วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2554

ปฏิบัติการของชีวิตประจำวัน

อัญชลิตา สุวรรณะชฎ


To the ordinary man.
To a common hero…We witness the advent of the number.  It comes along with democracy, the large city, administrations, cybernetics.  It is a flexible and continuous mass, woven tight like a fabric with neither rips nor darned patches, a multitude of quantified heroes who lose names and faces as they become the ciphered river of the streets, a mobile language of computation and rationalities that belong to no one. [1]
Michel de Certeau

ในหน้าแรกของหนังสือ The Practice of Everyday Life (1984) เดอ แซร์โต อุทิศงานเขียนชิ้นนี้ให้แก่ คนธรรมดา” (the ordinary man) ซึ่งเป็นพระเอกที่ไร้ร่องรอยในประวัติศาสตร์ คนธรรมดา ในยุคสมัยของจำนวนตัวเลข ที่มาพร้อมกับประชาธิปไตย เมืองใหญ่ การบริหารจัดการ และระบบการติดต่อสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีเครือข่ายทั่วโลก สิ่งเหล่านี้ยืดหยุ่นและมีความ สำคัญ ถักทอกันอย่างแนบแน่น จน คนธรรมดา ถูกกล่าวถึงอย่างเหมารวมในการวิเคราะห์สังคมในระบบเศรษฐกิจการผลิตที่ให้ความสำคัญกับกลไกการผลิต สิ่งที่ เดอ แซร์โต สนใจ คือ กระบวนการผลิต (consumer production) ที่เกิดขึ้นในขั้นตอนที่ คนธรรมดา ในฐานะ ผู้บริโภค (consumer) ใช้สิ่งของหรือระบบสัญญะต่างๆ ที่กำหนดขึ้นมานอกเหนือจากการควบคุมของพวกเขา เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจกับเรื่องราวของชีวิตประจำวัน
ยุคสมัยใหม่หรือภาวะสมัยใหม่ (Modernism) การศึกษาทางด้านสังคมศาสตร์ได้หันมาสนใจกับโครงสร้างขนาดเล็ก (micro) แทนที่การศึกษาโครงสร้างขนาดใหญ่ (macro) แบบมาร์กซิสต์ (Marxist) แตกต่างไปจากขนบเดิม แนวทางการศึกษาสังคมวิทยาได้เปลี่ยนไปสนใจเรื่องราวของชุมชนและชีวิตของคนธรรมดาๆ ซึ่งความสนใจใหม่นี้นำไปสู่การตีความ การวิเคราะห์ทางด้านวัฒนธรรม และการอธิบายประวัติศาสตร์ใหม่ โดยมิติโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งของเรื่องราวเท่านั้น จากการหันเหแนวทางการศึกษาทางสังคมศาสตร์ ทำให้กระแสความสนใจเรื่องของ ชีวิตประจำวันเป็นที่แพร่หลายในแวดวงการศึกษาวัฒนธรรม ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 เป็นต้นมา ในฐานะประเด็นการวิเคราะห์การเมืองแบบจุลภาค (micro-politic) และขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ (new social movement) เนื่องจากการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นเรื่องของการแย่งชิงและต่อรองความสัมพันธ์ของอำนาจ (power relation) ระหว่าง ผู้กำหนด กับ ผู้ใช้ (users) ซึ่งไม่ใช่ความสัมพันธ์ทางเดียว แต่เป็นวงจรของอำนาจที่หมุนเวียนอย่างไม่สิ้นสุดในชีวิตประจำวัน เดอ แซร์โต เห็นว่า ชีวิตประจำวัน มีมิติทางการเมือง[2]

