jean L.and Arato, Andrew. (1992). Civil Society and political theory. Cambridge, Massachusetts, : MIT Press.










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น