กนกวรรณ สุทธิพร
บทความชิ้นนี้เป็นบทความแนะนำนักเขียนชาวญี่ปุ่นที่ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในคนเด่นคนดีชาวญี่ปุ่นที่มีชีวิตผ่านกาลเวลาร่วมสมัยในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ผลงานของ มิยะสะวะ เค็นจิ เป็นผลงานวรรณกรรมอมตะที่ได้รับความนิยมจากผู้อ่านทั้งเด็กและผู้ใหญ่จวบจนกระทั่งยุคปัจจุบัน ลักษณะงานเขียนของมิยะสะวะ เค็นจิมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างไปจากแนวการเขียนของนักเขียนญี่ปุ่นคนอื่นๆ งานเขียนของเขาจะไม่พูดถึงสภาพจิตใจของคนญี่ปุ่นและสังคมญี่ปุ่นโดยเฉพาะเจาะจง แต่จะมองมนุษย์ในฐานะสัตว์โลกที่อาศัยอยู่ในจักรวาล และเป็นจักรวาลที่ประกอบไปด้วยแสงสว่าง เสียง การเคลื่อนไหว เป็นการมองอย่างตรงไปตรงมาและมิได้สอดแทรกปรัชญาความรู้สึกทั้งด้านบวกและด้านลบเข้ามาในผลงาน งานเขียนของเขามีความทันสมัยแม้ในยุคปัจจุบัน มีความเป็นเอกลักษณ์ด้วยความเป็นกวีผู้รักในธรรมชาติ เขาสามารถพรรณนาทิวทัศน์ต่างๆให้ปรากฏเป็นภาพขึ้นตรงหน้า กล่าวได้ว่างานเขียนของ มิยะสะวะ เค็นจิคือ หัวใจของธรรมชาติ
ชีวประวัติโดยสังเขป
มิยะสะวะ เค็นจิ เกิดวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2439 ณ หมู่บ้านคาวากุจิ ตำบลฮะนะมะกิ อำเภอฮิเอะนุกิ จังหวัดอิวะเตะ (หรือตำบลโทะโยะสะวะ เมืองฮะนะมะกิในปัจจุบัน) ต้นตระกูลของเค็นจิประกอบอาชีพโรงรับจำนำและเป็นพ่อค้าเสื้อผ้าเก่ามาตั้งแต่สมัยคุณปู่ นับได้ว่าเค็นจิเกิดมาในตระกูลเศรษฐีอันดับหนึ่งหรือสองของตำบล เค็นจิเกิดมาท่ามกลางชีวิตความเป็นอยู่ที่เพียบพร้อมเป็นลูกชายคนโตซึ่งขณะนั้นบิดาของเขาอายุ 22 ปี ส่วนผู้เป็นมารดาอายุ 19 ปี
เค็นจิมีพี่น้องร่วมท้องทั้งหมดห้าคน ได้แก่ ตัวเค็นจิเอง น้องสาวชื่อ โทะชิและชิเงะ น้องชายชื่อ เสะโระกุ และน้องสาวชื่อ คุนิ ในบรรดาน้องๆทั้งสี่คนที่เค็นจิสนิทสนมมากที่สุดคือน้องสาวชื่อ โทะชิ โทะชิเป็นน้องสาวที่มีร่างกายอ่อนแอและมักจะป่วยบ่อยเหมือนกันกับเค็นจิ เมื่อเค็นจิอายุประมาณ 17-18ปี เขาต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการผ่าตัดจากการป่วยเป็นโรคโพรงจมูกอักเสบ หลังจากนั้นแพทย์วินิจฉัยว่าเค็นจิเป็นโรคไทฟอยด์จึงให้อยู่ในโรงพยาบาลต่อไปอีกประมาณ 1ปี ภายหลังจากที่เค็นจิออกจากโรงพยาบาลได้ทำงานช่วยกิจการโรงรับจำนำของทางบ้าน ได้มีเวลาอ่านและศึกษาหนังสือบทสวดคัมภีร์พระสัทธรรมปุณฑริกสูตร(法華経)ทั้งภาษาจีนและภาษาญี่ปุ่นอันเป็นคัมภีร์ที่สำคัญของนิกายต่างๆในพุทธศาสนามหายานในประเทศญี่ปุ่น ช่วงเวลานั้นเองที่ทำให้เค็นจิรู้สึกศรัทธาและเคารพนับถือในคำสอนแห่งพระสัทธรรมปุณฑริกสูตรอย่างจริงจังพร้อมทั้งเกิดความรู้สึกขัดแย้งขึ้นภายในใจต่อกิจการโรงรับจำนำของทางบ้าน เค็นจิคิดว่าตัวเขาเองคงไม่สามารถทำธุรกิจกับคนยากจนที่มีใบหน้าอันเศร้าหมองซึ่งนำทรัพย์สินมาจำนำกับทางบ้านของเขาได้และคิดว่างานโรงรับจำนำช่างห่างไกลจากคำสอนในพระสัทธรรมปุณฑริกสูตรอย่างมาก เมื่อเค็นจิจบการศึกษาจากโรงเรียนวนเกษตรชั้นสูงโมะริโอะกะ ซึ่งถือได้ว่าเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น(คือคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิวะเตะในปัจจุบัน) เค็นจิกลับไม่คิดทะเยอทะยานที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตโดยการเข้ารับราชการเป็นนักการทหารหรือเป็นนักการเมืองเหมือนคนอื่นๆในสมัยนั้น เค็นจิผู้ซึ่งมีอุปนิสัยชอบออกไปนั่งบนหลังคาตั้งแต่พลบค่ำเพื่อทำแผนที่ดาวลูกกลมๆด้วยกระดาษแข็ง ชอบตื่นขึ้นมาดูดาวในยามค่ำคืนและกระหายใคร่รู้สนใจอ่านตำนานเกี่ยวกับดวงดาว นอกจากความสนใจในธรรมชาติแล้วเค็นจิยังสนใจค้นหาสาเหตุปรากฏการณ์ต่างๆของธรรมชาติโดยใช้การวิเคราะห์แบบวิทยาศาสตร์ ดังนั้นนิทานของเค็นจิจึงมักมีลักษณะโลกของนักวิทยาศาสตร์อันถือเป็นลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งในผลงานของเขา
ความรู้สึกไม่ชื่นชมยินดีในการรับช่วงกิจการจากทางบ้านทำให้เค็นจิตัดสินใจเข้าทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยด้านดินและปุ๋ยที่โรงเรียนและในปี พ.ศ.2464 เมื่อเค็นจิอายุ 24 ปี ได้เข้าทำงานเป็นครูของโรงเรียนเกษตรกรรมประจำอำเภอชื่อ ฮิเอะนุกิ เค็นจิเริ่มเขียนนิทานจำนวนมาก ออกผลงานชื่อ “ข้ามหิมะ” (雪渡り)และในปีถัดมานั้นเองเค็นจิก็ต้องสูญเสียน้องสาวสุดที่รักไป ภายหลังจากการสูญเสียโทะชิน้องสาวสุดที่รัก เค็นจิได้พยายามออกผลงานการเขียนนิทานเพื่อลงตามนิตยสารอยู่บ่อยครั้งแต่ก็ไม่เป็นผลผลสำเร็จเค็นจิจึงตัดสินใจลงทุนด้วยตนเองพิมพ์หนังสือรวมบทกวีชื่อ“ฤดูใบไม้ผลิกับอสูร” (春と修羅)และหนังสือรวมนิทานชื่อ “ภัตตาคารมากคำสั่ง” (注文の多い料理店)แต่ไม่ค่อยมีปฏิกิริยาตอบรับจากผู้อ่านในสมัยนั้น ผู้ที่ได้อ่านงานเขียนของเค็นจิในยุคปัจจุบันต่างมีความเห็นว่างานเขียนของเขามีเนื้อหาที่น่าสนใจทุกเรื่อง แต่คงจะล้ำยุคเกินไปสำหรับผู้อ่านในสมัยนั้นจึงทำให้ยังไม่ได้รับการยอมรับตั้งแต่ต้น สำหรับหนังสือทั้งสองเล่มนี้ถือเป็นผลงานเพียงสองเล่มที่ถูกตีพิมพ์ออกมาในขณะที่เค็นจิยังมีชีวิตอยู่
ในปี พ.ศ.2469 เมื่อเค็นจิอายุ 29ปี เขาได้ลาออกจากอาชีพครู ออกจากบ้านไปใช้ชีวิตตามลำพังและตัดสินใจเดินทางกลับจังหวัดอิวะเตะในช่วงปลายปีเดียวกันนั้น เค็นจิเริ่มมีอาการป่วยเมื่ออายุได้ 31 ปี ภายหลังจากนั้น 3 ปี อาการป่วยเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นเค็นจิจึงต้องใช้ชีวิตอยู่แต่บนเตียงของผู้ป่วยตลอดเวลา กล่าวกันว่าช่วงนี้เองที่เค็นจิได้เขียนบทกลอนอันมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมาจนปัจจุบัน ชื่อ “ไม่ยอมแพ้กระแสฝน” (雨ニモマケズ)เค็นจิถึงแก่กรรมเมื่อเวลา 13:30 น. ของวันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2476 ด้วยวัยเพียง 37 ปี
ลักษณะผลงานของมิยะสะวะ เค็นจิ