ชีวิตประจำวัน: เครื่องมือวิเคราะห์กลไกของอำนาจ

                เดอ แซร์โต ให้ความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจการผลิต โดยพิจารณาที่กระบวนการผลิตไม่ใช่ที่กลไกการผลิตอย่างที่ผ่านมา เขาเห็นว่า การบริโภคเป็นเรื่องความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับเรื่องราวของ ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในการศึกษาวัฒนธรรมประชานิยม (popular culture) หากพิจารณาความสำคัญของกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การอ่าน การพูด การเดิน ที่อยู่อาศัย การทำกับข้าว ฯลฯ จะเห็นความสำคัญของการบริโภคที่ ผู้บริโภค ไม่ใช่ ผู้ถูกกระทำ (Object) แต่มีวิธีการ (ways of operating) ที่มีความสัมพันธ์กับอำนาจ เขาตั้งคำถามการศึกษาว่า ชีวิตประจำวันเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่จุดมุ่งหมายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่มีข้อสรุปล่วงหน้า จากมุมมองดังกล่าว ทำให้แนวคิดเรื่อง ชีวิตประจำวัน ของ เดอ แซร์โต ได้รับการ    ตอบรับในแวดวงวัฒนธรรมศึกษาแนวหลังโครงสร้างนิยม กลไกของอำนาจในภาวะสมัยใหม่ ชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องของการแย่งชิงและต่อรองความสัมพันธ์เชิงอำนาจ รวมถึงความพยายามของนักวิชาการที่นำ ชีวิตประจำวัน ไปใส่กรอบทางทฤษฎี งานเขียนและโครงการวิจัยของ เดอ แซร์โต ต้องการนำเสนอความเป็นไปในชีวิตประจำวันที่ ชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เป็นเพียงวาทกรรม
                สิ่งที่ เดอ แซร์โต เสนอนั้น เปรียบเสมือนอีกด้านหนึ่งของงานของ มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) ที่อธิบายถึง อำนาจ ว่า มีกลไกอย่างไร ในการแทรกซึมเข้าไปครอบงำชีวิตประจำวันโดยไม่รู้ตัว และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิธีคิด จิตใจ ของกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการควบคุมไม่ให้เกิดการต่อต้านขัดขืน แต่ เดอ แซร์โต มีจุดมุ่งหมายที่จะชี้ให้เห็นว่า อำนาจ ไม่อาจครอบครอง ชีวิตประจำวัน ได้อย่างสมบูรณ์อย่างที่ฟูโกต์อธิบาย เดอ แซร์โต สนใจที่วิธีการที่ฝ่ายที่อ่อนแอหรือถูกครอบงำใช้จังหวะเวลาและโอกาสที่มีอยู่ ฉวยประโยชน์จากฝ่ายที่มีอำนาจเหนือกว่า เขาเห็นว่า การดำเนินชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องของการแย่งชิงและต่อรองความสัมพันธ์ของอำนาจระหว่าง ผู้กำหนด กับ ผู้ใช้ ไม่ใช่ความสัมพันธ์ทางเดียว แต่เป็นวงจรของอำนาจที่หมุนเวียนอย่าง       ไม่สิ้นสุดในชีวิตประจำวัน

