ณัฐพล แสงอรุณ
1. ความนำ
บทความนี้มุ่งที่จะนำเสนอความเกี่ยวเนื่องบางประการของแนวคิดสิทธิที่จะอยู่ในเมือง (The Right to the City) โดย David Harvey (1935 -) กับการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิการอยู่อาศัยของชุมชนบางบัว โดยแบ่งการนำเสนอหลักออกเป็นสองส่วนหลัก ได้แก่ “ชุมชนบางบัว” : หนึ่งในการเคลื่อนไหวเพื่อความมั่นคงทางด้านการอยู่อาศัยในเมือง และการเคลื่อนไหวของ “ชุมชนบางบัว” กับความเกี่ยวเนื่องทางทฤษฎี
2. “ชุมชนบางบัว” : หนึ่งในการเคลื่อนไหวเพื่อความมั่นคงทางด้านการอยู่อาศัยในเมือง
2.1 ประเด็นการศึกษา “ความไม่มั่นคงทางด้านการอยู่อาศัยในชุมชนเมือง”
ในการศึกษาชุมชนเมือง มีประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างต่อเนื่อง คือ ความไม่มั่นคงทางด้านการอยู่อาศัย ซึ่งมีนัยยะอย่างน้อย 2 ประการ คือ ความไม่มั่นคงทางด้านที่อยู่อาศัย (housing insecurity) ซึ่งเป็นปัจจัยทางกายภาพ ที่เป็นปัญหาหลัก คือ การที่ไม่ได้ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ที่ตนมีกรรมสิทธิ์ ซึ่งกรรมสิทธิ์นั้นอาจเป็นของรัฐ หรือเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนเมืองที่คนในชุมชนมีระดับรายได้ต่ำ นัยยะต่อมา คือ ความไม่มั่นคงทางด้านความเป็นอยู่ (living insecurity) ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกันโดยตรงต่อสภาพความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน ซึ่งความไม่มั่นคงทั้งสองนี้มักไป และส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน การดำเนินการแก้ไขปัญหา หรือการพัฒนา บางครั้งจึงไม่ได้แบ่งแยกออกจากกันอย่างชัดเจน เพียงแต่ว่าการดำเนินการนั้น อาจเน้นหนักไปทางด้านใดด้านหนึ่งมากกว่า
2.2 สภาพชุมชน
“ชุมชนบางบัว” ตั้งอยู่ริมคลองบางบัว ในซอยพหลโยธิน 49/2 เขตบางเขน ซึ่งจากคำบอกเล่าของคนในชุมชน มีการตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้มากว่า 70 – 80 ปีแล้ว มีทั้งที่เป็นคนท้องถิ่นดั้งเดิม และกลุ่มคนใหม่ๆ ซึ่งมีทั้งผู้ย้ายถิ่นเพื่อหางานทำ คนงานในตลาดสะพานใหม่ (ในสมัยที่ยังมีเรือโดยสารในลำคลองบางบัว) และข้าราชการ / คนงานในกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ กลุ่มคนดังกล่าวเห็นว่าพื้นที่นี้เป็นที่ว่างเปล่าจึงเข้ามาจับจอง ปลูกสร้างที่พักอาศัย โดยไม่รู้ว่าที่แท้จริงแล้ว พื้นที่นี้เป็นกรรมสิทธิ์ของกรมธนารักษ์ สถานะของชุมชนจึงเป็นชุมชนบุกรุกพื้นที่ของหน่วยงานราชการ แต่อย่างไรก็ตาม ชุมชนก็มีสถานะเป็น “ชุมชน” เมื่อจดทะเบียนกับสำนักงานเขตบางเขน เมื่อราวปี พ.ศ.2535
