อัญชลิตา สุวรรณะชฎ[1]
ทฤษฎีนิเวศวิทยาเมือง (Urban Ecology Theory)
ทฤษฎีนิเวศวิทยาเมือง เป็นแนวทางการวิเคราะห์เมืองแบบใหม่ของสำนักชิคาโก (Chicago School) ที่แตกต่างไปจากนักสังคมวิทยาชาวยุโรปอย่างมาร์กซและเวเบอร์ เริ่มต้นจากปี ค.ศ. 1920 ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก โรเบิร์ต ปาร์ก (Robert Park) และ เออร์เนส เบอร์เกส (Ernest Burgess) ได้ศึกษาผลกระทบที่มีต่อการใช้ชีวิตของประชาชนจำนวนมากในเมือง ก่อนหน้านี้ปรากฏการณ์คนกลุ่มน้อยเป็นที่สนใจในวิชาสังคมศาสตร์อเมริกา เนื่องจากประชากรสหรัฐอเมริกา 80 เปอร์เซนต์และประชากรส่วนใหญ่ของโลกอาศัยอยู่นอกเมือง ซึ่งเป็นนัยสำคัญที่ชี้ให้คำนึงถึงวัฒนธรรม หรือเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ โดยเริ่มจากการศึกษารูปแบบสังคมในเมืองที่เกิดจากผู้ที่อยู่อาศัย กล่าวคือ รูปแบบวัฒนธรรมเมืองที่นักนิเวศวิทยาเมืองค้นพบ เป็นการปฏิบัติต่อๆ กันมาเป็นประจำตามความเคยชินของชาวบ้านธรรมดาๆ ทั้งกรรมกรผู้ใช้แรงงาน (blue-collar) และพนักงานสำนักงาน (white-collar)
การศึกษาปรากฏการณ์วัฒนธรรมเมืองแบบดั้งเดิม เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยวิธีการสังเกต โดยยืนตามมุมถนนสังเกตคนทำงานที่ผ่านไปมาจากปกเสื้อ (ปกน้ำเงิน-ปกขาว) ป้ายชื่อ (ส่วนใหญ่ทำด้วยมือ) ระดับอาชีพ คือ ถ้าใส่เสื้อเชิ้ตสีขาว ปกเสื้อสีขาว ผูกเนคไท แสดงว่าเป็นระดับบริหาร ทำงานในอาคารสำนักงาน นั่นคือ การศึกษาปรากฏการณ์วัฒนธรรมเมืองของนักสังคมศาสตร์ ที่พบว่า เสื้อผ้าแสดงความเป็นเอกภาพของการจ้างงานในสภาพแวดล้อมเมือง เนื่องจากเสื้อผ้าแสดงถึงอาชีพ แม้ไม่ได้แบ่งแยกคนทำงานกับผู้จัดการ นอกจากนี้การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในเมืองเป็นมุมมองในเรื่องของแฟชั่น ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้คาดได้ว่า ผู้คนเหล่านั้นเป็นคนทำงานในย่านศูนย์กลางทางธุรกิจ ทำงานตามบ้าน ทำงานเกี่ยวกับการขนส่ง เป็นต้น
เบอร์เกส ได้สร้างโมเดลในการศึกษาสิ่งแวดล้อมเมือง โดยแบ่งเป็นโซนต่างๆ (Chicago ’s Concentric Zones) เขาอธิบายถึงโซนที่เป็นช่วงรอยต่อระหว่างที่พักอาศัยกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มาจากแดนไกล (Zone II) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความผิดปกติของวัฒนธรรม คือ เป็นโซนที่อยู่รอบนอกความเจริญของเมือง มีสถานอาบอบนวด ไนท์คลับ หรือบ่อนการพนันที่ให้บริการกับชาวเมือง โซนนี้เป็นสถานที่เที่ยวตามเมืองต่างๆ ของคนที่อยู่ชานเมือง
อามอส ฮาว์เลย์ (Amos Hawley)[2] ได้ขยายแนวทางการศึกษานิเวศวิทยาเมือง โดยการวิจัยเชิงปริมาณ ศึกษาเปรียบเทียบจำนวนการออกเอกสารสิทธิ์ในเมืองกับเขตชนบท เพื่อหาความหนาแน่นและผลลัพธ์ของปฏิกิริยาทางสังคมที่เพิ่มขึ้น ฮาว์เลย์พบข้อเท็จจริงทางวัฒนธรรมในเชิงลบของเมือง (Turley, Allan 2005: 8)