ชีวิตประจำวัน: ปฏิบัติการของเรื่องเล่า

                จุดมุ่งหมายของ เดอ แซร์โต ในการนำเสนอเรื่องของ ชีวิตประจำวัน คือ การหาวิธีที่จะนำเสนอ ชีวิตประจำวัน อย่างที่มันเป็น หรือใกล้เคียงกับที่มันเป็น เขาตั้งคำถามย้อนกลับมาที่นักวิชาการ รวมถึงตัวเขาเองด้วยว่า การศึกษา การวิเคราะห์ และทฤษฎี ถือว่าเป็นกลวิธีอย่างหนึ่งของอำนาจที่จัดวางคำอธิบายในสังคม ในสังคมวิชาการที่ผ่านมาการให้ความสำคัญกับ ชีวิตประจำวัน จึงไม่อาจหลุดพ้นจากปัญหาการเป็นเพียง วาทกรรม (discourse) หรือ ภาพตัวแทน (representation) ที่ตายตัวจากมุมมองในป้อมปราการของนักวิชาการ ยกตัวอย่างเช่น งานของฟูโกต์เรื่อง Discipline and Punish: the Birth of Prison (1975) โดยวิเคราะห์วิธีการปฏิบัติต่างๆ (procedures) ที่เกิดขึ้นประจำวันในคุกจากการสันนิษฐานโดยแบ่งแผนก (division) ตามความเชื่อหรือการชี้นำของบุคคล (ideologies) เพื่อศึกษากลไกของอำนาจ (effects of power) โดยเฉพาะตรรกะการเชื่อฟังตามโครงสร้างหน้าที่ (logical modes of functioning) ด้วยกรอบของประวัติศาสตร์นิพนธ์ (historiography)
                เดอ แซร์โต อธิบายว่า ทฤษฎีส่วนใหญ่เป็นการผลิตวาทกรรมขึ้นมาซ้อนทับวาทกรรมที่มีอยู่แล้ว เมื่อใดก็ตามที่ทฤษฎีก้าวข้ามอาณาบริเวณที่ไม่อยู่ภายใต้วาทกรรม เมื่อนั้นทฤษฎีจะพบปัญหาที่ท้าทาย เพราะการที่เข้าไปอยู่ในอาณาบริเวณที่ปราศจาก ภาษา ที่คุ้นเคย เปรียบได้กับการขับรถไปสุดทางที่หน้าผา ค้างเติ่งอยู่ระหว่างแผ่นดินที่รองรับวาทกรรม กับความเร้นลับของท้องทะเลเบื้องล่าง อาจกล่าวได้ว่า ทฤษฎีพยายามที่จะเปิดพรมแดนความรู้ไปจนสุดทาง โดยพยายามสร้างวาทกรรมที่จะอธิบายอาณาบริเวณที่อยู่นอกเหนือการทำงานของตรรกะ (nondiscursive space) ซึ่ง เดอ แซร์โต เห็นว่า นักวิชาการจำนวนมากไม่มีใครพยายามฟังเสียงที่ยังไม่ได้พูดออกมา หรือเปิดโอกาสให้ชีวิตประจำวันสื่อสารด้วยวิธีของมันเอง ชีวิตประจำวันเป็นความรู้ที่ไม่ตระหนักในตัวเอง กล่าวคือ เป็น ผู้กระทำ และเป็นความรู้เพื่อการอ้างอิง เป็นเพียงเงื่อนไขหนึ่งที่จะทำให้กระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ [3]
สิ่งที่เขาพยายามค้นหา คือ เครื่องมือที่ใช้ในการสังเกตความเป็นไปใน ชีวิตประจำวัน ที่ลึกซึ้งกว่ากรอบที่ใช้ในการวิเคราะห์แบบเดิม วิธีการที่ละเอียดอ่อนเพียงพอที่จะสะท้อนความหลากหลายที่ไม่ปะติดปะต่อกันในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบเดียว อาจจะมาจากการผสมผสานวิธีการหลายอย่างก็ได้ ด้วยเหตุนี้ เดอ แซร์โต จึงให้ความสำคัญกับการเล่าเรื่อง (narrativity) เพื่อนำเสนอ ปฏิบัติการของชีวิตประจำวันโดยเห็นว่าการเล่าเรื่องแตกต่างจากการอธิบาย (description) โดยเฉพาะวรรณกรรมซึ่งเป็นตัวบท (text) ที่นำเสนอในรูปแบบของเรื่องเล่า นิทาน และตำนาน การเล่าเรื่องไม่ได้มีเป้าหมายที่จะให้รายละเอียดเพื่อให้เห็นความจริง แต่ต้องการที่จะสร้างพื้นที่สมมติที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของวาทกรรมเกี่ยวกับความจริง เพื่อโน้มนำให้เกิดกระบวนการที่จะเข้าใจความจริง เฉพาะช่วงเวลา เฉพาะบริบท ซึ่งถือว่าการเล่าเรื่องเป็นอุบาย (tactics) อย่างหนึ่งในการนำเสนอ ชีวิตประจำวันที่พรรณนากลุ่มสังคมที่ ผู้เล่า ไม่ได้ผูกขาดการเล่าเรื่อง หรือแยกตัวเองออกมาจากสิ่งที่พรรณนาถึง ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้เสียงอื่นๆ เล่าเรื่องด้วย การพยายามเล่าเรื่องของ ชีวิตประจำวัน เป็นแค่การเทียบเคียงหรือการคาดเดา สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่เนื้อเรื่อง แต่อยู่ที่ วิธีการเล่าเรื่อง ซึ่งไม่ใช่กระบวนการที่ต้องการข้อสรุปตายตัวว่า ชีวิตประจำวัน คือ อะไร แต่ต้องการตั้งคำถามกับกระบวนการผลิตความรู้เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน จึงอาจกล่าวได้ว่า เดอ แซร์โต ใช้แนวคิดว่าด้วย ชีวิตประจำวัน เพื่อเป็นเครื่องมือในการถกเถียงเกี่ยวกับกระบวนการสร้างความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมประชานิยม เป็นการวิเคราะห์ความเป็นไปในสังคมร่วมสมัยที่เขามองว่า วิธีการ การวิเคราะห์ทางสังคมภายใต้ขนบแบบเดิมยังคับแคบภายใต้ข้อจำกัดทางทฤษฎี ไม่เปิดกว้างพอที่จะรองรับความหลากหลายของ ชีวิตประจำวัน ได้