“ชุมชนบางบัว” มีลักษณะเป็นชุมชนริมคลอง ทอดตัวยาวตามแนวคลองประมาณ 500 เมตร และมีแนวกว้างจากชายคลองประมาณ 20 เมตร มีบ้านพักอาศัยกว่า 200 หลัง ประชากรราว 1,000 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพหลากหลาย ทั้งรับจ้างทั่วไป รับเหมาก่อสร้าง พนักงานบริษัทเอกชน ข้าราชการและลูกจ้างหน่วยงานภาครัฐ สภาพบ้านเรือนก่อนเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงนั้น มีสภาพเป็นชุมชนแออัด และมีการรุกล้ำแนวคลองบางบัว ส่งผลถึงปัญหาคุณภาพชีวิต รวมทั้งมีปัญหาทางสังคมอื่นๆ
2.3 ข่าวการไล่รื้อ และการรวมตัวเพื่อปกป้องสิทธิที่จะอยู่อาศัย
แม้ว่าชุมชนบางบัวได้จัดตั้งเป็นองค์กรชุมชนที่เป็นรูปธรรม มีการประสานงานพัฒนากับเครือข่ายต่างๆ แต่ชุมชนก็ตั้งอยู่บนพื้นที่ของกรมธนารักษ์ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมาไล่รื้อชุมชน ชาวชุมชนได้ข่าวเช่นนี้มาต่อเนื่องหลายปี โดยลือกันว่าจะมีการนำพื้นที่ไปทำศูนย์การค้า ซึ่งแม้ว่าสภาพทางกายภาพไม่น่าเอื้อให้เกิดแหล่งพาณิชยกรรมขนาดใหญ่ได้ แต่ชาวชุมชนก็ให้เหตุผลว่าในอนาคตโครงการรถไฟฟ้าจะผ่านถนนพหลโยธิน และพื้นที่ชุมชนก็อยู่ไม่ห่างจากถนนใหญ่มากนัก ก็อาจมีความเป็นไปได้ที่จะถูกไล่รื้อ
ความหวั่นไหวของข่าวการไล่รื้อ ที่เมื่อกล่าวถึงที่สุดแล้ว ต้นตอของการไล่รื้อก็คือความไม่มั่นคงของการอยู่อาศัยของชุมชน ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่บนพื้นที่ของทางราชการ แต่การที่ชาวชุมชนตั้งรกรากบนพื้นที่นี้มานานหลายสิบปีแล้ว จนมีคำพูดที่ว่า “พวกเราเป็นคนที่นี้ บ้านเราอยู่ตรงนี้” ทำให้ชาวชุมชนเริ่มที่จะหาทางในการต่อรองกับทางการว่าจะขออยู่ในพื้นที่เดิม แต่จะปรับปรุงสภาพ และแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชุมชนให้มีสภาพดีขึ้น
ไม่เพียงแต่ชุมชนบางบัวเท่านั้นที่มีข่าวการไล่รื้อ แต่เป็นชุมชนริมคลองบางบัวเกือบทั้งหมด เครือข่ายพัฒนาสิ่งแวดล้อมคลองบางบัวจึงได้เข้ามามีบทบาทในเรื่องของการจัดการความไม่มั่นคงทางด้านการอยู่อาศัยของชุมชน เป็นการรวมตัวเพื่อเรียกร้องสิทธิที่จะอยู่ในพื้นที่เดิมต่อไป ในพื้นที่ที่แม้พวกเขารู้ว่าเป็นพื้นที่บุกรุก แต่ก็มองเห็นว่าอาจมีช่องทางที่จะสามารถทำให้พวกเขาได้อยู่ได้อย่างมั่นคงต่อไปในอนาคต และพวกเขายังตระหนักว่า ช่องทางในการเรียกร้องนั้นไม่เพียงแต่การต่อรองกับหน่วยงานภายนอกเท่านั้น แต่เป็นการทำให้คนภายนอกเห็นว่าพวกเขาสามารถที่จะอาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมได้อย่างไม่มีปัญหา ไม่ทำให้พื้นที่เป็นแหล่งเสื่อมโทรม แนวคิดในเรื่องของการปรับปรุงสภาพพื้นที่จึงได้เกิดขึ้น และเป็นการพัฒนาปรับปรุงที่ตั้งอยู่บนฐานของความร่วมไม้ร่วมมือ และการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการการพัฒนาของตัวชุมชนเอง
ประกอบกับในปี พ.ศ.2546 โครงการบ้านมั่นคง ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) ก็ริเริ่มขึ้น ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยของคนจนเมือง ชุมชนบางบัวและเครือข่าย จึงเริ่มเห็นช่องทางในการจัดการความไม่มั่นคงของการอยู่อาศัย โดย พอช. ได้เข้ามาให้ความรู้ในกระบวนการจัดการ แนวคิดเรื่องบ้านมั่นคง และแนวทางการเข้าร่วมโครงการแก่ชุมชน ซึ่งทำให้ชาวชุมชนเห็นประโยชน์ร่วมกันในการพัฒนาและจัดการความไม่มั่นคงที่ประสบอยู่ จึงสามารถกล่าวได้ว่า ปัญหาความไม่มั่นคงในการอยู่อาศัยนั้น เป็นประเด็นที่เรียงร้อยคนในชุมชนให้หันเข้ามาร่วมมือกัน ด้วยความที่เห็นว่าการที่จะสามารถอยู่ในพื้นที่เดิมได้อย่างมั่นคงจะเป็นประโยชน์ร่วมทั้งต่อตนเองและชุมชน
2.4 กระบวนการบ้านมั่นคง
ตามแนวคิดของการออกแบบชุมชนเมือง (Urban design) โครงการบ้านมั่นคงของชุมชนบางบัวนั้น เป็นการปรับปรุงในรูปแบบ Reconstruction ซึ่งเป็นการรื้อย้ายภายในบริเวณเดิมจากจุดหนึ่งไปอยู่อีกจุดหนึ่ง แล้วให้สัญญาเช่าระยะยาว ชุมชนบางบัวจึงเริ่มจากการพูดคุยในประเด็นปัญหา เพื่อย้ำให้เห็นถึงประโยชน์ร่วมกันและเห็นชอบในการดำเนินโครงการ จากนั้นจึงเริ่มสำรวจข้อมูลชุมชนเพื่อวางแผนการดำเนินต่อไป และตามเงื่อนไขของโครงการบ้านมั่นคงนั้น ชุมชนจะต้องออมเงินส่วนหนึ่งให้ได้ ก่อนที่จะขอสินเชื่อเพื่อสร้างบ้านใหม่กับทาง พอช. เมื่อชาวชุมชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการจึงเริ่มที่จะออมเงิน โดยการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์บ้านมั่นคงขึ้น
ตามเงื่อนไขของ พอช. นั้น จะให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยตามแบบบ้าน ชาวชุมชนจึงประสานความร่วมมือกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ในการออกแบบและวางผังใหม่ให้แก่ชุมชน ซึ่งประกอบด้วยบ้านจำนวน 229 ยูนิต พื้นที่ส่วนกลางไว้เป็นที่ทำการชุมชนและลานกิจกรรม ซึ่งชาวชุมชนจะดำเนินการกันเองว่าใครจะอยู่บ้านหลังไหนในผัง โดยดำเนินการแบ่งผังออกเป็นโซนต่างๆ 38 โซน แต่ละโซนมีบ้านอย่างต่ำ 5 หลัง ซึ่งส่วนมากจะใช้ระบบเครือญาติ และความสัมพันธ์ทางสังคมในการจับจองพื้นที่แต่ละโซน ในช่วงเดียวเดียวกันนั้นเอง ทางชุมชนได้ต่อรองเรื่องการเช่าที่ดินระยะยาวกับทางกรมธนารักษ์ แต่การเช่าระยะยาวนั้นจำเป็นที่จะต้องมีองค์กรขึ้นมารองรับในการทำสัญญาเช่า ทางชุมชนจึงได้จัดตั้งสหกรณ์เคหสถานเพื่อที่อยู่อาศัยคลองบางบัว จำกัด ซึ่งเป็นการรวมตัวกันจัดตั้งของชุมชนเครือข่าย 6 ชุมชน ในพื้นที่ 3 เขต
กระบวนการดังกล่าว ทั้งการออมเงินและการต่อรองเพื่อขอเช่าที่ดินจากรมธนารักษ์นั้น เริ่มประสบผลอย่างเป็นรูปธรรมในปี พ.ศ.2549 โดยในเดือนมิถุนายน กรมธนารักษ์ได้จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือด้านการพัฒนาระหว่างกรมธนารักษ์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สหกรณ์เคหสถานเพื่อที่อยู่อาศัยคลองบางบัว จำกัด และผู้อำนวยการเขตบางเขนและหลักสี่ เพื่อให้เกิดการร่วมมือกันแก้ ปัญหาที่อยู่อาศัย และพัฒนาสิทธิการอยู่อาศัย ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง และในช่วงปลายของปีเดียวกันนั้น บ้านมั่นคงหลังแรกก็ได้เริ่มต้นก่อสร้างขึ้น