วอลเตอร์ ฟายเออร์ (Walter Firey)[3] ได้พัฒนาทฤษฎีนิเวศวิทยาเมืองในขณะที่ศึกษาที่ ฮาร์วาร์ด เขาศึกษาชุมชนชาวอิตาเลียนที่อยู่ตอนเหนือสุดของบอสตัน ซึ่งสำนักชิคาโกหมายเหตุไว้ว่า กลุ่มผู้อพยพที่เข้ามาอยู่ในเมืองระหว่างปี ค.ศ. 1880-1920 เป็นผู้อพยพชาวอิตาเลียนและชาวยิว ชาวอิตาเลียนพักอาศัยย่านถนนและอยู่ในถิ่นวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวา ใกล้ร้านอาหาร มีร้านค้าสำหรับสมาชิกชาวอิตาเลียนที่อพยพมาจากชานเมือง ชุมชนชาวอิตาเลียนอาจสูญเสียวัฒนธรรมดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาจากการย้ายถิ่นฐานมาจากชานเมือง และการผสมกลมกลืนกับวัฒนธรรมแบบอังกฤษ (Anglo culture) แต่เพื่อนบ้านก็ยอมรับตัวตนที่แสดงออกมาของชุมชนชาวอิตาเลียน พวกเขาซื้ออพาร์ตเมนต์ในบอสตันตอนบน เพื่ออาศัยอยู่กับครอบครัวแทนการซื้อบ้านในชานเมือง ชุมชนชาติพันธุ์เช่นนี้ได้นิยามรูปแบบการตั้งรกรากที่ประสบความสำเร็จที่สามารถทำนายความต้อง การในการใช้ชีวิตในชานเมืองหรือการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมตอนเหนือในที่สุด การดำรงวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของพวกเขาถูกท้าทายด้วยสมมติฐานง่ายๆ จากการใช้ประโยชน์ในที่ดินตามรูปแบบนิเวศวิทยาเมือง
ฟายเออร์ พบว่า ที่ดินเป็นมูลค่าสัญลักษณ์ ซึ่งไม่เกี่ยวกับความเป็นชาติพันธุ์หรือกลุ่มวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนิคมบอสตันและบริเวณศูนย์กลางธุรกิจหลักของเมืองแถวอนุสาวรีย์สงครามการปฏิวัติระหว่างอังกฤษกับอเมริกา ที่ดินถูกใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพเพราะเป็นเขตปกครองตนเอง มีโครงการที่อยู่อาศัย มีถนนผ่าน และธุรกิจต่างๆ แต่ความเป็นเมืองและวัฒนธรรมประจำชาติทำให้บริเวณเหล่านี้มีความหมายเกี่ยวข้องกับเชื้อชาติ การพัฒนาวัฒน ธรรมจากจุดเริ่มต้นดังกล่าว ฟายเออร์เห็นว่า กระบวนทัศน์ทางนิเวศวิทยาเมือง ชี้ให้เห็นถึงพื้นที่ (space) ที่ไม่ได้สร้างสรรค์เฉพาะวัฒนธรรม แต่มีความหมายต่อการผลิตวัฒนธรรมด้วย (Turley, Allan 2005: 8)
ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ทางสังคมวิทยา จะเริ่มต้นด้วยการวิพากษ์นักทฤษฎีสำนักมาร์กซิสต์ ด้วยข้อถกเถียงเรื่องกระบวนทัศน์ว่าด้วยเมืองที่เกี่ยวกับเชื้อชาติ/ชาติพันธุ์ แต่วิธีการวิเคราะห์แบบนิเวศวิทยาเมือง เช่น โรเบิร์ต ปาร์ก (Robert Park) เออร์เนส เบอร์เกส (Ernest Burgess) อามอส ฮาว์เลย์ (Amos Hawley) และ วอลเตอร์ ฟายเออร์ (Walter Firey) ก็ยังยืนอยู่บนมุมมองของคนขาวที่ได้เปรียบทางโครงสร้างอำนาจในเมือง อย่างไรก็ตาม ยังมีทฤษฎีความยุ่งเหยิงของเมืองที่ให้ความกระจ่างต่อเมืองได้มากกว่าความสามารถของนักนิเวศวิทยาเมือง
(โปรดติดตามต่อ ภาค 3)
[1] บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาบัณฑิตสัมมนา (สห. 845) โครงการปริญญาเอกสหวิทยาการ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคการศึกษาที่ 2/2552
[2] Hawley, Amos. (1971). Urban Society. New York : Ronald Press.
[3] Firey, Walter. (1945). Sentiment and Symbolism as Ecological Variable, American Sociological Review. pp. 140-148.