จากงานวิจัยของอุเมะฮะระ ทะเคะฌิ ผู้ศึกษาวิจัยงานของมิยะสะวะ เค็นจิ ได้กล่าวไว้ว่านิทานของมิยะสะวะ เค็นจิ มีประมาณหนึ่งร้อยเรื่อง มีความทันสมัยแม้ในยุคปัจจุบัน และมีความเป็นเอกลักษณ์ บทกวีและนิทานของเขาเป็นการบรรยายภาพสัจธรรมของพืช สัตว์ แม่น้ำ ภูเขาหรือมนุษย์ โลกของนิทานของเค็นจิสรรพสัตว์มีความเท่าเทียมกับมนุษย์ ทั้งสองต่างร่วมโชคชะตาแห่งชีวิตด้วยกัน เค็นจิมิได้ใช้นิทานถากถางมนุษย์เพื่อปฏิรูปสังคมมนุษย์ เขาชี้ให้เห็นว่ามนุษย์สัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับชีวิตของสัตว์และธรรมชาติ เค็นจิมิได้เขียนนิทานโดยคำนึงถึงผู้อ่านว่าผู้อ่านคือเด็กหรือผู้ใหญ่ เขาเขียนนิทานเพราะนิทานช่วยให้เขาแสดงความคิดได้ตามใจประสงค์ โลกของความจริงในชีวิตของเค็นจิที่ไม่ต้องการสืบทอดกิจการจากตระกูลเป็นโลกที่ไม่สามารถทำให้อุดมคติของเขาเป็นความจริงขึ้นมาได้ แต่ในโลกของนิทานเขาทำได้สำเร็จอย่างดีเยี่ยม ตัวอย่างผลงานนิทานที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากของเค็นจิ ที่ถูกนำไปดัดแปลงเป็นทั้งภาพยนตร์ ภาพยนตร์การ์ตูน และละครเวที คือ “รถไฟสายทางช้างเผือก”(銀河鉄道の夜)
สำหรับบทกวีที่เค็นจิได้แต่งไว้มีทั้งการเขียนกลอนสั้นที่เรียกว่า “ทังกะ” หนังสือรวบรวมบทเพลง และโดยเฉพาะบทกวี “ไม่ยอมแพ้กระแสฝน” ถือเป็นบทกวีที่เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงที่สุดสร้างความประทับใจแก่ชาวญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก บทกวีชิ้นนี้เป็นบทกวีที่เค็นจิเขียนไว้ในสมุดบันทึกที่วางอยู่ข้างหมอนและถูกพบภายหลังจากการตายของเขา ในสมุดบันทึกเล่มเดียวกันนั้นยังพบการเขียนบทสวดมนต์พระสัทธรรมปุณฑริกสูตรและบทความคล้ายบทกวีอีกหลายบท เสมือนหนึ่งบันทึกในหัวใจของเค็นจิ
บทกวี “ไม่ยอมแพ้กระแสฝน”
ไม่ยอมแพ้กระแสฝน
ไม่ยอมแพ้กระแสลม
ไม่ยอมแพ้แม้หิมะฤาความร้อนของฤดูร้อน
ขอมีร่างกายแข็งแรง
ไม่มีความโลภ
ไม่มีความโกรธ
ยิ้มอย่างสงบอยู่เสมอ
กินข้าวกล้องวันละสี่ถ้วย
คลุกด้วยเต้าเจี้ยวและผักเพียงเล็กน้อย
ไม่เก็บสารพัดสิ่ง
ใส่ไว้ในความรู้สึก
ตาดูหูฟังอย่างเข้าใจ
จดจำไว้ไม่รู้ลืม
ขออยู่กระท่อมน้อยหลังคาใบหญ้า
ใต้เงาป่าสนใหญ่ใจกลางทุ่ง
ถ้าทิศตะวันออกมีเด็กเจ็บป่วย
จะไปช่วยดูแลให้
ถ้าทิศตะวันตกมีแม่ผู้อ่อนล้า
จะไปหาไปแบกฟ่อนข้าวให้
ถ้าทิศใต้มีคนใกล้ถึงความตาย
จะไปปลอบโยนให้คลายจากความกลัว
ถ้าทิศเหนือมีคนทะเลาะเบาะแว้งกัน
จะไปกั้นไปห้ามว่าหามีประโยชน์อันใดไม่
หากเกิดความแห้งแล้งจะหลั่งน้ำตา
หากหนาวสั่นในหน้าร้อนจะเดินพล่าน
ใครใครเรียกว่าเจ้าคนไม่ได้ความ
ไม่มีใครชมเชยไม่มีคนทุกข์ใจ
คนแบบนี้แหละที่ฉันอยากเป็น
ที่มา : มิยาซาวะ เคนจิ ( กรุงเทพฯ: มูลนิธิไดโดไลฟ์,2546 ) ,หน้า 26-27.
บรรณานุกรม
นิชิโมโตะ เคสุเกะ. มิยาซาวะ เคนจิ.แปลโดย พรอนงค์ นิยมค้า.กรุงเทพฯ:
มูลนิธิไดโดไลฟ์,2546.
มณฑา พิมพ์ทอง. เรื่องสั้นญี่ปุ่น 6 (รวมวรรณกรรมเยาวชนของมิยะสะวะ เค็นจิ). กรุงเทพฯ:
โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2543.
Kuwahara Hiroyoshi. Miyazawa Kenji no rei no sekai. Tokyo : Doyoo bijutsu shuppan hambai, 1992.
Miyazawa Kenji. Amenimo makezu. Tokyo: Kabushiki kaisha iwasaki shoten,1998.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น