3. การเคลื่อนไหวของ “ชุมชนบางบัว” กับความเกี่ยวเนื่องทางทฤษฎี
“ชุมชนบางบัว” เป็นชุมชนที่อยู่ในเขตเมือง ซึ่ง Park (1967) ได้ให้นิยามเมืองไว้อย่างน่าสนใจว่า “เมือง คือ ความพยายามที่เป็นผลสำเร็จมากที่สุดของมนุษย์ในการที่จะสร้างโลกที่พวกเขาอาศัยอยู่ตามที่ใจปรารถนา อย่างไรก็ตาม ถ้าเมืองเป็นโลกที่มนุษย์สร้างขึ้น, มันก็คือโลกที่มนุษย์นั้นจำต้องถูกผูกตรึงให้อาศัยอยู่ต่อไป ทั้งนี้ การสร้างเมืองจึงเป็นการที่มนุษย์นั้นได้สร้างตนเองขึ้นมาใหม่นั่นเอง” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงภาพของเมืองในฐานะที่เป็นการกระทำของมนุษย์ และแน่นอนที่สุดว่า การกระทำนั้นเป็นการกระทำทางสังคม (social action) ที่มุ่งกระทำเพื่อบรรลุสู่เป้าหมายบางประการอย่างมีเหตุผล
พื้นที่เมืองนั้นมีลักษณะที่เป็นสากลร่วมกัน คือ เป็นพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของกิจกรรม หรือโครงสร้างต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่รอบๆ ทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (รวมทั้งตัวเลขของระดับรายได้) การเมือง (รวมทั้งอำนาจทางการเมือง) สังคมและวัฒนธรรม (รวมทั้งวิถีชีวิตแบบเมือง) ซึ่งการรวมกลุ่มกันของกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ รวมกันโดยผ่านกระบวนการเป็นเมือง (urbanization) เมื่อสืบลึกลงไปจะพบคำถามที่ว่าแล้วสิ่งใดที่ผลักดันให้เกิดกระบวนการนี้ แน่นอนที่สุดว่ามีหลากหลายคำอธิบายในหลากหลายสาขาวิชา ในความหลากหลายนี้ Harvey (2000) ได้เสนอว่า การสะสมมูลค่าส่วนเกินจากการผลิตนั้นเอง ที่เป็นแรงผลักดันให้เกิดกระบวนการเป็นเมือง และเนื่องด้วยการสะสมมูลค่าส่วนเกินนี้มักตกอยู่ในการกำกับของกลุ่มบุคคลที่มีอำนาจทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ในบางกรณี การพัฒนาเมืองจึงเป็นไปตามความคิด ความต้องการ และผลประโยชน์ของกลุ่มดังกล่าว และเกิดภาวะที่กลุ่มอีกกลุ่มหนึ่งต้องได้รับผลกระทบเชิงลบจากการพัฒนานั้น การเรียกร้องสิทธิการมีส่วนในกิจกรรมและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของเมืองจึงเกิดมีขึ้น Harvey (2008) เรียกสิทธิต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองเหล่านี้ว่า “สิทธิที่จะอยู่ในเมือง (The Right to the City)”
สิทธิที่จะอยู่ในเมืองนั้น ไม่ใช่เป็นเพียงแต่สิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรเมือง หรือสิ่งที่มีอยู่ในเมือง (urban existing) เท่านั้น แต่เป็นสิทธิที่จะเปลี่ยนสิ่งต่างๆ นั้น ตามที่ใจปรารถนา หรือสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองด้วยการเปลี่ยนแปลงเมือง ด้วยเหตุที่ว่า “เรานั้นต้องการความแน่ใจว่า เราจะได้อาศัยอยู่ในที่ที่เราได้สร้างมันขึ้นมากับเมือง” นอกจากนี้แล้ว และภายใต้ปรากฏการณ์เล่นนี้เอง สำนึกในเรื่องของเอกลักษณ์ ความเป็นประชาชน และความเป็นเจ้าของเมือง (urban identity, citizenship and belonging) จึงเป็นฐานให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ต้องการจะ “แปงเมือง” ในมุมมองที่แตกต่างไปจากที่พวกนักพัฒนาทั้งหลายที่กระทำมา