บทส่งท้าย

                การวิเคราะห์เกี่ยวกับ ชีวิตประจำวัน ของ เดอ แซร์โต เป็นการกระตุ้นให้ตั้งคำถามถึงวิธีการสร้างความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของชีวิตประจำวัน ที่ไม่ใช่การหาข้อสรุปว่า ชีวิตประจำวัน คืออะไร แต่พยายามเปิดโอกาสให้ชีวิตประจำวันสื่อสารด้วยวิธีการเล่าเรื่อง เพื่อสร้างเงื่อนไขให้เกิดกระบวนการผลิตความรู้ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่ง ความรู้ เป็นเรื่องเฉพาะสถานการณ์ (circumstantial) เป็นผลผลิตของวงจรหรือเครือข่ายของความสัมพันธ์เฉพาะหน้า เฉพาะสถานการณ์ การวิเคราะห์จึงไม่ได้จำกัดอยู่ที่ ผู้กระทำ (Subject) และหลีกเลี่ยงการมองความสัมพันธ์ของอำนาจแบบคู่ตรงข้าม (binary opposition) แต่ในการอธิบายความสัมพันธ์ของอำนาจในพื้นที่เมืองสมัยใหม่ เดอ แซร์โต มักพูดถึง การผลิต (production) กับ การบริโภค (consumption), ความสัมพันธ์ของอำนาจเชิง ยุทธศาสตร์ (strategy) กับ อุบาย (tactic), การใช้ความแตกต่างระหว่าง พื้นที่ (space) กับ สถานที่ (place) ในประเด็นนี้ทำให้ เดอ แซร์โต ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เขานำเสนอสิ่งที่ขัดแย้งกันเอง และไม่อาจก้าวข้ามการแบ่งแยกคู่ตรงข้ามที่ตายตัวระหว่าง อำนาจ กับ การต่อต้าน ได้ ซึ่งข้อวิจารณ์นี้หมายรวมไปถึงงานด้านวัฒนธรรมศึกษาที่นำแนวคิดเรื่อง ชีวิตประจำวัน ของ เดอ แซร์โต ไปใช้วิเคราะห์ความเป็นอื่นด้วย 
อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ชีวิตประจำวันตามแนวคิดของ เดอ แซร์โต พยายามที่จะเชื่อมโยงความหมายของชีวิตประจำวันเข้ากับสถานการณ์ เฉพาะช่วงเวลา เฉพาะบริบท เพื่อให้สามารถอธิบายความสัมพันธ์ของอำนาจได้หลากหลายขึ้น ซึ่งเป็นวงจรความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เชื่อมโยงและมีส่วนกำหนดความหมายซึ่งกันและกัน เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างการผลิตกับการบริโภค พื้นที่กับสถานที่ และคำคู่อื่นๆ ในความหมายของ เดอ แซร์โต อำนาจและการต่อต้าน ไม่ได้แยกออกจากกัน เขาปฏิเสธความคิดเรื่องความแปลกแยก และความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ตามแนวทางของมาร์กซ์ แต่เขาเชื่อว่า ชีวิตประจำวัน จะคงความเป็นอื่นที่อยู่เหนือกลไกการควบคุมของเหตุผล หรือการนิยามของวาทกรรม ความเป็นอื่น ไม่ได้ถูกกำหนดตายตัว สิ่งที่สำคัญ คือ การทำให้ความเป็นอื่นนี้ มีเสียง หรือมีที่ทางในการศึกษาวัฒนธรรม เมื่อนั้นการต่อรองความ สัมพันธ์ทางอำนาจจึงจะเกิดขึ้นได้ มิติทางการเมืองที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันในมุมมองของ เดอ แซร์โต คือ การเปิดโอกาสให้ชีวิตประจำวันได้แสดงศักยภาพที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง
ตามความคิดของ เดอ แซร์โต ชีวิตประจำวัน เป็นเครื่องมือเกี่ยวกับกระบวนการสร้างความรู้ในการศึกษาวัฒนธรรมประชานิยม ที่สื่อสารด้วยวิธีการเล่าเรื่อง เป็นวิธีการสร้างความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของชีวิตประจำวัน เพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปในสังคมร่วมสมัย และสร้างกระบวนการผลิตความรู้ที่ต่อเนื่องต่อไป


บรรณานุกรม

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาทฤษฎีสังคม (สห. 826) โครงการปริญญาเอกสหวิทยาการ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคการศึกษาที่ 2/2552 

สันต์ สุวัจฉราภินันท์. (2552). รัฐศาสตร์สาร, รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 60 ปี / รัฐศาสตร์สาร 30 ปี (เล่ม 2). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. น. 88-137.
สุธาริน คูณผล. (2550). รัฐศาสตร์สาร, ปีที่ 28 ฉบับที่ 2. กรุงเทพฯ : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. น. 113-146.
Rendall, Steven. (trans.). de Certeau, Michel. (1984). The Practice of Everyday Life. Berkeley, CA: University of California Press.
website: Dissertation on Abstract Online available at http://www.jstor.org


[1] de Certeau, Michel. (1984). The Practice of Everyday Life. Berkeley, CA: University of California Press. Preface.
[2] สุธาริน คูณผล. (2550). รัฐศาสตร์สาร, ปีที่ 28 ฉบับที่ 2. กรุงเทพฯ : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. น. 125-126.
[3] “It is an anonymous and referential knowledge, a mere condition of possibility for technical and learned practices.”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น