กรณีการเคลื่อนไหวของชุมชนบางบัวเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สามารถจะเทียบเคียงได้กับแนวคิด ”สิทธิที่จะอยู่ในเมือง” สิทธิที่ต้องการจะเรียกร้อง ต่อรองในฐานะผู้ที่ (อาจ) ถูกกระทำจากการเปลี่ยนแปลงเมือง (Urban transformation) ด้วยเหตุที่ว่าการเปลี่ยนสภาพเมือง หรือการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ นั้น เป็นสิ่งที่สามารถเรียกได้ว่า “การทำลายอย่างสร้างสรรค์” เพราะว่ากลุ่มคนที่ไร้อำนาจการต่อรองทางการเมืองจะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการดังกล่าว ความรุนแรงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากในการที่จะสร้างโลกใหม่ของเมืองในพื้นที่เดิม แต่ “ชุมชนบางบัว” ก็มิได้เรียกร้องสิทธิ์ในการอยู่อาศัยด้วยวิธีการรุนแรง แต่ใช้วิธีการต่อรอง การหาประโยชน์จากนโยบายของภาครัฐเองเพื่อเอื้อให้ตนเองรอดพ้นจากการเปลี่ยนแปลงเมืองด้วยการไล่รื้อ (เพื่อการหาพื้นที่ใหม่สำหรับแหล่งพาณิชยกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นผลโดยตรงมาจากกระบวนการที่ Harvey เรียกว่า “การทำให้หมดความเป็นเจ้าของ (accumulation by dispossession)”)
จากย่อหน้าก่อนหน้านี้ ผู้เขียนใช้คำว่า “เทียบเคียง” นั่นแสดงถึงว่าการเคลื่อนไหวของชุมชนบางบัวก็มิใช่ว่าจะ “ถอดแบบ” แนวคิด The Right to the City ซะทั้งหมด เพราะประเด็นชนชั้นไม่ถึงถูกนำเสนอออกมาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะชนชั้นที่หมายถึงกลุ่มคนที่มีอำนาจในการควบคุมปัจจัยการผลิตอย่างเดียวกัน แต่ชาวชุมชนบางบัวมีความสำนึกร่วมกัน (collective consciousness) ในฐานะที่เป็นผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่ และผู้ที่ได้รับติดฉลาก (labeling) ว่าเป็นคนในชุมชนแออัดที่เต็มไปความความเสื่อมโทรมและปัญหาสังคม แต่อย่างไรในก็ตามเนื้อหาสาระใน The Right to the City ก็ยังคงแสดงออกอย่างเห็นได้ชัดในการเคลื่อนไหวของชุมชนบางบัว
ในการศึกษาเรื่อง “การเคลื่อนไหวทางสังคม” นั้น จากเอกสารวิชาการต่างๆ พบแนวคิดหลัก 2 แนวคิดด้วยกัน คือ “การเคลื่อนไหวทางสังคมแบบเก่า (old social movement)” และ “การเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ (new social movement)” ซึ่งสิ่งที่แตกต่างระหว่างเก่าและใหม่นั้นอยู่ที่ประเด็นเรื่องชนชั้นที่เข้าร่วมขบวนการ และประเด็นการเรียกร้องใหม่ๆ ที่แตกไปจากเดิมที่เน้นเรื่องสิทธิทางการเมือง ชีวิตความเป็นอยู่ ความเท่าเทียมในชนชั้น (พวก) ของตน แต่ยังเน้นเพิ่มเติมในประเด็นสังคม – วัฒนธรรม รวมทั้งความไม่ต้องการในการใช้ “ช่องทาง” แบบเดิมๆ ที่ใช้กันมาในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่พวกตนต้องการ คือ ปฏิเสธช่องทางการการเมืองในรูปของการพึ่งพานักการเมือง พรรคการเมือง ระบบราชการ ในการได้มาซึ่งความเปลี่ยนแปลง แต่นำเสนอช่องทางอื่นๆ เช่น การเคลื่อนไหวเชิงมวลชน การใช้ช่องทางการสื่อสารสมัยใหม่
ดังนั้น เมื่อเทียบเคียงกรณีการเคลื่อนไหวของชุมชนบางบัวกับแนวคิดการเคลื่อนไหวทางสังคมทั้งสองนั้น จึงเกิดเป็นข้อสงสัยที่ว่า แล้วกรณีดังกล่าวเป็นแบบเก่าหรือแบบใหม่? คำตอบอาจเป็นไปได้ว่า “ไม่ใช่ทั้งสอง” ด้วยเหตุผลที่ว่า 1) ความชัดเจนของประเด็นชนชั้นในชุมชนไม่มีความชัดเจน ความขัดแย้งทางชนชั้นที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำในอำนาจของการเข้าควบคุมทรัพยากรจนเกิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไม่มีความชัดเจน การเคลื่อนไหวของชุมชนไม่ใช่เพื่อการเข้าคุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ (คือ ไม่ได้มีความต้องการในการมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินอย่างถาวร ซึ่งสะท้อนจากคำบอกเล่าของคนในชุมชนที่พูดว่าเช่าระยะยาว 30 ปี และต่อเวลาการเช่าไปได้อีกก็เพียงพอแล้ว) กลับเป็นการร้องขอ ต่อรองเพื่อให้ไปอำนาจบางส่วน (คือ การต่อรองเพื่อให้ได้อยู่ในพื้นที่เดิม ด้วยสัญญาการเช่าพื้นที่ระยะยาว) ดังนั้นแล้ว ความชัดเจนในการเป็นจัดว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็น “การเคลื่อนไหวทางสังคมแบบเก่า” จึงไม่สามารถบอกได้เช่นนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจของขบวนการเคลื่อนไหวอยู่ที่ “กระบวนการ วิธีการ การสร้างอำนาจต่อรอง” ของชุมชนว่าพวกเขามี ซึ่งตรงกับการศึกษาการในทางทฤษฎี resource mobilization ที่เน้นการวิเคราะห์องค์กร ยุทธศาสตร์ ความสำเร็จ และผลกระทบในทางการเมืองของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม
และ 2) เมื่อพิจารณาในประเด็นของการเคลื่อนไหว ก็ไม่พบลักษณะของการเคลื่อนไหวเพื่อดึงอัตลักษณ์ / ค่านิยม / วิถีชีวิตของตนเองให้มีความโดดเด่น และมีที่ยืนได้เท่าเทียมกับอัตลักษณ์ / ค่านิยม / วิถีชีวิตอื่น อันเป็นอัตลักษณ์ / ค่านิยม/ วิถีชีวิตหลักในสังคม ซึ่งเป็นหนึ่งในลักษณะหลักของ “การเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่” แต่การเคลื่อนไหวของชุมชนบางบัวนั้น กลับต้องการที่จะปรับปรุงสภาพของตนเอง ต้องการเปลี่ยนลักษณะของตนเองที่ได้รับการตีตราว่าเป็นชุมชนแออัด ไร้ระเบียบ เต็มไปด้วยปัญหา มาเป็นชุมชนที่มีระเบียบ โดยผ่านทางการวางผังชุมชนที่ได้รับการรองรับทางวิชาชีพ ผ่านทางการเป็นองค์กรชุมชนที่ได้รับการรองรับจากทางราชการ ผ่านทางความมีตัวตนในเมืองใหญ่ที่ได้รับจากการเข้าร่วมเป็นเครือข่ายการพัฒนาต่างๆ การเคลื่อนไหวดังกล่าวจึงไม่ใช่การยืนยัน ยึดมั่น ตั้งตรงอยู่กับลักษณะเดิมของตน แต่เป็นการเปลี่ยนลักษณะของตนเพื่อเกิดการตีตราใหม่ที่ดีกว่าเดิม นอกจากนี้แล้ว ชุมชนยังได้ใช้กลไกของภาครัฐในการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพของตน โดยผ่านช่องทางการประสานงานของ พอช. รวมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เป็นแนวทางทางของ “การเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่” ซึ่งไม่ได้มุ่งหวังพึ่งพากลไกของภาครัฐในการได้มาซึ่งสิ่งที่ตนเรียกร้อง ฉะนั้นแล้ว เราจะเรียกการเคลื่อนไหวเช่นนี้ไม่ได้อย่างเต็มปากว่าเป็น “การเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่”
เมื่อมาถึงตรงนี้ อาจจะเกิดข้อสงสัย (ข้อสงสัยนี้ไม่ได้มาจากผู้เขียน แต่มาจากฝั่งผู้อ่านมากกว่า) ที่ว่าทำไมบทความนี้เต็มไปด้วยสิ่งที่ “ไม่แน่ใจ” “ไม่เต็มปาก” “อิหลักอิเหลื่อ” จะมีตรงไหนบ้างในบทความที่ผู้เขียนจะเขียนได้อย่าง “ฟันธง” “คอมเฟริ์ม”? ผู้เขียนจะกลับไปยังแนวคิด The Right to the City อีกครั้งหนึ่ง Harvey ได้ใช้ Marxism เป็นฐานในการคิดในประเด็นของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเมือง ซึ่งเป็นฐานคิดเดียวกันกับ “การเคลื่อนไหวทางสังคมแบบเก่า” เพียงแต่ Harvey ก็ไม่ได้ไปไกลเกินที่จะขึ้นขั้นเข้าคุมอำนาจในการจัดการทรัพยากรและระบบการผลิต เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างส่วนบน (super structure) นอกจากนี้ วิธีการวิเคราะห์ผลจากการพัฒนาในระบบเสรีนิยมใหม่ที่กระทบกับชีวิตเชิงพื้นที่ของบุคคล หรือ accumulation by dispossession ของ Harvey นั้น ก็มีความคล้ายคลึง เทียบเคียงได้กับการวิเคราะห์ผลกระทบของตลาด และรัฐที่มีต่อชีวิตของ Habermas นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวของชุมชนบางบัวยังมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับแนวคิด urban social movement (ซึ่งมีเนื้อหาสาระหลักที่ไม่แตกไปจาก social movement มากนัก เพียงแต่เพิ่มคำว่า “urban” เข้ามาเพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหวทางสังคมในบริบทของเมือง) แต่ผู้เขียนเห็นว่าคงไม่ถึงขั้นของการเป็น urban social movement ด้วยการเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างทางอำนาจและสังคมในพื้นที่เมือง ดังนั้นเมื่อตัวแนวคิดเองก็ยังมีร่องรอยบางอย่างที่สามารถจะเชื่อมโยงไปหากันได้ เมื่อการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นในพื้นที่จริง จึงอาจจะอธิบายด้วยแนวคิดที่หลากหลาย หรืออาจกล่าวได้ว่า การทำความเข้าใจความเป็นไปในพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใด อาจต้องใช้หลากหลายแนวคิดในการทำความเข้าใจ
4. ความสรุป : การเคลื่อนไหวทางสังคมที่เหมาะสม (?) กับบริบทของสังคมไทย (?)
จากตัวอย่างการเคลื่อนไหวของชุมชนบางบัว ซึ่งผู้เขียนได้วิเคราะห์ว่าเป็นภาพสะท้อนบางประการของแนวคิด The Right to the City และเมื่อตั้งคำถามกลับว่าแนวคิดดังกล่าวมีความเหมาะสมที่จะใช้กับการจัดการความเคลื่อนไหวทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเมืองอื่นๆ ได้ไหม? ... ผู้เขียนไม่สามารถที่จะฟันธงได้อย่างแน่นอนว่าแนวคิดดังกล่าวสามารถที่จะใช้ได้ในทุกกรณีของทุกการเคลื่อนไหวในประเด็นเมือง เช่น การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิของสตรีข้ามเพศ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีบริบทอยู่ในสังคมเมือง แต่ว่าเป็นการเรียกร้องพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ทางสังคม (social space) มากกว่าที่จะเป็นพื้นที่ทางกายภาพ (physical space) เช่นนี้แล้ว แนวคิดดังกล่าวคงหาความเหมาะสมได้ไม่ง่ายนักกับประเด็นการเคลื่อนไหวเช่นนี้ นั่นหมายถึงว่าความเหมาะสมที่ว่านั้น ขึ้นอยู่กับใครที่จะนำไปใช้ มิใช่อยู่ที่เนื้อหา และแน่นอนอย่างที่สุดว่าแนวคิดดังกล่าวคงไม่เหมาะที่จะใช้ในการเคลื่อนไหวเพื่อการอนุรักษ์ป่าเขาใหญ่ การปกป้องการผลิตเกษตรอินทรีย์ ด้วยเหตุที่ว่ามันเน้นการเคลื่อนไหวในขอบเขตของพื้นที่เมืองมากกว่าชนบท (หรือแม้กระทั่งแนวคิดดังกล่าวนี้เหมาะสมจริงหรือไม่กับการเคลื่อนไหวของชุมชนบางบัวเอง? ด้วยเหตุที่ว่าชุมชนเองอาจจะไม่เคยรับรู้อะไรเกี่ยวกับแนวคิดดังกล่าวเลย หรือด้วยเหตุว่าการเคลื่อนไหวนี้เป็นเพียง “ภาพสะท้อนบางประการ” มิใช่เป็น “ภาพสะท้อนทั้งหมด” หรืออาจเป็นไปได้ว่าการเคลื่อนไหวของชุมชนบางบัวเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิในการอยู่อาศัยของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมืองเท่านั้น การทำความเข้าใจขบวนการดังกล่าว อาจต้องใช้วิธีการศึกษาที่เข้มข้น จริงจัง และมีความเป็นมหภาคมากกว่านี้ คือ ศึกษาทั้งขบวนการเคลื่อนไหว ไม่เพียงแต่ชุมชนใดชุมชนหนึ่ง)
รายการอ้างอิง
Park, Robert. On Social Control and Collective Behavior. Chicago : University of Chicago Press, 1967.
Harvey, David. Spaces of hope. Berkeley : University of California Press, 2000.
_____________. The Right to the City.’ New Left Review. 53 (Sept – Oct 2008) : 23 – 40.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น